“ทุนจีนสีเทา คือทุนของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่เกาะนโยบายแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย โดยมีรัฐบาลจีนซ่อนตัวอยู่ในนั้น”
รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นว่า การจะเข้าใจ ‘ทุนจีนสีเทา’ ต้องเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ตั้งแต่ยาเสพติด ค้ามนุษย์ หรือค้าสัตว์ป่า ซึ่งมักจะใช้ธุรกิจประเภทอื่นบังหน้าและฟอกเงิน เช่น คาสิโนและธุรกิจท่องเที่ยว
ธุรกิจมืดเหล่านี้ถูกรัฐต่างๆ กดดัน แม้แต่รัฐจีนเองก็ตาม จนต้องย้ายออกไปแถบชายแดนเพื่อให้พ้นเงื้อมมือของรัฐ เมื่อจีนสนับสนุนให้กลุ่มทุนในประเทศออกไปลงทุนภายนอกผ่านนโยบาย Going Out Policy และยุทธศาสตร์ One Belt One Road นักธุรกิจมืดเหล่านี้จึงฉวยโอกาสขยายตัวและเกาะเกี่ยวไปกับกลุ่มทุนสีขาวอื่นๆ แล้วอ้างว่าทำตามนโยบายรัฐ
“ดังนั้นเมื่อพูดถึงทุนจีนในความหมายของทุนที่สนับสนุนโดยรัฐจีน จึงถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะยังมีทุนของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติแฝงตัวอยู่ใต้ปีกของรัฐ และฉวยโอกาสจากนโยบายดังกล่าวในการขยายธุรกิจ”

ทุนนิยมจีนคืออะไร มีลักษณะอย่างไรบ้าง
นักวิชาการส่วนใหญ่มักอธิบายว่า ทุนนิยมจีนเป็นทุนนิยมรัฐ (state capitalism) โดยเห็นว่าหัวใจของทุนนิยมประเภทนี้คือ การที่รัฐมีอำนาจนำในตลาด และสามารถแทรกแซงกิจการของบรรษัทเอกชน เพื่อที่จะนำพาเศรษฐกิจไปสู่เป้าประสงค์การพัฒนาของรัฐ
แต่ state capitalism ไม่ได้มีเพียงแค่ในโลกสังคมนิยมแบบจีนหรือรัสเซีย แนวคิดนี้ยังใช้กับบราซิล อินเดีย หรือกระทั่งประเทศในโลกตะวันตกอย่างนอร์เวย์ ก็ถูกนับให้เป็น state capitalism กรณีนอร์เวย์ รัฐเป็นหุ้นส่วนของธุรกิจใหญ่หลายแห่ง ทั้งยังเอาเงินจากกองทุนสำรองน้ำมันของประเทศไปถือหุ้นในตลาดหุ้นออสโลมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น แนวคิด state capitalism ดูเหมือนยังไม่สะท้อนคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐที่รวมศูนย์อำนาจด้วยพรรคเดียว เช่น รัฐคอมมิวนิสต์ ที่มีอำนาจในการควบคุมตลาดหรือแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ เช่นระบบทุนนิยมในรัฐจีน
นักเศรษฐศาสตร์หรือนักสังคมวิทยาจำนวนหนึ่ง ได้แก่ มากาเร็ต เพียร์สัน (Margaret Pearson) เม็ก ริธมีร์ (Meg Rithmire) และ เคลลี ไซ (Kelly Tsai) ได้เสนอแนวคิด Party-State Capitalism หรือทุนนิยมโดยรัฐแห่งพรรค ในการอธิบายระบบทุนนิยมในประเทศจีน อย่างน้อยที่สุดตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 2000 เป็นต้นมา ซึ่งรัฐเป็นศูนย์กลางในการควบคุมเศรษฐกิจและตลาด และยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นภายใต้การปกครองของ สี จิ้นผิง

นักวิชาการทั้ง 3 คนข้างต้น อธิบายว่า ระบบทุนนิยมโดยรัฐแห่งพรรค มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง-การแทรกแซงตลาดโดยรัฐแห่งพรรค เราจะเห็นว่า บรรษัทใหญ่ๆ ของจีนจัดรูปแบบและโครงสร้างองค์กร ไม่ต่างไปจากองค์กรแบบพรรคคอมมิวนิสต์ หรือกระทั่งการที่ทุนของรัฐขยายตัวออกไปนอกเหนือกิจการของรัฐ ซึ่งเรียกว่า ธนาภิวัตน์โดยรัฐ (state financialization) สถาบันการเงินที่สำคัญ เช่น ธนาคารใหญ่ๆ ในจีนเป็นของรัฐเกือบทั้งหมด ธนาคารเหล่านี้ทำงานตามนโยบายรัฐมากกว่าพลังของตลาด ซึ่งต่างจากธนาคารในประเทศทุนนิยมทั่วไป
รัฐแห่งพรรคยังมีเครื่องมือทางการเงินที่ขยายอำนาจเข้าไปในธุรกิจเอกชน เช่น กองทุนต่างๆ ที่จะกำหนดว่า ผู้รับทุนต้องทำอะไรบ้าง ซึ่งผู้รับทุนส่วนใหญ่ก็คือบรรดาบริษัทใหญ่ๆ ทั้งหลาย หลังประกาศนโยบาย ‘Going Out Policy’ บริษัทจีนทั้งหลายก็ทยอยไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ และในเมื่อบริษัทพวกนี้รับเงินจากรัฐบาลจีน พวกเขาก็ต้องปฏิบัติตาม agenda (วาระ) ของรัฐไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะตั้งแต่ยุค สี จิ้นผิง เป็นต้นมา รัฐจีนจะยิ่งพยายามแทรกแซงกลุ่มทุนใหญ่ๆ อย่างเข้มขึ้นขึ้น ตัวอย่างเช่นการพยายามสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘หุ้นพิเศษ’ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Baidu, Alibaba หรือ Tencent บริษัทอินเทอร์เน็ตที่ใหญ่มากของจีน ก็จะถูกบังคับให้ต้องมอบหุ้นแก่รัฐอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์
นี่จึงไม่ใช่ state capitalism แต่เป็น Party-State capitalism ที่พรรคคอมมิวนิสต์พยายามเข้าไปมีส่วนในภาคธุรกิจ และมีอำนาจเหนือกลไกตลาด
สอง-เส้นแบ่งระหว่างกรรมสิทธิ์รัฐและกรรมสิทธิ์เอกชนที่พร่าเลือน เพราะทุนเอกชนต้องตอบสนองต่อความมั่นคงแห่งรัฐด้วย ฉะนั้นบรรษัทใหญ่ๆ จึงไม่ได้ทำงานเพื่อสร้างกำไรอย่างเดียว หากแต่ต้องตระหนักรู้ด้วยว่า ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือไม่ก็ตาม ไม่สามารถขัดต่อความมั่นคงแห่งรัฐ
ยกตัวอย่างการประท้วงที่ฮ่องกง ในปี 2019-2020 รัฐจีนได้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ บรรดาผู้นำกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ทั้งในชาติและข้ามชาติต้องลงนามสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว นอกจากนี้ คุณมีสิทธิที่จะถูกถอดจากตำแหน่ง CEO ได้ทันที เมื่อไหร่ก็ได้ถ้าหากพูดอะไรที่ฟังดูแล้วเหมือนสนับสนุนการประท้วง
สิ่งนี้สะท้อนว่า เส้นแบ่งระหว่างกิจกรรมของรัฐและกิจการของเอกชนมันพร่าเลือน อย่างกรณี แจ็ก หม่า ที่ออกมาวิจารณ์พรรค แล้วหายตัวไปพักหนึ่ง รวมถึงเกิดการปรับโครงสร้างบริษัท Alibaba ของเขายกใหญ่ นี่คือการที่รัฐแห่งพรรคจีน มีอำนาจในการแทรกแซงกิจการเอกชนในขอบเขตที่กว้างและลึกมาก

