รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์: ว่าด้วยมิตรสหาย ขุนนางนักวิชาการ และสำราญชน

การเกิดขึ้นของ ‘ไฮด์ปาร์คสนามหลวง’ ตอนปลายรัฐบาลจอมพล ป. (พ.ศ. 2498-2500) ทำให้นักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศที่มีสนามหลวงเป็นทางผ่านระหว่างบ้านกับโรงเรียนอย่าง รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้เรียนวิชาการเมืองนอกห้องเรียน เกิดเป็นความตั้งใจจะเข้าเรียนรัฐศาสตร์ในชั้นมหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม ‘แม่เหล็กใหญ่’ ของธรรมศาสตร์ที่ชื่อ ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’ ก็ดึงดูดให้ว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของเมืองไทยอย่าง รังสรรค์ นักศึกษาปี 1 ในขณะนั้น ตัดสินใจเลือกเรียนในคณะเศรษฐศาสตร์

บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้พาผู้อ่านไปสนทนากับ ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ศาสตราภิชานแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในอีกแง่มุมของชีวิตซึ่งเปลี่ยนไปหลังวันเกษียณอายุ บทเพลง ภาพยนตร์ การรำลึกถึงมิตรสหายและครูบาอาจารย์ นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงวิธีการเขียนหนังสือผ่านเรื่องของคำอุทิศ ความสนใจใหม่ๆ รวมถึงอิทธิพลของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ส่งผลต่อเส้นทางวิชาการของ รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ุ

เหนืออื่นใด พ้นไปจาก ‘พรหมจรรย์ของนักวิชาการ’ ตลอดช่วงชีวิต เพื่อรักษาเพดานในการอธิบายความจริงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มาหลายทศวรรษแล้ว จอภาพยนตร์ เสียงดนตรี ไล่ตั้งแต่ท่วงทำนองเพลงร็อคของ The Beatles จนถึงไรม์ร่วมสมัยจาก ‘กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่’ ยังคงเป็นความงามที่อาจารย์รังสรรค์ ยึดเป็นสรณะ

มีคนเก็บสถิติจำนวนงานเขียนของปัญญาชนนักวิชาการที่ตีพิมพ์ข้อเขียนลงหนังสือพิมพ์ในช่วงทศวรรษที่ 2530-2540 อันดับสองคืออาจารย์เกษียร เตชะพีระ อันดับหนึ่งคือ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถ้านับจากที่อาจารย์บอกว่าเขียนสัปดาห์ละ 13 ชิ้น อาจจะเท่ากับจำนวนงานเขียนอาจารย์นิธิพอดี?

เฮ้ย! นิธิ เขียนมากกว่าผม คุณรู้ไหมว่านิธิเคยเขียนลงใน นิตยสารแพรว คราวนี้พออมรินทร์ขาดทุนเพราะว่ารุ่นต่อมาอยากจะทำโทรทัศน์ เมื่อประมูลโทรทัศน์ได้มาหนึ่งช่อง หลังจากนั้นก็แย่ไปเลย

พอนายทุนใหม่ซื้อไป หันมาทำทีวี หนังสือก็ขาดรสนิยมลงไป คุณไปดูหนังสือสิ โครงสร้างหนังสือแย่มาก และเจ้าเดียวกันไปซื้อเอเชียบุ๊คอีก เมื่อก่อนเป็นร้านหนังสือภาษาอังกฤษถูกที่สุดในบรรดาร้านหนังสือภาษาอังกฤษ แต่ตอนนี้แพงที่สุด ผมยังเคยเอาหนังสือมาเทียบแบบเล่มต่อเล่ม ระหว่างร้านเอเชียบุ๊คกับ ร้าน Kinokuniya เมื่อก่อนเอเชียบุ๊คถูกกว่า แต่ตอนนี้แพงกว่าแบบเล่มต่อเล่มเลย

ทราบว่าปัจจุบันอาจารย์เปลี่ยนมาเขียนเรื่องราวต่างๆ ลงเฟซบุ๊คแทน อยากทราบวัตรปฏิบัติในการเขียนว่าเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

