พนม เกตุมาน: ความบอบช้ำต้องเยียวยา ความรุนแรงต้องป้องกัน เมื่อสุขภาพจิตเป็นปัญหาที่ทุกคนต้องร่วมแก้

photo: ก่อการครู

ผ่านไปกว่า 1 สัปดาห์ ความไม่ปลอดภัย ความเสี่ยง ความรุนแรง และความรู้สึกไม่มั่นคง ล้วนเป็นกลุ่มคำที่ใช้อธิบายมวลความรู้สึกลบของคนในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี เพราะไม่เพียงเหตุสลดที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หนองบัวลำภู เท่านั้น เรายังพบเหตุการณ์สูญเสียจากความรุนแรงหรือการบันดาลโทสะเกิดขึ้นถี่ระรัวราวกับการทักทายจากเพื่อน (ที่ไม่อยาก) สนิทในทุกเช้า

ทว่าเหตุร้ายที่เกิดขึ้นเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่ซุกซ่อนปัญหาเชิงโครงสร้างอันยุ่งเหยิงไว้เบื้องล่าง สังคมเราจึงควรร่วมสนทนาเพื่อไขบทเรียน พร้อมแก้ปัญหาต่างๆ ทีละเปลาะ ทั้งนี้ เราอาจเริ่มด้วยการถอยหลังหนึ่งก้าวจากเหตุกราดยิงที่ก่อขึ้นโดย ‘อดีตตำรวจ’ ในครั้งนี้ แล้วค่อยๆ พิจารณาปัญหาความรุนแรงไปพร้อมๆ กัน

WAY คุยกับ ผศ.นพ.พนม เกตุมาน ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เพื่อขอคำอธิบายจากมุมมองผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาต่อประเด็นปัญหาสุขภาพจิต รวมถึงแนวทางแก้ไขและเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีแก่ชุมชน โดยมีบทเรียนราคาแพงเป็นตัวตั้ง

“ผมว่าตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่ต้องมองว่าชุมชนของเรามีความปลอดภัยอะไรบ้าง แล้วจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะสถานที่รับดูแลเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนทั่วไป เรามีระบบดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสถานที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้อย่างไรบ้าง ผมคิดว่าถ้าชุมชนเข้มเเข็ง ภัยต่างๆ ก็เข้ามาได้ยาก ต่อให้มีภัยจริงๆ เราก็พลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว”

หลังเกิดเหตุสังหารหมู่ที่หนองบัวลำภู วงการจิตแพทย์มองเหตุการณ์นี้ในแง่มุมใดบ้าง

จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยามองว่า คนที่ยังอยู่ เช่น พ่อแม่ ญาติ หรือพี่น้องใกล้ชิด เขาได้รับผลกระทบทางจิตใจอะไรบ้าง แล้วเราจะช่วยเหลือเขาได้อย่างไร นี่คือกลุ่มเป้าหมายแรกที่ต้องให้ความสนใจ ช่วยเหลือและดูแล เพื่อให้เขาผ่านวิกฤตไปได้ และต้องติดตามต่อเนื่องตลอดช่วง 3-6 เดือนแรก ว่าเขาปรับตัวได้หรือเปล่า เราเชื่อว่า คนจำนวน 2 ใน 3 จะปรับตัวได้หลังได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น ถ้ายังมีคนต้องการความช่วยเหลือต่อ เราก็คงต้องติดตามต่อไป

ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจทางอ้อม เช่น ผู้ดูแลสถานที่ หรือผู้รับผิดชอบด้านความปลอดภัยอย่างตำรวจ ครู หรือชุมชน ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทางจิตใจเหมือนกันนะ บางคนอาจจะรู้สึกผิด รู้สึกว่าตัวเองบกพร่องในหน้าที่ ผมคิดว่าต้องติดตามดูแลว่าเขาจะปรับตัวอย่างไร แล้วต้องมีการทบทวนบทบาทของตัวเองในการช่วยเหลือและป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก มันเป็นวิกฤตที่เราต้องร่วมกันหาทางป้องกัน 

ที่สำคัญ เรายังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้ก่อเหตุ คนที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจถึงสาเหตุ โดยใช้ความรู้ทั้งด้านจิตแพทย์ จิตวิทยา และจิตเวช เพื่อตอบสังคมว่า อะไรทำให้คนคนหนึ่งกระทำแบบนี้ได้ และเราจะป้องกันเหตุนี้ได้อย่างไร 

ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าปัญหาเกิดจากอะไร ส่วนตัวผมเดาว่า ผู้ก่อเหตุมีปัญหาด้านจิตใจและอารมณ์มากทีเดียว และอาจมีปัญหาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปัญหายาเสพติดหรือความเครียดจากสภาพแวดล้อม หากมองลึกลงไป เราอาจต้องทำความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐานทางบุคลิกภาพของเขาในวัยเด็ก ถ้าเราเข้าใจจุดนี้ เราก็อาจสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ที่มีโอกาสก่อเหตุแบบนี้ได้ 

