ราวๆ 20 ปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของการเดินทางได้เกิดขึ้นที่…ฟินแลนด์
เด็กสาววัย 16 ปี เดินทางข้ามทวีปเพื่อพบเจอกับความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรม
ที่นั่น เธอได้รับความรัก ความอบอุ่น จากครอบครัวแปลกหน้าที่อยู่อีกซีกโลก ในวันที่หนาวเหน็บ เธอมี ‘แม่’ ที่ชวนให้ออกไปเดินเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ มีคุณย่าที่ชอบทำขนมเค้กให้กิน อีกทั้งยังมีคุณปู่ที่มักแบ่งปันบทสนทนาเรื่องการเมืองกับเธอ
วันแรกของการเรียน ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน สัมผัสแรกที่ได้รับไม่ใช่แค่ความเอาใจใส่ แต่คือความเคารพนักเรียนคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ ที่เธอสัมผัสได้จากคุณครูแนะแนวชาวฟินแลนด์
‘จุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ คือชื่อของเด็กหญิงคนนั้น
ครั้งหนึ่งเป็นแค่นักเรียน มาถึงวันที่เริ่มต้นยืนหน้าห้องในบทบาทของครู ประสบการณ์จากประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเลิศทางการศึกษา คือจุดเริ่มที่ทำให้เธอตั้งใจถ่ายทอดเรื่องราวของการเรียนรู้ที่ให้เกียรติ ให้พื้นที่ และให้อิสระทางความคิดกับเด็กให้สังคมได้รับรู้
‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ คือชื่อของครูคนนี้
20 ปี ให้หลัง ครูจุ๊ยขยับเข้าสู่เส้นทางนักการเมือง ในฐานะรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และเมื่อพรรคได้รับเลือก ทำให้เธอกลายเป็น สส. ในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 ของพรรค ที่มีบทบาทในสภาฯ เป็นประเด็นปัญหาด้านการศึกษาตามที่เธอถนัด เช่นเดียวกับภาพลักษณ์อันเป็นที่จดจำของสื่อมวลชนและใครอีกหลายคน ครูจุ๊ย แฟชั่นนิสตาที่มาพร้อมแว่นตาสีแสบไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน
นี่คือบทสัมภาษณ์ขนาดยาวที่ทำให้คุณได้รู้จักเบื้องหน้าเบื้องหลัง ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก วัฒนธรรมนอร์ดิก การ์ตูนมูมิน แม้แต่วิธีการเลือกแว่น ตลอดจนอิทธิพลทางความคิดที่ก่อรูปขึ้นเป็นหญิงสาวผู้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาได้มากที่สุด
– On her Lens –
วันที่มีการยื่นบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. ทำไมจึงใส่ ‘แว่นตา’ ลงไปในรายการทรัพย์สิน
เพราะวันหนึ่งมันต้องเกิดการตั้งคำถามแน่เลย ว่าทำไมมีแว่นเยอะจัง ก็เลยตัดสินใจว่า ถ้าอย่างนั้นก็ควรจะรายงาน ซึ่ง ป.ป.ช. เองก็มีเกณฑ์กำหนดว่าเท่าไหร่จึงจะรายงาน ถ้าจำไม่ผิด มูลค่าสิ่งของที่เป็นหมวดหมู่เดียวกัน 200,000 บาทต้องรายงาน อันนี้ถ้ารวมแล้วก็หลักแสนเหมือนกัน ก็เลยตัดสินใจรายงาน
ส่วนที่รายงาน ป.ป.ช. ไปทั้งหมดก็ 26 อันค่ะ (หัวเราะ)
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ต้องใส่แว่นตา แล้วแว่นอันแรกของชุดปัจจุบันคืออันไหน
เพราะสายตาสั้นค่ะ ยังไม่ยาวนะคะ สั้น 500 ข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งน่าจะ 300-400 จำไม่ได้ ใส่มาเกือบ 20 ปี ใส่แว่นมาตลอด แล้วก็ไม่คิดจะเลิกใส่แว่น เพราะเราได้คิดมาแล้วว่า อีกทางเลือกหนึ่งคือทำเลสิค จากหลายๆ เหตุผล เราคิดว่าเอาเงินมาซื้อแว่นดีกว่า
แว่นอันแรกคือ Oakley มันก็จะเยินๆ เก่าๆ (หยิบแว่นสีชานมเย็นขึ้นมา) ใส่มาเป็นสิบปีแล้ว ปกติตัวแว่นยี่ห้อนี้เป็นแว่นกันแดด เลนส์ก็จะเป็นสีๆ แต่เนื่องจากว่าสามีเราใส่ด้วย เขาก็เลยบอกว่า งั้นเอาเลนส์มาให้เขา แล้วเธอเอาแว่นไป ก็กลายเป็นว่ามีคนหารค่าแว่นด้วย (ยิ้ม) ราคาก็จะตกเหลืออันละไม่กี่พัน เพราะมันไม่ได้เป็นแว่นที่แพง ที่สำคัญคือมันเบามาก ถ้าไม่มีเลนส์ที่หนาๆ มันก็จะเบาลงอีก แต่ตอนนี้เลนส์จุ๊ยเริ่มหนาแล้ว เพราะสั้น 500
นอกจากมีคนช่วยหารค่าแว่นแล้ว น่าจะต้องมีเหตุผลอื่นที่ทำให้ซื้อแว่นหลายๆ อัน?
ตอนแรกมันก็ค่อยๆ มาทีละอัน ก็รู้สึกสนุกที่ได้เลือกแว่นตอนเช้า ตื่นเช้ามา ก็จะ…เอ๊ะ วันนี้จะใส่สีไหนดีนะ ชุดนี้แว่นต้องแบบนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่า มันก็เป็น indicator (ตัวชี้วัด) อย่างหนึ่ง ว่าวันนั้นเราสนุกกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน เพราะวันไหนที่เราหมดแรง เราก็จะหยิบอันไหนก็ได้มาใส่ ช่างมัน เราก็แอบใช้แว่นเป็น indicator ว่าวันนั้นมันอารมณ์ประมาณไหนด้วย
อันไหนคือแว่นที่ใส่ในวันที่ไม่ต้องคิดอะไร
ถ้าไม่เลือกหรืออยู่บ้านก็จะใส่อะไรเบาๆ อย่างอันนี้ (หยิบแว่นทรงกลมขึ้นมา) ไม่มีสี เบาๆ ออกไปจากบ้าน ไม่มีใครจำเราได้ ไม่แต่งหน้าแล้วก็เป็นอีกคน
แว่นอันไหนคือตัวตนที่แท้จริงของครูจุ๊ย
ทุกอันมันก็เป็นจุ๊ยหมด แต่บางอัน (อันทรงกลมไม่มีสี) มันก็สะดวกดี ไม่ต้องระวังมันมาก วางทิ้งอยู่ตรงไหนก็ได้ แล้วก็รู้สึกว่าอันนี้มันเป็นแว่นสบายใจ จุ๊ยเรียกมันว่า ‘แว่นสบายใจ’ ใส่แล้วก็สบาย แต่อันอื่นมันจะมีความทำงานอยู่ มีความออกไปข้างนอก เรียกว่าแว่นในบ้านและนอกบ้านก็ได้
สำหรับงานที่เป็นทางการ ปกติแล้วเลือกแว่นแบบไหน
มันมีสีขาวนะ แล้วมีสีดำด้วย อย่างถ้าใส่ชุดปกติขาว ก็จะใส่แว่นขาว หรือถ้าอยากฟังกี้นิดหนึ่ง ก็จะมีขาวลายม้าลายที่เป็นขาวดำ ก็ใส่ได้
หรือเอาจริงๆ แว่นนี้ วันแรกเลย ที่ใส่ชุดปกติขาวเข้าสภาฯ แล้วคนทักผิด สลับกับพี่กอล์ฟ (ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์) ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราพูดเรื่องเพศสภาพกับชุดเครื่องแต่งกาย ว่าจะให้แต่งตามเพศสภาพใช่ไหม ถึงขั้นลงมาข้างล่างจากสภาฯ แล้ว นักข่าวก็แบบ…มาแล้วๆ รอพี่กอล์ฟอยู่ แต่คนที่เดินลงมาน่ะจุ๊ย อะไรอย่างนี้
คือจุ๊ยมองว่ามันเป็นกาลเทศะด้วย ยังไม่เคยลองใส่ส้มไปเหมือนกันว่าใส่แล้วจะเป็นยังไง ก็เลยตัดสินใจใส่อันนี้
จริงๆ แว่นสีส้มนี้มาทีหลังทำงานการเมืองค่ะ สีส้มมาตอนแถลงนโยบายพรรคอนาคตใหม่ เดินทางมาก่อนถึงวันแถลงแป๊บเดียว ตั้งใจซื้อมันมา แล้วก็เลือกจะใส่วันนั้น
อันอื่นมีสตอรี่อีกไหม
ก็อาจจะเป็นอันนี้ที่เป็นอันแรกที่เริ่ม แล้วก็จริงๆ จะมีอันที่เป็นเหมือนอันเปลี่ยนผ่าน คือมันจะมีช่วงหนึ่งที่ไม่ใส่แว่น Oakley มาใส่อันนี้ (หยิบแว่นคุณครูขึ้นมา) แล้วมันก็ดูคุณครู้ คุณครู จุ๊ยชอบเรียกมันว่าแว่นคุณครู แต่ก็ไม่ค่อยได้ใส่บ่อย เพราะเรามองว่าอาจจะไม่ได้เป็นคุณครูแบบเดิมตอนที่เริ่มใส่แว่นนี้ แว่นนี้ก็เลยหายไป ลึกๆ ในทุกแว่นทุกอันมันก็มีความเป็นจุ๊ยซ่อนอยู่ในทุกๆ อันของมัน
แสดงว่าตอนนี้ใส่แว่นสีส้มบ่อยที่สุด?
