อีกกี่รุ่นที่ต้องหมดหวัง อีกกี่รุ่นที่ฝันสลาย ชีวิต ‘วัยทีน’ ที่หายไปในยุคโรคระบาด

“บางวิชาเราต้องใช้ device หรืออุปกรณ์เชื่อมต่อ แต่อุปกรณ์พวกนั้นอยู่ในมหา’ลัย มันเลยทำให้เราไม่ได้ลองใช้อุปกรณ์ด้วยตัวเอง” ไชยา-ไชยา แสงจันทร์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 

“เรียนออนไลน์มีปัญหาเรื่องเทคนิคค่อนข้างเยอะ บางครั้งไม่สามารถเข้า Google Classroom ได้ ตอนจดบันทึกก็ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องจดจากสมุด บางทีก็ตามไม่ทัน สัญญาณอินเทอร์เน็ตจู่ๆ ก็ขาด ได้เนื้อหาไม่เต็มที่” เอ็ม-ขวัญแผ่นดิน ไชยรบ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

“ตอนแรกผมไม่มีโน้ตบุ๊ค โทรศัพท์ก็เป็นเครื่องเก่ามาก โควิดมาผมเลยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ต้องซื้อโทรศัพท์ใหม่ โน้ตบุ๊คใหม่ ไอแพดก็ไม่มี” เต้ย-ศิริศักดิ์ นันทะเสน นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

“ผมอยู่หอกับเพื่อน พอเรียนออนไลน์มันก็กระทบ ถ้าเรียนพร้อมกัน คนหนึ่งต้องใส่หูฟัง หรือไม่อีกคนก็ต้องออกไปเรียนตรงระเบียง” โอบ-พงษ์พล นารี นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

เสียงครวญสารพัดกับปัญหาการเรียนออนไลน์ของนักศึกษาไทยยุค COVID-19 ที่ทำให้พวกเขาไม่อาจเก็บเกี่ยวความรู้ได้เต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น WAY ชวนคุยกับ ไชยา, เอ็ม, เต้ย และโอบ 4 นักศึกษา 2 สถาบัน ถึงปัญหาการเรียนในภาวะโรคระบาดที่กินเวลายาวนานมากว่าปีครึ่ง นอกจากความรู้ที่ขาดหาย พวกเขาสะท้อนอีกว่า ประสบการณ์อีกหลากหลายที่ควรจะได้รับในชีวิตการเป็นนักศึกษาก็แหว่งวิ่นไปด้วยเช่นกัน

สิ่งที่ขาดหายคือ โอกาสทางสังคม

ตื่นนอน กินข้าว เรียนหนังสือ กินข้าว เข้านอน ชีวิตวนลูปอยู่ในที่พักหรือห้องสี่เหลี่ยม ทั้งนักเรียน นิสิต นักศึกษา ยามที่โควิดมาเยือน 

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเมื่อโควิดระบาด สิ่งที่ขาดหาย คือการได้พบปะพูดคุย และการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

“ปกติผมทำค่ายติวให้น้องๆ ด้วย แต่ก็ต้องโดนยกเลิกไป โควิดมันทำให้เราเสียโอกาสหลายอย่าง เพราะติวออนไลน์มันทำได้ไม่ดีแบบออนไซต์ แล้วก็ไม่ได้เจอเพื่อน ทำให้ไม่สนิทกันเท่าที่ควรจะเป็น แล้วยังมีกิจกรรมและชมรมหลายอย่างที่ผมอยากทำ แต่ทำไม่ได้ มันทำให้ผมเสียดาย ทั้งๆ ที่เราน่าจะได้รู้จักคนเยอะกว่านี้” เอ็มพูด

เช่นเดียวกับโอบและเต้ยที่เห็นว่า เมื่อเข้าสู่รั้วมหา’ลัย การได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนจะทำให้ได้เจอสังคมใหม่ๆ ได้เปิดโอกาสทางสังคมให้กว้างขึ้น ทว่าสิ่งเหล่านี้กลับต้องหายไป เพราะการเข้ามาของโควิด-19 โอบกล่าวว่า

“สำหรับผม ปี 1 ควรจะเป็นปีที่ได้รู้จักคนเยอะที่สุดแล้ว ปกติถ้าไม่มีโควิดมันก็มีกิจกรรมให้ทำเยอะ มันน่าเสียดายที่ทำไม่ได้ พอโควิดเข้ามาก็ไม่มีกิจกรรมอะไรเหลือเลย มีแค่ช่วงแรกที่ได้เจอหน้าพี่ๆ เพื่อนๆ บ้าง” 

