ในเวลาที่ทั่วโลกต่างประสบปัญหาสภาพอากาศแปรปรวน ยุโรปเผชิญกับภัยแล้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 500 ปี น้ำในแม่น้ำขนาดใหญ่หลายสายกำลังจะแห้งเหือดจนแทบจะลงไปเดินเล่นได้ ส่วนเอเชียก็กำลังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในหลายพื้นที่ ทั้งเกาหลีใต้ อินเดีย และบังกลาเทศ สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางเกษตร แล้วไหนจะความขัดแย้งทางการทหารระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งพัฒนาเป็นปัญหาระดับภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ผลักดันให้เกิดกระแสชาตินิยมทางอาหาร (food protectionism) ให้หลายประเทศเริ่มกักตุนสินค้าไว้บริโภคกันเองภายในประเทศอีก ภาวะขาดแคลนอาหารที่แต่เดิมเคยเป็นเพียงประเด็นสนทนาวงแคบๆ ของนักนโยบาย นักเคลื่อนไหว และทูตที่ต้องลงพื้นที่ไปดูปัญหาความแร้นแค้นในทวีปแอฟริกา จึงกลายมาเป็นประเด็นที่หลายรัฐบาลทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจอีกครั้ง
ไทยเองก็เช่นกัน ประเด็นเรื่องภาวะขาดแคลนอาหารนั้นถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงเป็นวงกว้างมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในระดับสื่อมวลชน นักวิชาการ พรรคการเมือง หรือแม้แต่ภายในรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงมองโลกในแง่บวก พร้อมกับความเชื่อที่ว่าไทยจะได้เป็นผู้รับประโยชน์สูงสุดประเทศหนึ่งจากวิกฤตโลกรวนและภาวะขาดแคลนอาหารที่เกิดขึ้น บ้างก็อ้างว่าพื้นที่เพาะปลูกของไทยมีกว่า 140 ล้านไร่ แต่บริโภคกันภายในจริงจังไม่ถึงร้อยละ 80 ทำให้มีผลผลิตจากภาคเกษตรเหลือให้ส่งออกอีกมากกว่าร้อยละ 20 บ้างก็อ้างมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยโดยใช้สถิติย้อนหลังของช่วงก่อนไวรัส COVID-19 ระบาด ซึ่งเคยทำรายได้ถึง 33,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กล่าวได้ว่าแทบทุกคนล้วนมองเห็นโอกาสในวิกฤตครั้งนี้ แต่จะมีสักกี่คนที่ถอยออกมามองในภาพกว้าง เพื่อพิจารณาอุปสรรคที่เรียงรายขวางกั้นโอกาสดังกล่าวอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มักจะนำประเด็นเรื่องค่าเงินบาทอ่อนตัวจากดอลลาร์ละ 32 บาท เมื่อตอนต้นปี มาเป็นเกือบ 37 บาท ภายในไม่ถึงครึ่งปี ว่าเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมเกษตรและการแปรรูปอาหารของไทยสามารถขยายตัว ในจังหวะเดียวกับที่ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น หารู้ไม่ว่าสถานการณ์เงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนั้น นำมาซึ่งต้นทุนวัตถุดิบ (ที่ไทยผลิตเองไม่ได้) มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะน้ำมัน หรือวัตถุดิบทางการเกษตร ล้วนเป็นสิ่งที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น
เมื่อวัตถุดิบดังกล่าวต้องนำเข้าในอัตราที่สูงตามปัญหาเงินเฟ้อและบาทอ่อนค่า ต้นทุนการผลิตของไทยจึงสูงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 40 โดยอัตโนมัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น ราคาปุ๋ยที่ปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์ในรัสเซีย-ยูเครนจะเป็นปัจจัยภายนอกที่เข้ามาผลักดันให้เกษตรกรไทยบางส่วนเลือกทางลัดด้วยการลดปริมาณปุ๋ยในกระบวนการเพาะปลูกลง ทำให้ปริมาณผลิตผลต่อไร่ลดลง ประเด็นนี้แม้ว่าทางกระทรวงพาณิชย์จะพยายามแก้ไขด้วยการหันไปขอความช่วยเหลือจากซาอุดิอาระเบียที่เพิ่งจะฟื้นสัมพันธ์กันมาไม่นานได้ แต่สุดท้ายกลุ่มผู้ผลิตในห่วงโซ่ไทยก็ยังต้องไปเจอปัญหาเรื่องอะลูมิเนียมบรรจุภัณฑ์ในตลาดโลกที่มีปริมาณการผลิตต่ำกว่าปริมาณที่อุตสาหกรรมแต่ละแห่งต้องการใช้จริงอีกอยู่ดี
