ชัยชนะครั้งแรกของสตรีและ #MeToo บนแผ่นดินจีน

#MeToo คือแฮชแท็กแสดงออกถึงการต่อต้านการคุกคามทางเพศ เกิดขึ้นหลังกรณีฉาวในโลกภาพยนตร์ เมื่อโปรดิวเซอร์ชื่อดัง ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (Harvey Weinstein) ถูกแฉพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศดาราหญิงหลายคนในช่วงเวลาหลายสิบปี

MeToo กลายเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ประสบความสำเร็จในการให้กำลังใจผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ

แม้จีนจะมีปัญหาในประเด็นสิทธิและเสรีภาพ แต่ก้าวย่างสำคัญของขบวนการสตรีและ MeToo กลับเกิดขึ้นที่ประเทศจีน

ปีที่แล้ว หญิงสาวที่ใช้ชื่อว่า หลิวหลี (Liu Li) เป็นหนึ่งในผู้สร้างกระแส MeToo และเป็นผู้จุดประกายความหวังให้กับผู้หญิงหลายคน เมื่อเธอพยายามหาทางดำเนินคดีทางกฎหมายกับอดีตหัวหน้า เนื่องจากโดนล่วงละเมิดทางเพศเมื่อ 4 ปีก่อน

ใครต่อใครก็บอกว่า การต่อสู้ครั้งนี้เธอแทบไม่มีทางชนะ เพราะฝ่ายตรงข้ามเป็นนักกิจกรรมทางสังคมที่มีชื่อเสียง หลิวหลีถูกกล่าวหาว่าเป็นคน ‘เปิดทาง’ ให้เกิดการคุกคาม ขณะที่เพื่อนและคนรู้จักของเธอไม่รับรู้ว่าเธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ และพวกเขาคิดว่าหลิวหลี ซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ สร้างเรื่องโกหกเพราะต้องการเป็นจุดสนใจ

หลังจากหลิวหลีออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว หลิวเหม็ง (Liu Meng) ผู้ถูกกล่าวหา อดีตหัวหน้าของหลิวหลี เขียนข้อความใน Wechat ว่าเรื่องอื้อฉาวที่ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์นั้นไม่เป็นความจริง แต่หลังจากนั้นทั้งทางองค์กรและตัวเขาก็ปฏิเสธไม่ตอบคำถามใดๆ โดยทนายของหลิวเหม็งบอกกับสื่อท้องถิ่นว่า เขาเตรียมจะฟ้องหลิวหลีกลับ เนื่องจากข้อกล่าวหาของเธอทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง

แต่หลิวหลียังเดินหน้าต่อ ด้วยความช่วยเหลือของกลุ่มสนับสนุนสตรีและทนายความ กระทั่งเมื่อ 11 กรกฎาคม 2019 ศาลที่เฉิงตู (Chengdu) ตัดสินให้เธอชนะ และสั่งให้อดีตหัวหน้าออกมาขอโทษต่อหน้าสาธารณชน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่การถูกคุกคามทางเพศได้ชัยชนะทางกฎหมาย

หลังจากนั้น ต้นเดือนที่ผ่านมา ชายคนหนึ่งถูกจำคุก 6 เดือน จากความผิดฐานลวนลามผู้หญิงและเยาวชนในรถไฟใต้ดินที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผู้ทำการล่วงละเมิดทางเพศบนขนส่งสาธารณะได้รับโทษทางอาญา

“เรารู้สึกว่าทางของเรามันมืดมน ไม่มีแสงสว่างนำทางให้เห็นเลย คุณใช้พลังงานไปมากกับผลลัพธ์ที่คุณเองก็จินตนาการไม่ออก” หลิวหลีให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่น “ตอนนี้ฉันอยากจะบอกผู้คนมากมายถึงชัยชนะครั้งนี้ ฉันอยากบอกพวกเขาว่า สิ่งนี้ถึงมันจะยากที่สุดก็จริง แต่มันไม่ได้สิ้นหวังเสียทีเดียว”

