โรงงานน้ำตาล-โรงไฟฟ้าชีวมวล ความไม่มั่นคงทางอาหารบนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิชีววิถี จัดงานเสวนา ‘ความมั่นคงทางอาหารหลังวิกฤติโควิด’ นำเสนอประเด็นวิกฤติความมั่นคงทางอาหารที่เกษตรกรรายย่อยกำลังเผชิญ และเปิดพื้นที่ร่วมกันอภิปรายหาทางออกเชิงนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในวงจรการผลิตอาหารอันเป็นพื้นฐานของสุขภาพและการดำรงชีวิตของทุกคน

ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

ผศ.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ ‘เกษตรกรและเกษตรกรรมหลังวิกฤติโควิด: ความเห็นและข้อเสนอทางนโยบาย’ โดยนำเสนอปัญหาที่เกิดจากนโยบายพัฒนาการเกษตรภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งส่งผลต่อพื้นที่ผลิตอาหารในภาคอีสาน กลายเป็นภาระทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจที่ประชาชนและเกษตรกรรายย่อยต้องแบกรับ

‘เกษตรแปลงใหญ่’ ไร่อ้อยเฟื่องฟู นาข้าวหดหาย 

อาจารย์ไชยณรงค์เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงนโยบายของรัฐหลังวิกฤติการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลมีแนวทางในการพัฒนาเกษตรกรรมโดยยึดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นหลัก ซึ่งประกอบด้วยการมุ่งส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ และการส่งเสริมพลังงานชีวมวล เมื่อนำไปสู่การปฏิบัติจะอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในโครงการ ‘เกษตรแปลงใหญ่’ กล่าวคือ เป็นการปลูกอ้อยโรงงานโดยใช้เงิน (ภาษี) ของรัฐ มาส่งเสริมให้กลุ่มวิสาหกิจหรือสหกรณ์ชุมชนปลูกอ้อยป้อนโรงงาน

photo: Mitr Phol

“โครงการของหน่วยงานต่างๆ ในรอบปีที่ผ่านมาจะเห็นคำว่า ‘เกษตรอัจฉริยะ’ หรือ ‘เกษตรแปลงใหญ่’ วงเล็บ ‘อ้อยโรงงาน’ ก็ชัดเจนว่าเป้าหมายของโครงการเหล่านี้คือ ส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อส่งมอบให้กับโรงงาน กลุ่มที่เข้าร่วมก็เป็นกลุ่มของชาวบ้าน เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนมากเกิดขึ้นที่อำนาจเจริญและหนองบัวลำภู 

“อีกนโยบายหนึ่งที่มีการผลักดันในอีสานคือ อุตสาหกรรมชีวภาพ หรือที่เราคุ้นเคยกันว่า ‘Bio Hub’ โดยมีการผลักดัน 2 พื้นที่ใหญ่ๆ คือ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดมหาสารคามและร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก”

อาจารย์ไชยณรงค์ระบุว่า เมื่อโรงไฟฟ้าชีวมวลและเกษตรแปลงใหญ่เกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวให้กลายเป็นไร่อ้อยหลายล้านไร่ ผลกระทบจากการปลูกอ้อยและโรงงานอุตสาหกรรมจึงนำไปสู่การลดพื้นที่ผลิตอาหารในภาคอีสาน นอกจากนี้ยังเป็นการลดพื้นที่ป่าที่เรียกว่า ‘ป่าหัวไร่ปลายนา’ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่สำคัญอีกด้วย นโยบายของรัฐจึงมีส่วนทำให้ความมั่นคงทางอาหารสั่นคลอน

photo: อีสานใหม่

“ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีชีวภาพของเรายังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมาย Bio Hub ได้ต้องอาศัยพลังงานชีวมวลซึ่งอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การผลักดันให้เกิดโรงงานน้ำตาลพ่วงด้วยโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ นำไปสู่การเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวเป็นไร่อ้อย 

“หากอีสานเกิดโรงงานและโรงไฟฟ้าชีวมวลประมาณครึ่งหนึ่งของประเทศ หรือประมาณ 29 โรง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีสานคือ มีการปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นถึง 5.54 ล้านไร่ ในพื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวอย่างน้อยที่สุด 2.51 ล้านไร่ ซึ่งกลายเป็นการลดพื้นที่ผลิตอาหารในภาคอีสาน”

สุขภาพเสื่อม สิ่งแวดล้อมทรุด

ที่ผ่านมาการปลูกอ้อยในประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว ในขณะที่พื้นที่ปลูกมีขนาดใหญ่และเทคโนโลยีเก็บเกี่ยวมีราคาสูง จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการเผาก่อนเก็บเกี่ยวอ้อย ซึ่งพบได้ทั่วไปไม่ใช่เฉพาะภาคอีสาน ยิ่งแปลงใหญ่มากก็ยิ่งเผามาก ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันหรือ PM2.5 ตามมา รัฐบาลจึงพยายามใช้นโยบายกำหนดให้โรงงานลดการซื้ออ้อยเผาจากเกษตรกร แต่ในความเป็นจริงโรงงานเกินครึ่งก็ยังรับซื้ออ้อยเผาในปริมาณมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่านโยบายต่างๆ ที่เอื้อให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาล ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนอย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นชนบทหรือในเมือง

