จากนักศึกษากฎหมาย ต่อสู้เรื่องสิทธิชุมชนกับชาวบ้านในภาคอีสาน ออกไปชูสามนิ้วต่อหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นปากเป็นเสียงให้กับสังคมไทยในช่วง 3 ปีแรกของการรัฐประหาร รณรงค์ให้เห็นปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดนมาหลายคดี จนกระทั่งถูกจองจำในคดี 112 ระหว่างถูกริบอิสรภาพ ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ที่ประเทศเกาหลีใต้ ไปรับไม่ได้ พ่อแม่ต้องบินไปรับแทนบุตรชาย รับปริญญาในคุก จนวันที่ออกจากคุก มีโอกาสได้เข้าไปทำงานในสภา กลับไปสบตากับผู้มีอำนาจที่เคยจับกุม
คือชีวิตแบบย่อของ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา
WAY พูดคุยกับเขา 1 วันก่อนวันครบรอบ 6 ปี รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
6 ปี ความมืดยังอยู่กับเรา เราเห็น แม้ความมืดไม่กล้าสบตา
พรุ่งนี้ (22 พฤษภาคม 2563) คุณมีแผนจะทำอะไรไหม
พรุ่งนี้ครบ 6 ปีใช่ไหม คิดว่าผมไม่ต้องทำอะไรแล้วมั้ง 6 ปีมานี้ทุกคนรู้ ขึ้นอยู่ที่ว่าเขาจะอดทนไหวไหม บทเรียนของพวกผมในยุค คสช. ที่มีคำสั่งต่างๆ มี ม.44 พวกผมยังไม่กลัวเลย แน่นอนว่ามีคนจำนวนไม่น้อยกลัว เพราะสิ่งที่ คสช. ทำได้ดีคือการสร้างความกลัว ในตอนนั้นแม้แต่พวกป้าๆ หรือแฟนคลับทั้งหลายที่ออกมาให้กำลังใจพวกเราก็กลัวนะ แต่ก็มาให้กำลังใจ แต่สักพักเราก็เห็นพวกเขากลายเป็นจำเลย พวกเขาภูมิใจมาบอกเรา ได้คดีแล้วนะ
ผมรู้สึกว่าผู้คนรับรู้อยู่แล้ว คำตอบเป็นที่ประจักษ์แล้ว ว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นยังไง การเมืองเป็นยังไง ชัดเจนทุกอย่าง เหลือแค่การรอคอยว่า เมื่อไหร่ทุกคนจะมาพูดพร้อมกัน ย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ พวกผมอาจจะอดทนไม่ได้ ออกมาก่อนชาวบ้านชาวเมือง แต่รอบนี้อาจจะต้องรอให้ทุกคนออกมาพร้อมกัน เราต้องรอฟังเสียงคนอื่นบ้าง ถ้าให้ผมออกไปพูดทุกปี มันก็ไม่ใช่
คุณต้องเข้าใจว่า ในช่วงแรกที่ผมออกมาพูด เพราะไม่มีคนออกมาพูด ไม่มีคนออกมาทำ แต่วันนี้มีคนออกมาพูด มีคนออกมาทำ เราก็ไม่จำเป็นต้องพูด เราก็ทำอย่างอื่น ผมรู้สึกว่าการที่ผมออกไปพูดแบบเดิม ทำแบบเดิม มันไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ ผมก็ทำอย่างอื่น แต่เป้าหมายเดิม
ทุกวันนี้ชีวิตเป็นอย่างไร ทำอะไรอยู่
เป็นเจ้าหน้าที่ประจำคณะนิติศาสตร์ มข. และเป็นเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และอีกบทบาทคือเป็นคณะวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน ผมเข้าไปในโควตาของอนาคตใหม่
บทบาทของคณะวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน คืออะไร
