“วันนี้ผมได้ยืนอยู่ตรงหน้าทุกคน พร้อมกับคำกล่าวหาและบทลงโทษที่เกินกว่ามนุษยชนคนธรรมดาคนหนึ่งต้องประสบพบเจอ ผมและผู้ต้องหาอีก 4 คน ได้ถูกกล่าวหาอย่างไร้มูลเหตุความเป็นจริง ว่ามีความพยายามจักประทุษร้ายต่อเสรีภาพองค์ราชินีและองค์รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 อย่างที่ผมและคนอื่นๆ ได้แจ้งมาตลอด พวกเราหาได้มีความประสงค์หรือความพยายามที่จะกระทำตามข้อกล่าวหาเหล่านี้ไม่ และพวกเรายืนยันในความบริสุทธิ์ของพวกเรา”
ถ้อยแถลงบางส่วนต่อหน้าสื่อมวลชน ณ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก ถูกอ่านออกเสียงอย่างชัดถ้อยชัดคำ โดย บุญเกื้อหนุน เป้าทอง หรือ ฟรานซิส วัย 21 นักศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล
ฟรานซิส คือนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ก่อนตกเป็นผู้ต้องหาที่กำลังถูกดำเนินคดี ‘กระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินี’ ตามมาตรา 110 ประมวลกฎหมายอาญา จากการร่วมชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 บริเวณทำเนียบรัฐบาลหลังเหตุการณ์รถขบวนเสด็จผ่าน
ความผิดในมาตรา 110 คือเรื่องใหม่ นี่คือคดีแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่มีใครเคยต้องโทษมาก่อน และหากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ชะตากรรมของนักศึกษาวัย 21 ต้องถูกจองจำจนกว่ากระบวนการพิจารณาจะสิ้นสุด
WAY คุยกับฟรานซิสถึงชีวิตและความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังตกเป็นผู้ต้องหา แม้โทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 จะมีความรุนแรงสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต แต่ไม่อาจทำให้ธงประชาธิปไตยที่ถูกปักลงบนหัวใจของเขาสั่นคลอน
เกิดอะไรขึ้นในวันที่ 14 ตุลาคม 2563
ในวันที่ 14 ตุลาคมปีที่แล้ว อย่างที่รู้กันว่าเป็นการเคลื่อนไหวของม็อบใหญ่ม็อบหนึ่ง ในช่วงเวลานั้นเรายังเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองกับเพื่อน ก็เลยคิดว่าอยากไปตั้งบูธขายของ ทั้งสติกเกอร์ ร่ม พัด เพราะต้องการเงินที่จะไปทำกิจกรรมต่อหลังจากนั้น
การชุมนุมวันนั้นจำได้ว่ามันเริ่มตอนเที่ยง ตอนนั้นผมอยู่จุฬาฯ ก่อน แล้วก็คุยกับเพื่อนว่าจะไปที่ไหนกันดี ไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไหม แต่ตอนนั้นขบวนใหญ่กำลังจะเริ่มเคลื่อนตัว ผมกับเพื่อนจึงตัดสินใจจอดรถที่ถนนดินสอ แล้วเดินมาสมทบกับขบวนผู้ชุมนุมบริเวณนั้น
ตอนนั้นขบวนผู้ชุมนุมกำลังเลี่ยงไปที่ถนนนครสวรรค์ก่อนจะมาหยุดที่สามแยกนางเลิ้ง เราก็เห็นแล้วว่าตำรวจเขาเอารถเมล์มาขวางถนนไว้ เลยตัดสินใจนั่งวินมอเตอร์ไซค์ไปเจอกับเพื่อนแถวการชุมนุมบริเวณรั้วหน้าทำเนียบรัฐบาล
