นักเขียนที่แท้ : โลกศิลปะของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในมุมมอง ไชยันต์ ไชยพร

c04

ไชยันต์ ไชยพร

ภาพ : อนุช ยนตมุติ

ในหน้าแรกของหนังสือเล่มนี้   เราจะพบข้อความว่า

“นักเขียนที่แท้ รวมถึงศิลปินอื่นๆ ทุกแขนง เขาต้องคิดถึงตัวเองในลักษณะเดียวกับที่ อัลแบร์ กามูส์ พูด “ฉันขบถ ดังนั้นเราจึงมีชีวิตอยู่” หมายความว่า งานในเชิงความคิดสร้างสรรค์นี่ มันกินเลือดกินเนื้อ มันต้องใช้จิตวิญญาณ เขาจะต้องไม่หยุดนิ่ง เป็นไฟที่ไม่มอด ความคิดจะจดจ่อที่ว่าเขาจะฝากผลงานไว้เป็นสิ่งอยู่คู่โลกหลังจากเขาตายไปแล้ว

ในลักษณะนี้คือการทำงานในแต่ละชิ้นของเขาก็คือการทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อนในโลกนี้  เขาจะต้องคิดในฐานะที่เป็นคนแรก ต้องพยายามต่อสู้กับตัวเองตรงนี้ นี่เองที่เขาจะต้องไม่พอใจกับสิ่งที่มันมีอยู่หรือเป็นอยู่  เขาต้องใช้พลังของเขาในการสร้างสิ่งที่ดีมากขึ้น พอใจมากขึ้น ลงตัวมากขึ้น และเมื่อเสร็จสิ้นลงไปแล้ว เขาก็จะต้องไปให้ไกลมากขึ้นอีก คือนับหนึ่งใหม่”

ลงชื่อ  สุชาติ สวัสดิ์ศรี

จากข้อความที่ว่า ผมมีประเด็นครับ  นั่นคือ

อาการของยุคสมัยใหม่และ “ความกังวลใจต่ออิทธิพล”

ฮาร์โรล บลูม ศาสตราจารย์ทางด้านมนุษยศาสตร์  ได้กล่าวถึงประเด็นของอิทธิพลทางความคิดในทางวิชาการไว้อย่างน่าสนใจ  โดยในหนังสือที่มีชื่อเสียงของเขา The Anxiety of Influence: A Theory of Poetry บลูมได้กล่าวว่า ในแวดวงวรรณศิลป์สมัยใหม่  ประเด็นเรื่องอิทธิพลทางความคิดถือเป็นปัญหาสำคัญ เพราะในการสร้างสรรค์ผลงานของนักเขียนหรือนักกวี จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างผลงานที่มีความเป็นตัวของตัวเอง (original) โดยอาศัยประสบการณ์พิเศษทางวรรณกรรมของแต่ละปัจเจกบุคคล (extraliterary experience)

แต่กระนั้น นักเขียนหรือนักกวีก็ยากที่จะปฏิเสธอิทธิพลทางความคิดของนักเขียนหรือนักกวีก่อนหน้าเขา ซึ่งบลูมสังเกตได้ว่า คนเหล่านี้มีความกังวลใจอย่างยิ่งต่ออิทธิพลทางความคิด (the anxiety of influence)  ที่เขาได้รับจากนักเขียนหรือนักกวีก่อนหน้าเขา  และจากอิทธิพลทางความคิดดังกล่าวนี้ ส่งผลให้เกิดสภาวะที่บลูมเรียกว่า “กวีในกวี” (“the poet in a poet”) อันหมายถึงสภาวะที่ยอมรับว่า แม้ว่านักเขียนและนักกวีแต่ละคนมีประสบการณ์พิเศษเฉพาะของตัวเอง แต่เขาเหล่านั้นก็ยังได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานของจากการอ่านงานของนักเขียน-นักกวีคนอื่นๆ ซึ่งทำให้การผลิตผลงานของเขาเป็นผลที่มาจากงานเขียนหรือบทกวีที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ก่อนหน้า ส่งผลให้งานของเขาไม่มีพลังและไม่เป็นตัวของตัวเอง (weak and unoriginal) ซึ่งเป็นการขาดคุณลักษณะที่แวดวงวรรณศิลป์ถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง  เพราะความคาดหวังต่อการสร้างสรรค์ผลงานในแวดวงนี้คือ นักเขียนจะต้องพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะสร้างวิสัยทัศน์ทางวรรณศิลป์ที่เป็นของตัวเองเพื่อที่จะเป็นหลักประกันให้งานของเขายืนยงอยู่จนถึงคนรุ่นต่อๆไป หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทำให้งานของเขาเป็นอมตะนั่นเอง ดังนั้น อิทธิพลของนักเขียนรุ่นก่อนที่มีความยิ่งใหญ่ย่อมสร้างความรู้สึกกังวลใจต่อนักเขียนรุ่นปัจจุบันอยู่เสมอ