ผมได้เข้าไปเรียนรู้ บางกรณีเราได้เรียกทหารหรือคนที่เคยจับกุมผม เรียกคนที่เคยใช้อำนาจ คสช. เรียกคนที่เคยใช้อำนาจรัฐ มาสอบถาม ตั้งคำถาม ทำให้ผมได้เรียนรู้ว่าเขาคิดอะไร คนเหล่านี้ล้วนมีอำนาจในช่วงรัฐประหารใช่ไหมครับ แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกเขาต้องฟัง ต้องมาตอบคำถาม ถึงแม้ว่ากลไกนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่บางคำตอบของพวกเขาได้เคลียร์อะไรบางอย่างให้สังคม
ใน กมธ. ชุดนี้ ก็จะมีการพิจารณาในเรื่องกฎหมาย มีทั้งเรื่องปัญหาชาวบ้าน และเรื่องราวต่างๆ เราเรียกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมารับฟังปัญหา เราก็จะได้ฟังทั้งฝั่งชาวบ้านและฝั่งหน่วยงานรัฐ เมื่อก่อนพวกเขาไม่ได้อยู่ในกลไกแบบนี้ และไม่เคยรับฟังอะไร
เช่น กรณีหนึ่ง เราเรียก พันโทพิทักษ์พล ชูศรี กับ พันเอกบุรินทร์ ทองประไพ มาสอบถามเกี่ยวกับเรื่องคำสั่งในการจับกุมประชาชนในยุค คสช. ว่าพวกเขาใช้ดุลยพินิจอะไรในการจับกุม
พวกเขาบอกว่าไม่ได้ใช้ดุลยพินิจ เขาทำตามคำสั่ง ซึ่งคำตอบของเขาก็ทำให้เรารู้ว่า การใช้อำนาจรัฐในช่วงนั้นไม่ได้ใช้ดุลยพินิจอะไรเลย เป็นการใช้คำสั่งโดยไม่สนใจความถูกต้องหรือเหตุผล เขาตอบคำถามไม่ได้เลยครับ เขาบอกนายสั่งมา
แต่อย่างน้อยเราก็รู้แล้วว่า ทหารที่ปฏิบัติการในพื้นที่ไม่ได้คิดเอง แต่เขาทำเพราะคำสั่ง เขาไม่ได้ตั้งคำถามกับคำสั่งนี้ว่าชอบธรรมไหม แต่เขาทำตามคำสั่ง ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันกับสังคมว่า การใช้อำนาจในยุค คสช. ไม่ได้มีเหตุผลเลย สักแต่ใช้อำนาจอย่างเดียว
คุณรู้สึกอย่างไรกับการเผชิญหน้ากับคนเหล่านี้ในสถานะที่แตกต่างไปจากเดิม
เหมือนกับเรากอบกู้ความเป็นมนุษย์คืนมา เราได้นั่งเสมอกับเขา เมื่อก่อนเราจะนั่งในคอกจำเลย เขาจะใส่เครื่องแบบ เราใส่ชุดนักโทษ แต่วันนี้เรานั่งต่อหน้ากัน พูดคุยกันด้วยเหตุผล ซึ่งผมคิดว่ามันกอบกู้ศักดิ์ศรีของผม ถึงแม้เราจะไม่สามารถทำอะไรได้ในสถานการณ์แบบนี้ แต่เราก็รู้สึกโอเค อย่างน้อยๆ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเราก็คืนกลับมา มันรู้สึกแบบนั้น การได้นั่งประจันหน้ากับคนที่เคยกระทำกับเรา มันอธิบายไม่ถูก
คุณตั้งคำถามอะไรกับ พันโทพิทักษ์พล
ผมตั้งคำถามกับการใช้อำนาจ แต่จำรายละเอียดไม่ได้ ผมถามว่า ใครเป็นคนขังผม กับเขานี่มีหลายคดีที่ขอนแก่น เราก็ไล่ถามในแต่ละคดี ในส่วนของผม ผมก็ถามคดีของตัวเอง ว่าใครเป็นคนสั่งขังผม
เขามีคำตอบให้ไหม
เขาตอบว่าศาล เขาก็กวน…
เมื่อมองเข้าไปในดวงตาของเขา คุณรู้สึกอย่างไร