ช่วงเริ่มต้น ผมอาจจะเขียน 3 วันต่อ 1 เรื่อง ในรูปแบบบทความวิชาการ มีการค้นคว้าและอ้างอิง พอตอนนี้อาทิตย์ละเรื่องก็ถือว่าเก่งแล้ว เรื่องล่าสุดที่ผมเขียนคือเรื่องราวของ จอห์น เฮอร์ซีย์ (John Hersey) กับ Hiroshima ซึ่ง จอห์น เฮอร์ซีย์ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนนวนิยายชาวอเมริกัน เกิดในเมืองจีนและพูดภาษาจีนได้ก่อนพูดภาษาอังกฤษ เพราะพ่อกับแม่ไปเป็นมิชชันนารีเผยแพร่ศาสนาคริสต์ ก่อนจะกลับมาอเมริกาเมื่ออายุได้ 10 ขวบ หลังจากนั้นเขามีโอกาสได้ไปญี่ปุ่นก็ไปสัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์ระเบิดปรมาณู ต่อมาจึงมาเขียนบทความเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นบทความคลาสสิกชื่อ Hiroshima เป็นการประมวลจากการสัมภาษณ์คน 6 คน ที่รอดชีวิตว่ามันเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 6 สิงหาคม 2488

ต่อมาเขายังเขียนนิยายหลายเรื่องที่มีคุณภาพ ผมคิดว่างานเขียนของเขามากกว่าครึ่งได้รับรางวัล และยังมีคนเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วย ที่ผมชอบก็เนื่องจากว่าผมอ่านเรื่องนี้เหมือนกับได้อ่าน Ten Days that Shook the World คนเขียนอยู่ในเหตุการณ์ปี 1917 ตอนเกิดปฏิวัติรัสเซีย ในหนังสือเล่าว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในช่วงเวลานั้น ก่อนที่ วอร์เรน เบตตี (Warren Beatty) จะเอามาสร้างเป็นหนังชื่อ Reds ที่แปลว่า ‘สีแดง’

หรือไม่ผมก็จะดูว่าช่วงนี้มีใครตาย (หัวเราะ) แล้วผมก็จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องคนตาย ผมเขียนไปหลายคน รวมถึงเรื่อง อลัน พาร์คเกอร์ (Alan Parker) ที่ผมว่าเรื่องราวของเขาน่าสนใจ เขาเป็นนักสร้างภาพยนตร์ชาวอังกฤษไม่กี่คนที่บุกเข้าไปฮอลลีวูดได้ เช่น Mississippi Burning (1988) หรือ Midnight Express (1978) เขามีหนังที่ดีเยอะมาก และผมก็กำลังจะเตรียมเขียนอีกหลายเรื่อง แต่คิดว่าคงต้องใช้เวลานาน เพราะว่ามันเยอะ หรืออย่างตอนนี้ผมกำลังคิดถึง โอลิเวีย เดอ ฮาวิลแลนด์ (Olivia de Havilland) ดาราภาพยนตร์ เข้าใจว่ามีเชื้ออังกฤษ ไปอยู่อเมริกา ก่อนจะไปตายที่ฝรั่งเศส เธอเป็นพี่สาวของ โจน ฟอนเทน (Joan Fontaine) เล่นเรื่อง Gone with the Wind เพิ่งตายไป อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมกำลังเตรียมเขียน

เวลาจะหาข้อมูลเพื่อค้นคว้าและอ้างอิง อาจารย์ทำอย่างไร

ผมมีหนังสือพิมพ์ 2-3 ฉบับ ไว้สำหรับค้นคว้า คือ BBC กับ The Guardian และ The Economist ส่วน Newyork Times เข้าไปค้นไม่ได้หรอก คุณต้องเสียเงิน (หัวเราะดัง)

หลายๆ เรื่องราวจึงมาจากความทรงจำว่าผมเคยอ่านเรื่องนี้จากที่ไหนบ้าง เมื่อผมกลับไปค้นคว้า มันก็เหมือนกับการทำงานวิจัยขนาดจิ๋ว เพราะต้องค้นและวิเคราะห์ เนื่องจากผมไม่ได้ใช้เฟซบุ๊คเป็นที่ละเลงความคิด ไม่ได้ไปเขียนว่าผมชอบใคร หรือด่าใครว่าพูดจาหมาไม่แดก ผมไม่ได้เขียนแบบนั้น

อีกอย่างเฟซบุ๊คของผมก็ต้องกรองคนที่เข้ามาเป็นเพื่อน เผื่อเดี๋ยวจะมีคนมาละเลงความคิดอะไร ผมอาจจะติดคุกได้

สรุปก็คือจะคิดล่วงหน้าว่า อาทิตย์นี้จะเขียนอะไร ก็เหมือนกับผมเขียนคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ มันไม่ใช่ที่ละเลงความเห็น มันเหมือนกับงานวิจัยชิ้นจิ๋วๆ ต้องค้นข้อมูล แล้วต้องมีบทวิเคราะห์ที่ผมคิดว่าต่างไปจากคนอื่น ไม่งั้นมันขายไม่ได้

