“ในวันที่โลกหมุนมาไกลกว่ายุคของเจ้าชายสิทธัตถะ พวกเราในฐานะของมนุษย์ที่เกิดทีหลัง เราต้องไปให้ไกลกว่าอดีตอยู่แล้ว ฉะนั้น เราเคารพสิ่งเดิมได้ แต่เราต้องเคารพชีวิตตัวเองด้วย เราต้องเคารพชีวิตของคนที่จะเกิดในอีก 50 ปีข้างหน้าด้วย”
และอาจเป็นเพราะเหตุนั้น ซีรีส์ ‘อนาฅต’ ตอน ศาสดาต้า จึงมาถึง
‘อนาฅต’ ซีรีส์เกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ อันว่าด้วยเรื่องที่ใกล้ตัว เรื่องการจัดวางเทคโนโลยีไว้กับปัญหาเบสิกของการใช้ชีวิต ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิทธิ หรือกระทั่งเรื่องศีลธรรม ถูกหยิบยกมาเล่าด้วยมุมมองใหม่ หีบห่อด้วยพล็อตไซไฟล้ำยุค ฉายภาพความน่าจะเป็นของการเผชิญหน้ากันระหว่างเทคโนโลยีและความเชื่อแบบไทยๆ
WAY มีโอกาสได้พูดคุยกับ เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ นักแสดงนำผู้รับบทเป็น ‘นีโอ’ จากตอน ศาสดาต้า ตอนหนึ่งในซีรีส์อนาฅตที่เล่าเรื่อง ‘พระพุทธ พระธรรม พระเทค’ สภาพการณ์คือการที่ปัญญาประดิษฐ์ได้เข้ามาปฏิวัติระบบศาสนา คัดง้างกับวิถีพุทธดั้งเดิม ภายใต้ความเชื่อของ tech guy อย่างนีโอว่าทำบุญชาตินี้ ต้องได้ใช้ชาตินี้ และการสะสมแต้มบุญจะไม่ใช่แค่เรื่องติดตลกอีกต่อไป
เอมเล่าอย่างเป็นกันเองว่าการปฏิวัติระบบศาสนาของนีโอ ไม่ได้ทำเพราะอยากจะเห็นศาสนาที่ดีกว่าเดิม หรือว่าอยากจะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะภูมิใจ แต่เป็นความสะใจเสียมากกว่า นี่คือหนึ่งในเหตุผลที่นำพาให้บทสนทนาเขยื้อนจากเรื่องราวของซีรีส์ ไปสู่การสำรวจตัวตนและทัศนะที่มีต่อศาสนาของเอม
ทำไมเอมถึงตัดสินใจรับเล่นซีรีส์เรื่องอนาฅต ซีรีส์เรื่องนี้มีความน่าสนใจอย่างไร
ผมมีความสนใจในประเด็นวิทยาศาสตร์และพุทธศาสนาอยู่แล้ว ยิ่งพอรู้ว่าซีรีส์เรื่องนี้อยู่ในมือของทีมงานที่เขารู้ว่าเขาอยากจะทำอะไร ไม่มีเหตุผลอะไรที่ผมจะไม่รับเลย ต้องขอบคุณด้วยซ้ำที่เขามองเห็นเราในตัวละครนีโอ และอยากให้เราเข้ามาร่วมโปรเจกต์อนาฅต รู้สึกว่า โอ้ เป็นพระคุณมากกว่า
ตอนเห็นบทครั้งแรกรู้สึกอย่างไร
ตอนเห็นบทครั้งแรกผมก็ยังมองไม่เห็นภาพว่าเรื่องราวในซีรีส์จะเป็นโลกแบบไหน พอเป็นตัวอักษรความเป็นไปได้มันมีเยอะมาก แต่พอได้คุยกับพี่กอล์ฟ (ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับซีรีส์อนาฅต) เราก็เห็นภาพว่าโฮโลแกรมจะเป็นแบบไหน ออฟฟิศของนีโอจะเป็นแบบนี้ ตัวละครแต่งตัวแบบนี้ ทำให้เห็นภาพรวมของซีรีส์ชัดขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าบทหนังกับตอนถ่ายทำออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวมันแตกต่างกันอยู่แล้วครับ
การที่เราอ่านบทแล้วเป็นแบบหนึ่ง แต่พอไปถ่ายจริง เล่นจริง เรากลับค้นพบตัวละครไปพร้อมๆ กับการเดินทางของตัวเอง ผมรู้สึกว่านี่เป็นอีกเสน่ห์หนึ่งของอาชีพนักแสดงที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจากไอเดียแรกกับตอนที่เสร็จแล้วมันแตกต่างกันขนาดไหน ผมมีความสุขเสมอที่ได้เห็นกระบวนการนี้
หากภาพยนตร์หรือซีรีส์เป็นภาพสะท้อนสังคม การเกิดขึ้นของซีรีส์เรื่องอนาฅต บอกอะไรกับคนดูบ้าง
ผมคิดว่างานที่ถูกผลิตออกมาจากคน ก็คือสิ่งที่อ้างอิงมาจากสังคมที่เขาอยู่ บางทีสังคมนั้นแหละเป็นผู้กำกับหนังเอง เป็นสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนั้นๆ เกิดขึ้น เหมือนกับที่ใบไม้มันสะท้อนคุณภาพของดิน ว่าดินนี้เปรี้ยว เค็ม หรือเคมีเป็นอย่างไร ผมรู้สึกว่ามันแยกขาดจากกันไม่ได้อยู่แล้ว
