ทูน่าสนับสนุนแรงงานทาส

fish-market-1

เพียงแค่เราซื้อปลาทูน่า เราก็อาจกลายเป็นผู้สนับสนุนแรงงานทาส

ทูน่าเป็นหนึ่งสัตว์ในทะเลที่ถูกบริโภคอย่างมาก งานวิจัยของ Pew Charitable Trusts องค์กรไม่แสวงผลกำไรในฟิลลาเดลเฟีย สหรัฐ พบว่าชาวอเมริกันบริโภคทูน่ากระป๋องร้อยละ 24 ของปริมาณการผลิตทั่วโลก ส่วนปริมาณการบริโภคปลาดิบจากทูน่าอยู่ที่ร้อยละ 8

ทูน่ากระป๋องนั้นมีการผลิตจากบริษัทผลิตอาหารแช่แข็งของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นบริษัทที่ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่ของโลก ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับสามของโลก รองจากจีนและนอร์เวย์ ซึ่งอุตสาหกรรมการประมงสร้างมูลค่าราว 7,000 ล้านดอลลาร์ ข้อมูลจากทางการไทยระบุว่า มีคนในอุตสาหกรรมประมงไม่ต่ำกว่า 300,000 ราย โดยร้อยละ 90 เป็นแรงงานต่างชาติ

ล่าสุดในรายงานปี 2015 พบว่าในอุตสาหกรรมประมงทูน่ามีการใช้แรงงานทาสบนเรือของไทย ซึ่งแรงงานเหล่านั้นเป็นชายชาวพม่า กัมพูชา และอินโดนีเซีย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 18 ปี

เมื่อเข้ามาทำงานในเรือประมง ก็ต้องอยู่ในสถานะแรงงานต่างด้าว ในหนึ่งวันต้องทำงาน 18-20 ชั่วโมง และทำงานตลอด 7 วันโดยไม่มีวันหยุด บางรายได้รับค่าจ้างไม่สมราคา บางรายไม่ได้รับค่าจ้าง นอกจากนั้นยังถูกทำร้ายร่างกาย ปล่อยให้อดอาหาร มีการทุบตีและบังคับให้ทำงาน บางรายที่ทำให้นายจ้างไม่พอใจก็อาจถูกทำร้ายถึงชีวิต

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทย ในปี 2014 (Trafficking in Persons Report 2014) จากบัญชีกลุ่มที่ 2 (Tier 2) ซึ่งต้องถูกจับตา ลงมาที่บัญชีกลุ่มที่ 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด ขณะที่รายงานในปี 2015 พบว่าระดับยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) เรียกร้องให้ผู้บริโภครายใหญ่อย่างสหรัฐออกมาส่งสัญญาณว่าจะอุดช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อระงับการนำเข้าของสินค้าที่ใช้แรงงานทาส

จอห์น โฮเชเวอร์ (John Hocevar) หัวหน้าทีมรณรงค์ด้านมหาสมุทรกรีนพีซ กล่าวว่า

“การกระทำนี้จะสามารถช่วยชาวประมงบนเรือได้ เพราะอเมริกาเป็นตลาดอาหารทะเลขนาดใหญ่ เราสามารถเดินไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้ออาหารทะเลที่ไม่ถูกกฎหมายจากการทำงานของแรงงานทาสได้ทันที ดังนั้นคุณต้องมั่นใจว่าอาหารทะเลที่เข้ามาในอเมริกาต้องได้รับการตรวจสอบว่าถูกกฎหมายและช่วยให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน”

ด้านผู้บริโภคเองก็ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อทราบว่ามีการใช้แรงงานทาสในการผลิต โดย Nestlé ถูกผู้บริโภคในแคลิฟอร์เนียยื่นฟ้องว่าเกี่ยวพันกับแรงงานทาส เมื่อเดือนธันวาคมปี 2015 ผู้คนในวอชิงตัน ดีซี ต่างรวมตัวกันฟ้องร้องว่ามีการใช้แรงงานทาสชาวไทย พม่า และกัมพูชาเพื่อผลิตอาหารกระป๋องสำหรับแมวที่ใช้ปลาเป็นวัตถุดิบ โดยพวกเขากล่าวว่าจะเลิกสนับสนุนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทันทีหากผลิตภัณฑ์นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับแรงงานทาส ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ Nestlé ร่วมกับกลุ่มบริษัท Thai Union นำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐ

กรีนพีซแนะนำผู้บริโภคที่ไม่ต้องการสนับสนุนแรงงานทาสว่า ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับทูน่า โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะจากฉลากไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ประกอบการรายใดได้รับการตรวจสอบเรื่องการกดขี่แรงงานหรือไม่

 


 

ที่มา:
alternet.org
nytimes.com
bloomberg.com
pewtrusts.org
greenpeace.org/seasia/th/

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า