นอกจากเรื่องต้นทุนและเรื่องตัวเลขในการส่งออกสินค้าแล้ว สิ่งที่ไทยควรหันไปมองและเตรียมแผนรับมือให้มากกว่าเดิม คือ ปัจจุบันสินค้าไทยกำลังถูกจับจ้อง (ในเชิงลบ) จากคู่แข่งรอบด้านทางธุรกิจ เพราะสินค้าส่งออกของเรามีความโดดเด่นและเป็นที่นิยมมากเกินไปในตลาดโลก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ประเด็น ‘ลิงเก็บมะพร้าวในอุตสาหกรรมกะทิไทย’ ที่ภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีประเทศหนึ่งเคยออกมาทำแคมเปญประท้วงต่อต้านในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ระบาดใหม่ๆ (ปี 2020) ได้ปะทุกลายมาเป็นกระแสบอยคอตน้ำมะพร้าว/กะทิไทยอีกครั้งในสหรัฐอเมริกา จนถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ห้าง Walmart ถอดน้ำกะทิไทยออกจากชั้นวางเมื่อช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา
หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะเห็นได้ว่าจังหวะและบริบทช่างบังเอิญจนน่าตกใจกับเวลาที่ไทยกำลังเป็นฝ่ายได้เปรียบในการส่งออกอาหารไปยังตลาดโลก อีกทั้งยังเป็นผู้เล่นในตลาดน้ำกะทิ/น้ำมะพร้าวรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
ประเด็นนี้แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัด แต่ในแวดวงนักธุรกิจและนักยุทธศาสตร์ทางนโยบายส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นตรงกันใน Symposium อยู่บ่อยๆ ว่า สาเหตุหลักมาจากการที่คู่แข่งทางการค้าของไทยในต่างประเทศ ต้องการสร้างกระแสเพื่อเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด จึงให้ล็อบบี้ยิสต์ไปวางแผนร่วมกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวให้ออกมาทำแคมเปญเรียกร้องปล่อยข่าวลือ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของสินค้าไทย ซึ่งเมื่อสืบค้นลงลึกไปอีกก็จะทราบได้ว่า เวลานักเคลื่อนไหวออกมาทำแคมเปญโจมตีสินค้าตัวใดแล้ว มักจะทำทีเป็นนำเสนอ ‘ผลิตภัณฑ์ทางเลือก’ (ขายของ) แทรกไว้เสมอ เป็นต้นว่าถ้าไม่ซื้อแบรนด์นี้ แล้วควรจะซื้อแบรนด์ใด
อันที่จริงประเด็นเรื่อง ‘ความไม่หวังดี’ จากประเทศคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจในต่างประเทศทั้งหลายนี้ ไม่ต้องหันไปมองที่ไหนไกล เอาแค่ใกล้ๆ บ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกนี้ก็จะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะมหามิตรของไทยผู้เป็นคู่ค้า-ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของเศรษฐกิจไทยอย่างจีนเองก็ไม่ได้หวังจะเล่นเกมระยะยาวกับอุตสาหกรรมทางการเกษตรไทยมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อย่างพื้นฐานที่สุดก็เรื่องค้าขายทุเรียน ทูตจีนมักประกาศอยู่เสมอว่า ไทยเป็นประเทศที่ปลูกทุเรียนได้อร่อย และจีนเองก็พร้อมจะเปิดตลาดต้อนรับทุเรียนไทยอย่างต่อเนื่อง
แต่เมื่อหันกลับไปมองความเป็นจริง จีนได้ทดลองพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกทุเรียน ‘มุซังคิง’ เงียบๆ ที่ไหหลำกับกวางตุ้งนับหมื่นไร่ตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน แถมล่าสุดยังมีกลุ่มนายทุนจีนเข้าไปลงทุนทำสวนทุเรียนหมอนทองที่ลาวเพิ่มอีก 30,000-40,000 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้น ช่วงที่ผ่านมาจีนยังพยายามไปทำข้อตกลงพิธีสาร (protocol) เพื่อจะเปิดเส้นทางการค้าขายทุเรียนหมอนทองกับเวียดนามซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกพืชดังกล่าวกว่า 400,000 ไร่ ซึ่งหากดีลที่ว่านั้นประสบผลสำเร็จ ในอนาคตไม่เกิน 10 ปี จีนจะมีการพึ่งพาทุเรียนจากตลาดไทยในอัตราส่วนที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเวียดนามและลาวมีชายแดนเชื่อมกับจีน ทำให้การขนส่งสินค้าเข้าสู่จีนมีความสะดวกมากกว่า ทั้งในด้านการขนส่งและการได้รับสิทธิยกเว้นภาษี
