ตุลาคม เดือนแห่งการปกป้องการได้ยิน

ภาพประกอบ: Shhhh

 

ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป เมื่อเสียงรบกวนในชีวิตประจำวันที่เราแสนจะชินชาอย่างเสียงรถยนต์ เสียงแตร เสียงพูดคุยโหวกเหวกบนท้องถนน เสียงรายการข่าวโทรทัศน์ของคุณแม่ตีกับเสียงไดรย์เป่าผมของคุณลูก เรื่อยไปกระทั่งเสียงในหูฟังสมาร์ทโฟนในหูของคนยุคเทคโนโลยีไทยแลนด์ 4.0 แทบทุกคน

ทั้งหมดนี้เป็นภัยเงียบ (ที่จริงๆ แล้วดัง) ที่ทำให้เราเสี่ยงต่อภาวะประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน (Noise-induced Hearing Loss: NIHL) ในระยะยาว

ในต่างประเทศ ประเด็นเรื่องสิทธิในการปกป้องและป้องกันการได้ยิน ถือเป็นวาระระดับชาติที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ประกาศให้ตลอดเดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการป้องกันการได้ยิน (National Protect Your Hearing Month) เลยทีเดียว ด้วยเหตุผลว่า…

การสูญเสียการได้ยิน (hearing loss) คืออาการจากความผิดปกติส่วนใดส่วนหนึ่งภายในหู อาจจะเกิดข้างเดียวหรือสองข้าง มีผลตั้งแต่ทำให้ได้ยินไม่ถนัด หูตึง หรือหูหนวกไปเลยก็ได้ เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศวัย จุดที่ทำให้เราสูญเสียการได้ยินอาจเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ประสาทหูจะค่อยๆ เสื่อมลงจนเราสังเกตรู้ได้

สถิติผู้สูญเสียการได้ยินของสหรัฐ เฉพาะผู้ใหญ่อยู่ที่ราว 10 ล้านคน หรือคิดเป็น 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด แต่หากให้ตัวเลขกว้างๆ พบว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่า 70 ปี มีผู้สูญเสียการได้ยินกว่า 40 ล้านคน หรือราว 24 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ซึ่งอาการสูญเสียการได้ยิน อาจจะสูญเสียทั้งสองข้าง หรือแค่ข้างเดียวก็ได้

ซึ่งภาวะประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน ขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลักคือ ระดับความดังของเสียง ระยะเวลาที่ต้องฟัง และระยะห่างจากจุดกำเนิดเสียงมายังตำแหน่งยืนของเรา

ดังแค่ไหนจึงเรียกว่าดัง

ในความรู้วิทยาศาสตร์ชั้นประถม (ซึ่งผู้เขียนก็ลืมไปแล้วเช่นกัน แต่อ้างว่าชั้นประถม จะได้ดูดี…) อธิบายว่า เดซิเบล คือระดับความดังของเสียง ซึ่งระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อหูของคนปกติอยู่ที่ 85 เดซิเบลขึ้นไป ในระดับนี้จะมีผลต่อเมื่อเรารับฟังต่อเนื่องกันหลายๆ ชั่วโมง

ซึ่งเราอาจเปรียบเทียบตัวเลขเดซิเบล กับเสียงที่เราได้ยินได้ดังนี้
0 เดซิเบล คือเสียงที่คนจะได้ยิน (สำหรับคนหูปกติ)
30 เดซิเบล เสียงกระซิบ เสียงแรกที่หูมนุษย์เริ่มจับใจความได้
60 เดซิเบล เสียงระดับการสนทนา (ที่ควรจะเป็น) ทั่วไป
85 เดซิเบล ‘ขึ้นไป’ คือเสียงจากหูฟังเครื่องเล่นเพลงปกติ
105 เดซิลเบล คือเสียงจากหูฟังเครื่องเล่นเพลงในระดับสูงสุด
120 เดซิเบล เสียงไซเรนของรถพยาบาล

ตามทฤษฎีเรื่องเสียงเชื่อว่า ระดับเสียงที่เป็นอันตรายต่อหูยังขึ้นกับประเภทของเสียง โดยเหตุที่ทำให้เกิดการสูญเสียการได้ยินนั้น เพราะเสียงที่อัดแน่นรุนแรง (powerful) จะเข้าไปกระตุ้น (trigger) โมเลกุลที่อยู่ในหูและทำลายเซลล์ขน (hair cells) ในหูได้

นานแค่ไหนจึงเรียกว่านาน ไกลแค่ไหนจึงไกล

ในปัจจัยแรก นานแค่ไหนจึงนาน ไม่อาจบอกได้ชัดเจนนัก เพราะมันขึ้นอยู่กับปริมาณความดังของเสียงที่คุณฟังอยู่ด้วย แต่ระดับเสียงที่เริ่มเป็นอันตรายหากเราฟังนานๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมงอยู่ที่มากกว่า 85 เดซิเบล คือประมาณระดับเสียงในหูฟัง เสียงจราจร เสียงโรงงานอุตสาหกรรม เสียงขุดเจาะถนน 100 เดซิเบล, เสียงค้อน เครื่องปั๊มโลหะ เสียงไซเรน 120 เดซิเบล, เสียงเครื่องบินขึ้น 140 เดซิเบล

และขึ้นอยู่กับตำแหน่งยืนของเราด้วย ตรรกะง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรายืนอยู่ใกล้เสียงที่ดังมากๆ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อเสียงอัดแน่นทรงพลังมากเท่านั้น มากกว่านั้นมันยังรวมถึงพันธุกรรมของคนด้วย ว่าทนต่อเสียงที่ดังมากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าคนที่มีพันธุกรรมอย่างไร ก็ถึงเวลาที่เราต้องปกป้องการได้ยินของตัวเอง โดยเฉพาะในสภาวะที่โลกข้างนอกวุ่นวายโหวกเหวก และเรายังไม่รู้ว่า สิทธิที่จะได้รับความสงบเงียบ ก็เป็นสิทธิด้วย!

วิธีป้องกัน

วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุด (พูดเหมือนง่าย) คือพยายามรู้ตัวถึงภัยแฝงเร้นเรื่องเสียง พยายามปรับความเคยชินเรื่องเสียง ลดโทนเสียงของตัวเองลง หลีกเลี่ยงบริเวณที่หนาแน่นด้วยเสียงอึกทึกครึกโครม พยายามใช้ลำโพงแทนหูฟัง เริ่มสนใจที่อุดหู (ear plug) และลองหาใช้ดูบ้าง

สุดท้าย อาจลองหาเวลาดีท็อกซ์หู ด้วยการตื่นรับเช้าด้วยความเงียบหลายๆ ชั่วโมงก่อนเริ่มงานดูบ้าง


อ้างอิงข้อมูลจาก:
noisyplanet.nidcd.nih.gov
hearingloss.org

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า