สหรัฐยอมรับแซลมอน GMO

 

salmon_sushi

หลังจากถั่วเหลืองและข้าวโพด ปลาแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรม กลายเป็นอาหารอีกชนิดที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) ให้วางจำหน่ายในตลาดได้ ถือว่าเป็นสัตว์ชนิดแรกที่ได้รับการอนุญาตในฐานะอาหารดัดแปลงพันธุกรรม

โดยแซลมอน GMO เป็นประดิษฐกรรมของบริษัท AquaBounty Technologies จากรัฐแมสซาชูเสตต์ส ในชื่อทางการค้า ‘AquAdvantage’ ซึ่งมาจากการตัดต่อยีนของปลา 2 ชนิด ทางบริษัทพยายามผลักดันผลผลิตนี้มาตั้งแต่ปี 1995 โดยยืนยันว่าปลาแซลมอน GMO จะโตไวกว่าแซลมอนปกติสองเท่า ขณะที่ต้องการอาหารลดลง 1 ใน 4 แต่ยังได้น้ำหนักเทียบเท่าแซลมอนทั่วไป

FDA ประกาศว่า “จากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และการพิจารณาอย่างครอบคลุม” เห็นว่าผลิตภัณฑ์แซลมอน GMO จะปลอดภัยต่อผู้บริโภคสหรัฐ

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2010 FDA ระบุว่าปลาแซลมอน GMO “มีข้อมูลเพียงพอว่าจะไม่ก่ออันตราย” ต่อผู้บริโภค ต่อมาในปี 2013 จากการประเมินโดยรัฐบาลแคนาดา พบความเสี่ยง ‘เพียงเล็กน้อย’ ต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแซลมอน GMO

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าปลาแซลมอนเป็นปลาที่ดีต่อสุขภาพ นั่นเป็นความจริง แต่อาจจริงเพียงกึ่งหนึ่ง เนื่องจากปลาแซลมอนเป็นปลาสองน้ำ ปกติจะว่ายข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าไปวางไข่ในน้ำจืด ฉะนั้น ปลาแซลมอนจึงต้องผลิตและสะสมไขมันปริมาณมหาศาล และไขมันนี้เองเป็นไขมันไม่ดีต่อสุขภาพ แต่เมื่อพวกมันได้ว่ายข้ามมหาสมุทรไปวางไข่ ร่างกายจะเปลี่ยนไขมันไม่ดีเหล่านั้นให้กลายเป็นไขมันดี มีโอเมกา-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันที่มีประโยชน์ในปริมาณสูง

ปัจจุบัน แซลมอนที่บริโภคกันอยู่ในตลาด มาจากฟาร์มแซลมอน ซึ่งเป็นแซลมอนเลี้ยง ฉะนั้น จึงอุดมไปด้วยไขมันที่ไม่เป็นประโยชน์ นอกจากนั้น ด้วยพื้นที่เลี้ยงที่ค่อนข้างจำกัด แซลมอนจะไม่ค่อยมีโอกาสได้ว่ายไปไหน และเมื่อเลี้ยงรวมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อก็จำเป็นต้องใช้สารปฏิชีวนะ

ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารยืนยันว่า เมื่อเทียบกับเนื้อวัว แซลมอนมีไขมันที่ไม่ดีมากกว่าเนื้อวัว 5 เท่า นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าเนื้อหมู แต่ราคาขายในปัจจุบันกลับสูงกว่า

ในแคนาดา กลุ่มรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและยุติการอนุญาตให้มีการประกอบกิจการเพาะเลี้ยงแซลมอนดัดแปลงพันธุกรรม โดยเห็นว่าเป็นโครงการทดลองขนาดใหญ่กับสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะตามมาด้วยผลกระทบต่อแซลมอนธรรมชาติในอนาคตอันใกล้ หากปลาดัดแปลงพันธุกรรมหรือไข่ปลาหลุดรอดออกสู่สภาพแวดล้อม

“ประชาชนชาวแคนาดาหวังว่ารัฐบาลจะตัดสินใจเรื่องนี้ด้วยความโปร่งใสและรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตปลาแซลมอน GMO อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรแซลมอนตามธรรมชาติในมหาสมุทรแอตแลนติก” เคทลิน มิตเชล นักกฎหมายจาก Ecojustice องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในแคนาดา กล่าว พร้อมย้ำว่าการตัดสินใจของรัฐบาลไม่ควรปิดลับ แต่ควรเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ

 

 

ที่มา:

theguardian.com

wsj.com

commondreams.org

fda.gov

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า