นอกจากนี้ ข้อกำหนดก่อนก่อสร้างโรงงานตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดรัศมีของผลกระทบไว้เพียง 5 กิโลเมตรรอบโรงงาน โดยไม่ได้ครอบคลุมพื้นที่การปลูกอ้อยที่เป็นพื้นที่ผลิตวัตถุดิบให้โรงงาน โดยเฉลี่ยแล้วโรงงานน้ำตาล 1 โรง ต้องอาศัยพื้นที่การปลูกอ้อย 200,000 ไร่ ทำให้พื้นที่ความมั่นคงทางอาหารได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยตามมา ผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากไร่อ้อย โรงงาน อุตสาหกรรมชีวภาพ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ตกอยู่กับกลุ่มทุนเท่านั้น ในขณะที่เกษตรกรรายย่อยและประชาชนต้องตกระกำลำบากกับภาระด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถูกแย่งชิงทรัพยากร

“การผลิตแบบเดิมของคนอีสานจะเป็นการผลิตแบบเกษตรนิเวศ มีการทำคันนาเพื่อให้เกิดระบบชลประทานสำหรับกักเก็บน้ำฝน หากสังเกตดูจะเห็นว่าที่นาดั้งเดิมของคนอีสานจะมีต้นไม้ในนาเต็มไปหมดเลย เรียกว่าป่าหัวไร่ปลายนา ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญมาก 

“เมื่อไรก็ตามที่ไร่อ้อยมาถึง สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการไถคันนาออก ความแห้งแล้งจะมาเยือน ยิ่งมีการเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวจะยิ่งทำให้เกิดความแห้งแล้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องอุทกภัย เพราะไม่มีคันนาไว้อุ้มน้ำ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจึงมีทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศ อุทกภัย และภัยแล้ง

“นอกจากนี้ในส่วนของโรงงานยังอาจทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำ ซึ่งเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ที่มีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เราอาจคิดว่าการปลูกอ้อยใช้น้ำน้อย ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด อ้อยเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก อ้อยหลายแปลงมีการเจาะน้ำใต้ดินมาใช้ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในภาคอีสานขณะนี้”

ล้มยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ปกป้องแหล่งผลิตอาหาร

อาจารย์ไชยณรงค์เสนอว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ควรถูกยกเลิก หรือหากไม่ยกเลิกก็ต้องพิจารณาใหม่ เพราะด้วยแนวทางของยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน ในขณะที่สภาวะวิกฤติเช่นนี้ยังคาดเดาจุดสิ้นสุดไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ การปกป้องพื้นที่การผลิตอาหาร ยิ่งในวิกฤติโควิด-19 ยิ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ผลิตอาหารตามธรรมชาติเป็นความมั่นคงทางอาหารของคนชนบทที่อพยพกลับบ้าน หากแหล่งอาหารที่บ้านเกิดถูกรุกล้ำด้วยอุตสาหกรรมน้ำตาลและเกษตรแปลงใหญ่ก็อาจกลายเป็นการซ้ำเติมวิกฤติความมั่นคงทางอาหารต่อไป

“โครงการ Bio Hub ที่จะนำร่องในอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่นครอบคลุมไปถึงมหาสารคามและร้อยเอ็ดที่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งเกษตรกรบางส่วนก็หันไปปลูกข้าวหอมมะลิออร์แกนิคหรือข้าวหอมมะลิอินทรีย์ แต่ถ้ามีโครงการนี้เข้ามาจะทำให้กลายเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยที่ใช้สารเคมีเข้มข้นมาก และโครงการ Bio Hub ระยะที่ 2 จะมีศูนย์กลางที่จังหวัดอุบลฯ ครอบคลุมพื้นที่อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวและส่งออกที่สำคัญทั้งสิ้น หากแหล่งผลิตข้าวเหล่านี้หายไปก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารโดยตรง”

นอกจากนี้ อาจารย์ไชยณรงค์กล่าวว่า การปกป้องแหล่งผลิตอาหารยังหมายรวมถึงแหล่งผลิตอาหารตามธรรมชาติด้วย ซึ่งรัฐประกาศว่าพื้นที่หัวไร่ปลายนาเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว ให้เปลี่ยนเป็นไร่อ้อยแทน โดยลืมไปว่าพื้นที่ ‘ไม่เหมาะสม’ เหล่านี้คือแหล่งผลิตอาหารตามธรรมชาติที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติโควิด พื้นที่เหล่านี้คือความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงของคนชนบท 

อาจารย์ไชยณรงค์เปรียบเทียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 เมื่อโรงงานหลายแห่งปิดตัว แรงงานอีสานอพยพกลับบ้าน ซึ่งในตอนนั้นอีสานยังมีแหล่งทรัพยากรตามธรรมชาติให้หากิน เช่น ปลาในแม่น้ำโขงที่ยังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนหลายแห่งอย่างในปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้กลับถูกรุกรานจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ทำให้แหล่งอาหารตามธรรมชาติลดลง สถานการณ์ความมั่นคงอาหารในวิกฤติโควิด-19 จึงย่ำแย่ลงไปอีก

อาจารย์ไชยณรงค์บอกอีกว่า นโยบายที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเท่าเทียมจะส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ หากรัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงมุมมองในการพัฒนาที่ไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่ประสบปัญหา ในขณะที่คนส่วนน้อยได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว

“ผมไม่เชื่อว่าโลกจะกลับไปเป็นแบบเดิม เราต้องคิดแบบองค์รวม คิดเรื่องแหล่งผลิตอาหารตามธรรมชาติ ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ เพราะระบบทุนนิยมที่มีคนกลุ่มเดียวได้ประโยชน์มันไปต่อไม่ได้แล้ว” อาจารย์ไชยณรงค์กล่าวทิ้งท้าย

สนับสนุนโดย

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า