มหากาพย์นายทุนจีนเทา และข้อครหาที่ผูกโยงถึงการเมืองระดับชาติของไทยนี้ ท่าทางจะไม่ยุติลงได้ง่ายๆ เพราะยิ่งขุดค้นลึกลงก็ยิ่งเจอความเชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพล คนในเครื่องแบบ พรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งเครือข่ายนักธุรกิจกลุ่มต่างๆ มากมาย น่าแปลกใจที่ครั้งนี้คนบางกลุ่มหรือบางพรรคกลับไม่ออกมาทักท้วงเรื่อง ‘อิทธิพลของต่างชาติในไทย’ แบบเมื่อครั้งที่ บ.ก. The Isaan Record อย่างเดวิด สเตร็คฟัสส์ (David Streckfuss) ถูกรุมกล่าวหาในปีที่ผ่านมาว่าเป็นสายลับที่ CIA (Central Intelligence Agency) ที่รัฐบาลอเมริกาส่งเข้ามาบ่อนทำลายเสถียรภาพการเมืองไทย ทั้งๆ ที่กรณีการแผ่อิทธิพลของนายทุนจีนครั้งนี้น่าจะมีความร้ายแรงมากกว่ากรณีของสเตร็คฟัสส์ ที่เพียงแค่เข้ามาทำสื่อขนาดเล็กในจังหวัดขอนแก่นด้วยซ้ำไป
ในเชิงเสียดสีอาจกล่าวอย่างกำปั้นทุบดินได้ว่า เพราะสังคมไทยอาจจะยังไม่ค่อยได้ตระหนักและรับรู้ถึงโครงสร้าง และรูปแบบการขยายอิทธิพลของจีนในต่างประเทศนัก เมื่อเทียบกับกรณีของอเมริกาที่มักถูกประชาสัมพันธ์ ผลิตซ้ำ และเผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และนวนิยาย (soft power) มาตลอดอยู่แล้ว เช่น James Bond, Jack Ryan, Jason Bourne, และ Anna เป็นต้น แต่สำหรับกรณีของจีนนั้นแทบไม่ปรากฏให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ผ่านวัฒนธรรมมวลชน (pop culture) หรือถูกกล่าวถึงในสื่อกระแสหลักในช่วงก่อนหน้านี้เท่าใดนัก ไม่ว่าจะจากปัจจัยด้านกำแพงทางภาษา และอุปสรรคด้านการเข้าถึงข้อมูลอย่างเป็นทางการที่ค่อนข้างจำกัดในจีน ทำให้ส่วนใหญ่โดยเฉพาะในโลกภาษาไทยมีการกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวนี้น้อย
การขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน
จริงๆ แล้ว ประเด็นข้างต้นถูกกล่าวถึงอย่างบ่อยครั้งมากขึ้นในต่างประเทศตลอดช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ตามสถานการณ์ของสงครามการค้า และจุดปะทุเดือดในความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกา-จีนที่ทำให้หน่วยงานความมั่นคงในกลุ่มประเทศพันธมิตรฝั่งตะวันตก (The West) อย่างอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี และอเมริกา พากันเปิดการสืบสวนคดีเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่พ่วงมาด้วยการจารกรรมข้อมูลทางเทคโนโลยีบริษัทเอกชน และการแทรกแซงการเมืองภายในมากขึ้นกว่า 1,000% โดยสถิติคดีความมั่นคงในการดูแลของ FBI (Federal Bureau of Investigation) ที่เชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลจีนตลอดปี 2021 ที่ผ่านมานั้น นับรวมได้มากกว่า 2,000 คดี จากทั้งหมดกว่า 5,000 คดี
คำที่ FBI และ CIA ใช้คือ “[Malign] Influence Campaign” และ “Influence Operation” (คนละกรณีกับ Information Operation หรือ IO ที่คนไทยคุ้นเคยกัน) หมายถึง กิจกรรมหรือการปฏิบัติใดก็ตามที่ตัวแทนของรัฐหนึ่งพยายามเข้าไปมีบทบาทต่อแนวคิด ความคิดเห็น และกระบวนการตัดสินใจของบุคคล กลุ่มบุคคล สังคม องค์กร ไปจนถึงรัฐบาลในต่างประเทศ ผ่านวิธีการโน้มน้าว บีบบังคับ โฆษณาชวนเชื่อผ่านโซเซียลมีเดีย หรือมอบเงิน/ของกำนัลเพื่อให้อีกฝ่ายยินยอมกระทำตามที่ตนต้องการ
ตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยๆ คือ กรณีการแทรกแซงกิจการระดับรัฐสภาและการควบคุมทิศทางของการเลือกตั้งในประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งกับจีน อาทิ การที่รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินค่าโฆษณา (Ads) เพื่อให้โพสต์ที่มีเนื้อหาสนับสนุนนักการเมืองที่มีจุดยืนเอนเอียงไปทางเดียวกับรัฐบาลจีนเข้าถึงประชากรใน Facebook มากขึ้นในฤดูการเลือกตั้งไต้หวัน
ออสเตรเลียเองก็เช่นกัน ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลีย-จีนเข้าสู่ภาวะตึงเครียดหลายปีมานี้ นักการเมืองออสเตรเลียบางคนก็เริ่มมีพฤติกรรมที่เอนเอียงไปทางสนับสนุนรัฐบาลจีนอย่างน่าสงสัย เช่น ส.ว. แซม ดาสเทียรี (Sam Dastyari) จากพรรค Labour ที่เคยออกตัวกดดันไม่ให้ ทันย่า พลิเบอร์เซค (Tanya Plibersek – รองหัวหน้าพรรค Labour ขณะนั้น) เดินทางไปพบแกนนำและนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจีนในฮ่องกง ในปี 2017 ซึ่งภายหลังมีการสืบสวนอย่างจริงจัง สาธารณชนจึงได้ทราบอย่างกระจ่างว่า ดาสเทียรีกระทำการดังกล่าวไปเพราะมีนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลจีน ชื่อ Huang Xiangmo เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง (agent of Chinese influence)
ส่วนในกรณีของนิวซีแลนด์นั้นค่อนข้างน่าทึ่ง เพราะเคยมีอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองจากกองทัพบกจีนเข้าไปมีบทบาทในการระดมทุนให้แก่พรรค New Zealand National Party และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ถึง 3 สมัย ในปี 2011-2020 อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้เป็นกรรมาธิการนโยบายต่างประเทศ ความมั่นคง และการค้าประจำรัฐสภา รวมถึงเคยเป็นคนกลางในการพาอดีตนายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ (John Key) เข้าพบสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่จีนอีกด้วย
โดยกรณีที่หนักหนาสาหัสที่สุดเห็นจะเป็นที่อเมริกา ซึ่งรัฐบาลจีนได้ทุ่มเงินมากกว่าปีละ 50,000,000 ดอลลาร์ ในการผลิตและเผยแพร่สื่อที่มีเนื้อหาเอนเอียงไปทางรัฐบาลจีน เรียกได้ว่าสื่อภาษาจีนทั้งหมดในอเมริกา ทั้งสถานีโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ วิทยุ และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์สำหรับชาวอเมริกาเชื้อสายจีนล้วนอยู่ภายใต้การควบคุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ทั้งหมด (ไม่เว้นแม้แต่สื่อภาษาอังกฤษอย่าง CNN, USA Today และ Time ที่เซ็นสัญญาเผยแพร่เนื้อหา Sponsored contents จากสำนักข่าว Xinhua แลกกับเงินรายได้ Ads Revenue จากรัฐบาลจีน) ทั้งนี้ แม้ว่าตามสัดส่วนประชากรแล้ว ชาวอเมริกาเชื้อสายจีนจะมีเพียงประมาณ 5,000,000 คน แต่คนกลุ่มดังกล่าวอาศัยอยู่ในรัฐที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งอย่างแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก เมื่อรัฐบาลจีนสามารถควบคุม กำหนดความคิดเห็นของคนกลุ่มดังกล่าวผ่านสื่อ หรือกระบวนการคัดเลือก ส.ส. ในเขตนั้นๆ (primary elections) ได้โดยตรง ก็เท่ากับมีอำนาจเหนือเขตเลือกตั้งดังกล่าวไปได้อย่างง่ายดาย