ตัวซีรีส์เรื่องอนาฅตเองก็พูดเรื่องที่เบสิกมากๆ เลย หากว่าเราตัดเรื่องไซไฟ เรื่องความล้ำยุค เรื่องอนาคตทิ้งไป สุดท้ายมันก็คือเรื่องราวดรามาของมนุษย์ เรื่องเล่ามันมีไม่กี่แบบในโลก มันถูกใช้วนไปเรื่อยๆ สิ่งที่เปลี่ยนคือเปลือกนอก หรือท่าที น้ำเสียงในการเล่าเท่านั้นเอง สุดท้ายแก่นเรื่องจริงๆ ก็ยังเป็นเรื่องเดิม เรื่องความเหลื่อมล้ำ ภาวะโลกร้อน นิยามความเป็นความตาย ความรัก หรือว่าศาสนา ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่สิ่งที่ใหม่คือ context ที่เปลี่ยนไป
อย่างเช่นตอน ศาสดาต้า ที่ผมแสดง สุดท้ายก็พูดถึงเรื่องความจำเป็นของศาสนาต่อชีวิตประจำวันของเรา ผมมองว่าศาสนาก็เป็นเหมือนเทคโนโลยีหนึ่งที่เคยฟังก์ชันเมื่อประมาณ 2,000 กว่าปีที่แล้ว การที่เรา preserved (เก็บรักษา) สิ่งที่เคยเวิร์กเมื่อหลายพันปีก่อน พยายามจะให้มันเวิร์กให้ได้ในปัจจุบัน มันคือความคิดที่ถูกหรือเปล่า หรือว่าเราควรจะเปลี่ยนสักนิดหนึ่ง เหมือนกับต้นไม้ที่ถ้ามันสูงใหญ่เกินไปหรือถ้ามันไม่แข็งแกร่งพอ ไม่สามารถลู่ลมได้ มันอาจจะล้มไปเลย เราก็ต้องตัดแต่งกิ่งใบให้มันยังทนพายุต่อไปได้ แต่เราจะตัดแต่งแค่ไหนมันถึงจะยังคงเป็นมันอยู่ ถ้าตัดไปสัก 60 เปอร์เซ็นต์ จนแหว่งไปฝั่งหนึ่ง มันจะยังเป็นต้นไม้ต้นเดิมอยู่หรือเปล่า ก็เป็นคำถามที่ซีรีส์ตอน ศาสดาต้า โยนให้กับคนดู
ตอนอื่นๆ ในเรื่องก็เช่นกัน มันเป็นงานที่พูดถึงสภาวะความเป็นอยู่ของมนุษย์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเล่าถึงยุคสมัยไหนหรือมีเซ็ตติงแบบไหน บนดาวดวงไหน ก็คงไม่พ้นเรื่องปัญหาสังคมหรือสิ่งที่เราเจอในทุกวัน
พี่กอล์ฟผู้กำกับเขาเหมือนจะใช้ความล้ำยุค ล้ำสมัย เป็นเครื่องมือในการจะพูดถึงสิ่งที่เขาต้องการสื่อสาร เขาใช้ spectacle (ภาพตื่นตา) ในการที่จะพูดถึงประเด็นที่หนัก เพื่อย่อยให้คนเข้าใจได้ง่ายขึ้น
พอคนไทยคิดจะทำหนังไซไฟมักจะโดนตั้งแง่ก่อนเสมอ เอมคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
ผมว่าผมเข้าใจพวกเขานะ ก่อนหน้านี้ผมก็เคยคิดว่าคนไทยเป็นอะไรกับคำว่าไซไฟหรือคำว่าเทคโนโลยีนะ พอบอกว่าเป็นหนังไซไฟไทย พวกเขาจะบอก โอ๊ย ไม่ดูหรอก สำหรับผมพอได้ยินแบบนี้มันก็น่าหงุดหงิดครับ
แต่ถ้าเราพยายามทำความเข้าใจเสียงเหล่านั้นจริงๆ ผมกลับเข้าใจเขามากๆ เลย ผมรู้สึกว่าการที่วิทยาศาสตร์เป็นของแสลงสำหรับคนไทย เป็นเพราะว่าพวกเราถูกผูกขาดทางจินตนาการตั้งแต่ระบบการศึกษาแล้ว ความเป็นไซไฟไม่เคยอยู่ในความคิดของเราเลย ไม่เคยมีหนังสือไซไฟ ไม่เคยมีเรื่องเล่าไซไฟเลย เราถูกเอาคำว่าวิทยาศาสตร์ออกไปจากชีวิตมานานมากแล้ว เรามีคลังประสบการณ์ของคำว่าวิทยาศาสตร์น้อยมากๆ ในชีวิตประจำวัน
การศึกษาไม่เคยสอนให้เราคิดและจินตนาการ มันสอนให้เราท่องจำและห้ามออกนอกกรอบ เราก็เลยไม่คุ้นชินกับคำถามว่า “มันจะเกิดอะไรขึ้น ถ้า…” จินตนาการของเราถูกทำให้จบสิ้น โดยที่เรายังไม่ทันได้เริ่มคิดกับมันด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะถูกจบสิ้นโดยครู ผู้ปกครอง เจ้านาย หรือนายทุน เราไม่เคยถูกทำให้เป็นมิตรกับจินตนาการ ซึ่งมันคือส่วนสำคัญของหนังไซไฟ หนังไซไฟมันไม่ใช่การที่มีไทม์แมชชีน ไม่ใช่การที่มีปืนเลเซอร์ แต่มันคือเรื่องราวที่ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่อาจจะเป็นไปได้ ถ้าเราจินตนาการมันได้ทั่วถึงมากพอและมีทฤษฎีบางอย่างรองรับ