สาม-การแทรกแซงเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับทุนจีนเท่านั้น แม้แต่ทุนต่างชาติก็โดนแทรกแซงด้วย นั่นหมายถึงว่า เวลาที่ทุนต่างจากชาติจะไปลงทุนในจีน ก็ต้องแสดงความจงรักภักดีต่อรัฐจีน ไม่งั้นอาจโดนลงโทษหรือเจอกระบวนการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ
ยกตัวอย่างปี 2019 ผู้จัดการทีม Houston Rocket สมาชิกของสมาคมบาสเก็ตบอลแห่งชาติสหรัฐ (NBA) ได้ออกมาทวีตสนับสนุนการประท้วงของบรรดาคนหนุ่มสาวในฮ่องกง ปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์จีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นของรัฐ สั่งระงับการถ่ายทอดสดการแข่งขัน NBA ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตลาดในจีนใหญ่มาก จนเหล่าผู้เล่นคนสำคัญๆ ของ NBA ต้องออกมาพูดว่า NBA ไม่ควรไปยุ่งเรื่องการเมือง และควรระมัดระวังมากกว่านี้ เราจึงไม่แปลกใจที่นักร้อง นักแสดง หรือใครต่อใครในจีนต้องออกมาแสดงความรักชาติ เพราะไม่ใช่แค่ตลาดใหญ่อยู่ในจีน แต่ยังอาจจะโดน boycott จากทั้งองค์กรสื่อและรัฐบาล

หรืออย่างกรณีสายการบิน Cathay Pacific ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ Swire บริษัทอังกฤษ กับ Air China แม้จริงๆ แล้ว Swire จะถือหุ้นมากกว่า แต่ช่วงที่เกิดการประท้วงในฮ่องกง แล้วมีพนักงาน Cathay Pacific ไปร่วมประท้วง ก็โดนพักงานกันล็อตใหญ่ สุดท้ายผู้บริหารสายการบินนั้นก็ต้องลาออก
คุณลักษณะ 3 ประการนี้สะท้อนว่า ในด้านหนึ่งทุนนิยมแบบจีนพยายามไปแข่งขันในตลาดโลก สร้างความยิ่งใหญ่และความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแข่งขันกับโลกตะวันตก ขณะเดียวกันทุนนิยมแบบจีนก็ไม่ได้ทำงานตามกลไกแบบตลาด แต่ถูกกำกับควบคุมโดยรัฐแห่งพรรคอย่างเข้มข้น ความย้อนแย้งดังกล่าว สร้างปัญหาในตัวของมันเองในอย่างน้อย 2 ระดับด้วยกัน คือ การที่รัฐแห่งพรรคจีนนั้นมีโครงสร้างอำนาจที่รวมศูนย์ เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และผูกขาดอยู่ในมือของกลุ่มผู้นำของพรรค ทุนนิยมภายใต้ความสัมพันธ์ของโครงสร้างรวมศูนย์อำนาจประเภทนี้จึงมีความเปราะบางเป็นอย่างมาก เพราะพร้อมจะถูกทำให้ง่อนแง่น หรือพังทลายลงได้ หากเป้าหมายและการทำงานของทุนเบนเข็มออกห่างจากเป้าหมายของพรรค แต่ในขณะเดียวกัน การพร่าเลือนของเส้นแบ่งระหว่างรัฐกับทุนที่ทำให้รัฐเข้าควบคุมกำกับทุนในระดับรากฐานนี้ ได้เปิดทางให้กับความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการ ตลอดจนการคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยที่การสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัว และต่างตอบแทนกับตัวแทนของหน่วยงานของรัฐแห่งพรรค ตลอดจนตัวแทนของหน่วยงานกึ่งรัฐในระดับต่างๆ ได้กลายเป็นบันไดสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับกลุ่มทุนต่างๆ
สิ่งที่น่าสนใจคือ ช่องทางหรือบันไดประเภทนี้ กลับกลายเป็น ‘โอกาส’ ให้กับกลุ่มทุนจีนสีเทาที่ดำเนินกิจการอยู่ในภูมิภาค ใช้ในการฟอกตนเอง และเป็นเครื่องมือสำคัญในการแผ่ขยายอำนาจทางเศรษฐกิจสีเทาของตนไปในภูมิภาค โดยมีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐแห่งพรรคสนับสนุน
ทุนนิยมโดยรัฐแห่งพรรคเกิดขึ้นได้อย่างไร
Party-State capitalism เป็นผลพวงของการปฏิรูปหลายระลอก ตั้งแต่ยุคหลัง เหมา เจ๋อตุง เป็นต้นมา
ความล้มเหลวของเศรษฐกิจแบบวางแผน หรือเศรษฐกิจแบบบังคับ (Planned economy) และเศรษฐกิจแบบรวมหมู่ ที่มีรัฐเป็นศูนย์กลางของจีน ก่อให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจขึ้นหลายระลอก ซึ่งก็ไม่ใช่การปฏิรูปแบบเส้นตรงที่เปลี่ยนจากระบบหนึ่งเป็นอีกระบบแล้วได้ผลเลย จีนเปลี่ยนแปลงมาตลอดหลายสมัย ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ก็มีการปฏิรูปเศรษฐกิจและเกษตรกรรม ค่อยๆ เปิดตลาดให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ด้วยระบบโควตา มีการตั้งวิสาหกิจของรัฐ (State-Owned Enterprise: SOE) ไปจนกระทั่งการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZ) ให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน เพื่อพยายามพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เชื่อมต่อกับโลกเศรษฐกิจภายนอก กระบวนการเหล่านี้ค่อยๆ ดำเนินไปในฐานะส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อทำให้จีนสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบตลาดโลก ซึ่งทำควบคู่ไปกับการ downsize (ลดขนาด) กิจการของรัฐลง รวมถึงมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ จนมาสู่การสนับสนุนให้วิสาหกิจจีน และกลุ่มทุนจีนออกไปลงทุนนอกประเทศ การส่งออกเขตเศรษฐกิจพิเศษจีน ตลอดจนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนี่งเส้นทาง
เหล่านี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทิศทางทางของระบบเศรษฐกิจของจีน จากระบบเศรษฐกิจแบบบังคับ ไปสู่ระบบทุนนิยมที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง และการวางตนเองเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไม่ได้แปลว่าการแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐได้ยุติลง ในทางตรงกันข้าม จีนเปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่รอรับเงินทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) กลายเป็นประเทศที่ให้ FDI แก่ประเทศอื่นภายในเวลา 3 ทศวรรษ ไม่ใช่ด้วยการละทิ้ง เศรษฐกิจแบบบังคับ (planned economy) หรือด้วยการกระจายอำนาจหรือสวมรับเอาการเข้าสู่ระบบตลาดแบบทุนนิยม หากแต่เป็นการประดิษฐ์สร้างระบบทุนนิยมชนิดใหม่ที่รองรับระบอบธรรมาภิบาลภายใต้การนำของรัฐแห่งพรรค ที่ซึ่งแผนการพัฒนาของรัฐถูกใช้เป็นธงนำทิศทางการเติบโตของทุนนิยมจีน

การที่ทุนจีนไปลงทุนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลักษณะเฉพาะหรือแตกต่างจากทุนประเทศอื่นๆ อย่างไรบ้าง
แน่นอนที่ว่าทุนนิยมจีนมีรูปการณ์และลักษณาการที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งรูปแบบ วัฒนธรรมการทำธุรกิจ แบบแผนการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ แต่ทุนนิยมข้ามชาติจีนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การออกไปนอกประเทศ (Going out policy) ของรัฐแห่งพรรคจีน ไม่ว่าจะทุนเอกชน วิสาหกิจของรัฐ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ต่างก็ตอบสนองต่อวาระหลักของรัฐจีนในการสร้างความเป็นมหาอำนาจของเศรษฐกิจจีน ในการขยายตลาดจีนออกสู่โลก และการผนวกและผนึกรวมภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและนอกเอเชียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีน โดยรัฐจีนให้การสนับสนุนทั้งในแง่การเงินและกลไกอื่นๆ แก่ทุนเหล่านี้
ในแง่หนึ่ง ทุนจีนข้ามชาติเหล่านี้จึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยรัฐจีนในการแผ่ขยายอำนาจออกไปสู่โลก ยุทธศาสตร์การผนึกอำนาจเศรษฐกิจของจีน ผ่านโครงการมหึมา เช่น หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ทางรถไฟความเร็วสูง ถนน ท่าเรือ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่เชื่อมโยงภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และอัฟริกาเข้าด้วยกัน ถือเป็นรูปธรรมที่สำคัญที่กลายเป็นแนวทางให้กับกลุ่มทุนต่างๆ เข้าลงทุนในพื้นที่สำคัญต่างๆ ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ BRI
สิ่งที่น่าสนใจคือ ทุนข้ามชาติจีนเหล่านี้ขานรับต่อ ‘ความฝันของจีน’ (China Dream) อันเป็นวาทกรรมที่ผู้นำจีน สี จิ้นผิง นำมาใช้ในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองในการสร้างชาติจีนที่รุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ อย่างแข็งขันและปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างแพร่หลาย การสร้างเมืองใหม่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ การสร้างเศรษฐกิจแบบใหม่ การสร้างนวัตกรรมที่ล้ำหน้าของทุนจีนในที่ต่างๆ มักถูกป่าวประกาศให้เห็นผ่านสำนวนโวหารของชาตินิยมแบบจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนวนโวหารดังกล่าวแสดงออกผ่านวาทกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศกำลังพัฒนาของกลุ่มทุนข้ามชาติจีน ที่มักอ้างอิงถึงชาติจีน ในฐานะต้นแบบแห่งความสำเร็จทางเศรษฐกิจที่จะเข้ามาช่วยปลดปล่อยให้ผู้คนในภูมิภาคหลุดออกจากความยากจน ที่น่าสนใจคือ ในกลุ่มทุนสีเทาที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การอ้างอิงกับความฝันของรัฐแห่งพรรค ยิ่งทวีความเข้มข้น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มธุรกิจตงเหม่ย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ฟอกตัวเองขึ้นมาจากกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมายหงเหมิน ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า เมืองเศรษฐกิจใหม่ไซซิกัง ริมฝั่งแม่น้ำเมยในพม่าที่กำลังถูกสร้างขึ้นใกล้กับฉ่วยโก๊กโกะนั้น จะผงาดขึ้นเป็น ‘เสิ่นเจิ้นแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ เขตเศรษฐกิจพิเศษขนาดใหญ่ที่ลงทุนโดยทุนข้ามชาติจีนมักผนวกเอา China Town เข้าเป็นองค์ประกอบสำคัญของเขตฯ เพื่อแสดงให้เห็นถึงอารยธรรมอันรุ่งเรืองของจีน หรือการที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในชายแดนลาว และชายแดนพม่า ต่างอ้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของตนกับผลักดันให้ BRI ประสบความสำเร็จ เป็นต้น
ในแง่นี้ ทุนข้ามชาติจีนจึงทำหน้าที่เชื่อมโยงทุนกับรัฐแห่งพรรคอย่างน้อย 2 มิติด้วยกันคือ ในแง่เศรษฐกิจนั้น กลุ่มทุนข้ามชาติจีนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้รัฐจีนสามารถผงาดขึ้นเป็นศูนย์กลางอำนาจทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและในโลก โดยทำงานตอบสนองต่อทิศทางดังกล่าวของรัฐแห่งพรรคจีน และในแง่อุดมการณ์ ทุนข้ามชาติจีนเป็นกลไกในการผลักดันชาตินิยมแบบจีนออกสู่ภายนอก ทำให้อุดมการณ์นามธรรมตกผลึกเป็นรูปธรรมผ่านการลงทุนทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของจีนในภูมิภาคและในโลก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมืองใหม่ ระบบคมนาคมขนส่ง และเครือข่ายเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งช่วยให้จินตภาพของการเป็นมหาอำนาจจีนเป็นรูปธรรมขึ้น
เขตเศรษฐกิจพิเศษคืออะไร ทำไมในทางวิชาการมักถูกยกมาพูดพร้อมทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่
นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมักอธิบายว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษคือเขตที่รัฐอนุญาตและเปิดโอกาสให้ทุนสามารถเข้ามาดำเนินกิจการ ภายใต้ระบอบการควบคุมกำกับที่มีความยืดหยุ่น และปราศจากความเข้มงวด (deregulation) ซึ่งช่วยให้ทุนสามารถดำเนินการโดยที่รัฐเข้าไปยุ่งน้อยที่สุด ซึ่งเป็นไปตามหลักการเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เช่น การลดการกำกับด้านแรงงาน
