‘ความเป็นชายและเควียร์ข้ามถิ่น’ เป็นหนึ่งในหัวข้อเสวนา ‘สังคมวิทยาของสิทธิมนุษยชน’ จาก ‘การประชุมวิชาการประจำปีด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ครั้งที่ 1: ข้าม เผชิญหน้า ณ จุดตัด’ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2561 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์กรมหาชน) ซึ่งรวบรวมและนำเสนอบทความที่น่าสนใจ เกี่ยวกับความเป็นเพศที่ยึดและเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ทั้งหมดสามหัวข้อ
ไทย-ญี่ปุ่น เควียร์แบบโลกาเทศาภิวัตน์
ถ้าจะพูดถึงกรณีเควียร์ศึกษา คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องเพศสภาพ เพศวิถี และสิทธิมนุษยชน ทำให้ นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยโอ๊คแลนด์ (University of Auckland) ประเทศนิวซีแลนด์ ลงมือศึกษาและนำเสนองานวิจัยเรื่อง ‘เควียร์แบบโลกาเทศาภิวัตน์ กรณีศึกษาไทยและญี่ปุ่น’ เพื่อทำความเข้าใจปฏิสัมพันธ์บางอย่าง ที่มีผลต่อความเชื่อ ความคิด และวัฒนธรรมทางเพศ ของบุคคลในแต่ละประเทศ
แรกเริ่มเดิมทีประเทศไทยยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มากนัก ส่งผลให้นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิ จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาข้อมูล ทฤษฎี หรือแนวคิด จากโซนตะวันตก
แต่จากแนวคิดหลังอาณานิคม (post-colonialism) สามารถพูดกลายๆ ได้ว่า เป็นการครอบงำทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง เพราะประเทศตะวันตกมักถูกมองว่าทำหน้าที่เป็นผู้นำและเป็นผู้ส่งออกความรู้ทางด้านเควียร์อย่างผูกขาด ขณะที่ประเทศอื่นๆ ตกอยู่ในฐานะผู้ตามที่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้ก้าวทันประเทศตะวันตกที่มีความเจริญในสาขาวิชาดังกล่าวแล้ว
มุมมองเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายเกี่ยวกับเพศสภาวะและเพศวิถีในตะวันออก ‘ถูกตีกรอบ’ โดยมุมมองของอาณานิคมตะวันตก ทำให้เกิดการมองข้ามความเฉพาะตัวในมิติอื่นๆ และความหลากหลายของทัศนคติที่มีต่อเรื่องเพศของคนตะวันออก เพื่อลดข้อจำกัด จึงใช้แนวคิดเควียร์และ ‘โลกาเทศาภิวัตน์’ มาทำงานร่วมกัน เพื่อมองปฏิสัมพันธ์ความเป็นเพศและวัฒนธรรมที่ซับซ้อน
โลกาเทศาภิวัตน์ (glocalisation) หมายถึงอะไร?
ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ โลก (global) และท้องถิ่น (local) รวมตัวเข้าด้วยกันอย่างง่ายดาย เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่นไปสู่โลกและโลกสู่ท้องถิ่น
ในแง่ของความเป็นเพศ เกิดเป็นความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่าง ‘อิทธิพลจากต่างชาติ’ กับ ‘อิทธิพลดั้งเดิม’ ที่มีอยู่ภายในท้องถิ่นนั้นๆ ผสมผสานกันจนเกิดผลลัพธ์ในลักษณะ ‘โลกาเทศาภิวัตน์จึงเป็นแบบลูกผสม (hybrid)’ ถึงแม้มุมมองแบบหลังอาณานิคมจะชี้ให้เห็นความสำคัญของอิทธิพลของชาติตะวันตกในสายเควียร์มากแค่ไหน ก็ไม่สามารถสะท้อนให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมและผลผลิตที่เกิดจากการผสมผสานทั้งหมดได้
“จะเห็นว่าปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ทำให้ความรู้และการเคลื่อนไหวทางด้านสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางเพศ หรือบุคคลหลากหลายเพศของทั้งสองประเทศ พัฒนาในลักษณะของโลกาเทศาภิวัตน์ แม้จะมีบางด้านที่มีความคล้ายคลึงกัน อันเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากชาติตะวันตกเหมือนกัน แต่ผลผลิตจากโลกาเทศาภิวัตน์ ทำให้วัฒนธรรมของผู้มีความหลากหลายทางเพศของแต่ละประเทศนั้นมีความเฉพาะตัว”