ตอนแรกเรายังไม่ได้เอะใจใดๆ เหตุการณ์เริ่มดำเนินไปทุกคนก็แสดงออกกันอย่างปกติ สักพักตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ก็เริ่มเอารถตู้มาจอดขวางบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เหตุการณ์เริ่มวุ่นวายขึ้น ผู้ชุมนุมถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝั่งที่อยู่เลยออกไปจากสะพานกับฝั่งที่อยู่หน้าทำเนียบ พอถูกแบ่งแล้วผู้ชุมนุมก็เริ่มไปกรูกันหลังรถตู้ ในขณะเดียวกันเพื่อนของผมเขาก็โดน คฝ. รวบตัวจากข้างหลังจนล้ม ผมเห็นเพื่อนโดนแบบนั้นก็ประเมินกันว่าสภาพไม่น่ารอด
ตอนนั้นผมถือโทรโข่งไปด้วยเพราะตั้งใจจะไปขายของ เลยใช้โทรโข่งพูดกับตำรวจ คฝ. ว่า “เฮ้ย ทำแบบนี้ไม่ได้นะ พวกพี่เป็นอะไรกันเนี่ย ความเป็นคนไปอยู่ไหนกันหมด” ผมพูดใส่โทรโข่งจนตำรวจยอมถอยออกไป จากนั้นผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ที่อยู่ละแวกนั้นก็พาเพื่อนผมไปปฐมพยาบาล
หลังจากนั้นในช่วงเดียวกันผมก็เจอกับนักข่าวจากสำนัก ‘ข่าวสด English’ ผมยังให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอยู่เลยว่า “วันนี้มันเริ่มแปลกๆ นะ ทำไมเขายอมให้ผู้ชุมนุมมารออยู่ตรงนี้ มันต้องมีอะไรแน่ๆ เลย”
แต่ก็นึกได้ไม่นาน เพราะหลังจากนั้นอยู่ดีๆ ตำรวจก็เริ่มตรึงกำลังตามแนวขวางกับถนนพิษณุโลก ประมาณ 2 กองร้อย ตอนนั้นเราประเมินสถานการณ์ว่าจะเป็นการสลายการชุมนุมด้วยซ้ำ ไม่มีใครคิดเลยว่าหลังจากนั้นจะมีขบวนเสด็จผ่านมา ไม่มีใครพูด ไม่มีใครรู้เลย
แต่ด้วยสัญชาตญาณ เพราะผมเคยทำม็อบในมหาวิทยาลัยมาก่อน เรารู้แค่ว่า เราต้องไปอยู่ข้างหน้าตำรวจ เพื่อที่ว่าอย่างน้อยถ้าเราเป็นอะไรไป ผู้ชุมนุมข้างหลังเขาจะได้ตั้งตัวทัน เราก็เลยเอาตัวเองไปอยู่ตรงหน้าแถว ตอนนั้นเราพบกับพี่เอกชัย (เอกชัย หงส์กังวาน) ซึ่งผมไม่รู้จักเขามาก่อน หลังจากนั้นภายในไม่ถึง 2 วินาที เหตุการณ์ก็เริ่มชุลมุน ตำรวจประชิดเข้ามามากขึ้น สายตาผมเหลือบไปเห็นข้างหลังมีรถขบวนเสด็จค่อยๆ เคลื่อนเข้ามา ผมอุทาน ‘ฮะ’ ขึ้นในใจ แย่แล้ว ผู้ชุมนุมโดยรอบก็ต่างตกใจ
ขณะที่รถขบวนเสด็จผ่านมาตรงหน้า คุณทำอะไรอยู่
เมื่อขบวนเสด็จผ่านเข้ามาตรงกลางระหว่างผู้ชุมนุม ตอนนั้นก็มีคนชู 3 นิ้วเรื่อยๆ พอรถเริ่มเคลื่อนเข้ามาใกล้ ตำรวจก็ยิ่งเบียด ผมจึงพูดใส่โทรโข่งอีกครั้งเพื่อให้ผู้ชุมนุมถอยหลังออกมาจากขบวนเสด็จจะได้ไม่มีการปะทะกัน ในพื้นที่ตรงนั้นเราเห็นได้ชัดเลยว่ามันไม่มีแกนนำคุม เราก็ไม่ใช่แกนนำ เพียงแต่มีโทรโข่งที่ติดตัวมา เจตนาของเราคือใช้มันสื่อสารเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย
รู้ตัวเมื่อไหร่ว่าโดนออกหมายจับ