เขาไม่กล้าสบตานะครับ การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมไม่ใช่เรื่องผิดอยู่แล้ว เรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกว่า เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่สัจจะอันนี้เผยออกมา แล้วเราต้องมานั่งต่อหน้ากัน เขาก็กระอักกระอ่วน
ถ้าดูจากเหตุผลที่เขาจับพวกเราทั้งหลาย มันเป็นเรื่องไร้สาระทั้งนั้นเลย เขาพูดได้แต่คำว่าทำตามคำสั่ง ซึ่งคำสั่งนั้นชอบหรือไม่ชอบ เขาไม่มีกระบวนการคิดเลย ฉะนั้นก็เหมือนกับคนที่ตอบคำถามเหมือนไม่ได้คิด เหมือนไม่เคยคิดมาก่อน เพราะมันไม่ใช่ความคิดของตัวเอง ถ้าคนคิดเองก็จะตอบโดยธรรมชาติ มันจะมีความเป็นมนุษย์ใช่ไหม แต่คนที่ถามอะไรก็ตอบได้เพียง ผมไม่รู้ครับ ผมทำตามคำสั่งครับ ซึ่งมันไม่ใช่ถูกไหม ตาก็ไม่กล้าสบ แววตาเขาไม่สู้ ทั้งที่เมื่อก่อนตอนที่เขามีอำนาจ เขาผงาด ยิ่งใหญ่ แข็งกร้าว เก่ง แต่ตอนนี้เขานิ่ง ไม่กล้าสบตา
พอเข้าไปมีบทบาทในสภา ความซับซ้อนมีมากกว่าการสู้ในช่วงรัฐประหาร 1-3 ปีแรกอย่างไร
ในสภายิ่งซับซ้อนกว่า เผด็จการทหารมันตรงๆ เห็นกันโต้งๆ ใช้อำนาจเต็มรูปแบบ แต่พอเป็นกลไกรัฐสภา มีกลไกตรวจสอบ แต่ก็ไม่ได้สุดนะ การมีกลไกของกรรมาธิการอะไรเหล่านี้ดีนะ แต่ไม่มีอำนาจ สุดท้ายอำนาจก็อยู่ที่เขา ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อำนาจอยู่ที่ประยุทธ์ อยู่ที่ สว. ซึ่งไม่มีทางเปลี่ยนแปลงหรอก มันเป็นเหมือนช่องทางบรรเทา แต่ไม่ใช่ช่องทางแก้ปัญหา การเมืองที่มีกลไกหลอกๆ เหมือนกับว่ามีให้พอมี สุดท้ายก็เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก ผมก็ยังใช้คำว่าเผด็จการเหมือนเดิม การเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรม แต่บรรยากาศดีขึ้นนะ คุณูปการของการเลือกตั้งคือบรรยากาศดีขึ้น แต่เขายังใช้อำนาจผ่านกลไกอื่นๆ เช่น ใช้อำนาจผ่านศาลในการยุบพรรคอนาคตใหม่ ใช้กลไกรัฐสภาโดยยึดเสียงข้างมาก เช่น อภิปรายไม่ไว้วางใจหรือการโหวตใหม่ เราก็เห็นได้ชัดเจน
ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงชีวิตนักศึกษาของผม ซึ่งเป็นยุค คสช. เวลาครึ่งหนึ่งของการเรียนผมอยู่ในคุก
ย้อนกลับไปในวันนั้นไม่ได้มีเหตุผลอะไรมากเลยในการสู้กับเผด็จการ มันแค่ว่าไม่มีคนออกมาทำ เราเลยออกมาตั้งคำถาม ทำไมต้องรัฐประหาร ทำไมไม่ให้มีการเลือกตั้ง เราออกมาถาม เพราะการรัฐประหารมันไม่ใช่ แล้วยิ่งเมื่อเกิดรัฐประหารจริงๆ ความไม่ใช่นั้นก็ยิ่งชัดเจน