โอบ-พงษ์พล นารี

“เวลาเรียนออนไลน์ก็ไม่เคยเจอเพื่อนบางคนเลย สังคมก็แคบลง กิจกรรมก็ไม่ได้ทำ เหมือนได้ใช้ชีวิตมหา’ลัยแค่ตอนปี 1 เทอม 1 แต่พอเทอม 2 ไม่เจอหน้าใครแล้ว เพราะโควิดระบาดหนัก ชีวิตเราเลยขาดหายไปช่วงหนึ่ง” เต้ยเสริม

สิ่งที่ขาดหายคือ การได้เรียนรู้อย่างเต็มที่

นอกจากการได้พบปะพูดคุยและได้เจอเพื่อนใหม่ๆ สิ่งหนึ่งที่ขาดหาย คือการได้เรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

บางคณะจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์และห้องแล็บ อย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ เต้ยและไชยาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โควิด-19 ทำให้เขาทั้งคู่ไม่สามารถเข้าห้องแล็บและไม่มีโอกาสได้ทดลองใช้เครื่องมือของจริง

“บางวิชาช่วงปี 2 เทอม 1 ต้องเข้าแล็บ ตอนที่โควิดซาๆ ยังพอเข้าได้บ้าง แต่พอโควิดหนักขึ้น อาจารย์ก็ให้ไปหาความรู้รอบตัวหรือให้อ่านงานวิจัยเอาเอง แต่เราก็ไม่ได้แตะอุปกรณ์อยู่ดี” เต้ยกล่าว

“ในส่วนของแล็บ มันเป็นอุปกรณ์ที่เกินกำลังเรา เพราะเป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ อาจารย์ก็เลยเอาเอกสาร หรือว่าวิดีโอที่ทำมาให้เด็กดู แล้วก็อธิบายแต่ละจุดๆ แต่เราไม่ได้จับของจริง ก็จะไม่รู้ว่าปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่วิศวกรไม่ควรมองข้ามเลย มันคืออะไร เราก็จะพลาดจุดนั้นไป” ไชยาพูด

นอกจากนี้ไชยาเล่าว่า บางวิชาก็ต้องซื้ออุปกรณ์ประกอบการเรียนด้วย แม้จะเป็นเรื่องปกติ แต่ช่วงการระบาดทำให้ร้านค้าบางร้านต้องปิดตัวลง และร้านที่ยังเปิดอยู่กลับเพิ่มราคาอุปกรณ์ให้สูงขึ้น 

“อุปกรณ์บางอย่างก็จำเป็นต้องซื้อเอง ในละแวกที่ผมอยู่ก็ยังพอมีร้านเปิดขายบ้าง แต่ราคาก็จะดีดตัวขึ้นไป เนื่องร้านที่ราคาถูกก็ปิดไปแล้วเพราะโควิด”

ไชยากล่าวอีกว่า ปัญหาที่เขาพบคือการติดขัดทางเทคนิค จึงทำให้ต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม แม้ว่าอาจารย์จะมีเตรียมไว้ให้ แต่นักศึกษาก็ไม่สามารถเดินทางไปเอาได้ เขาจึงตัดสินใจการสั่งสินค้าทางออนไลน์ แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการจัดส่ง จึงทำให้การเรียนและการสอบภาคปฏิบัติติดขัดและล่าช้าไปด้วย

“วิชาดิจิทัลที่ผมเรียน มันต้องใช้อุปกรณ์ชื่อว่า ESP 32 แต่ผมมักจะเจอปัญหาคือ มันเสียบกับคอมฯ ไม่เข้า พอเขียนโค้ดไปแล้ว มันทำไม่ได้เหมือนเพื่อน บางครั้งก็ค้าง เลยต้องสั่งซื้อทางออนไลน์ แต่ก็ใช้ระยะเวลา ผมเลยต้องไปสอบนอกรอบกับอาจารย์ ซึ่งจริงๆ อาจารย์เขาก็จัดเตรียม device ไว้ที่ภาค แต่ผมก็เข้าไปเอาไม่ได้อยู่ดี” 

ไชยา-ไชยา แสงจันทร์

ส่วนวิชาภาคปฏิบัติบางตัว ไชยาและเต้ยกล่าวว่า อาจารย์ใช้วิธีสอนผ่านการถ่ายคลิปและให้ดูยูทูบบ้าง แต่ก็มีบางวิชาที่ต้องศึกษาผ่านงานวิจัยเพียงเท่านั้น 