เช้าวันถัดไปประมาณตี 5 มีคนโทรมาบอกว่าตำรวจแจ้งข้อหากับเรา แต่เราไม่ทราบว่าคดีไหน เช้ามืดวันนั้นเรากับแม่เหลือบมองไปที่หน้าต่างหอพักแถวๆ ศาลายา เห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมายืนดักรออยู่หน้าหอเรียบร้อยแล้ว พวกเขาอยู่ตรงนั้นเกือบ 6 ชั่วโมง ในขณะเดียวกันเราก็ยังไม่ทราบว่าตัวเองจะโดนคดีอะไร เพราะคิดว่าเราไม่ได้ทำอะไรผิด อาจจะเป็น พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ก็เป็นได้ กระทั่งช่วงเวลาประมาณ 5-6 โมงเย็น ของวันที่ 15 ตุลาคม เรามาดูทวิตเตอร์ โอ้โห…ชัดเจนเลย พาดหัวข่าวของมติชน ‘ออกหมายจับนายเอกชัย หงส์กังวาน และนายบุญเกื้อหนุน เป้าทอง ด้วยคดีประทุษร้ายราชินีและองค์รัชทายาท ม.110’
วินาทีนั้นรู้สึกอย่างไร
ตอนนั่งอ่านข่าวครั้งแรก เราช็อกไปเหมือนกันนะ แต่สิ่งที่ผมกังวลคือแม่และครอบครัว เพราะวินาทีที่แม่ทราบข่าว แม่ร้องไห้หนักมาก ตอนนั้นแม่เริ่มคุมสติไม่ได้แล้ว เราจึงต้องพยายามนิ่งและตั้งสติให้ได้
เราเริ่มจากโทรไปที่ศูนย์ทนายฯ และเล่าเหตุการณ์ทั้งหมดให้ฟัง เราได้คุยกับทนายแอน (ภาวิณี ชุมศรี) เขาบอกว่าตั้งแต่เป็นทนายความมา 20-30 ปี ไม่เคยเจอคดีแบบนี้เลย ยิ่งเรารู้แบบนี้เรากับแม่ก็ลน ไม่รู้จะทำยังไงต่อ มันหนักอึ้งไปหมด เราพยายามโทรแจ้งกับทางมหาวิทยาลัย พยายามบอกอาจารย์ว่าผมขออาจารย์สักคนมาเป็น observer หน่อยได้ไหม แต่ทางมหาวิทยาลัยตอบกลับมาว่า “มหา’ลัยจะไม่ยุ่งเรื่องนี้”
ในอดีตเราไม่เคยรู้จักมาตรา 110 ‘ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี’ มาก่อน คุณรู้สึกอย่างไรที่โดนคดีรุนแรงขนาดนี้
อืม ใช่ครับ มันรุนแรงมากครับ ทางเลือกของเราอย่างแรกคือการอยู่สู้คดี อย่างสองคือการลี้ภัย
ถ้าผมลี้ภัย ผมประเมินแล้วว่ามันอาจจะไม่รอด หรือถ้ารอด ได้ไปอยู่ในประเทศที่ต้องการแล้ว เราจะไปอยู่ได้อย่างไร เราคือคนธรรมดา ไม่มีตังค์ ก็เลยตัดตัวเลือกการลี้ภัยออก
ฉะนั้นเหลือทางเดียวคือสู้คดี ถ้าอย่างนั้นก็อยู่อย่างนี้แหละ สู้มันไปเถอะ
หลังจากเราตัดสินใจแล้ว ก็เริ่มวางแผนเคลียร์กับทางมหาวิทยาลัย และเดินทางเข้ามอบตัว
ระหว่างนั้น คนนู้นคนนี้โทรมาไม่ขาดสาย เรารับรู้ถึงความเป็นห่วงของทุกคน แต่ละคืนผ่านไปอย่างยากลำบาก ไม่ค่อยมีคืนไหนที่หลับได้อย่างสนิท เพราะระหว่างที่กำลังรอให้ถึงวันมอบตัว อีกใจหนึ่งก็กลัวตำรวจจะมาบุกรวบตัว
เมื่อตัดสินใจมอบตัว คุณเจอกับอะไรบ้าง
หลังจากที่เข้ามอบตัวกับตำรวจ เขาก็พยายามพูดกับเราว่า “อย่าโกรธผมนะ ผมทำตามหน้าที่ มันคือหน้าที่” เขาพยายามพูดแบบนี้กับเราตลอดและยื่นเอกสารที่แจ้งว่าเราจะมีสิทธิอะไรบ้าง เช่น การเข้ารักษาพยาบาล แต่สิ่งที่ทำให้เราประหลาดใจคือ ในเอกสารนั้นระบุว่าเราโดนจับ ทั้งๆ ที่เราตัดสินใจมามอบตัวด้วยตัวเอง หลังจากนั้นก็ถูกนำตัวไปที่ ตชด. ภาค 1 และได้เจอกับเอกชัยที่โดนคดีเดียวกัน
อย่างที่บอก เราเพิ่งมารู้จักชื่อเขาในม็อบวันที่ 14 ตุลาคม 2563 แต่ในสำนวนของตำรวจ เขากล่าวหาว่าเรารู้จักกับเอกชัยและวางแผนกันมาก่อน ซึ่งมันไม่ใช่อะ และเขาพยายามกล่าวหาว่าเราตะโกนถ้อยคำไม่เหมาะสม ซึ่งเราไม่ได้ตะโกนคำนั้นแน่นอน
