ปลายปี 2016 ที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ พนักงานของกูเกิลได้ทำการฟ้องต้นสังกัดว่าบังคับให้พนักงานรักษา ‘ความลับ’ ขององค์กรมากเกินไป จนกลายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และล่าสุด กูเกิลก็ยังเป็นแดนสนธยาที่มีแต่ความลับ เมื่อปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลบัญชีต่อกระทรวงแรงงานสหรัฐ ด้วยเหตุผลว่า เป็น ‘ความลับ’ ของพนักงาน
ธันวาคม 2016 ชายนามสมมุติ นาย A (John Doe) กล่าวหาว่า กูเกิลไม่อนุญาตให้พนักงานพูดคุยกับสื่อ กับเพื่อนจากองค์กรอื่น ถึงเรื่องราวในกูเกิล มีการอ้างว่า พนักงานของกูเกิลไม่สามารถเขียนนิยายเกี่ยวกับซิลิคอนวัลเลย์ได้ หากบริษัทไม่อนุมัติให้ผ่าน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและรักษาความลับขององค์กร รวมถึงให้พนักงานใช้โปรแกรม ‘Stopleaks’ สอดส่องพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานว่าแพร่งพรายเรื่องราวในองค์กรออกไปหรือไม่
นาย A บอกว่า พนักงานทุกคนต้องเซ็นข้อตกลงว่าจะรักษาความลับขององค์กรในสัญญาจ้างเข้าทำงานกับกูเกิล โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกูเกิลและธุรกิจอื่นๆ ของกูเกิลให้บุคคลภายนอกรู้เป็นอันขาด
กรณีนี้ทางกูเกิลให้เหตุผลว่า ข้อตกลงที่ว่าถูกออกแบบไว้เพื่อรักษาความลับสำคัญทางธุรกิจขององค์กร เนื่องจากบริษัทมักเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์ออกใหม่ให้พนักงานรู้เสมอ ซึ่งรวมถึงความลับบางอย่างที่ไม่อยากให้คนนอกรู้ นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับองค์กรด้านไอที และที่สำคัญ พวกเขาไม่ได้ห้ามพนักงานคุยกันเรื่องเงินเดือนหรือตำแหน่งหน้าที่การงาน
ในข้อกล่าวหานี้ หากกูเกิลมีความผิดจริง พวกเขาจะต้องจ่ายค่าปรับข้อหาละ 100 ดอลลาร์ ใน 12 ข้อหา ซึ่งกระทำต่อพนักงาน 61,000 คน จากการประมาณการ เงินทั้งหมดคิดเป็น 3,800 ล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับต้องจ่ายเงินให้พนักงานคนละ 14,600 ดอลลาร์
ยังไม่จบ เพราะ 4 มกราคมที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐ (U.S. Labor Department) ได้เตรียมใช้มาตรการทางกฎหมายกับกูเกิล เนื่องจากปฏิเสธให้ข้อมูลเอกสารบันทึกเงินชดเชยพนักงานและข้อมูลอื่นๆ ในระบบตรวจสอบบัญชี เพื่อแสดงให้เห็นว่า องค์กรไม่ได้เลือกปฏิบัติและแบ่งขั้นเงินเดือนกับพนักงานตามเพศและเชื้อชาติ
โอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันในองค์กรกูเกิลเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมานาน พนักงานระดับสูงของและเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีจะเป็นกลุ่มที่ได้ค่าจ้างสูง เกือบทั้งหมดเป็นพนักงานชาย – ผิวขาวและคนเอเชีย จากนั้นก็มีข้อเรียกร้องให้กูเกิลเพิ่มความหลากหลายของเชื้อชาติในสถานที่ทำงาน ให้โอกาสอย่างเท่าเทียม จ้างผู้หญิง คนดำ และคนเชื้อชาติอื่นๆ เข้าทำงานมากขึ้น ซึ่งทางกูเกิลเคยออกมายืนยันว่า พวกเขาจะเพิ่มความหลากหลายของพนักงานมากขึ้น และจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง (Google Diversity)
แต่ดังที่นาย A กล่าว พนักงานไม่มีสิทธิ์เปิดเผยข้อมูลใดๆ กับรัฐได้ กระทรวงแรงงานจึงต้องขอข้อมูลและเข้าไปตรวจสอบบัญชีของกูเกิลด้วยตนเอง ในฐานะเป็นคู่สัญญาของรัฐ เงินส่วนหนึ่งที่กูเกิลได้รับมาจากภาษีของประชาชน
กูเกิลรับงานกระทรวงแรงงานด้านสื่อโฆษณาดิจิตัล ทำเงินให้กับบริษัทมากกว่า 600,000 ดอลลาร์ตั้งแต่ปี 2014 แม้จะเป็นเงินจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับรายรับขององค์กรไอทีระดับโลก แต่หากกูเกิลปฏิเสธคำขอของกระทรวงแรงงาน ซึ่งใช้ข้อกฎหมายเข้าไปขอตรวจสอบบัญชีของบริษัทคู่สัญญา พวกเขาอาจถูกยกเลิกสัญญาปัจจุบัน และแบนไม่ให้รับงานของรัฐอีกเลย – ที่สำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กูเกิลถูกเพิกถอนสัญญาที่ทำไว้กับภาครัฐหลายครั้งแล้ว
เหตุผลที่กูเกิลยกมาตอบโต้ก็ยังเป็นเรื่องความลับอีก พวกเขาบอกว่า ได้ให้ข้อมูลที่กระทรวงแรงงานไปนับแสนชิ้นแล้ว แต่คำขอครั้งล่าสุดจากกระทรวงแรงงานเป็นการขอที่มากเกินไป (overbroad) เพราะนั่นหมายถึงการละเมิดสิทธิ์ ความเป็นส่วนตัว และข้อมูลซึ่งเป็น ‘ความลับ’ ของพนักงานนับพันคน
อ้างอิงข้อมูลจาก: fortune.com
theverge.com
abcnews.go.com
bloomberg.com