นอกจากเพลงคลาสสิก อาจารย์ฟังแนวอื่นไหม

ฮิปฮอป ผมก็ฟังนะ แต่เขียนไม่ได้ว่ะ (หัวเราะดัง) อย่างเพลงของ กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ผมก็ฟังนะแต่ผมเขียนไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ แนวที่ผมวิจารณ์ได้ก็อย่าง The Beatles อันนี้วิจารณ์ได้ หรืองานเพลงของ Eric Clapton ผมวิจารณ์ได้ อันที่จริงผมเขียนถึงแคลปตันหลายครั้ง หรือกระทั่ง ใครนะ ‘While My Guitar Gently Weeps’ ใครวะ

จอร์จ แฮร์ริสัน?

เออ คนนี้เก่งมาก เขาเด็กสุดใน The Beatles และเพลงของเขายังเกือบไม่ได้บันทึกลงแผ่นของ The Beatles เพราะพวกรุ่นพี่กดเขาฉิบหาย จนกระทั่งเขาไปอินเดีย ไปเอาเครื่องดนตรีอินเดียมาใส่ในเพลง ผมคิดว่ามันล้ำยุคนะในยุคนั้น แล้วเขาก็มีภรรยาเป็นนางแบบคนหนึ่ง ซึ่ง อีริค แคลปตัน ก็ชอบคนนี้มาก ทั้งที่มันมีสามีอยู่แล้ว แคลปตันก็จะขยันไปที่บ้าน จอร์จ แฮร์ริสัน ทุกอาทิตย์เลย เพื่อที่จะไปจีบ ท้ายที่สุดผู้หญิงคนนั้นก็หย่ากับ จอร์จ แฮร์ริสัน เพราะ จอร์จ แฮร์ริสัน ก็เจ้าชู้ (นั่งนึก) … เธอชื่อ แพตตี บอยด์ (Pattie Boyd)

ต่อมาเธอมาอยู่กับแคลปตัน แต่ก็อยู่ไม่นาน เพราะแคลปตันก็เจ้าชู้เหมือนกัน พอไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหนก็ไปมีผู้หญิงเมืองนั้น เกือบทุกเมือง มันเป็นวิถีชีวิตของคนพวกนี้ ส่วนพวกเพลงใหม่ๆ อย่างฮิปฮอปผมฟังได้ แต่วิจารณ์ไม่ได้ ผมวิจารณ์เพลงได้อย่างมากก็ 1960-1970 หลังจากนั้นไม่ได้แล้ว

อาจารย์ตั้งใจเข้าไปฟังเอง หรือได้ยินมาผ่านๆ

คือผมไม่ปิดกั้นไง ถ้าผ่านเข้ามาได้ยิน เช่น ในยูทูบ ผมก็จะนั่งฟัง อย่าง กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ ก็เป็นนักต่อสู้นะ เพราะเขาเข้ากรุงเทพฯ มาโดยไม่มีอะไร คุณรู้หรือเปล่า เขาไปแอบกินนอนอยู่บนตึกแกรมมี่เป็นปีเลย แล้วพอข้างล่างมีกินเลี้ยงอะไรก็ลงมากิน แล้วก็กลับขึ้นไปนอนใหม่ (หัวเราะดัง) และเขายังนับถือ โจอี้ บอย มาก เพราะ โจอี้ บอย เป็นคนหิ้วขึ้นมา

โลกในเฟซบุ๊คที่อาจารย์ได้สัมผัสเป็นอย่างไรบ้าง

มันก็เพลิดเพลินดีนะ เพราะว่าผมเป็นคนชอบเขียนหนังสืออยู่แล้ว ผมเขียนหนังสือตั้งแต่เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศ พอเข้าธรรมศาสตร์ก็ยังเขียนหนังสือ เขียนหนังสือตอนแรกไม่ได้ตังค์ เพราะว่าเขียนลงในวารสารเล่มละบาท สิ่งที่ได้คือมิตรภาพ ได้พบคนแบบ วิสา คัญทัพ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี แล้วจึงมาเขียนงานวิชาการ ก็ได้ตังค์บ้างแต่มันน้อย แต่ก็ถือเป็นอาชีพไม่ได้

จนกระทั่งมาเขียนคอลัมน์ บทความแรกๆ ที่ผมเขียนก็พิมพ์อยู่ในเครือมติชน และ จัตุรัส ของ พันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ต่อมาจึงมาเขียนให้ ผู้จัดการ โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นคนชวนผมไปเขียน ช่วงที่อยู่ผู้จัดการ เขียน 13 เรื่องต่อ 1 สัปดาห์ ไม่ได้ทำงานวิชาการเลย แต่ว่าตอนนั้นร่ำรวย (หัวเราะ)

อาจารย์มักพูดว่าตัวเองเป็นนักวิชาการที่ยากจน แต่ช่วงที่เฟื่องฟูเขียนบทความสัปดาห์ละ 13 ชิ้น ก็ถือเป็นช่วงที่ร่ำรวย นิยามตอนจนกับรวยเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนเขียน 13 เรื่องต่อสัปดาห์นั้น ผมได้ประมาณเดือนละแสน คิดดูสิ ผมเขียนอยู่ 13 ปี เขียนไม่นานก็เกิดพฤษภาทมิฬ เรื่องสุดท้ายที่เขียนคือปี 2547 ได้แสนหนึ่งก็เยอะนะ ต่อมาผมได้รับงานวิจัย แล้วก็หยุดเขียนคอลัมน์ไปเขียนงานวิจัยแทน พอมาทำงานวิจัยก็อาจจะไม่ได้เงินมาก เครียดด้วย เครียดมาก กลัวส่งไม่ทัน แต่ผมก็ภูมิใจว่าไม่ได้เขียนงานซี้ซั้วหรือเขี่ยส่ง ผมมีงานที่ผมคิดว่าเป็นงานที่ดีในชีวิตผม

อย่าง เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ (2546) นี่ถือเป็นงานที่ดี แล้วผมก็อุทิศให้แม่ ผมบอกว่าผมไม่คิดว่าจะเขียนหนังสือได้ดีกว่านี้แล้ว เลยอุทิศให้แม่ โหย แม่ผมให้หลานอ่านคำนำ อ่านซ้ำไปซ้ำมา จนหลานมันจำได้

(มองออกไปนอกหน้าต่าง)

เวลาอาจารย์จะเขียนคำอุทิศให้ใครสักคน มีอะไรข้างในที่บอกว่า เรื่องนี้อุทิศให้แม่ หรือเรื่องไหนจะอุทิศให้ใคร

ต้องเป็นคนดี ทำคุณประโยชน์ให้กับคนอื่น แม่ทำคุณประโยชน์ให้กับผม แม่ผมเป็นคนจีน พูดภาษาไทยไม่ชัด ไม่รู้ภาษาไทย ไม่รู้ภาษาอังกฤษ อ่านแต่หนังสือจีน เมื่อผมอยู่ประถม แม่ผมก็จับมือคัดภาษาอังกฤษ โอ้ อันนี้เป็นความประทับใจมาตลอดชีวิต พ่อไม่ต้องมายุ่งเลย แม่จับมือผมคัด A B C ทั้งที่เขาเขียนภาษาอังกฤษไม่ได้ พ่อผมเป็นโรคประสาทตั้งแต่ปี 2500 แล้วแม่ก็เป็นคนแบกรับภาระ เพราะมีลูกตั้ง 5 คน ส่งเรียนจนจบมหาวิทยาลัยทั้งหมด อันนี้ก็เป็นความประทับใจ

ผมเขียนอุทิศหนังสือให้อาจารย์ป๋วย ในหนังสือเล่มแรกเรื่อง ทฤษฎีการภาษีอากร เขียนอุทิศให้อาจารย์อัมมาร (สยามวาลา) เรื่อง เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพรีเมี่ยมข้าว เขียนอุทิศให้ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในหนังสือชื่อ โลกหนังสือ เขียนอุทิศให้ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับการเมือง เขียนว่า ‘อุทิศให้กับ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บุคคลผู้ไม่สำคัญในวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทย’ (หัวเราะดัง) ตอนแรกถ้าชาญวิทย์ได้อ่าน อาจจะยัวะก็ได้นะ แล้วผมเขียนอุทิศให้สุชาติว่า ‘บุคคลผู้ไม่สำคัญในบรรณพิภพไทย’ (หัวเราะร่วน)

ส่วนตอนเขียนอุทิศให้อาจารย์อัมมาร ผมเขียนดีมากเลย เขียนว่า ‘ถึงแม้ว่าอาจารย์อัมมารจะไม่เคยสอนหนังสือผม แต่อาจารย์อัมมารเป็นคนที่ผลิตงานวิชาการชั้นเลิศ เป็นคนที่รักษา ‘พรหมจรรย์ของนักวิชาการ’ ไม่เคยไปรับใช้นักการเมือง และเป็นคนที่มีความกล้าหาญทางจริยธรรม ตอน 6 ตุลา 19 อาจารย์อัมมารพูดถึงอาจารย์ป๋วยว่า “คนตรงที่อยู่ในประเทศคด” เขียนดีมากเลย

ย้อนไปก่อนหน้านั้น 3 ปี อยากให้อาจารย์ช่วยเล่าถึงอาจารย์กับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

วันนั้นผมสอนหนังสืออยู่ แล้วก็นัดกับ อาจารย์ทวี หมื่นนิกร (อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) จะไปแจกใบปลิวกัน พอเสร็จแล้ว ผมเป็นโรคนิ่วอยู่ก็ทำให้ผมปวดท้องมาก ผมเลยไม่ได้ออกจากบ้าน และไปโรงพยาบาลพร้อมมิตร กะว่าจะผ่าตัด พอหมอให้ยามากิน ปรากฏว่านิ่วมันหลุด ผมก็เลยนอนพักฟื้นอยู่บ้าน

ก่อนนั้น ธีรยุทธ บุญมี ซึ่งเช่าห้องแถวอยู่บางลำพู ก็ออกไปแจกใบปลิว ผมเดินมาจากสวนจิตรฯ กับ อภิชัย พันธเสน, เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แล้วก็เดินมาถึงวิสุทธิกษัตริย์ โห ลือกันว่า มีการยิงกันแถวสวนจิตรฯ ผมยังไม่เชื่อเลย เพราะเพิ่งเดินกลับมา แล้วพอเข้ามาที่ธรรมศาสตร์ก็มีคนยิงปืนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ ปรากฏว่าอาจารย์ผู้หญิงร้องไห้กันใหญ่

‘พรหมจรรย์ทางวิชาการ’ อาจารย์พูดเรื่องนี้บ่อยมาก มันสำคัญกับอาจารย์อย่างไรบ้าง

คุณต้องรักษาความบริสุทธิ์ในทางวิชาการ คุณต้องไม่ขายตัว คุณต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริงทางวิชาการ คุณต้องไม่หากินกับนักการเมือง คุณต้องมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพ ผมคิดว่าจำนวนคนแบบนี้น้อยมากในขณะนี้ ในยุคผม นอกจากอาจารย์ป๋วยแล้ว คนที่เราเห็นได้ชัดคือ อาจารย์อัมมาร

มีคนวิจารณ์อยู่เหมือนกันว่า ผมไม่ยอมเอาความรู้ที่มีไปใช้ในการบริหารเศรษฐกิจ แต่ผมก็คิดว่าจุดยืนของผมถูกต้องนะ ไม่งั้นใครจะมาเชื่อฟังผมในอนาคต ถ้าผมไปขายตัวให้นักการเมืองแล้ว

คนรุ่นผมบางคนปกติก็เดินไปไหนมาไหนด้วยกัน แต่พอเข้าไปทำงานพรรคการเมือง เดี๋ยวนี้มันรวยฉิบหายเลย ผมอยากจะบอกว่า อาจารย์ที่ไปรับใช้การเมือง น้อยมากที่จะจน

อาจารย์เคยได้รับข้อเสนอจากผู้มีอำนาจบ้างไหม

ไม่เคย มีครั้งหนึ่งผมไปพูดที่พรรคประชาธิปัตย์ ไปวิจารณ์งบประมาณแผ่นดินให้สมาชิกพรรคฟัง แล้วอาจารย์ป๋วยก็เรียกผมไปคุย บอกว่า “การที่คุณไปพูดในพรรค แสดงว่าคุณ identify ว่าคุณเป็นคนของพรรคนั้น” หลังจากนั้นผมก็เลยไม่ไปพูดอีกเลย ซึ่งผมคิดว่าแกพูดถูกนะ

อาจารย์คิดว่าสปิริตเช่นนี้ ได้รับอิทธิพลมาจากอาจารย์ป๋วยหรือเปล่า

แน่นอน อาจารย์ป๋วยก็ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เดิมทีผมไม่ได้คิดจะเรียนเศรษฐศาสตร์ ผมอยากจะเรียนรัฐศาสตร์ เพราะว่าผมฟังไฮด์ปาร์คสนามหลวงเกือบทุกวันเลย เพราะบ้านผมอยู่ท่าช้าง วังหลวง โรงเรียนผมอยู่วัดบวรฯ และเมื่อผมเดินจากบ้านไปโรงเรียนก็ต้องผ่านไปยืนฟังไฮด์ปาร์ค พอมาตอนหลังเลยรู้ว่าพวกดาวไฮด์ปาร์คที่ด่ารัฐบาลเก่งๆ ต่อมารับใช้เผด็จการทั้งนั้นเลย

อาจารย์ป๋วยมีความเป็นมนุษย์สูงมาก ตอนผมไปเรียนที่อังกฤษ อาจารย์ป๋วยให้ อาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม ไปเยี่ยมบ้านผมทุกอาทิตย์ ให้ไปดูว่าแม่ผมมีความเป็นอยู่อย่างไร คิดถึงลูกหรือเปล่า เรื่องนี้ผมเพิ่งรู้ไม่ถึง 10 ปี น้องสาวผมเป็นคนที่เล่าให้ฟัง และในงานวันครบรอบ 72 ปี รังสรรค์ ผมก็พูดเรื่องนี้ อาจารย์เกริกเกียรตินั่งอยู่ แกหัวเราะใหญ่เลย คนแบบอาจารย์เกริกเกียรติ เป็นคนแบบที่อาจารย์ป๋วยพยายามผลักดัน ท้ายที่สุดก็ได้เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ คืออาจารย์ป๋วยชอบคนที่มีพื้นเพมาจากชาวบ้าน อย่างอาจารย์เกริกเกียรตินี่ แกเคยวิ่งขายใบตรวจลอตเตอรี่ บ้านแกอยู่โบ๊เบ๊ ที่บ้านเลยมีกางเกง Lee เต็มไปหมด (หัวเราะ)

ทราบมาว่าอาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายแนะนำเพื่อประกอบการสมัครเรียนให้อาจารย์เรียนที่เคมบริดจ์ด้วย อาจารย์เล่าช่วงเวลานั้นให้ฟังหน่อย

คือผมไม่มีสิทธิเข้าไปเรียนได้ ถึงแม้ว่าผมจะได้คะแนนสูงมากที่ธรรมศาสตร์ แต่นั่นเป็นการแข่งขันระดับโลก คนที่ไปพูดกับอาจารย์ป๋วยคือ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ บอกว่าน่าจะส่งผมไปเรียนต่อ อาจารย์ป๋วยบอกว่า “ถ้าจะเรียนต่อ ก็ต้องไปเรียนที่อังกฤษ แล้วก็ไปเริ่มต้นเรียนปริญญาตรีใหม่” อาจารย์ป๋วยเขียน recommendation ดีมาก ด้วยจดหมายฉบับนั้นผมจึงได้เข้าไป แล้วผมก็ไม่ผิดหวัง เพราะว่าถ้าคุณไปเรียนระดับหลังปริญญาตรีที่อังกฤษ จะไม่ได้อะไรเลย เวลานั้นมหาวิทยาลัยที่อังกฤษต้องการเงินอย่างเดียว London School หลักสูตรหลังปริญญาตรีไม่มีโต๊ะนั่ง คุณต้องไปยืนเรียน London School จึงได้รับ The Queen’s Award for Export Achievement (รางวัลที่มอบให้แก่องค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการค้าระหว่างประเทศของอังกฤษ) เพราะหาเงินจากนักศึกษาต่างชาติ

แต่ว่าในระดับปริญญาตรี มันเรียนเข้มข้นมาก อาจารย์ 1 คน ต่อนักเรียน 3 คน หรือบางวิชา 2 คน แล้วก็นั่งคุยกัน ให้หัวข้อเรียงความ ให้หนังสือไปอ่าน แล้วก็นัดเจอกันอาทิตย์หน้า ทำแบบนี้ทุกอาทิตย์ ผมได้จากตรงนี้เยอะมาก เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยไทยไม่สามารถจะทำคุณภาพระดับนั้นได้

จุดยืนของขุนนางนักวิชาการอย่างอาจารย์ป๋วย กับ จอมพล ป. หรือสฤษดิ์ เป็นอย่างไร เพราะมีคนรุ่นหลังชอบอ้างว่าอาจารย์ป๋วยเพื่อไปรับใช้เผด็จการ

อาจารย์ป๋วยกลับมาจากอังกฤษปี 2492 อาจารย์เขียนวิทยานิพนธ์เสร็จปี 2491 เนื่องจากอาจารย์ป๋วยสนิทกับ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ มาก ในเมืองไทยลือกันว่าอาจารย์ป๋วยจะกลับมาทำรัฐประหาร (การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร 2490) พ่อแม่พี่น้องของอาจารย์ป๋วยก็ส่งจดหมายไปบอกอาจารย์ป๋วยว่า “อย่าเพิ่งกลับ” อาจารย์ป๋วยก็เลยเข้าไปหาผู้อำนวยการ LSE (The London School of Economics and Political Science) บอกให้ช่วยประวิงเวลาการอนุมัติปริญญา เขาจึงประวิงไป 1 ปี

เมื่ออาจารย์ป๋วยกลับมา ปี 2492 ก็เข้าทำงานในกรมบัญชีกลาง ต่อมาถูกส่งไปเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตอนนั้นทำงานหลายที่มาก พอมาถึงยุคสฤษดิ์จึงเป็นผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง คือทุกอย่างที่เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอยู่ในมือแกหมด

ทีนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา มันทำเงินได้ ถ้าคุณได้เงินมา 1 ดอลลาร์ เอาไปแลกตลาดได้ 30 บาท แต่ไปแลกทางการอาจจะได้ 25 บาท ถ้าคุณสามารถเล็ดลอดออกตลาดมืดได้ คุณก็ได้กำไร ในตอนนั้นสหธนาคารกรุงเทพซึ่งรับแลกเงินดอลลาร์ เอาเงินไปแลก 30 บาท ในตลาดมืด แล้วก็ถูกจับได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะลงโทษ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ เผ่า ศรียานนท์ (พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจที่มีอิทธิพลสูงในทศวรรษ 2490) เรียกอาจารย์ป๋วยเข้าไปคุย บอกว่าอย่าให้มีการลงโทษ เพราะว่าทั้งสองคนจะเข้าไปถือหุ้น อาจารย์ป๋วยก็บอกว่าทั้งสองคนอยู่ในคณะรัฐมนตรี ทำไมไม่เสนอเป็นมติ ครม.

สฤษดิ์กับเผ่าก็ไม่ได้เอาเรื่องเข้า ครม.?

ตอนนั้นอาจารย์ป๋วยถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วในช่วงปี 2499-2500 เผ่าจะเปลี่ยนบริษัทพิมพ์ธนบัตรจากบริษัท ธอมัส เดอ ลา รู ไปเป็นบริษัทอเมริกัน อาจารย์ป๋วยไปเช็คก็พบว่าบริษัทพิมพ์แบงก์ของอเมริกัน เป็นบริษัทของน้องชาย จอห์น ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) ตอนนั้นเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ อาจารย์ป๋วยก็บอกว่าไม่ควรเปลี่ยน เผ่าก็ขู่ว่าอาจจะไม่ตายดี

อาจารย์ป๋วยจึงลาออก ตั้งใจว่าจะไปเป็นนักวิจัยในสถาบันวิจัยด้านการเมืองระหว่างประเทศ แต่ว่า พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รู้เข้า จึงได้ให้อาจารย์ป๋วยไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจการคลัง ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในอังกฤษ

นี่เป็นเหตุให้อาจารย์ป๋วยไปอยู่ที่อังกฤษ เป็นช่วงที่กลุ่มอาจารย์สุลักษณ์ไปสุงสิงกับอาจารย์ป๋วย

ในหนังสือชื่อ เศรษฐกิจประเทศไทย อาจารย์ป๋วยเขียนกับ คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร มีบทท้ายๆ ที่ชื่อ ธรรมะทางเศรษฐกิจ เพิ่งเอามาพิมพ์ตอน ‘100 ปี อาจารย์ป๋วย’ ในนั้นบอกว่า “ข้าราชการต้องไม่ทำงานในฐานะคณะกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทเอกชน” เป็นที่มาให้ผมเอามาตั้งเป็น ‘พรหมจรรย์ของขุนนางนักวิชาการ’ คือถ้าคุณเข้าไปเป็นลูกจ้าง เป็นพนักงานหรือผู้ถือหุ้น คุณก็ต้องตกอยู่ในบังคับของบริษัทนั้น

อาจารย์เคยบ่นนักศึกษา ว่านักศึกษาไม่ทำการบ้าน อยากให้อาจารย์เล่าถึงสภาพการสอนหนังสือในช่วงหลัง

คือนักศึกษาช่วงหลัง ไม่อ่านหนังสือ และผมรู้ว่าอาจารย์ที่มาจากคอร์เนลบอกข้อสอบทุกคน อย่าง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ทักษ์ เฉลิมเตียรณ เขาให้เหตุผลว่า “การให้เหตุผลล่วงหน้าทำให้ได้คำตอบที่ดี นักศึกษาต้องไปค้นคว้า” ผมสอนหนังสือมาจนปีท้ายๆ ผมก็เบื่อมาก เพราะว่าคำตอบที่เขียนมันเหมือนกับไม่ได้ศึกษาเลย ผมบอกข้อสอบว่านี่ข้อสอบ คุณต้องไปอ่าน นักศึกษาไม่อ่าน ผมให้ F กับ D เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นผมได้ศาสตราภิชาน ผมจะต้องสอนถึงอายุ 70 แต่ผมสอนถึง 66 ผมลาออกเลย ไม่ไหวแล้ว

นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่มาจากครอบครัวยากจน ผมว่ายังมี แต่ที่จุฬาฯ อาจจะไม่มีเลย ตอนผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ผมขึ้นค่าเรียนไป 400 เปอร์เซ็นต์ ถูกด่าทั่วธรรมศาสตร์ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ผมคุยกับอาจารย์ป๋วยเป็นเวลานาน เรื่องเก็บค่าเล่าเรียนถูก มันไม่เป็นธรรมกับคนจน

คุณดูสิ ธรรมศาสตร์ จุฬาฯ เด็กมาจากไหน เด็กมาจาก upper–upper class หรือไม่ก็ middle class แต่เสียค่าเล่าเรียนถูก ผมก็เลยขึ้นค่าเรียนไป 400 เปอร์เซ็นต์

ตอนนั้นชาญวิทย์เป็นอธิการบดี ผมบอกว่า “ถ้ามึงค้านตรงนี้ กูลาออก” ถึงกระนั้นผมกันเงินที่ขึ้นไป 10 เปอร์เซ็นต์ สำหรับมอบให้นักศึกษายากจน

อาจารย์นิยามคำขึ้นมาเต็มไปหมด อะไรที่ทำให้อาจารย์คิดคำใหม่ๆ ขึ้นมาเสมอ

ผมเก่งภาษาไทยนะ ดังนั้นคุณจะเห็นว่างานผมภาษามันสละสลวยมาก (หัวเราะ)

ผมมาจากโรงเรียนวัด โรงเรียนวัดต้องเข้มงวดกับภาษาไทย ผมจำได้ว่าถูกครูตีมือเพราะเขียนเครื่องหมายเท่ากับ ไม่ตรงกับบรรทัดบน และเนื่องจากผมเป็นนักอ่านตั้งแต่ชั้น ม.3 หรือ ป.6 ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ผมจะไปอ่านหนังสือที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ ส่วนหอสมุดแห่งชาติเป็น closed stacks library (หนังสืออยู่ในชั้นปิด การยืม-คืนต้องติดต่อบรรณารักษ์) คุณจะยืมหนังสือคุณต้องบอกเจ้าหน้าที่ให้หยิบให้ แต่ว่าหอสมุดพระยาดำรงฯ เป็น open stacks (หนังสือที่อยู่ชั้นเปิด)

ผมพัฒนาความรู้เรื่องประวัติศาสตร์จากหอสมุดนี้ เพราะในนั้นไม่มีหนังสืออื่นนอกจากหนังสือประวัติศาสตร์ นั่งอ่านทุกซัมเมอร์ตั้งแต่ ม.3 ต่อมาไปใช้ห้องสมุด British Council ตอนนั้นอยู่เชิงสะพานพุทธฯ ตรงข้ามโรงเรียนสวนกุหลาบ และก็ไปห้องสมุด USIS อยู่แถวพัฒน์พงษ์ ที่นี่ดีอย่าง มักมีรายการอภิปรายและเชิญนักดนตรีอเมริกันมาเล่นดนตรีให้ฟัง

Author

อิทธิพล โคตะมี
อิทธิพลเข้ามาในกองบรรณาธิการ WAY พร้อมตำรารัฐศาสตร์ สังคม การเมือง ถ้อยคำบรรจุคำอธิบายด้านทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติ คาแรคเตอร์โดยปกติจะไม่ต่างจากนักวิชาการเคร่งขรึม แต่หลังพระอาทิตย์ตกไปสักพัก อิทธิพลจะเป็นชายผู้อบอุ่นที่โอบกอดมิตรสหายได้ทุกคน

Author

ศุภวิชญ์ สันทัดการ
นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยชื่อดังแถบรังสิต เป็นคนหนุ่มที่ฟังเพลงน้อยแต่อ่านมาก โดยเฉพาะการผจญภัยในสวนอักษรของ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ด้วยคุณงามความดีเช่นนี้จึงมีเสียงชื่นชมบ่อยๆ ว่าเป็นพวกตกยุค

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า