แน่นอนว่าที่มาของแฟลชม็อบ #ช้างเผือกจะไม่ทน ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 บริเวณศาลาธรรม หน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คงจะไม่ได้มีที่มาจากการที่นักศึกษาอยากเรียกร้องความยุติธรรมแบบขำๆ หรือรวมตัวกันเอาสนุก แต่เป็นเพราะความเดือดดาลที่บ่มมายาวนาน เพราะความอัดอั้นตันใจที่ต้องอยู่ภายใต้สังคมอำนาจนิยมที่พวกเขาไม่มีปากมีเสียง หรือการเผชิญกับอำนาจตุลาการที่เอียงข้าง จากกรณีล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นการมองข้ามเสียงของประชาชนกว่า 6 ล้านเสียงที่ใช้สิทธิอย่างถูกต้องตามกระบวนการทางประชาธิปไตย โดยการเลือกผู้แทนเหล่านี้เข้ามาในสภา
ไหนจะคำปรามาสจาก ‘ผู้ใหญ่’ ที่บอกว่าเป็นเด็กก็ควรไปเรียนหนังสือ ไปสนใจเรื่องอื่น การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก หรือแม้กระทั่งคำแซะ so-called ที่บอกว่าเด็กยุคนี้เป็นได้แค่นักเลงคีย์บอร์ด
“ก็จริง เป็นนักเลงคีย์บอร์ด แต่ก็พร้อมลงถนนด้วย” หนึ่งเสียงจากหนึ่งในผู้ชุมนุมบอกกับเรา
บรรยากาศของงานชุมนุมแบบแฟลชม็อบวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ก็บอกแบบนั้น บอกว่าจุดเดือดของความโกรธมันจุดติด บอกว่าการอยู่เฉยด่ารัฐบาลผ่านคีย์บอร์ดจนไฟลุก ไม่ใช่คำตอบที่เพียงพออีกต่อไป บอกว่าเวลานัดราว 5 โมงเย็น แต่คนก็เต็มพื้นที่ เต็มเวทีไปจนถึงบริเวณน้ำพุ ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากหลากหลายคณะ มีทั้งคณาจารย์ สื่อ และประชาชนทั่วไป ร่วมกันคิดข้อความและลงมือเขียนเอง มีทั้ง No More Dictatorship, รัฐบาลส้นตีน, อตอห, ไม่มีผัวไม่เป็นไร ไม่มีประชาธิปไตยอยู่ไม่ได้, #มหาลัยหน้าบ้าง, #อธิการเป็นของหวาน มหาลัยเป็นของประชาชน หรือประโยคคลาสสิกเด็ดๆ อย่าง I don’t need sex because the government fucks me everyday.
ประเมินตัวเลขคร่าวๆ ได้ว่ามีผู้ชุมนุมราว 1,000 คน ซึ่ง 1,000 คนนั้นทยอยกันเข้ามาเรื่อยๆ มวลของบรรยากาศมีทั้งอารมณ์จริงจัง ดุดัน ตลกเสียดสี และสนุกสนาน จากทั้งบนเวทีและการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของผู้ชุมนุม ต่างคนต่างหยิบกระดาษ A4 มาเขียนข้อความที่ตัวเองอยากสื่อสาร แล้วชูขึ้นมาด้วยรอยยิ้ม
ราว 5 โมงเย็น คนก็เต็มพื้นที่ มีการแสดง performance art ในคอนเซ็ปต์ #UnMe พิธีฌาปนกิจประชาธิปไตย จากชมรมการแสดง ที่ตัวละครแต่ละตัวแต่งตัวเหมือนผู้ทำพิธีกรรม ร่ายรำและขับร้องทำนองว่า “…คนบ่ผิดมันก็จับไปขัง มันซังไผมันก็เอาไปฆ่า ผู้ได๋ว่ามีเหตุมีผล ประซาซนปากหลายก็บ่ได้ มันก็ใช้อำนาจข่มเหง มันเป็นนักเลงยิงปืนเข้าใส่…”