ใช่ พอไม่ใส่แล้วคนก็ถามว่า ทำไมวันนี้ไม่ใส่แว่นส้ม หรือเจ้าหน้าที่ในสภาฯ จะถามว่า อุ๊ย วันนี้จำเกือบไม่ได้เลยค่ะ เปลี่ยนแว่น แล้วก็มีพี่ๆ นักข่าวบอกว่า นี่ก็ลุ้นอยู่ว่าวันนี้ครูจะใส่แว่นสีอะไร อะไรอย่างนี้ ก็สนุกดี ถึงแม้เปลี่ยนงาน แต่คอมเมนต์แบบนี้ก็ยังมาอยู่ เพราะตอนที่เราสอนเด็กๆ มหาวิทยาลัยหรือมัธยม เขาก็จะบอกว่า สิ่งที่สนุกที่สุดในคลาสอาจารย์กุลธิดาก็คือการเดาว่าวันนี้อาจารย์จะใส่แว่นสีอะไร
พอเปลี่ยนบทบาทจากครูมาเป็นนักการเมืองแล้ว ความสนุกในการเลือกแว่นเปลี่ยนไปไหม
ไม่นะ แต่ว่าทำให้มันรู้สึกว่ามีภาระหน้าที่ที่หนักอึ้งกว่าเดิม งานมันยังสนุกอยู่ แต่มันสนุกแบบไม่เหมือนวันที่เป็นคุณครูแล้ว เพราะว่าตอนเป็นคุณครูเราสามารถควบคุมสิ่งที่มันเกิดขึ้นตรงหน้าเราได้แทบจะทั้งหมด สิ่งที่เราต้องจัดการอย่างเดียวก็คือรีแอคชั่นระหว่างเรากับนักเรียน แล้วเราอาจจะควบคุมรีแอคชั่นของนักเรียนไม่ได้ แต่เราสามารถจัดการปฏิสัมพันธ์นั้นได้
พอมาเป็นการเมืองแล้วเราจัดการอะไรไม่ได้สักอย่าง จะต้องเรียนรู้เหมือนว่าเป็นนักเรียนใหม่ ที่จะมาจัดการสิ่งเหล่านี้ แล้วก็พบว่าการไม่เปลี่ยนแว่นของเรามันก็สะท้อนอะไรเหล่านี้อยู่เนืองๆ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจหรอก
– On her Look-book –
การเป็นคนที่ชอบแต่งตัว และสามารถนิยามได้ว่า ‘fashionable’ มีปัญหาในทางการเมืองไหม
ณ ตอนนี้ยังไม่เจอปัญหานั้น สิ่งที่จุ๊ยชอบคือสี จุ๊ยสนุกกับการมีสีเยอะแยะ ก็ยังไม่เจอปัญหานั้นในสภาฯ แต่ก็เห็นคนที่เจอปัญหานั้นตลอดเวลา คือประเด็นซีเรียส แล้วประเด็นมันจางลงเพราะคนมองที่เสื้อผ้ามากกว่า และคิดว่าไม่อยากจะเจอปัญหานี้ด้วย เพราะคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นประเด็น
เสื้อผ้าแบบไหนที่บอกความเป็น ‘ครูจุ๊ย’ มากที่สุด
ถ้าให้เป็นแบรนด์ที่รักและชอบ ซื้อได้บ้าง ไม่ซื้อได้บ้าง ก็จะเป็น Marimekko เพราะใส่แล้วมันตรงกับตัวจุ๊ย มันมีทั้งความกล้าที่จะเอาอะไรก็ไม่รู้มาผสมกัน หลายครั้งเราจะเห็นการใช้สีที่มันไม่ควรจะอยู่ด้วยกันแต่มาอยู่ด้วยกัน หลายครั้งเห็นแพทเทิร์นที่เป็นลายอะไรไม่รู้ยุ่งเหยิงเต็มไปหมด หรือลายที่ใหญ่มากจนเรานึกไม่ออกด้วยซ้ำว่ามันจะเอามาอยู่บนตัวมนุษย์ได้ยังไง แต่มันก็อยู่ได้
เรารู้สึกว่า ส่วนหนึ่งมันคล้ายกับอารมณ์ที่บอกว่าจุ๊ยไม่น่าจะเป็นคุณครู ไม่น่าจะเป็นนักการเมือง ซึ่งบังเอิญเหลือเกิน เสื้อผ้า Marimekko ก็มีความเป็นลักษณะนี้อยู่ในตัวเอง ทุกครั้งที่เลือกชุดมันก็จะแบบ…จะใส่ได้เหรอวะ แต่สุดท้ายมันก็ใส่ได้ สุดท้ายมันก็ไปได้ของมัน
เริ่มชอบ Marimekko ตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วคิดว่าเพราะการไปอยู่ฟินแลนด์ด้วยหรือเปล่า ที่ทำให้รับอิทธิพลแฟชั่นของคนนอร์ดิกมา
เริ่มชอบตอนเป็นนักเรียน AFS เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว
คือ Marimekko คล้ายกับ Jim Thompson บ้านเรา ชาวฟินแลนด์เขาจะให้เป็นของขวัญกันตลอด ชิ้นแรกที่ได้เป็นชุดนอน เราใส่จนเปื่อยเลยนะ จนคอมันเป็นริ้ว ก็ยังใส่อยู่ แล้วจำได้เลยว่ามันเป็นสีแดงเลือดหมูกับชมพูลายทางสลับกัน แล้วเราก็ว่ามันประหลาดดีที่เอาสองสีนี้มาคู่กัน เลยเก็บมันมาตลอด เพราะมันเป็นของขวัญที่ครอบครัวซื้อให้ตอนวันคริสต์มาสแรกในฟินแลนด์
มันเป็นบางอย่างของนอร์ดิกที่เราซึมซับมามั้ง คิดดูสิ ไปอยู่ที่นั่นปีหนึ่ง ของขวัญในโอกาสพิเศษอะไรก็จะได้แต่ Marimekko เต็มไปหมดเลย แล้วมันก็สดใสดีในความมืดมนและความเงียบของฟินแลนด์ เรารู้สึกสนุกเวลามีอะไรแบบนี้อยู่ในบ้านหรืออยู่บนตัวเรา มันตัดกับทุกอย่างที่มันเป็นในช่วงฤดูหนาว เวลาใบไม้มันร่วงไปแล้ว มันมืด มันแห้งไปหมด Marimekko จะตะโกนเสียงดังว่า “ฉันคือ Marimekko”
จุ๊ยแค่เป็นมนุษย์ extreme ในการเลือกใช้ของไปจนสุด คือเงียบก็เงียบสุด ดังและสีสดๆ ก็สุด
