ศาลยกฟ้อง ธเนตร อนันตวงษ์ เมื่อความเป็นธรรมมาถึงในวันที่พ่อไม่อยู่แล้ว

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง นายธเนตร อนันตวงษ์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง หลังจากที่เขาถูกเจ้าหน้าที่คณะรัฐประหาร คสช. ดำเนินคดีในข้อหา ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ คสช. ในเฟซบุ๊คส่วนตัว

ธเนตรต้องถูกจองจำในเรือนจำระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลากว่า 3 ปี 10 เดือน ชีวิตของธเนตรจึงนับเป็นหนึ่งในหลายกรณีที่ได้รับความอยุติธรรมในยุคสมัยที่เผด็จการทหารครองอำนาจ และยังเป็นเครื่องเตือนใจหากถึงวันที่ความไม่เป็นธรรมต่างๆ จะได้รับการสะสางเสียบ้าง

ต้านรัฐประหาร ตรวจสอบทุจริต ขึ้นศาลทหาร

ธเนตร อนันตวงษ์ คือชายหนุ่มอายุ 30 ปี ตัวเล็กร่างกายสันทัด เริ่มเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารของ คสช. หลากหลายวาระ ตั้งแต่การชุมนุมของขบวนการประชาธิปไตยใหม่หลังการยึดอำนาจของ คสช. เพียง 1 ปี จนถึงการตรวจสอบทุจริตโครงการอุทยานราชภักดิ์ เมื่อปี 2558 การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเองเป็นเหตุให้คณะรัฐประหารคุมตัวเขาไปสอบถามและตรวจสอบการใช้เฟซบุ๊คผ่านโทรศัพท์มือถือ ก่อนจะนำข้อความการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล คสช. ที่เขาโพสต์มาใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดี

ปิยรัตน์ จงเทพ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยร่วมกิจกรรมกับธเนตร เล่าถึงวันที่ธเนตรถูกควบคุมตัวจากโรงพยาบาลสิรินธร ขณะรักษาตัวจากการผ่าตัดไส้ติ่ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 ว่า

“ผมรู้จักกับเขามาก่อนหน้าการถูกจับ เนื่องจากธเนตรเป็นมวลชนที่มาร่วมเคลื่อนไหวกับนักศึกษา เขามาร่วมเกือบทุกครั้ง และในวันที่เขาถูกจับกุมที่โรงพยาบาลสิรินธร เขตประเวศ กรุงเทพฯ ผมทราบมาจากเพื่อนอีกทีว่าเขาไม่สบาย ตอนนั้นก็ไม่ทราบมาก่อนว่าเขามีคดีความอยู่แล้ว ผมก็อยู่ไม่ไกล เลยนัดเพื่อนที่แจ้งข่าวว่าจะไปเยี่ยมเขา พอไปถึงก็ถามอาการเขา ซึ่งก็กำลังดีขึ้นหลังจากผ่าตัด แต่ในขณะที่ผมกำลังกลับบ้าน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ไม่รู้ว่าเป็นทหารหรือตำรวจ มาอุ้มตัวเขาออกไปจากโรงพยาบาล ผมก็ตามไปถ่ายภาพได้และโพสต์เฟซบุ๊ค ข่าวเลยกระฉ่อนออกไป มาทราบว่าเขามีคดีความอยู่ เพียงปีกว่าหลังการยึดอำนาจ ซึ่งตอนนั้นสถานการณ์กำลังคุกรุ่นอยู่”

กิจกรรม ‘ส่องแสงหาคนโกง’ คือเหตุเริ่มต้นที่พาเขามาสู่การถูกอุ้ม เมื่อธเนตรเป็นหนึ่งในประชาชนหลายคนนั่งรถไฟตรวจสอบการทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปค่ายทหาร และถูกดำเนินคดีตามมาอีก 2 คดี คือ ข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550