4 เรื่องที่อยู่ในโปรเจกต์ ‘อนาฅต’ เป็น 4 เรื่องที่ผมรู้สึกว่า พอดูไปมันแทบไม่มีช่องโหว่อะไรให้ยิงร่วงเลย ทุกอย่างมันมีงานวิจัยรองรับหมด อย่างตอนของผมมันแทบจะเป็นสิ่งที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้แล้ว ผมใช้เวลาออกกองมาประมาณ 2 ปีกว่าๆ ตอนนั้นเทคโนโลยียังไม่ได้มาไกลถึงจุดนี้ ในตอนนั้นผมเพียงแค่ได้คุยกับแชตบอตบางตัวที่เก่งกาจมากๆ แล้ว แต่ทุกวันนี้มันไปไกลกว่านั้นอีก ผมว่าตอน ศาสดาต้า มันอาจกลายเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้วก็ได้ ในแง่ของการเป็นซีรีส์ที่เกี่ยวกับอนาคต
ผมเคยถามหนึ่งในครีเอเตอร์ของเรื่องนี้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่นิยามคำว่าหนังไซไฟ เขาให้คำตอบที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่า ถ้าหากเป็นเรื่องที่ทำให้คนดูได้ฉุกคิดหรือตั้งคำถามอะไรบางอย่างได้ สำหรับเขามันคืองานไซไฟแล้ว ไม่ว่ามันจะมีอะไรล้ำยุคหรือไม่ก็ตาม อะไรก็ตามที่ทำให้เราอยากจะตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐานเพื่อหาคำตอบ มันก็คือวิธีการคิดทางวิทยาศาสตร์แล้ว แค่นั้นก็เพียงพอสำหรับการจำกัดความคำว่า หนังไซไฟ แล้ว
การรับบทเป็น tech guy โดยมีจุดขายเกี่ยวกับประเด็นทางพุทธศาสนา สร้างความท้าทายในฐานะนักแสดงของเอมอย่างไรบ้าง
ส่วนตัวผมสนใจในเรื่องของพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว มันก็เลยเป็น material ที่เราสามารถกลับไปดูแล้วหยิบบางอย่างมาใช้ได้เลย ผมอยากเล่นเป็น Buddha มานานแล้ว อยากลองดูว่าจะเป็นยังไง แล้วนีโอมันก็เป็นคนที่ ‘เบียว’ พระพุทธศาสนามากๆ แต่เบียวในทางที่มันแย่ที่สุดนะ ผมเลยประกอบสร้างตัวละครนีโอขึ้นมาจากการเป็น Buddha ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นนักการเมือง ผสมกัน
เรารักอาชีพนักแสดงเพราะแบบนี้ มันทำให้เราได้ใช้จินตนาการในการสร้างมนุษย์คนหนึ่งขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบทนีโอหรือบทอื่นๆ ที่ผ่านมา เรามีความสุขที่ได้สร้างตัวละครร่วมกับผู้กำกับ ทีมคอสตูม ทีมพร็อบ คนเขียนบท แต่คนเขียนบทอาจจะไม่ค่อยชอบผม เพราะผมไม่ค่อยได้พูดตามบทเท่าไร (หัวเราะ) ที่ผ่านมาผมก็พยายามหาวิธีการทำงานร่วมกับทีมงาน เพราะการสร้างตัวละครมันสร้างคนเดียวไม่ได้ มันต้องมีคนอื่นช่วย
เรื่องราวในตอน ศาสดาต้า ขนบดั้งเดิมถูกท้าทายโดยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เอมคิดว่าสังคมมีแนวโน้มจะไปสู่จุดนั้นได้ไหม
ผมไม่ได้คิดว่าทั้งสองอย่างมันคัดง้างกัน แต่กลับรู้สึกว่ามันส่งเสริมกันและกันมากกว่า
คำถามที่ว่าเราจะไปถึงจุดนั้นได้ไหม ผมคิดว่าตอนนี้เรามาถึงแล้วนะ และเราอาจจะไปไกลกว่าสิ่งที่ซีรีส์นำเสนอด้วยซ้ำไป ตอนนี้เรามีแอปพลิเคชันแบบในซีรีส์แล้วเรียบร้อย คือ ศาสดาต้ามันเกิดขึ้นแล้ว แค่ไม่ได้ถูกยิงเป็นโฮโลแกรมขึ้นมาเหมือนในซีรีส์เท่านั้นเอง
ส่วนอีก 3 เรื่องที่เหลือก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ในตอน ‘นิราศแกะดำ’ ที่พูดถึง 3D printing อวัยวะเทียม มนุษย์เราก็กำลังทำกันอยู่ เหตุผลที่ตัวละครของคุณอิ้งค์ (วรันธร เปานิล) ต้องขึ้นไปอยู่บนอวกาศ มันก็มีเหตุผลรองรับที่ว่า ถ้าเราทำสิ่งนี้บนโลก แรงโน้มถ่วงมันจะกดเซลล์ลงมาทับกันจนกลายเป็นพังผืด เราจึงต้องไป printing ในสภาวะที่แรงโน้มถ่วงต่ำ เพื่อให้เซลล์มันมีพื้นที่ในการขยายตัว และเหตุผลที่เราสามารถ printing อวัยวะได้โดยที่ร่างกายไม่เกิดการต่อต้าน เป็นเพราะว่ามันเกิดจากเซลล์ของเราเองที่มันโตขึ้นจากการเพาะในจานเชื้อ ดังนั้นร่างกายจึงไม่ปฏิเสธอวัยวะเทียมนี้ เพราะว่ามันคือเซลล์ของเราเอง ฉะนั้นเราก็ไม่ต้องรอการบริจาคอวัยวะกันอีกต่อไป เราสามารถเอาเซลล์ของเราไปปรินต์เป็นอวัยวะได้เลย
