ไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า ‘นักเศรษฐศาสตร์การศึกษา’ ผู้นี้ทำงานอย่างแข็งขันต่อเนื่อง เขาเดินทางไปหลายที่หลายแห่งเพื่อนำเสนอโมเดลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของไทยให้แก่เวทีนานาชาติ กระทั่งยูเนสโกเลือกโมเดลไทยไปโปรโมตให้ทุกประเทศของเอเชียแปซิฟิกเดินตาม
การเดินทางไม่สิ้นสุดเพียงแค่นั้น เขายังลงพื้นที่ต่อเนื่องเพื่อพบปะครูและนักเรียน และชุมชนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะ ‘เด็กกลุ่มเสี่ยง’ ที่จำต้องหลุดจากการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม และความด้อยโอกาสที่ถ่างออกไปกว่า 20 เท่าของเด็กในเมือง
วันนี้เราสนทนากับ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำรวจอุปสรรค ความยากลำบาก และความหวังที่ปลายทาง ซึ่งไกรยสมั่นใจว่า “ถ้าตบมือสองข้างระหว่างครูและนักเรียน” ปลายทางที่จะนำนักเรียนหลายแสนคนซึ่งขาดโอกาสทางการศึกษาให้กลับมาตะกายดาวย่อมเป็นไปได้
ทัศนะที่ง่ายงามเริ่มต้นด้วยความเชื่อที่ว่า ‘มูลค่าที่แท้จริงของการศึกษาไม่ใช่ค่าเทอม’ แล้วคำตอบของไกรยสคืออะไร เชิญอ่านมุมมองที่ท้าทายนี้ร่วมกัน
ประสบการณ์จากเดินทางไปพบเจอครูมาทั่วประเทศเป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนี้ครูมีภาระทางเอกสารเยอะมาก แต่สิ่งที่ครูมีเหมือนกันคือความคิดที่จะทำเพื่อเด็ก โจทย์คือทำอย่างไรให้เราลงไปถึงตรงนั้นให้ได้ เราจึงพยายามเข้าไปให้ถึงใจของครู ยิ่งถ้าใจครูไปเจอสภาพของเด็กที่กำลังต้องการความช่วยเหลือ แล้วความเป็นมนุษย์จะทำงานเอง
ผมเชื่อว่าความรู้สึกแบบนี้อยู่ในตัวครูทุกคน เพราะคนที่เลือกมาเป็นครู เขามีจิตวิญญาณของความเป็นครูอยู่ข้างในอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามีโจทย์เรื่องระบบการศึกษา โจทย์เรื่องโรงเรียน ซึ่งเป็นเลเยอร์ที่ซ้อนทับๆ ในตัวเขา หน้าที่ของเราคือทำอย่างไรให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก แบบใจบริสุทธิ์ แบบใจกับใจได้เจอกัน ถ้าจิตวิญญาณความเป็นครูได้เจอกับผู้เรียนที่เขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายเพื่อจะได้เรียน ประสิทธิภาพจะสูงเปรี๊ยะเลย แต่ครูไม่มีโอกาสได้เยี่ยมบ้านเห็นสภาพความเป็นจริงของนักเรียน หมวกนักบัญชีชองครูก็อาจจะยังทำงานเป็นหลัก เช่น เรียกนักเรียนมารับเงิน รีบทำใบเสร็จเพื่อปิดบัญชีไป พอจบปั๊บ เงินนั้นจะเกิดคุณค่าน้อยลงเพราะเกิดแต่ปฏิสัมพันธ์ทางกระดาษ ใจยังไม่เจอกับใจ
มีครูบางคนบอกว่ารู้สึกดีที่ได้ทำงานกับ กสศ. เพราะตอนนี้ไม่ต้องควักเนื้อแล้ว ทำให้ครูมั่นใจว่าถ้าไปถึงบ้านเด็กแล้วเขาพอจะช่วยเหลือเด็กได้บ้าง
ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการเรียนในห้องเรียนและการเรียนนอกห้องเรียน มีจุดอ่อนหรือจุดแข็งแตกต่างกันอย่างไร
ในยุคนี้และในอนาคตจะต้องมีทั้งสองระบบ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเด็กควรจะต้องได้เรียนนอกห้องเรียนด้วย เราเรียกว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต
ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น ครูเองก็เช่นกัน เพราะความรู้เปลี่ยนเร็ว เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ทุกๆ คลื่นที่กระทบฝั่ง ถ้าเราไม่แข็งแรงพอในการปรับตัวก็จะเหมือนตลิ่งที่พัง เพราะการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน 5 ปี 10 ปี ก็ล้าสมัยแล้ว คนจึงต้องปรับตัวตลอดเวลา ถ้าจะปลูกฝังให้เด็กกล้าเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ต้องให้เขากล้าแบบมีความพร้อม รู้ว่าตัวเองจะต้องเตรียมตัวอย่างไร และครูคือต้นแบบที่สำคัญ
อะไรคืออุปสรรคของการทำงานเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
ต้องเข้าใจว่าโลกเราซับซ้อน แต่ละคนแต่ละระดับก็มีเป้าหมายของตัวเอง ไม่ว่าเป้าหมายทางการเมือง เป้าหมายทางราชการ เป้าหมายส่วนบุคคล ซึ่งคนเราก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อจะบรรลุเป้าหมายของตัวเอง เป้าหมายของผมอยู่ที่ตัวเด็ก เป้าหมายของผมอยู่ที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายเหล่านั้นต้องไม่ขัดกับหลักในการสร้างความเสมอภาค
บางเวลาเราอาจท้อบ้าง องค์กรระหว่างประเทศชวนผมมาหลายปี เขาพูดเลยว่าถ้าเราไปทำกับเขาจะได้ประโยชน์แก่หลายประเทศทั่วโลก เขาถามว่าไปไหม ให้รายได้หลายเท่า จริงๆ ผมกลับมาทำงานราชการทั้งที่ไม่ติดทุนรัฐบาลเลยสักบาท เพราะได้ทุนจากรัฐบาลอังกฤษ แต่ผมคิดว่าอยากกลับมาร่วมสร้างกองทุนเพื่อเด็กเยาวชนไทยที่ด้อยโอกาสมากกว่า เพียงแต่ที่ผ่านมามีอุปสรรคมากมาย จึงใช้เวลาเกือบสิบปีกว่าจะเกิดผล และ กสศ. ก็พึ่งเริ่มต้นมาได้ไม่ถึงสองปี ซึ่งก็ต้องใช้เวลาพิสูจน์กันต่อไป
คิดอย่างไรกับคำว่า “เงินซื้อการศึกษาที่ดีได้”
ไม่ได้หรอก (ตอบทันที) ผมขอถามว่าคนที่ได้รับการศึกษาสูงสุดประสบความสำเร็จทุกคนไหม คนที่ร่ำรวยที่สุดมีไหมที่เป็นทุกข์จนฆ่าตัวตาย เด็กที่ได้เรียนในสถาบันที่แพงที่สุด ชีวิตไม่เคยเดือดร้อนอะไรเลย แต่สุดท้าย กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จเท่ากับอีกหลายคนที่ไม่ได้ไปเรียนที่เหล่านั้น
ในทางกลับกันเด็กที่ไม่ได้มีเงินเรียนสถาบันชั้นนำ เรียนไปด้วยทำงานส่งตัวเอง ส่งครอบครัวไปด้วย ปากกัดตีนถีบ ครอบครัวก็มาแบบเสื่อผืนหมอนใบ มีถมไปที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คำถามคือ จำเป็นด้วยหรือที่จะต้องมีการศึกษาแพงๆ เพื่อให้คนประสบความสำเร็จ มูลค่าการศึกษาจึงไม่ได้อยู่ที่ค่าเทอม แต่อยู่ที่ว่าผู้เรียนตั้งใจเอาการศึกษาไปทำอะไร
มูลค่าของการศึกษาที่แท้จริง คือเป้าหมายทางการศึกษาของแต่ละคน เมื่อบรรลุเป้าหมายนั้นแล้วลองคิดมูลค่าออกมา ทั้งต่อส่วนรวม และต่อส่วนตน นั่นแหละคือมูลค่าที่แท้จริงในการศึกษา ไม่ใช่ค่าเทอม
ขอยกตัวอย่างบางคนที่ประสบความสำเร็จ เช่น ท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ท่านอาจารย์จรัส สุวรรณเวลา บ้านท่านยากจนมาก เกือบจะไม่ได้เรียนมัธยมแล้ว แต่ท่านก็สามารถก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดที่สร้างประโยชน์ส่วนรวมให้กับประเทศชาติในทางที่หลากหลายมาก ทุกวันนี้ท่านก็ยังสร้างอยู่ แม้กระทั่งมากกว่าอายุ 80 ปี แล้วมูลค่าทางการศึกษาของท่านก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด นั่นคือความคุ้มค่าทางการศึกษา