ผู้กระทำการลักษณะนี้ เขามีความเสี่ยงหลายเรื่อง ทั้งบุคลิกภาพ การเลี้ยงดูที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงเรียน หรือความกดดันจากที่ทำงาน ผู้ก่อเหตุหลายคนมีประวัติเคยถูกทำร้าย ถูกล้อเลียน ถูกกลั่นแกล้งรังแกจากโรงเรียนหรือที่ทำงาน จุดนี้ทำให้จิตใจมีความเกลียดและเคียดแค้นสะสม ดูภายนอกเราอาจไม่รู้ว่าเขามีอะไรสะสมไว้ คำถามสำคัญคือ ปัจจัยเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในสังคมของเราในลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในโรงเรียน หรือการกลั่นแกล้งกดดัน ซึ่งถ้าคนเก็บกดความก้าวร้าวรุนแรงไว้นานๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะระเบิดได้ 

สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่เราต้องมองกันกว้างๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นมันคือการคาดคะเน เราต้องอาศัยข้อมูลมาสนับสนุนและยืนยันว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะได้หาทางป้องกันให้ตรงจุด 

ในมุมมองเชิงจิตวิทยา ผู้สูญเสียจะก้าวข้ามบาดแผลทางใจได้อย่างไร

การช่วยเหลือผู้สูญเสียจะแบ่งเป็นระยะๆ ตามปฏิกิริยาทางจิตใจของแต่ละคน

ระยะแรก ประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังเกิดการสูญเสีย ถ้าเป็นความสูญเสียที่รุนแรงหรือมีเรื่องสะเทือนขวัญคุกคามถึงชีวิต ก็จะมีความรุนแรงต่อจิตใจค่อนข้างมาก ถ้าความสูญเสียนั้นไม่ได้กระทบต่อความเป็นความตายของคนคนนั้น ก็อาจรุนแรงน้อยลงมา ยิ่งมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมาก ก็ยิ่งเป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวงมาก 

ความรุนแรงข้างต้นทำให้เกิดปฏิกิริยาทางจิตใจได้มาก เช่น ใน 2 สัปดาห์แรกเป็นความรู้สึกช็อก เหมือนมีอะไรมาฟาดหัว มึนงง สับสน ทำอะไรไม่ถูก ใครไปคุยด้วยก็อาจไม่สามารถตอบคำถามได้ อาจมีปฏิกิริยาที่แสดงความโศกเศร้าเสียใจอย่างรุนแรง หรืออาจมึนและชาไปเลยก็ได้ ความรู้สึกเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก

ระยะที่สอง พอเริ่มได้สติ ความช็อกจะลดลงเหลือเพียงความรู้สึกตกใจ ความกลัว หรือความซึมเศร้า บางคนจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์รูปแบบอื่นๆ เช่น ความโกรธต่อเหตุการณ์และคนที่เกี่ยวข้อง หรือโกรธแม้กระทั่งตัวเอง ถ้าวันนั้นฉันห้ามปราม หรือถ้าฉันอยู่ด้วยก็อาจจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้ บางคนยังไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นกลไกทางจิตใจที่ปกป้องตัวเอง เขาเรียกว่าการต่อรองระหว่างความรู้สึกว่ามันจริงหรือไม่จริง ซึ่งจะมีอาการซึมเศร้าไปอีกพักหนึ่ง เช่น ร้องไห้ เสียใจ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดวนเวียน โทษตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีหรือผิดเองที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น ทั้งที่ความจริงตัวเขาเองไม่ใช่สาเหตุ

ระยะที่สาม เขาปรับตัวได้ คือยอมรับได้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง ความโศกเศร้าเสียใจจะค่อยๆ หายไป แต่ความคิดถึงยังมีบ้าง ปฏิกิริยาเหล่านี้จะวนไปวนมา บางคนยอมรับได้แล้ว แต่สักพักหนึ่งก็กลับมา depress อีก การปรับตัวจะใช้เวลาสัก 3-6 เดือน คนที่สุขภาพจิตดี มีความยืดหยุ่นสูง ก็จะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติในที่สุด

ถึงอย่างไร ประมาณ 1 ใน 3 จะมีอาการต่อไปอีกหลายเดือน กระทั่งเป็นปี คนที่มีอาการหลงเหลือจากช่วง 3-6 เดือนนั้น เป็นคนที่เราต้องสนใจและให้ความช่วยเหลือเป็นพิเศษ แต่อย่างแรก เราต้องรู้ก่อนว่า ใครบ้างที่ยังมีอาการหลงเหลืออยู่ แล้วต้องให้ความช่วยเหลือเขาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลในทางจิตวิทยาจากคดีอาชญากรรมและความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงสังคมไทยเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงใด

ต้องบอกตามตรงว่ามี แต่ไม่มาก ตรงนี้เป็นช่องโหว่สำคัญของบ้านเรา เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น เราไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้มาคิดวิเคราะห์ จริงๆ กระบวนการมีอยู่ว่า หากมีเหตุฆาตกรรมหรือทำร้ายผู้อื่น เราจะส่งทีมนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์เข้าไปหาข้อมูลและวิเคราะห์ แต่เราพบว่า หนึ่ง-คนที่ทำเรื่องนี้มีไม่มากนัก และ สอง-เราไม่ได้รับความร่วมมือจากครอบครัว และระบบของเราก็ไม่ได้เอื้อนัก

