ผู้ปกครองหลายคนคงเคยประสบปัญหาที่ว่า…
บอกให้ลูกวางสมาร์ทโฟนลง เลิกแชทสักประเดี๋ยว แล้วนั่งกินข้าวดีๆ
อย่าเดินก้มหน้าก้มตาแชท แล้วหัดมองทางบ้าง
หรือลูกสาวคุณบอกว่า จะไม่กินข้าวเย็น เพราะรู้สึกว่าตัวเองอ้วนเหลือเกิน ทั้งๆ ที่คุณมอง 360 องศาแล้วก็ไม่เห็นว่าลูกคุณอ้วนตรงไหน
เรื่องน่าปวดหัวที่คุณเผชิญกำลังเป็นความวิตกกังวลของพ่อๆ แม่ๆ ทั่วโลก และปัญหาเหล่านี้เกิดจากความป่วยไข้ของเด็กรุ่นใหม่ที่ใช้เวลาอยู่กับโซเชียลมีเดียมากเกินไป
เสพติด screen time
งานวิจัยจากประเทศอังกฤษเปิดเผยว่า เด็กอายุ 12-15 ปี ไม่สามารถสร้างความสมดุลระหว่าง screen time หรือกิจกรรมที่ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอ ไม่ว่าจะสมาร์ทโฟน แทบเล็ต คอมพิวเตอร์หรือโทรทัศน์ กับกิจกรรมอื่นๆ ได้
ผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วจาก Ofcom พบว่า กว่า 64 เปอร์เซ็นต์ของเด็กอายุตั้งแต่ 12-15 ปี ผู้ปกครองไม่เคยจำกัดเวลา screen time ของพวกเขา
ฝั่งสหรัฐยิ่งหนักกว่า เด็กย่างเข้าวัยรุ่นตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นโรคเสพติดเทคโนโลยีดิจิตอลหรือโลกออนไลน์ (digital technology addiction)
นอกจากนั้นยังพบว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นอังกฤษอายุระหว่าง 16-24 ปี มีแอคเคาท์โซเชียลมีเดียกันทุกคน
ที่น่าตระหนกกว่านั้นคือ ผลสำรวจจาก BBC พบว่า แม้จะมีการกำหนดว่าอายุขั้นต่ำของผู้ใช้อยู่ที่ 13 ปี แต่ 3 ใน 4 ของเด็กอังกฤษอายุ 10-12 ปี มีแอคเคาท์โซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองกันแล้ว
ริชาร์ด เกรแฮม (Richard Graham) จิตแพทย์ผู้ให้คำปรึกษาจากโรงพยาบาลไนติงเกล (Nightingale Hospital) กล่าวถึงแนวทางแก้ไขโรคดังกล่าวว่า ผู้ปกครองควรชี้นำให้ลูกหลานของพวกเขาเห็นถึงตัวอย่างกิจกรรมที่ไม่ต้องอยู่กับสมาร์ทโฟน จำกัดเวลาอยู่หน้าจอ จัดให้ครอบครัวมีกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับ screen time และลุกออกไปทำอย่างอื่นนอกบ้านบ้าง
ยิ่งเล่น ยิ่งป่วย
แม้การพกพาสมาร์ทโฟนของเด็กๆ จะไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป พวกเขามีความจำเป็นต้องใช้งานเช่นผู้ใหญ่มากขึ้น แต่หากไม่สามารถบริหารการใช้เวลาในโลกออนไลน์ได้ ก็มีข้อเสียเช่นกัน
งานวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ (University of Sheffield) พบว่า เด็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการเล่นโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค อินสตาแกรม Snapchat หรือ WhatsApp พวกเขามักจะรู้สึกไม่มีความสุขในชีวิต ไม่พอใจตัวเองจากการเปรียบเทียบกับคนอื่น ข้อค้นพบดังกล่าวนำไปสู่การโต้เถียงเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียของการใช้โซเชียลมีเดีย
งานวิจัยชิ้นนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอังกฤษอายุตั้งแต่ 10-15 ปี จำนวน 4,000 คน โดยให้เด็กเลือกระดับความสุขตั้งแต่ 1-7 ว่า พวกเขาให้คะแนนความสุขในแต่ละด้านเท่าไหร่ ผลสรุปคือ เด็กผู้หญิงมีความสุขน้อยกว่าเด็กผู้ชาย
ข้อมูลยังบอกอีกว่า ประเด็นของเด็กผู้หญิงเกี่ยวข้องกับรูปลักษณ์ภายนอก ความสวยความงาม และการเข้าร่วมกิจกรรมในโรงเรียน ส่วนเด็กผู้ชายจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพื่อน นำไปสู่ข้อสรุปว่า การใช้โซเชียลมีเดียส่งผลด้านลบต่อชีวิตในทุกด้านของพวกเขา
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่มีความสุขเนื่องจากโซเชียลมีเดียนั้น คือทำให้เด็กมีอารมณ์ร่วม และทำให้เด็กเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น จนรู้สึกไม่มีความสุขหรือความพึงพอใจในชีวิตตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองมากที่สุด
ฟิลิป โพเวลล์ (Philip Powell) หนึ่งในทีมวิจัยอธิบายถึงที่มาของเรื่องราวการไม่มีความสุขของเด็กว่า “หลักฐานชัดเจนเลยคือ คนเราชอบคิดว่าคนอื่นมีความสุขมากกว่าเรา มีชีวิตดีมากกว่าเรา จากการเห็นพวกเขาโพสต์รูปหรือวิดีโอแต่มุมนั้นๆ เด็กก็เช่นกัน พวกเขาจึงนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองและรู้สึกไม่มีความสุขตามมา”
อ้างอิงข้อมูลจาก: theguardian.com
independent.co.uk