เราคัดค้านก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ด้วยซ้ำ เราพูดตั้งแต่สุเทพออกมา เราพูดตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม ปี 2556 ด้วยซ้ำ ก่อนหน้านั้นคนก็จะชื่นชมกลุ่มดาวดินใช่ไหม เพราะทำงานช่วยชาวบ้าน พอเราออกมาพูดเรื่องการเมือง คนก็ส่ายหน้าหนี ทั้งที่เป็นเรื่องเดียวกัน เราพูดมาตั้งนานแล้วว่า การรัฐประหารไม่ใช่การแก้ปัญหา พอเกิดการรัฐประหารเราก็สู้ สู้จนสู้ไม่ได้ เราก็หยุดไป เมื่อครบ 1 ปีรัฐประหาร เราออกมาคัดค้านอีก โดยยกกรณีต่อต้านการเดินหน้าการขุดเจาะปิโตรเลียม การรุกไล่ที่ดิน การเดินหน้าเหมืองโปแตช คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร การขุดเจาะปิโตรเลียมที่อีสานจะไม่สำเร็จนะครับ วันนี้ถ้าคุณขับรถบนถนนมิตรภาพจากอีสานไป กทม. คุณจะเห็นแนววางท่อปิโตรเลียม หมายความว่าอะไร ถ้าไม่มีการรัฐประหาร การทำปิโตรเลียมจะไม่สำเร็จ เพราะจะมีการคัดค้าน การต่อสู้ สิทธิชาวบ้านสิทธิชุมชนตาม รธน.50 มันหายไป เพราะอะไร เพราะว่ารอบนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการเมือง มันคือรัฐประหารทรัพยากร รัฐประหารทุกอย่าง
รธน.50 ที่เคยมีกลไกของชาวบ้านในการคัดค้าน ถูกตัดออก ถูกแก้ไข หุ้นปิโตรเลียมล่ะ เราลองตั้งคำถามต่อไปว่า ใครได้ประโยชน์ ลองไปดูในตลาดหุ้น สืบไปเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่าเป็นของใครใช่ไหมครับ ซึ่งหมายความว่า การรัฐประหารครั้งนี้แย่หมดเลย
ในปีแรกๆ เราจึงออกมาพูด ทรัพยากรโดนหมดเลย ไล่รื้อชาวบ้านออกจากที่ดิน สารพัดเลย ผมขอทวนความทรงจำหน่อยนะ จะได้เห็นความชั่วร้ายระยำตำบอนของเผด็จการทหาร พวกเราคัดค้านอย่างมีเหตุผล เราพูดด้วยเหตุด้วยผล ฉะนั้นในวันที่ครบรอบ 1 ปีรัฐประหารในปี 2558 เราออกมาคัดค้าน 7 ประเด็น โดยคน 7 คน ก็พูดเรื่องเหล่านี้ ปิโตรเลียม ที่ดิน มหาวิทยาลัยนอกระบบ เราสู้กันแทบตาย พอรัฐประหาร ทุกอย่างก็เกิดขึ้น
ปี 2559 พวกเรารณรงค์ Vote No การลงประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ก็โดนจับอีก เราสู้ทุกอย่าง เราแพ้แต่ก็สู้ เราผิดหวังนะกับผลประชามติ บางคนถอนใจ บางคนสู้ต่อ เพราะมันคือการสืบอำนาจ สุดท้ายก็ไปมีปัญหาในรัฐสภาอย่างที่เห็นกัน สุดท้ายสิ่งที่เราพูดมาตั้งแต่อดีตก็เกิดขึ้นจริง
ปีนี้เป็นปีที่ 6 ที่เขาอยู่กับเรา กระบวนการยุติธรรมบิดไปยังไง นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ หลักการสำคัญหายไปหมดเลยในสังคมไทย
ถ้ามองจากมุมมองของนักกฎหมายก็จะเห็นแบบนี้ เราเรียนกฎหมายมา สิ่งแรกคือเราเชื่อในการเคารพกฎหมาย แต่การรัฐประหารไม่ได้เคารพกฎหมาย ฉะนั้นเราก็ออกมา แต่นักนิติศาสตร์ในสังคมไทยยอมรับว่า นี่คือกฎหมาย ศาลก็ยอมรับว่าการรัฐประหารคืออำนาจ พวกเรายื่นเรื่องกับศาล ศาลก็ไม่รับฟ้อง ศาลด้วยซ้ำเป็นคนประทับอำนาจให้กับ คสช.