สำหรับเต้ยแล้วเขาเห็นว่า “การเรียนจากงานวิจัย สำหรับผมคิดว่ามันแทนที่กันไม่ได้ เพราะทฤษฎีกับปฏิบัติมันต่างกัน” 

ส่วนเอ็มและโอบจากคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ แน่นอนว่าการเข้าห้องสมุดเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมคือสิ่งที่สำคัญ โชคดีที่ทั้งคู่บอกว่าไม่พบปัญหาในเรื่องนี้ เพราะหอสมุดของมหา’ลัยเปิดช่องทางให้นักศึกษาสามารถจองผ่านออนไลน์ได้ แต่สิ่งที่เป็นเรื่องกังวลมากกว่าของนักศึกษาปี 3 อย่างไชยาและเต้ย คือ การฝึกงาน 

“บริษัทที่จะเข้ามาดูตัวเด็ก เขาก็จะมาในช่วงปี 3 อาจารย์ก็จะส่ง contact มา ประมาณว่าวันนี้ๆ จะมีบริษัทเข้ามานะ แต่พอเป็นออนไลน์มันก็จะไม่มีแบบนั้น เราต้องหาบริษัทเอง โดยติดต่อผ่านอาจารย์อีกที ซึ่งถ้าเป็นออนไซต์อาจารย์จะติดป้ายประกาศไว้ให้เลย แต่พอเป็นออนไลน์ เราไม่เห็น เราไม่รู้เลยว่าเราต้องติดต่อใคร ที่ไหน บริษัทอะไรบ้าง” ไชยาชี้ให้เห็นถึงความกังวล

“โอกาสที่เราควรได้รับ มันหายไปหมด แทนที่เราจะได้รับความรู้และประสบการณ์ที่มากขึ้น แล้วถ้าวันหนึ่งทุกอย่างกลับมาเป็นเหมือนปกติ โอกาสที่เราสูญเสียไปแล้ว ใครจะมาทดแทนให้เราได้” 

การระบาดของโควิด นอกจากจะทำให้เกิดปัญหาติดขัดเรื่องการเรียนแล้ว ชีวิตการฝึกงานกับบริษัทที่อาจสามารถร่วมงานกันได้ในอนาคต โอกาสในส่วนนี้ก็หายไปด้วย

สิ่งที่ขาดหายคือ การช่วยเหลืออย่างจริงจัง

“มหาวิทยาลัยไม่ได้ออกมาตรการชี้แจงที่ชัดเจนว่า อยากเรียนออนไลน์แบบไหนยังไง ปุบปับเขาก็ให้เรียนออนไลน์เลย แล้วค่อยทยอยออกมาตรการในการช่วยเหลือนักศึกษาตามหลัง” ไชยากล่าว

แม้มหาวิทยาลัย เช่น ธรรมศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะช่วยเหลือนักศึกษาเรื่องค่าเทอม แต่ทั้ง 4 คน เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพอ และไม่ตรงตามความต้องการของพวกเขาและนักศึกษาอีกหลายๆ คน

“จริงอยู่ที่เรียนออนไลน์ เราอยู่บ้านได้ ไม่ต้องอยู่หอ แต่บางครั้งบรรยากาศที่บ้านมันก็ไม่เอื้อให้เรียนรู้เรื่อง แค่ลดค่าเทอม 1,500 บาท อาจไม่ได้ช่วยอะไรมาก” เอ็มบอก

“ถ้ามหา’ลัยลดค่าเทอมให้สักครึ่งหนึ่งไปเลยก็น่าจะดีกว่า เพราะเด็กเข้าไปเรียนที่มหา’ลัยไม่ได้อยู่แล้ว อุปกรณ์ก็ไม่ได้ใช้ แล้วค่าเทอมสูงมาก ประมาณ 60,000 กว่าบาท” เต้ยพูด

เต้ย-ศิริศักดิ์ นันทะเสน

นอกจากปัญหาการช่วยเหลือจากทางมหาวิทยาลัยที่ไม่ตรงตามความต้องการแล้ว เมื่อถามถึงการช่วยเหลือของภาครัฐ ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “รัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเหลืออะไรเลย” 