แน่นอนว่าเราต้องเคารพเขา เราคงไม่โทษกัน เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นไปแล้ว แต่เราต้องการหาสาเหตุ ซึ่งเป็นได้ทั้งตัวตนของเขา ครอบครัวของเขา รวมถึงปัญหาทางจิตเวช ถ้ามีการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์อย่างชัดเจนเหมือนต่างประเทศ ผมว่ามันจะทำให้เราเห็นสาเหตุจริงๆ ซึ่งอาจไม่เหมือนในต่างประเทศก็ได้ ประเทศเราอาจเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถออกแบบการป้องกันได้อย่างตรงจุด 

ปัจจุบันเราจะพบเหตุสลดใจเกิดขึ้นทุกวันตามสื่อต่างๆ อะไรคือบทเรียนที่เราควรถอดออกมาจากสิ่งเหล่านี้ และเหตุใดสังคมเรายังไม่ตกผลึกในวิธีการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

มันขึ้นอยู่กับแนวคิด แต่ละวิชาชีพที่เกี่ยวข้องต้องมาทบทวนเรื่องนี้กันใหม่ ซึ่งในต่างประเทศ เขาจะมีรูปแบบและวิธีการจัดการข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบเพื่อป้องกันเหตุ เพราะเหตุการณ์เหล่านี้ก่อให้เกิดการเลียนแบบได้ 

ถามว่าจะเลียนแบบได้อย่างไร คือคนที่จิตใจไม่ปกติ เมื่อเขาเห็นคนอื่นทำแล้วอาจรู้สึกว่าวิธีการแบบนี้ทำให้เขาได้รับความสนใจ ถือเป็นวิธีการหนึ่งในการตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง เพราะฉะนั้นรูปแบบการนำเสนอข่าวในสื่อต่างๆ จะต้องมีการทบทวน ซึ่งตอนนี้สังคมไทยก็ตื่นตัวกันแล้วว่า สื่อควรทำหน้าที่อย่างไร ยกตัวอย่างเช่นการนำเสนอข่าวที่เน้นสร้างสีสันจนเป็นข่าวใหญ่เกินไป ผู้ก่อเหตุเหมือนได้รับชื่อเสียงทางอ้อมเลยนะ มีการเอาใบหน้ามานำเสนออย่างละเอียด จนคนดูเกิดความรู้สึกตื่นเต้นหรือหวาดกลัว แต่กับบางคนเขาอาจจะรู้สึกว่า นี่เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ตอบโต้ได้เมื่อฉันโกรธใคร 

อีกด้านหนึ่งคือ ถ้าคนปกติได้เห็นภาพความรุนแรงเช่นนี้ มันจะเกิดอาการ trauma ทางจิตใจ ทั้งๆ ที่ไม่ได้โดนเอง ในต่างประเทศ มีคนรวบรวมสถิติไว้น่าสนใจมาก เขาบอกว่า คนที่สภาพจิตใจเปราะบาง มีความโน้มเอียงเชิงก้าวร้าวรุนแรง หรือเคยเผชิญความก้าวร้าวรุนแรงด้วยตนเองตั้งแต่เด็ก เช่น เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน ทำร้ายร่างกายกัน หรือเห็นคนฆ่ากัน สิ่งเหล่านี้ทำให้คนคนหนึ่งมีแนวโน้มกระทำความรุนแรงได้ เหมือนเขาเรียนรู้อัตโนมัติด้วยการเลียนแบบ ยิ่งถ้าสภาพจิตใจของเขาไม่ดีนัก เช่น มีความโกรธ ความก้าวร้าวและความเคียดแค้นอยู่ในใจ ภาพจำทั้งหลายในวัยเด็กจะกระตุ้นให้เขาหาทางออกด้วยความรุนแรงได้เหมือนกัน นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราต้องระมัดระวังในการนำเสนอภาพข่าว อย่าให้เกิดการเลียนแบบ หรือไปกระตุ้นให้คนเรียนรู้เรื่องการใช้ความรุนแรง

ในอีกด้านหนึ่ง บางครั้งเราอาจก่อให้เกิดความสูญเสียกับคนที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย เช่น พ่อแม่และญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต การที่นักข่าวไปสัมภาษณ์ตรงๆ ผมคิดว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง นักข่าวอาจได้ข่าวดราม่าที่เห็นน้ำตาและความเสียใจ แต่สำหรับญาติพี่น้องของผู้สูญเสีย มันคือการซ้ำเติมทางจิตใจ มันคือการกระแทกและตอกย้ำความสูญเสียของเขา จิตแพทย์จะเน้นเรื่องนี้มาก เขาเรียกว่า traumatized หรือ re-traumatized หรือการทำให้บาดเจ็บมากขึ้น เรื่องเหล่านี้คงต้องพูดโดยมืออาชีพ เช่น หมอ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักจิตเวช ที่เขาจะมีวิธีซัพพอร์ตทางจิตใจ 

