คิดถึง สุชาติ สวัสดิ์ศรี (ตอนที่ 2)

เนื้อหาและความเห็นในบทความเป็นสิทธิเสรีภาพและทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน โดยอาจไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับทัศนะและความเห็นของกองบรรณาธิการ

๒ กันยายน ๒๕๖๔

ภาคที่สี่ ชีวิตและผลงาน

สุชาติ สวัสดิ์ศรี เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๘ ที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาเป็นหมอเสนารักษ์ มารดาเป็นชาวนา เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชาประวัติศาสตร์) เกียรตินิยมดี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๐๙ 

เขาเคยดำรงตำแหน่งบรรณาธิการวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จวบจนวารสารดังกล่าวถูกปิดไป เมื่อเกิดการฆาตกรรมประชาชนและนักศึกษาในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙

หลัง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เขาทำงานให้สำนักพิมพ์ดวงกมล (เจ้าของชื่อ คุณสุข สูงสว่าง: ๒๔๗๕-๒๕๕๐) ซึ่งนอกจากขายหนังสือที่ผลิตในเมืองไทยแล้ว ยังนำเข้าหนังสือจากต่างประเทศอีกด้วย และที่นี่เองที่เขาเริ่มออกนิตยสาร โลกหนังสือ (๒๕๒๐) อันเลื่องชื่อ แม้จะไม่ทำกำไร เจ้าของสำนักพิมพ์ยังคงปล่อยให้เขาทำนิตยสารดังกล่าวต่อไป

คุณสุข สูงสว่าง จัดตั้งสำนักพิมพ์ดวงกมลและร้านหนังสือดวงกมล สาขาร้านหนังสือดวงกมลจำนวนมากจัดตั้งโดยมิได้ประเมินตลาดอย่างรอบคอบ ทำให้ต้องปิดไปในภายหลัง ต่างจาก Asia Books ที่ระมัดระวังในการเปิดสาขา Asia Books และ Bookazine เริ่มเปิดกิจการในเดือนกันยายน ๒๕๑๒ มีสาขาประมาณ ๗๐ สาขา ปัจจุบันผู้เป็นเจ้าของคือ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี (๒๔๘๗- ) อนึ่ง นายเจริญยังเป็นเจ้าของร้านหนังสือนายอินทร์และสำนักพิมพ์อมรินทร์อีกด้วย 

สาขาร้านดวงกมลที่ใหญ่ที่สุดเดิมอยู่ที่ SEACON Square ด้วยเหตุที่คุณสุขชอบดื่มไวน์ สาขานี้จึงมีร้านขายไวน์ชื่อ ‘กระท่อมไวน์ของนายสุข’ คุณสุขมีความคิดอันบรรเจิดที่จะจัดตั้ง ‘เมืองหนังสือ’ อันเป็นแหล่งซื้อขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุด ที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และสร้าง ‘หมู่บ้านนักเขียน’ ที่อำเภอแม่พลอย จังหวัดกาญจนบุรี แต่ด้วยวิกฤตการณ์การเงิน ๒๕๔๐ โครงการทั้งหมดนี้ต้องพับไปโดยปริยาย

คุณสุขล้มป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกเป็นเวลาหลายปี มีการผ่าตัดถึง ๒ ครั้ง เมื่ออาการทุเลาก็กลับมาทำงานต่อ แต่มักมีอาการชัก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์การเงิน ๒๕๔๐ ธุรกิจทั้งหมดล้มละลาย นายสุขถึงกับเป็นอัมพาต จนเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๕๐ ที่โรงพยาบาลพลพยุหเสนา อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี สิริอายุ ๗๕ ปี

เขาแต่งงานกับคริสติน สูงสว่าง ชาวเยอรมัน และมีลูกสาวหนึ่งคนชื่อ ไมลิน สูงสว่าง 

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ทำงานที่สำนักพิมพ์ดวงกมลด้วยความเป็นสุข เขาใช้นิตยสาร โลกหนังสือ เป็นเครื่องมือในการปั้นนักเขียน ด้วยการประดับช่อการะเกด และในยุคนี้เองที่คุณสุชาติเริ่มผลิตงานเขียน ทั้งเรื่องสั้น กลอนเปล่า และการตอบจดหมาย โดยใช้นามปากกา สีกัน บ้านทุ่ง, บุญ ประคองศิลป์ และสิงห์สนามหลวง

ภายหลังจากที่นายสุข สูงสว่าง ถึงแก่กรรมในปี ๒๕๕๐ คุณสุชาติก็ตกงาน ต่อมา บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ ว่าจ้างให้คุณสุชาติไปจัดทำนิตยสาร บานไม่รู้โรย แต่ทำอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องออกจากงาน เพราะนิตยสารดังกล่าวไม่ทำเงิน