เราใช้เวลาอยู่ใน ตชด. 1 ตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงเช้าวันถัดไป เรานอนใน ตชด. 1 หนึ่งคืน คืนนั้นเรานอนบนเตียงภาคสนามของทหาร ช่วงเที่ยงคืนสะดุ้งตื่น ได้ยินเสียงเหมือนคนมาปราศรัยอยู่ข้างนอก เราก็เลยปลุกพี่เอกชัยให้ตื่นขึ้นมา
สรุปเรามารู้ทีหลังว่า เสียงที่ได้ยินคือเสียงของ ฟอร์ด-ทัตเทพ และ สส. จากบางพรรคที่เข้ามาสังเกตการณ์หน้า ตชด. 1
จากนั้นช่วงเช้าประมาณตี 5 เจ้าหน้าที่เข้ามาปลุกเพื่อเตรียมไปศาลอาญา เราก็ค้าน โดยให้เหตุผลว่าเรายังเป็นนักศึกษาอยู่ และไม่ได้มีพฤติกรรมหลบหนีด้วย เราจึงเข้ากระบวนการขอประกันตัวภายใต้วงเงิน 2 แสน
ตั้งแต่ #ม็อบ14ตุลา จนถึงวันนี้ คุณเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองไว้ว่าอย่างไร
มันเป็นเหมือน roller coaster น่ะ
มันขึ้นไปแล้วก็ลง มันเป็นความหวาดเสียว ประหลาด สับสน เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันจะหนักหนาสาหัสอะไรนะ เหมือนทำใจได้แล้วว่านี่คือสิ่งที่เราต้องเจอ
ช่วงหนึ่งความรู้สึกหมดหวังก็เกิดขึ้นกับเรา เพราะทนายหรือไม่ว่าจะใครก็ตามบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอาจจะประกันตัวยาก เพราะเป็นคดีที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แต่ในมุมหนึ่งเราก็ยังมีหวังอยู่นะ เพราะเราไม่ได้มีพฤติกรรมอย่างนั้นจริงๆ
สิ่งที่เราเจอ ไม่ได้บอกว่ามันแย่หรือดี เราเป็นคนหนึ่งที่แคร์เรื่องสุขภาพจิตของตัวเองมาก เราเป็นสมาธิสั้นและโรคซึมเศร้าด้วย เราพยายามมองและทำทุกอย่างให้ดีไว้ก่อน
คุณคาดหวังกับการต่อสู้ในคดีนี้อย่างไรบ้าง
เอาจริงๆ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรขนาดนั้น ถ้าเขาจะยัดเราเข้าไปอีกก็เอาเลย อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดครับ
ความชัดเจนคือ ถ้ามีการเตะถ่วงคดีนี้ออกไปมันจะดีกว่า และยังมีโอกาสที่เราจะสามารถพลิกกลับมาได้ แต่ถ้าโดนสั่งฟ้องแล้วฝากขัง ก็อาจจะไม่ได้ออกมาเจอใครอีก
ในฐานะนักศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คุณมองปรากฏการณ์การลุกฮือของม็อบในฮ่องกง ไทย พม่า อย่างไร
แน่นอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าคนฮ่องกงเจอเหตุการณ์เหมือนคนไทย หรือคนไทยเหมือนคนพม่า แต่สิ่งหนึ่งที่มันยึดโยงและพอจะอธิบายได้คือ เรามองเห็นปรากฏการณ์การลุกฮือของอุดมการณ์ ความคิด และสิ่งที่มนุษย์ต้องการอย่างแท้จริง คนฮ่องกงต้องการประชาธิปไตยในพื้นที่ของฮ่องกง ขณะที่ประเทศไทยก็ต้องการต่อสู้กับอำนาจอยุติธรรมทั้งหลายที่รัฐทำ หัวใจคือพวกเรามองเห็นความสำคัญของหลักการประชาธิปไตย