“ถ้ามองในมุมนักศึกษา เรายังไม่เห็นว่ารัฐจะเข้ามาช่วยเหลืออะไรเลย ผมมองว่า มาตรการช่วยเหลือควรจะมีมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป เขาควรจัดระเบียบเรื่องการเยียวยาให้มันดีขึ้น และจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้เร็วกว่านี้ เด็กจะได้กลับไปเรียน ไปใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ” ไชยาเสนอความเห็น

สิ่งที่ขาดหายคือ อนาคตและความฝัน

จากสถานการณ์โควิด-19 เป็นต้นมา ดูตัวเลขผู้ติดเชื้อ ณ เดือนสิงหาคม 2564 ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทะยานไปถึงหลัก 20,000 คนต่อวัน ความหวังที่จะกลับไปสู่ห้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา ยิ่งดูริบหรี่และไร้วี่แวว

WAY ตั้งคำถามกับนักศึกษาทั้ง 4 ว่า “คิดว่าเป็นเพราะโควิดหรือรัฐบาลที่ทำให้พวกเขายังต้องเรียนออนไลน์อยู่แบบนี้”

ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ทั้งสองอย่าง แต่หากชั่งน้ำหนักดูแล้ว พวกเขามองว่าภาครัฐมีส่วนที่ทำให้สถานการณ์แย่ลงมากกว่า

“ผมมองว่ามันเป็นได้ทั้งสองอย่าง ในส่วนของไวรัสมันมีการพัฒนาสายพันธุ์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งวัคซีนซิโนแวคเราก็ทราบกันดีว่ามันไม่สามารถป้องกันสายพันธ์ุใหม่ๆ ได้ ทีนี้ในส่วนของรัฐบาลเขาก็รู้แล้วว่าซิโนแวคไม่สามารถต่อกรกับสายพันธุ์ใหม่ได้ แต่ก็ยังดื้อด้านที่จะสั่งซื้อมาฉีดให้กับประชาชน มันก็ต้องเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลด้วย” ความคิดเห็นของไชยา

เช่นเดียวกับเอ็มที่เห็นว่า “เป็นเพราะรัฐบาลด้วย เพราะว่ามันคือหน้าที่ของรัฐ ถ้าดูอย่างนิวยอร์คเขาฉีดวัคซีนกันเกือบหมดแล้ว ใช้ชีวิตกันเกือบปกติ แต่ดูเราทุกวันนี้ยังออกไปไหนไม่ได้เลย ต้องอยู่แต่ในบ้าน ในห้อง เรียนออนไลน์ ล็อคดาวน์ โควิดมันเป็นแค่ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เป็นแบบนี้ 

“เราควรจะได้อยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่านี้ ในช่วงแรกเราเข้าใจได้ แต่นี่ผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว ยังทำอะไรไม่ได้มากเลย ประชาชนยังต้องวนอยู่กับการล็อคดาวน์ ต้องวนอยู่กับชีวิตที่ทำอะไรไม่ได้ ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นเขามูฟออนกันไปแล้ว” 

จากคำตอบทั้งหมด พวกเขามองว่า ไม่ใช่แค่โควิดที่เป็นตัวปัญหา แต่เป็นเพราะรัฐบาลด้วยที่ทำให้ประชาชนติดอยู่ในวังวนของวิกฤติ

การเรียนออนไลน์อยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปเปิดโลกกว้างหรือหาความรู้เพิ่มเติมที่อื่นได้ ส่งผลให้เด็กไทยหลายคนรู้สึกเบื่อหน่าย หมดหวัง และมองไม่เห็นอนาคต 

“ถ้าผมเรียนจบไป ยังไม่รู้เลยว่าจะหางานทำได้รึเปล่า ตอนนี้มีความรู้สึกอยากดร็อป เพราะมันรู้สึกไม่คุ้มกับการเรียนที่ได้มาเลย” 

เสียงสะท้อนจากเต้ยที่ทำให้ภาพของความรู้สึกดังกล่าวชัดเจนขึ้น

แต่ถึงอย่างนั้นหากพูดถึงเรื่องความฝันหรือการมองเห็นอนาคต ทั้ง 4 คน มองว่าปัญหาเหล่านี้สั่งสมมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิดเพราะโควิด

พูดให้ชัดคือ ปัญหาการศึกษาไทยมีมาให้เห็นทุกยุคสมัย อย่างการไม่ได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง อีกทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เด็กไทยเปิดกว้างทางความคิดและมีจินตนาการได้ แม้แต่หลักสูตรหรือคุณภาพของครูก็มีปัญหาด้วยเช่นกัน ทำให้เด็กไทยยังติดกับดักความฝันอยู่เช่นนี้

“ครูไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้นำเนื้อหาที่เป็นแก่นมาสอนเด็ก สอนแต่เรื่องพื้นๆ เพื่อที่จะให้เด็กนำความรู้ไปสอบ ซึ่งการที่ผมสอบติดวิศวะลาดกระบัง ผมไม่ได้สอบติดเพราะโรงเรียนสอน ครูสอน แต่มันมาจากที่ผมเรียนเองหมดเลย พอมองย้อนกลับไปเลยคิดว่า ถ้าจะสอนแบบนี้ โยนหนังสือมาให้ไปอ่านเองยังดีกว่า

“อีกอย่างเวลาเราเห็นข่าวครูทำอนาจารเด็ก หรือทำร้ายร่างกายเด็ก แต่ก็ไม่ได้มีใครดำเนินการอะไรจริงจังในเรื่องนี้เลย ซึ่งมันเลวร้ายมาก หลายๆ อย่างในระบบการศึกษาไทยควรเปลี่ยนแปลง ไม่งั้นเราก็จะจมปลักอยู่กับการที่เด็กไม่มีความฝัน” ไชยากล่าว

เช่นเดียวกับเอ็มที่เห็นว่า “เป็นเด็กไทยเหนื่อยมาก เพราะตั้งแต่เด็กก็ถูกคาดหวังจากคนรอบตัวตลอด เช่น ครูบอกว่าเธอเรียนเก่ง ให้ไปสอบเข้าแพทย์ดู มันก็เลยทำให้ความฝันผมมันเปลี่ยนไปด้วย หรือเข้าเรียน 8 โมงครึ่ง เสร็จก็ไปเรียนพิเศษต่อ ผมคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เด็กควรได้รับ มันควรมีเวลาให้เด็กได้เปิดกว้างทางความคิด ได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ

“พอเข้ามหา’ลัยยิ่งเจอความเหลื่อมล้ำ เพื่อนบางคนไม่มีอุปกรณ์เรียนออนไลน์เลย ทั้งที่เขามีศักยภาพที่จะไปต่อ แต่ไม่มีใครช่วยเขาได้ มันทำให้รู้สึกว่ายิ่งโตยิ่งเหนื่อย เพราะเราเริ่มเห็นแล้วว่าประเทศนี้เป็นยังไง”

เอ็ม-ขวัญแผ่นดิน ไชยรบ

สิ่งที่ขอ คือการเปลี่ยนแปลง

หนทางที่จะสร้างและพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศให้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ ทั้ง 4 คนมองว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การปรับปรุงและปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา 

“รัฐต้องปรับปรุงหลักสูตร ต้องยอมตัดใจเอาบางวิชาออกไปบ้าง เช่น วิชาภาษาไทยเอาเป็นวิชาเลือกก็ได้ ให้เด็กที่อยากเรียนอย่างอื่นเอาเวลาไปเรียนอย่างอื่นได้ เอาเวลาไปทำในสิ่งที่เขาสนใจ ไม่ใช่เรียนวิชาบังคับจนหมดวัน แล้วเด็กก็ต้องไปเรียนพิเศษอีก เขาไม่มีเวลาทำในสิ่งที่อยากทำเลย ทั้งที่สิ่งนั้นอาจจะทำให้เขาได้เจอความฝันหรือทำตามฝันได้มากกว่า” คำพูดจากเอ็ม

“อย่างวิชาพระพุทธศาสนา เรารู้ว่าเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ เราควรปลูกฝัง แต่ผมมองว่าการเอาทฤษฎีมาให้เด็กศึกษาว่าพระพุทธเจ้าเดินกี่ก้าว มันเพื่ออะไร มันควรเป็นวิชาเลือกให้เด็กเลือกเองหรือเปล่า หรือวิชาหน้าที่พลเมือง ผมว่ามันดีนะ แต่ควรปรับวิธีการสอน เพราะครูที่สอนบางคนยังไม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กเลย เขาเข้าใจจริงหรือเปล่าว่าการกระทำอย่างการตีเด็ก ทำร้ายร่างกายเด็ก มันไม่ใช่การสอนเด็ก การกระทำแบบนั้นมันผิดกฎหมาย แล้วเอามาสอน ผมว่ามันขัดกัน” ไชยาเสริม