ในมุมมองของคนเคยเป็นครูมาก่อน แฟชั่นกับนักเรียนไปด้วยกันได้ไหม
พอเราใช้คำว่า ‘แฟชั่น’ กับมัน เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ติดกับการบริโภคนิยมไป แต่ถ้าคิดว่าเรากำลังพูดถึงเรื่องการแต่งตัว แล้วมันก็คือกระบวนการหนึ่งของคนที่จะเลือกสรรสิ่งที่ตัวเองชอบมาใส่ ถ้าเรามองแค่นั้น มันก็คือเรื่องแค่นั้นเลย แล้วทำไมคนคนหนึ่งถึงจะไม่สามารถเลือกสรรสิ่งที่ตัวเองชอบมาใส่บนร่างกายตัวเอง
หลายคนมาถามเราเรื่องทรงผมกับชุดนักเรียน จริงๆ ก็ทำงานเรื่องนี้ไประดับหนึ่งแล้ว มองว่าเรากำลังโฟกัสว่า เลิก-ไม่เลิก ทำ-ไม่ทำ เป็นขาวเป็นดำมากๆ เลย จุ๊ยเข้าใจทั้งพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ที่จะเป็นตัวตน แล้วก็เชื่อว่าสองพื้นที่นี้ คนที่ยึดกุมพื้นที่ไว้ควรจะคุยกัน แต่ไม่มีใครพูดถึงกระบวนการคุยกันเลย
ถ้าสมมุติเด็กๆ วัยรุ่นอธิบายว่า มันสำคัญในการแสดงออกเหมือนกันนะ เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เขาเติบโตไปอยู่ในโลกที่เขาไม่ได้ใส่ชุดนี้แล้ว เขาจะทำยังไง เขาไม่เคยถูกฝึกให้เลือกในสิ่งที่มันเหมาะกับเขา พร้อมๆ กับเหมาะกับพื้นที่สาธารณะอื่นๆ ด้วย ในเมื่อคุณไม่ได้ฝึกเขา ประเด็นแบบนี้ไม่ได้รับการคุยกัน คนที่บอกว่าต้องชุดนักเรียนเท่านั้นก็มี แต่แน่นอนมันเป็นเรื่องที่มันเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมเรา
ดังนั้น มันไม่ใช่เรื่องที่คุยกันแล้วมันจะจบลงง่ายๆ แน่นอน แต่มันเริ่มต้นที่การคุยกัน ถ้ามันเริ่มที่การที่คนหนึ่งบอกว่าหนึ่ง อีกคนหนึ่งบอกว่าศูนย์ มันจะไม่มีวันมาเจอกัน มันต้องค่อยๆ หนึ่งจุดหนึ่ง แล้วศูนย์จุดอะไรสักอย่าง วิ่งมาหากัน
นอกจากเสื้อผ้า เมคอัพก็เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของครูจุ๊ย?
ใช่ คือถ้าไม่แต่งเลยทั้งหน้าก็คือไม่เป็นไร แต่ถ้าแต่งแล้วลืมทาลิปสติก ไม่ได้เลย คือรู้สึกว่ามันไม่สมบูรณ์ มันไม่สมบูรณ์แบบที่เราอยากให้มันเป็น แล้วพอไม่สมบูรณ์ สำหรับจุ๊ยมันเป็นประเด็นมาก มีความเป็นมนุษย์ perfectionist อยู่ระดับหนึ่ง ระดับที่สามีซื้อเสื้อฮู้ดให้ แล้วเสื้อฮู้ดเขียนว่า ‘Not perfect’ เพื่อที่จะเตือนว่า ไม่เพอร์เฟ็คท์บ้างก็ได้
ความ Perfectionist ที่มีคิดว่าอยู่ในระดับไหน
(หัวเราะ) ถ้าเอา extream ที่สุดนะ จุ๊ยว่างานการเมืองเป็นงานที่เครียดไปจนสุดมาก เพราะเราคาดหวังให้ตัวเองต้องทำทุกอย่างเป็นภายในเดือนสองเดือนแรก จนเราเครียดมาก ทำเป็นในที่นี้หมายถึงว่าทำทุกอย่างได้ คือจริงๆ รู้สึกแย่ตลอดเวลาที่ปราศรัยไม่เก่ง ไฮด์ปาร์คไม่เก่ง เรารู้สึกมาตลอด แล้วเราก็เก็บๆ ยิ่งพอมาอยู่ในสภาฯ งานมันยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น มีหลายอย่างมากขึ้น มีพูดในที่สาธารณะแบบวงประชุม เป็นประธานในที่ประชุม แล้วพอเรารู้สึกว่า มันทำไม่ได้ มันไม่เป็นไปตามเป้า หรือมันไม่เห็นเหมือนที่เราวางแผนไว้เลย คือเครียดแบบสติแตกไปเลย ซึ่งนั่นคือช่วงเดือนสองเดือนแรก แล้วสามีบอกว่า เธอ แต่เธอเพิ่งเริ่มงานใหม่เองนะ เธอจะรีบไปไหน เธอเกิดมาเธอก็ไม่เคยพูดในสภาฯ ไม่ใช่เหรอ แล้วทำไมอยู่ดีๆ คาดหวังว่าเธอจะเข้าไปปุ๊บแล้วเธอจะพูดได้เลยเป็นวรรคเป็นเวร โดยที่ไม่กังวล เธอก็ต้องกังวลสิ ปกติ
หลังจากนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นไหม
มันก็เริ่มค่อยๆ คิดว่า ยังไม่ได้มีเวลาปรับตัวเลยนี่หว่า มันต้องมีช่วงเวลาปรับตัวด้วย เวลาสอนนักเรียนทำได้นะ พอมาถึงตัวเองมันก็ยากเหมือนกัน คนจะเห็นจุ๊ยเวลาจะขึ้นเวทีหรือใดๆ ก็ตาม เพื่อนที่สนิทกันในพรรคหลายคนก็จะแบบ เฮ้ย ไปบอกครูจุ๊ยให้หยุดซ้อมได้แล้ว เลิกซ้อมสักที เลิกดูบท คือปล่อยให้มัน go with the flow บ้าง ซ้อมเป็น 10-20 รอบ เยอะมาก จนเพื่อนๆ รู้สึกว่า มากไป
เพราะว่ามันเป็นความใหม่ของอาชีพ?
