Gap year: ตามหาตัวตนในสังคมที่ไม่อนุญาต

การค้นหาตัวตนควรจะเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตั้งแต่เกิดหรือไม่?
ทุกวันนี้เราก้มหน้าก้มตาเรียนหนังสืออย่างหนักเพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยความชอบจริงๆ?
หรือมันเป็นเพียงไม่กี่ทางเลือกที่สังคมบีบให้เราต้องเดิน?

กองบรรณาธิการ WAY ระดมแบบสำรวจจากความคิดไม่ตกของตัวแทนผลผลิตทางการศึกษาที่ก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่า ชีวิตควรทำอะไรต่อหลังเรียบจบ ภายใต้ระบบสังคมที่การออกนอกเส้นทางไปแสวงหาตัวตนผ่านวัฒนธรรม Gap year เป็นเรื่องแปลกหน้า

คำถามคือ สิ่งใดกันที่เป็นขวากหนามขวางกั้นการค้นหาตัวเอง

วิถี Gap year 

Gap year คือการเว้นช่วงระยะเวลาก่อนหรือหลังชีวิตมหาวิทยาลัย เพื่อออกไปแสวงหาตัวตน ค้นหาตนเอง เรียนรู้โลกผ่านประสบการณ์ชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นอาสาสมัคร ทำงานหาเงิน ท่องเที่ยว ตลอดจนเรียนรู้เก็บเกี่ยวทักษะต่างๆ ก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานจริง

เว็บไซต์ gapyeartrails.com กล่าวถึงที่มาของ Gap year ว่า มีต้นกำเนิดมาจาก ‘Grand Tour’ ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งชายหนุ่มในอังกฤษจะถูกส่งไปทั่วยุโรปเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์เป็นเวลา 3 ปี อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกี่ยวกับ Gap year ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนกระทั่งทศวรรษที่ 1960 เมื่อกลุ่มคนรุ่น Baby boomers ในโลกตะวันตกต้องการหลีกหนีจากความรุนแรงของภาวะสงครามที่ส่งต่อมาจากรุ่นพ่อแม่ และปรารถนาที่จะออกไปสำรวจโลกกว้างมากขึ้น

วัตถุประสงค์แรกของ Gap year คือการเรียนรู้วัฒนธรรมระหว่างประเทศ นำมาซึ่งการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ในช่วงทศวรรษที่ 1960 และ 1970 เกิดบริษัท องค์กรต่างๆ มากมายที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ Gap year เช่น Topdeck, Flight Centre, Raleigh International เป็นต้น

ผลพวงที่เกิดตามมาคือ เหล่าคนหนุ่มสาวต่างพากันออกไปท่องโลกค้นหาตัวตนทั้งก่อนหรือหลังชีวิตมหาวิทยาลัย จนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

Gap year เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศฝั่งยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พัฒนาจนกลายเป็นเรื่องปกติที่หนุ่มสาวในประเทศเหล่านี้มักใช้เวลาในช่วงรอยต่อของชีวิตการเรียนกับชีวิตการทำงาน ไปกับการเดินทางท่องเที่ยวต่างที่ต่างถิ่น ทำกิจกรรมเพื่อสังคม สั่งสมประสบการณ์และสร้างทักษะใหม่ๆ 

สำหรับหลายคน การได้ออกไปเผชิญโลกภายนอกอาจทำให้เข้าใจชีวิต เห็นโลกกว้าง เรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง นอกจากนี้หลายๆ มหาวิทยาลัยในต่างประเทศยังมีการสนับสนุนเงินทุนให้เด็กได้ออกไป Gap year อีกด้วย 

หากมองย้อนกลับมายังประเทศไทย Gap year อาจเป็นวัฒนธรรมที่ฉีกขนบธรรมเนียมของสังคมไทยที่ผู้ใหญ่มักคาดหวังให้ลูกหลานต้องรีบศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นหรือหางานทำทันทีที่เรียนจบ วัฒนธรรมการออกไปท่องโลกอย่างชาวตะวันตกจึงยังไม่เป็นที่นิยมและเป็นเรื่องแปลกใหม่ในสังคมไทย หรือกระทั่งเป็นความฟุ่มเฟือยหรือค่านิยมของคนบางกลุ่มเท่านั้น และเอาเข้าจริงอาจมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าถึงวัฒนธรรมที่ว่านี้ได้ 

คำตอบแบบ insight จากเด็ก ม.6 และนักศึกษาปี 4 จำนวน 90 คน   

WAY สำรวจความเข้าใจของเด็กไทยเกี่ยวกับ Gap year พบว่า เด็กส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Gap year จากการตอบแบบสอบถาม จำนวน 64 คน (71.11 %) รู้จักว่า Gap year คือช่วงระยะเวลาหลังจากเรียนจบ ม. 6 หรือปี 4 ในการหยุดพัก ออกไปค้นหาตนเอง ค้นหาสิ่งที่ชื่นชอบในสถานที่ต่างๆ ก่อนจะกลับมาศึกษาต่อหรือก่อนทำงานจริง ขณะเดียวกัน เด็ก 26 คน (28.89%) ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจความหมายของ Gap year

