เศรษฐกิจดีไม่ดี เชื่อ GDP ได้หรือไม่?

เศรษฐพุฒิ 03-re

ในบริบททางเศรษฐกิจ ใครๆ ก็อ้างตัวเลขชุดเดียว คือ GDP เป็นสรณะ ซึ่งหากเจาะไปที่ตัว GDP แล้ว ก็จะพบอีกว่า มีตัวเลขซับซ้อนอีรุงตุงนัง ชวนปวดเศียรเวียนเกล้ามากมาย แล้ว GDP จะคิดกันง่ายๆ ได้อย่างไร

ในหลายประเทศ – จริงๆ เกือบทั้งโลก ใช้ GDP เป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ ย้ำ ‘ทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเป็นตัวชี้วัดด้านอื่นๆ ของประเทศนั้นๆ ได้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ก็ให้ความเห็นว่า GDP ไม่ใช่ตัวชี้วัดสำหรับทุกด้าน แต่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ฉายภาพสะท้อนให้เห็นสภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น

 

GDP คือทุกสิ่ง?

ที่มาของ GDP ที่เราเห็นกันทั่วไปคืออะไร

“บ้านเรามีปัญหาเรื่องตัวเลขมหาศาล ถกกันเยอะเลยว่าเศรษฐกิจไม่โต แล้วก็อิงกับตัวเลข GDP แต่ว่าผู้ตัดสินใจ ผู้กำหนดนโยบาย ไม่เคยใส่ใจว่าไส้ในของตัวเลขเป็นยังไง ที่มาของการกำหนดเป็นยังไง ซึ่งบ้านเรามีปัญหาเยอะมาก ตัวเลขนี้ผมยืนยันเลยว่ามันไม่ค่อยสมบูรณ์”

ตัวเลข GDP ‘ไม่สมบูรณ์’ เพราะเป็นการมองมิติเดียว ซึ่งเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นมาจากความต้องการตัวชี้วัดเพียงตัวเดียวของสหรัฐ

“นี่คือปัญหาของ GDP แล้ว ตอนที่ ไซมอน คุสเน็ตส์ ทำออกมา เขาก็คงไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นอภิธรรมที่คนเอาไปใช้ทั่วบ้านทั่วเมือง กลายเป็นตัวที่คนจ้องว่าจะขึ้นหรือลง”

 

GDP ‘ผลิต’ หรือ ‘จ่าย’

“GDP ดูตามชื่อจะรู้สึกว่ามันวัด ‘ผลผลิต’ แต่ทำไมมีรายจ่ายเข้ามา เหตุผลเพราะเป็นวิธีการบัญชี ที่จะมาวัดว่าภาพรวมเป็นยังไง บ้านเราวัดจากสองฝั่ง ฝั่งรายจ่าย ซึ่งก็คือสี่เครื่องยนต์ แล้วก็วัดอีกฝั่งหนึ่ง คือภาคการผลิต”

โดยหลักการทางบัญชี ทั้งตัวเลข ‘รายจ่าย’ หรือ ‘การผลิต’ ควรจะออกมาเท่ากัน คือ ถ้าผลิตอะไร ก็ต้องวัดมูลค่าของสินค้าที่ผลิตออกมา โดยใช้ราคาตลาด เป็น ‘อุปสงค์’ กับ ‘อุปทาน’

ในสี่ไตรมาสของปี 2557 รายจ่าย (อุปสงค์) อยู่ที่ 12,377,712 ล้านล้านบาท ขณะที่การผลิต (อุปทาน) อยู่ที่ 12,140,966 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีดัชนีคลาดเคลื่อนกำกับอยู่ทุกไตรมาส

“ถ้าดูตัวเลขปี 2557 ทั้งปี เขาจะดูรายจ่ายต่างๆ ในสี่เครื่องยนต์ ถ้าบวกกันทั้งหมด ก็จะบอกว่า GDP หรือผลผลิตรวมของทั้งประเทศอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท นี่คือวัดจากฝั่งรายจ่าย ในหลักการ ตัวเลขมันควรเท่ากับผลผลิต แต่ในทางปฏิบัติ มันจะมี gap ตัวเลขที่สภาพัฒน์ถือว่าเป็นตัวเลขที่เป็น ‘ทางการ’ เขาดูฝั่งการผลิต แล้วก็ดูว่ามี gap เกิดขึ้น ทำให้ยอดสองตัวไม่เท่ากัน”

ตัวเลข 12 ล้านล้านบาท ไม่ใช่สิ่งที่เราเห็นบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เป็นเปอร์เซ็นต์ที่แสดงว่า GDP โตกี่เปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง ปี 2557 GDP โต 0.7 เปอร์เซ็นต์ แล้ว 12 ล้านล้านบาทเกี่ยวข้องกับ 0.7 เปอร์เซ็นต์อย่างไร

ตัวอย่างเช่น การผลิตแก้วหนึ่งใบ การกำหนดราคาขายต้องใช้ราคาตลาด แล้วก็มีคนพร้อมจะ ‘จ่าย’ ในราคานั้น ‘ผลผลิต’ ทั้งหมดก็จะเท่ากับ ‘รายจ่าย’