ข้อความในเฟซบุ๊คส่วนตัว 5 ข้อความที่ถูกนำมากล่าวอ้างดำเนินคดีต่อเขา ระบุว่าเป็นข้อความโจมตีรัฐบาลและทหาร ปลุกปั่นให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังรัฐบาล ได้แก่ ข้อความที่โพสต์ว่า “ประเทศไทยเอย ทำไม่เธอ มันหน้า …ี (หน้าจริงจริง)”, ข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับการเสียชีวิตของ ‘หมอหยอง’ ในเรือนจำชั่วคราว มทบ.11, ข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมลอยกระทงขับไล่เผด็จการ, ข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับการทุจริตในการสร้างอุทยานราชภักดิ์ และโพสต์เกี่ยวกับกิจกรรมนั่งรถไฟไปอุทยานราชภักดิ์ และธเนตรก็ถูกนำตัวไปฝากขังเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2558 ก่อนจะได้รับการประกันตัว

อย่างไรก็ตาม ธเนตรไม่ได้มารายงานตัวต่อศาลทหารระหว่างการฝากขังครั้งที่ 2 ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจขอออกหมายจับ

อานนท์ นำภา ทนายความของ ธเนตร อนันตวงษ์ ให้สัมภาษณ์กับ WAY เกี่ยวกับสภาพการต่อสู้ทางคดีของธเนตรไว้ว่า “เป็นไปอย่างยากลำบาก”

อานนท์เล่าว่า

“พอธเนตรโดนจับ เขาถูกควบคุมโดยทหารและขึ้นศาลทหาร ในระหว่างการพิจารณาคดียื่นประกันตัว 1 แสนบาท แล้วได้ประกันตัว แต่พอออกมาเขาก็หวาดกลัว เพราะมีทหารตามไปคุกคาม ไปติดตามตัวตลอด ด้วยเป็นห่วงความปลอดภัย เลยไม่ได้เดินทางมารายงานตัวที่ศาล และลี้ภัยไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านระยะหนึ่ง แต่อยู่นั่นก็อยู่ไม่ได้ ลำบากทั้งเขาและคนที่ดูแล ไม่นานก็กลับมา”

จนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคม 2559 เขาได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ทั้งสองคดี การกลับมาครั้งนี้เองจึงทำให้เขาถูกจับตัวไป และไม่ได้รับการประกันตัวอีกเลย จนกระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องวันนี้ (25 มิถุนายน 2563)

หนึ่งในกว่า 2,000 คน ที่ถูกจับกุมในเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดง หรือ ‘เมษา-พฤษภา 53’

ก่อนการเคลื่อนไหวหลังรัฐประหารของ คสช. ธเนตรเคยร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2553 โดยถูกดำเนินคดีเรื่องการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งครั้งนั้นมีคนเสื้อแดงที่รอดชีวิตจากการล้อมปราบ ถูกดำเนินคดีกว่า 2,000 คน ทำให้ธเนตรต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำราว 1 ปีกว่า

อย่างไรก็ตาม การถูกดำเนินคดีครั้งนี้ของธเนตรแตกต่างออกไป เพราะเขาต้องขึ้นศาลทหาร ไม่ใช่ศาลยุติธรรมของพลเรือน

อานนท์เล่าว่า “คดีธเนตรต่างออกไป เพราะผู้ต้องหาคนอื่นที่เดินทางไปตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ จะโดนข้อหาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ส่วนธเนตรโดน ม.116 กับ พ.ร.บ.คอมฯ ด้วย หมายความว่าคดีก็จะรุนแรงมากขึ้น ส่วนข้อความที่ธเนตรโพสต์ไปก็ไม่ได้เกี่ยวกับ ม.116 คือถ้าไปดูจะเห็นว่าเป็นข้อความใสๆ ธเนตรก็เลยไม่รับสารภาพ

“ช่วงเวลานั้นพลเรือนยังต้องขึ้นศาลทหาร ท่ามกลางกระแสการตรวจสอบการทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ เรียกร้องให้กองทัพแสดงความโปร่งใส รวมทั้งบางทีการพิจารณาคดีของศาลทหารก็มีการจดช้า มีการพิจารณาคดีแค่ครึ่งวัน ทำให้คดีช้า ทำให้การพิจารณาคดีเลื่อนไปเป็นพิจารณาคดีเดือนละครั้ง