ดังนั้น ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทุนสามารถที่กำหนดค่าแรงในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ประเทศนั้นกำหนด หรือมิให้มีสหภาพแรงงาน หรือรัฐอาจยกเว้นภาษีศุลกากรทั้งหลาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ที่ดิน ที่รัฐให้นายทุนเช่าที่ดินราคาถูกในระยะเวลาอันยาวนาน การได้มาซึ่งปัจจัยการผลิตและฐานการผลิตในต้นทุนที่ต่ำ และมีการควบคุมกำกับที่ผ่อนคลาย ถูกถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนที่จะเข้าลงทุนในประเทศ และเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังพัฒนาใช้ในการดึง FDI เข้าประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปมักอธิบายแบบนี้
แต่ ไอวา ออง (Aihwa Ong) นักมานุษยวิทยา กลับมองว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ทางเศรษฐกิจ หากแต่เป็นเครื่องมือแห่งรัฐ หรือเทคโนโลยีในการปกครองประเภทหนึ่ง รัฐบาลในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ใช้เครื่องมือนี้สร้างโซนแห่งการยกเว้น (Zone of Exception) ขึ้น เพื่อที่รัฐจะพักบทบาทในฐานะผู้คุ้มครองพลเมืองไว้ชั่วคราว แล้วเปิดโอกาสให้ทุนทำงานได้เต็มที่ เสรีนิยมใหม่ภายใต้เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงไม่ใช่กระบวนการทางเศรษฐกิจที่ลดการควบคุมกำกับโดยรัฐลง หากแต่เป็นเครื่องมือที่รัฐใช้เพื่อเปิดทางให้ตลาดเข้ามาใช้ทรัพยากรเพื่อสร้างเศรษฐกิจได้เต็มที่
เมื่อเขตเศรษฐกิจพิเศษกลายเป็นพื้นที่ยกเว้นแล้ว ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนในบริเวณนั้นอย่างไร
เวลาเราพูดว่า รัฐพักการทำงานในการคุ้มครองพลเมืองไว้ชั่วคราว แสดงว่า ทุนได้อภิสิทธิ์ในพื้นที่ตรงนั้น พลเมืองในพื้นที่แทนที่จะได้รับการคุ้มครองก็กลับกลายเป็นผู้ต้องเสียสละ
ประเด็นคือการแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐกับทุนนี้แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ในประเทศที่รัฐอ่อนแอกว่าตลาด เราจะพบว่า ประชาชนโดนตลาดรังแกมากกว่าในประเทศที่รัฐสามารถคุ้มครองผู้คนได้ พูดง่ายๆ คือ ถ้าเขาจะเตะคุณออกจากที่ดิน แล้วคุณไม่ไป รัฐที่อ่อนแอ มักเลือกที่จะไม่คุ้มครองพลเมืองของตน
เราพบว่า ในประเทศที่รัฐเปิดโอกาสให้ตลาดทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ ผู้คนจะเจอสถานการณ์ที่ย่ำแย่ อย่างกรณีเมืองต้นผึ้ง สปป.ลาว (เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ) หรือเมืองฉ่วยโก๊กโกะ ในเมียวดีของพม่า ชาวบ้านโดนไล่ที่ แลกกับค่าชดเชยราคาถูกๆ โดยที่รัฐไม่คุ้มครองเลย เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเขตเพื่อทุน ไม่ใช่เขตเพื่อชาวบ้าน แม้เขาจะอ้างว่า ชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการจ้างงานที่จะตามมา แต่งานศึกษาหลายชิ้นชี้ชัดว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษในหลายๆ แห่ง ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนท้องถิ่นดีขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือ ในขณะที่จีนส่งออกโมเดลของเขตเศรษฐกิจพิเศษในฐานะตัวแบบความสำเร็จ กลุ่มทุนสีเทาจำนวนไม่น้อยใช้ตัวแบบดังกล่าวเป็นเครื่องมือบังหน้าในการสร้างอาณาจักรธุรกิจสีเทา ดังเห็นได้จากเขตเศรษฐกิจพิเศษในชายแดนลาว ในกัมพูชา และในชายแดนพม่า

ในงานวิจัยของอาจารย์มีคำว่า ‘รัฐนายหน้า’ แล้วรัฐไทยกำลังทำตัวเช่นนั้นอยู่หรือเปล่า
รัฐนายหน้าเป็นแนวคิดที่ ไมเคิล เลอเวียน (Michael Levien) นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์ ใช้อธิบายอินเดีย จากกรณีสงครามที่ดินหรือ land war ที่เกิดขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ซึ่งเหล่าชาวนาลุกฮือขึ้นประท้วงครั้งใหญ่จากปัญหาของเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อินเดียเป็นประเทศที่ทำเขตเศรษฐกิจพิเศษเยอะมาก แล้วชาวบ้านก็โดนเตะออกจากที่ดินของตัวเองเป็นจำนวนมหาศาล เลอเวียนจึงพยายามทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ต้องเข้าใจก่อนว่า การสูญเสียที่ดินไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด แต่เกิดขึ้นมาโดยตลอดช่วงการพัฒนาของรัฐในอินเดีย
เลอเวียนพบว่า ก่อนหน้านี้รัฐยังทำตัวเป็นรัฐพัฒนา กล่าวคือ ถึงแม้จะเอาที่ดินจากชาวบ้านไป แต่เป็นการนำที่ดินไปพัฒนา ไปจัดการในรูปแบบต่างๆ ที่อย่างน้อยที่สุดชาวบ้านเขาก็มองเห็นว่า ตัวเองจะได้อะไรจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ต่อให้เสียที่ดินไป แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น
แต่เมื่อมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เลอเวียนเห็นว่า รัฐได้เปลี่ยนบทบาทไปสู่การเป็นรัฐนายหน้า เพราะรัฐไม่ทำอะไร ไม่เป็นรัฐพัฒนาอีกต่อไป ทำหน้าที่อย่างเดียวคือกว้านเอาที่ดินของชาวบ้านมาประเคนให้นายทุนต่างชาติ แล้วชาวบ้านก็ไม่ได้อะไรจากเขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว นั่นแหละคือสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านลุกฮือขึ้นมา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การพัฒนา แต่คือการฮุบที่ดินของนายทุน