ปี 2557 ผลิตแก้วได้ 10 ใบ ขายใบละ 10 บาท เราได้ GDP เท่ากับ 100

ปี 2558 ผลิตแก้วได้ 11 ใบ แต่ราคาแก้วอาจจะขึ้นเป็น 11 บาท เราได้ GDP 121

“ถ้าดูอย่างนี้ เมื่อคิด GDP เป็นเปอร์เซ็นต์ จะโต 21 เปอร์เซ็นต์ แต่คนจะบอกว่า ที่โต 21 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้วัดว่าเรา ‘ผลิต’ มากขึ้นเท่าไหร่ เพราะส่วนหนึ่งที่ตัวเลขนี้โตขึ้นเพราะ ‘ราคา’ ซึ่งถ้าเงินเฟ้อ ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเราไม่ได้ผลิตมากขึ้น”

ดังนั้น การคำนวณราคาของสภาพัฒน์จึงควบคุมปัจจัย ‘ราคา’ ให้คงที่เพื่อหาตัวเลข ‘ผลผลิต’ ออกมาให้ชัดๆ เรียกราคาคงที่นั้นว่า ‘ปีฐาน’ ในกรณีสมมุติ ใช้ปี 2557 เป็นปีฐาน คือ

ปี 2557 ผลิตแก้วได้ 10 ใบ ขายใบละ 10 บาท เราได้ GDP เท่ากับ 100

ปี 2558 ผลิตแก้วได้ 11 ใบ ขายใบละ 10 บาท เราได้ GDP 110

สรุปว่า ได้ ‘ผลผลิต’ เพิ่มขึ้นหนึ่งชิ้น

แต่โลกจริงไม่ง่ายปานนั้น…เพราะตัวเลขราคาที่สภาพัฒน์ใช้เป็นปีฐานคือ ปี 2531!

“ผมเคยทำงาน World Bank มาแปดเก้าปี ทำงานในแอฟริกา ละตินอเมริกา ผมไม่เคยเห็นที่ไหนใช้ปีฐานเก่าขนาดนี้ จริงๆ ประเทศทั่วไปเขาจะอัพเดตห้าปีสิบปี แล้วลองคิดดู ถ้าปีฐานเก่าขนาดนี้ สินค้าที่ตอนนี้มี แต่ปี 2531 ไม่มี คุณมาคำนวณยังไง เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เราผลิตเยอะตอนนี้ ใช้อะไรมาวัด”

“สมัยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ ผมมีทีมที่ต้องคาดการณ์เรื่องเศรษฐกิจจะโตเท่าไหร่ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีใครรู้หรอก มันดูยากมาก แต่ผมมักจะบอกทีมตัวเองตลอดเวลาว่า เราไม่ได้พยากรณ์ว่าเศรษฐกิจโตเท่าไหร่ แต่เรากำลังพยากรณ์ว่า สภาพัฒน์ฯจะบอกว่าโตเท่าไหร่ ถ้าเขาคำนวณแปลกๆ เราก็ต้องคำนวณด้วยวิธีแปลกๆ แบบเขา เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ทำตัวเลขออกมาเป็นทางการ”

 

เศรษฐพุฒิ 01-reควรใช้ไหม GDP

ในเมื่อเป็นตัวเลขทางการชุดเดียวที่คนเอาไปใช้ถกเถียง ใช้ประมาณการณ์ ใช้ทำมาหากิน แต่ดูไปดูมา GDP เป็นตัวชี้วัดพิกลพิการ จนไม่รู้ควรจะเอามาอ้างถึงดีหรือเปล่า

“GDP ถามว่าควรใช้ไหม ควร แต่ประเด็นคือ ใช้มันโดยรู้ข้อจำกัด แล้วอย่าคิดว่ามันจะตอบเราทุกอย่าง การดูภาพรวมเศรษฐกิจว่าเป็นยังไง GDP เป็นเพียงแค่องค์ประกอบอันเดียว มันมีสารพัดอย่างที่ควรดูด้วย มันเหมือนเราไปตรวจสุขภาพ ตัว GDP ก็เหมือนเป็นตัวชี้วัดบางตัว เช่น ความดัน ซึ่งมันมีอย่างอื่นที่ควรดูด้วย อย่างค่าตับ ค่าไต”

 

สี่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเริ่มเดินแล้ว

ผลงานจากซีกรัฐบาล มีการคาดการณ์ว่า GDP จะกระเตื้องขึ้น เพราะสี่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจเริ่มทำงาน แต่เมื่อ GDP ไม่ใช่ทุกสิ่ง ประกอบกับ GDP ของไตรมาสแรกปี 2558 ออกล่าช้า อาจเป็นโอกาสที่ชวนให้มองไปยังตัวชี้วัดอื่น