“เนื่องจากประชาธิปไตยนั้นถือเป็นของสูงที่เหล่าประชาชนไม่อาจเข้าถึงได้ อีกทั้งกาลเวลาหลายทศวรรษได้ย้ำเตือนเราหลายคราถึงการไม่มีอยู่จริงของประชาธิปไตย เราจึงจัด #UnMe (พิธีฌาปนกิจประชาธิปไตย) ให้สมเกียรติตามหลักความเชื่อในพิธีสำคัญๆ ของไทย” ฉัตรชัย สุขอนันต์ หนึ่งในตัวละคร และสมาชิกกลุ่มละครลานยิ้มและชมรมการแสดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กิจกรรมบนเวทีถูกสับเปลี่ยนเป็นการอ่านกลอนจากชมรมวรรณศิลป์ จากนั้นแกนนำนักศึกษาจึงผลัดกันขึ้นปราศรัยบนเวที คอนเทนต์ในการปลุกใจเปลี่ยนแปลงไปตามคาแรคเตอร์ของแต่ละคน ไฟติดๆ ดับๆ บ้างบางครั้ง จนไม่แน่ใจว่าไฟฟ้าขัดข้องเพราะเกิดจากอุบัติเหตุหรือมีคนจงใจทำให้เกิดอุบัติเหตุ นักศึกษาต่างแซวมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ที่มาด้อมๆ มองๆ สังเกตการณ์ โดยเฉพาะอธิการบดีกันยกใหญ่ มีหลายป้าย D.I.Y. ที่ดีไซน์มาแซะอธิการฯ อย่างเอาจริงเอาจัง
น่าสนใจที่การรวมกลุ่มในครั้งนี้มีประเด็นที่ใหญ่พอๆ กับการต่อต้านรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหาร นั่นคือการเรียกร้องความเป็นธรรมในฐานะนักศึกษาที่มีสิทธิมีเสียงในมหาวิทยาลัย หลายคนสะท้อนออกมาว่าเห็นความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบของผู้บริหารมานานแล้ว พื้นที่และสิทธิที่สมควรจะได้รับของพวกเขาถูกกดทับไว้ด้วยอำนาจจากโครงสร้างด้านบน
“การเรียกร้องแบบที่ไปปะทะกับอธิการบดี คือการต่อสู้ที่เห็นเป็นตัวเป็นตนและมีเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดในชีวิตประจำวัน คือเด็กต้องมาเรียน มาใช้ชีวิตที่นี่ แล้วก็ถูกเอาเปรียบจากคนที่อยู่บนโครงสร้างของสังคมจำลองที่เรียกว่ามหาวิทยาลัย
“มันต่อสู้อย่างเป็นระดับๆ การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เห็นในเชิงประจักษ์ชัดๆ ก็คือสิทธิของการเป็นนักศึกษาที่อยู่ในพื้นที่แล้วต้องเรียกร้องผลประโยชน์ของตัวเอง ระดับที่สองคือเริ่มเห็นสิทธิในภาพรวมมากขึ้นแล้วว่า การเอาอธิการบดีออกหรือจัดการกับตัวอธิการฯ อาจจะไม่ได้ผลแล้ว ต้องไปถึงโครงสร้างความยุติธรรมที่เป็นระดับโครงสร้างทางการเมือง”
นันท์ณิชา หนึ่งในผู้ชุมนุม ศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ สาขามีเดียอาร์ตและดีไซน์ ออกความเห็น
ในแง่ของพื้นที่ การใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐานในการชุมนุมควรจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย ความรู้สึกเชื่อมโยงและความเป็นพวกพ้องกับนักศึกษา ทว่าในความเป็นจริงแล้วผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยอาจจะ ‘ตั้งใจ’ ให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางปัญญา
มหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่แห่งความคิดเห็นที่หลากหลาย โอบรับชุดความคิดและความรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาที่ดีขึ้น ซึ่งนักศึกษา มช. บางส่วนก็ล้วนมีข้อมูลว่าคณะผู้บริหารที่ฝักใฝ่รัฐบาลชุดนี้จะไม่นำชีวิตของพวกเขาไปสู่สิ่งแวดล้อมทางการศึกษาที่ดีขึ้น
แต่ก็น่าดีใจที่สังเกตได้ว่า ผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ต่างใส่เสื้อคณะของตัวเอง หรือแสดงอัตลักษณ์บางอย่างที่บ่งบอกว่าเรียนอยู่ที่นี่ บางคนเลิกเรียนแล้วแวะมา บางคนดูออกเลยว่าตั้งใจมา อย่างนันท์ณิชาที่นิยามว่าตัวเองเป็นผู้สังเกตการณ์ก็ออกความเห็นในประเด็นนี้ว่า
“เราอยากเห็นความโกรธของคนรุ่นใหม่ บอกว่าเด็กรุ่นนี้ก็เป็นนักเลงคีย์บอร์ดใช่ไหม ก็แสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดีย ผ่านแฮชแท็ก มาถึงจุดที่เกรี้ยวกราดแค่ในคีย์บอร์ดไม่เพียงพอแล้ว มันต้องแสดงตัวตนออกมา แล้วก็รู้สึก comfort กับพื้นที่ที่แสดงตัวตนระดับหนึ่งเพราะเป็นสถานศึกษา ถ้าไปลงถนนอาจจะไปน้อยหรือมีความเซฟตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเราเลยเชื่อว่าเด็กมันก็ยังมีความหวังกับการเห็นพื้นที่ทางการศึกษาที่คุ้นเคยอยู่ทุกวัน มันปลอดภัยที่จะส่งเสียงในเลเวลพอๆ กับที่เป็นนักเลงคีย์บอร์ด”
“นักเลงที่อยากเรียกร้องอะไรอยู่เรื่อยๆ ก็มีทุกยุค แค่เปลี่ยนรูปแบบไป สมัยก่อนอาจจะมีการเขียนจดหมายไปด่ารัฐบาล แต่ก็สื่อสารไม่ได้กับสื่อในวงกว้าง แต่ตอนนี้คนรุ่นใหม่ที่มาชุมนุมส่วนหนึ่งก็เหมือนออกมาจากคีย์บอร์ดจริงๆ แล้ว” ศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งสมทบ
การชุมนุมครั้งนี้ไม่ได้มีแกนนำที่ชัดเจน เรารู้รายละเอียดคร่าวๆ ว่าคงเป็นกลุ่มชมรมที่ต่อต้านเผด็จการในมหาวิทยาลัยรวมตัวกันหลายๆ ชมรม แต่ไม่มี icon ทางการเมืองหรือบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องลึกเบื้องหลังของทิศทางการเมืองหรือยุทธศาสตร์ของการนำสังคมไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ทวีพัฒน์ แพรเงิน ศิลปินที่ทำงานในเชียงใหม่และคลุกคลีอยู่กับการผลิตศิลปะเพื่อการต่อสู้มาจนถึงตอนนี้สะท้อนว่า “คิดว่าคนรุ่นใหม่ที่มาชุมนุมเพราะเขาอาจจะคิดว่าพวกมึงมันเลวเกินไป เขาเติบโตมาท่ามกลางการสังเกตการณ์และการถูกกดด้วยอำนาจเผด็จการ ซึ่งมันกีดกันเขาอยู่ตลอดเวลา พอได้เลือกตั้งครั้งแรก ได้ exercise ความคิดเห็นเรื่องความไม่เท่าเทียมกันอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกตามกลไกประชาธิปไตย ก็กลับกลายเป็นว่าผลลัพธ์มันไม่ใช่แค่การยุบพรรค แต่เป็นการโกงต่อเนื่องของรัฐบาล พอมันอัดอั้นมานาน แล้วกะเทาะอย่างเห็นได้ชัดแล้วว่า มันเกิดความไม่เป็นธรรมจริงๆ กับพรรคที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เลยกลายเป็นความไม่พอใจอย่างมาก