ตรงนี้ผมอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นนักข่าวหรือใครก็ตามที่อาจมีเจตนาดี การพูดหรือรื้อฟื้นเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาจะต้องระมัดระวังให้มาก การแสดงความรู้สึกห่วงใยเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ใช่ไปถามเขาว่า “รู้สึกอย่างไร” “ทำไมยังร้องไห้อยู่ล่ะ” หรือ “ทำใจไม่ได้เหรอ” คำพูดเหล่านี้ไม่เหมาะสม เราต้องยอมรับว่าเขาเสียใจ แล้วอยู่เป็นเพื่อนเขา ช่วยเหลือเขาในสิ่งที่เราช่วยเหลือได้ ทำให้เขารู้ว่ายังมีเพื่อน มีครอบครัว และมีชุมชนที่เป็นกำลังใจให้เขา นี่คือตัวช่วยที่ดี 

คนในชุมชนอำเภอนากลาง รวมถึงคนไทยที่ช็อกกับเหตุการณ์นี้ควรจะได้รับการเยียวยาอย่างไรต่อไป

ผมคิดว่าชุมชนที่เข้มเข็งช่วยได้หลายอย่าง ไม่ได้ช่วยแค่การเลี้ยงเด็กอย่างเดียว แต่ยังช่วยในการอยู่รอดของสังคมด้วย ชุมชนที่ดีคือต้นทุนที่ดี ถ้าคนในชุมชนมีปัญหาขึ้นมา เราก็จะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้ คนจะฟื้นคืนจิตใจได้ดีก็ต่อเมื่อมีความผูกพันอยู่ในสังคมเป็นพื้นฐาน พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเรารู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อเกิดการสูญเสีย เราก็จะได้รับกำลังใจ การสนับสนุน และความช่วยเหลือ 

ความห่วงใยในสังคมคือจุดสำคัญในการพลิกฟื้นกลับคืนมา เรียกว่าเป็นปัจจัยภายนอกตัวเรา คือครอบครัว เพื่อนบ้าน และชุมชน แต่เวลาฟื้นฟูจิตใจ เราฟื้นจากปัจจัยภายในนะ ตัวเราเองต้องเข้มแข็งก่อน จึงสามารถปรับจิตใจและอารมณ์ให้ยอมรับได้เร็ว

ผมว่าตอนนี้ไม่ใช่เฉพาะสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่ต้องมองว่าชุมชนของเรามีความปลอดภัยอะไรบ้าง แล้วจะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ว่าจะสถานที่รับดูแลเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โรงเรียนทั่วไป เรามีระบบดูแลรักษาความปลอดภัยสถานที่สุ่มเสี่ยงเหล่านี้อย่างไรบ้าง ผมคิดว่าถ้าชุมชนเข้มเเข็ง ภัยต่างๆ ก็เข้ามาได้ยาก ต่อให้มีภัยจริงๆ เราก็พลิกฟื้นกลับมาได้เร็ว

เราต้องกลับมาดูว่า ใครมีหน้าที่สร้างชุมชนเข้มเเข็งบ้าง ชุมชนอาจต้องร่วมมือริเริ่มกันเองก่อน หน่วยราชการอาจมีหน้าที่ซัพพอร์ต แต่เราคงต้องเริ่มสร้างกันเอง ผู้นำชุมชนต้องเริ่มคิดกันแล้วว่า ชุมชนเราจะเข้มเเข็งได้อย่างไร 

พูดถึงเรื่องความปลอดภัย ทำไมสถานเลี้ยงเด็กจึงมีความปลอดภัยต่ำมาก 

เราต้องกลับมาทบทวนว่า สถานที่ใดบ้างที่เราต้องระมัดระวัง และชุมชนจะออกแบบอย่างไร ซึ่งแต่ละชุมชนอาจคิดแตกต่างกัน แต่ต้องเริ่มคิดแล้วว่า สถานที่ต่างๆ มีระบบดูแลอะไรบ้าง แล้วหากเกิดเหตุในโรงเรียน มีแผนรองรับไหม เราต้องวางแผนไว้ก่อน ตำรวจต้องมีส่วนร่วมด้วย ไม่ใช่เฉพาะแค่ร้านทองเท่านั้นที่จะมีความปลอดภัยนะ (หัวเราะ) โรงเรียนและโรงพยาบาลก็ต้องมี 

เราจะมองแต่การป้องกันเด็กก็ไม่ได้ แล้วผู้กระทำล่ะ ผมเชื่อว่า ถ้าชุมชนเรารู้จักกันดี เฝ้าระวังกันดี เราจะรู้ว่าใครมีความเสี่ยง ถ้ามีคนติดยาในชุมชน เราจะรู้ได้จากหมอ ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน พ่อแม่ และชุมชน แต่รู้แล้วอาจจะไม่ได้เชื่อมกัน คนที่รู้มากที่สุดคือคนในครอบครัว แล้วคนในครอบครัวควรทำอย่างไรถ้ามีคนติดยาและไม่รักษา หรือรักษาแล้วยังมีอาการทางจิต ผมคิดว่าคงต้อง take action เพราะครอบครัวถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน เขาจะปิดบังไม่ได้ จะต้องรับผิดชอบต่อชุมชน อย่างน้อยคือแจ้งหมอมารักษา ถ้าหมอรักษาไม่ได้ก็ตามตำรวจ ตำรวจก็ต้องจับมาบังคับรักษา บางคนแค่ฉีดยาป้องกันอาการโรคจิตเดือนละครั้ง อาการก็สงบแล้ว เพราะฉะนั้นชุมชนจะต้องตื่นตัว ซึ่งครอบครัวอาจเป็นจุดเริ่มต้น

