กว่าจะเป็น ‘ปารีสติดแกลม’

พิธีเปิดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ได้ปรากฏโฉมต่อสาธารณชนคนทั่วโลก ท่ามกลางเสียงชื่นชมว่าเป็นหนึ่งในพิธีเปิดที่อลังการงานสร้าง ขาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ (soft power) เต็มเหนี่ยวในทุกท่วงทำนองของการแสดง ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น การออกแบบ แนวคิดทางการเมืองที่เต็มไปด้วยเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ (Liberté, Égalité, Fraternité) อันเป็นคำขวัญของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่นำมาสู่พื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน ความหลากหลายทางเพศและเชื้อชาติ ก่อนที่แนวคิดเช่นนี้จะแผ่ขยายไปทั่วโลกและเป็นสากลนิยม 

พิธีเปิดโอลิมปิก ปารีส 2024 เป็นพิธีเปิดครั้งแรกที่จัดนอกสเตเดียม นักกีฬาจากทุกมุมโลกเดินทางเข้าสู่พิธีการด้วยการล่องเรือบนแม่นํ้าแซน (Seine) เคลื่อนผ่านแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงปารีส ตั้งแต่ออแตลเดอวีล (Hôtel de Ville) หรือศาลาว่าการกรุงปารีส มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส (Notre Dame de Paris) คุกหลวงกงซีแยร์เฌอรี (Conciergerie) ที่บอกเล่าเรื่องราวการคุมขังและประหาร มารีอ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette) ราชินีแห่งฝรั่งเศสด้วยกิโยตีน ตามมาด้วยพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Musée du Louvre) จตุรัสปลาซเดอลากงกอร์ด (Place de la Concorde) และกรองด์ปาเลส์ (Grand Palais) ก่อนไปสิ้นสุดที่บริเวณจัดงานพิธีเปิด สวนทร็อคคาเดโร่ (Jardins du Trocadéro) ที่หันหน้าเข้าสู่หอไอเฟล (Tour Eiffel) ไอคอนสำคัญของกรุงปารีส อันเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 

การล่องเรือของนักกีฬาได้พาผู้ชมทั่วโลกไปดูทัศนียภาพของกรุงปารีส ไม่เพียงแค่มุมมองเดียวเท่านั้น แต่การให้ผู้ถือคบเพลิงปริศนา Assassin’s Creed ปีนป่ายหลังคา ทำให้เห็นรายละเอียดของกรุงปารีสจากภาพมุมสูง ผังเมืองที่เป็นระเบียบ รวมไปถึงวิถีชีวิตของชาวเมืองที่ล้วนเกี่ยวพันกับศิลปะ 

ความงดงามเชิงสถาปัตยกรรมของกรุงปารีส ก็คงไม่ต่างจากกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว (Rome wasn’t built in a day) ‘ความแกลม’ (glamorous) ที่หรูหรา ดูดี มีเสน่ห์ ในทุกมุมทุกส่วนของกรุงปารีสที่เราเห็นในทุกวันนี้ ล้วนมีที่มาจากการปรับปรุงภูมิทัศน์และการบูรณะเมืองตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 

200 ปีที่แล้ว กรุงปารีสไม่ได้แกลมอย่างที่เราเห็น 

หากมองย้อนกลับไป 2 ศตวรรษที่ผ่านมา กรุงปารีส คือ สนามรบดีๆ ที่ผ่านเหตุการณ์ทางการเมืองและสังคมมานับครั้งไม่ถ้วน ทั้งการปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1789 เหตุการณ์ ‘รัฐประหาร 18 บรูว์แมร์’ (Coup d’État du 18 Brumaire) ที่เป็นการเถลิงอำนาจของ นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoléon Bonaparte) ค.ศ. 1799 การปฏิวัติ ค.ศ. 1848 รวมไปถึงการขยายตัวของประชากรในกรุงปารีส การปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ทำให้กรุงปารีสไม่ใช่สถานที่อันน่ารื่นรมย์มากนัก  

ผังเมืองดั้งเดิมของกรุงปารีส มีรากฐานมาจากผังเมืองในยุคกลาง และแทบไม่ได้รับการปรับปรุงเลย ทำเกิดความแออัด นำมาสู่การเกิดโรคระบาด อัคคีภัย อัตราการเสียชีวิตของทารกสูง แม่นํ้าแซนเน่าเสียติดเชื้อ ถนนหนทางคับแคบ มลพิษอุตสาหกรรม อาชญากรรม และความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจก่อตัวอยู่หลังมุมตึกแม้จะเคยมีแผนการปรับภูมิทัศน์กรุงปารีสในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 แต่ก็แทบไม่เคยเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ภาพ Grande Cours de Miracles ของ กุสตาฟว์ ดอเร (Gustave Dore) ศิลปินชาวฝรั่งเศส เผยให้เห็นสภาพสลัมกลางกรุงปารีสที่เต็มไปด้วยโจร ขอทาน และโสเภณี | ที่มา: https://partylike1660.com/la-cour-des-miracles/ 