“อีกวิธีหนึ่งคือ หาตัวเลขที่อาจไม่ได้สะท้อน GDP แบบเป๊ะๆ แต่เป็นตัวชี้วัดหรือเงาที่สะท้อนการบริโภค การลงทุน และการส่งออกว่าเป็นยังไง ที่ทางรัฐบาลหรือนักวิเคราะห์พูดกันคือ เขาจะอิงกับตัวเลขที่แบงค์ชาติแถลงทุกสิ้นเดือน ตัวอย่างคือ จะมีตัวเลขที่เรียกว่า ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Private Consumption Index: PCI) เขาจะดูตัวแปรต่างๆ แล้วเอาตัวเลขพวกนี้มาสร้างดัชนีที่นักวิเคราะห์ รวมทั้งภาครัฐดูว่าเศรษฐกิจมันจะฟื้นหรือไม่

“นั่นคือในหลักการ แต่ความจริงก็คือ ตอนนี้ (เมษายน 2558) เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น”

 

ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น

รายได้ก้อนสำคัญของไทยในหมวดการส่งออก-นำเข้า คือ การท่องเที่ยว ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองและผลจากกฎอัยการศึก สร้างความไม่มั่นใจ รวมถึงข้อยกเว้นทางประกันภัยที่ไม่ครอบคลุมถึงภัยจากการชุมนุม วินาศกรรม ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง แต่หลังจากนั้น เสียงจากซีกรัฐบาลอีกเช่นกันที่บอกว่า เศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวกำลังดีขึ้น

“การ ‘ประมาณการท่องเที่ยว’ ต้องถามว่ารู้ได้ยังไง วิธีที่เขาทำ เขาจะดูหลักๆ ที่ ตม. สุวรรณภูมิบวกกับด่านอื่นๆ ว่านักท่องเที่ยวมาจากไหน อันนี้เขารู้แน่ๆ แล้วเขาก็ไปสำรวจว่าแต่ละคนใช้จ่ายเท่าไหร่ แต่ถามว่ามีทางที่จะรู้ไหมว่า นายจอร์จหรือมิสเตอร์หวังที่มาเที่ยวบ้านเราจะไปใช้จ่ายจริงเท่าไหร่ คุณอาจจะรู้ว่าคนมาจากเยอรมนีกี่คน แต่คนเยอรมันคนนี้ไปพักที่โอเรียนเต็ล ใช้จ่ายแบบนี้ หรือไปพักที่ข้าวสาร ใช้จ่ายอีกแบบ ไม่มีทางรู้หรอก

“ช่วงหลังที่มาเยอะคือนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อหัวของจีนปกติจะต่ำกว่ายุโรป ก็มีข้อจำกัด แต่พวกนี้ก็เป็นตัวชี้วัดเพื่อจะคาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ทางการมีแนวโน้มดีขึ้นหรือเปล่า”

 

เศรษฐกิจมีนอกมีใน

ประเทศไทยไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่ลอยอยู่เป็นเอกเทศ ไทยเป็นส่วนหนึ่งของโลก ปัญหาเศรษฐกิจของไทยกับโลกจึงมีส่วนสัมพันธ์กัน หากมองในสถานการณ์ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยอาจจะดูแย่ ‘จนเป็นปกติ’ เมื่อวัดจากสี่เครื่องยนต์ แต่น้ำหนักสำคัญที่กดทับให้ไทยอ่วมยิ่งกว่าเดิมดูเหมือนจะมาจากภายนอก

“ตอบสั้นๆ เข้าใจง่ายๆ คือเราเจอปัญหาทั้งภายในภายนอก เพราะบริโภคก็ชะลอ ลงทุนก็ชะลอ ซึ่งพวกนี้เป็นเครื่องยนต์ภายในประเทศ การลงทุนเข้าใจได้ เพราะความไม่แน่นอนทางการเมือง ไม่แน่นอนในแง่นโยบาย อุปสงค์ไม่ฟื้น จะลงทุนทำไม

“การเบิกจ่ายภาครัฐที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าการจัดการช้า เม็ดเงินจริงๆ ออกช้า และบางครั้งก็ไม่ใช่ตัวเงินที่ออกไปสู่ระบบ ส่วนการส่งออกถ้าตามข่าวจะรู้ว่ามันต่ำลง”

ปัจจัยภายนอกที่สำคัญคือการส่งออก-นำเข้า ซึ่งเห็นได้ชัดว่ายังไม่ฟื้น โดยเฉพาะผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัว

“ส่วนที่ทำให้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี ผมยังให้น้ำหนักกับเรื่องปัจจัยภายนอก มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับการส่งออกอย่างเดียว เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรต่ำลงทั่วโลก ยังไงเรากระทบแน่ๆ แม้จะไม่ได้ส่งสินค้าออกไปจีนเลย เหมือนกับผมผลิตยางเพื่อขายภายในประเทศอย่างเดียว แต่ราคายางเป็นราคาที่ถูกกำหนดโดยตลาดโลก มันก็จะแกว่งตามปัจจัยภายนอกอย่างที่เห็น”

 

 

ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Main Way นิตยสาร WAY ฉบับที่ 85 พฤษภาคม 2558

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า