ใช่ แต่เราไม่เหลือพื้นที่ให้เราได้ลองผิดลองถูกกับมัน สมมุติว่าจาก 0 ไปถึง 100 จะคาดหวังให้ตัวเองได้ 90 ในช่วงเวลาที่มันสั้นมาก แล้วพอมันเครียดไปถึงสุด พอสามีบอกว่า เฮ้ you เหลือพื้นที่ให้ตัวเองบ้างนะ ก็เลยค่อยๆ กลับมาคิดว่า เหลือที่ให้ตัวเองบ้าง แล้วก็เริ่มกลับมาโฟกัสเวลามากขึ้น ก็คือพยายามทำให้ช่วงของการเตรียมตัวมันแข็งแกร่งที่สุด แล้วเดี๋ยวมันจะออกมาเอง
ถ้าเรื่องไหนไม่ถนัดจริงๆ คนดูจะรู้ว่า เรื่องนี้กุลธิดาไม่ถนัด ดูออกง่ายมาก เรื่องไหนที่อินก็จะอินไปสุด คนดูก็จะรู้ว่าเรื่องนี้มันอิน มันก็จะออกมาแบบอินเต็มที่ แต่ก็ค่อยๆ ปรับตัวมากขึ้น เริ่มเหลือพื้นที่ให้ตัวเองมากขึ้น
งานการเมืองด้านการศึกษาที่เริ่มต้น จนถึงตอนนี้มีอะไรประสบความสำเร็จแล้วบ้าง
เอาความสำเร็จวางไว้ก่อนนะ มันมีการพูดคุยเยอะขึ้นแน่นอน แล้วมีผลทั้งสองทาง เรารู้สึกว่าเราพูดเรื่องนี้ มันวนลูป ทำไมมันกลับมาอีกแล้ว ในแง่หนึ่งเราได้ยินมันเยอะขึ้น แต่ในแง่หนึ่งมันวนลูปอยู่ที่เดิม มันเป็นการพูดคุยที่ทำไมมันยังไม่ไปไหนสักที ซึ่งก็มาวิเคราะห์แล้ว แล้วก็พบว่า การพูดคุยเหล่านั้นมันเป็นเรื่องของ 0 กับ 1 อย่างที่ว่า มันไม่ได้มีการค่อยๆ เอามาพูดกัน คือฝั่งหนึ่งอาจจะบอกว่า ยกเลิกไปเลยๆ อีกฝั่งหนึ่งก็บอก ห้ามยกเลิกๆ แล้วมันจะมาถึงตรงไหนที่จะทำให้สิ่งนี้เป็นสิ่งธรรมดาในสังคม หลายครั้งมันก็จะมีความกลัว
สังคมเราถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัว เราก็จะกลัวว่า ถ้าปล่อยให้ทำทรงอะไรก็ได้ จะเกิดการเปลี่ยนทรงผมทุกวัน แต่อย่างหนึ่งที่คุณลืมไปก็คือ ถ้าสิ่งนี้มันเป็นปกติในสังคมแล้ว ไม่มีใครที่จะบ้าเปลี่ยนทรงผมทุกวันหรอก มันเหนื่อยนะ
– On her Finland –
ความสัมพันธ์ระหว่างครูจุ๊ยกับฟินแลนด์เริ่มขึ้นตอนไหน
จุ๊ยเป็นนักเรียน AFS ฟินแลนด์ เวลาเราจะสมัคร AFS เราจะได้เลือกสามอันดับ จำได้ว่าอันดับหนึ่งคือฟินแลนด์ แล้วเราก็ได้ไปฟินแลนด์จริงๆ ซึ่ง ตอนนั้นอายุ 16 เราคิดแค่ว่า เราอยากไปที่ไหนสักที่ซึ่งไม่เหมือนบ้านเรา แล้วก็คิดว่ามีที่ไหนเงียบๆ บ้างเพราะบ้านเราเสียงดัง แล้วที่ไหนมีหิมะบ้าง แล้วบังเอิญมีซานตาคลอส ตอนนั้นอ่านเจอที่ไหนไม่รู้ที่บอกว่าซานตาคลอสมาจากฟินแลนด์ ตอนนั้นก็เลยตัดสินใจเลือกฟินแลนด์เป็นอันดับหนึ่ง
แล้วก็บังเอิญมาเจอครอบครัวที่เขาเข้าใจในความเป็นเรามากๆ พร้อมจะสนับสนุนเราในทุกๆ เรื่อง จำได้ว่าวันแรกที่ไปถึงท่าเรือเฮลซิงกิ ก็เริ่มเรียนภาษาฟินแลนด์เลย จุ๊ยก็เหมือนได้กลับเป็นเด็กใหม่ เพราะมันเป็นภาษาใหม่ วิธีเรียนมันก็เป็นเด็ก เช่น นั่นอะไร นก (lintu) หรือ พ่อมีหนวดยาวเหมือนซานตาคลอสเลย วันนั้นก็ได้เรียนคำว่า ซานตาคลอส (Joulupukki) และก็ได้ไปอยู่ในเมืองเล็กกระจิ๋ว ซึ่งมีแค่ 3,000 คน เล็กกว่าโรงเรียนเราอีก
ตอนแรกที่เราได้ประวัติว่าเมืองขนาดเท่านี้เองเหรอ แต่มันกลายเป็นว่าเราได้เรียนรู้แพทเทิร์นชีวิตอีกแบบหนึ่ง ที่เราตื่นเช้าไปโรงเรียน แล้วบางทีกลางวันอยากกินขนมที่บ้านก็วิ่งกลับมาได้ แล้วก็กลับไปโรงเรียนใหม่ หรือมีกิจกรรมเดินป่าเป็นกิจกรรมยามว่าง มีของที่สามารถหาได้จากป่าแถวนี้ เก็บเห็ด เก็บเบอร์รี เก็บแล้วก็กินเลย หรือเก็บแล้วก็เรียนรู้ไปว่าเห็ดไหนมีพิษ เห็ดไหนไม่มีพิษ
เรื่องภาษาฟินแลนด์ เป็นครั้งแรกในชีวิตเราเลยนะ ที่มีคนมาถามเราว่า ยูอยากเรียนภาษาฟินแลนด์ไหม ซึ่งถ้าเราอยู่เมืองไทย ก็จะรู้สึกว่า คำถามนี้คือคำถามที่ไม่ได้รอคำตอบเราจริงๆ มันจะเป็นคำถามพอเป็นพิธี แต่พอไปที่นั่น แม่อยากได้คำตอบเราจริงๆ เพราะตัวเขาเองก็พูดภาษาอังกฤษได้ เขาอยากรู้ว่าเราอยากเรียนไหม แล้วพอเราตอบว่า อยากเรียน อยากรู้ เขาเป็นครูอยู่แล้ว เขาก็จัดคอร์สให้เราไปเรียนที่เมืองข้างๆ ที่ใหญ่กว่าหน่อย พาเราไปเรียนในห้องสมุดที่เป็นภาษาฟินแลนด์สำหรับชาวต่างชาติ เราก็เลยได้เรียนภาษาฟินแลนด์ที่เป็นทฤษฎีสำหรับชาวต่างชาติพร้อมๆ กับเรียนในบ้าน ดังนั้นจุ๊ยก็จะเรียนด้วยวิธีธรรมชาติมากๆ
ด้วยความรู้สึกว่าเขาสนับสนุนเรา เขาทำในสิ่งที่เราอยากให้เขาช่วยจริง ๆ แล้วก็ถามเราก่อนว่าเราต้องการสิ่งนี้หรือเปล่า พอมองย้อนกลับไปมันคือจุดเริ่มต้นของการเป็นจุ๊ยทุกวันนี้เยอะมากๆ วันนั้นที่เราอายุ 16 ปีมันเป็นช่วงของการฟอร์มตัวตน เป็นช่วงที่เราเติบโตพอดี แล้วได้มาเจอกับประสบการณ์ที่ฟินแลนด์
จากการที่ไปอยู่แค่ปีเดียวของเด็กมัธยมคนหนึ่ง อะไรที่ทำให้ผูกพันกับฟินแลนด์เรื่อยยาวมาจนถึงทุกวันนี้
จุ๊ยคิดว่ามันคือความที่เราเริ่มเข้าใจว่า การที่คนคนหนึ่งเติบโตมา แล้วมันมีคนเคารพ คนคอยสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา มันรู้สึกดีขนาดไหน แล้วเราอยากทำสิ่งนั้นคืนให้กับคนอื่น ง่ายๆ เลย ถ้าตอบให้เรียบง่ายที่สุดคืออันนี้