อีกประเด็นคือ สภาวการณ์ที่ทำให้เกิดเหตุ เช่น ความกดดัน ความเครียด การกลั่นแกล้งรังแก การใส่ร้าย หรือมีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น ผมคิดว่าตรงนี้มีผลต่อผู้กระทำ ถ้าสังคมเราสามารถลดปัจจัยเหล่านี้ลงได้ รวมถึงลดปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงทั้งหลาย สิ่งนี้จะเป็นตัวป้องกันได้ เพราะจะไม่มีปัจจัยไปกระตุ้นให้คนกระทำก่อเหตุ 

การหาทางป้องกันหลายๆ จุด แก้ไขปัญหาได้ดีและครอบคลุมกว่าหาทางป้องกันในเด็กอย่างเดียว ซึ่งผมคิดว่าเราป้องกันไม่ได้หรอก เหมือนรอคอยปกป้องไม่ให้ใครมาทำร้าย แต่เราไม่เคยป้องปรามคนที่จะมาทำร้ายเลย นั่นคืออย่าให้คนที่มีความเสี่ยงไปทำร้ายใคร

สถิติพบว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าในตำรวจและทหารสูงกว่าอาชีพอื่น 2-3 เท่า เราจะจัดการกับกลุ่มเสี่ยงในองค์กรเหล่านี้อย่างไร

ปัญหาซึมเศร้าในแต่ละวิชาชีพแตกต่างกันไป ปัจจัยที่ทำให้เกิดก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีเครื่องแบบอย่างทหาร ตำรวจ หรือคนอื่นๆ ที่ถืออาวุธ มันก็เพิ่มความเสี่ยง เพราะฉะนั้น เราต้องมาดูว่าจะช่วยให้เขามีสุขภาพจิตดีได้อย่างไร ผมรู้สึกเห็นใจนะ เขาต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ทั้งเครียดและอันตราย แต่นี่เป็นเพียงความเสี่ยงภายนอก 

ผมคิดว่ายังมีความเสี่ยงที่เกิดจากแรง ‘ภายใน’ ขององค์กรเอง คนในวงการเหล่านี้ต้องมาทบทวนกันหน่อย ถ้าเครียดจากงาน โอเค อันนี้มีทางแก้ แต่ถ้าเครียดจากระบบ เครียดจากวัฒนธรรมองค์กรที่อาจมีทั้งความเหลื่อมล้ำ การกดขี่ หรือการใช้อำนาจอย่างรุนแรง เราจะยอมให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นต่อไปเหรอ ไม่รู้จริงหรือเปล่า แต่ผมเดาว่า ต้องมีแรงขับอะไรที่ทำให้เขาเครียด หรือระบบการทำงานมันเครียดจริง แต่ไม่มีการจัดการความเครียดอย่างเป็นระบบ สถานที่ทำงานบางแห่งไม่ใช่ happy workplace หากปล่อยให้ความเครียดสะสมนานๆ บวกกับไม่มีระบบที่รับประกันความยุติธรรมในองค์กร ก็จะทำให้เกิดการเก็บกด ความโกรธ ความไม่พอใจ และความรุนแรง ซึ่งเราจะเจอเหตุการณ์ผู้ใต้บังคับบัญชาชักปืนมายิงผู้บังคับบัญชาในที่ทำงานอยู่บ่อยๆ

ปัญหานี้เหมือนกับภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นน้ำ แต่จริงๆ มีปัญหาซ่อนอยู่อีกเยอะ ถ้าเราช่วยกันค้นหาปัจจัยที่ซ่อนอยู่เบื้องล่างและหาทางป้องกัน ผมเชื่อว่าไม่เพียงจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันอันตราย แต่ยังช่วยให้คนทำงานมีความสุขด้วย พอคนมีสุขภาพจิตดี เราก็อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

เวลาเกิดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรตำรวจ องค์กรเหล่านี้มักชี้ว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล นักจิตวิทยามองเรื่องนี้อย่างไร

ผมว่ามันเป็นการมองมุมเดียว ถ้ามีปัญหามันต้องมองเชิงระบบนิดหนึ่ง หมายความว่า ปัจจัยของปัจเจกเองก็ใช่นะ แต่คนหนึ่งคนจะเป็นแบบนั้นได้ มันมีเหตุปัจจัยแฝงอยู่รอบตัวเขาและอาจสั่งสมมาตั้งแต่เด็ก นี่คือวิธีมองสาเหตุและปัจจัยในระยะยาว