ตรงนี้ผมเลยคิดว่า ถ้าเราใช้เงินกองทุนเพื่อความเสมอภาคฯ ในการช่วยเหลือเด็กยากจน เด็กช้างเผือก 3-5% ของงบประมาณการศึกษาต่อปี โดยเน้นช่วยทางฝั่ง Demand-side ที่ปัจจุบันเด็กและครอบครัวเหล่านี้ยังแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาเอง (ค่าใช้จ่ายที่เกินจ่ายงบเรียนฟรีของรัฐบาล) เฉลี่ยครัวเรือนละ 5,000-6,000 บาท ให้สังคมไทยไม่พลาดช้างเผือกแม้แต่เชือกเดียว ก็จะคุ้มค่า เพราะเราจะไม่พลาดนายกรัฐมนตรีที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย เราจะไม่พลาดครู แพทย์ พยาบาล ผู้นำความคิดในสังคมที่เข้าใจคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเขาเหล่านี้จะเป็นคนที่มาช่วยเหลือคนอื่นได้อีกมาก
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาซึ่งมีพระราชบัญญัติจัดตั้งรองรับ ยังไงก็คงอยู่คู่สังคมไทยไปนานกว่าอายุขัยของผม ในช่วงเวลาที่ผมยังทำงานนี้อยู่ ภารกิจนึงที่สำคัญคือทำให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของหลักประกันโอกาสทางการศึกษาที่เสมอภาคของคนไทยทุกคน และประโยชน์ที่ทุกคนจะได้รับ เพื่อให้สักวันนึงมีคนรุ่นต่อไปมารับไม้ต่อ ทำให้กองทุนก้าวหน้าขึ้นไปเป็นลำดับ ผมเรียนโรงเรียนรัฐ เรียนธรรมศาสตร์ภาคไทย ค่าเทอมไม่ได้แพง พอไปเรียนอังกฤษก็ได้ทุน เพียงเท่านี้ก็ถือว่าการศึกษาของผมคุ้มค่าแล้ว คุ้มกว่าไปทำงานต่างประเทศ หรือภาคเอกชน
ถ้าหากประเทศไทยอยากจะก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูง หรือเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ย่อมไม่มีวิธีอื่นนอกจากจะใช้กลไกระบบการศึกษาที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม “ที่ต้นทาง” เพื่อไม่ต้องมาใช้เงินที่มากกว่าเดิมหลายเท่ามาแก้ปัญหา “ที่ปลายทาง”
ความเสมอภาคทางการศึกษา ช่วยให้คนก้าวมาสู่ฐานภาษีมากขึ้น ก้าวมาเป็นคนที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้มากขึ้น เราไม่สามารถพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวจาก “ทุนทรัพยากรธรรมชาติ” ไปได้ตลอด เพราะธรรมชาติจะถูกทำลายไปทุกครั้งที่มีคนมาเที่ยว แต่ทุกๆ ครั้งที่มีคนมาใช้ “ทุนมนุษย์” ของไทยมากขึ้น องค์ความรู้ ทักษะนั้นไม่ได้หายไปไหน มีแต่จะทวีคูน ถ้าคนไทยทุกคนมีการศึกษาที่ดีจะยิ่งทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางสังคมเศรษฐกิจ เพราะความรู้ไม่ได้หายไปไหน ทรัพยากรมนุษย์มีแต่จะเพิ่มมูลค่า
ตัวชี้วัดของความเสมอภาคคืออะไร
เราให้ทุนจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษาถึง 9 ปี ตั้แต่ ป.1 ถึง ม.3 พอเรียนจบเราก็ขออนุญาตติดตามว่าคุณเรียนต่อจนจบมหาวิทยาลัยไหม เริ่มมีรายได้ถึงจุดที่ต้องเสียภาษีในปีที่เท่าไหร่ เราก็อยากจะตามแบบนั้น