แต่ว่าสิ่งที่ทำให้เรากลับไปฟินแลนด์หลายๆ ครั้ง คิดว่าเราคงหลงรักในวัฒนธรรมมั้ง ความเรียบง่ายของมัน ความตรงไปตรงมาของมัน ความไม่สลับซับซ้อนของมัน ไม่อยากก็ไม่อยาก ชอบก็ชอบ ไม่ชอบก็ไม่ชอบ ไปก็ไป ไม่ไปก็ไม่ไป ฟินแลนด์มันเหมือนที่พักผ่อน เหมือนเราได้กลับไปหาอะไรที่มันเรียบง่าย มันสบาย มันพักผ่อน มืดๆ ทึมๆ หนาวๆ แต่มันดูเป็นสถานที่พักผ่อนที่ดี เพราะมันเงียบ
นอกเหนือจากนั้นมันก็ยังมีเรื่องของความหนาว จุ๊ยว่ามันก็เป็นส่วนประกอบของความปกติของอากาศ เราต้องอย่าลืมว่าฟินแลนด์ไม่ได้มีแค่ความหนาว มันมีสี่ฤดู เป็นสี่ฤดูที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เป็นสี่ฤดูที่คุณต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตคุณทุกครั้งที่ฤดูมันเปลี่ยน ดังนั้นสิ่งนี้มันทำให้ตื่นตัว มันจำเป็นที่จะต้องเป็นคนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ความหนาวเป็นสิ่งที่เราต้องอดทนผ่านไป มืดอีกแล้ว หนาวอีกแล้ว จำได้ว่าเคยเหนื่อยที่สุดในวันที่หนาว วันนั้นก็จะกลับมาเป็นจุ๊ยเวอร์ชั่นจำศีล ทำกับข้าวเก็บไว้เยอะๆ แล้วก็อยู่แต่ในห้อง ไม่ออกไปไหน อยากมุดตัวอยู่แต่ในผ้าห่ม อาทิตย์หนึ่งเป็นอย่างนั้น ในวันที่มันหนาวแล้วมันอึน มันแย่
จุ๊ยมองว่าตัวเองเป็นคนแอคทีฟในระดับหนึ่ง แล้ววันไหนที่นิ่งมากๆ เหี่ยวมากๆ คือนอนเฉยๆ นั่นแหละ รู้แล้วว่าตัวเองแย่ แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือต้องจัดการอะไรสักอย่าง ต้องเรียกให้ตัวเองลุกขึ้นไปทำอะไรบ้าง ซึ่งอากาศ ณ ตอนนั้นมีส่วนมากๆ แต่คนฟินแลนด์ไม่ได้ถูกสอนแบบนั้นไง คนฟินแลนด์จะถูกสอนว่า ไม่ว่าอากาศจะเป็นยังไง คุณต้องออกไปเดิน เราจะโดนแม่บ่นตลอด ว่าทำไมยูไม่ออกไปเอาออกซิเจน ก็จะแบบ…อ้าวแล้วที่หายใจอยู่มันไม่ใช่ออกซิเจนเหรอ เขาก็จะบอกว่า ไม่ มันเป็นออกซิเจนที่ไม่เฟรช ข้างนอกคืออกซิเจนที่เฟรช ยูต้องออกไปหาอากาศที่มันบริสุทธิ์ ก็เถียงกัน ทุกวันนี้แม่เริ่มดีใจแล้วที่เขาชวนแล้วออกไปเดินกับเขาทุกครั้ง รอบล่าสุดมีเวลาอยู่กับเขาแค่ไม่ถึงวันเต็มๆ เพราะมันไปแป๊บเดียวมาก ก็ยังอุตส่าห์จะชวนไปเดินรอบเมืองที่เขาอยู่
เมืองที่อยู่ชื่อเมืองอะไร
เมือง Pomarkku (โปมาร์กุ) เป็นเมืองที่เวลาไปถึง ตม. เขาก็จะถามว่า ยูจะไปไหน ถ้าคนรู้จักเมืองนี้เขาก็จะยิ้ม แต่ถ้าคนไม่รู้จักก็ต้องเกิดการอรรถาธิบายต่อว่า อ๋อ มันเป็นเมืองทางผ่าน เพราะไม่มีใครจะสนใจมันหรอก มันไม่มีอะไรเลย มันมีโรงงานรองเท้าอยู่หย่อมหนึ่ง ตอนนี้มีแต่คนแก่กับเด็กจำนวนหนึ่ง
โปมาร์กุเป็นเมืองฝั่งตะวันตกใกล้กับสวีเดน ความโชคดีคือ ครอบครัวคุณพ่อเป็นฝั่งตะวันตก ครอบครัวคุณแม่มาจากฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นฝั่งรัสเซีย ทำให้มีโอกาสไปเยี่ยมบ้านฝั่งรัสเซีย ได้กินกับข้าวที่มีความเป็นรัสเซียผสม ได้ยินสำเนียงรัสเซีย ได้เข้าใจฟินแลนด์ในแบบที่มันเป็นตะวันออก แล้วก็เข้าใจฟินแลนด์ในฝั่งที่เป็นตะวันตก
ปู่กับย่าป็นจุดเริ่มต้นของการอยากเรียนภาษาฟินแลนด์จริงๆ จังๆ เพราะว่าเขาไม่พูดภาษาอื่น เขาทำเค้กอร่อย จนทุกวันนี้เป็นอัลไซเมอร์ไปแล้ว แต่ยังทำเค้กอยู่ เด็กคนอื่นอาจจะชอบไปวิ่งเล่นหรือไปออกกำลังกาย แต่สิ่งที่จุ๊ยชอบทำคือไปคุยกับคุณปู่ แล้วเราก็คุยเรื่องการบ้านการเมือง ตลกมากเลย คุยกันด้วยภาษาฟินแลนด์ง่อนๆ แง่นๆ แต่ก็พยายามเข้าใจ แล้วก็คุยเรื่องประวัติศาสตร์ คุยเรื่องการเมืองต่างๆ แล้วมันก็ฟอร์มตัวตนเราเยอะเหมือนกัน
– On her View –
การเป็นครูกับการจับจุดเด่นเรื่องการศึกษามาผนวกกัน เริ่มต้นจากอะไร
จุ๊ยแค่อยากเล่าว่ามันมีระบบการศึกษาในโลกนี้ที่แคร์เด็กนะ เพราะว่าเราได้ประสบการณ์นั้น วันแรกที่แม่พาเราไปโรงเรียน คุณครูแนะแนวซึ่งเป็นครูพละ เขาก็มาถามว่าชอบเรียนอะไรบ้าง เขาก็ช่วยเราจัดตารางสอน เราเป็นเด็กแลกเปลี่ยน เขาก็ค่อนข้างยืดหยุ่น เราเป็นเด็กแลกเปลี่ยนที่เรียนอยู่ในชั้น ม.5 แต่สามารถกระโดดไปเรียนวิชาของเด็ก ม.ต้น ได้ เช่น วิชา กพอ. วิชาทำกับข้าว วิชาการดูแลบ้าน หรือมันจะมีวิชา survival skill ที่พาเราไปเรียนยิงปืนยาว เดินป่า ใช้เข็มทิศเดินป่า อะไรอย่างนี้
วันแรกที่ไปเรียน ครูก็พาไปเดินป่า แล้วพอเราจะสอบ เราก็ยังไปเจรจากับเขาได้อีกว่า ขอเขียนข้อสอบเป็นภาษาอังกฤษนะ เราไม่สามารถเขียนข้อสอบเป็นภาษาฟินแลนด์ได้ แต่ยินดีที่จะนั่งในห้องเรียนที่เรียนเป็นภาษาฟินแลนด์ ทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นภาษาฟินแลนด์ เราไปจัดการเอง ครูก็แบบ…เฮ้ย ไม่ได้ ยูก็ควรจะรู้สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องด้วย แล้วก็แนะนำเราอีกว่า ยูไปห้องสมุดเมืองใหญ่นะ มันมีหนังสือเรื่องที่ยูกำลังเรียนอยู่ ยูก็ไปศึกษาอันนั้น คือยุคนั้นอินเทอร์เน็ตมันก็ไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนทุกวันนี้ ก็ต้องพึ่งพาหนังสือ แล้วเราก็มาเรียน