ถ้าเราไม่มองแบบนี้ เราไปแก้ปัญหาที่ตัวปัจเจกไม่ได้ เพราะบางสาเหตุอาจย้อนกลับไปตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่ปัจจัยในปัจจุบันก็มีความกว้างกว่าแค่เพียงปัจจัยส่วนตัวและสภาพแวดล้อมของเขา มันเป็นเรื่องของระบบ วัฒนธรรม ประเพณี หรืออะไรบางอย่างที่อยู่ในสังคม ยกตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมในโรงเรียนที่ยังเห็นว่า การกลั่นแกล้งรังแกเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน นี่คือวัฒนธรรมที่โอบอุ้มความก้าวร้าวรุนแรง เช่นเดียวกับวัฒนธรรมการทำงานในอีกหลายวิชาชีพที่ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ จนเป็นตัวหล่อเลี้ยงให้เกิดพฤติกรรมรุนแรง เพราะฉะนั้นเมื่อตัวปัจเจกและปัจจัยหล่อเลี้ยงในองค์กรและวัฒนธรรมมาผสมกันจนถึงจุดหนึ่ง มันก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา ดังนั้น อย่าไปมองภาพเดียว ถ้ามองภาพกว้างก็จะเห็นสาเหตุได้มากขึ้น

สำหรับคนที่มองภาพเดียว เขาอาจไม่รู้ก็ได้ คือไม่มีความรู้เรื่องการมองภาพรวม และมองเชิงระบบไม่เป็น หรือเขาอาจจะมองเป็น แต่คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ เขาอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบ หรือเขาอาจมองว่าตนเองไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงระบบได้จริงๆ หรือพอพูดถึงระบบที่ตนเองสังกัด บางทีเขาอาจไม่อยากเผยแพร่ให้ใครรู้ (หัวเราะ) แต่แบบนั้นมันก็เหมือนการเก็บและซ่อนปัญหาเอาไว้

พ่อแม่และครู รวมถึงคนรอบข้างจะเยียวยาบาดแผลของเด็กที่รอดชีวิตอย่างไร

ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็ก เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยมีการรับรู้ต่อเหตุการณ์ต่างกัน เด็กเล็กอาจจะไม่ชัดเจนเท่าไร แต่มีแฝงอยู่ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ก็ต้องติดตามเด็ก คอยสังเกตพฤติกรรม พัฒนาการ และอารมณ์ของเด็ก คือติดตามอย่างต่อเนื่องสัก 6-12 เดือน ตรงนั้นเป็นจุดที่เราจะทำงานต่อ ถ้าเด็กมีบาดแผลทางใจ ก็จะมีระบบช่วยเหลือ นักจิตวิทยาและจิตแพทย์เด็กก็จะหาทางบำบัดเยียวยาร่วมกับครอบครัวต่อไป

ครอบครัวเองก็ต้องการความช่วยเหลือด้วยนะ เพราะคนที่รอดต้องมีพลังพอที่จะดูแลเด็กต่อ ถ้าพ่อแม่เขามีสุขภาพจิตดีก็จะประคับประคองเด็กได้ จากที่เคยทำงานกับเด็กที่เผชิญภัยพิบัติมานาน เราพบว่าส่วนใหญ่จะค่อยๆ คลี่คลายได้ โดยที่พ่อแม่และครูต้องช่วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่ผ่านพ้นไปได้ ภายใน 1-2 ปี ก็หายเป็นปกติแล้ว

แล้วชุมชนควรระวังหรือดูแลเด็กที่รอดชีวิตอย่างไร

ผมคิดว่า ถ้าเด็กโตขึ้นและไม่มีมุมมองด้านลบต่อเหตุการณ์นี้ หมายถึงถ้าเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเหยื่อหรือเป็นคนที่มีปมด้อย ผู้ใหญ่ในชุมชนก็คงไม่ทำให้เขารู้สึกแย่ เราสามารถทำให้เขากลับมาพูดถึงเหตุการณ์นั้นเท่าที่เขาจำได้ ซึ่งต้องมองว่าเป็นเพียงเรื่องที่เคยเกิดขึ้น เขาผ่านพ้นและรับมือกับมันได้แล้ว เราก็คงไม่ต้องซ้ำเติมเด็ก

สำหรับคนไทยที่ยังช็อกกับเหตุการณ์นี้ จะมีวิธีลดความวิตกกังวลและเสริมสร้างจิตใจอย่างไรบ้าง

ถ้าเราให้ความรู้กับประชาชนทั่วไปอย่างครบถ้วน ผมคิดว่าพ่อแม่ทั้งหลายจะเข้าใจว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากความเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วมีอะไรบ้างที่เราต้องยอมรับ แต่นักจิตวิทยาเชื่อว่า ถ้าเราคิดมาก แต่ไม่ได้หาทางป้องกันแก้ไขอะไรเลย มันก็จะกลายเป็นความกลัว

วิธีแก้คือ หนึ่ง-อย่าเสพสื่อเยอะ เพราะว่าบางทีสื่อก็จะผลิตซ้ำๆ กัน

สอง-ทำใจให้สงบ หยุดคิดชั่วคราว พยายามอย่าคิดเรื่องอื่น ค่อยๆ หายใจ มันเป็นทักษะสงบอารมณ์ของเราได้

