สหรัฐไฟเขียวปลูก ‘แอปเปิลจีเอ็มโอ’

apple01

 

กระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา  (The U.S. Department of Agriculture  : USDA) อนุญาตให้มีการปลูกแอปเปิลดัดแปลงพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอได้  คุณสมบัติพิเศษของแอปเปิลพันธุ์นี้ คือไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อช้ำหรือปอกทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน

“เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เรารอการอนุญาตนี้มาเกือบ 5 ปี” นีล คาร์เตอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Okanagan Specialty Fruits สัญชาติแคนาดา เจ้าของผลงานแอปเปิลดัดแปลงพันธุกรรม บอกอีกว่า “ตอนนี้เราสามารถเดินหน้าการเพาะปลูกได้อย่างเต็มที่แล้ว”

เหตุผลที่ หน่วยงานบริการตรวจสอบเนื้อสัตว์และพืชผักผลไม้เพื่อสุขภาพ (Animal and Plant Health Inspection Service) ของกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา  อนุญาตให้ปลูกคือ “บนพื้นฐานการประเมินครั้งสุดท้ายต่อความเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพ พบว่า แอปเปิลดัดแปลงพันธุกรรมไม่มีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเกษตรกรรมและพืชอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกา และ การผ่อนคลายหรือยกเลิกกฎระเบียบนี้ไม่มีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบมากต่อสิ่งแวดล้อมของมนุษย์”

และเมื่อกระทรวงเกษตรอนุญาต องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ FDA จึงไม่จำเป็นต้องเข้าตรวจสอบผลผลิตเพื่อการบริโภค

ทีผ่านมา การดัดแปลงพันธุกรรมถูกนำไปใช้กับอาหารมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยการเอายีนบางตัวออกเพื่อปรับปรุงพันธุ์ให้มีความหลลากหลายและตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์มากขึ้น ยกตัวอย่าง แซลมอนจีเอ็มโอผลงานของ AquaBounty Technologies  ต้นทางคือแซลมอนจากแอตแลนติก แต่ดัดแปลงใส่ยีนแซลมอนแปซิฟิกเข้าไปเพื่อให้โตเร็วมากขึ้น รวมถึงการเติมยีนของปลาไหลเข้าไปให้โตเต็มที่ภายใน 1 ปี (ปกติใช้เวลา 1-3 ปี)

 

apple02

 

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากระทรวงเกษตรแห่สหรัฐ ก็เพิ่งอนุญาตให้ปลูกมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรม ที่พัฒนาโดยบริษัท   J.R. Simplot ความพิเศษอยู่ที่เนื้อมันฝรั่งจะไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเมื่อโดนอากาศหรือเมื่อเก็บไว้นานๆ

เช่นเดียวกัน เพื่อยืดอายุการบริโภคให้แอปเปิล   สิ่งที่ Okanagun  Specialty Fruits ทำคือ หยุดการทำงานของเอนไซม์ที่เป็นสาเหตุให้เนื้อแอปเปิลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  โดยคาร์เตอร์มั่นใจจากการทดลองปลูกมา 12 ปี เก็บทั้งข้อมูลและสถิติ ต้นแอปเปิลทดลองให้ทั้งดอกและผลเหมือนกับต้นแอปเปิลทั่วไปและผลเป็นไปตามที่วิเคราะห์ไว้

แต่ใช่ว่าจะมีแต่คนที่เห็นด้วย…

มิรา และ เจย์สัน คาลตัน คู่สามีภรรยาเจ้าของหนังสือ Rich Food, Poor Food และเว็บไซต์ chande.org และเริ่มรณรงค์ Say NO to GMO Apples เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“เหมือนกลับไปในปี 2013 ตอนนั้นเราหวังให้คนเข้าใจและตระหนักว่าอาหารต่างๆ กำลังถูกดัดแปงพันธุกรรมไปเกือบหมดแล้ว  เราอาจไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้ว่าจีเอ็มโอเป็นอันตราย แต่เราสามารถพูดได้ว่ามีการศึกษาของมนุษย์จำนวนมากพอที่จะยืนยันในเรื่องนี้ได้  และที่น่าผิดหวังที่สุด  เราเสิร์ฟอาหารพิเศษเหล่านี้ให้เด็กๆ กิน  โดยเฉพาะการกินแอปเปิลวันละลูก มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสุขภาพที่ดีของสหรัฐอเมริกาไปแล้ว”

เมื่อทำให้แอปเปิลไม่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ก็เป็นโอกาสให้ผลไม้ชนิดอื่นๆ ได้พัฒนาเรื่องอายุหรือการเก็บได้ยาวนานขึ้น แต่สิ่งที่ยังเป็นปริศนาสำหรับคาร์เตอร์คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าแอปเปิลสีสวยเหล่านั้นยังไม่เน่าหรือไม่เหมาะที่จะกินแล้ว

คาร์เตอร์ให้ข้อมูลว่า ใช้เวลา 2 ปีสำหรับการเพาะกล้าและอีก 2 ปีกว่าจะได้ผลผลิตออกมา พื้นที่การปลูก 20 เอเคอร์ในฤดูใบไม้ผลิ คงให้ผลผลิตแอปเปิลล็อตแรกได้จำนวนไม่มากในฤดูใบไม้ร่วงปีหน้า และเมื่อเวลานั้นมาถึง การแปะฉลากสินค้าจีเอ็มโออาจไม่จำเป็น

“เราใช้เวลาเกือบ 5 ปีในการดำเนินการเพื่อพิสูจน์และแสดงให้เห็นว่าผลผลิตของเราปลอดภัยเหมือนผลผลิตอื่นๆ และการติดฉลากจีเอ็มโออาจทำให้เรากลืนกับแอปเปิลรายอื่นๆ  เราจะใช้วิธีให้ข้อมูล ณ จุดขายแทน  รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของเราเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจ

จนถึงขณะนี้ มีเพียง 2 รัฐในสหรัฐอเมริกาคือ คอนเนคติกัตและเมน ที่บังคับใช้กฎหมายติดฉลากสินค้าจีเอ็มโอ ส่วนรัฐเวอร์มอนต์ จะมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายในปี 2016

*****************************************

(ที่มา : fox4kc.com,centerforfoodsafety.org)

 

logo

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า