หรือแม้แต่ความสงบมันก็เป็นสิ่งที่ปลอม ด้วยความเป็นวัยรุ่นมันก็ต้องตั้งคำถามอยู่แล้ว ยิ่งสังคมตอบไม่ได้หรือพยายามจะโกหก มันก็ไม่เนียนแน่นอน นี่คือการการสะสมความอยุติธรรมไปเรื่อยๆ ความยุติธรรมเป็นของคนทุกคน ถ้ามีความโปร่งใส เราสามารถพูด ตั้งคำถามในสิ่งที่เข้าท่าหรือไม่เข้าท่าในสังคมได้ แต่กลายเป็นว่าระบบเผด็จการทหารเข้ามาควบคุม สร้างบรรยากาศของสังคมซึ่งมันขัดกับเลือดวัยรุ่น หรือสปิริตของคนรุ่นใหม่อย่างแรง
“พอเป็นเรื่องของความยุติธรรม มันไม่เกี่ยวกับเรื่องของชนชั้น การศึกษากับช่วงวัยเท่าไหร่ ด้วยความที่เป็นวัยรุ่นที่ไม่ได้แคร์ ไม่กลัวด้วย มันจึงเป็นพลังของการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ยืนยันในจุดยืนของประชาธิปไตย เขาเลยต้องออกมาเพราะแค่ไม่ไหว และประเทศที่อยู่ตอนนี้ไม่ใช่ประเทศที่จะมีอนาคตได้สำหรับตัวเขาเอง ไม่ว่าจะมิติทางสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ทุกมิติมันหมดหวังไปหมด เขาเลยไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เพื่อนก็รู้สึกแบบเดียวกัน”
สุพิชญา นักศึกษาปี 1 คณะการสื่อสารมวลชนก็คิดไม่ต่างกัน เธอมาชุมนุมพร้อมป้าย #ตีนเหนือหัว หัวใต้ตีน! และบอกว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องตระหนักถึงสิทธิและประชาธิปไตยมากกว่าบ่นไปวันๆ การออกมาเผชิญเพื่อต่อต้านเป็นการแสดงถึงจุดยืนว่า ‘ไม่ไหวแล้ว’ กับรัฐบาลชุดนี้ และอยากเรียกร้องเรื่องสิทธิของตน ไม่ยอมรับความอยุติธรรมจากทั้งรัฐบาลและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม
พอถามถึงเรื่องอุปสรรคของมหาวิทยาลัยและการชุมนุมในครั้งนี้ คำตอบสั้นๆ ของสุพิชญาคือ
“อาจารย์บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการที่นักศึกษาออกไปรวมกลุ่มเพื่อต่อต้านรัฐบาล but I don’t care”
วิธีการนำเสนอการไม่เอาเผด็จการ หรือส่งเสริม motto ที่ว่าประชาธิปไตยจงเจริญ มีรูปแบบคล้ายๆ กับม็อบในรูปแบบที่ผ่านมาที่เราคุ้นเคย วิศรุต นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า
“เห็นว่าคนเข้าร่วมเป็นเด็กๆ เยาวชนเยอะ แต่สังเกตว่าเวลาที่เขาพูด เพลงที่เลือกใช้ วิธีการพูดหรือการเรียกมวลชน มันคล้ายกับวิธีการของม็อบแบบเดิม เหมือนคนแก่มาพูดให้ฟังทั้งๆ ที่เป็นเด็ก แต่คงเป็นวิธีการนำเสนอที่ส่งผ่านกันมาแบบนี้ เราเลยยังไม่ค่อยได้เห็นวัฒนธรรมที่เป็นของเยาวชนในยุคนี้อยู่ในนั้นเท่าไหร่นัก แต่ก็เห็นว่ามี performance art อะไรเข้ามาแล้ว