อย่างที่ผมบอก ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์เรื่องนี้มันมีเหตุผลทุกอย่างรองรับอยู่แล้ว ผมว่าไม่ต้องเสียเวลาหาช่องโหว่ให้ซีรีส์เรื่องนี้เลย ไปหาเวลาดูดีกว่า เพราะว่าหนึ่งใน co-creator ของเราคือคุณพีพี พัทน์ นักเทคโนโลยีและนักวิจัยจาก MIT (สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์) อย่างคุณปอย (ตรีชฎา เพชรรัตน์) หลายคนก็ไม่รู้ว่าเขาจบด็อกเตอร์ด้าน genetic จริงๆ มันไม่มีอะไรไปคัดง้างซีรีส์เรื่องนี้ในแง่ของทฤษฎีได้ ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้จริงหมดเลย คำถามอาจมีอยู่ว่า ถ้าเกิดขึ้นแล้วมันจะหล่อเท่เท่าในซีรีส์หรือเปล่า
เอมคิดว่าศาสนากับเทคโนโลยีมันคัดง้างกันอยู่หรือเปล่า
ผมว่าไม่มีใครรู้ ตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะค้นพบอริยสัจ 4 แล้วต้องการแชร์ให้กับโลก เขาก็คงไม่คิดหรอกว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นแบบไหน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่ในวันที่โลกหมุนมาไกลกว่ายุคของเจ้าชายสิทธัตถะ พวกเราในฐานะของมนุษย์ที่เกิดทีหลัง เราต้องไปให้ไกลกว่าอดีตอยู่แล้ว เรายืนบนไหล่ยักษ์ เราต้องมองเห็นให้ไกลกว่า ฉะนั้น เราเคารพสิ่งเดิมได้ แต่เราต้องเคารพชีวิตตัวเองด้วย เราต้องเคารพชีวิตของคนที่จะเกิดในอีก 50 ปีข้างหน้าด้วย ถ้าเรามัวแต่ยึดติดกับความคิดเดิมๆ มันก็อาจจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไรนัก
ผมเชื่อสิ่งที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน พูดอย่างหนึ่งคือ ถ้าคุณไม่ปรับตัว คุณก็ตาย คุณต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอดให้ได้ เราคงไม่สามารถ freeze ตัวเองให้อยู่เหนือกาลเวลา และหวังว่าจะอยู่รอดได้ เราต้องเติบโตไปตามเวลาที่หมุนเปลี่ยนไป ต่อให้เราไม่อยากเติบโตก็ตาม เวลาจะบังคับให้เราเดินทางไปสู่จุดอื่นอยู่ดี การที่เราปรับตัวเพื่ออยู่รอด เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกอย่าง ศาสนาก็เช่นกัน
ตัวละครนีโอของผม เขามองสิ่งที่เขาทำว่าเวิร์ก และคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย คนส่วนใหญ่พึงพอใจกับการที่มนุษย์เข้าไปแทรกแซงกลไกบางสิ่งบางอย่าง คนส่วนใหญ่พึงพอใจกับการที่เรามีอากาศบริสุทธิ์ที่หายใจมากขึ้น หรือว่าการที่เราไม่ต้องใช้เงินสดอีกต่อไป เราไม่ต้องการรถที่ตัวเองต้องมานั่งขับเองอีกต่อไป หรือเราไม่ต้องการชีวิตที่อยู่ได้ 60-70 ปีแล้วตาย คนส่วนใหญ่พึงพอใจกับการมีชีวิตอมตะ เมื่อจุดนั้นมาถึง ทุกอย่างก็จะกลายเป็น norm ของสังคม ต่อให้เราไม่อยากเปลี่ยน โลกก็จะบังคับให้เราหมุนไปตามมันเอง
ศาสนาสำหรับเอมและนีโอเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
