แม้ว่าสถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกจะทำให้เส้นแบ่งรัฐชาติเด่นชัดขึ้นมาอีกครั้ง จนเกิดการกีดกันการเคลื่อนย้ายของพลเมืองในทุกประเทศทั่วโลก ทว่าในแง่การเคลื่อนตัวของ ‘ทุน’ แล้ว สิ่งนี้ยังคงเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี จนถึงยุคสมัยปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ไม่มีประเทศใดในโลกทัดทานการไหลบ่าของระบบทุนนิยมโลกได้
เช่นเดียวกันกับประเทศลาว แม้จะเดินตามแนวทางสังคมนิยมในทางการเมืองมากว่า 4 ทศวรรษ แต่ในทางเศรษฐกิจแล้ว มิตรประเทศอันใกล้ชิดของไทยที่มีพรมแดนติดกันถึง 1,810 กิโลเมตร พวกเขาเริ่มถางเส้นทางเพื่อมุ่งสู่ประเทศที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ
ตรวจเช็ค ‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’
‘แบตเตอรี่แห่งเอเชีย’ คือผลพวงหนึ่งจากการที่ผู้นำลาวประกาศนโยบาย ‘จินตนาการใหม่’ (NEW: New Economic Machanism) เมื่อปี 2529 โดยวางเป้าหมายสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศมากยิ่งขึ้น หลังหลบเร้นจากนานาชาติอยู่หลังม่านมาตลอดยุคสงครามเย็น แต่คล้อยหลังการเปิดประเทศด้านเศรษฐกิจเพียง 10 ปี และมีการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศลาวก็ปรากฏตัวตามมา ปัจจัยเหล่านี้เร่งให้ลาวเชื่อมโยงกับนานาชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้มีแค่ผู้คนที่เดินทางข้ามพรมแดนเท่านั้น หากยังหมายรวมถึงการเคลื่อนตัวของแหล่งพลังงานอีกด้วย
ข้อตกลงเกี่ยวกับ ASEAN Power Grid เป็นตัวอย่างอันดีที่ชี้ให้เห็นการพลิกตัวแบบก้าวกระโดดของลาว ซึ่งพยายามผลักดันการเชื่อมต่อสายส่งไฟฟ้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และแผนการนี้ยังสอดรับกับประเทศไทย ดังจะเห็นได้จากการที่ไทยเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศได้ โดยมีคู่ค้าที่สำคัญคือลาว
ความเคลื่อนไหวข้างต้น นับเป็นตัวอย่างของการแสวงหาทางออกให้กับประเทศที่ไม่มีพื้นที่ใดติดกับทะเล ลาวได้ข้ามพ้นข้อจำกัดของภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีลำน้ำสำคัญไหลลงสู่แม่น้ำโขงหลายสาย ทั้งยังมีแร่ธาตุ ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากมาย จนกลายเป็นแบตเตอรี่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อผลิตไฟฟ้าขาย และเน้นหนักที่การสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อนำรายได้มาพัฒนาประเทศ
คำถามที่ท้าทายกว่านั้นคือ เส้นทางการพัฒนาเช่นนี้ก่อผลที่ตามมาอย่างไรบ้าง หากคิดตามวลีที่ว่า ‘ทุนไม่ได้เลือกนาย’ แล้ว ผลประโยชน์มหาศาลจากการแปรพลังงานเป็นทุนจะไปตกอยู่ที่ใคร โครงการมากมายที่เกิดขึ้นมีส่วนในการสร้างความเหลื่อมล้ำมากแค่ไหน
งานวิจัยถัดจากนี้เริ่มต้นหาคำตอบจากคำถามพื้นฐานที่สุด นั่นคือ ผลกระทบข้ามชาติและการผลักภาระข้ามชาติ สร้างบาดแผลของความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง
โครงการวิจัยเรื่อง ‘ผลกระทบข้ามชาติ โครงสร้างความเหลื่อมล้ำกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน กรณีโรงไฟฟ้าหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว’ โดย สมพร เพ็งค่ำ และคณะ ได้ค้นหาคำตอบด้วยการทำความเข้าใจประเด็นดังกล่าวจากกรณีโรงไฟฟ้าหงสา ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามจังหวัดน่านของไทย
งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ตีกรอบเพียงแง่มุมด้านวิศวกรรมศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าในการพัฒนาพลังงานล้วนเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับชีวิตผู้คน ชุมชน ประวัติศาสตร์ความเป็นมา และสภาพแวดล้อมในเชิงสังคมอย่างแนบแน่น