สาม-ถ้ารู้ว่าเริ่มมีอาการ เริ่มเครียดและกังวล ให้เราเลี่ยงสถานการณ์นั้นๆ หากิจกรรมอื่นมาเบนความสนใจ เราสามารถจัดการตัวเราได้นะ ถ้าเรารู้ว่าเสพเรื่องต่างๆ มากเกินพอดี ก็ไปหากิจกรรมอย่างอื่นทำเพลินๆ

ขั้นต่อมา เราต้องคิดว่าจะหาทางป้องกันเหตุร้ายได้ยังไง คนเราถ้าเตรียมวิธีรับมือเอาไว้ ความเครียดก็จะลดลงมาครึ่งหนึ่ง สมมุติเรากังวลว่าโรงเรียนของลูกมีระบบความปลอดภัยโอเคไหม ก็ไปคุยกับโรงเรียน หรือชุมชนเรามีระบบความปลอดภัยไหม ถ้าพบว่าไม่มี ก็สร้างมันขึ้นมาเลย

ช่วยเล่าถึงความสำคัญของจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาต่อชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานต่างๆ หน่อย

ต้องตอบว่า จำนวนจิตแพทย์ยังไม่พอต่อความต้องการของประชาชน เรายังขาดจิตแพทย์ทั่วไป รวมถึงจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในการทำงานเรื่องสุขภาพจิต โดยช่วงระยะนี้ ผมคิดว่าจิตแพทย์ทำงานด้านการเสริมสร้างและป้องกันมากขึ้น สมัยก่อนเราเน้นการรักษาและฟื้นฟู มีคนป่วยมาก็รักษา แต่พบว่ามันไม่ทัน เพราะถ้าเรามัวตามแก้ไขอยู่แบบนี้ คนไข้ก็จะเยอะขึ้นเรื่อยๆ ซึมเศร้าเยอะขึ้นเรื่อยๆ ติดยาเยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่การป้องกันก็ต้องอาศัยทรัพยากรพอสมควร และต้องการคนที่เข้าใจความสำคัญ 

บางคนงงเวลาเห็นจิตแพทย์เข้าไปทำงานในโรงเรียนและชุมชนที่ไม่ได้มีปัญหาอะไร คือเราเข้าไปทำงานเพื่อป้องกัน เราไม่อยากให้นักเรียนเป็นซึมเศร้า ไม่อยากเห็นนักเรียนติดยา เราจึงทำงานทั้งๆ ที่เด็กยังไม่ติดนี่แหละ อันนี้ต้องอาศัยเทคนิค วิธีการ และกำลังคน เราสามารถช่วยกันได้ทั้งสองฝ่าย คือชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือต้องต้อนรับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ส่วนจิตแพทย์ก็ทำงานเชิงรุกมากขึ้น และต้องเพิ่มกำลังการผลิตบุคลากร หรือหาพันธมิตรช่วยกัน

ดูเหมือนการทำงานเชิงป้องกันจะใช้ทรัพยากรเยอะมาก ตอนนี้เพียงพอแล้วหรือยัง

ในภาพรวม วงการจิตแพทย์ยังขาดกำลังคน ทั้งในเรื่องจำนวนและการกระจายตัว เราอาจมีจิตแพทย์จำนวนมากในกรุงเทพฯ แต่บางจังหวัดยังขาดแคลนหรือยังมีจำนวนแพทย์ไม่ถึงมาตรฐาน ถ้าบุคลากรน้อยไป จิตแพทย์ต้องแบ่งกำลังไปทำงานด้านการรักษา ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนกว่าการป้องกัน ดังนั้น เป็นเรื่องนโยบายของกระทรวงฯ และรัฐบาลที่ต้องจัดหาให้เพียงพอ

ผมคิดว่า คนที่เข้ามาช่วยงานในชุมชนจะต้องเป็นสหวิชาชีพมากขึ้น ตอนนี้จิตแพทย์เข้าไปมีส่วนในโรงเรียน แล้วพบว่าครูหลายคนกำลังทำงานเรื่องการเสริมสร้างและพัฒนาสุขภาพจิตของเด็ก ถ้าโรงเรียนเป็นตัวสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนา ผมเชื่อว่าปัญหาทางสุขภาพจิตของเด็กๆ จะลดลงไปเยอะ ปัญหาสังคมต่างๆ ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

เข้าใจว่าคุณหมอทำงานกับโครงการ ‘ก่อการครู’ จึงอยากทราบว่า หมอและครูทำงานร่วมกันอย่างไรบ้าง

ผมเป็นจิตแพทย์ที่ร่วมงานกับ ‘ก่อการครู’ ตั้งแต่เริ่มต้น ตอนนั้นมีแนวคิดว่า ครูยุคใหม่ไม่เพียงเน้นเรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่จะทำยังไงให้เด็กเติบโตและพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน เช่น ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 

