ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วย วัดใจรัฐบาลคืนความสุข

รูปผู้เสียหาย

 

กว่า 10 ปีมาแล้วที่เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์รวมตัวกันเรียกร้องและผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … ผ่านรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า ล้มลุกคลุกคลานนับครั้งไม่ถ้วน แต่ท้ายที่สุดก็ฝันสลายด้วยสาเหตุนานัปการ บ้างเกิดจากการยุบสภา บ้างถูกเตะตัดขาจากมือที่มองไม่เห็น เกิดความขัดแย้งกับแพทยสภาและแพทย์บางกลุ่ม หรือแม้แต่การดึงเกมยืดเยื้อของผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายและกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่งผลให้ร่างกฎหมายที่มีการเสนอขึ้นมาทั้งสิ้น 13 ฉบับ ล้วนถูกตีตกไป

จนถึง พ.ศ.ปัจจุบัน เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้ออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรมรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวจำนวน 20,000 รายชื่อ ผ่านทางเว็บไซต์ www.change.org/injuryact เป้าหมายสำคัญคือการผลักดันให้ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มีผลบังคับใช้ในเร็ววัน

injuryact-1ผลจากการรณรงค์ผ่านเครือข่ายโซเชียลเน็ตเวิร์ค ปรากฏว่ามีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนอย่างล้นหลามภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ด้วยเจตนารมณ์เดียวกันว่า เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ลดความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหมอกับคนไข้ สร้างกลไกการเยียวยาผู้ประสบชะตากรรมด้วยความยุติธรรมและรวดเร็ว

ดังความเห็นของประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน อาทิ

“ไม่ได้หาคนผิด แต่เพื่อหาทางป้องกัน”

“หากความผิดพลาดที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ การดูแลผู้เสียหาย เป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างที่สุด”

“เพื่อให้รัฐคุ้มครองคนไข้ สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างฝ่ายคนไข้และแพทย์ โดยยึดหลักความถูกต้อง และหลักมนุษยธรรม”

“เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เพราะไม่มีใครต้องการให้เกิดให้เกิดเรื่อง มีแต่สูญเสียทั้งสองฝ่าย”

ฯลฯ

 

 

injuryact-4

+ 20,000 รายชื่อ ถึงมือ รมว.สาธารณสุข

2 ตุลาคม 2557 ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมด้วยตัวแทนเครือข่าย รวบรวมรายชื่อประชาชนกว่า 20,000 รายชื่อ เข้ายื่นต่อ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวและผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป ตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ได้ประกาศวาทกรรมคืนความสุขให้แก่ประชาชน

ขณะที่ นพ.รัชตะ กล่าวยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมรับเรื่องไปดำเนินการ โดยจะเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ จากนั้นเมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีทันที

“ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … อยู่ในแผนพัฒนากฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยได้ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ฉบับนี้ด้วย” (สำนักโฆษก ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th 2 ตุลาคม 2557)

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมคณะทำงานเพื่อหารือข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะนำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มาหารือด้วย หากได้ข้อสรุปในการดำเนินการจะแจ้งให้ทราบความคืบหน้าต่อไป

ภายหลังเข้ายื่นหนังสือต่อ รมว.สาธารณสุข ปรียนันท์ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ มีความสำคัญต่อคนไทยทุกคน เนื่องจากทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วย และการรักษาทางการแพทย์ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ความผิดพลาดเป็นของคู่กันกับมนุษย์ แม้ระมัดระวังแล้วก็เกิดขึ้นได้ แต่ทุกชีวิตที่ต้องตายและพิการโดยไม่สมควรแก่เหตุ จึงควรได้รับการเยียวยาอย่างทันท่วงที ไม่ควรปล่อยให้ญาติหรือผู้เสียหายไปฟ้องร้องกันเอาเอง เพราะนอกจากจะเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกันและคนไข้ยังตกเป็นฝ่ายแพ้คดีเป็นส่วนใหญ่แล้ว ยังทำให้บุคคลากรทางการแพทย์ที่ดีต้องเสียขวัญและกำลังใจในการทำงานอีกด้วย

“ที่ผ่านมาคนไข้ไปทางไหนก็เจอแต่ทางตัน ร่างกฎหมายฉบับนี้จะช่วยปลดล็อคความทุกข์นี้ได้ โดยมีสาระสำคัญคือ มีกองทุนชดเชยความเสียหายที่รวดเร็วและเป็นธรรม โดยใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี มีคณะกรรมการกลางขึ้นมาพิจารณาและนำข้อผิดพลาดต่าง ๆ ไปเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันเหตุซ้ำ กระบวนการนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุจนถึงปลายเหตุ ซึ่งเป็นผลดีกับทุกฝ่าย การฟ้องร้องจะน้อยลง เพราะมีการเยียวยาทันท่วงที ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ก็จะกลับมาดีเหมือนเดิม”