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของขบวนการ MeToo ยังต้องต่อสู้กับแนวคิดการเซ็นเซอร์และจำกัดการแสดงความคิดเห็นของรัฐบาล หลังต้นเดือนที่ผ่านมา นักข่าวและแกนนำนักกิจกรรม MeToo โซเฟีย ฮวง (Sophia Huang) ถูกจับกุมหลังจากเขียนบทความต่อต้านปักกิ่ง สนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง

สำหรับประเทศจีน รัฐบาลจะเพ่งเล็งเหล่านักกิจกรรมและขบวนการเคลื่อนไหวเป็นทุนเดิม กิจกรรมของกลุ่ม MeToo ถูกเซ็นเซอร์บ่อยครั้ง แอคเคาท์โซเชียลมีเดียของกลุ่มเฟมินิสต์ถูกปิด ทางการแบนคำค้นในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับ MeToo รวมถึงจับกุมนักกิจกรรม

ทุกวันนี้ MeToo ถูกเรียกในภาษาจีนว่า Mi Tu หรือ ข้าว+กระต่าย ซึ่งเป็นคำพ้องเสียง เช่นเดียวกับใช้ #RiceBunny เพื่อหลบเลี่ยงการเซ็นเซอร์

การล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เดือนธันวาคมปีที่แล้ว ศาลสูงของจีนให้คดีคุกคามทางเพศอยู่ในข่ายการฟ้องร้องทางแพ่ง ทำให้การดำเนินคดีทำได้ง่ายขึ้น และรัฐบาลจีนยังได้ร่างกฎหมายเพื่อให้นายจ้างปกป้องคุ้มครองลูกจ้างจากการคุกคามทางเพศในที่ทำงานให้ดีขึ้นกว่าเดิม

อ้างอิงตัวเลขจากนักกิจกรรมกลุ่มเฝ้าระวัง NGOmetoo ยังมีอีกอย่างน้อย 12 คดีที่ได้รับรายงานเมื่อปีที่แล้ว และคดีเหล่านี้ไม่ได้ถูกยกมาเป็นที่พูดถึงเหมือนกรณีของหลิวหลี

หนึ่งในนั้นคือหญิงที่ใช้ชื่อว่า หัวหัว (Huahua) ที่ออกมากล่าวหานักกิจกรรมการกุศลและต่อต้านการเลือกปฏิบัติ เธอเปิดเผยเรื่องนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ว่า เธอถูกข่มขืนระหว่างระดมเงินบริจาคที่ปักกิ่งในปี 2015 ขณะที่เธอเป็นอาสาสมัครเข้ามาช่วยงาน นักกิจกรรมคนดังผู้ถูกกล่าวหาออกมาขอโทษและลาออกจากตำแหน่งในองค์กร แต่หลังจากนั้นเขากลับให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า การมีเพศสัมพันธ์เกิดจากความยินยอม

หลังการต่อสู้ยาวนานในชั้นศาล หัวหัวตัดสินใจไม่ไปต่อ แต่ตอนนี้เธอมีกำลังใจมากขึ้นจากกรณีของหลิวหลี “มันเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ ฉันมีกำลังใจขึ้นมาก” เธอบอก “ชัยชนะของหลิวหลีคือแรงบันดาลใจจริงๆ มันน่าจะต้องยากมากแน่ๆ สำหรับเธอ”

แม้คดีของหลิวหลีจะชนะ แต่ความบอบช้ำทางจิตใจไม่ได้รับการชดเชย เธอบอกว่า ศาลยังคำนึงถึงผลจากการถูกคุกคามทางเพศน้อยเกินไป และอดีตหัวหน้าของเธอก็ถูกสั่งให้ขอโทษต่อหน้าสาธารณชนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้สนับสนุนบอกว่า กรณีของหลิวหลีคือก้าวสำคัญของจีน ที่ทำให้ผู้หญิงกล้าออกมาต่อสู้ เหยื่อที่ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวด้วยหลายเหตุผลมีกำลังใจและพร้อมช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า