นอกจากการเขียนหนังสือและการผลิตวารสารแล้ว คุณสุชาติยังผลิตงานศิลปะด้วย โดยที่มีการจัดงานทั้งการแสดงเดี่ยวและการแสดงกลุ่ม

งานแสดงเดี่ยว อาทิ

● ๒๕๔๔ งานติดตั้งจัดวาง: นักเขียนเก่าไม่มีวันตาย (สถาบันปรีดี พนมยงค์)

● ๒๕๔๖ สุชาติโทเปีย (Such-Artopia) งานแสดงจิตรกรรมภาคแรก ห้องศิลปะนิทรรศมารศรี พิพิธภัณฑ์สวนผักกาด

● ๒๕๔๗ สุชาติมาเนีย (Such-Artmania) งานแสดงจิตรกรรมภาคสอง งานติดตั้งจัดวางและเปิดตัวนวนิยายทัศนศิลป์ (Visual Art Novel)

● ๒๕๔๗ ดาวเรืองบินข้ามครรภ์ฟ้า ร้านหนังสือใต้ดิน กรุงเทพฯ

● ๒๕๔๘ สุชาติเฟลเลีย (Such-Artfailure) งานแสดงจิตรกรรมภาคสาม หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานแสดงกลุ่ม

● ๒๕๔๔ นิทรรศการศิลปะกับสังคม สถาบันปรีดี พนมยงค์

● ๒๕๔๕ นิทรรศการศิลปะกับสังคม สถาบันปรีดี พนมยงค์

● ๒๕๔๖ นิทรรศการศิลปะกับสังคม สถาบันปรีดี พนมยงค์

● ๒๕๔๗ นิทรรศการศิลปะกับสังคม สถาบันปรีดี พนมยงค์

● ๒๕๔๗ นิทรรศการเจ้าชายน้อย (เพื่อคนพิการ) ภัทราวดี แกลเลอรี่ กรุงเทพฯ

● ๒๕๔๗ นิทรรศการ หงา คาราวาน พบ สิงห์สนามหลวง (เพื่อ ’รงค์ วงษ์สวรรค์) ร้านล็อต เชียงใหม่

● ๒๕๔๗ นิทรรศการ เพื่อนศิลปิน ‘ร้านเจน’ กรุงเทพฯ

● ๒๕๔๗ นิทรรศการ ‘Jazz Up Your Life’ ร่วมกับสิเหร่ ร้านเฮมล็อค กรุงเทพฯ

● ๒๕๔๘ นิทรรศการศิลปะกับสังคม สถาบันปรีดี พนมยงค์

● ๒๕๔๘ นิทรรศการ ‘ศิลปะเกื้อกูลศิลปะ’ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 

ภาคที่ห้า ชีวิตสมรส

สุชาติ สวัสดิ์ศรี อยู่กินกับคุณวรรณา ทรรปานนท์ ในปี ๒๕๑๖ และทำพิธีสมรสในปี ๒๕๑๘ 

คุณวรรณาเกิดเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๔๘๖ ที่อำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก บิดาทำงานการรถไฟ มารดามีอาชีพเป็นแม่ค้า บิดามารดาชอบอ่านหนังสือ ทำให้เธอชอบอ่านหนังสือตามไปด้วย 

เธอมีพี่น้อง ๙ คน เธอเป็นลูกคนที่สาม จบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ แล้วตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ หางานทำ ทำงานจิปาถะ ทั้งเป็นคนรับใช้ตามบ้าน (บางครั้งเป็นบ้านชาวต่างประเทศ) พนักงานร้านอาหาร และกรรมกรโรงงาน ผมเข้าใจว่า เธอทำงานโรงงานผลิตรองเท้าฮารา

เธอเข้าร่วมเดินขบวนในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ด้วย นอกจากนี้ เธอยังร่วมการเคลื่อนไหวกับชนชั้นกรรมาชีพด้วย จนได้พบกับคุณสุชาติ

ถึงเธอมีการศึกษาอย่างเป็นทางการน้อย แต่เธอมีความวิริยะอุตสาหะอย่างยิ่งยวด จนเธอสามารถอ่านภาษาอังกฤษได้ และสามารถแปลหนังสือภาษาอังกฤษได้ 

เธอชอบอ่านหนังสือและเขียนหนังสือ เหตุที่เธอต้องการเขียนหนังสือนี้เอง เธอจึงเข้าไปขอความช่วยเหลือจากคุณสุชาติ และคุณสุชาติเป็นแรงกระตุ้นในการเขียนหนังสือให้เธอ เรื่องสั้น ‘แก้วน้ำหยดเดียว’ เป็นงานวรรณกรรมชิ้นแรกของเธอที่ปรากฏสู่บรรณพิภพ โดยตีพิมพ์ในวารสาร สังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๑ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๑๘) 