ถามว่าไทยเป็นแบบนั้นไหม เราต้องถามว่า ตอนนี้รัฐไทยทำหน้าที่เพียงประเคนที่ดินให้กับทุนจีน โดยไม่เคยมีวิสัยทัศน์ใดๆ ที่จะทำให้การพัฒนาที่ดินนั้นๆ เป็นประโยชน์มากที่สุดต่อประชาชนผู้สูญเสียที่ดิน ใช่หรือไม่ ถ้าใช่ คุณก็เป็นรัฐนายหน้า แล้วต้องถามต่อไปว่า ประชาชนจะได้อะไรจากสิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ ความจริงแล้วสิ่งที่รัฐควรทำคือ หากคุณมีที่ดิน ก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงให้ที่ดินเหล่านั้นเกิดผลิตภาพทางอุตสาหกรรมหรือทางเกษตรกรรม โดยที่ประชาชนหรือพลเมืองของตนเป็นหุ้นส่วนกับผลิตภาพนั้นด้วย อย่างนี้จึงจะเรียกว่า รัฐพัฒนา
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำตัวเป็นนายหน้าจัดหาที่ดิน ไม่ว่าจะระยะสั้นหรือระยะยาว คุณก็กำลังพาตัวเองไปสู่การเป็นรัฐนายหน้า
นักธุรกิจและภาครัฐมักให้เหตุผลว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานคนท้องถิ่น ตามทฤษฎี Trickle-down economy (เศรษฐกิจแบบไหลริน) แต่ในความเป็นจริงคงซับซ้อนกว่านั้นหรือเปล่า ไม่อย่างนั้นเราก็คงเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว
ต้องถามว่า trickle-down ไปทางไหน เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ที่นิยมใช้กันก็คือ การเชื่อมโยงไปข้างหน้า (forward linkage) และการเชื่อมโยงไปข้างหลัง (backward linkage) เพื่อพิจารณาว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงเหล่านี้ไหม
การเชื่อมโยงไปข้างหลัง หมายความว่า เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจเดิมที่มีอยู่ เชื่อมโยงไปข้างหน้าก็คือว่า การก้าวไปสู่เศรษฐกิจใหม่ข้างหน้า ซึ่งต้องดูว่ากลุ่มทุนที่มีอยู่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ไหม หรือว่าไปโดดๆ กลายเป็น single economy โดดอยู่คนเดียว ไม่เชื่อมต่อกับใคร

trickle-down ถือว่าเป็นทฤษฎีเก่าแล้ว ตั้งแต่ยุคสมัยพัฒนาตอนต้น ทุกวันนี้คนก็รู้ว่ามันไม่เกิดขึ้นจริง การกระจุกตัวของประโยชน์จากการพัฒนา ไม่เคยก่อให้เกิดการกระจายหรือแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับคนส่วนใหญ่ที่ถูกผลักออกจากการเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา
การจะทำให้ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมกระจายไปสู่ท้องถิ่นได้ คุณก็ต้องพัฒนาทักษะและความรู้ของคน ของชุมชน ไม่ใช่ยกทรัพยากรให้ทุนในราคาถูกเพื่อสร้างกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ลงทุนด้านการศึกษา ยกระดับความรู้ ตลอดจนสนับสนุนการลงทุนในภาคประชาชน หากไม่กระจายทรัพยากรต่างๆ เหล่านี้อย่างเป็นธรรม ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนของการพัฒนา จะเกิด trickle-down ได้ยังไง
เขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การลงทุนของทุนจีน จำนวนไม่น้อยถูกใช้เป็นพื้นที่สำหรับฟอกตัวของทุนสีเทา ใช้วาทกรรมการสร้างเมืองใหม่ สร้างธุรกิจเทคโนโลยีแบบใหม่ สร้างการเชื่อมต่อกับ BRI ของรัฐจีนบังหน้า เพื่อดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมาย ดังตัวอย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษสีหนุวิลล์ ในกัมพูชา เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ในชายแดนลาว เขตเศรษฐกิจพิเศษฉ่วยโก๊กโกะ ในชายแดนพม่า ธุรกิจสีเทาที่ดำเนินอยู่ในเขตเหล่านี้ ไม่ยังประโยชน์อะไรเลยให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น
การเติบโตของทุนจีนสีเทาที่ตอนนี้ไม่เทาแล้ว สะท้อนให้เห็นอะไร
เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่า กลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมาย และเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ (transnational crime network) จีน เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว และดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การพนัน ยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าสัตว์ป่า/สินค้าจากป่า ฟอกเงิน ฯลฯ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายการพนันข้ามชาติจีนถือเป็นเครือข่ายที่ใหญ่และกว้างขวางที่สุด ทั้งนี้ เพราะว่าตลาดการพนันในเอเชีย ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงที่สร้างรายได้หลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี โดยนักพนันจีนเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุด เรื่องนี้รัฐจีนก็รู้ดีถึงมูลค่าดังกล่าว คาสิโนในมาเก๊า ในฐานะที่เป็นเขตบริหารพิเศษของจีน จึงเป็นที่เดียวที่ถูกกฎหมายมาจนถึงทุกวันนี้ และกลุ่มทุนจีนสีเทาในปัจจุบันหลายกลุ่มก็เติบโตขึ้นมาจากกิจกรรมผิดกฎหมายอื่นๆ ที่ดำเนินควบคู่ไปกับธุรกิจการพนันในมาเก๊า
เครือข่ายอิทธิพลนอกกฎหมายนั้น ไม่ได้หมายความว่าเครือข่ายเหล่านี้อยู่นอกรัฐ ในทางตรงกันข้าม เครือข่ายอาชญากรรมเหล่านี้เติบโตได้ก็ด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐ ทั้งรัฐที่เป็นต้นทางของเครือข่ายดังกล่าว เช่นจีน และรัฐที่เป็นปลายทางของการลงทุนของเครือข่ายเหล่านี้ เช่นประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เช่น กัมพูชา ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว และไทย ที่สำคัญ กลุ่มจีนสีเทา ก็มีพัฒนาการและปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่สำคัญคือ ทุนจีนสีเทาไม่เคยแสดงตนว่าต่อต้านรัฐ ในทางตรงกันข้าม ต่อให้สีเทา และนอกกฎหมาย ทุนพวกนี้กลับเป็นทุนที่รักชาติ ยกตัวอย่างเช่น ประธานกลุ่มตงเหม่ย หว่าน คกโคย อดีตผู้นำของแก๊งค์ 14K แห่งมาเก๊า ซึ่งปัจจุบันเปิดบริษัทรักษาความปลอดภัยหงเหมิน ทำงานรักษาความปลอดภัยให้กับกลุ่มทุนจีนที่ดำเนินธุรกิจในเอเชีย