แม้หน่วยงานภาครัฐและบุคลากรด้านสาธารณสุขจะระดมกำลังปราบปรามอย่างหนัก แต่ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยก็ยังคงแพร่ระบาดไม่หยุด ทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เสริมความงาม ลดน้ำหนัก ยิ่งช่องทางสื่อสารในโลกออนไลน์เปิดกว้างเท่าไร สินค้าเหล่านี้ก็ยิ่งเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายดายขึ้น
หนักกว่านั้น เมื่อเห็นช่องทางทำเงิน ผู้บริโภคบางรายยังผันตัวไปเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย สร้างสินค้ายี่ห้อใหม่เป็นของตัวเอง บ้างรับช่วงต่อเป็นทอดๆ จนกลายเป็นเครือข่ายธุรกิจลูกโซ่ เน้นยอดขายให้ได้ปริมาณมากๆ และการโหมโฆษณาทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงว่าข้อความโฆษณานั้นจะเข้าข่ายหลอกลวงหรือไม่ เพราะเห็นว่าใครๆ ก็ทำกัน
นั่นหมายความว่า กฎหมายใช้ไม่ได้ผลเช่นนั้นหรือ หรือการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มข้น หรือบทลงโทษยังไม่แรงพอที่จะกำราบได้ ต้องใช้กฎหมายอะไรและบทบัญญัติข้อใดจึงจะเอาอยู่?
คำถามเหล่านี้ เภสัชกรอดุลย์ ลาภะแนน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี ได้ให้คำตอบไว้ในงานศึกษา เรื่อง ‘การวิเคราะห์การใช้ประมวลกฎหมายอาญาในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ’ ภายใต้หลักสูตรการฝึกอบรมเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพ ของวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท.) สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) เพื่อจะวิเคราะห์ให้เห็นว่า การใช้ ‘ประมวลกฎหมายอาญา’ อาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญที่จะทำให้การลงโทษตามกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่ผ่านมาการใช้กฎหมายเฉพาะอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะตอบโต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสังคมในวงกว้าง บางสถานการณ์รุนแรงถึงขั้นมีผู้เสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ทว่ากฎหมายที่มีอยู่กลับไม่สามารถทุเลาปัญหาให้ลดน้อยลงได้ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.เครื่องสำอาง โดยเฉพาะบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น คือ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท จำคุก 1-2 ปี อีกทั้งรอลงอาญาหากจำเลยรับสารภาพ
“หากมีการบังคับใช้กฎหมายในรูปแบบบูรณาการหลายกฎหมายอย่างเข้มข้น จะเป็นการเสริมให้มาตรการการลงโทษทางอาญาเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้” ภก.อดุลย์ กล่าว
เห็นได้ชัดว่ากฎหมายไม่สามารถที่จะบังคับยับยั้งผู้กระทำผิดได้จริง หรืออาจกล่าวได้ว่าบทลงโทษเบาเกินไปจนไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้และไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ด้วยเหตุนี้จึงอาจจำเป็นต้องใช้ ‘ยาแรง’ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการออกนอกลู่นอกทาง
ภก.อดุลย์เสนอว่า แนวทางที่จะทำให้เกิดการกำกับควบคุมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรต้องหามาตรการเสริมเพื่อให้ผลการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขึ้น ซึ่งมาตรการเสริมมีทั้งทางเพ่ง ปกครอง และอาญา โดยมาตรการทางอาญาน่าจะเป็นมาตรการอันดับต้นๆ ที่ควรนำมาพิจารณา
ภก.อดุลย์ อธิบายว่า ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ แบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่คือ
- ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกรณีที่มีผู้เสียชีวิตจากการใช้ผลิตภัณฑ์ ถือเป็นความผิดที่ส่งผลต่อชีวิตและร่างกาย
- ความผิดที่ก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน เช่น การปลอมปนอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อให้บุคคลเสพหรือใช้
นอกจากนี้ กลุ่มความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน จะเห็นได้จากกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพิกถอนทะเบียนผลิตภัณฑ์ในเครือบริษัท magic skin ซึ่งพบว่าความผิดที่เกิดขึ้นสามารถนำประมวลกฎหมายอาญามาบังคับใช้ได้ ดังนั้น ในขั้นตอนการพิจารณาหากพบว่าพฤติการณ์และข้อเท็จจริงมีความคาบเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ก็สามารถเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญาได้
บูรณาการกฎหมายแพ่ง-อาญา-ปกครอง
ปัจจุบันทั้งกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา และกฎหมายปกครอง มีอยู่แล้ว หากแต่ว่าทุกวันนี้ยังไม่มีการนำมาบังคับใช้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมากนัก สาเหตุหนึ่งเนื่องจากเจ้าหน้าที่ อย. อาจยังไม่มั่นใจที่จะใช้กฎหมาย อย่างเช่นการนำข้อมูลเข้าคอมพิวเตอร์เป็นเท็จ การโฆษณาผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนหรือเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ อย. ขาดความชำนาญและความมั่นใจที่จะใช้กฎหมายนี้ ก็ควรประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาญา คือเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญมากกว่า
ในงานศึกษาของ ภก.อดุลย์ พยายามที่จะหาแนวทางกระตุ้นหรือให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้กฎหมาย โดยสนับสนุนทางวิชาการว่า ‘กฎหมายนี้ใช้ได้’ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ 77 จังหวัด มีเพียงการบังคับใช้แค่กฎหมายเฉพาะ เปรียบเทียบปรับ หรือกล่าวโทษร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ร.บ.ยา แต่น้อยนักที่จะมีการใช้ประมวลกฎหมายอาญาควบคู่ไปด้วย
“ยกตัวอย่างกรณีเด็ก ม.1 เสียชีวิต ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการสืบสวนว่าเกิดจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจริงหรือไม่ ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถใช้มาตรา 288 ตามประมวลกฎหมายอาญาคือ ผู้ใดฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ส่วนกรณีที่มีการปลอมปนอาหาร ตามมาตรา 236 คือผู้ใดปลอมปนอาหารสำหรับให้ประชาชนเสพ หรือบริโภค ก็มีความผิดอาญาเช่นกัน โดยกฎหมายมาตรานี้ยังรวมถึงเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด”
ในกระบวนการปราบปรามผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ภก.อดุลย์ เสนอว่าประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ หากพบการกระทำความผิดหรือเข้าข่ายกระทำความผิดอย่างที่ว่ามาทั้งหมด สามารถแจ้งเบาะแสเพื่อเป็นหูเป็นตาให้กับส่วนราชการเพื่อป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์ หากพบว่ามีผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายก็สามารถแจ้งเบาะแสแก่ทางราชการได้ เพื่อเป็นการช่วยสกัดกั้นภัยร้ายแก่สังคม