ผมว่านีโอเขาเก่งกว่าผม คือผมเป็นคนที่เซนซิทีฟเวลาที่รู้สึกอะไร ศาสนาอาจจะจำเป็นกับผมบ้างในแง่ของการเยียวยา ตอนเด็กผมนับถือศาสนาคริสต์ ผมโตมาในบ้านที่เป็นคาทอลิก และมีพ่อเป็นคริสต์ที่เคร่งครัดประมาณหนึ่ง มียายที่นับถือศาสนาพุทธสายปฏิบัติเลย ส่วนคุณแม่ก็เป็นมุสลิม ตอนเด็กผมเลยได้ทั้งไปกินข้าวหมกแพะที่สุเหร่า ไปหาพระอาจารย์ในวัดป่า และไปเข้าโบสถ์วันอาทิตย์ วนเวียนอยู่ 3 อย่าง ศาสนาสำหรับผมจึงเป็นสิ่งที่เวิร์กมากในโลกยุคเก่า ยิ่งสำหรับสังคมไทย วัดก็คือศูนย์รวมชุมชน ศาสนาจึงฝังลึกกับสังคมอย่างแยกไม่ได้
ส่วนตัวผมรู้สึกว่าผมจะต้องการศาสนาในวันที่เหนื่อย บางทีที่ผมเปิดคัมภีร์ไบเบิลแม้ว่ามันจะไกลตัวมากๆ และไม่ว่าพระเยซูจะมีจริงหรือเปล่า แต่สิ่งที่มันจริงคือ วรรณศิลป์เหล่านั้น ในหนังสือเล่มนั้น ไม่ว่ามันถูกเขียนขึ้นโดยใคร แต่ถ้าใครสักคนได้พลังจากมัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี รวมถึงพระไตรปิฎกหรืออัลกุรอานก็เช่นกัน
แต่การเกิดขึ้นของสงครามครูเสดที่มีปมขัดแย้งทางศาสนา หรือการที่พระเยซูถูกจับตรึงไม้กางเขนเพียงเพราะว่าพูดท้าทายศาสนา มันคือสิ่งที่เราพยายามจะทำให้ศาสนาเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่มันเป็น
คือศาสนามีทั้งผลดีและผลเสีย แม้ว่าในปัจจุบันเราจะเห็นแต่ผลเสียเป็นส่วนมาก แต่คนที่ยังต้องการมันอยู่ก็มี ผมเองก็มักจะเข้าโบสถ์แล้วก็ไปนั่งดูสถาปัตยกรรม นั่งมองหน้าพระเยซู อะไรก็ตามที่มันทำให้เราช้าลง ทำให้เราได้ยินเสียงตัวเอง หรือว่าได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น ศาสนากับผมมันคือสิ่งนั้น
มีสิ่งหนึ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับศาสนาพุทธคือ มันเป็น practice มากกว่าเป็นคำสอน มันคือ school of tools เลยครับ มันพิสูจน์ได้มากกว่าคำถามที่ว่าพระเจ้ามีจริงหรือไม่ด้วยซ้ำ การนั่งสมาธิมีอยู่จริง และคุณสามารถทำมันได้เหมือนการออกกำลังกาย เหมือนเวลาที่เราวิ่งในช่วง 10 นาทีแรก เราจะเหนื่อยมาก แต่เมื่อวิ่งไปประมาณชั่วโมงนึงติดต่อกัน 7 วัน เราจะมีความสุขกับมัน คุณจะไม่มีวันเข้าใจ ถ้าหากไม่ลองทำเอง ผมรู้สึกว่าศาสนาพุทธเองก็เป็นแบบนั้น มันเป็นประสบการณ์ที่เราไม่สามารถถ่ายทอดให้กันฟังได้ คุณต้องไปลองเอง แล้วคุณถึงจะเข้าใจว่าสภาวะนั้น เวลาที่คุณเข้าสู่มันจริงๆ มันมีผลดีกับร่างกายคุณจริงๆ นะ สำหรับผม ศาสนายังจำเป็นอยู่ครับ แต่ถ้าถามว่าพระเจ้ามีจริงไหม สำหรับผมมันก็เป็นอีกคำถามหนึ่ง
ส่วนนีโอ ผมรู้สึกว่าเขาอาจจะไม่ได้เชื่อในอะไรเลยก็ได้ เขาแค่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการที่จะทำสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ เหตุผลที่นีโอสร้าง ULTRA (หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์) มันส่วนตัวมากๆ แม้ว่าเขาอาจจะไม่ได้เชื่อในศาสนาเลย แต่ที่แน่ๆ คือเขาน่าจะชอบพระพุทธเจ้ามากกว่าผมอีก (หัวเราะ)
แปลว่าศาสนาก็ยังเวิร์กอยู่ในช่วงเวลาแบบนี้
ผมว่า ณ เวลานี้มันยังเป็นแบบนั้นอยู่ เรายังเห็นความพยายามดิ้นรนของศาสนาหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นวาติกันก็เพิ่งเปิดตัวมาสคอตที่ชื่อ ‘Luce’ ผมโคตรชื่นชมเลย มันเป็นการปรับตัวที่โคตรเท่เลย ผมอยากให้โจนออฟอาร์ก (Joan of Arc) ยังอยู่เพื่อได้เห็นสิ่งนี้มากๆ มันเป็น move ที่ผมรู้สึกยอมรับเหลือเกิน เพราะมันเหมือนกับว่าเขาต้องยอมจำนนต่อทิศทางการหมุนของโลก ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้มันจำเป็นกับการที่พวกเราจะต้องอยู่รอดต่อไป
การที่คนส่วนหนึ่งรู้สึกหมดศรัทธาในศาสนา เป็นเพราะตัวศาสนาเอง หรือเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสังคม
ผมว่าแยกกันไม่ได้ สุดท้ายฆราวาสก็เป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ถ้าเราเจาะจงว่าตัวคัมภีร์นี้เวิร์ก ตำรานี้เวิร์ก ตำรานี้บอกว่าเราต้องใช้ใบกะเพรากำสองกำ แต่ใบกะเพราในวันที่เขียนตำรากับใบกะเพราในวันนี้มันคนละสายพันธุ์กันแล้ว ปรุงยังไงก็ไม่ได้รสเดิม สุดท้ายสิ่งที่เคยเวิร์กก็มีอายุของมัน
ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องสังคายนาเสียใหม่ ถ้าคุณต้องการจะอยู่รอด คุณก็ต้องปรับตัว คำถามที่ว่าศาสนาอาจจะเวิร์ก แต่คนไม่เวิร์ก ก็อาจจะถูกครับ เพราะคนที่ทำตามคัมภีร์เล่มนี้ เขาก็ไม่ได้เกิดในพุทธกาล
ไม่เคยมีใครเห็นพระพุทธเจ้าหรือพระเยซู ไม่เคยมีใครเห็นโสเครติส ไม่รู้ว่าพวกเขามีจริงหรือเปล่าด้วยซ้ำ สุดท้ายนี่คือสิ่งที่อยู่ใน text ที่มีนานมาแล้ว การพยายามที่จะพิทักษ์รักษาสิ่งนี้เหลือเกิน ผมไม่ค่อยซื้อไอเดียนี้ ผมรู้สึกว่าการยอมที่จะโอนอ่อนต่อลมพายุเพื่อจะอยู่รอดเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากกว่า แต่ว่าสุดท้ายก็ยังอดที่จะชื่นชมคนที่พิทักษ์รักษาไม่ได้อยู่ดี
ตอนนี้ผมอยากเห็นอาร์ตทอย (art toy) พระพุทธเจ้ามาก แล้วก็ตั้งคำถามไปด้วยว่าในขณะที่พระเครื่องถูกยอมรับ แต่ทำไมอาร์ตทอยถูกยอมรับไม่ได้ คุณว่าเราจะปลุกเสกอาร์ตทอยได้ไหม (หัวเราะ)
ก่อนหน้านี้มีคนทำขนมอาลัวพระเครื่องก็โดนโจมตี โดยคนที่โจมตีก็เชื่อว่าตัวเขากำลังปกป้องศาสนา?
เอาจริงๆ พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยบอกให้ทำรูปเคารพนะ ผมก็เลยคิดว่าจะอะไรกันนักกันหนา ผมว่าการทำสิ่งนั้นกลับทำให้คนสนใจมากขึ้นด้วยซ้ำ สนใจบทเรียนคำสอนของศาสนาพุทธ ผมว่าเป็นประโยชน์นะ
สำหรับผมอยากเรียกศาสนาพุทธว่าสำนักความคิดมากกว่า เพราะผมคิดว่าศาสนาพุทธคือวิธีการในการดำรงชีวิต มันคือ tip ของชีวิต คิดแบบนี้จะใช้ชีวิตง่ายกว่า
แล้วพุทธศาสนาในตอนนี้ เอมคิดว่ามีการพยายามโอนอ่อนเพื่อให้อยู่ได้ต่อหรือเปล่า
ผมตอบในเชิง global ไม่ได้นะ เพราะผมเองก็ไม่ได้รู้ขนาดนั้น แต่เท่าที่เห็นแค่ในประเทศเรานะ คือประเทศเราก็จะมีคำว่าพุทธแบบไทยๆ ใช่ไหม ผมไม่เห็นการปรับตัวเลย เวลาถูกวิพากษ์ก็จะโจมตีกลับเสมอ
ผมชอบซีรีส์เรื่อง ‘สาธุ’ มาก ใครจะคิดว่าวันหนึ่งในฐานะคนไทยจะได้เห็นซีนพระต่อยกันแบบ ‘4 Kings’ รู้สึกว่าโชคดีที่อยู่ในยุคสมัยนี้ และผมชอบพระทุกรูปเลย ผมชอบในเชิง visual คือแค่โล้นแล้วห่มจีวร
อย่างชื่อตอน ‘ศาสดาต้า’ คือคำว่า ศาสดากับดาต้า พอเอามารวมกันในความคิดของเอมคำนี้มีนัยยะอย่างไร
ผมว่าเขาตั้งชื่อตอนเก่ง เจ๋งดี เพราะว่าจริงๆ การเกิดขึ้นของแชตบอตต่างๆ ในยุคนี้ มีบิ๊กดาต้าเป็นขุมพลัง แชทบอททรงพลังได้เท่ากับดาต้าที่มันมี ดาต้าคือสิ่งที่มีค่ามากในทุกวันนี้
เวลาเรากดอะไรไป หรือกด accept มั่วๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คอลเซนเตอร์โทรมาหาเรา เพราะว่าดาต้าเป็นสิ่งที่ซื้อขายกันแล้วมีค่า ซึ่งสิ่งที่นีโอทำ ไม่ใช่อะไรใหม่เลย แค่เอาพระไตรปิฎกไปประกอบกับ last language model จนออกมากลายเป็นพระพุทธเจ้าที่ไม่ตาย ไม่ต้องกินข้าว ไม่หิว ไม่อะไรเลย
มีพระสงฆ์ที่ปฏิบัติธรรมได้ครบทุกข้อตามที่พระไตรปิฎกเขียนไว้ โดยที่เราไม่ต้องไปตั้งคำถามเลย เพราะว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ทั่วไป เขาทำในสิ่งที่มนุษย์ทำไม่ได้ คือเป็นภิกษุที่ดีที่สุดในโลกทันทีที่เขาเกิดมา