จากคำยืนยันของ รมว.สาธารณสุข ที่ให้คำมั่นว่าจะพิจารณาเรื่องนี้โดยเร็ว ทำให้ปรียนันท์และเครือข่ายผู้เสียหายฯ รู้สึกมีความหวังมากกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา และหวังว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะได้รับการผลักดันด้วยความจริงใจ

 

injuryact-2

+ กว่า 10 ปี บนเส้นทางการต่อสู้

ในฐานะผู้เคยประสบเคราะห์กรรมครั้งร้ายแรงในชีวิต จากความผิดพลาดทางการแพทย์ที่ทำให้บุตรชายของเธอเกิดอาการแขนขาข้างซ้ายไม่สมบูรณ์หลังคลอดเพียงไม่กี่วัน จนส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต เป็นเหตุให้ปรียนันท์ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมเป็นระยะเวลา 23 ปี แม้จนถึงวันนี้เธอก็ยังสู้ต่อ เพื่อจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับเหยื่อรายอื่นต่อไป

ปรียนันท์ลำดับเหตุการณ์ให้ฟังว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … เกิดขึ้นจากการเรียกร้องของกลุ่มคนไข้ที่รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2545 เพื่อขอให้มีกองทุนชดเชยความเสียหายจากการรักษาที่ผิดพลาด เนื่องจากไม่มีคนไข้รายใดต้องการฟ้องร้องดำเนินคดี เพราะนอกจากต้องสูญเสียทั้งเงินทองและระยะเวลาที่ยาวนานนับ 10-20 ปีแล้ว ยังเป็นการต่อสู้ที่ไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้งคนไข้ก็มักเป็นฝ่ายแพ้คดีเป็นส่วนใหญ่ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลในเวชระเบียนการรักษา ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการพิสูจน์ความเสียหาย

วิกฤติความขัดแย้งระหว่างหมอกับคนไข้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในภาวะการณ์ที่บริการด้านสาธารณสุขถูกแปรสภาพไปเป็น ‘ธุรกิจการแพทย์-แพทย์พาณิชย์’ มากขึ้น จากความสัมพันธ์ที่คนไข้เคยไว้เนื้อเชื่อใจ กลายเป็นความคลางแคลงใจ และลดระดับลงมาเป็น ‘ผู้ให้บริการ’ กับ ‘ลูกค้า’ ขณะเดียวกัน ประชาชนเองก็เริ่มรู้เท่าทันถึง ‘สิทธิ’ ของตนเองมากขึ้น จึงไม่ยอมตกเป็นฝ่ายถูกกระทำอีกต่อไป

สถิติการร้องเรียนของประชาชนไปยังแพทยสภาและข้อพิพาทระหว่างหมอกับคนไข้ มีแนวโน้มที่จะขัดแย้งกันมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่มีกระบวนการเยียวยาผู้เสียหาย หลายกรณีจึงนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลจำนวนมาก

ช่วงปี 2545-2549 เกิดคดีความที่คนไข้ฟ้องหมอเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคดีคนไข้ถูกยิงเสียชีวิต เกิดกรณีหมอติดคุกโดยไม่รอลงอาญา และเกิดกรณีคนไข้ติดคุกเพราะนำเวชระเบียนออกนอกเขตโรงพยาบาล ฯลฯ ท่ามกลางคดีความที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ก็ร้าวลึกลงไปอย่างน่าหวาดหวั่น

บทเรียนที่ผ่านมาทำให้หลายฝ่ายต้องหันกลับมาทบทวนเพื่อแก้ไขสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าว จนกระทั่งนำมาสู่การยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. … ครั้งแรกในสมัย นพ.มงคล ณ สงขลา รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ปี 2549 ภายใต้เจตนารมณ์สำคัญเพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ โดยมีหลักการสำคัญ 3 ประการคือ

  1. ตั้งกองทุนชดเชยความเสียหาย
  2. ตั้งคณะกรรมการกลางพิจารณาการชดเชยที่เป็นธรรมและรวดเร็ว (ภายในไม่เกิน 1 ปี)
  3. นำความผิดพลาดไปพัฒนาระบบป้องกันความเสียหาย (ป้องกันที่ต้นเหตุ)