แต่สุดท้ายก็ถูกยืนยันว่า อำนาจ คสช. ไม่ใช่กฎหมายจริงๆ เห็นไหม ศาลก็ยกฟ้อง แล้วอะไรคือความถูกต้องล่ะ อะไรคือความยุติธรรมล่ะ อะไรคือความจริง ยุคหนึ่งคุณจะมาตั้งว่า แบบนี้ผิด ทั้งที่มันไม่ผิด แล้วความถูกต้องความเป็นสากลคืออะไร หรือยุคหนึ่งคุณจะบอกว่าสิ่งนี้ผิด มายุคหนึ่งคุณบอกถูก ทำแบบนี้ก็ได้เหรอ นี่เราอยู่ในสังคมของกฎหมายหรือสังคมของการเคารพเผด็จการ หรือยังไง ผมไม่เข้าใจ องคาพยพทั้งหลายก็ทำตามด้วย ศาลก็เล่นกับเขา…โห แต่งตัวกันจริงจังเลย…ศาล มีการพิพากษา ติดคุกกันจริงจัง ผมว่ามันเป็นเรื่องตลก แล้วมันจะแปลกตรงไหนที่เด็กรุ่นใหม่จะออกมาคัดค้าน
รุ่นคุณชูสามนิ้ว รุ่นนี้ชูมือถือ บรรยากาศสังคมต่างกันไหม
บรรยากาศไม่ต่างครับ แต่ปัจจุบันแนวร่วมเยอะมากขึ้น บรรยากาศตอนนั้นก็มีคนไม่เห็นด้วยนะ มีคนออกมาเคลื่อนไหว ออกมาต่อสู้ ป้าๆ ที่เป็นแฟนคลับ จากที่เคยเป็นแฟนคลับก็เขยิบฐานะเป็นผู้ต้องหาในคดีต่างๆ มันสะสมมาเรื่อยๆ
ปัจจุบัน คนที่ไม่พอใจรัฐบาลก็มากยิ่งขึ้น แล้วเขาก็ปรากฏตัวมากขึ้นกว่ายุคก่อน บรรยากาศตอนนั้นมีความกลัวอยู่ คืออำนาจเผด็จการเต็มรูปแบบ ซึ่ง ณ วันนี้ ไม่ได้เต็มรูปแบบอย่างวันนั้น ไม่ได้มีคำสั่งที่ 3/2558 ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จขนาดนั้น ทำให้เพดานเสรีภาพของสังคมสูงขึ้น สิ่งที่ คสช. ทำได้ดีที่สุดคือการสร้างความกลัว แต่ความกลัวนี้ใช้ได้ผลก็แต่ในยุค คสช. เท่านั้น แต่ในยุคนี้หลังมีการเลือกตั้ง ผมก็ไม่อาจใช้คำว่าเป็นประชาธิปไตยได้ บรรยากาศก็ดีขึ้นหน่อย เพราะกติกาการเลือกตั้งรวมถึงรัฐธรรมนูญมีปัญหา เรื่องนี้ก็ต้องพูดถึงใช่ไหมครับ แต่กล่าวได้ว่ามันเป็นการสืบทอดอำนาจโดยมีพิธีกรรมการเลือกตั้ง พูดแบบนี้ดีกว่า แต่บรรยากาศมันดีกว่าตอนเป็น คสช.
