12 นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ในปี 2017

ภาพประกอบ: Antizeptic

เชื่อกันว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าสมมุติฐานนี้เป็นจริง

ปี 2017 ก็มีนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพของมนุษย์ ทั้งอำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ดีและง่ายใกล้เคียงคนปกติ และเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยความคาดหวังที่ต้องมองไปข้างหน้าว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่คือ 12 นวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ประจำปี 2017 ที่คัดเลือกโดยเว็บไซต์ Popscience

 

1. ขยายเต้านมด้วยตัวเอง

เมื่อผู้หญิงต้องทำการผ่าตัดเต้านม ตัวอย่างเช่นผ่าตัดมะเร็งเต้านม การเสริมเต้านมด้วยถุงน้ำเกลือต้องผ่านกระบวนการเจ็บปวดหลายขั้นตอนโดยศัลยแพทย์ ทั้งเข็มทั้งยาชา พบแพทย์หลายครั้ง เสี่ยงถุงรั่ว ควบคุมรูปทรงให้เหมือนธรรมชาติก็ยาก Aeroform tissue expander system คือตัวช่วยที่ทำให้ผู้ป่วยผ่านกระบวนการเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ศัลยแพทย์เพียงผ่าตัดนำ Aeroform เข้าทรวงอกครั้งเดียว Aeroform จะเพิ่มลดขนาดด้วยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล ค่อยๆ กดปุ่มเพื่อขยายก้อนซิลิโคนทีละนิด จนกว่าจะได้ขนาดและรูปทรงที่ต้องการ

2. ตัดต่อพันธุกรรมป้องกันโรคร้าย

Clustered Random Interspaced Short Palindromic Repeat (CRISPR) คือเทคโนโลยีตัดต่อแก้ไขรหัสพันธุกรรมที่มีส่วนต่อการเกิดโรคร้ายหรือเรียงลำดับของ DNA ใหม่ โดย CRISPR เป็นเทคนิคที่มีมาก่อนหน้า และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสุขภาพและวิทยาศาสตร์โอเรกอน (Oregon Health and Science University) เป็นหน่วยงานแรกในสหรัฐที่พยายามเข้าไปแก้ไข DNA ในตัวอ่อนของมนุษย์ (human embryo) เพื่อตัดต่อพันธุกรรมที่ทำให้เกิดโรค เช่น การกลายพันธุ์ที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ อย่างไรก็ตาม CRISPR ยังต้องผ่านการทดลองอีกมากก่อนจะนำมาทำการแก้ไขเซลล์ตัวอ่อนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นมนุษย์จริงๆ

3. ปั๊มนมพกพา…ทำงานแสนเงียบ

นมแม่คือแหล่งสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แน่นอน เรามีนวัตกรรมปั๊มนมสำหรับแม่ที่ไม่สามารถให้นมลูกได้อย่างสม่ำเสมอ แต่กับคุณแม่ที่ชีวิตยุ่งเหยิงกว่านั้น อย่าว่าแต่ให้นมลูก แค่หาเวลานั่งปั๊มนมยังยาก

Willow คือปั๊มขนาดเล็กที่สามารถสอดไว้ในชุดชั้นใน และแทนที่จะเก็บใส่ขวดเหมือนวิธีเก่า นมจาก Willow จะถูกบรรจุอย่างดีในถุงพลาสติก ที่สำคัญคือปั๊มอัตโนมัตินี้ทำงานได้เงียบเชียบจนคุณแม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันทำงานได้อย่างสบายใจ

4. ฉีดเอนไซม์เข้าสู่สมอง

Batten Disease คือโรคพบได้ยากที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมในเด็ก โดยเอนไซม์ที่ติดเชื้อในสมองจะทำให้เกิดระบบประสาททำงานผิดปกติ และการฉีดเอนไซม์ทดแทนเข้าไปก็ใหญ่เกินไปกว่าที่จะส่งผ่านเยื่อหุ้มสมอง แต่กับ Brineura ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ศัลยแพทย์จะบายพาสข้ามทุกอย่างด้วยการใช้ระบบพิเศษฉีดเอนไซม์เข้าสู่ช่องสมองได้โดยตรง (intraventricular infusion) โดยใช้เวลาประมาณสี่ชั่วโมงกว่า และเทคนิคนี้ยังสามารถใช้บำบัดอาการทางสมองอื่นๆ ที่ใกล้เคียงได้อีก