ในทุกๆ ขั้นตอน เขาสนับสนุนอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ แล้วก็ยินดีที่จะปรับให้มันเข้ากับเรา ที่สำคัญ จุ๊ยว่ามันสำคัญมากเลยที่นักเรียนคนหนึ่งจะรู้ว่า แม้ว่าฉันจะเป็นเด็กแลกเปลี่ยน แต่เขาก็ให้ความสำคัญและจริงจังกับเรา เหมือนนักเรียนคนอื่นๆ
วันหนึ่ง จุ๊ยยกมือบอกเขาว่า จุ๊ยอยากสอบเอ็นทรานซ์แบบเด็กฟินแลนด์ กุลธิดาอยากลอง ก็อยากรู้ว่ามันเป็นยังไง อยากรู้ว่าเขารู้สึกยังไง เราก็รู้สึกว่า ถ้าเพื่อนๆ ที่โรงเรียนได้ทำ เราก็อยากทำด้วย อยากลองด้วย เลยสอบวิชาภาษาอังกฤษแอดวานซ์ไปตัวหนึ่ง แล้วก็ฝรั่งเศสเบสิคไปตัวนึง แล้วก็ได้ certificate เหมือนเขา แต่ก็ไม่ได้หมวก เขาจะได้หมวกสีขาวตอนเรียนจบ ม.6 จุ๊ยจะไม่ได้หมวก เพราะสอบไม่ครบ แต่ได้ดอกไม้เต็มเลย
เมือง Pomarkku เหมือน Moomin Valley ในการ์ตูน มูมิน ไหม
ไม่เหมือน เอา มูมิน ก่อน ทำไมถึงมีมูมิน ต้องย้อนกลับไปดูเวอร์ชั่นออริจินัล มันไม่ได้สดใสแบบที่เห็นนะ มันมาคิกขุเพราะว่าญี่ปุ่นเอาไปทำ มูมิน เป็นบันทึกของ ตูเว ยานซอน (Tove Jansson) มันคือบันทึกในช่วงหนึ่งของเขา ความอัดอั้นต่างๆ นานาที่เขามี ถ้าอ่านมูมินจริงๆ จะพบว่า เราจะเห็นการสนับสนุนซึ่งกันและกันในยามยาก เราเห็นการเดินทางในแง่จิตวิทยาเยอะมาก
จุ๊ยชอบที่สุดคือตอนที่เรียกภาษาอังกฤษว่า ‘Little My’ จริงๆ มันชื่อ ‘ปิกกุมิว’ (Pikku Myy) มันคือ invisible child มันเคยถูกมองไม่เห็น มันมีเรื่องแบบนี้ซ่อนอยู่ในมูมินเยอะมาก ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้จุ๊ยชอบมัน เพราะรู้สึกว่า มันครบรสนะ มันมีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตจิตใจคนมากๆ มันซ่อนปมเกี่ยวกับความอึดอัดเรื่องสงครามเอาไว้ มันมีปมเรื่องความหลากหลายทางเพศอยู่ในนั้น มันเป็นบันทึก ถ้าเราอ่าน บันทึกของ แอน แฟรงค์ ได้ จะมองมูมินเป็นบันทึกของ ตูเว ยานซอน ได้เหมือนกัน เพียงแต่มันถูกทำออกมาคนละรูปแบบ
เรียกว่า ‘มูมิน’ เป็นตัวแทนอย่างหนึ่งของฟินแลนด์ได้ไหม
ความน่าสนใจคือ ตูเวเขียนทั้งหมดนี้ออกมาเป็นภาษาสวีดิชนะ แล้วถ้ามองในแง่ฟินแลนด์ปัจจุบัน ภาษาสวีดิชคือ minority เพราะมีจำนวนน้อยกว่าคนที่พูดภาษาฟินแลนด์เยอะมาก จุ๊ยมองว่า ตูเวคือความฟินแลนด์ในแง่ที่ ไม่ว่าคุณจะตัวเล็กแค่ไหนในสังคมเขา คุณจะมีพื้นที่อยู่ในสังคมนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่พูดภาษาสวีดิช ก็มีพื้นที่ หรือแม้กระทั่งเรื่องความหลากหลายทางเพศในงานนี้ ซึ่งในยุคนั้นเป็นยุคที่ไม่น่าจะเล่าได้ ก็ได้เล่า ในเซนส์นี้ต่างหาก ที่มัน represent ความเป็นฟินแลนด์ ทั้งที่เอาจริงๆ ความเป็นฟินแลนด์เป็นวัฒนธรรมที่เดี่ยวมากๆ คือมี Finlandness ของมันอยู่ แต่มันก็ทำให้สิ่งเหล่านี้มีพื้นที่ แต่มันก็ไม่ใช่ว่าเบ่งบาน โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันก็มาด้วยการต่อสู้ทั้งสิ้น และท้ายที่สุดแล้ว การต่อสู้เหล่านั้น มันจบลงตรงที่ สิ่งเหล่านี้มันได้พื้นที่
ครูแบบไหนที่ครูจุ๊ยอยากเป็น ครูแบบฟินแลนด์หรือแบบธรรมดา
บางอย่างก็คอนโทรลไม่ได้ ตอนที่มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยครั้งแรก จุ๊ยเป็นครูแบบเดิม แบบที่เคยถูกสอนมา ถึงแม้จะพยายามออกแบบห้องเรียนเท่าไหร่ มันก็จะไปไม่ได้ไกลในช่วงแรก จำได้ว่าเราพูดเยอะมาก ทำไมมันพูดเยอะจังวะ แล้วมันไม่น่าเบื่อหรือวะ แล้วมันก็เกิดการปรับมาเรื่อยๆ หาความรู้เพิ่ม ปรับมาเรื่อยๆ
จำได้ว่าตอนแรกคือการใช้ auto pilot ที่เคยถูกสั่งสอนมาก็เห็นแต่แบบนี้ จุ๊ยรู้สึกว่านี่แหละ มันคือคีย์หนึ่งของการเปลี่ยนวัฒนธรรมห้องเรียนในประเทศไทย ถ้าเมื่อไหร่ที่เรามองไม่เห็นว่าแบบอื่นมันเป็นยังไงหรือทำยังไง มันยากเหมือนกันนะ ที่คุณจะเปลี่ยนวิธีทำ กระบวนการให้มันเป็นแบบอื่น หรือว่ามันมีแพ็คเกจของความเคยชินที่มันติดตัวมา
พอกลับมาเป็นครูในมหาวิทยาลัย มีช่วงที่ท้อ ล้มเลิก หรือไม่อยากเป็นครูแล้วบ้างไหม