1 ปีของ Gap year และสิ่งที่อยากทำมากที่สุด

ตัวเลขที่บ่งชี้ถึงความต้องการของนักเรียน นักศึกษา และมีนัยสำคัญถึงระบบการศึกษา พบว่า เด็กจำนวน 39 คน (43.3%) ตอบว่า อยากค้นหาตัวตนด้วยการลองทำสิ่งใหม่ๆ ส่วนนักเรียนจำนวน 18 คน (20%) ต้องการทำงานหารายได้เพื่อใช้ในการศึกษาต่อมหาวิทยาลัย โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ขณะเดียวกัน มีนักเรียนที่ต้องการเข้าโครงการแลกเปลี่ยน (Work & Travel) เพื่อท่องเที่ยวหาประสบการณ์ใหม่ๆ จำนวน 11 คน (12.2%) เนื่องจากความเครียดจากระบบการศึกษาที่สะสมมาโดยตลอด และสุดท้ายอีก 11 คน (12.2%) ยังไม่ทราบว่าควรทำอะไรในช่วง Gap year

จากคำถาม ‘ความเป็นจริงในสังคมไทย เปิดโอกาสให้คนๆ หนึ่งสามารถ Gap year ได้หรือไม่’ ตัวเลขบ่งชี้ผลการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างว่า นักเรียน นักศึกษาจำนวน 41 คน (45.55%) ตอบว่า สังคมไทยเปิดโอกาสให้ Gap Year ได้ แต่โดยส่วนใหญ่มีวงเล็บตบท้ายด้วยเงื่อนไขที่ว่า หากมีความพร้อมทางการเงินและครอบครัวสนับสนุน

อีกสัดส่วนที่ค่อนข้างสูสีกันคือคำตอบที่บอกว่า สังคมไทยยังไม่เปิดโอกาสให้ Gap year จำนวน 33 คน (36.67%) เพราะยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ขัดขวางต่อการพักเบรค อย่างเช่น วัฏจักรการศึกษา หรือความเหลื่อมล้ำทางโอกาส มี 6 คน (6.67%) ให้ความคิดเห็นว่า เป็นไปได้ยาก มีข้อสังเกตคือจำนวนผู้ที่ตอบคำถามแรกว่า ไม่รู้จัก Gap Year และยังยืนยันคำตอบเดิมเหลือเพียง 10 คน (11.11%)

Top 4 เหตุผลขัดขวางการ Gap year ของเด็กไทย

  • ปัจจัยระดับท็อปที่นักเรียน นักศึกษา ให้คำตอบไปในแนวทางเดียวกัน คือ เศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคอันดับ 1 ที่ตัดโอกาสไม่ให้พวกเขาออกค้นไปหาอาชีพ ความใฝ่ผันที่ตัวเองชอบหรืออยากจะเป็น ผ่านเหตุผลต่างๆ เช่น “สถานะทางการเงินของที่บ้านไม่เอื้อให้ออกไปทำกิจกรรมที่ว่าได้ จบปุ๊บต้องรีบหางานเพื่อจะได้มีเงิน” “เพราะไม่มีทุน” “เงินไม่พอซัพพอร์ตค่าใช้จ่าย” “ที่บ้านไม่มีรายได้ พ่อแม่อายุมากแล้ว”
  • สังคมไทยอันมีหัวหน้าครอบครัวเป็นประมุข การตัดสินใจสำคัญๆ ของชีวิต ไม่สามารถทำได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะในช่วงวัยเรียน “เหตุผลหลักคือ ทางบ้านไม่เข้าใจ และมองว่าเสียเวลา” “ครอบครัวอยากให้เรียน ป.ตรี ให้จบก่อน” “ที่บ้านไม่สนับสนุน Gap year ต้องการให้เรียนต่อและจบเร็วๆ เพื่อมาทำงานหาเงินต่อไป” “ตั้งแต่คน Gen Y ขึ้นไป Gap year เป็นสิ่งที่แปลกใหม่ พวกเขากลัวที่เราจะเอา Gap year มาเป็นข้ออ้างในการไม่อยากเรียนมากกว่า” “ครอบครัวบังคับว่าจบ ม.6 ต้องสอบเข้าเลย”
  • เงื่อนไขด้านระยะเวลา วัฏจักรของระบบการศึกษาที่ไม่อนุญาตให้นั่งนิ่งๆ คิดทบทวนว่าควรไปต่อหรือพอแค่นี้ จากเด็ก ม.6 ที่ต้องเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย และนักศึกษาปี 4 ที่เตรียมตัวจะไปจ่ายภาษีในฐานะคนทำงาน “สภาพสังคมรอบข้างทำให้เรียนจบแล้วต้องทำงานเลย” “ถ้าไม่ติดมหาลัยฯ และคณะที่อยากเข้า ก็คงจะลองมาทบทวน และไป Gap year ลองทำหลายๆ อย่างเพื่อค้นหาตัวเอง” “คงไป Gap year ได้ ถ้าเราดร็อป”
  • บริบททางสังคมที่ต้องมองความเป็นจริงก่อนความฝัน รวมทั้งความไม่แน่นอนต่างๆ “สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศตอนนี้ยังไม่เอื้ออำนวยให้ใช้ชีวิตอย่างอิสระและสบายใจ” “สภาพสังคมที่มักมองว่าถ้าใครไม่ติดมหาลัยจะถูกนินทาเป็นขี้ปากคนอื่น” “ความรู้สึกของเราตอนนี้ ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน เราจะแอบมีความรู้สึกผิดเล็กๆ ที่มีจะ Gap year หรือมี Gap year ได้อย่างไม่สบายใจ เนื่องจากผลกระทบของโควิด ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของเงิน เรากังวลว่าจะไม่สามารถหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายของตัวเองได้”