จิตแพทย์มองตรงกันว่า ถ้าครูมีทักษะเหล่านี้ เด็กจะมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย รวมถึงพบว่า ถ้าตัวครูเองมีความสุขและมีเทคนิคการสอนที่ดี เด็กก็จะพัฒนาได้ดีขึ้นด้วย โรงเรียนก็จะเป็นชุมชนที่ปลอดภัยของเด็ก เป็นชุมชนที่พัฒนาและรับประกันความปลอดภัยให้เด็กตั้งแต่แรก

เราได้ครูแนวใหม่จากโครงการนี้มากขึ้น ทำให้การทำงานร่วมกันระหว่างหมอและครูดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้จิตแพทย์รุ่นใหม่ทำงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาเด็กร่วมกับครูในโรงเรียน คือทำให้ครูเห็นมุมมองใหม่ๆ ไม่สอนเฉพาะวิชาการอย่างเดียว แต่สอนความเป็นมนุษย์ด้วย

หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ที่หนองบัวลำภู พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า “ต้องให้ครูพกปืนดูแลเด็กด้วยหรือไม่ เด็กถึงรอด” มีความเห็นต่อคำพูดนี้อย่างไร

(ยิ้ม) ในเชิงสัญลักษณ์ เขาอาจหมายถึงการให้ครูปกป้องเด็ก แต่ผมไม่คิดว่าครูต้องพกปืน มันคงไม่เหมาะสม แต่ครูพกอย่างอื่นแทนได้ ครูพกทักษะในการพัฒนาเด็ก พกความรัก ความเมตตา ทำให้เด็กพัฒนาในแนวใหม่ได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันที่ดี เพราะจะทำให้ หนึ่ง-เด็กคนนี้ไม่เป็นผู้กระทำเสียเอง สอง-เอาตัวรอดและป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงต่างๆ และหาทางป้องกันความเสี่ยงในชุมชนได้ ไม่ใช่เรียนวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ชีวิตว่าจะทำยังไงให้เราอยู่ร่วมกันได้

ภาพหนึ่งของโรงเรียนคือ เด็กเรียนแบบตัวใครตัวมัน เด็กไม่ได้สนใจช่วยเหลือกัน ไม่ช่วยเหลือเพื่อน บางทีเด็กก็มีมุมมองนี้โดยไม่รู้ตัว เช่น พ่อแม่สอนลูกว่าเด็กคนไหนไม่ดีก็อย่าไปคบ ผมคิดว่ามันเป็นคำสอนที่แปลกแยกตัวเองมากเลย ถ้าเพื่อนเราไม่ดี เราต้องดึงเขากลับมาสิ ก็เราเป็นเพื่อนกันไม่ใช่เหรอ เราอยู่โรงเรียนเดียวกันนะ ทัศนคติแบบนี้ควรเกิดขึ้นในโรงเรียนมากกว่า และครูควรสนับสนุนให้เพื่อนช่วยเพื่อนและเรียนรู้ไปด้วยกัน ถ้าเริ่มมีความเสี่ยง เช่น เกิดการกลั่นแกล้ง หรือปัญหาทางอารมณ์ เราควรจะแก้ไขให้เสร็จภายในรั้วโรงเรียน เพราะมันจะแก้ไขง่าย ไม่ใช่ทิ้งหรือตัดปัญหาด้วยการไล่เด็กออก ผมว่าอันนี้ไม่ถูก ควรดึงเด็กไว้แล้วแก้ไขปัญหาให้เขา ระบบนิเวศการเรียนรู้ที่ดีในโรงเรียนคือแบบนี้

ท้ายสุด มองทิศทางสุขภาพจิตในสังคมไทยอย่างไร

หากมองมุมบวก ผมว่าเราพัฒนาขึ้นมากนะ จุดเปลี่ยนสำคัญคือเรามองการป้องกันมากขึ้น นโยบายของกรมสุขภาพจิตตอนนี้คือเน้นการ ‘สร้างก่อนซ่อม’ คือการสร้างเด็กให้ดี ไม่ใช่คอยรักษาอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือ เราจับมือกันมากขึ้น เราเริ่มทำงานคร่อมสายงาน เช่น หมอและจิตแพทย์ทำงานร่วมกับครูมากขึ้น โรงเรียนเชื่อมต่อกับโรงพยาบาล และหมอทำงานอยู่ในชุมชนมากขึ้น

หมอทำงานคนเดียวไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในโรงเรียนทุกวัน แต่ครูซึ่งอยู่ในโรงเรียนทุกวันสามารถช่วยเติมบางส่วนได้ ผมคิดว่าการทำงานรักษาร่วมกันจะช่วยให้เราผ่านจุดที่ทรัพยากรมีจำกัดได้ นอกจากนี้ หมอยังต้องจับมือกับหมอด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอเวชกรรมหรือเวชศาสตร์ครอบครัว รวมไปถึงเจ้าหน้าที่สายสุขภาพ เช่น พยาบาลสุขภาพจิต และ อสม. ในพื้นที่ ตราบใดที่ทรัพยากรยังมีไม่พอ ผมคิดว่าภาพการทำงานแบบนี้จะช่วยให้เรายังทำงานต่อไปได้

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า