สิ้นเจ้านางสีป้อ สิ้นแสงฉาน ประวัติศาสตร์ที่ถูกเซ็นเซอร์ตลอดกาล

6 กุมภาพันธ์ 2023 สำนักข่าว shannews รายงานว่า เจ้านางสีป้อ มหาเทวีองค์สุดท้ายแห่งรัฐฉานหรือไทใหญ่ ‘เสี้ยงก่ามนอนแพ’ หรือ ‘เสี้ยงกรรมนอนแพ’ ภาษาไทใหญ่แปลว่า ‘ถึงแก่พิราลัย’ ในวัย 90 ปี (ในการนี้ ชาวไทใหญ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้กำหนดจัดพิธีบำเพ็ญอุทิศส่วนกุศล ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2023 ณ วัดป่าเป้า อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่)

รัฐบาลทหารพม่า (เมียนมา) ตั้งแต่สมัยนายพลเน วิน เห็นว่าเรื่องเจ้าฟ้า เจ้านางแห่งรัฐฉาน ไม่ควรกล่าวถึงในบรรณพิภพพม่า ระบอบทหารสั่งห้ามการอภิปรายในที่สาธารณะเกี่ยวกับเรื่องราวของเจ้าฟ้าองค์สุดท้ายแห่งสีป้อ ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการลบเจ้าฟ้าสีป้อออกจากประวัติศาสตร์ของรัฐในอดีต และคนหนุ่มสาวจำนวนมากได้รับรู้เพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สีป้อในช่วงทศวรรษ 1960

บ่อยครั้งเราพบว่าสิ่งที่ตกหายไปในบรรณพิภพพม่า คือ การหยิบเอาประเด็นชาติพันธุ์มาพูด มีศิลปินจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศตัวเอง และบ่อยครั้งทีเดียวที่พวกเขาสร้างความสงบสุขในผลงานของพวกเขาซึ่งเป็นเพียงความคิดนามธรรมที่ถูกลบล้างออกไปจากความเป็นจริงในสังคมอย่างสิ้นเชิง ความสงบสุขของพวกเขาเป็นเหมือนแฟนตาซีในอุดมคติ

เป็นที่ทราบกันดีว่า แนวคิดชาตินิยมหัวรุนแรงฝังรากลึกในรัฐบาลและระบบราชการมานานหลายทศวรรษ ย้อนกลับไปในยุคอาณานิคมที่ผู้นำพยายามรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียวโดยใช้อัตลักษณ์หลักเป็นแกนอ้างอิงคือ เชื้อชาติ ศาสนา และสัญชาติ ส่งผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรัฐบาลของ เตง เส่ง มีการห้ามแต่งงานนอกศาสนา ตลอดจนมีคำพูดที่แสดงความเกลียดชังมากมายในชีวิตประจำวัน 

การตอบสนองอย่างเป็นทางการของรัฐบาลทหารพม่า สะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกในพม่าและข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กองทัพบังคับให้ยอมรับว่า พวกเขามีความสำคัญเหนือประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ จนเพิกเฉยและมองข้ามประเด็นสิทธิมนุษยชนที่กำลังดำเนินอยู่

เจ้าฟ้าและเจ้านางสีป้อ ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม

การรัฐประหารในปี 1962 โดยนายพลเน วิน ปิดฉากยุคเจ้าฟ้าและมหาเทวีในรัฐฉาน แทนที่ด้วยการปกครองโดยเผด็จการทหารพม่าเป็นเวลาหลายทศวรรษ เช่นเดียวกับเจ้าฟ้าในราชวงศ์ฉานหลายพระองค์ เจ้าจ่าแสง เจ้าฟ้าแห่งสีป้อ ในรัฐฉานทางตอนเหนือ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไป มีข่าวว่าเจ้าฟ้าถูกจับกุมที่จุดตรวจของค่ายทหารใกล้เมืองตองจีในรัฐฉานใต้ และหลังจากนั้นไม่เคยมีใครได้พบเห็นเจ้าจ่าแสงอีกเลย บันทึกสุดท้ายของเขา คือ จดหมายลงนาม ที่ลักลอบส่งถึงเจ้านางสุจันที มหาเทวีของเขา ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกักขังและการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมโดยกองทัพพม่า 

แสงสุดท้ายของประวัติศาสตร์สีป้อถูกทำให้เป็นอมตะ โดย เจ้านางสุจันที หรือ อิงเก้ อีเบอร์ฮาร์ด (Inge Eberhard) ผ่านหนังสือ Twilight Over Burma ตีพิมพ์ในปี 1994 อีเบอร์ฮาร์ดเป็นชาวออสเตรีย เธอได้พบและแต่งงานกับเจ้าจ่าแสงในขณะที่ทั้งคู่ยังศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา หลังจากการหายตัวไปของเจ้าจ่าแสง เธอถูกสั่งกักบริเวณในบ้าน ก่อนจะหลบหนีออกจากพม่าพร้อมกับลูกสาว 2 คนของเธอในปี 1964

หลังจากนั้น เธอและลูกได้เขียนจดหมายถึงรัฐบาลพม่าทุกปี เพื่อทวงถามและขอให้อธิบายเกี่ยวกับการหายตัวไปของเจ้าจ่าแสง แต่พวกเขาไม่เคยได้รับการตอบสนองใดๆ จากรัฐบาลพม่า 

ปี 1996 อีเบอร์ฮาร์ดไปพบ ขิ่น เหม่ ตัน ภริยาของนายพลเน วิน ที่ออสเตรีย ขณะที่นายพลเน วิน กำลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชและประสาทแห่งมหาวิทยาลัยเวียนนา มีข่าวว่าเขาป่วยเป็นโรคโบโพลาร์ เธอต้องการได้ยินคำตอบเป็นการส่วนตัวจากนายพลเน วิน ทว่านายพลไม่กล้าเผชิญหน้ากับหญิงสาวชาวออสเตรียที่กำลังโกรธแค้น ได้แต่ถามหาถึงความปลอดภัยของประตูห้องพักและเหล่าบอดี้การ์ดติดอาวุธ