“ในฐานะคนเรียนสายสังคมวิทยาฯ การชุมนุมครั้งนี้มันก็น่าสนใจเพราะมันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เห็นกลุ่มเยาวชนรวมตัวกันจาก hashtag ไล่ๆ ขึ้นมา แล้วเกิดการก่อตัวของมวลชน มันน่าสนใจที่ทุกอย่างเริ่มจากการเป็น online community แล้วกลับมาสู่ physical community ได้ สามารถสร้างมวลชนให้เกิดขึ้นมาได้จริงๆ เราเลยอยากมาดูให้เห็นกับตา”
ก่อนการชุมนุมจะจบลง เฟนเดอร์-ธนพล จูมคำมูล จากวง Solitude Is Bliss มาร่วมเล่นกีตาร์ร้องเพลง ‘ย้ายรัง’ ที่เนื้อหาเหมาะเจาะกับการเก็บเงินหนีออกนอกประเทศ เรียกเสียงเชียร์จากวัยรุ่น จากนั้นทุกคนก็ร่วมร้องเพลง ‘ร่มแดนช้าง’ เพลงประจำสถาบัน พร้อมกับเปิดแฟลชจากมือถือท่ามกลางความมืด จนแสงสว่างกระจายเป็นดวงๆ รอบศาลาธรรม ป้ายทุกป้ายของปัจเจกทุกคนถูกชูขึ้นพร้อมๆ กับวงผู้คนที่ขยับเข้ามาใกล้เวทีเรื่อยๆ มีคณาจารย์ชูป้ายเขียนว่า “Do You Hear the People Sing?” ซึ่งเป็นบทเพลงจากละครเวทีและภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Les Misérables
ในเวลาแบบนี้ก็คงต้องถามคำถามปลุกใจแต่จำเป็นกับผู้ชุมนุมว่า “ยังมีหวังอยู่ไหม?” ซึ่งทวีพัฒน์เป็นตัวแทนที่ตอบได้ชัดเจนและมุ่งมั่น ดังนี้
“ก็ต้องมี นี่เป็นนิมิตหมายที่ดีมากที่คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหว มาตั้งคำถามและฝันถึงสังคมที่ดีกว่า มันเป็นบรรยากาศของสังคมที่ทุกคนอัดอั้นอยู่แล้ว น่าจะเป็นทิศทางที่โอเคที่สุดที่เราจะระบายความรุนแรงในจิตใจพร้อมๆ ไปกับคนอื่น ถ้ากระแสยังเป็นแบบนี้ มันจะขยายไปต่อแน่นอน ผู้คนก็ต้องส่งเสียงออกมา แต่มันจะเวิร์คไหม อาจจะต้องคุยในขั้นตอนต่อไป แต่อย่างน้อยจุดสตาร์ทของการออกมาแล้วตะโกนพร้อมกัน ว่า “กูไม่ไหวแล้วโว้ย!” เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ”
บรรยากาศดำเนินไปด้วยความเข้มข้นแม้เวลาจะผ่านไปราวชั่วโมงครึ่ง จนเพลงจบ กลุ่มแกนนำปราศรัยยังคงโบกธงด้วยรอยยิ้ม นักศึกษาต่างก้มลงเขียนข้อความลงแผ่นผ้าเพื่อแสดงทัศนะของตัวเอง ในฐานะหนึ่งในผู้สังเกตการณ์ตั้งแต่งานเริ่ม ผู้เขียนเข้าใจว่านี่คือการเริ่มต้นของปรากฏการณ์ที่ทุกคนในที่นั้นมองเห็นว่าระบอบอำนาจนิยมกำลังทำลายตัวเอง ความยุติธรรมเริ่มกะพริบแสงอยู่ในที่ที่จินตนาการออกแล้ว จินตนาการออกเพราะแสงเหล่านั้นประชาชนเป็นคนจุดขึ้นเอง ส่งเสียงเอง แสดงตัวตนเองในฐานะพลเมืองที่มีสิทธิใช้ชีวิตอย่างปกติสุขภายใต้กรอบกฎหมายที่เป็นธรรม และมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐเมื่ออำนาจถูกใช้ไปในทางมิชอบ เรามีสิทธิที่จะใช้ชีวิตอยู่ในกลไกการบริหารจากรัฐบาลพลเรือนที่ไม่บีบอัดเราเหมือนฝุ่นละอองธุลี
อย่างน้อย flash mob ในวันนี้ก็บอกได้ดีว่า การลุกฮือของภาคประชาชนมิได้เป็นเพียงแค่ flash แต่มันจะวูบวาบต่อไปหากพลังของการอยากได้สังคมที่ดีขึ้นยังไม่ตกฟากไปไหน
และตราบเท่าที่ความหวังยังไม่สูญสลายไป