ตอนนี้สังคมบีบเร้า เช่น การยุบพรรคอนาคตใหม่ การทำลายคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ ผมว่าหลายๆ อย่างมันรวมเป็นองค์ประกอบที่ทำให้คนออกมา ซึ่งในยุค คสช. พวกผมก็ออกมาเพราะองค์ประกอบเหล่านี้ ตามที่เห็นสภาพปัญหาของสังคม สภาพปัญหาความเป็นจริง เห็นความไม่ยุติธรรม แต่ตอนนั้นคนออกมาน้อยเพราะความกลัว ตอนนี้คนออกมาเยอะเพราะบรรยากาศดีขึ้น บวกกับคนได้เรียนรู้มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าคนส่วนหนึ่งในตอนนั้นคาดหวังกับ คสช. หมายถึงว่า ยังคาดหวังให้ คสช. เข้ามาทำงาน เข้ามาปฏิรูป แต่เวลาผ่านไป 1 ปี 2 ปี 3 ปี ความคาดหวังนั้นก็หายไปพร้อมกับเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
ตอนนี้น้องๆ นักศึกษาได้เห็นได้เรียนรู้ เขาก็ออกมาเคลื่อนไหว ก็เป็นหน้าที่ที่เขาต้องทำ มันถูกต้องครับ เป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันทำ สวยงามมากเลยครับ ทำให้เรามีความหวัง เรารู้สึกว่า ยังมีคนรุ่นใหม่ มีพลัง มีไฟ สนใจสังคม ความถูกต้อง ความยุติธรรม รู้สึกว่าไม่ได้มีแค่เรา
ผมขอฝากหน่อย เราคาดหวังกับขบวนการคนหนุ่มสาว คือในยุคพวกผมรู้สึกว่าจัดงานอะไรก็มีคนมาแค่สิบยี่สิบคน แต่รอบนี้คือมากันพันสองพัน ผมรู้สึกว่าผมมีความหวังจากวงการนักศึกษาที่เป็นแนวหน้าในการต่อสู้ ณ วันนี้ไม่มีองค์กรใดทางการเมืองที่เป็นองค์กรนำ แต่ก่อนมีพันธมิตร เสื้อแดง มี นปช. หลังจากรัฐประหารมา ตอนพวกผมขึ้นมาก็มีขบวนการนักศึกษา ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ แต่มันก็บอบช้ำ โดนรัฐประหารเล่นงานจนแตกสลายแล้ว
ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ก็คือขบวนการนักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้ม…มีความชอบธรรม เป็นสถานะที่ทุกคนจะเข้าร่วมได้ ลองนึกดูว่าถ้าเป็นเสื้อเหลืองออกมาเคลื่อน หรือถ้าเป็น กปปส. ออกมาเคลื่อน เสื้อแดง อนาคตใหม่ออกมาเคลื่อน แต่ถ้าเป็นนักศึกษาออกมาเคลื่อนนำ แล้วเราก็ตาม ที่ผ่านมาเราแยกขาดจากนักศึกษา ก็งงกับปรากฏการณ์นี้เหมือนกันว่า เฮ้ย แม่งจะเอาไงดีวะ ทำไมนักศึกษาออกมาเยอะจัง ก็งงกับปรากฏการณ์นี้ ถูกไหม ทีนี้พอเราตั้งหลักกันได้ พอมาโควิดก็เหมือนกับการตั้งหลัก คิดว่าเรากับนักศึกษาต้องไม่ขาดกัน นักศึกษาก็เป็นแนวหน้า เป็นองค์กรนำที่จะเป็นพื้นที่ให้กับประชาชนผู้ทุกข์ยาก เป็นตัวแทน
ผมว่าโควิดยิ่งชัด เราต้องมองจากวิกฤติใช่ไหมครับ วิกฤตินี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับอะไร ก็ชัดเจนว่าเขาให้ความสำคัญกับทุน ไม่ใช่ประชาชน คนก็เรียนรู้ สถานการณ์โควิดยิ่งชัดตรงที่ว่า คนไม่มีจะกิน ตกงาน รัฐจัดการแย่มาก เขาไม่ได้มีมุมมองเรื่องอื่นเลย ใช้แต่อำนาจอย่างเดียว ไม่มีอะไรเลย