ส่วนประเด็นที่ว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังนั้น ทาง FBI และ CIA ต่างก็ลงความคิดเห็นตรงกันว่า กลุ่มคนที่ถูกกล่าวถึงข้างต้นนี้มีองค์กรชื่อ United Front Work Department (UFWD) หน่วยงานระดับกระทรวงภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่อ้างว่ามีหน้าที่ดูแลกิจกรรมและความอยู่ดีมีสุขของชาวจีนโพ้นทะเลในทุกสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะนักธุรกิจ นักวิชาการ นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงพนักงานบริษัทเอกชนข้ามชาติ โดยจะทำงานร่วมกับสถานทูตจีนในต่างประเทศอย่างใกล้ชิด คล้ายเป็นแผนกพัฒนาสังคมแผนกหนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติแล้ว องค์กรดังกล่าวมีหน้าที่สอดส่อง ควบคุมพฤติกรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ผ่านสมาคมและชุมชนของชาวจีนโพ้นทะเลในแต่ละประเทศ เช่น สถาบันขงจื๊อ สมาคมนักศึกษา สมาคมนักธุรกิจ สมาคมนักวิชาการ สมาคมมิตรภาพ สมาคมวัฒนธรรม สมาคมอุตสาหกรรม สภาธุรกิจ และหอการค้า เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็มักมีบทบาทในการสร้างเครือข่ายผู้มีอิทธิพลชาวจีนโพ้นทะเล (agent of Chinese influence) ในหลากหลายสายงานจากสมาคมและชุมชนลักษณะดังกล่าว แล้วส่งคนเหล่านั้นไปตีสนิทกับผู้นำทางการเมือง ธุรกิจ และการสื่อสารในประเทศเป้าหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางและนโยบายของประเทศเป้าหมายให้เป็นไปในทางที่รัฐบาลจีนได้ประโยชน์ (Pro-China)
ยุทธศาสตร์บริจาคเงินซื้อใจพรรคการเมือง
เมื่อเทียบเคียงบทเรียนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศแล้วย้อนกลับมาพิจารณากรณีของไทย จะเห็นว่ามีรูปแบบและลักษณะที่ไม่แตกต่างกันเท่าใดนัก ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีนักธุรกิจจีนให้เงินสนับสนุนนักการเมือง และแทรกแซงนโยบายต่างประเทศให้เห็นอยู่เนืองๆ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในไทยก็มีกรณีการบริจาคเงินให้แก่พรรครัฐบาลเช่นกัน
คำถามที่ต้องพิจารณากันถัดไปคือ ไทยเป็นที่ตั้งและมีทำเลทางภูมิศาสตร์เป็นที่จับจ้องของเหล่าประเทศมหาอำนาจที่อยากเข้ามาขุดคุ้ยแย่งชิงผลประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น คอคอดกระ (Kra Isthmus) ที่รู้ทั้งรู้ว่าขุดไปอย่างไรก็ไม่น่าจะได้ประโยชน์คุ้มค่ากับทุนที่ละลายไป แต่ก็มีนักการเมืองบางกลุ่มยังคงดันทุรังที่จะรื้อฟื้นโครงการดังกล่าวและผลักดันเข้าสู่รัฐสภาให้เห็นอยู่ทุกๆ ปี
หากจะกล่าวว่าประเด็น ‘ทุนจีนสีเทา’ นี้ยังมีอีกหลายกลุ่มและหลายเครือข่ายที่ยังตรวจสอบไม่พบ หรือไม่ปรากฏเป็นข่าวอยู่มากมายก็คงจะไม่ใช่การกล่าวเกินจริงแต่อย่างใด หากไปค้นดูวาระ ญัตติ และรายละเอียดการประชุมของคณะกรรมาธิการของรัฐสภาชุดต่างๆ ที่เกี่ยวกับจีน และสืบค้นถึงโครงการใดๆ ก็ตามที่หากดำเนินการสำเร็จแล้ว ผู้ได้รับประโยชน์มักจะเป็นรัฐบาลจีนมากกว่าประเทศไทย แล้วนำมาปะติดปะต่อกัน อาจจะช่วยให้เห็นภาพได้ชัดขึ้นว่ามี ‘ใคร’ ‘กลุ่มใด’ หรือ ‘พรรคใด’ ที่มีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงไปถึงรัฐบาลจีนและเครือข่ายทุนจีนสีเทาอีกบ้าง
แต่หากย้อนถามใครบางคนก็อาจได้คำตอบเพียงว่า “ไม่รู้ ไม่รู้ จะไปรู้ได้อย่างไร?”