ด้วยเหตุนี้ คณะนักวิจัยจึงมองว่าการกำหนดนโยบายสาธารณะและการสร้างความเข้าใจสาธารณะ คำถามสำคัญที่น่าจะเป็นคือ ทางเลือกทางเทคโนโลยี (technological choice) ควรเป็นเรื่องที่สังคมควรกำหนดร่วมกัน ยิ่งกว่านั้นยังตั้งคำถามว่าการจะเลือกเทคโนโลยีพลังงานใดนั้นเป็นไปด้วยเงื่อนไขใด และให้คุณค่าหรือชุดความคิดแบบใด ซึ่งเป็นคำถามในแง่สังคมวิทยา งานวิจัยชิ้นนี้จึงช่วยให้ผู้สนใจมองเห็นความสลับซับซ้อนของนโยบายสาธารณะได้รอบด้านรัดกุมยิ่งขึ้น
‘โรงไฟฟ้าหงสา’ บนชีพจรของผู้คน
อย่างที่กล่าวไปว่า งานวิจัยชิ้นนี้มองโครงการพัฒนาในเชิงสังคมวิทยา ฉะนั้นคณะนักวิจัยจึงใช้กรอบคิดเรื่อง แนวทางระบบเทคโนโลยี-สังคม (sociotechnical systems) ที่ไม่สามารถศึกษาเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งได้โดยโดดๆ แต่เป็นการศึกษาเชิงความสัมพันธ์ หมายถึง การที่เทคโนโลยีใดนั้นขึ้นรูปและดำรงอยู่ได้ ย่อมต้องมีเครือข่ายรองรับอยู่ เครือข่ายนั้นย่อมประกอบด้วยองค์ประกอบที่หลากหลาย หากพิจารณาระบบการผลิตไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าหงสา คือจุดตั้งต้นในการแสวงหาคำตอบที่กล่าวมา โรงไฟฟ้าแห่งนี้ตั้งอยู่ที่เมืองหงสา แขวงไชยบุรี ประเทศลาว เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2553 ก่อนจะเปิดดำเนินการ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาสัมปทาน 25 ปี มีพื้นที่รวม 76.4 ตารางกิโลเมตร จะเห็นได้ว่าการให้สัมปทานมีระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร โดยแหล่งเชื้อเพลิงมาจากถ่านหินลิกไนต์ที่ผลิตจากเหมืองแร่ในพื้นที่โครงการ ปริมาณสำรองลิกไนต์อยู่ที่ 577.4 ล้านตัน โรงไฟฟ้าต้องการปีละ 14.3 ล้านตัน รวมอายุสัมปทานทั้งหมด 370.8 ล้านตัน
ว่ากันว่าศักยภาพของโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 900 เมกะวัตต์ โดยเป็นการแบ่งขายให้ไทย 1,473 เมกะวัตต์ และขายให้ลาว 100 เมกะวัตต์ ภายใต้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (จากโรงไฟฟ้าถึงหลวงพระบาง)
สิ่งที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจของนักวิจัยพบว่า หุ้นส่วนการลงทุนมาจากทุนของไทยเองเกือบทั้งหมด คิดเป็นเงินลงทุนมูลค่ารวม 3,710 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน), บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท Lao Holding State Enterprise โดยอาศัยแหล่งกู้เงินจากธนาคารไทย 9 แห่งสนับสนุน ได้แก่ กรุงเทพ, ไทยพาณิชย์, กรุงไทย, ออมสิน, กสิกรไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, กรุงศรีอยุธยา, ธนชาติ และ ทหารไทย
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า ทุนข้ามชาติของไทยกลายเป็นตัวละครหลักของโครงการโรงไฟฟ้าหงสาครั้งนี้ เรื่องน่าสนใจมากกว่านั้นคือ แล้วชีวิตผู้คนบริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าล่ะ พวกเขากำลังเผชิญกับอะไร
งานวิจัยนี้ได้เข้าไปศึกษาความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างว่า มีการให้คุณค่าแบบใดบ้างที่นำมาสู่การกำหนดที่ตั้ง การเลือกเทคโนโลยี และการออกแบบระบบจัดการต่างๆ ของโรงไฟฟ้าหงสา นอกจากนั้นยังมีคำถามย่อยอื่นๆ เช่น ผลกระทบข้ามชาติและการผลักภาระข้ามชาติสร้างความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง ไปจนถึงมีแนวทางใดบ้างจากตัวผู้กระทำการในหลากหลายระดับเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
เพื่อที่จะหาคำตอบนี้ นักวิจัยได้เดินทางเข้าไปสัมภาษณ์เชิงลึก ประชุมย่อย ไปจนถึงสังเกตการณ์ชีวิตผู้คนในพื้นที่ฝั่งไทยที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง และได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากโรงไฟฟ้าหงสา เพื่อประเมินควบคู่ไปกับทัศนะของประชาคมวิชาการ สหสาขาวิชา ทั้งในประเทศไทยและ สปป.ลาว ผู้กำหนดนโยบายสาธารณะด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ทั้งในประเทศไทย สปป.ลาว รวมถึงประชาคมอาเซียนและจากข้อมูลที่ทำ