ความพยายามแรกในการปรับปรุงภูมิทัศน์และผังเมืองกรุงปารีส อาจกล่าวได้ว่า เริ่มต้นขึ้นในสมัย นโปเลียน โบนาปาร์ต หรือ นโปเลียนที่ 1 ภายใต้กระบวนการ ‘การทำให้เป็นโรมันใหม่’ (New Romanisation) ที่สอดรับกับระบอบการเมืองภายใต้การนำของจักรพรรดินโปเลียนที่หมายมั่นว่ากรุงปารีสจะต้องยิ่งใหญ่ สวยงาม แสดงถึงพลังอำนาจของจักรวรรดิฝรั่งเศส เหมือนกับครั้งหนึ่งที่กรุงโรมเคยรุ่งเรือง 

ลักษณะสำคัญของการปรับปรุงภูมิทัศน์กรุงปารีสคือ สวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว ถนนสายหลักที่มีต้นไม้ (avenue) นํ้าพุ การวางผังเมืองโดยให้ความสำคัญกับรูปแบบทางเรขาคณิต การเลือกใช้สถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก (neo-classical architecture) อย่างเช่น อาร์กเดอทรียงฟ์เลตวล (Arc de triomphe l’Étoile) หรือ ‘ประตูชัย’ ที่ดัดแปลงมาจากสถาปัตยกรรมของอาณาจักรโรมัน ก่อสร้างในปี ค.ศ. 1806 ให้เป็นอนุสรณ์สถานทางการทหาร 

ก่อนหน้านี้ระบบสาธารณสุขของกรุงปารีสเคยประสบปัญหาใหญ่ มีโรงพยาบาลน้อยมาก และผลจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดในปี ค.ศ. 1802-1803 ทำให้นโปเลียนที่ 1 สั่งการให้ปรับปรุงระบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ขึ้น ทั้งการสร้างคลองสำหรับนํ้าสะอาด และการก่อสร้างท่อนํ้าทิ้ง แต่ก็ไม่เป็นผลในเชิงปฏิบัติมากนัก ต่อมามีการออกกฤษฎีกาต่อต้านมลพิษอุตสาหกรรมขึ้นในปี ค.ศ. 1810 รวมไปถึงการจัดระเบียบนักดับเพลิงให้มีวินัยและมีศักยภาพ จนนำไปสู่การก่อตั้งสถานีดับเพลิง 4 แห่งทั่วกรุงปารีส

ปลาซ วองโดม (Place Vendome) จัตุรัสกลางกรุงปารีส สมัยนโปเลียนที่ 1 ในปี 1808 ยังคงหลงเหลือซากปรักหักพังให้เห็นอยู่ | ที่มา: https://www.napoleon.org/en/history-of-the-two-empires/articles/bullet-point-30-did-napoleon-transform-paris/ 

อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ของนโปเลียนที่ 1 ณ สมรภูมิวอร์เตอร์ลู (Waterloo) นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิฝรั่งเศส จนนโปเลียนต้องลี้ภัยไปยังเกาะเซนต์เฮเลนา และการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (Bourbon Restoration) ในปี ค.ศ. 1815 ทำให้โครงการปรับปรุงเมืองในสมัยนโปเลียนสิ้นสุดลง ไม่ได้รับการสานต่อจนกระทั่งสมัยของนโปเลียนที่ 3

จอร์จส์-อูจิน ฮูสส์แมนน์ เทพผู้สร้างกรุงปารีสให้ติดแกลม

การปฏิวัติฝรั่งเศส ค.ศ. 1848 นำไปสู่การโค่นล้มการปกครองของ พระเจ้าหลุยส์-ฟีลิป (Louis Phillippe) ฝรั่งเศสกลับเข้าสู่การปกครองแบบสาธารณรัฐอีกครั้ง หรือเรียกว่า ‘สาธารณรัฐที่ 2’ ส่งผลให้หลานของนโปเลียนที่ 1 คือ หลุยส์-นโปเลียน โบนาปาร์ต (Louis-Napoléon Bonaparte) ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี ก่อนที่จะล้มสภา สถาปนาจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 แล้วตั้งตนเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในเวลาต่อมา 

ถนนในกรุงปารีส ช่วงการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 | ที่มา: https://www.unjourdeplusaparis.com/en/paris-reportage/premiere-photo-barricade-histoire

สภาพของกรุงปารีส ภายหลังการปฎิวัติ ค.ศ. 1848 ทำให้กรุงปารีสอยู่ในสภาพที่ยํ่าแย่ ประกอบกับปัญหาเมืองเดิมที่หมักหมมมานานก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

ครั้งหนึ่ง วิกตอร์ คงซิเดร็อง (Victor Considérant) นักปฏิรูปสังคม ได้บรรยายสภาพบ้านเมืองของปารีสในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ในหนังสือของเขา Destinée sociale (Social Destiny) ในปี 1837 ว่า “ปารีสเต็มไปด้วยความเน่าเฟะ ยากแค้น โรคระบาด ประชาชนป่วยไข้ แสงแดดไม่ส่อง และลมไม่พัด” นั่นคือ สภาพอันแท้จริงที่เป็นมาก่อนการปฏิวัติจะเริ่มต้นขึ้นเสียอีก