5. มือกลฝึกมือจริง

เมื่อผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) อาการสำคัญคือมือของพวกเขามักใช้การไม่ได้ Rapael Smart Glove คือตัวช่วยในการบริหารมือ เชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นเกมฝึกการใช้มือหลายตัวในแอนดรอยด์ โดยปรับขั้นตอนให้เหมือนเกม เซนเซอร์ในถุงมือกลจะตามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยในการฝึกการใช้มือทำกิจวัตรตามเกม เช่น บีบส้ม ขยับสิ่งของ รับลูกบอล ทาสี เป็นต้น หลังจากนั้นระบบจะแสดงผลพัฒนาการขององศาหรือการเคลื่อนไหวที่ทำได้ ทำให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะฝึกการเคลื่อนไหวมือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยข้อมูลเหล่านี้เป็นฐาน

6. ช้อนที่กินไม่หก

การบาดเจ็บและป่วยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหว เช่น กระดูกสันหลัง โรคฮันติงตัน ส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะการควบคุมมือที่ทำได้ยาก การกินอาหารจึงเป็นกิจกรรมที่ยากเย็นแสนเข็ญทำให้กินลำบาก นวัตกรรมช่วยการกิน Liftware Level คือช้อนที่มีระบบจับการเคลื่อนไหวของมือ ที่ไม่ว่าจะกลับด้าน พลิก หรือสั่น ช้อนจะคงทรงตัวปรับองศาอยู่ในแนวราบตลอด ทำให้ผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ด้วยตัวเอง ง่ายดาย และไม่หกเลอะเทอะ

7. กล้องลดขั้นตอนตรวจพยาธิวิทยา

พยาธิวิทยาเป็นเรื่องยุ่งยาก หากต้องการตรวจอวัยวะ ผ่านเนื้อเยื่อ ส่องเซลล์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ และชันสูตรพลิกศพ จากนั้นก็ส่งผลที่ได้ทั้งหมดไปยังแพทย์ แพทย์ก็ต้องประชุมกับแพทย์ในทีมอีก กว่าจะได้ข้อสรุปช่างใช้เวลายาวนาน

ตัวช่วยด้านพยาธิวิทยา Philips IntelliSite Pathology คือระบบสแกนความละเอียดสูง ช่วยเปลี่ยนตัวอย่างที่ต้องการตรวจเป็นภาพดิจิตอลแสดงเป็นภาพในกล้องได้ทันที จากนั้นแพทย์ก็สามารถส่งข้อมูลนี้เข้าสู่ทีมได้โดยไม่ต้องผ่านการกรีดการผ่าหลายขั้นตอนเกินความจำเป็น

8. หยุดปวดหัวโดยไม่ต้องใช้ยา

Vagus Nerve เส้นประสาทคู่ที่ 10 คือเส้นประสาทในกะโหลกที่ยาวที่สุดร้อยจากก้านสมองสู่ช่องท้อง การกระตุ้นเส้นประสาทด้วย GammaCore คือการกระตุ้น Vagus Nerve โดยไม่ทำให้ร่างกายคนไข้บาดเจ็บไม่ต้องผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้น ไม่ใช้ยา คลื่นไฟฟ้าอย่างอ่อนจะเปลี่ยนการทำงานของประสาทในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น การปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headache) รอบเบ้าตา