“ต่อมามีการโอนคดีต่างๆ จากศาลทหารมาสู่ศาลอาญา แต่การดำเนินการทางเอกสารก็ไม่ได้รวดเร็วขึ้น เพราะโดยทั่วไปจะมีนัดคดีความที่ข้ามไป 4-5 เดือน แต่ข้อดีของศาลอาญาคือ เป็นนัดคดีความแบบต่อเนื่อง คือมีการสืบพยานรวดเดียว นัดเดือนพฤษภาคมก็จะจบเดือนพฤษภาคม และจะมีการนัดทุกวันต่อเนื่องกัน” ทนายความของธเนตรกล่าว

สูญเสียพ่อเพียง 3 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพ

โดยทั่วไปการต่อสู้ในคดีการเมือง นอกจากความสูญเสียของจำเลยในด้านต่างๆ แล้ว ยังมีการสูญเสียอีกแบบคือ ‘การสูญเสียทางสังคม’ เนื่องจากคดีการเมืองส่วนใหญ่จะมีลักษณะยืดเยื้อยาวนาน

ทนายอานนท์อธิบายคดีธเนตรโดยวางไว้ร่วมกับคดีการเมืองอื่นๆ ว่า “ผมเห็นว่ามีความสูญเสียที่มาจากการขึ้นศาลทหารอยู่มาก เพราะคดีที่สิ้นสุดในศาลทหารมีน้อยมาก ถ้าไม่รับสารภาพจะนานมาก ถ้าต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลก็จะนาน บางคดี 2-3 ปี เพิ่งมีการนัดสืบพยานปากแรก แต่ความสูญเสียทางสังคมมีกันทุกคดี บางคดีคนที่เป็นหัวหน้าครอบครัวถูกจับ บางคนเป็นพ่อ ต้องมาติดคุก ลูกไม่ได้เรียนต่อ พอพ่อโดนจับ แม่ไปมีผัวใหม่ มีเต็มไปหมด”

เช่นเดียวกัน แม้ว่าคดีของธเนตรจะเดินทางมาสู่ศาลอาญา แต่จนแล้วจนรอดกว่าจะมีการนัดสืบพยานแบบรวดเดียวตามที่ทนายอานนท์กล่าวไว้ก็ล่วงมาเป็นเดือนพฤษภาคม ปี 2563 แล้ว ซึ่งนานพอที่จะทำให้ญาติสนิทเพียงหนึ่งเดียวที่มาเยี่ยมเขาเป็นประจำคือ คุณพ่อของเขา ต้องเสียชีวิตไปก่อน

ครั้งหนึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคิดความฝันของธเนตร จากปากคำของพ่อที่มักเดินทางมาเยี่ยมเขาระหว่างที่เขาขึ้นศาลทหาร

สนอง อนันตวงษ์ พ่อของธเนตร เป็นคนงานก่อสร้าง แต่ในช่วงหลังด้วยอาการป่วย ได้หันมาประกอบอาชีพพ่อค้าขายไอศกรีม ครอบครัวอาศัยอยู่ที่อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี โดยที่ภรรยาของสนองเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุไฟช็อต ตั้งแต่ธเนตรอายุได้ 8 ขวบ

สนองเล่าถึงลูกชายไว้ว่า “จริงๆ ตอนเด็กเขาไม่ใช่คนเกเร ไม่มีเรื่องขัดแย้งลงไม้ลงมือกับใคร กับพ่อก็ไม่มีเรื่องทะเลาะกัน เมื่อโตสักพักก็มาทำงานรับจ้างก่อสร้างกับพ่อที่กรุงเทพฯ และไปอีกหลายที่ หลายจังหวัด เขาทำงานช่างได้เหมือนผม ไม่ว่างานเหล็ก งานเชื่อม ฉาบปูน งานไม้ ทำวงกบ ผมกับเขาทำได้หมด ตอนที่ก่อสร้างด้วยกันก็จะเป็นตึก 3 ชั้น แถวงามวงศ์วาน ก่อนเกิดเรื่อง”