ในขณะที่ตัวตนของคนหนุ่มสาวยังล่องลอยอยู่ที่ไหนสักแห่ง รอให้ออกไปค้นหา ก็มีปัจจัยหลายๆ เข้ามากำหนด คำถามต่อตัวเองว่า เราชอบอะไร มีความฝันว่าอะไร กลับถูกแทนที่ด้วยคำถามว่า สังคมต้องการให้เราเป็นอะไร และทำอย่างไรต่อกับชีวิตนี้

Gap Years ได้ไหมในสังคมไทยแบบนี้ 

แม้วัฒนธรรม Gap year ในต่างประเทศจะเปิดกว้างและไม่ถูกตั้งคำถามมากนัก ทว่ามองย้อนกลับมายังประเทศไทย Gap year ยังดูเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลเกี่ยวโยงตั้งแต่บริบทครอบครัวที่พ่อแม่บางคนยังตั้งความหวังต่อลูกถึงความสำเร็จในอนาคตมากกว่าความสุขในการใช้ชีวิต

อีกทั้งระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นทักษะในการใช้ชีวิต ตลอดจนทักษะที่ต่อยอดถึงอาชีพทำมาหากิน

เห็นได้จากแบบสอบถามที่เหล่านักเรียน นักศึกษา ต้องการอยากใช้เวลาเพื่อค้นหาตนเองว่าแท้จริงแล้วตัวเองฝันใฝ่ในสิ่งใด คำถามและคำตอบเหล่านั้นไม่ค่อยเกิดขึ้นในห้องเรียนและระบบการศึกษา อาจเป็นเพราะสังคมไทยยังไม่อนุญาตให้เด็กลองผิดลองถูก จึงทำให้ต้องเดินตามกรอบเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่จะเกิดขึ้น

เมื่ออ่านถึงตรงนี้แล้ว WAY อยากชวนคิดต่ออีกสักนิดว่า ในบริบทสังคมไทยจะสามารถ Gap year ได้ไหม เมื่อกวาดตามองผู้คนบนท้องถนนที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน เดินให้ไว และรีบประสบความสำเร็จ แล้วถ้าเด็กสักคนจะยังหาตัวตนหรือสิ่งที่ชอบไม่เจอ จะเป็นความผิดมหันต์เลยหรือ

Author

ณิชกานต์ ภักดี
สาวอำเภอวารินผู้พลัดถิ่นมาอยู่ที่บ้าน WAY สนใจประเด็นร้อนทางสังคม และชื่นชอบการมองสังคมผ่านการอ่านงานวรรณกรรมและซีรีส์ Netflix

Author

มานิตา โอฬาร์ศาสตร์
ละอ่อนน้อย ผู้กำลังปั้นตัวในบ้าน WAY ใฝ่ฝันอยากปรุงแต่งจริยธรรมและจรรยาบรรณลงบนหม้อต้มสื่อ หล่อหลอมมอมเมา mindset ของผู้อ่านให้เข้าถึงความเป็นคน นับถือจินตนาการ ความสัมพันธ์ และบ่อความคิดของมนุษย์

Author

ดวงนฤมล บุญแก้ววรรณ
นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยพะเยา สนใจและติดตามการเคลื่อนไหวทางสังคม แต่บางครั้งก็แอบหนีเข้าป่า และดื่มชาร้อน

Illustrator

ญาดา พระนคร
เด็กฝึกงานสายกราฟิกจากเชียงใหม่ มีใจรักในการเลี้ยงสัตว์ และปลูกต้นไม้ทุกชนิด ความใฝ่ฝันสูงสุดในชีวิตคือการทำงานด้านกราฟิกควบคู่ไปกับการเปิดสวนสัตว์ และร้านขายต้นไม้

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า