นรุตม์ได้ยกกรณีตัวอย่างความหลากหลายทางเพศในไทยและญี่ปุ่น เพื่อฉายภาพให้เห็นความสัมพันธ์แบบลูกผสมในศาสตร์เควียร์ไว้ว่า “วาทกรรมเรื่องเพศสภาวะและเพศวิถีต่างๆ ของไทยและญี่ปุ่นมีความต่างกัน แนวคิดเรื่องเพศที่อื่นนอกจากหญิงชาย ทำให้สังคมไทยเปิดพื้นที่ให้บุคคลเหล่านี้ได้มากกว่า
“ต่างจากญี่ปุ่น ที่ฝังแนวคิดเรื่องอะมะเอะ (甘え amae) ไว้อย่างหนักแน่น จนทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมญี่ปุ่น เกิดความกลัวที่จะแตกต่างจากกลุ่มคนหมู่มาก จึงไม่กล้าแสดงออก ต้องหลบซ่อนตัว และเลือกที่จะปิดบังอัตลักษณ์ของตนเอง”
ผู้บ่าวไทบ้าน
นอกจากการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเพศและวัฒธรรมที่ซับซ้อนบนฐานความคิดโลกาเทศาภิวัตน์แล้ว ความเป็นชายที่อาจมองเห็นได้ง่าย รู้สึกใกล้ชิดกว่า อีกทั้งยังมีมิติที่น่าสนใจ นั่นคือ การปรากฏภาพของ ‘ชายในภาคอีสาน’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ในงานหัวข้อเรื่อง ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์: ผู้บ่าวไทบ้าน และทางเลือกความเป็นชายในอีสาน’
สุเมธ รักษ์จันทร์ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงมือศึกษาความเป็นชายในภาคอีสาน ผ่านสื่อภาพยนตร์ เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ โดยมองตัวละครนำเพศชายเป็นหลัก และใช้กระบวนการวิเคราะห์เนื้อหา (textual analysis) และการวิเคราะห์วาทกรรม (discourse analysis) ด้วยปฏิบัติการของวาทกรรม (discoursive practice) ที่ถูกนำเสนอในภาพยนตร์ ผ่านแนวคิดพหุความเป็นชาย (masculinities)
จนพบว่า ความเป็นชายในภาคอีสานไม่ได้มีแบบเดียว แต่พบถึงสองรูปแบบ คือ ความเป็นชายที่ถือครองอำนาจนำ (hegemonic masculinity) ที่เป็นภาพชายในอุดมคติที่มันถูกผลิตซ้ำจากสื่อ ว่าจะต้องบุคลิกดี หน้าที่การงานดี ประสบความสำเร็จทั้งในหน้าที่การงานและความรัก
จากบทบาทของ ‘ป่อง’ ที่เป็นชายหนุ่มที่ฐานะดี เป็นลูกชายผู้ใหญ่บ้าน เรียนจบด้านบริหารในกรุงเทพฯ ต้องการจะมีอาชีพและฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง โดยฝันจะเปิดร้านสะดวกซื้อในหมู่บ้านตัวเอง แต่มีอุปสรรคตรงที่พ่อไม่อนุญาต ต้องแลกกับการทำนาให้เป็นก่อน ป่องจึงใช้ความรู้และทักษะของตัวเองโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา จนประสบความสำเร็จในที่สุด
กลับกัน อีกหนึ่งความเป็นชาย จากบทบาทของ ‘จาลอด’ ที่เป็นตัวแทนของผู้บ่าวไทยบ้านอย่างแท้จริง เลือกไม่เป็นไปตามความเป็นชายที่ถือครองอำนาจนำ เป็นหนุ่มอีสานบ้านๆ พื้นๆ ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิด เรียนจบแค่ ม.3 ทำอาชีพเกษตรกรรมต้องพึ่งฟ้าพึ่งฝน ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการงานและความรัก
แต่จาลอดก็พยายามจะต่อรองกับความเป็นชายอำนาจนำ โดยการอยากจะมีความรักและมีอาชีพที่มั่นคง จึงพยายามหาลู่ทางที่จะทำให้ชีวิตดี ไม่ต่างจากป่องที่ดูเหมือนจะมีชีวิตที่ก้าวนำจาลอด แต่ก็เผชิญกับการต่อรองกับความเป็นชายแบบฉบับอีสานเช่นกัน จากเหตุการณ์ถูกบังคับให้ทำนา ซึ่งความคิดของชาวอีสานดั้งเดิม เชื่อกันว่าใครที่ปลูกข้าวดำนาได้ นั่นเท่ากับเป็นชายในอุดมคติ
เห็นได้ว่า ผู้บ่าวไทบ้าน มีการนำเสนอความเป็นชายในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวังและเบี่ยงเบนออกจากบรรทัดฐานของสังคม
ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายภาพให้เห็นหนึ่งปรากฏการณ์จริงที่พบได้ทั่วไปในภูมิภาคอีสาน แสดงถึงการต่อรองของผู้ชายในสังคมอีสานที่เลือกจะไม่เดินตามความเป็นชายที่ถือครองอำนาจนำ
ผู้บ่าวไทบ้าน ได้สร้างความเป็นชายในลักษณะของความเป็น ‘ผู้บ่าวไทบ้าน’ ที่มีตำแหน่งทางสังคม (social position) และตัวตนของตนเองขึ้นมา เป็นปรากฏการณ์ที่แสดงถึงผู้กระทำ หรือตัวละครมีชีวิตชีวา (active agency) ไม่ได้สยบยอมต่อการกระทำของโครงสร้าง (structure) แต่เลือกที่จะต่อรองสร้างตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองขึ้นมา
ความเป็นชาย (บนร่าง) ที่ร่ายรำ
ใครว่าผู้ชายร่ายรำไม่ได้…
ภาพจำที่ว่าการฟ้อนรำหรือการเต้น เป็นแค่เรื่องของเพศหญิงเท่านั้น กำลังกลายเป็นกับดักทางความคิดที่ส่งผลทำให้เรายึดติด จนมองว่าเพศชาย หรือคนที่มีร่างกายเป็นชาย ไม่สามารถทำกิจกรรมทางศิลปะเกี่ยวกับการร่ายรำหรือระบำได้
ศุภกิตด์ โตประเสริฐ นักศึกษาภาควิชามานุษยวิทยา Universitas Gadjah Mada ประเทศอินโดนีเซีย จึงเลือกศึกษา ‘ความเป็นชาย’ ในหัวข้อเรื่อง ‘ความเป็นชาย (บนร่าง) ที่ร่ายรำ: ลักษณะความเป็นชายที่ (ถูกทำให้) ปรากฏผ่านการร่ายรำระบำชวา’
ผ่านประสบการณ์ตรงจากการใช้เรือนร่างของตัวเอง เข้าฝึกฝนการร่ายรำนาฏศิลป์ราชสำนักชวายอคยาการ์ตา ณ ประเทศอินโดนีเซีย เน้นเฉพาะไปที่การร่ายรำสำหรับผู้รำที่เป็นชาย โดยอาศัยวิธีการวิจัยทางชาติพันธุ์นิพนธ์ที่ถูกเรียกว่า ‘Performance Ethnography’ ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาบนฐานของสรีระและเรือนร่างของมนุษย์
“ก่อนลงมือศึกษาครั้งนี้ เราก็มีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเพศไม่ต่างจากคนทั่วไป เรามองอย่างเหมารวมว่าในสังคมอินโดนีเซียน่าจะยังไม่ได้เปิดกว้างในเรื่องเพศมาก แต่พอได้ทุ่มเทกายใจลงไปคลุกคลีโดยผ่านการร่ายรำแล้ว พบว่ามันไม่เป็นอย่างที่เคยเข้าใจ”
การศึกษาครั้งนี้แสดงผลลัพธ์ให้เห็นว่า ศิลปะการร่ายรำราชสำนักชวายอคยาการ์ตา วางอยู่บนช่วงที่ลื่นไหลไปมา ระหว่างลักษณะความเป็นชายแบบ ‘นุ่มนวลอ่อนโยน’ (alus) และลักษณะความเป็นชายแบบ ‘ก้าวร้าวดุดัน’ (gagah) ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดขั้วตรงข้ามทางเพศสภาวะที่ไม่ได้ตายตัว แต่รับรู้ความเป็นชายในการร่ายรำชวา ได้จากเงื่อนไขหรือเหตุผลต่างๆ นอกเหนือจากความเป็นเพศและข้อจำกัดทางสรีระ อย่างเช่น ความรู้สึกภายในของผู้รำที่จะส่งผลต่อท่าทางที่ปรากฏ
หรือจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ไม่ได้บีบให้ต้องเลือกอยู่ในลักษณะความเป็นชายหรือความเป็นหญิง อย่างใดอย่างหนึ่งอีกต่อไป
ดังนั้นจึงไม่เกิดคำถามประเภทที่ว่า “เป็นผู้ชายทำไมถึงมารำ ทำไมไม่ไปทำอย่างอื่น?” ภายใต้วิธีคิดแบบสังคมชวาเลย
เรือนร่างกับความเป็นเพศที่มีหลายเฉดสี ทำให้ความเป็นชายสามารถแสดงจริตแบบผู้หญิงในพื้นที่การร่ายรำแบบชวา เพราะไม่มีการจับเพศยัดใส่กล่องที่ตายตัวอยู่แบบในอดีต
แต่มันกลับค้นพบกล่องอื่นๆ เนื่องจากความลื่นไหลที่เกิดขึ้น โดยแต่ละกล่องก็มีความเฉพาะเป็นของตัวเอง ไม่สามารถใช้บรรทัดฐานความเป็นหญิงหรือชายมากำหนดได้
ฉะนั้นแล้วความคิดเรื่องเพศที่ยังคงเป็นกล่องค่อนข้างแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่น อาจจะไม่สอดคล้องกับการมองเรื่องเพศ และการแสดงออกเชิงศิลปะอย่างการร่ายรำได้อีกต่อไปแล้ว