นอกจากการปรับหลักสูตรและปรับวิธีการเรียนการสอนแล้ว พวกเขาเห็นว่าความเหลื่อมล้ำที่มีสูงในสังคมไทยก็มีผลต่อความฝันและความคิดของคนคนหนึ่งด้วยเช่นกัน ดังที่ไชยาบอกไว้ว่า 

“อนาคตผมดับไปเยอะมาก ผมอยากไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ดูแล้วหลังจากนี้น่าจะไปต่อยากพอสมควร ถ้าเรามีเงินไม่มากพอ ก็คงจะไปต่อต่างประเทศไม่ไหว มันยากเกินไปสำหรับคนที่มีฝัน ยกเว้นว่าจะมีเส้นสาย” 

“ด้วยระบบอะไรหลายๆ อย่างที่มันเอาพี่เอาน้อง ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ เป้าหมายผมคือต้องหาเงินอย่างเดียว แล้วอยู่รอดให้ได้ แค่นั้นเลย ในประเทศนี้แค่มีเงินก็เป็นได้หมดแล้ว” เต้ยเสริม

คำพูดของไชยาและเต้ยข้างต้นสะท้อนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างชัดเจน พวกเขามองว่าความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะทั้งทางเศรษฐกิจหรือสถานะทางสังคม ล้วนมีผลต่อความฝันหรือจินตนาการถึงอนาคตของเด็กทั้งสิ้น

พวกเขาทั้งหมดเห็นตรงกันว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากทุกคนในประเทศเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเสมอภาค จะเป็นการช่วยยกระดับให้ทุกคนในสังคมมีความเท่าเทียม และเปิดโอกาสชีวิตให้หลายต่อหลายคนได้

“ถ้าเด็กคนหนึ่งได้เรียน เขาก็จะมีโอกาสก้าวพ้นความจน เขาอาจมีความรู้เทียบเท่าหมอในอนาคตก็ได้ หรือเด็กคนนั้นอาจเป็นนายกฯ เลยก็ได้ ถ้าคุณสร้างโอกาสให้เขาได้เรียน ได้ศึกษา 

“ผมมองว่าโอกาสที่ได้เรียนของเด็กไทยยังต่ำเกินไป อย่างงบประมาณหรือเงินที่เด็กจะได้รับในการศึกษามันก็น้อยไป เช่น กยศ. เข้าใจว่าค่าเทอมเขาให้เต็ม แต่ค่ากินค่าอยู่ตอนนี้มันแพงขึ้นกว่าเดิม สำหรับเด็กคนหนึ่งที่ต้องใช้เงินเพื่อให้เรียนจบ มันควรมีโอกาสและงบที่อุดหนุนส่วนนี้ให้มากขึ้น” ไชยาเสนอ

“การศึกษามันต้องเข้าถึงได้ คนที่ไม่มีเงินก็ควรจะมีโอกาสได้เรียนที่ดีๆ” โอบพูด

“การศึกษาช่วยให้คนจากชนชั้นล่างเลื่อนสถานะได้ เพราะมันช่วยยกฐานรายได้ให้คนมีฐานะที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยเรื่องความฝัน ตัวอย่างของผมคือ ถ้าการเมืองดี ผมคงไม่ต้องยึดติดกับคำว่า อัยการ ผู้พิพากษา ผมก็ไปทำอย่างอื่นได้ แต่เพราะตรงนี้มันให้ความมั่นคง และค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ อีกอย่างผมคงไม่ต้องเข้าธรรมศาสตร์ ถ้าทุกมหา’ลัยมันดีเท่ากัน” เอ็มทิ้งท้าย

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Illustrator

บัว คำดี
จากนักเรียนสายหนังผันตัวมาทำกราฟิกดีไซน์และงานโมชั่น แม่นยำเรื่องจังหวะเวลาแม้กระทั่งการเคี้ยวข้าวทีละคำด้วยความเร็วสม่ำเสมอจนหมดเวลาพักเที่ยง ฝากลายเส้นไว้ในชิ้นงานแนวรักเด็ก รักโลก ละมุนละไม แต่อีกด้านที่ทำให้กองบรรณาธิการต่างเกรงกลัวไม่กล้าแบทเทิลด้วย คือความเอาจริงเอาจังกับตารางเวลา ตรงไปตรงมา ลงจังหวะเน้นเป๊ะตามบาร์แบบชาวฮิพฮอพ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า