ถ้าจัดทัวร์นาเมนต์ภิกษุเหมือนเดอะวอยส์ แต่เป็นเดอะพระ แล้วมานั่งแข่งปฎิบัติธรรมกันว่าใครห้ามผิดกฎข้อนู้นข้อนี้ ผมว่า ULTRA จะชนะ
พอพูดแล้วก็อยากทำเลย (หัวเราะ)
ความเชื่อในเรื่องศาสนาของเอมเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ในสภาพการณ์ที่ศาสนาและความเชื่อถูกท้าทายมากขึ้นอย่างทุกวันนี้
ผมว่าผมไม่ค่อยเปลี่ยนนะ เพราะผมคิดเสมอว่าผมมีชีวิตอยู่ในยุคที่ศาสนาเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ขนาดเราเล่นเกมต่อคำกัน 4-5 คน ยังเพี้ยนเลย แล้วกับสิ่งที่เกิดขึ้นมานานมากขนาดนั้นจะไม่เพี้ยนได้ยังไง แล้วพระไตรปิฎกก็เป็นสิ่งที่คนเขียนขึ้นมาจากสิ่งที่เขาได้ยินผ่านบุคคลท่านหนึ่งที่เคยชื่อว่า ‘สิทธัตถะ’ ย่อมมีการตกหล่นสูญหายอยู่แล้ว
เราอาจไม่สามารถเชื่อสิ่งนั้นได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่ในเมื่อเราตกลงกันแล้วว่านี่คือกติกาของเรา เราก็ต้องทำตามกติกานั้น โอเค เราอาจเชื่อว่าทุกคำพูดในไบเบิล พระเยซูเคยพูดจริง หรือว่าใครสักคนเคยพูดจริง ซึ่งสุดท้ายก็เป็นข้อตกลงว่าเราจะปฏิบัติตาม
ถ้าถามผมว่า ผมเชื่อมาตั้งแต่แรกไหม ตั้งแต่ผมโตขึ้นมาจนพอจะคิดได้ด้วยตัวเอง ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้คงไม่ได้ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่มีใครพิสูจน์ได้นะ
ในตอนเด็กผมก็เป็นคาทอลิกที่เคร่งมาก พอโตมาได้ลองศึกษาอะไรมากขึ้นก็พบว่ามีหลายอย่างที่เราชอบ พอได้ลองไปปฏิบัติธรรม แม้ผมไม่เคยบวช แต่พอได้ลองไปนั่งสมาธิวันละ 8 ชั่วโมง เดินจงกรมอีก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน ก็ทำให้เราเข้าใจว่าเครื่องมือนี้มันเวิร์ก
กระทั่งการได้คุยกับคนที่เขาอุทิศชีวิตทั้งหมดที่เหลือของเขาให้กับพระอัลเลาะห์ท่านเดียว และจะใช้เวลาที่เหลือทั้งหมดในการเป็นประชากรในสวรรค์ของพระอัลเลาะห์ ก็ทำให้ผมได้มุมมองความคิดใหม่ๆ เข้ามา
คนที่บริจาคทั้งหมดในชีวิตของเขาให้กับองค์กรที่ให้คำมั่นสัญญาว่าคุณจะได้ไปใช้ชีวิตบนสวรรค์ มีคอนโดแก้ว 80 ชั้น ก็ทำให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อมากขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่าเราอยู่ในสเปกตรัมไหนของแผนที่ที่เรียกว่าศาสนา
ผมว่าผมดันชอบริดลีย์ สกอต [Ridley Scott (ผู้กำกับภาพยนตร์)] มากๆ ที่เขาเบียวศาสนาเหลือเกิน เขาเบียวเรื่องพระเจ้า เรื่องเอเลียน ในหนังเรื่อง Prometheus (2012) บอกว่าผู้สร้างเราคือเอเลียน คนที่มาเพาะพันธุ์เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตบนโลกก็คือเอเลียน ผมรู้สึกว่าผมชอบไอเดียของการเป็นผู้สร้าง ถ้าถามความเชื่อผม เขาคือพระเจ้าหรือเปล่าไม่รู้ เขาอาจจะไม่ใช่ผู้ชายที่ถูกตรึงกางเขนแล้วมีซิกแพ็ก ไม่รู้ว่าใช่หรือเปล่า แต่ผมชอบไอเดียของการถูกสร้างโดยอะไรบางอย่างหรือใครสักคน
ปัจจุบันคนพยายามตั้งคำถามกับศาสนาและวิพากษ์วิจารณ์กันหลายมิติมากขึ้น เอมมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร
เป็นเรื่องที่ดีแน่นอนครับ ผมรู้สึกว่าทุกอย่างควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ก็มองเป็นเรื่องดี พูดไปเลย แต่เราก็ต้องระวังตัวเอง เพราะเราก็อยู่ในดินแดนที่ไม่สามารถพูดได้ทุกอย่าง พูดไปเลย แต่บางอย่างแค่คิดก็พอ (หัวเราะ)
เชื่อไหมว่าการวิพากษ์จะนำไปสู่การทำลายศาสนาที่มีมาหลายพันปีจริงๆ
ขึ้นอยู่กับว่าพวกท่านมองคำว่าทำลายแบบไหน ถ้าเซนซิทีฟมากก็อาจมองว่า ทุกวันนี้ก็ถูกทำลายไปแล้วก็ได้