ศาสตราจารย์ฮานส์ ฮอฟฟ์ (Hans Hoff) แพทย์ที่รักษานายพลเน วิน เขียนจดหมายถึงอีเบอร์ฮาร์ด ระบุว่าเจ้าจ่าแสงถูกคุมขังในค่ายทหาร นายพลเน วิน บอกกับศาสตราจารย์ฮอฟฟ์ว่า เจ้าฟ้าสบายดี ทั้งร่างกายและจิตใจ

ในวันเดียวกันนั้น อีเบอร์ฮาร์ดได้รับจดหมายจากกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า รัฐบาลพม่าไม่เคยควบคุมตัวเจ้าจ่าแสง นายพลเน วิน กำลังหลอกลวงจิตแพทย์ด้วยเหตุผลบางอย่างหรือไม่

ไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่กับเจ้าจ่าแสง ทฤษฎีหนึ่งระบุว่าเจ้าจ่าแสงเสียชีวิตระหว่างการสอบปากคำในค่ายทหารพม่า ขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเขาถูกยิง โดยกองทัพพม่า ขณะพยายามหลบหนี 

เรื่องราวของเจ้าจ่าแสงและอิงเก้ อีเบอร์ฮาร์ด ใน Twilight Over Burma ถูกนำมาดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ เมื่อปี 2016 คณะกรรมการเซ็นเซอร์แห่งชาติและตัวแทนกองทัพพม่า มองว่าเรื่องนี้เป็น “ภัยคุกคามต่อความปรองดองในชาติ” จึงสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในพม่า พวกเขามองว่า “[มัน] อาจสร้างความเสียหายต่อเอกภาพทางชาติพันธุ์ของรัฐ” 

ไม่เพียงแต่ในพม่าเท่านั้น ในประเทศไทยเองก็สั่งห้ามฉายเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลประยุทธ์ 1 โดยเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน ประเด็นเกี่ยวข้องกับทหารยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวและถูกจำกัดไม่เว้นแม้แต่ในงานศิลปะ

มีคำสองคำที่แสดงเหตุผลของการเซ็นเซอร์ประวัติศาสตร์สีป้อ คือ ‘เอกภาพทางชาติพันธุ์’ และ ‘การปรองดอง’ คำเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนชาติพันธุ์ในพม่าคุ้นเคยกับรูปแบบการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันทางวัฒนธรรมและการเมืองของพม่ามานานหลายทศวรรษ โดยการปกครองแบบรวมศูนย์ อันที่จริง คำว่า ‘การปรองดอง’ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของศัพท์ทางการของกองทัพเลย นายพลเลือกที่จะ ‘รวมชาติใหม่’ ความหมายโดยนัย คือ การกดขี่ด้วยกำลังหรืออย่างอื่น ซึ่งเป็นความคิดที่ยังคงดำเนินเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้

โศกนาฏกรรมและการลอยนวลพ้นผิด

กว่าครึ่งศตวรรษแล้วนับตั้งแต่การหายตัวไปของเจ้าจ่าแสง และมีแนวโน้มว่าจะถูกฆาตกรรม แต่เรื่องราวต่างๆ อย่างเช่น Twilight Over Burma ยังคงเป็นปริศนาสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยังคงเผชิญกับการกระทำที่เกินเลยของกองทัพพม่าที่ไม่สำนึกผิด ในระดับประชาชน โศกนาฏกรรมเหล่านี้ขยายเป็นร้อยเท่าพันเท่า ผู้กระทำผิดไม่ต้องเผชิญกับกระบวนการยุติธรรม พวกเขาคงต้องขอบคุณรัฐธรรมนูญปี 2008 ที่กองทัพพม่าร่างขึ้นกระมัง

“เจ้าจ่าแสงเป็นชาวพุทธที่ดีเสมอมา” อีเบอร์ฮาร์ดเล่า “ฉันสนใจเรื่องลึกลับ หมอดู และโหราศาสตร์มากกว่าเขา … ตอนนี้ฉันพยายามที่จะเป็นชาวพุทธที่ดี ฉันสามารถปล่อยวางอดีตได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ฉันไม่มีวันให้อภัยได้ คือ เน วิน และคนขี้ขลาด ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ก็ยังกลัวเกินกว่าจะยอมรับในสิ่งที่พวกเขาทำ … บรรดานายพลเชื่อว่าแค่สร้างเจดีย์และบริจาคให้วัดก็ช่วยลบล้างอาชญากรได้ แต่เปล่าเลย [จนกว่าพวกเขาจะยอมรับและชดใช้] ฉันไม่สามารถให้อภัยพวกเขาได้”

ครั้งหนึ่ง เธอเคยคิดว่า “without closure, she is far from alone” หากคดีเจ้าจ่าแสงไม่สิ้นสุดลง เธอมิอาจอยู่อย่างสงบตามลำพังได้ 

ความเงียบงันไม่ใช่การปรองดอง แต่เป็นความล้มเหลวที่ได้รับการพิสูจน์จากกาลเวลา ซึ่งนำพาประเทศพม่าไปสู่วงจรอันตรายของความเกลียดชังและความรุนแรง อย่างเช่นสุภาษิตฉานที่กล่าวว่า ‘ถูพื้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่คิดที่จะซ่อมแซมหลังคาที่รั่ว’

Author

วทัญญู ฟักทอง
มีชื่อพม่าว่า Htay Win เป็น Burmese language lecturer

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า