มี ช่วงที่เหนื่อย มันจะมีช่วงแรกๆ เลย ที่เคยจะต้องพยายามเอาวิชาที่ตัวเองจบมา การสื่อสารข้ามวัฒนธรรมไปสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จริงๆ เขาก็ให้เราออกแบบ แต่พอที่สุดแล้วมันก็ถูกกระบวนการที่ทำให้เราต้องทำแบบนี้สิ แบบนั้นสิ แบบนู้นสิ ทำไมไม่ออกข้อสอบเป็น multiple choice อะไรอย่างนี้ มันจะมีอะไรอย่างนี้มาตลอด แต่เราก็รู้สึกว่า ในความเป็นฟรีแลนซ์ของเรามันก็ยากเหมือนกันที่จะถามว่า แล้วทำไมไม่ทำแบบเราบ้างล่ะ แต่เราก็ใช้วิธีเปิดพื้นที่ไว้ตั้งแต่แรก กับเรื่องอื่น จุ๊ยก็ใช้กับอันนี้ด้วยนะ ก็ค่อยๆ ใช้วิธีเจรจาต่อรอง อะ บอกให้ multiple choice ใช่ไหม ก็ขอปรับเป็นตอบถูกผิดแล้วกัน เขาก็เออ ได้ๆ สิ่งที่หารู้ไม่ก็คือ อนุญาตให้ตอบได้ทั้ง true และ false แล้วก็ให้อธิบายเหตุผล
– Under the Name of MP –
อะไรที่ทำให้ตัดสินใจมาเป็นนักการเมือง
จุ๊ยกับสามีจะคุยกันตลอดว่าเราจะเปลี่ยนสังคมนี้ได้เหรอ ซึ่งมันก็มาจากว่า ตอนเป็นครูก็ทำไปทีละห้องเรียน ดูแลนักเรียนไปทีละห้อง ทีละกลุ่ม ซึ่งแน่นอนไม่ใช่ทุกคนหรอกที่จะเกิดคำถามกับสังคม หรือตั้งคำถามกับสังคมได้ แต่เราก็ทำของเราไป สักพักหนึ่งเราก็รู้สึกว่า เราน่าจะทำได้มากกว่านี้ เราก็เริ่มพูดเรื่องการศึกษาฟินแลนด์ พูดเรื่องการศึกษาที่คนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดี ใกล้เคียงกัน ทั่วกัน แล้วก็มาเป็นคอลัมนิสต์ที่ WAY แล้วเราก็เริ่มคิดว่า เออ…มันพอหรือยังนะ ซึ่งมันมีคำถามอยู่อย่างนี้เรื่อยๆ นะ
จนวันหนึ่งก็มีนักวิชาการที่รู้จักกันมาบอกว่า เดี๋ยวจะมีอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล-เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่) ส่งข้อความติดต่อมานะ เรื่องพรรคการเมือง เคยได้ยินหรือเปล่า ตอนนั้นก็ได้ยินผ่านๆ ไม่ได้รู้จัก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นการส่วนตัว ไม่ได้รู้จักอาจารย์ปิยบุตรเป็นการส่วนตัว ไม่ได้มีอะไรกับ ‘ตระกูลจึง’ แม้ว่านามสกุลจะคล้ายกัน (หัวเราะ)
อาจารย์ปิยบุตรส่งข้อความมาว่าอะไร
ยาวมาก มีความเป็นทางการ ผมและนายธนาธรจะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้…แต่เรารู้มาก่อนอยู่แล้วไงว่าสิ่งนี้จะมา ก็วันนั้นยังไม่มีอนาคตใหม่เลยนะ วันนั้นต้นปี เราแถลงข่าวคำว่าอนาคตใหม่ตอน 15 มีนาคม 2561
วันนั้นเป็นวันที่ My Marathon (ภาพยนตร์ของ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์) เข้าฉาย สามีก็มองแล้วก็บอกว่า ไปคิดให้จบก่อนหนังฉาย จะได้ดูหนังสนุก เดี๋ยวมันค้าง แล้วสักพักจุ๊ยก็ดู message อยู่นั่นแหละ แล้วเขาก็บอกว่า ก็ตอบตกลงไปเลย ก็ตอบไป “ตกลงค่ะ” พอมาคุยกันทีหลัง เขาก็บอกว่า โอ๊ย รู้ตั้งแต่เปิด message มาแล้ว เห็นตาก็รู้แล้วว่าจะทำ
เพราะ Message ก่อนหนังเริ่มอย่างเดียวที่ทำให้ตัดสินใจ?
แต่มันไม่ใช่เดี๋ยวนั้นไง ต้องเท้าความไปถึงตอนที่อาจารย์ปิยบุตรและคุณธนาธรจะตั้งสิ่งนี้ขึ้นมา ที่ยังไม่เรียกว่าพรรคการเมือง ตอนนั้นเราเริ่มคุยกันแล้วว่า สิ่งนี้มันคือยังไง คุณธนาธรเป็นใคร ก็เริ่มไปหาข้อมูลหลังจากนั้น
ครูจุ๊ยเชื่อใจเขาสองคนตั้งแต่เริ่มต้น?
จริงๆ จุ๊ยอ่านบทความที่คุณเอก (ธนาธร) ให้สัมภาษณ์ 10 ปีย้อนหลัง แล้วก็มาดูบทความที่เขาให้สัมภาษณ์ ณ ปัจจุบัน ก่อนที่จะเริ่มตั้งพรรค ทำไมก็ไม่รู้ จุ๊ยรู้สึกว่าคนคนนี้จะเป็นเหมือนเดิม จากบทความนั้นของเขากับบทความในวันนี้ ส่วนอาจารย์ป๊อก (ปิยบุตร) เรารู้จักเขาในฐานะนักวิชาการที่ทำเรื่องนี้มานานอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เราก็เลยรู้สึกว่า ส่วนผสมนี้มันน่าจะเป็นพื้นที่ที่เขาพูดภาษาเดียวกับเรา แล้วเขาก็ให้พื้นที่เราได้
ก่อนจะเข้าไป มองภาพนักการเมืองเป็นอย่างไร
เหมือนคนทั่วๆ ไป การเมืองก็คืออะไรที่ไม่ใช่เรื่องของเรา อะไรที่เราไม่น่าจะเข้าไปเกี่ยวด้วยได้ เป็นอาชีพหนึ่งที่เราไม่ใฝ่ฝันอยากทำ ไม่คิดว่ามันน่าทำ แล้วก็เป็นโลกของคนอายุเยอะๆ
การเปลี่ยนผ่านจากที่เป็นครูมาเป็นนักการเมือง มีความยากและอุปสรรคอะไรบ้าง
มันมีทั้งเรื่องที่เรารู้สึกว่าน่าจะลำบากมากๆ ขึ้นจากวันนั้น และเรื่องที่เรารู้สึกว่ามันมีทางไป อย่างเรื่องการทำให้คุณครูได้รู้สึกว่าตัวเองได้มีพื้นที่และมีคนฟังเขา อันนี้จุ๊ยรู้สึกว่ามันดีขึ้นเยอะมากในหมู่คุณครูหลายๆ คน แต่พอมาพูดเรื่องระบบราชการที่มีโครงสร้างต่างๆ โครงสร้างกระทรวง วิธีการทำงาน วิธีการจัดการ เราเห็นเลยว่ามันยากขึ้นเยอะมาก เมื่อเราไปเห็นรายละเอียด เหมือนเราเล่นเกม ‘โหด มัน ฮา’ เปิดไปเจอหิน งั้นไปอีกทางหนึ่ง อันนี้ยัดกระดาษไว้เต็มเลย ออกไปไม่ได้ แต่ว่าเป็นกระดาษที่ถูกวาดให้เป็นอิฐ เราอาจจะพังมันออกไปได้ แต่เราไม่แน่ใจว่าเราจะพังมันออกไปได้หรือเปล่า เป็นความรู้สึกแบบนี้ แต่เราก็ยังพอมองเห็นอยู่บ้างว่าคนที่อยู่ในระบบนี้ พอเราพูดเรื่องระบบมันจะชนตลอด แต่พอเราพูดเรื่องคนมันจะมีความพยายามที่อยากทำให้ดีขึ้น