9. ตรวจลมชักที่บ้าน

การจัดการกับโรคลมชักหรือลมบ้าหมู ขั้นตอนยากๆ คือไม่รู้ว่าอาการมาบ่อยแค่ไหนและไม่รู้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะ 85 เปอร์เซ็นต์ของการชักจะเกิดขึ้นตอนกลางคืน ที่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลคงไม่ได้บันทึกอย่างละเอียด SPEAC คืออุปกรณ์ตรวจวัดการชักที่ไม่ใช่การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (non-Electroencephalo Graphy: non-EEG) SPEAC จะติดอยู่กับแขนท่อนบนของผู้ป่วย ตรวจจัดการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ ใช้อัลกอริธึมวิเคราะห์เพื่อหาช่วงความถี่ของการชัก และเก็บเป็นข้อมูลไว้เพื่อให้แพทย์ใช้ประกอบการรักษา

10. MRI สำหรับลูกน้อย

การทำ MRI หรือการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คือการทรมานร่างกายอย่างหนึ่ง ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในอุโมงค์แคบๆ เสียงดังนานเกือบชั่วโมง หากเด็กทารกต้องการทำ MRI แพทย์จึงมักมองข้ามขั้นตอนนี้ไปเพราะความเป็นไปได้ที่จะจับเด็กให้นอนนิ่งๆ ในอุโมงค์นี้แทบเป็นไปไม่ได้ – แค่อุ้มเข้าอุ้มออกก็ยากแล้ว

เครื่อง MRI สำหรับหน่วยดูแลเด็กไม่เหมือน MRI ทั่วไป สามารถนำเด็กใส่กล่องคล้ายตู้อบทารก เข้าสู่เครื่องใช้เวลาไม่ถึง 30 วินาที โดยที่พ่อแม่และหมอไม่ต้องแยกตัวไปอีกห้อง สามารถดูแลเด็กน้อยได้อย่างใกล้ชิดข้าง MRI

11. แผ่นกันแดดเตือนยูวี

หลายคนผิวบางแพ้แดด มีไม่น้อยที่ต้องทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน และบางครั้งก็ลืมไปว่า ครีมกันแดดไม่ได้ติดอยู่กับผิวและทำงานได้มีประสิทธิภาพทั้งวัน การปกป้องผิวไม่ให้เกรียมยูวีต้องทาครีมซ้ำหลายครั้ง

My UV Patch คือสติกเกอร์ติดผิวที่คอยส่งสัญญาณบอกเมื่อรังสียูวีทะลุเข้ามาถึงผิวหนัง โดยแผ่นไวแสงนี้จะเปลี่ยนจากน้ำเงินเข้มเป็นสีอ่อนลงเมื่อแสงแดดแรงขึ้น และติดอยู่กับผิวหนังได้ถึงห้าวัน

12. นวัตกรรมแห่งปี Kymriah เซลล์ฆ่ามะเร็ง

มะเร็งคือภัยเงียบ มันมักจะรอดจากระบบภูมิคุ้มกันโดยทำตัวเหมือนเซลล์ปกติ ทศวรรษที่ผ่านมามีการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ฝึกระบบของร่างกายให้ตรวจจับสิ่งแปลกปลอม แต่ปีนี้แผนการรับมือเซลล์มะเร็งของมนุษย์ได้สร้างนวัตกรรม Kymriah ยีนฆ่ามะเร็งขึ้นมา ซึ่งผ่านการรับรองของ FDA เรียบร้อยแล้ว

การรักษานี้คือการสกัดเม็ดเลือดขาว T cells จากเลือดผู้ป่วยไปดัดแปลงพันธุกรรมเป็น CAR-T และนำกลับสู่ร่างกายผู้ป่วยเอง เซลล์ CAR-T ที่ได้จะสามารถระบุตำแหน่งและกำจัดเซลล์มะเร็ง ในการทดลอง ผู้ป่วย 83 เปอร์เซ็นต์มีอาการที่ดีขึ้นในสามเดือน ปัจจุบัน Kymriah ให้ผลการรักษาที่ดีกับผู้ป่วยลูคีเมียที่อายุน้อย เชื่อว่าในอนาคตเทคนิคนี้จะรักษามะเร็งได้หลากหลายชนิดมากขึ้น ปรับยาให้เหมาะกับโรคมากขึ้น


อ้างอิงข้อมูลจาก:
popsci.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า