ต่อมา เธอเริ่มผลิตงานวรรณกรรมอื่นๆ ทั้งบทละคร นวนิยาย กลอน และบทความ

เธอแปลหนังสือหลายเล่ม อาทิ

● ดอนกีโฮเต้ ฉบับอนุบาล

● นิทานฮาวาย

● นิทานของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน

● นิทานสองพี่น้องตระกูลกริมม์

บรรณพิภพไทยให้ความสนใจเธอน้อยเกินไป เพราะไม่เชื่อว่า สตรีที่มีการศึกษาเพียงชั้นประถมปีที่ ๔ จะเขียนหนังสือได้ เมื่อนิตยสาร โลกหนังสือ ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๒๒ นำรูปเธอขี้นปก โดยพาดหัวว่า ‘ศรีดาวเรือง มิติใหม่ของกรรมาชีพ’ โดยมีรายงานที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า เขียนโดยคุณรัศมี เผ่าเหลืองทอง บรรณพิภพไทยจึงเริ่มรู้จักเธอดีขึ้น

วรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง ‘ราษฎรดำเนิน’ (สำนักพิมพ์ทางเลือก ๒๕๔๗) ของเธอได้รับการประเมินจากคุณจรูญพร ปรปักษ์ประลัย อย่างรอบด้าน

ในหนังสือแปลงานวรรณกรรมรวมเรื่องสั้นเรื่อง ‘ราษฎรดำเนิน’ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า The Citizen’s Path: hree Decades of Sridaorueang อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขียนยกย่องเธอเป็นอันมาก

งานวรรณศิลป์ของเธอได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหลายภาษา Yujiro Iwaki และ Yumiko Udo เป็นชาวญี่ปุ่น ๒ คน ที่แปลงานของเธอเป็นภาษาญี่ปุ่น

เธอเป็นที่รู้จักในวงการวรรณกรรมนานาชาติมากขึ้น เมื่อ Benedict Richard O’Gorman Anderson (1936-2015) นำเรื่องสั้นเรื่อง ‘แม่พระคงคา เถ้าแก่บัก และหมา’ ของเธอ แปลและตีพิมพ์ในหนังสือเรื่อง In the Mirror: Literature and Politics in Siam in the American Era

นอกจากนี้ Rachel Harrison (1966- ) ศิลปินชาวอเมริกัน ได้แปลและเขียนคำนำเชิงวิเคราะห์เรื่อง A Drop of Glass รวมทั้ง Susan Kepner แปลเรื่อง Married to the Demon King: Sri Daoruang and Her Demon Folk โดยเขียนคำนำเชิงปริทัศน์ด้วย หนังสือชุด ชาวยักษ์ ศรีดาวเรืองนำตัวละครจากเรื่อง รามเกียรติ์ มาตีความใหม่

ในฐานะภรรยา เธอไปฝึกพิมพ์ดีด เพื่อมาพิมพ์ต้นฉบับให้คุณสุชาติ เธอทำงานบ้านและทำสวน เธอชอบอยู่เงียบๆ ไม่ชอบเป็นข่าว ทั้งสองมีลูกชายหนึ่งคนชื่อ โมน ผมเข้าใจเอาเองว่า คุณสุชาติตั้งชื่อลูกจากนวนิยายเรื่อง Le Grand Meaulnes (1913) แต่งโดย Alain-Fournier (1986-1014) ซึ่งคุณวรรณี จันทราทิพย์ แปลเป็นภาษาไทย และตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ โมนผจญโลก โดยสำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย ในปี ๒๕๐๘ ฉบับการตีพิมพ์ครั้งที่ ๓ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ทับหนังสือ (๒๕๕๘)

คุณวรรณา ทรรปานนท์ ได้รับรางวัลศรีบูรพาในปี ๒๕๕๗ เธอควรได้รับรางวัล The Southeast Asian Writers Award (เริ่มให้ปี ๒๕๒๒) แต่ได้รับการขัดขวางจากนักเขียนที่เคยได้รับรางวัลนี้ มิให้เธอได้รับรางวัลดังกล่าว โดยกล่าวหาว่า เธอเขียนงานวรรณกรรมไม่ได้เรื่อง โดยที่ผู้กล่าวหา หลังจากที่ได้รับรางวัล SEA Write Award แล้ว ไม่สามารถเขียนวรรณกรรมอีกเลย ได้แต่เขียนเรื่องการทำอาหาร อีกทั้งไม่เคยได้รับการยกย่องจากวงการวรรณกรรมนานาชาติ ดุจเดียวกับที่ศรีดาวเรืองได้รับ น่าอนาถที่บรรณพิภพไทยอุดมด้วยความอิจฉาริษยา และเป็นกรรมที่ SEA Write Award มิได้ให้รางวัลแก่ศรีดาวเรือง แสดงให้เห็นว่า รางวัลนี้มีฐานะต่ำต้อยกว่ารางวัลวรรณกรรมระดับสากล