ผมดูข่าวคนที่ออกมา พวกเขาไม่เคยออกมาทางการเมืองเลยนะ แต่ปากท้องมันไม่มีข้าวกิน ไม่ไหวแล้วต้องออกมาเรียกร้อง ผมคิดว่าเรื่องนี้จะมากขึ้น แล้วโควิดจะทำให้เราได้รู้จักรัฐบาลชุดนี้ได้มากขึ้น เขาใส่ใจประชาชนหรือแคร์ใคร มันมีตัวชี้วัดจากการกระทำ เพราะเราก็เห็นอยู่แล้วใช่ไหมครับว่ามันเป็นแบบนี้
ย้อนกลับไปวันที่ชูสามนิ้วที่ขอนแก่น ผ่านมา 6 ปี คุณสูญเสียอะไรไปบ้าง
เยอะเลยครับ สูญเสียตั้งแต่ออกมาแล้วล่ะครับ ความเป็นส่วนตัว ชีวิตเราได้หายไปด้วย ผมชอบคำหนึ่ง เขาบอกว่า การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น สิ่งแรกที่จะหายไปคือสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ก็เพิ่งเข้าใจคำนี้แหละ เอาจริงๆ นะ ถ้าเรารู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะต้องติดคุก เราก็อาจจะไม่ทำใช่ไหม เราไม่เชื่อว่าจะต้องติดคุกกับเรื่องแค่นี้ แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันผิดไง ณ วันนี้ก็ไม่ได้รู้สึกว่าผิด ตั้งแต่วันนั้นชีวิตก็เปลี่ยนไปเลย ตั้งแต่การสอบ ก็ได้ไปสอบทีหลังเขา เพราะวันนั้นโดนจับไปปรับทัศนคติ ตั้งแต่วันนั้นเลย ตั้งแต่ก้าวแรกชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะวันนั้น พวกผมมีสอบช่วงบ่าย กะว่าไปชูสามนิ้วตอนเช้าแล้วตอนบ่ายไปสอบ ชิลๆ อะไรแบบนี้นะ ก็นึกว่าเป็นปกติ แต่พอไปชูสามนิ้วก็โดนเลย
แต่มันเหมือนชื่อหนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ นั่นแหละครับ มันทำร้ายเราไม่ได้มากกว่านี้หรอก อาจจะเหงานิดหน่อย เศร้านิดหน่อยในบางช่วงของชีวิต ในช่วง 2 ปีนั้น ก็เข้าใจชีวิตมากขึ้น หมายถึงว่า ผมเห็นคนในสังคมตั้งแต่เหี้ยที่สุดในสังคม ตั้งแต่ในคุกไล่ขึ้นมาจนเห็นในสภา เห็นชนชั้นสูง ประเภทขับรถอย่างหรู เปิดประตูลงมามีการ์ดมาประชิด ผมเห็นมาทุกอย่างแล้ว ผมก็ยังเป็นคนเดิม แต่มีประสบการณ์ มีบทเรียนมากขึ้น อดีตยาวขึ้น เรื่องราวก็มากขึ้น
เคยได้ฟังมาว่า ช่วงก่อนที่คุณจะรับสารภาพคดี 112 คือช่วงที่ทุกข์มาก
มันแย่ เราต้องยอมรับในสิ่งที่เราคิดว่าไม่ผิด ต้องต่อสู้กับตัวเองเยอะอยู่ครับ คือต้องบอกก่อนว่า ผมเตรียมเวลาสู้ 8 เดือน ระหว่างนั้นผมมีความหวังกับการได้ประกันตัวมาตลอด เราเรียนกฎหมายมา เราก็มองว่ามีโอกาสที่จะได้ประกันตัว กฎหมายก็เปิดช่องไว้ เราไม่รู้ว่าจะไม่ได้เป็นแบบกฎหมายที่เรียนที่สอนมา (หัวเราะ) พอเราต้องรับสารภาพ ผมก็รู้สึกสูญเสียตัวตน การเป็นตัวเองไม่ได้ เราต้องเป็นใครก็ไม่รู้ที่ต้องรับสารภาพ ตอนนั้นไม่ใช่ผมแล้วไง เป็นใครก็ไม่รู้ แต่มันต้องทำ เพราะไม่มีทางเลือก เป็นทางที่ดีที่สุด ไม่ต้องพูดเรื่องความยุติธรรมหรือความถูกต้อง เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้น
แต่การได้ไปนั่งเผชิญหน้ากับคนเหล่านั้น แล้วเขาไม่กล้าสบตาคุณ ก็ช่วยไถ่ถอนอะไรกลับมาได้บ้าง?