ถามว่าการวิพากษ์มันทำลายศาสนาไหม ผมคงตอบไม่ได้ แต่สุดท้ายแล้วพระไตรปิฎกได้เกิดขึ้นแล้ว กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว เมื่อใดก็ตามที่ถูกบันทึกไปแล้ว มันทำลายไม่ได้หรอก ถ้าหากเรายังไม่สิ้นโคตรศักราช ถ้ามนุษย์คนสุดท้ายยังไม่ตาย ทุกสิ่งที่เป็นการบันทึกก็ยังอยู่คงกระพันของมันถาวรมั้งครับ
แต่แน่นอนว่าสิ่งที่ไม่เห็นแล้วคือบรรยากาศของวัดไทยแบบสมัยก่อน หรือการที่วัดเป็นศูนย์รวมชุมชน และพระที่นั่งแท่นถือตาลปัตรบังหน้า พูดอะไรไปใครก็เชื่อ สิ่งนี้ไม่มีอีกแล้ว สูญสลายไปตามกาลเวลา การเสื่อมศรัทธาลงก็เป็นเรื่องปกติ แต่ทุกสิ่งที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ส่วนตัวผมมองว่ามันไม่ตาย เรา preserved ได้ แต่อย่าไปยึดติด เราอยู่กับปัจจุบันและทำทุกวันนี้ให้ดีดีกว่า
แล้วคิดว่าการยึดมั่นถือมั่น ถือเป็นการทำลายศาสนาไหม
ผมรู้สึกว่าพวกเขาเหล่านั้นเจตนาดีในการยึดมั่นถือมั่น หรือเจตนาดีในการไม่ยึดมั่นถือมั่น ดีทั้งคู่ แต่ต้องคุยกัน แล้วก็หาข้อสรุปร่วมกัน ถ้าเราผสมสิ่งที่ดีของสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ได้คงจะได้สิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็อุดมคติเหลือเกิน ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ หรอก
คำถามคือ แล้วแบบไหนบ่อนทำลายกว่ากันระหว่างการปกปักรักษากับการปรับตัว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมุมมอง
ผมเปรียบเทียบกับการมีสตรีมมิงแล้วกัน คุณคิดว่าเป็นบ่อนทำลายภาพยนตร์ไหม ถ้าคุณเป็นสายที่คิดว่าภาพยนตร์ต้องดูในโรงเท่านั้น การมีสตรีมมิงคือการทำลาย magical ของภาพยนตร์
แต่ขณะเดียวกัน การมีสตรีมมิงก็ทำให้หนังไปต่อได้ ทำให้คอนเทนต์หลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้สร้างมีเวทีใหม่ในการที่จะเล่าอะไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะมีปืนเลเซอร์มาจ่อหน้าอกหรือเปล่า คำถามคือ ใครถูก ใครผิด
ผมว่าเขาก็มีส่วนถูกทั้งคู่ เราไม่สามารถตอบได้ว่าอะไรคือการทำให้สิ่งนั้นเติบโตยั่งยืนต่อไป ระหว่างการ preserved หรือการ adapt ต้องดูแล้วแต่เคสไป เราต้อง preserved ส่วนที่ดี คัดทิ้งส่วนที่แย่ และ adapt ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเดิม
ตอบยากครับคำถามนี้…
แต่ถ้าเป็นเรื่องหนัง ผมเชื่อในโรงหนังมากๆ ผมคิดว่าโรงหนังเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับภาพเคลื่อนไหว การที่คุณเข้าไปนั่งในโรงด้วยระบบเสียงที่ถูกต้อง จอที่ใหญ่ นั่นทำให้เรื่องเล่าเรื่องนั้นฝังลึกลงไปในหัวใจคนดูได้มากกว่า ในขณะเดียวกันการนั่งดูหนังตอนที่นั่งส้วมอยู่ที่บ้านแล้วใส่หูฟังก็งดงามไม่แพ้กัน เราเดินไปแปรงฟันหรือนอนบนเตียงเราก็ยังรับรู้เรื่องราวอยู่ เป็นความงามคนละแบบ
แต่ในขณะเดียวกันการยึดมั่นถือมั่นในศาสนาแบบไทยๆ ก็เหมือนเป็นการผลักคนที่พยายามจะ adapt ออกไป
ผมว่าเอาอย่างที่ต้องการครับ ถ้ารู้สึกว่า adapt ดีกว่า เราก็ adapt ไปเลย ถามว่าการยึดมั่นถือมั่นผลักคนออกไปใช่ไหม คำตอบคือใช่ ผลักคนที่สนใจออก แต่ผมรู้สึกว่าเรากำลังจะไปพูดถึงโครงสร้างที่เราไม่สามารถแตะต้องได้ เพราะสุดท้ายศาสนาก็เกี่ยวโยงกับอำนาจมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้ได้ ทุกศาสนาคือการปกครองคน ฟังก์ชันหนึ่งของศาสนาก็คือการทำให้ผู้คนว่านอนสอนง่ายตามผู้มีอำนาจอยู่แล้ว