ผมเข้าใจว่า ความกังวลใจในยุคสมัยใหม่ที่กล่าวมานี้ต่างจากนักคิดนักเขียนก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ (modern) หรือยุคภูมิธรรม (Enlightenment)  ผมเห็นต่างจากบลูมในประเด็นนี้   แม้ว่าในตอนแรกบลูมจะมีทรรศนะเดียวกันกับผม นั่นคือ ความกังวลใจในยุคสมัยใหม่ที่กล่าวมานี้ต่างจากนักคิดนักเขียนก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ (modern) ดังใน The Anxiety of Influence ฉบับตีพิมพ์ครั้งที่สอง (second edition) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. ๑๙๗๓ และ ๑๙๙๗  บลูมได้เขียนไว้ในบทนำ (preface) ว่า ในช่วงแรกที่เขาเขียน The Anxiety of Influence  นั่นคือช่วงฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๖๗ และต่อมามีการปรับปรุงในช่วงเวลาต่อมาอีกห้าปีก่อนจะตีพิมพ์ในปี  ค.ศ. ๑๙๗๓  ในช่วงแรกนั้น เขาเชื่อว่า อาการวิตกกังวลต่ออิทธิพลของนักเขียนก่อนหน้านั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับนักเขียนเฉพาะช่วงตั้งแต่หลังยุคภูมิธรรม (post-Enlightenment) ไปแล้วเท่านั้น แต่ต่อมาเขายอมรับว่า การที่เขาเน้นว่าอาการวิตกกังวลดังกล่าวนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงตั้งแต่หลังยุคภูมิธรรมไปนั้นเป็นความผิดพลาด อันเป็นผลจากการที่เขาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกวีที่ยิ่งใหญ่ในกระแสโรแมนติก (High Romantic poetis)  มากเกินไป

c1

ซึ่งเขาได้แก้ไขทรรศนะดังกล่าวนี้ไว้ในหนังสือ A Map of Misreading (๑๙๗๕) และหนังสือที่เขาเขียนในช่วงหลังจากนั้น  โดยเขายืนยันว่า อาการวิตกกังวลดังกล่าวนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว  โดยเขาได้อ้างว่าแม้แต่เพลโตเองก็มีอาการวิตกดังกล่าวต่ออิทธิพลที่เขาได้รับจากโฮมเมอร์  บลูมเชื่อว่า อาการวิตกนี้เกิดขึ้นเสมอกับนักคิดนักเขียนทุกยุคสมัย เพียงแต่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เข้มข้นเด่นชัดในยุคสมัยใหม่หรือยุคหลังยุคภูมิธรรม (post-Enlightenment)  ความแตกต่างของอาการวิตกกังวลนี้ระหว่างวัฒนธรรมหรือยุคสมัยที่ต่างกันเป็นเพียงแค่ความแตกต่างของระดับของความเข้มข้น หาใช่เป็นอาการวิตกกังวลที่แตกต่างกัน (a difference of degree rather than of kind between different cultures)   ดู Harold Bloom, The Anxiety of Influence: A Theory of Poetry, ibid., p. xxiv.