หลังจากลูกชายติดคุก สนองจะเดินทางไปเยี่ยมลูกชายในนัดที่ต้องขึ้นศาล โดยนั่งรถตู้มาจากจังหวัดอุทัยธานีเพียงลำพัง หลายปีให้หลัง สนองยังต้องฉีดอินซูลินเป็นประจำทุกวัน เพื่อบรรเทาอาการจากโรคเบาหวาน ทำให้การเดินทางไกลเป็นอุปสรรค

สนองบอกเล่าถึงเรื่องที่พูดคุยกับธเนตร ระหว่างลูกชายถูกคุมขังว่า “เขามักจะบอกว่า ถ้าได้ออกมา เขาอยากมีร้านรถเข็นไว้ขายไก่ย่าง-ข้าวเหนียว เพราะเป็นงานอิสระ สามารถขับไปได้เรื่อยๆ ถ้าเหนื่อยก็สามารถพักได้ อีกสิ่งหนึ่งเขามีความหวังว่า ถ้าได้ออกมาก็จะบวชให้พ่อ เพราะยังไม่เคยบวชให้พ่อเลย จนกระทั่งถูกจับไปเสียก่อน”

ต่อเรื่องนี้ อานนท์ นำภา เล่าถึงความผูกพันระหว่างธเนตรกับพ่อไว้ว่า

“พ่อของธเนตรทำงานรับจ้าง เป็นคนงานก่อสร้าง เดินทางไปเรื่อยๆ แล้วแต่นายจ้างจะพาไปไซต์งานไหน พ่อจะมาเยี่ยมธเนตรทุกเดือน เวลานั้นจะมีสมาคมเพื่อเพื่อนคอยดูแลเรื่องการจัดการ มีที่พัก ถ้าไม่มี พ่อก็จะพักตามไซต์งานก่อสร้างที่เพื่อนพ่อเขาอยู่ แต่ว่าหลังๆ มา แกไม่ค่อยมีเงิน และการนัดพิจารณาคดีของศาลทหารก็เลื่อนไปเรื่อยๆ 1-2 เดือนต่อครั้ง

“คุณพ่อไม่คุยเรื่องคดี ขอแค่มาเจอลูก สอบถามสั้นๆ บุคลิกไม่ใช่คนพูดกับใคร คือขอแค่ให้เจอหน้าลูก คือมานั่งมองอย่างเดียว ตามดูลูก

“เวลาพูดถึงธเนตร จะพูดถึงเด็กที่ไม่ค่อยมีโอกาส พอมาทำงานกรุงเทพฯ พอเจอวิกฤติการเมืองตอนปี 53 ก็มาชุมนุมกับคนเสื้อแดงและมาคลุกคลีกับคนเสื้อแดง ผมไม่เห็นเขามีเพื่อน ก็มีแต่พ่อ หลังรัฐประหาร 57 ก็มาร่วมการชุมนุมกับนักศึกษาเรื่อยๆ”

แต่ถึงที่สุด นายสนอง อนันตวงษ์ บิดาของธเนตร ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ในวัย 60 ปี เนื่องจากอาการป่วยด้วยโรคเบาหวาน และโรคแทรกซ้อนอีกหลายโรค เพียง 3 เดือน ก่อนที่ศาลอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้องลูกชายของเขา

ในด้านหนึ่งการยกฟ้อง ธเนตร อนันตวงษ์ จากข้อหาร้ายแรง นับว่าเป็นสิ่งที่น่ายินดี ขณะที่อีกด้านที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ กรณีของธเนตรอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการทบทวนความไม่เป็นธรรมหลายกรณี จากการใช้คดีความปิดปากประชาชนที่ออกมาต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมและเรียกร้องประชาธิปไตย

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า