ศรีดาวเรืองได้เขียนบทความสารคดีจำนวนมาก บทความเหล่านี้ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อ อ่านแล้ว อ่านเล่า ปริทัศน์หนังสือเก่าและหนังสือหายาก (สำนักพิมพ์อ่าน ๒๕๕๗)

ภาคที่หก สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในฐานะศิลปินแห่งชาติ

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี ๒๕๕๔ แต่แล้วคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติมีมติด้วยเสียงข้างมากให้ถอดเขาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๖๔ ด้วยเหตุที่เขาออกมาวิพากษ์การบริหารรัฐกิจ และการจัดการเรื่องการฉีดวัคซีนการป้องกัน COVID-19 อย่างรุนแรง การปลดคุณสุชาติครั้งนี้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากหลาย เพราะเป็นการปลดด้วยความเห็นต่างทางการเมือง

อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า

“ศิลปินแห่งชาติเป็นเรื่องทางวัฒนธรรม บ้านเมืองที่เป็นอารยะมักจะยกย่องศิลปิน ไม่ว่าจิตรกร ประติมากร กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ฯลฯ และการที่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รับเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติ ก็เป็นเกียรติแก่ชาติบ้านเมือง การที่คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติถอดถอนเขาออกจากการเป็นศิลปินแห่งชาติ นับเป็นการกระทำที่ป่าเถื่อน และเป็นการกระทำอันบัดซบของคณะกรรมการเหล่านั้น แสดงว่า แต่ละคนไม่มีเกียรติอะไรเลย”

ในขณะเดียวกัน คุณอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง

● นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

● นายอิทธิพล คุณปลื้ม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

● นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคนอื่นๆ

โดยมีใจความสำคัญว่า การถอดถอนคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ขัดต่อพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย และเป็นการตัดสินใจที่ทำให้การพัฒนาวัฒนธรรมในประเทศไทยตกต่ำลง

ในช่วงเวลา ๕๕ ปี นับจากคุณสุชาติจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี ๒๕๐๙ คุณสุชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก เขาขยับจากพวกเสรีนิยมเอียงซ้ายเพิ่มมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งแก่ยิ่งแดง ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งก็คือ เขาก้าวร้าวมากขึ้นอีกอักโข เขามีจุดยืนประชาธิปไตยที่ชัดเจน เขาต่อต้านเผด็จการอย่างแข็งกร้าว ในประการสำคัญ เขาจะก่นประณามผู้ที่เห็นต่างจากจุดยืนของเขาอย่างเสียๆ หายๆ คนที่เคยเป็นมิตรกับเขา หากเข้าข้างรัฐบาลเผด็จการ เขาจะด่าชนิดไม่ไว้หน้า

ปัจฉิมกถา

ในชีวิตทางวิชาการของผม ผมได้เขียนหนังสืออุทิศให้ บุคคล ๔ คน ได้แก่

(๑) ทฤษฎีการภาษีอากร (สำนักพิมพ์เคล็ดไทย ๒๕๑๖)

แด่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

ผู้มีส่วนสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาเศรษฐศาสตร์ในเมืองไทย

(๒) เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยพรีเมียมข้าว (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ๒๕๓๐)

แด่ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา

เพื่อนร่วมงานที่ให้ความรู้และความเป็นมนุษย์ยิ่งกว่าที่ได้รับจากอาจารย์ท่านใด

(๓) คู่มือการเมืองไทย (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ ๒๕๔๔)

แด่ศาสตราจารย์พิเศษชาญวิทย์ เกษตรศิริ

บุคคลผู้ไม่สำคัญในวงวิชาการประวัติศาสตร์ไทย

(๔) ถนนหนังสือ (โครงการจัดพิมพ์คบไฟ ๒๕๔๓)

แด่สุชาติ สวัสดิ์ศรี

บุคคลผู้ไม่สำคัญในบรรณพิภพไทย

บรรณานุกรม

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. “วรรณคดีของศรีดาวเรือง”. นิตยสารอ่าน. ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม ๒๕๕๔ – มีนาคม ๒๕๕๕)

รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า