และจากการเก็บรวบรวมเบื้องต้นก็เริ่มแสดงให้เห็นว่า พื้นที่แห่งนี้ไม่ได้มีความแตกต่างกันตามเส้นแบ่งของรัฐชาติ หากในแง่ชาติพันธุ์ ผู้คน และสภาพแวดล้อมแล้ว กลับเกาะเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่นยิ่งกว่า เมื่อพิจารณาใบหน้าผู้คน
ใครได้ประโยชน์
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งลงหลักปักฐานที่จังหวัดน่านมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เล่าว่า เป็นเวลานานมากที่น่านและแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดชายขอบที่อยู่นอกสายตารัฐไทย เนื่องจากเป็นเมืองเล็กและมีขนาดเศรษฐกิจที่เล็ก ส่วนการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าหงสา พวกเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถพลิกสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้หรือไม่ โดยเล่าว่า
“ทางฝั่งโน้น (ฝั่งลาว) เป็นปกติท่านก็เอาของป่า เครื่องของดงเครื่องป่าทั้งหลายมาขาย มันก็มูลค่าไม่เท่าไหร่ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องจักรติดตั้งมหึมาในช่วงต้นๆ
“ชายแดนของเราก็พบว่า ทั้งหมดนี้อยู่ในนี้ทั้งฝั่งลาวและฝั่งเราเหมือนกัน ฝั่งน่าน ฝั่งหงสา ไชยบุรี เวียงเพียง ฝายน้ำปาน ไปจนถึงหงสาไปฝั่งหลวงพระบาง และข้ามไปทางโน้น อาจจะมีมากกว่าบางชนเผ่าเพิ่มมา แต่น่านมีประมาณนี้ เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้ถามว่าเมื่อมีเมกะโปรเจ็คต์ขนาดแสนล้านบาทสำหรับลงทุนในหงสา และก็ยังมีเจ็ดหมื่นล้านบาทแถมลงไปที่ไชยบุรีอีก ห่างเท่าไหร่ ห่างไม่ถึง 30 กิโล เขื่อนไชยบุรี ฉะนั้นภูมิศาสตร์การค้าและการลงทุนย่อมเปลี่ยนแน่ใน 35 ปีนี้” ชาวบ้านเล่าในงานวิจัย
อีกหนึ่งความเห็นที่สะท้อนถึงความไม่มั่นใจ แม้จะเชื่อว่าการสร้างโรงไฟฟ้าอาจจะนำมาซึ่งเส้นทางการค้าใหม่ๆ ก็ตาม
เจ้าของสวนส้ม อำเภอทุ่งช้าง ให้ความเห็นว่า อาจจะได้ประโยชน์จากการตัดเส้นทางใหม่นี้ แต่ตั้งคำถามกลับว่าใครจะได้ประโยชน์ เกษตรกรก็อาจจะไม่ได้ประโยชน์ และคาดว่าคนที่จะได้ประโยชน์จากการพัฒนาอาจจะเป็นนักธุรกิจระดับกลางขึ้นไปเท่านั้น
“ไม่ถึงเรา เพราะถูกล็อคสเปคไว้หมดแล้ว เขาวางแผนไว้หมดแล้ว ยังไม่เคยมีอาจารย์หรือมีใครมาติดเครื่องวัดคุณภาพอากาศ โรงไฟฟ้าเคยมาคุยกับพวกเราไหม ไม่เคย ตั้งแต่ตอนที่เขามีการตั้งโรงไฟฟ้า เขาเคยเชิญเราประชุมชี้แจงข้อมูลอะไรไหม ไม่มี ถ้าอย่างนี้ชาวบ้านไม่รู้หรอก ชาวบ้านได้แต่เดา ได้แต่เดาเหตุการณ์” เจ้าของสวนส้มกล่าว
ข้อมูลจากงานวิจัยฉบับนี้จำนวนหนึ่ง ชวนให้เราคิดต่อว่าการข้ามพรมแดนของทุนไทยเที่ยวนี้ อาจจะกระตุ้นให้ผู้กำหนดนโยบายหันมาพิจารณาชีวิตของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับ แผนการแบตเตอรี่แห่งเอเชียมากยิ่งขึ้น และคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่หลากหลายมากกว่าจำนวนของการผลิตไฟฟ้าป้อนโรงงานอุตสาหกรรม พ้นไปจากนั้นประชาชนในพื้นที่อาจจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากกว่าที่ทำมา
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง ‘ความเสี่ยงข้ามแดนและการกำกับดูแลอนาคตร่วมกันของอาเซียน: กรณีโรงไฟฟ้าหงสา ชายแดนไทย-ลาว’ วันพุธที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 08.30-12.30 น. ณ ห้องประชุม 701 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา (ตึกจามจุรี 10) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จัดโดย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ศึกษาสันติภาพและการจัดการความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว และคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี