ในวันและวัยที่มีงานเขียนล้นมือ เฉพาะช่วงหลังเกษียณมีหนังสือปกใหม่ออกมาไม่ต่ำกว่า 20 เล่ม แต่ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ก็ยอมรับว่าใช้ Microsoft Office เป็นอยู่โปรแกรมเดียว
“พวกที่เถียงเด็ก คุณใช้อะไรเป็นนอกจากโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด (หัวเราะ) แล้วคุณกำลังเถียงกับใครอยู่ นึกออกไหมครับ คนละชั้น คนละสมองแล้ว”
หัวข้อสนทนาว่าด้วย ‘เด็กๆ และคนรุ่นใหม่’ กับคุณหมอหนนี้ ทำหน้าที่คลี่ให้เห็นว่าในฐานะจิตแพทย์เราควรฟังและเข้าใจในการลุกขึ้นมาผูกโบว์ขาวของพวกเขาอย่างไร
และเพราะอะไรคุณพ่อหัวเก่าอย่างคุณหมอ สุดท้ายก็พ่ายให้กับความฝันของลูก
เช่นเดียวกับการตั้งคำถามต่อความไม่ถูกต้องของคนรุ่นใหม่ ณ เวลานี้ ที่ทำให้ความหวังของคุณหมอซึ่งหายไปนาน กลับมาอีกครั้ง หลังจากเห็นมันครั้งสุดท้ายจากรุ่นพี่ร่วมรั้วโรงเรียนสองคนคือ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ธงชัย วินิจจะกูล
คุณหมอคิดว่าบุคลากรทางการแพทย์วงการสาธารณสุขสามารถแสดงออกทางด้านการเมืองได้หรือไม่
ก็น่าจะได้นะ ผมไม่เห็นข้อห้าม บุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งบุคลากรของรัฐแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้
แล้วควรหรือเปล่า
ควร
เพราะอะไร
เพราะถ้าเราไม่ไปจากจุดนี้เราก็จะอยู่นิ่งๆ แบบนี้ แล้วก็ถอยหลัง น่าจะเห็นกันนะว่าเราอยู่นิ่งมานานเกินไป แล้วก็เริ่มต้นถอยหลังแล้ว อย่างไรเราก็ต้องไปจากจุดนี้ แล้วมาตรฐานสากลมันก็ยังเป็นเรื่องประชาธิปไตยอยู่ ผมยังไม่เห็นมาตรฐานอื่น
และควรกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่น แปลว่าเราต้องจัดการเรื่องรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งระดับประเทศ และการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นกันใหม่ แน่นอนไม่มีใครเก่งชั่วข้ามคืน ก็ค่อยๆ แก้ไป พัฒนาไปเหมือนเลี้ยงเด็ก สำคัญคืออย่าล้มมันกลางทาง เท่านั้นเอง ไม่มีใครเก่งตั้งแต่แรกหรอก ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส ก็ไม่มีใครเก่งตั้งแต่แรก เขาก็ค่อยๆ ล้มลุกคลุกคลานมา พวกเขาฟื้นตัวได้ในเวลาประมาณ 25 ปี เวลาเท่านี้ไม่นานเกินรอ
เราเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ พลังของเด็กๆ มากขึ้น หลายคนตั้งคำถามกลับว่าทำไมเด็กๆ ต้องแสดงออกด้วยการใช้คำหยาบคาย ก้าวร้าวขนาดนี้ ตรงนี้มีคำอธิบายจากจิตแพทย์อย่างไรบ้าง
คำว่าเด็กในที่นี้หมายถึงเด็กมัธยม และนิสิตนักศึกษา คนกลุ่มนี้เราเรียกว่าวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เขายังมีหน้าที่ทางจิตวิทยาคือหาอัตลักษณ์ หรือ identity ในทุกๆ เรื่องว่าเขาควรจะแสดงตัวแบบไหนต่อโลก ต่อสังคม
การพูดคำหยาบเป็น way เป็นหนทางในการลองผิดลองถูกไปสู่อัตลักษณ์ เขาไม่ได้จะพูดคำหยาบแบบนี้ไปอีก 30 ปีสักหน่อย เขากำลังลองผิดลองถูกว่าการพูดคำหยาบในสถานการณ์แบบนี้ บริบทแบบนี้ เขาจะได้ผลตอบแทนอย่างไรก็เท่านั้น เขามีหน้าที่เรียนรู้ว่าถ้าเขาพูดคำหยาบแล้วหวังว่าจะได้งาน เขาก็จะต้องเรียนรู้ เขาจะไม่ผูกเน็กไทไปสมัครงานแล้วเขาจะได้งาน เขาก็จะเป็นผู้เรียนรู้ เราไม่มีคำตอบที่ตายตัว เขาเองเป็นผู้รับผลลัพธ์ของการกระทำของตัวเองเสมอ
แต่คราวนี้เนื่องจากเขาอยู่บนวัยของการแสวงหาอัตลักษณ์ เขาก็แสวงหาด้วยการทดลอง เขาอยู่ระหว่างการเรียนรู้ แค่นั้นเอง คำหยาบน่าตกใจนั้นใช่ แต่ไม่เห็นจะน่าตกใจ ก็ธรรมดา ถ้าเขาแสดงความไม่เคารพแล้วเขาได้ผลลัพธ์อย่างไร เขามีหน้าที่เรียนรู้ แค่นั้นเอง อันนี้ของธรรมดา
นอกจากนั้น การพูดคำหยาบเป็นทักษะการสื่อสาร (communicate) ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 สุดท้ายคุณก็ต้องยอมรับผลลัพธ์ว่าคุณพูดคำหยาบระดับกี่แต้ม แล้วจะได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ คำหยาบ 3 แต้มอาจจะมีประโยชน์ก็ได้นะถ้าทำให้ลูกเราได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ เรื่องพวกนี้ไม่มีคำตอบตายตัว พวกเขาต้องฝึก
ยกตัวอย่าง ลูกสาวผมถูกเหยียดผิวในต่างประเทศ เขาสู้ตลอด คำถามคือเขาจะสู้กี่แต้ม ก่อนที่จะชนะหรือถูกทำร้าย นี่เป็นทักษะ ไม่มีใครบอกลูกหรอกว่าเราต้องสุภาพกับคนที่เหยียดผิวเราเสมอนะ ก็ไม่ใช่
ทำไมเราต้องฟังเด็กๆ และคนรุ่นใหม่
ง่ายมาก ข้อที่หนึ่ง ความคิดเขามีผลประโยชน์น้อยที่สุด น้อยกว่าผม (หัวเราะ) น้อยกว่าพวกเรา ซึ่งมีเดิมพันและต้นทุนที่เสียไม่ได้แล้ว ทุกคนต้องยอมรับข้อนี้ เขามีเดิมพันและต้นทุนนิดเดียวคือความรักของพ่อแม่ คือทำให้พ่อแม่เสียใจ แต่เขาไม่มีเงินเดิมพันและต้นทุน ยังไม่ลงหลักปักฐานเลย เรียนก็ไม่จบ อะไรๆ ก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นถามว่าความคิดเขาบริสุทธิ์ไหม นี่บริสุทธิ์ที่สุดแล้ว ถูกหรือเปล่าเป็นอีกเรื่อง แต่เราต้องยอมรับก่อนว่านี่เป็นความคิดที่บริสุทธิ์มากนะ ไม่มีผลประโยชน์เยอะ ถึงมีก็ไม่เยอะเท่าพวกเราหรอก
นี่เป็นพัฒนาการ เขาเป็นวัยรุ่น เขากำลังพัฒนาจากความคิดเชิงนามธรรมคือ abstract ไปสู่ความคิดเชิงอุดมคติ คือ ideal เพราะฉะนั้นบริเวณนี้ไม่มีเหตุผลมีแต่ความบริสุทธิ์อย่างเดียว เรื่องพวกนี้อธิบายยากอยู่ผมยอมรับ เป็นหมอก็ต้องไปชนบท ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักชนบทเลยแต่ไม่มีอะไรจะเสียนี่ ชีวิตบริสุทธิ์มาก มีอย่างเดียวพ่อแม่เป็นห่วง ผมหิ้วกระเป๋าใบเดียวมาเชียงราย เพราะเกิดมาเพิ่งออกนอกบ้านเป็นครั้งแรกในชีวิต พ่อแม่ก็ตกใจ พวกเขาก็เหมือนกัน
ข้อสอง เชิงสังคมเขายังไม่ได้ลงทุนอะไรเลยนะ ยังไม่ได้ต้องเสียงานเสียการ เสียอะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าจะบอกว่าเขาจะเสียใบปริญญาและเสียอนาคต อันนั้นเรา (ผู้ใหญ่) ทำเขา ก็เหมือนกับเรื่องคุณผู้หญิงถูกข่มขืน คุณผู้หญิงไม่ได้อยากถูกข่มขืน คนทำต่างหากที่ไปทำเขา
นักเรียนนักศึกษาเองไม่ได้คิดเรื่องจะเสียอะไร เขาพูดไปด้วยความคิดบริสุทธิ์ ไม่มีผลประโยชน์ วางอยู่บนฐานความคิดเชิงนามธรรม ซึ่งเชื่อมโยงคุณค่าต่างๆ เข้าด้วยกัน แล้วก็ไปสู่อุดมคติ แม้ว่าเขาเองก็ไม่เข้าใจมากนักว่าอุดมคตินั้นคืออะไร เราก็ยอมรับได้
เขาอายุ 15-22 อายุเท่านั้น เราก็ต้องยอมรับว่าวัยนี้ก็ไม่ถึงกับปราดเปรื่อง เขาไม่ได้รอบคอบ แต่ความปราดเปรื่องและความรอบคอบนั่นแหละคือปัญหา ผมรอบคอบ ผมจึงไม่ออกไป เพราะอะไร เพราะทุกคนมีเรื่องต้องห่วง เราก็ต้องยอมรับ
เด็กๆ คนรุ่นใหม่ จะโดนอย่างน้อย 2 ข้อหาด้วยกัน คือหนึ่ง เด็กไม่ได้มาเองต้องมีใครชักใยอยู่เบื้องหลัง และสอง ยังแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่เลย เอาเวลาไปตั้งใจเรียนดีกว่าไหม
เรื่องเด็กต้องมีใครชักใยอยู่เบื้องหลัง เรื่องนี้ผมคิดว่าง่ายมาก ก็หาข้อพิสูจน์ออกมาจะได้เลิกเถียงกันเสียที อันนี้ผมคิดว่าประเด็นก็ชัดเจนดี มีหรือไม่มีผมไม่รู้ แต่ถ้ามีหาตัวออกมาแล้วก็แสดงหลักฐานให้เรียบร้อยก็จบเรื่อง
ข้อสอง พ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงลูก ใช่ พ่อแม่มีหน้าที่สอนลูกให้ระวังตัว ใช่ แล้วหน้าที่พ่อแม่ก็จบแล้ว (หัวเราะ)
จบแค่นั้นเลยเหรอ
จบแล้ว มันกลับมาที่เรื่องช่วงอายุนะครับ นี่เป็นอายุที่เขาจะต้องลองผิดลองถูกแล้วเขาก็จะต้องยอมรับผลลัพธ์ของการกระทำ พ่อแม่มีหน้าที่เป็นแบ็คอัพผลลัพธ์นั้นว่า เราจะสามารถไปซ่อมแซมหรือเกื้อกูลได้อย่างไร อันนี้คือหน้าที่พ่อแม่ คราวนี้ประเด็นที่แตกต่างก็คือนี่เป็นยุคสมัยของการศึกษาที่เปลี่ยนผ่านด้วย มันทำให้เรื่องซับซ้อนขึ้นสองชั้น พูดถึงการศึกษาในมัธยมปลาย และมหาวิทยาลัย เรารู้อยู่แล้วว่ามันใช้ไม่ได้ รู้กันนานแล้ว ทำไมถึงไม่รู้กัน อาจารย์มหาวิทยาลัยทุกท่านก็ควรทราบว่ามันใช้ไม่ได้ การศึกษาที่แท้อยู่ข้างนอกจริงๆ นี่คือยุคเปลี่ยนผ่าน
เราไม่ได้บอกว่ามหาวิทยาลัยท่านไม่ดี สตีฟ จ็อบส์ น่ะไม่ดี (หัวเราะ) โลกเปลี่ยนแล้วจริงๆ ดังนั้นเด็กพวกนี้เขารู้ว่าถ้าเขาอยู่กับตำรา เขาจะไปไม่ได้ เขาพอทำนายได้แล้ว เขาออกจากตำราดีกว่า ยิ่งออกเร็วยิ่งได้เปรียบ ลูกชายผมออกเร็วก็ได้เปรียบ เขาออกตั้งแต่ ม.4 เพื่อเรียนต่อด้านดนตรีโดยเฉพาะ ตอนแรกผมก็ค้านเขาหัวชนฝา
ทำไมคุณหมอถึงค้าน
ค้านสิ พ่อแม่มีหน้าที่ค้านอยู่แล้ว แต่เรามีหน้าที่ส่งเสริมด้วย เรามีหน้าที่เตือน แนะนำ แต่เราไม่มีหน้าที่สู้กับเขา เช่น เป็นนักดนตรีอดตายนะ เป็นหมอรวยแน่นอน เรามีหน้าที่เตือน
แต่ผมก็ไม่ได้เตือนแบบนั้นหรอก ด้วยความที่เขาเรียนดี อยู่ๆ ก็บอกว่าอยากเป็นนักดนตรี ผมก็เตือน แต่ไม่ห้าม แน่นอนเตรียมแบ็คอัพด้วย พอล้มมาก็มาดูกันว่าจะซ่อมแซมอย่างไร แต่เขาไม่ล้ม ที่จริงเขาพบด่านยากๆ 2-3 ครั้ง แต่เขาสู้จนผ่านไปทุกครั้ง
พอ ม.4 แล้วเขาตัดสินใจเรียนอะไร
เขาก็ไปเรียนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล กับ อาจารย์สุกรี เจริญสุข เสร็จแล้วเขาก็ต่อปริญญาตรี ต่อปริญญาโท แล้วเขาก็แฮปปี้มาก ปฏิเสธปริญญาโทต่างประเทศ ปฏิเสธปริญญาเอกด้วย เขาเป็นรุ่นปฏิเสธแล้วไง เขาพูดมาว่าเอาไปทำไม? ไปเวิร์คช็อปประเทศละ 14 วันกับอาจารย์ทั่วโลก เร็วกว่ากันตั้งเยอะ ไอทีมาแล้ว การไปเวิร์คช็อปก็ง่าย ตั๋วเครื่องบิน low cost ก็มีแล้ว ทุกอย่างมันเปลี่ยนหมดแล้ว ลงทะเบียนออนไลน์ก็ได้ ส่ง audition ทางคลิปก็ได้
นี่คือโลกที่เปลี่ยนไป อาจารย์มหาวิทยาลัยทำไมไม่รู้ เด็ก ม.3 ยังรู้เลยว่าโลกเปลี่ยน เขาอาจจะไม่รู้ชัดแต่เขารู้ว่าโลกเปลี่ยน เขารู้ว่าปะป๊าคับแคบ โลกของปะป๊ามีแค่ 2 อย่าง หนึ่งหมอ สองพยาบาล โลกปะป๊าไม่มีอย่างอื่นเลย ซึ่งจริง ผมไม่มีอย่างอื่นในหัวสมองเลย (หัวเราะ)
ตอนนั้นคุณหมอเตือนลูกชายว่าอย่างไร
เป็นนักดนตรีจะทำอะไรกิน ตรงไปตรงมา เป็นพ่อแม่ระดับมาตรฐาน ต่อให้เป็นนักดนตรีคลาสสิกก็เหอะ ประเทศไทยมีกี่คนที่ฟังดนตรีคลาสสิก อะไรวะ บีโธเฟน โมสาร์ท จริงไหม? ใครฟัง เราไม่เข้าใจก็เตือน แต่เราก็พร้อมเป็นแบ็คอัพ ถอยกลับมาอยากเรียนหมอเราก็พร้อมส่งเสีย แค่นี้เอง พ่อแม่มีหน้าที่แค่เตือนบอกให้ลูกระวังตัว
เรื่องลูกๆ ไปม็อบมีอันตรายจริง ไม่ใช่ว่ามันไม่มี การคุกคามก็มี พ่อแม่ก็มีหน้าที่เตือน แต่ถามว่าห้ามได้ไหมผมคิดว่าไม่ เพราะเราอยู่ในยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน การศึกษาไปไม่ได้แล้ว เด็กจำนวนมากเขารู้ว่าการศึกษาที่มีอยู่ไปไม่ได้ ท่องเป็นผีบ้าทุกวิชาเพื่อสอบได้หมอนี่มันบ้า บ้าชัดๆ เขาไม่เอา ผมเล่าเรื่องนี้ให้ลูกชายลูกสาวฟังด้วยความภูมิใจว่าผมท่องหนังสือเก่งมาก ท่องได้หมดทุกตัวอักษร 2-3 รอบ แล้วเข้าแพทย์ได้ เขางงมาก ว่าพ่อภูมิใจตรงไหน
ผมเคยพยายามเถียงลูกอยู่ 2-3 ครั้ง แล้วพบว่าเป็นเราเองที่เป็นตัวปัญหา มิใช่พวกเขา พอเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ฟัง เราได้ใจพวกเขาง่ายๆ เลย วันนี้มีอะไรเราปรึกษากันเสมอ พ่อแม่ปรึกษาลูกๆ บ่อย เขาก็มาปรึกษาอะไรต่อมิอะไรเรื่อยๆ
ในขณะที่คุณหมอต้องเรียนจบ อินเทิร์นก่อน ถึงจะกล้าแบกเป้มาเชียงราย
อืม พวกเขาเปลี่ยนแล้ว เปลี่ยนแบบเราคาดไม่ถึงแล้ว ผมเองก็คาดไม่ถึงแล้วทุกวันนี้ก็ยังคาดไม่ถึง ตอนนั้นเราไม่มีสิทธิไปเถียงเขา (ลูก) คนที่ใช้เป็นแต่โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดคุณจะเอาอะไรเถียง ไปถามเถอะ พวกที่เถียงเด็กน่ะ คุณใช้อะไรเป็นนอกจากโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด (หัวเราะ) แล้วคุณกำลังเถียงกับใครอยู่ นึกออกไหมครับ คนละชั้น คนละสมองแล้ว
ผมจึงคิดเสมอว่าพวกที่คิดปฏิรูปการศึกษา ถ้าอายุมากกว่า 40 อย่ามายุ่ง พูดได้แต่อย่าบริหาร พูดแล้วเขาไม่ฟังก็ช่วยไม่ได้แล้ว ซึ่งผมคิดว่าจริงนะ ยิ่งช่วงนี้ฟังเด็กเขายื่นข้อเรียกร้องด้านการศึกษานี้ผมต้องทบทวนสิ่งที่เขียนใหม่หมดเลย ผมรู้ตัวนะว่าซวยแล้วสิ (หัวเราะ) บางเรื่องที่เขียนไปรู้เลยว่ามันล้าสมัยทันที พวกเขาไม่คิดแล้ว พวกเขาข้ามไปแล้ว ผมรู้ตัว
โดยรวมๆ ผมมองโลกในแง่ดีอยู่นะว่ามันไม่เห็นจะน่ากลัว แต่ทำไมคนถึงกลัวเด็กกันมากก็ไม่รู้ ก็เหมือนการถกเถียงประวัติศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ทำไมกลัวกันจัง การถกเถียงเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคก็ไม่น่ากลัว คนเป็นแพทย์ไม่ได้เสียอำนาจหรือรายได้เท่าที่คิดหรอก เรายังมีอำนาจ รายได้ และอภิสิทธิ์เยอะ รับประกันเลย ต่อให้ 30 บาทรักษาทุกโรค established อย่างแข็งแรงมาก เราไม่ได้เสียเยอะเท่านั้นหรอก ทำไมต้องกลัว ไม่มีอะไรน่ากลัวเลย อันนี้งงมาก
นี่เป็นสิ่งที่หมอกลัวกันด้วยเหรอ
กลัวสิ เก้าอี้ของผู้บริหารระดับสูงทุกคนขึ้นอยู่กับส่วนกลาง เป็นชั้นๆ โครงสร้างนี้ชัดเจน ทุกคนมีหน้าที่ serve ส่วนกลาง เขาไม่ได้ serve ประชาชนในท้องถิ่นมากเท่าที่ควร โรงพยาบาลแออัดได้ตลอดชั่วชีวิตผม เป็น output, outcome ที่พิสูจน์แล้วว่าเราไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหา อย่ามาเถียงเลยว่าแก้ไม่ได้ (หัวเราะ) ผมท้าเลยทุกโรงพยาบาลขนาดใหญ่คุณไม่ตั้งใจแก้ตั้งแต่แรก เพราะว่าคุณไม่ได้มีหน้าที่ serve ประชาชนที่มา เก้าอี้คุณมีหน้าที่หันไปทิศเดียว นี่เป็นระบบที่ไม่มีทางออก
เด็กๆ ที่ขอปฏิรูปการศึกษาน่าจะคิดอย่างนี้ มันไม่มีทางออก เรื่องการศึกษาที่ผมเขียนทุกวันนี้ ผมกลัวว่าจะไม่มีทางออกจนกว่าจะกระจายอำนาจ และทุกคนก็จะเริ่มต้นด้วยว่าส่วนท้องถิ่นไม่ได้เรื่อง ซึ่งจริง ณ วันนี้ส่วนท้องถิ่นไม่ได้เรื่องจริง แต่ต้องเริ่มต้น
มันจะมีใครได้เรื่องในวันที่ 1 ไม่มีทางอยู่แล้ว ส่วนท้องถิ่นจะต้องฝึกตัวเอง แต่ถามว่าใครคุมส่วนท้องถิ่น คำตอบคือประชาชน ประชาชนมีหน้าที่ bomb พวกมันเวลาทำไม่ถูก เพราะมันอยู่ใกล้เรา
เราบอมส่วนกลางไม่ได้คุณอยู่ไกลมาก ไม่รู้จะไปบอมใคร แต่ถ้าส่วนท้องถิ่นหรือผู้รับผิดชอบอยู่ใกล้เราเราแค่ไม่เลือกเขา ใครแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ไม่ได้เราก็ไม่เลือก แต่เราต้องรู้ก่อนว่าเราจะไม่เลือกใคร แต่พอบอกว่าก็อย่าไปเลือกส่วนกลางสิ คำถามคือคนไหน (วะ)
ไม่เลือกได้ด้วยเหรอ
กระจายอำนาจก่อน พอกระจายมาแล้วพบว่าส่วนท้องถิ่นไม่ได้เรื่อง ก็ใช่ ส่วนท้องถิ่นมีมาเฟีย ก็ใช่ แต่เราก็ต้องเริ่ม ในอเมริกาก็มีมาเฟียส่วนท้องถิ่น ในอังกฤษก็มีมาเฟียส่วนท้องถิ่น ทุกคนก็เริ่มด้วยการเอามาเฟียลงเลือกตั้ง แล้วประชาชนก็คุมมาเฟียผ่านการเลือกตั้งอยู่ดี มาเฟียก็ยังอยู่ ก็ใช่อีก นักการเมืองทุจริตยังมีอยู่ ก็ใช่ แต่ประชาชนจะจัดการพวกเขาง่ายขึ้นเพราะเขาอยู่ใกล้มือ ไม่กี่กิโลเมตรเอง
แต่ตอนนี้เราทำอะไรพวกเขาไม่ได้เลยนะ ซ่อมถนน ประปา ไฟฟ้า ขยะ ผมแก้อะไรไม่ได้เลยนะ เพราะไม่รู้ว่าจะไปบอกใคร
คุณหมอเห็นความหวังอะไรบ้างในคนรุ่นใหม่
เยอะ แค่เห็นการตั้งคำถาม ดูคลิปสั้นๆ ของเด็กนักเรียนที่ตั้งคำถามต่อระบบการศึกษาหลายแง่มุม มันก็เรื่องซ้ำไปซ้ำมานะ ทั้งเรื่องสายวิทย์-ศิลป์ การแต่งตัว พิธีการหมอบคลาน ครูบางท่านอาจจะมีคุณสมบัติไม่พอ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องดีสำหรับผม ขึ้นต้นคือเป็นเรื่องที่ดี ที่เหลือคือการคุยไปเรื่อยๆ ไม่ได้แปลว่ามันจะจบตรงนั้นสักหน่อย ทำไมใจร้อนกัน ไม่ได้หมายความจะต้องทำตามนักเรียนนักศึกษาบอกทุกอย่าง นี่คือการเริ่มต้น
ผมเชื่อเรื่องเสรีภาพ ผมไม่นั่งเถียงเรื่องสิทธิ ต้องมีเสรีภาพ ไม่อย่างนั้นสมองไม่มีทางผลิตเรื่องดีๆ ได้ ถามว่าเสรีภาพจะไปรบกวนสิทธิผู้อื่นไหม ของไม่ต้องพูดก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าไม่ได้ เรื่องจะไปอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ก็บ้านเราไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมนี่นา ตอนที่รบกวนสิทธิกัน คนนี้ทำ คุณเอาเรื่อง คนนั้นทำ คุณไม่เห็นจะเอาเรื่อง เห็นไหมว่าเป็นเราทำเละเอง
ถามว่ามีความหวังไหม รอบนี้มี ความจริงไม่เคยมีมานานมาก ตั้งแต่พี่สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) กับ พี่ธงชัย (วินิจจะกูล) (รุ่นพี่สมัยมัธยมโรงเรียนสวนกุหลาบ) สองคนเริ่มออกฤทธิ์ตั้งแต่เรียนมัธยม ผมฟังแล้วไม่สบายใจตั้งแต่ตอนนั้น เพราะผมเป็นเด็กดีของครูไง แต่ถามว่าดีไหม ก็ดีอะ ทำไมพี่สองคนเขาช่างคิดออกมาได้ ก็งงตั้งแต่ตอนนั้น แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยซะเยอะ แล้วหลังจากนั้นมันก็เงียบมาตลอดนะ
ตอนแรกผมนึกว่าเด็กๆ จะออกมาแต่มัธยมปลาย อ้าว ตอนนี้ลงไปถึงมัธยมต้นแล้ว มากันแล้วนี่ (ยิ้ม) ดีออก อยากให้ผู้ใหญ่ทุกคนใจเย็นๆ ไม่ได้แปลว่าเด็กพูดแล้วเรื่องก็จบ ยังไงทุกอย่างก็ต้องขึ้นโต๊ะเจรจา ระดมสมองจริงๆ
ระดมสมองหรือ brainstorm แปลว่า brain ต้องถูก strom ไม่ใช่กั๊ก brain เอาไว้เพราะเกรงใจคนหัวโต๊ะ นี่คือที่ประชุมราชการ เวลาที่ประชุมราชการพูด เรามาประชุม brainstrom เราจะหัวเราะทุกรอบ เพราะเราเอา brain ออกไป strom ไม่ได้ ถ้าทำอย่างนั้นโอกาสตายเราสูงมาก (หัวเราะ) เราต้องป้องกันตัวในห้องประชุมเสมอ ผม storm หลายครั้งไม่ได้ผลอะไรเลย บาดเจ็บอีกต่างหาก