และเป็นกลุ่มทุนหลักในเขตธุรกิจการพนันไซซิกังในชายแดนพม่า ประกาศตนเป็นผู้รักชาติจีน สนับสนุนแนวทางจีนเดียวอย่างแข็งขัน และพยายามเชื่อมโยงธุรกิจของตนเข้ากับทิศทางการพัฒนาภูมิภาคของรัฐจีนอย่างแนบแน่น และอาจด้วยเหตุผลแห่งการ position ตนเองในฐานะทุนจีนสีเทารักชาตินี้ ที่ทำให้กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถรักษาความสัมพันธ์กับรัฐแห่งพรรคจีนไว้ได้ และไม่เคยถูกปราบปรามอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เครือข่ายการพนันข้ามชาติจีนนั้น ส่วนใหญ่เติบโตมาจากเครือข่ายในมาเก๊า ทั้งนี้ มูลค่าของธุรกิจพนันในมาเก๊านั้นสูงมากจนทำให้มีการออกไปสร้างตลาดการพนันใหม่ของกลุ่มอิทธิพลการพนันตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2000 ได้มีนักวิชาการแบ่งพัฒนาการของธุรกิจเทาประเภทนี้ไว้ 3 ระลอกด้วยกัน (โปรดดูงานของ Andrew Ong) ได้แก่ ระลอกแรก เป็นการตั้งคาสิโนตามแนวชายแดนที่ติดกับจีน เช่น ในเขตอิทธิพลของกองกำลังชนกลุ่มน้อยว้า โกกั้ง และเมืองลา ในพม่า และบ่อเต็นในตอนเหนือของลาว เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวการพนันที่เป็นชาวจีนเป็นหลัก และเนื่องจากเมืองคาสิโนเหล่านี้ใช้สาธารณูปโภค โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตจากจีนเป็นหลัก และการข้ามแดนมายังบ่อนพนันของเหล่านักพนันจีนต้องผ่านระบบการตรวจคนเข้าเมืองของจีน จึงง่ายที่จะถูกแทรกแซงจากรัฐจีนในการตัดสัญญาณโทรคมนาคม หรือปิดชายแดน ทำให้เมืองคาสิโนชายแดนในรุ่นแรกต้องปิดตัวลงในทศวรรษ 2010
ธุรกิจการพนันข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในระลอกที่สอง มีศูนย์กลางที่ฟิลลิปินส์และกัมพูชา ที่อาศัยโครงสร้างพื้นฐานและระเบียบที่ยืดหยุ่นของรัฐในประเทศทั้งสองในการดำเนินกิจการ เพื่อดำเนินกิจการการพนันโดยมีลูกค้าหลักเป็นทั้งนักท่องเที่ยวจีนและเหล่าคนงานจีนในประเทศดังกล่าว การย้ายคาสิโนออกห่างจากชายแดนจีนก็เพื่อป้องกันมิให้รัฐจีนเข้าแทรกแซง และอาศัยรัฐปลายทางเป็นเกราะคุ้มครอง สิ่งที่น่าสนใจคือ รัฐจีนเองรู้ดีถึงกิจการการพนันเหล่านี้ แต่ไม่ได้ทำอะไร และรัฐฟิลิปปินส์และกัมพูชาก็ได้ผลประโยชน์จากธุรกิจเหล่านี้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ธุรกิจการพนันเข้าไปยุ่งกับอาชญากรรมประเภทอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งตนเป็นมาเฟียเรียกรับเงิน ล่อลวงคน มีการฆาตกรรม และการค้ายาเสพติดต่างๆ เกิดขึ้น รัฐจีนจะเข้ามาแทรกแซงทันที ดังเห็นได้จากกรณีฟิลิปปินส์และกัมพูชา มีการส่งตำรวจจีนเข้าไปทำงานกับตำรวจของประเทศปลายทาง บุกจับแก๊งค์จีนเทาเหล่านี้ จนต้องพากันหนีออกนอกประเทศ ที่สีหนุวิลล์นั้น มีชาวจีนหนีการจับกุมกว่าหมื่นคน ซึ่งได้นำมาสู่การปรับตัวของเครือข่ายพนันข้ามชาติระลอกที่สาม ที่มองหาแหล่งที่ตั้งที่มีอำนาจอธิปไตยที่อ่อนแอ ที่รัฐจีนจะไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้ กรณีเขตเศรษฐกิจพิเศษตลอดแนวชายแดนพม่า-ไทย ริมฝั่งแม่น้ำเมย ได้แก่ ฉ่วยโก๊กโกะของกลุ่มย่าไถ้ เขตอุตสาหกรรมไซซิกัง ของกลุ่มตงเหม่ย และเมืองใหม่ของกลุ่มหวนหยา อินเตอร์แนชัลแนล ตลอดจนเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ของจ้าว เหว่ย ในชายแดนลาว-ไทย เป็นตัวอย่างของการปรับตัวของธุรกิจพนันในเจนเนอเรชันที่สาม
ลักษณะพิเศษของทุนพนันข้ามชาติในระลอกนี้ ได้แก่ การที่แม้ว่าพวกนี้จะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ลงทุนในฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมืองลา หรือเติบโตมาจากแก๊งค์อิทธิพลในมาเก๊ามาก่อน การย้ายฐานมายังพื้นที่ที่ไม่เชื่อมต่อกับอิทธิพลของรัฐจีนโดยตรง ยังเกิดขึ้นควบคู่กับการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับธุรกิจประเภทนี้ เราจะพบลักษณะที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการด้วยกัน คือ การโฆษณาว่าเป็นการสร้างเมืองใหม่ เมืองอุตสาหกรรม เมืองท่องเที่ยว เมืองแห่งอนาคตของเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อสร้างงานให้กับคนท้องถิ่น สร้างความเจริญให้กับชนบทอันห่างไกลของประเทศกำลังพัฒนา ช่วยรัฐของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้ สร้างความทันสมัยให้กับประเทศ กับประการที่สองคือ การผูกโครงการการสร้างเมืองใหม่นี้ เข้ากับวาระใหญ่ของรัฐจีน ในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนเข้ากับภูมิภาค ดังนั้น สิ่งที่เราจะเห็นในโครงการเหล่านี้ จึงไม่ใช่แค่ตึกที่เป็นที่ตั้งของคาสิโนการพนัน แต่จะมีโครงการอื่นๆ ควบคู่ไป เช่น การสร้างสนามบินในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ โดยอ้างว่าเพื่อเชื่อมเส้นทางระหว่างจีนมายังต้นผึ้งของลาว การสร้างเมืองใหม่ฉ่วยโก๊กโกะ ที่จะเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจพม่า-จีน ภายใต้โครงการ BRI เป็นต้น