ว่าตั้งแต่เงินภาษีประชาชนบาทแรกที่กองทุนเสมอภาคส่งถึงมือนักเรียนคนแรก จนน้องเขาเรียนจบ จนถึงเวลาที่เขาเสียภาษีครั้งแรก ประเทศไทยได้ประโยชน์ส่วนรวมต่อการลงทุนทางช่องทางนี้มากเพียงใด และเมื่อเปรียบเทียบกับรุ่นพ่อแม่ของน้องเขา น้องสร้างความก้าวหน้าให้แก่ครอบครัว วงศ์ตระกูลไปได้เพียงไร
เคยเห็นภาพน่ารักของคุณพ่อคุณแม่ที่แม้ไม่ได้เรียนสูง แต่ส่งเสียลูกจนเรียนจบปริญญาไหมครับ การศึกษาของเขาที่ก้าวหน้ามากขึ้นของน้องเมื่อเทียบกับรุ่นพ่อแม่ รุ่นตายาย ต่างกันแค่ไหน นี่แหละคือ ความก้าวหน้าทางสังคม (Social Mobility) ที่เมื่อเกิดขึ้นกับทุกครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 40 ในประเทศ (Bottom 40) ได้เมื่อไหร่แล้ว ประเทศไทยน่าจะได้เห็นการก้าวกระโดดที่สำคัญของประเทศอีกครั้ง The New S-Curve ได้แน่ๆ
เราไม่หยุดวัดแน่นอน เราถึงทำงานด้วยการใช้ข้อมูล เรามีข้อมูลที่มีคุณครูทั่วประเทศช่วยเก็บรวบรวมจนเป็น Big Data ทั้งข้อมูลปฐมภูมิ และทุติยภูมิของเด็กทั้งในและนอกระบบ ถ้าใครไม่อยู่ในระบบเราก็จะไปตามหาจนเจอ ด้วยการชี้เป้าผ่านแอพพลิเคชั่นของเรา
มีแนวทางสร้างความมั่นใจอย่างไรให้ทั้งแก่นักเรียน ผู้ปกครอง และสังคม ว่าเงินอุดหนุนนี้จะสามารถช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังเดือดร้อนที่สุดได้อย่างแท้จริง โปร่งใส่ และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน
ประชาชนสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ที่เราพึ่งเปิดทดลองให้ใช้สาธารณะกันได้ครับ ชื่อระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ระบบ iSEE) ของกองทุน กสศ. https://isee.eef.or.th ซึ่งเข้าไปดูได้ถึงชั้นเรียนเลยว่า ป.1-ม.3 ทั้ง 76 จังหวัด และ กทม. มีคนได้ทุนกี่ทุน
ซึ่งสามารถนำข้อมูลไปสอบถามกับโรงเรียนข้างบ้านของท่านก็ได้ว่า มีนักเรียนได้ทุนเสมอภาคทั้งหมดกี่คน ได้จริงหรือเปล่า เพราะเราตั้งใจทำทุกอย่างโปร่งใสด้วยข้อมูลเป็น Data Transparency แต่ทั้งหมดเป็นข้อมูลสถิติไม่ใช่ข้อมูลส่วนบุคคลลงไป เพื่อปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับทุนทุกคน
ถ้าใครอยากจะตรวจสอบก็แค่เปิดระบบ iSEE ในสมาร์ทโฟนของคุณแล้วเดินไปที่โรงเรียน ดูว่าภาษีของคุณถูกนำไปใช้ช่วยเหลือเด็กในโรงเรียนเท่าไหร่ ถ้าเห็นว่าสภาพปัญหาของโรงเรียนและนักเรียนยากจนพิเศษ ยังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมกว่าที่ทุนเสมอภาคจำนวนปีละ 3,000 บาทยังไม่เพียงพอก็สามารถคลิกไปอีกลิงค์ https://donate.eef.or.th/main-donate เพื่อบริจาคเงินให้ กสศ. นำไปช่วยน้องๆ และโรงเรียนได้เพิ่มขึ้น พร้อมได้ลดหย่อนภาษี 2 เท่าด้วยครับ
ดังที่ จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประธานาธิบดีสหรัฐ เคยพูดว่า “อย่าถามว่ารัฐให้อะไรกับคุณ แต่คุณให้อะไรกับรัฐ” ในแง่นี้เราต้องคิดว่า คนไทยทุกคนจะมีส่วนร่วมในการให้ความเสมอภาคทางการศึกษาแก่เด็กไทยทุกคนได้อย่างไรอีกบ้าง
ข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติม
|