วิกตอร์ คงซิเดร็อง (Victor Considérant) นักปฏิรูปสังคมชาวฝรั่งเศส | ที่มา: https://www.marxists.org/archive/considerant/biography.htm
จอร์จส์-อูจิน ฮูสส์แมนน์ (Georges-Eugene Haussmann) ผู้ฟื้นฟูบูรณะและวางผังเมืองกรุงปารีสสมัยใหม่ | ที่มา: https://museeprotestant.org/en/notice/georges-eugene-haussmann-1809-1891-2 
ฮูสส์แมนน์ กับนโปเลียนที่ 3 | ที่มา: https://www.napoleon.org/en/history-of-the-two-empires/paintings/6-napoleon-iii-and-haussmann/ 

ภายใต้การปกครองของนโปเลียนที่ 3 มีความสนใจในการปรับปรุงภูมิทัศน์กรุงปารีสให้กลับมาสวยงาม ทันสมัย เป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญในยุโรป ขจัดอัตลักษณ์เมืองที่ได้ชื่อว่าเต็มไปด้วยโรคระบาดเสีย จึงได้เลือก จอร์จส์-อูจิน ฮูสส์แมนน์ (Georges-Eugene Haussmann) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แห่งแซน (Prefect of Seine) ให้เข้ามารับหน้าที่ในการฟื้นฟูบูรณะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายใต้โครงการที่รู้จักกันคือ ‘Transformations de Paris sous le Second Empire (การเปลี่ยนแปลงกรุงปารีสในสมัยจักรวรรดิที่ 2) หรือ ‘Haussmann’s renovation of Paris’ (การฟื้นฟูบูรณะกรุงปารีสของฮูสส์แมนน์) ซึ่งเป็นงานระดับมหึมา โดยเน้นไปที่การสร้างถนนขนาดใหญ่ สวนสาธารณะ อนุสาวรีย์ ระบบท่อระบายนํ้า รวมไปถึงการเปลี่ยนสถาปัตยกรรมเมืองเสียใหม่ โดยเริ่มโครงการในปี ค.ศ. 1853-1870 ซึ่งต่อมาทั้งโลกรู้จักกันในนาม ‘สถาปัตยกรรมแบบฮูสส์แมนน์’ (Haussmann architecture; Haussmannian) ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในกรุงปารีส ทำให้อาคารและสถานที่ในกรุงปารีสเต็มไปด้วยความงดงาม หรูหรา อย่างที่เรียกว่า ‘ติดแกลม’ นั่นเอง 


ในปี ค.ศ. 1853 โครงการฟื้นฟูบูรณะกรุงปารีส เริ่มต้นจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานง่ายๆ เช่น การกำหนดเส้นเหนือ-ใต้-ออก-ตก กำหนดกริดบนพื้นฐานของเรขาคณิตเพื่อใช้ในการพัฒนาผังเมือง ผนวกควบรวมพื้นที่ชานเมือง วางระบบท่อระบายนํ้า และท่อนํ้าดี 

การวางท่อระบายนํ้าในกรุงปารีส | ที่มา: http://www.arthistoryarchive.com/arthistory/architecture/Haussmanns-Architectural-Paris.html 

เฟสต่อมาในระหว่างปี ค.ศ. 1859-1867 มีการสร้างเครือข่ายถนนขนาดใหญ่ที่มีต้นไม้ริมทาง (bouleverd) พร้อมกับขยายถนนหนทางในเมือง ทำให้ชาวกรุงปารีสสามารถรับแสงแดด สูดอากาศได้อย่างทั่วถึง ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค เสริมสร้างสุขอนามัยได้ รวมถึงการสร้างอะพาร์ตเมนต์ความสูง 5 ชั้น ประดับตกแต่งด้วยศิลปะผสมระหว่างเรเนซองส์ (Renaissance) กับบารอก (Baroque) อันแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งและความทันสมัยของฝรั่งเศสในยุคนั้น

ภาพวาดสีนํ้ามัน Rue de Paris, temps de pluie หรือ ถนนในกรุงปารีสในวันฝนตก ของ กุสตาฟว์ ไคล์บอตต์ (Gustave Caillebotte) ในปี 1877 เผยให้เห็นถนนที่กว้างขวาง อพาร์ตเมนต์ 5 ชั้น และสถาปัตยกรรมแบบฮูสส์แมนน์ | ที่มา: https://en.wikipedia.org/wiki/Paris_Street;_Rainy_Day 

อย่างไรก็ดี การบูรณะฟื้นฟูกรุงปารีสของฮูสส์แมนน์เอง ได้ไปทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคกลางเป็นจำนวนมาก จากการขุดเพื่อก่อสร้างอาคารและท่อระบายนํ้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณูปการของฮูสส์แมนน์ผู้นี้เองที่ทำให้เราได้รู้จักกรุงปารีสอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

อ้างอิง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า