ต้องกล่าว ณ ที่นี้ด้วยว่า การพยายามเชื่อมโยงกับรัฐจีนของกลุ่มทุนพนันข้ามชาติจีน ดำเนินไปภายใต้การรับรู้ของรัฐจีนมาโดยตลอด และรัฐจีนเองก็ได้ประโยชน์จากโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของทุนพนันข้ามชาติเหล่านี้ ความสัมพันธ์นี้ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถดำเนินธุรกิจที่ผิดกฎหมาย โดยใช้ภาพลักษณ์ของความเป็นเมืองใหม่บังหน้า และการฟอกเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายไปในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยมีธุรกิจคาสิโน เป็นหน้าฉากของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราจะพบว่า ด้วยยุทธวิธีประเภทนี้ได้ทำให้กลุ่มจีนเทาการพนัน ไม่เพียงสามารถอยู่ได้และแผ่ขยายอิทธิพลในประเทศที่ไปลงทุนเท่านั้น แต่ยังรักษาความสัมพันธ์กับรัฐจีนเอาไว้ ดังนั้นเวลาพูดถึงทุนจีนในความหมายของทุนที่สนับสนุนโดยรัฐจีน จึงถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะยังมีทุนของเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่แฝงตัวอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว ฉวยโอกาสจากนโยบายดังกล่าวในการขยายธุรกิจ
สิ่งที่น่าสังเกตคือ การปรับตัวระลอกล่าสุดของทุนการพนันข้ามชาติ น่าจะเกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจการพนันอย่างกว้างขวาง เราจะพบว่า ทุนการพนันในเขตชายแดนเหล่านี้ ปรับทิศทางเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นอาชญากรรมเต็มรูปแบบ กล่าวคือ การหันเข้าหาธุรกิจล่อลวงธุรกรรมทางการเงิน เช่น คอลเซนเตอร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้ ได้กลายเป็นแหล่งของการค้ามนุษย์ ล่อลวงผู้คนจากประเทศต่างๆ เข้ามาทำงานหลอกลวงเอาเงินจากคนในประเทศของตน ในฉ่วยโก๊กโกะ สีหนุวิลล์ และสามเหลี่ยมทองคำ มีคนทำงานในแก๊งค์คอลเซนเตอร์รวมกันหลายหมื่นคน จากทั่วทุกแห่งในโลก ไม่ว่าจะเป็นอัฟริกา เอเชีย กระทั่งยุโรปตะวันออก มีการกักขัง หน่วงเหนี่ยว ทำร้ายร่างกาย ตลอดจนฆาตกรรมผู้ที่ถูกล่อลวงมาทำงานผ่านกระบวนการค้ามนุษย์ กระบวนการใช้แรงงานเพื่อก่ออาชญากรรมคอลเซนเตอร์ และพนันออนไลน์นี้ สร้างรายได้ที่สูมากกว่าธุรกิจการพนันข้ามชาติหลายเท่าตัว และทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเหล่านี้ กลายเป็นแหล่งอาชญากรรมออนไลน์ใหญ่ในเอเชียในปัจจุบัน
ทุนจีนสีเทาเหล่านี้ดำเนินการ (operate) ในประเทศต่างๆ ได้อย่างไร
ทุนจีนเหล่านี้ ทำงานในความสัมพันธ์กับรัฐในอย่างน้อยสามระดับด้วยกัน ในการสร้างความสัมพันธ์กับรัฐจีน อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ทุนนิยมแบบรัฐแห่งพรรคนั้น เปิดช่องโหว่ให้ทุนในการอ้างความสัมพันธ์กับรัฐเป็นใบเบิกทางในการทำธุรกิจของตนมาโดยตลอด เราจะพบการสร้างใบเบิกทางนี้ ในทุนจีนสีเทาแทบทุกโครงการ กลุ่มย่าไถ้ ซึ่งเป็นผู้ลงทุนหลักในฉ่วยโก๊กโกะ แสดงตนตลอดมาว่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ BRI และอ้างความสัมพันธ์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการดำเนินกิจการ เช่น มีการแสดงให้เห็นว่าในพิธีลงนามข้อตกลงในการดำเนินกิจการ มีตัวแทนบริษัทที่ปรึกษากั๋วจิง ซึ่งมีผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนของกรรมการฝ่ายพรรคในศูนย์การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจของจีน (The China Center for International Economic Exchange: CCIEE) ซึ่งถือเป็นหน่วยงานวางแผนของชาติที่สำคัญของจีน หรือการที่วิสาหกิจแห่งรัฐจีน เช่น China Railway 20th Bureau Group (CR20) เป็นผู้รับเหมาสำคัญในการก่อสร้างโรงแรมและถนนหลักในฉ่วยโก๊กโกะ เป็นต้น วิสาหกิจแห่งรัฐจีน CR20 ยังเป็นผู้รับเหมาสร้างทางให้กับกลุ่มตงเหม่ยที่ลงทุนในเขตอุตสาหกรรมไซซิกังอีกด้วย นอกจากการสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานของรัฐโดยตรงแล้ว ทุนเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากกับกลุ่มกึ่งรัฐในจีน เช่น สมาพันธ์ผู้ประกอบการโพ้นทะเลจีน (the China Federation of Overseas Entrepreneurs: CFOE) อีกด้วย
การสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆ ของรัฐจีนของกลุ่มทุนสีเทาเหล่านี้ก็เพื่อฟอกตัว และเพื่อสร้างหลักประกันการคุ้มครองให้สามารถดำเนินกิจการไปได้อย่างปลอดภัยจากการจับจ้องจากทางการจีน

ส่วนรัฐปลายทางนั้น ความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนการพนันข้ามชาติเป็นไปในลักษณะของการพึ่งพาผลประโยชน์ รัฐลาวได้ประโยชน์มหาศาลจากกลุ่มทุนการพนัน ทั้งโดยตรงในแง่ของ FDI และโดยอ้อมผ่านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้รัฐสามารถสถาปนาความทันสมัยขึ้นในพื้นที่ชายแดนโดยรัฐไม่ต้องลงทุน หรือกองกำลังชนกลุ่มน้อย BGF ซึ่งมีหุ้นอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษฉ่วยโก๊กโกะ แน่นอนที่ว่า ผลประโยชน์ต่างตอบแทนชนิดนี้มีต้นทุนที่ตกอยู่กับประชาชนเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียที่ดิน การที่ชายแดนที่เต็มไปด้วยตึกอาคารสมัยใหม่ แต่กลับเป็นแหล่งรวมของอาชญากรรมของภูมิภาค ในขณะที่อธิปไตยเหนือดินแดนอยู่ในมือของกลุ่มทุนจีนอย่างเบ็ดเสร็จ ในกรณีของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำของจ้าวเหว่ยนั้น ตำรวจลาวไม่สามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกล่อลวงมาทำงานคอลเซนเตอร์และค้าประเวณีภายในเขตได้ ต้องให้ผู้หญิงนั้นหลบหนีออกมาเอง เนื่องจากเขตดังกล่าวอยู่ใต้การปกครองของนายทุนจีน เช่นเดียวกับฉ่วยโก๊กโกะ ซี่งมีกองกำลังของตนเองในการจับกุมคุมขัง และป้องกันไม่ให้คนหลบหนีออกจากเขตของตน
ประเทศที่มีระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอเท่านั้นที่จะเป็น host หรือเป็นเจ้าภาพให้กับทุนพวกนี้ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นสวรรค์ของทุนจีนสีเทา เพราะทุนจีนสีเทาจะดำเนินการได้ยากหากเผชิญระบบธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งและระบบกฎหมายที่เข้มงวด