ข้าวก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนถึงความน่ากังวลเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของไทยในฐานะครัวโลก คนไทยเรามักมีความเชื่อว่าข้าวไทยนั้นอร่อย มีคุณภาพระดับโลก และแสดงท่าทีสงสัยอยู่ตลอดว่าเหตุใดข้าวไทยจึงไม่สามารถปรับราคาสูงขึ้นตามสินค้าทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ในตลาดโลก เช่น ข้าวโพด และข้าวสาลี
จากกราฟข้างต้น จะเห็นได้ว่าทั้งข้าวโพดและข้าวสาลีต่างมีมูลค่าเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ขณะที่ราคาข้าวไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะข้าวเป็นพืชที่ประเทศไหนๆ ก็ปลูกกัน ไม่ว่าจะจีน อินเดีย เวียดนาม แม้จะคนละพันธุ์กัน แต่ผู้บริโภคในต่างประเทศส่วนมากยังแยกไม่ออก สัดส่วนของข้าวไทยในตลาดโลกปัจจุบันจึงมีเพียงไม่ถึงร้อยละ 10
เมื่อคู่แข่งเยอะ ไทยจึงไม่สามารถเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดได้ มิหนำซ้ำ จีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ในตลาดข้าวไทยที่เคยนำเข้าข้าวจากไทยมูลค่าเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับปรับยุทธศาสตร์ใหม่เป็นแผนพึ่งพาตนเองมากขึ้นในมิติความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ในระยะยาว ข้าวไทยจะเข้าสู่ตลาดจีนได้น้อยลงไม่ต่างจากทุเรียน และผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ แน่นอนว่าผลเสียทั้งหมดจะย้อนกลับมาที่กลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของไทยที่มีสัดส่วนทำรายได้แก่ประเทศมากกว่าร้อยละ 20 ของ GDP
หากต้องการพิสูจน์ถึงความไร้อำนาจต่อรองในการส่งออกสินค้าไทยบนเวทีโลก ให้ดูที่นโยบาย Zero-Covid Policy ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ของจีนที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐบริเวณชายแดนจีนสามารถปฏิเสธรถบรรทุกสินค้าที่ตรวจพบว่ามีเชื้อไวรัส COVID-19 ปนเปื้อน ไม่ให้ผ่านแดนเข้าประเทศได้ ส่งผลให้สินค้าไทยมีอัตราการเดินทางถึงจีนต่ำลง ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะมีเชื้อไวรัส COVID-19 ปนเปื้อนมาจากไทยในปริมาณมากแต่อย่างใด หากแต่ด่านตรวจมีขีดจำกัดในด้านความเร็วของการคัดกรองจุดผ่านแดน ทำให้พืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในรถบรรทุกเน่าเสีย หรือเสียหายระหว่างขนส่งไปในปริมาณมากได้ไม่ยาก
ข้างต้นคือสิ่งที่ทุกฝ่ายในไทยควรตระหนักมากที่สุดในปัจจุบันนี้ แทนที่จะหลงระเริงในตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ไทยควรขยับกลับมาดูทิศทางและวางแผนรับมือแนวโน้มทางเศรษฐกิจการค้าที่กำลังจะเกิดในอนาคตจากปัจจัยแวดล้อมและภัยคุกคามที่กำลังคืบคลานเข้ามาให้มากขึ้น
ที่สำคัญที่สุด คือ ไทยสามารถวางแผนกระจายความเสี่ยง และสร้างหลักประกันในการค้าขายของตนเองในระยะยาวให้มากและเร็วกว่านี้ได้ด้วยการลดการพึ่งพาทางการค้าจากจีน ไม่จำเป็นต้องรอจีนเปิดพรมแดน หรือยกเลิกนโยบาย Zero-Covid Policy แต่ควรหันไปเพิ่มสัดส่วนการค้าจากตลาดในภูมิภาคอื่นๆ ของโลกอย่างจริงจังแทน อาทิ เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เป็นต้น