หรือในออสเตรเลียจะไม่มีกูเกิล (และเฟซบุ๊ค)

โลกทั้งออนไลน์และออฟไลน์ต้องจับตา เมื่อ เมลานี ซิลวา (Melanie Silva) ผู้จัดการและรองประธานบริษัท Google ประจำประเทศออสเตรเลีย ประกาศจะงดให้บริการการสืบค้น (search engines) ในออสเตรเลีย หากสภาลงมติผ่านร่างกฎหมายสื่อ (media code) อันมีเนื้อหากำหนดให้บริษัทแพลตฟอร์มดิจิตอล อย่าง Google และ Facebook ต้องจ่ายค่าทำข่าว (news content) ให้แก่บริษัทสื่อที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มของตน

การกระทำในลักษณะดังกล่าว เคยเกิดขึ้นแล้วในกรณีของ วิล อีสตัน (Will Easton) กรรมการผู้จัดการบริษัท Facebook ประจำประเทศออสเตรเลีย ที่ได้กล่าวในช่วงเดือนกันยายนปีกลายว่า “หากร่างดังกล่าวผ่านเป็นกฎหมาย จะมีแผนดำเนินการงดไม่ให้สื่อและบุคคลทั่วไปในออสเตรเลีย แชร์ข่าวสารทั้งบน Facebook และ Instagram”

ทำไม (ออสเตรเลีย) ต้องมี Media Code

ในวันที่ 12 ธันวาคม 2019 รัฐบาลออสเตรเลียได้ร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission) หรือ The ACCC เข้าเจรจากับ Google และ Facebook และธุรกิจสื่อต่างๆ ในออสเตรเลีย เพื่อร่วมกันสร้างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลในการจัดการอำนาจต่อรองที่ไม่สมดุล เพื่อให้เกิดสมดุลในอำนาจการต่อรองระหว่างธุรกิจสื่อของออสเตรเลียกับดิจิตอลแพลตฟอร์ม

สาเหตุหนึ่งที่ต้องดึง Google และ Facebook มาเจรจาจัดสมดุล ร็อด ซิมส์ (Rod Sims)  ประธานประจำ ACCC ให้ความเห็นว่า “ผู้เผยแพร่ข่าวสาร ไม่มีทางที่จะได้รับสัญญาที่เป็นธรรมจากผู้ผูกขาดอย่าง Google และ Facebook” และยังกล่าวต่ออีกว่า “มันเป็นความล้มเหลวของตลาด ซึ่งในที่นี้จะส่งผลร้ายต่อวงการสื่อ ซึ่งพวกเราเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก”

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ากระบวนการดังกล่าวไม่ได้รับการให้ความร่วมมือจากบริษัทแพลตฟอร์มเท่าใดนัก พวกเขามีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องการให้ค่าตอบแทนต่อเนื้อข่าวเป็นสำคัญ ทางรัฐบาลออสเตรเลียจึงได้ร้องขอให้ทาง ACCC ดำเนินการร่างกฎหมายขึ้นมาเสียเองภายในวันที่ 20 เมษายน 2020 โดยในระยะแรกจะเริ่มบังคับใช้กับ Google และ Facebook ก่อน แล้วจึงขยายผลไปยังเจ้าอื่นต่อไป

ร่างกฎหมายนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเสริมอำนาจต่อรองธุรกิจสื่อในออสเตรเลียให้สามารถต่อรองกับบริษัทอย่าง Google และ Facebook ได้อย่างเป็นธรรม โดยมีแกนกลางสำคัญคือ การบังคับให้ดิจิตอลแพลตฟอร์มต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทสื่อ และยังเรียกร้องให้ต้องดำเนินการบนมาตรฐานขั้นต่ำ ที่ว่า

  1. หากมีการเปลี่ยนแปลงอัลกอริธึมในการจัดอันดับและการแสดงผลข่าว จะต้องมีการแจ้งล่วงหน้า
  2. มีการรับรู้ความเป็นต้นแบบของเนื้อข่าวอย่างเหมาะสม และ
  3. ต้องมีการแจ้งว่า Google และ Facebook มีการเก็บข้อมูลผ่านการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้กับเนื้อข่าว ในเวลาไหน อย่างไร

ทั้งนี้ ผู้เป็นธุรกิจสื่อสารมวลชนตามความหมายในร่างกฎหมายดังกล่าว จะต้องมุ่งผลิตชิ้นงานที่มีการนำเสนอข่าวผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก มีการยึดถือมาตรฐานบรรณาธิการแบบมืออาชีพ มีอิสระในการเลือกประเด็นที่จะนำเสนอเป็นข่าวสาร และเน้นการนำเสนอข่าวให้แก่ชาวออสเตรเลีย ตลอดจนต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่า 150,000 ดอลลาร์ออสเตรเลียต่อปี

สิ่งที่ Google และ Facebook กลัว

ความพยายามในการบังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มขนาดยักษ์เหล่านี้ ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่กลุ่มผู้ผลิตและเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มของตน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างน้อย โดยในกรณีของ Google ก็ขัดแย้งกับกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปมาโดยตลอด

ที่ผ่านมา Google และ Facebook มีการแก้เกมเพื่อไม่ให้รัฐบาลในประเทศต่างๆ ออกกฎเกณฑ์ให้บริษัทต้องจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บริษัทสื่อมาโดยตลอด การไม่แสดงข่าวของบริษัทสื่อที่มีปัญหาก็เป็นกลยุทธ์สำคัญ ตลอดจนกลยุทธ์แบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) ผ่านการเลือกจ่ายค่าตอบแทนเฉพาะบริษัทสื่อเป็นรายกรณีไป (เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดกฎหมายเป็นรูปธรรมขึ้น)

ถึงที่สุดแล้ว แม้ออสเตรเลียจะสามารถผ่านร่างกฎหมายสื่อดังกล่าวและนำออกมาบังคับใช้ได้ ก็มิได้ทำให้ Google และ Facebook เสียรายได้ไปมากขนาดนั้น แต่นัยยะที่ทั้งสองบริษัทหวาดระแวงคือ เมื่อร่างดังกล่าวผ่านมติเห็นชอบจากสภาและกลายเป็นกฎหมายได้สำเร็จ จะส่งผลให้กลายเป็นบรรทัดฐานและตัวอย่างสำคัญ ให้แก่รัฐบาลที่เหลือทั่วโลกนำไปใช้ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นเม็ดเงินของสองบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งโลกออนไลน์จะถูกเรียกส่วนแบ่งเป็นจำนวนมหาศาล

จนถึงตอนนั้น จะต้องมาดูกันว่า Google จะยังคงทำตามสโลแกนที่ว่า ‘Don’t be Evil’ ได้อยู่หรือไม่ (เพราะในกรณีของ Facebook นั้น ได้เปลี่ยนสโลแกนจาก It’s Free and Always be เป็น It’s Quick and Easy ไปเรียบร้อยแล้ว)

 

อ้างอิง

 

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า