ครูมันก็เป็นอิฐ แต่มันอาจจะเป็นอิฐมวลเบา ลองขยับมันดูไหม มันอาจจะไม่ได้ยาแนวไว้แน่นมากก็ได้ เดี๋ยวครูลองขยับก้อนนั้นทีก้อนนี้ที มันมีคนที่ทำให้เรารู้สึกแบบนี้นะ ไม่ได้เยอะ แต่มี
เป็น สส. มาแล้วครึ่งปี มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตไปบ้าง
ที่ยุ่งแล้วก็ยุ่งหนักกว่าเดิม เมื่อก่อนเป็นฟรีแลนซ์ แต่งาน สส. เป็นงานที่สองนะที่เป็นงานประจำ งานแรกคืองานที่เรียนจบมา ทำงานที่สถานทูตฟินแลนด์ปีหนึ่ง แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโท นี่คืองานประจำงานที่สองในชีวิต
เมื่อก่อนเป็นฟรีแลนซ์มันก็จะยุ่งอีกแบบ มันทำงานนี้ที งานนู้นที ก็จัดเวลาอีกแบบ แต่งานนี้มันคุมเวลาเราลำบาก อย่างเช่น กรณี สส. วอล์คเอาท์ ตารางเปลี่ยนไปหมดเลยจ้ะ เอ้า ทำอะไรต่อล่ะ หรือการเดินทางที่มันเยอะมากๆ เช่น จู่ ๆ ก็ได้รับคำเชิญมาจากเมียนมาร์ เอ้า แทรกยังไงดี ต้องไปจัดการนั้นนี้โน้น แต่จุ๊ยไม่ได้รู้สึกว่ามันจัดการไม่ได้ ยังพอจัดการได้อยู่
แต่อันที่รู้สึกว่ามันเยอะขึ้น และทำให้ตัวตนของเราเปลี่ยนไปเยอะ คือเรารู้สึกว่า จะพูดอะไรแต่ละครั้ง เราคิดเยอะกว่าเดิมเยอะมาก เพราะเรามีพื้นที่อยู่เล็กๆ ของเรา เราอยากใช้มันให้มีประสิทธิภาพ ให้คุ้มที่สุดในแต่ละครั้งที่เราพูด เราก็เลยจะคิดเยอะกว่าเดิม คิดถึงประเด็นที่ตัวเองทำมาตลอด คิดถึงพรรค คิดถึงหลายๆ อย่างที่อยู่เป็นบริบทรอบๆ มัน
อย่างในเฟซบุ๊คส่วนตัว จุ๊ยพูดอะไรน้อยลงเยอะมาก เพราะรู้ตัวว่าถ้าพูดอะไรแล้วจะเป็นประเด็นหรือไม่เป็นประเด็น อย่างหนึ่งที่เราไม่อยากให้บทสนทนาที่เราพยายามจะสร้างเอาไว้มันถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปที่เรื่องอื่น เรารู้สึกว่าชีวิตส่วนตัวเรามันมีมิชชั่น ก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำมิชชั่นนั้น และชีวิตส่วนตัวก็จะค่อยๆ หายไป เป็นส่วนหนึ่งของมิชชั่นนั้นไปด้วย
ในฐานะนักการเมืองหน้าใหม่ บรรยากาศในสภาฯ ตอนที่เข้าไปช่วงแรกๆ เหมือนที่คิดไหม
มันแสบตา แสบจมูก อากาศอะไรกัน จนป่านนี้ก็ยังแพ้อยู่ แรกๆ ก็ปรับตัวกับเรื่องนี้เยอะพอสมควร เพราะว่าเรื่องกายมันเอฟเฟ็คท์ มันอึดอัด ทำให้เราทำงานไม่สะดวก ก็ปรับตัวกับเรื่องนี้ไป
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องปรับตัวกับบรรยากาศรอบๆ ที่มันมีวิธีสื่อสารต่างๆ นานา มีความ ‘ท่าน’ มีความอะไรเต็มไปหมด อันนี้คือสิ่งที่เราไม่คุ้นชิน ก็เคยลองนั่งคุยกับข้าราชการที่เขาอายุใกล้ๆ เราว่า ไม่เรียกได้ไหม เรียกคุณจุ๊ยแทนท่านได้ไหม เขาก็อธิบายมาว่า มันมีความจับจ้องกันอยู่นะ ถ้าเขาเรียกจุ๊ยไม่เหมือนคนอื่น เดี๋ยวมันจะเป็นปัญหา พอเราได้ฟังแบบนี้ก็รู้สึกว่าจริงๆ ก็ไม่ได้ชอบสิ่งนี้ แต่มันจะเป็นปัญหาสำหรับเขา
เรียนรู้ความเป็นมนุษย์อะไรบ้างจากการทำงานการเมือง
เราเรียนรู้ที่จะเข้าใจว่ามีคนที่พร้อมจะทำอะไรเยอะมากเพื่อสิ่งที่เขาต้องการ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะคืออะไรก็ตาม มันพร้อมในสเกลที่ใหญ่กว่าที่เราเคยเข้าใจเยอะมาก แต่มันมีคนพร้อมที่จะทำอะไรแบบนั้น หลายวิธี หลายแบบ แล้วไม่ใช่คนจำนวนน้อย มันเป็นจำนวนเยอะมาก
เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราเชื่อมาตลอด อย่างเรื่องข้าราชการ เราไม่อยากให้เรียกท่าน ไม่อยากทำอย่างนี้ แต่มันใช้วิธีการบอกว่าห้ามทำกับฉันอย่างเดียวไม่ได้ เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วยว่า สถานะ พื้นที่ที่เขาอยู่ มันเป็นยังไง แล้วเมื่อเราเข้าใจเขา สิ่งที่เราแสดงออกให้รู้ว่าเราเข้าใจเขา สิ่งที่เราได้คืนมา บางครั้งเวลาเขาอยู่กับเรา เขาได้เป็นคนแบบที่เราก็อยากให้เขาเป็นน่ะ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่จุ๊ยเก็บมาอย่างละอันพันละน้อย แล้วมันเป็นสิ่งที่จุ๊ยเห็นว่ามันสำคัญมากๆ กับการเปลี่ยนวัฒนธรรมในองค์กร มันอาจจะมองดูเป็นเรื่องเล็กมากนะคะ แต่ว่าสิ่งที่สังคมนี้ขาดไป คือความเข้าใจแบบนี้ คือความรู้สึกเอื้ออาทรซึ่งกันและกันในการเปลี่ยนแปลง
ถ้าวันหนึ่งพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ไปต่อ สำหรับครูจุ๊ย วางแผนไว้อย่างไร
ก็อยากทำงานที่เป็นการ advocate เรื่องนี้อยู่ ยังอยากทำงานที่ได้พูดในเรื่องลักษณะนี้อยู่ จะเป็นงานในลักษณะมูลนิธิ หรือจะกลับไปเป็นฟรีแลนซ์ แต่หาอะไรที่มันเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทำ เช่น ก็ยังอยากขีดเขียนอะไรอยู่ ยังอยากกลับไปสอนอยู่บ้างในสิ่งที่ตัวเองมีประสบการณ์มา
คือยังอยากทำงานในลักษณะการขับเคลื่อนอยู่ ถึงแม้จะไม่ใช่นักการเมืองก็ตาม