สำหรับไทยนั้น ไทยเป็นประเทศที่เป็นทั้งเกราะกำบัง เป็นทั้งแหล่งบริบาล ที่เอื้ออำนวยให้เครือข่ายธุรกิจอาชญากรรมข้ามชาติจีนเติบโตได้อย่างที่กล่าวแล้วในตอนต้น กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติเหล่านี้ หลีกเลี่ยงที่จะดำเนินกิจการในพื้นที่ที่ติดกับจีนโดยตรง เพื่อหลบหลีกการแทรกแซงโดยตรงจากรัฐจีน ไทยจึงเป็นประเทศที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นประเทศชุมทาง ที่อำนวยความสะดวกให้กับการไหลเวียนของทุน ลูกค้า และแรงงาน ตลอดจนการค้ามนุษย์ไปยังประเทศปลายทาง เป็นไปได้อย่างราบรื่น เป็นทั้งประเทศที่เอื้ออำนวยให้กลุ่มทุนเหล่านี้สามารถจดทะเบียนธุรกิจเป็นบริษัทแม่ ตั้งบริษัทนอมินีขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของหน่วยงานจากจีน และเพื่อฟอกเงิน จึงไม่แปลกใจที่เราจะพบทุนจีนสีเทาจำนวนมากซื้ออสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ในเมืองใหญ่ของไทย ตลอดจนมีออฟฟิศของบริษัทอยู่ในไทย บริษัทย่าไถ้ เจ้าของฉ่วยโก๊กโกะ ก็มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ แรงงานคอลเซนเตอร์จำนวนไม่น้อย transit ที่กรุงเทพฯ และเมืองชายแดน เช่น แม่สอด แน่นอนว่าการจะทำเช่นนี้ได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยต้องมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกให้
ไม่เพียงแต่เท่านั้น การสร้างเมืองการพนันใหญ่ตลอดริมฝั่งแม่น้ำเมย การดำเนินธุรกิจพนันออนไลน์ อาชญากรรมคอลเซนเตอร์ ในเขตปกครองของกองกำลังชนกลุ่มน้อยชายแดนที่ปราศจากสาธารณูปโภคพื้นฐานสำคัญ จะไม่มีทางดำเนินไปได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งไทย คำถามสำคัญคือ อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อกิจการอาชญากรรมข้ามชาติ ได้มาจากที่ไหน หากไม่ใช่ฝั่งไทย ในแง่นี้ ไทยจึงไม่ใช่แค่เป็นประเทศทางผ่านของทุนจีนสีเทาจีน หากแต่เป็นประเทศที่สนับสนุนกิจการเหล่านี้โดยตรง ผ่านสาธารณูปโภคพื้นฐานและทรัพยากรโทรคมนาคม

อย่าง ‘ตู้ห่าว’ ถือเป็นหนึ่งในเครือข่ายของทุนจีนข้ามชาติเหล่านั้นด้วยไหม
เขาอยู่ในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติแน่นอน แต่จะใช้เมืองไทยเป็นฐานในการปฏิบัติการอะไร ยังไงบ้าง และเจ้าหน้าที่ของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เป็นหน้าที่ของตำรวจไทยในการสืบสวนเรื่องนี้
บางประเทศจะมีตำรวจลับของจีน คอยอำนวยความสะดวกให้กับทุนสีเทาต่างๆ ซึ่งในไทยอาจยังไม่ชัดขนาดนั้น แต่อีกมุมหนึ่งอาจหมายความว่า มันซึมลึกไปทั้งองค์กรตำรวจเลยหรือเปล่า
เรื่อง กลุ่มทุนจีนสีเทา เข้าไปมีความสัมพันธ์กับหน่วยงานอย่างองค์กรตำรวจหรือไม่ ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่หากพิจารณาจากการที่แม้แต่หัวหน้าองค์กรตำรวจสากล ( international policing agency Interpol) อย่าง เหมิง หงเว่ย ถูกทางการจีนจับกุมตัวและตัดสินจำคุก 13 ปี 6 เดือน ในปี 2563 จากข้อหาคอร์รัปชัน ก็คงพอจะบอกได้ว่า คอร์รัปชันในจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในแทบทุกหน่วยงาน แม้แต่องค์กรตำรวจ และน่าจะเป็นปัจจัยไม่มากก็น้อยที่ทำให้เครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติจีนสามารถดำเนินกิจกรรมผิดกฎหมายต่างๆ ในภูมิภาคนี้ได้

ในมุมนักมานุษยวิทยา ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐและนายทุนจับมือกัน แล้วชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยจะเป็นอย่างไร เกิดผลกระทบยังไง และต้องทำอย่างไร
รัฐย่อมจับมือกับทุนข้ามชาติแน่นอนอยู่แล้ว โดยเฉพาะรัฐในประเทศกำลังพัฒนาที่อ่อนแอและปราศจากแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา ไม่ใช่กลุ่มทุน หรือกลุ่มชนชั้นนำในประเทศไม่กี่กลุ่ม
คำถามที่เราถามกันมาตลอดหลายทศวรรษ ยังคงเป็นคำถามเดิม คือทุนเหล่านี้จะมีส่วนกระจายความมั่งคั่ง ผลกำไร และเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างความรู้และพัฒนาทักษะให้กับผู้คนในประเทศที่ตนเข้าไปลงทุนอย่างไรได้บ้าง คำถามเหล่านี้รัฐไม่เคยถาม การที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การรัฐประหารซ้ำซาก มีรัฐเผด็จการที่ขาดวิสัยทัศน์ และมุ่งแต่จะผูกขาดอำนาจมาเป็นเวลานาน คิดเพียงแต่จะรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของตัวเอง แต่ไม่เคยเปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเอง กำหนดการใช้งบประมาณของประเทศเพื่อนำมาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

การจับมือระหว่างรัฐกับทุน โดยไม่มีประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญของสมการ จึงไม่ใช่โจทย์ปัญหาทางเศรษฐกิจ และเป็นโจทย์ปัญหาทางการเมือง เพราะถ้าหากประชาชนไม่สามารถที่จะมีอำนาจในการตรวจสอบรัฐ ไม่มีอำนาจในการมีตัวแทนทางการเมืองของตนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นเป้าหมายที่สำคัญ ไม่ใช่ให้ตลาด ให้ทุนข้ามชาติ ทั้งไทยและเทศ ทั้งทุนจีนสีเทา และสีอี่น เอารัดเอาเปรียบประชาชน โดยประชาชนเป็นเพียงแต่ผู้ดู และรับผลกระทบ เราก็อาจเห็นปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำซาก และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นผลพวงของการที่รัฐล้มเหลว การจะเปลี่ยนสมการการจับมือกันระหว่างรัฐกับกลุ่มทุน จึงไม่อาจทำได้โดยการเป็นเพียงผู้ดู แต่ประชาชน ไม่ว่าจะตัวเล็กตัวน้อย หรือใครก็ตาม ต้องออกมาเปล่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนนั้นควรจะต้องเป็นศูนย์กลางของสมการการก้าวไปข้างหน้าของประเทศ