อย่างไรก็ดี ปรียนันท์เล่าว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้จะถูกนำเข้าไปเป็นวาระเพื่อการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ทั้งในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย แต่ท้ายที่สุดกลับไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องจากทั้งสองรัฐบาลไม่สามารถฝ่าด่านการต่อต้านของกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ได้

“ฝ่ายที่คัดค้านเรื่องนี้มาตลอดคือ แพทยสภา โดยเห็นว่าควรให้คนไข้ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเอาเอง เช่นเดียวกับแพทย์บางกลุ่มก็ออกมาแต่งชุดดำประท้วง ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ไม่มีใครกล้าแตะเรื่องนี้ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน” ปรียนันท์ กล่าว

 

injuryact-3

+ สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ

ร่าง พ.ร.บ. ทุกฉบับที่ถูกเสนอขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นร่างฉบับเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ฉบับภาคประชาชน ฉบับคุณหมอ ฉบับรัฐบาล ตั้งแต่ยุค คมช. ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ล้วนถูกเตะถ่วงและตีตกไปในที่สุด

จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยมีคณะกรรมปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เป็นผู้ยกร่างเมื่อต้นปี 2557

“เชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ เป็นร่างที่สมบูรณ์ที่สุด และจะช่วยลดความเห็นต่างของทุกฝ่ายมากที่สุด ซึ่งในรายชื่อผู้ร่วมสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็มีแพทย์มาร่วมลงชื่อเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นประโยชน์ต่อตัวแพทย์เอง และสะท้อนได้ว่าแพทย์มีทัศนคติที่ดีขึ้น ยกเว้นว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะออกมาสกัดกั้นด้วยกลวิธีแบบเดิมๆ ซึ่งอาจทำให้การประชุมร่วมของทุกภาคส่วนล่มลงอีก” ปรียนันท์ กล่าว

หลักใหญ่ใจความของร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่ปรียนันท์เชื่อว่ามีความยืดหยุ่นต่อทุกฝ่ายมากที่สุด คือ ให้ความคุ้มครองครอบคลุมผู้ป่วยในทุกสิทธิประโยชน์ ได้แก่ กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการ ยกเว้นโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดให้เข้าร่วมแบบ ‘ภาคสมัครใจ’ ซึ่งแตกต่างจากร่างกฎหมายฉบับเดิมที่บังคับใช้กับโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน ซึ่งกรณีนี้ทำให้กระทบต่อธุรกิจการขายประกันของโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงมีบางประเด็นที่ทำให้ทำให้แพทย์บางกลุ่มออกมาต่อต้าน เพราะมีความกังวลเรื่องการถูกฟ้องร้อง

ทั้งนี้ สาระสำคัญที่บรรจุอยู่ในร่าง พ.ร.บ.เกือบทุกฉบับที่ผ่านมา ล้วนมีเจตนารมณ์ในทิศทางเดียวกันคือ มุ่งสร้างความเป็นธรรมต่อผู้เสียหาย มีกลไกเยียวยาอย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการในระบบบริการสาธารณสุข ลดการฟ้องร้องของผู้ป่วยต่อแพทย์และสถานพยาบาล และประการสำคัญคือ การชดเชยให้กับผู้ได้รับความเสียหายโดย ‘ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ความรับผิด’ ภายใต้กรอบวงเงินการชดเชยตามระดับของความเสียหาย สอดคล้องตามหลักการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ปรียนันท์ตั้งความหวังไว้ว่า หากรัฐบาลและ รมว.สาธารณสุขคนปัจจุบัน มีความกล้าหาญ โดยยึดเอาประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ คาดว่าจะสามารถพิจารณาเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือนนับจากนี้

“ความยุติธรรมในการชดเชยความเสียหายให้กับผู้ป่วยนี้ แม้จะไม่คุ้มค่ากับชีวิตที่เสียไป หรือความพิการที่เกิดขึ้น แต่ก็สามารถเยียวยาจิตใจคนไข้ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งจะสามารถลดการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ได้ กฎหมายนี้จึงเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศ” เธอบอก

10 ปีมาแล้วที่ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เปรียบเหมือนเผือกร้อนที่ทุกรัฐบาลไม่อยากจับต้อง มาถึงวันนี้จึงถือเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งถึงความจริงใจของรัฐบาลยุค คสช. ที่ว่า “เราจะทำตามสัญญา” และจะสามารถคืนความสุขให้ประชาชนอย่างที่กล่าวอ้างได้จริงหรือไม่

 

ข้อมูลและภาพประกอบ

change.org/injuryact

thai-medical-error.blogspot.com

facebook.com/preeyanan.lorsermvattana

logo

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า