ชีวิตเอาท์ดอร์เสี่ยงสารปนเปื้อน

Tent-2

หนึ่งในสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของทุกคนอย่างสารหน่วงการติดไฟ น่าจะได้รับการตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้ใช้ แต่ทราบหรือไม่ว่า ในสหรัฐ ด้วยแรงผลักดันจากการล็อบบี้ให้กฎหมายอนุญาตใช้สารหน่วงไฟบังคับใช้เสียงดังกว่าข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิภาพของสารดังกล่าว โดยผลิตภัณฑ์ล่าสุดที่มีการรณรงค์ให้ระบุชนิดของสารหน่วงไฟไปจนถึงเรียกร้องให้เลิกผสมสารเคมีกลุ่มนี้คือ เต็นท์ และถุงนอน

ปี 2009 ทั่วโลกมีการใช้สารเคมีหน่วงการติดไฟราว 180 ชนิด โดยกลุ่มที่นิยมใช้คือ โพลีโบรมิเนท ไดฟีนิล อีเธอร์ (polybrominated diphenyl ethers: PBDEs) มีสาร PBDEs 2 ใน 3 ตัวที่ปรับรูปแบบให้เหมาะกับอุตสาหกรรมถูกขึ้นทะเบียนในอนุสัญญาสต็อกโฮล์มว่าด้วยสารตกค้างที่อาจก่อมลพิษ (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) ซึ่งมี 150 ประเทศลงนามรับรองที่จะร่วมกันเลิกผลิต นำเข้า ส่งออก และอนุญาตให้ใช้ภายในประเทศ

นอกจาก PBDEs สารที่อยู่ในลิสต์ ทั้งที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิต และเป็นสารที่เกิดจากการผสมจากโรงงานอุตสาหกรรม ได้แก่ DDT PCBs และไดออกซิน

DDT และสารที่คล้ายกัน ล้วนเป็นออร์กาโนฮาโลเจนที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบ ขณะที่ PBDEs เป็นเฮไลด์ที่มีโบรมีนเป็นส่วนประกอบ (ออร์กาโนฮาโลเจน หรือเฮไลด์ [organohalogens / halides] เป็นโมเลกุลคาร์บอนที่เชื่อมต่อกับอะตอมธาตุฮาโลเจนอย่าง ฟลูออรีน คลอรีน โบรมีน หรือไอโอดีน)

หากคุณไม่ได้เป็นผู้นิยมใช้ชีวิตเอาท์ดอร์ หรือออกแคมป์เป็นประจำ คุณก็ยังเสี่ยงกับการสัมผัสสารหน่วงไฟเหล่านี้ในสินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ชุดนอนเด็ก เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการไม่ระบุให้ผู้บริโภคทราบเรื่องเหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคอย่างจงใจ

 

สิทธิผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ข้อ 1 และ 3
1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยมีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้นแล้ว

 

อาร์ลีน บลัม นักไต่เขาเจ้าของปริญญาเอกด้านเคมี ออกโรงต่อต้านการใช้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างไม่สมเหตุสมผล ในงานวิทยานิพนธ์ อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้เธอศึกษาเรื่อง brominated tris สารเคมีหน่วงไฟที่นิยมใช้ในชุดนอนของเด็กๆ หลังจากเธอเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ออกไป ไม่กี่เดือนถัดมา สารดังกล่าวก็ถูกแบนจากการใช้ในการผลิตชุดนอนเด็ก

โมเลกุลเหล่านี้สามารถตกค้างในร่างกายเราได้ ทั้งนี้ บลัมชี้ว่าเนื่องจากไม่พบโมเลกุลคาร์บอนที่มีพันธะกับคลอรีน ฟลูออรีน หรือโบรมีน ในชีวเคมีของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จึงเป็นไปได้ว่าร่างกายเราไม่ทราบว่าจะตอบโต้สารแปลกหน้าเหล่านี้อย่างไร

หากต้องสัมผัสสารเหล่านี้โดยตรงในระยะยาว อาจส่งผลให้ต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ เป็นอันตรายต่อระบบประสาท มีผลต่อการความสมบูรณ์ของการเจริญพันธุ์ ภูมิคุ้มกันลดลง และอาจเสี่ยงต่อมะเร็ง

น่าแปลกใจที่สารหน่วงไฟเหล่านี้กลับไม่ได้ช่วยป้องกันไฟ โดยพบว่า เมื่อโซฟาติดไฟ สารเหล่านี้จะก่อทำให้เกิดเขม่าและควันมากขึ้น รวมทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ที่เพิ่มขึ้นด้วย ปัจจุบัน โซฟาในแคลิฟอร์เนีย รวมทั้งทั่วสหรัฐยังอนุญาตให้ใช้สารหน่วงการติดไฟโดยถูกกฎหมาย

 

ที่มา: alternet.org

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า