คนฮ่องกงมองเห็นความโหดร้ายของประเทศจีนที่ใช้อำนาจคุกคามและกระทำต่อเกาะฮ่องกง เขาจึงออกมา พอมันเป็นแบบนี้จึงเกิดเป็นการเคลื่อนไหวขึ้น
ย้อนไปในปีที่แล้วที่มูฟเมนต์ของม็อบฮ่องกงยังเดือดๆ ไม่ต่างจากการเคลื่อนไหวในไทย สิ่งมหัศจรรย์คือเหตุการณ์นี้พาเราไปเห็นการร่วมมือกันระหว่างพลเมืองชาวเน็ตฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และพม่า ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือ พันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ที่มีหมุดหมายเพื่อแสดงออกถึงความเป็นขบวนการประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ตแล้วบางจนจางหายไป เพราะอุดมการณ์ดังกล่าวนั้นมันลุกไปทั่วทุกมุม ด้วยความที่มันเกิดมาจากความต้องการที่มาจากคนธรรมดาสามัญจริงๆ
นอกจากนั้นสิ่งที่สำคัญคือ เราเห็นการไม่ยอมจำนนต่อสิ่งที่รัฐทำ เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ไทย พม่า พวกเขาไม่ใช่มนุษย์ที่เกิดมาแล้วตั้งหน้าตั้งตาทำตามรัฐอย่างเดียวแล้ว ถ้าพวกเขาเห็นว่าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง เราเชื่อว่าเรามีอนาคตที่ดีกว่าได้ การต่อสู้ของชาวฮ่องกงเพื่อเอกราชของประเทศสำหรับเรามันเป็นเรื่องใหญ่มาก แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่พวกเขาก็ลุกขึ้นสู้ ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ความไม่จำนนต่ออำนาจมันดึงให้คนรุ่นใหม่ออกมาได้จริงๆ
การโดนคดีมาตรา 110 ทำให้ธงประชาธิปไตยเปลี่ยนไปไหม
สิ่งที่ผมเจอมันเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ลึกๆ เอาเข้าจริง สิ่งที่เติบโตในใจมันก็ยังอยู่มาโดยตลอด
ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งเพอร์เฟ็คต์ มันมีความเละเทะอย่างที่เราเห็นนั่นแหละ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ในความเละเทะคือพื้นที่ที่ทำให้มนุษย์ได้พูด ได้แสดงออกตามสิ่งที่พวกเขาคิดจริงๆ นี่คือความงามที่ซ่อนอยู่ภายใต้ประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยคือ end game สำหรับเรา ต่อให้เดินนานแค่ไหน ต่อให้ผ่านแรงเสียดทานมากขนาดไหน มันก็ต้องไปจบที่ประชาชนอยู่ดี
ประเทศไทยต่อจากนี้จะมีวันเหมือนเดิมไหม
ไม่ ไม่มีทาง การเคลื่อนไหวตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มันทำให้ประเทศเปลี่ยนไปมาก ปัญหาหลายอย่างที่เราไม่เคยพูดถึง ทุกวันนี้ถูกพูดอย่างตรงไปตรงมา ฉะนั้นประเทศไทยไม่มีวันเหมือนเดิมแน่นอนครับ
มีอะไรจะกล่าวถึง #เพื่อนเรา ที่ขณะนี้พวกเขาอยู่ในห้องขัง
การที่เพื่อนเราหรือใครก็ตามต้องเข้าไปอยู่ข้างใน นี่คือกระจกสะท้อนความโหดร้ายของรัฐไทย เราควรมองให้เห็นจุดจุดนั้น มองให้เห็นความรุนแรงที่รัฐทำ เสรีภาพที่พวกเขาสูญเสียไป มันไม่ใช่แค่เรื่องของเขา แต่มันคือเรื่องของคนทุกคนครับ