ผมรู้สึกว่า มันไม่สายกับการตามหาความยุติธรรม ผมไม่ได้เอาเรื่องนี้มาเป็นเป้าหมายชีวิต ผมไม่ได้จำ แต่ก็ไม่ได้ลืมในสิ่งที่เขาทำ แต่ก็ไม่ได้อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอีก ตอนที่ผมรู้ว่านิรนามโดน ผมเสียใจนะ มันยังเกิดอีกเหรอวะ ผมเข้าใจว่าผมเป็นคนสุดท้าย พอเห็นนิรนามโดน มันยังไม่จบอีกเหรอวะ แต่ยังไม่ตายหรอก ถึงเวลาก็จะเจอความยุติธรรม ผมก็คิดแบบนี้แหละ
ชีวิตมันดีกว่านี้ได้ เราต้องเชื่อสิ ประเทศอื่นเขาทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ ประเทศอื่นเป็นประชาธิปไตยได้ ทำไมเราต้องเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ล่ะ
ประชาธิปไตยสากลก็เป็นได้ ชีวิตที่ดี สิทธิมนุษยชนสากล สวัสดิการที่ดี เป็นได้ ทำได้ เราต้องกล้าที่จะข้าม…ฟันฝ่าอะไรบางอย่าง ไม่ใช่แค่การที่เขาให้เงินแค่นี้ คือคุณไปดูรัฐอื่นที่เขาแคร์ประชาชนมันดีกว่านี้ สวัสดิการต่างๆ การให้อะไรต่างๆ แล้วดูของเรา เงิน 5,000 ก็ยังไม่ได้ มันไม่เห็นหัวประชาชนเลย ทั้งที่คนเขาลำบาก คนมันทุกข์ยากไง เขาไม่มีวันเข้าใจหรอก เพราะว่าเขากินอิ่มสบาย เขาไม่มีวันเข้าใจหรอกว่าการแค่ได้กินข้าวก็เป็นความสุขอย่างนึงแล้ว เป็นชีวิตหนึ่งแล้ว เขาไม่มีวันเข้าใจ เขาไม่เคยอยู่กับคนแบบนี้ เขาไม่เคยสัมผัส ไม่มีวันเข้าใจหรอก มีแต่พวกเราต่างหากที่เข้าใจกัน ชนชั้นปกครอง ชั้นนำไม่เคยเข้าใจพวกเราหรอก แล้วเขาไม่เคยจะทำดีให้ชีวิตเราดีขึ้นหรอก เขาทำให้แค่ชีวิตพวกเขาดีขึ้นเท่านั้นแหละ
เราต้องทำด้วยตัวเราเองครับ ขอสักครั้งเถอะว้า มาสักทีเถอะว้า… ออกมากัน มาจัดสรรสังคมกันสิว่าแม่งจะเอายังไงกัน คือผมว่าปัญหาสังคมไทยมันเยอะมาก การศึกษา การเกณฑ์ทหาร เรื่อง LGBT โอย…หลายอย่างมาก เพียงแต่เราไม่ฮึดพร้อมกัน อยากให้แบบ…เอาเหอะว้า 6 ปีแล้วนะ