เพราะในยุคก่อนสมัยใหม่ โดยเฉพาะในยุคกรีกโบราณ การสร้างสรรค์ผลงานของนักคิดนักเขียนจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นจากความพยายามที่จะลอกเลียนสืบสานอิทธิพลความคิดจากคนรุ่นก่อนๆ โดยถือว่าเป็นสิ่งที่น่ายกย่องชมเชย อีกทั้งงานที่พยายามสืบสานความคิดก่อนหน้าที่ตนเขียนออกมานั้น ก็ไม่ใช้ชื่อตัวเอง (pseudo author) แต่ใช้ชื่อของนักคิดในอดีตที่ตนสมาทานยกย่อง

มีข้อสังเกตว่า นักคิดนักเขียนในยุคก่อนสมัยใหม่ที่เขียนลอกเลียนแนวความคิดของนักคิดก่อนหน้าด้วยความมุ่งมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจที่จะสืบสานและเผยแพร่แนวความคิดที่ตนชื่นชม และไม่เปิดเผยชื่อตัวเอง แต่ใช้ชื่อของนักคิดที่ตนชื่นชอบนี้ต่างจากนักเขียน (ส่วนมากในยุคสมัยใหม่) ที่ลอกงานของนักคิดคนอื่น แต่ใช้ชื่อของตน โดยไม่ให้ความเคารพนับถือหรืออ้างอิงถึง แต่แอบอ้างว่าสิ่งที่ตนเขียนนั้นเป็นความคิดของตัวเอง ด้วยความมุ่งหวังผลประโยชน์และชื่อเสียง ซึ่งเข้าข่าย “โจรกรรมทางความคิด” (plagiarism)  ส่วนงานเขียนของนักคิดนักเขียนในอดีตนั้นที่ใช้ชื่อนักคิดที่ตนชื่นชอบนั้น มุ่งหวังจะให้ชื่อและแนวการเขียนของนักคิดที่ตนชื่นชอบนั้นได้รับการสืบสานและเป็นอมตะ โดยตัวเองไม่ได้อะไรนอกจากความภูมิใจที่ได้สืบสานผลงานของนักคิดที่ตนชื่นชอบเท่านั้น

งานเขียนในแนวนี้เป็นที่รู้จักกันในฐานะ “pseudepigraphic literature”  ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณและสืบเนื่องมาจนถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการและต้นยุคสมัยใหม่ (Renaissance and early Modern)  สำหรับในช่วงยุคกรีกโบราณ ดู    The Oxford Classical Dictionary, edited by N.G.L. Hammond and H.H. Scullard, 2nd edition, (Oxford: Oxford University Press: 1970, 1989), “Pseudepigraphic Literature”,  p. 894.  สำหรับตัวอย่างของงานเขียนประเภทนี้ในยุคต้นสมัยใหม่ ดู Jennifer M. Rampling, “Transmission and Transmutation: George Ripley and the Place of English Alchemy in Early Modern Europe,”  Early Science and Medicine 17 (2012), Koninklijke Brill NV, Leiden, 2012, p. 480.

s+k

ซึ่งทรรศนะที่แตกต่างกันต่ออิทธิพลทางความคิดนี้เป็นผลที่เกิดจาก “วิวาทะระหว่างผู้ที่นิยมภูมิโบราณกับผู้ที่นิยมภูมิปัญญาสมัยใหม่” (the Quarrel between the Ancients and the Moderns) ในศตวรรษที่สิบเจ็ดของยุโรปนั่นเอง  โดยฝ่ายแรกเชื่อว่า ศิลปะวิทยาการในภูมิปัญญาโบราณเป็นสิ่งที่ดีสมบูรณ์ที่สุดแล้ว  ส่วนฝ่ายหลังเชื่อว่าศิลปะวิทยาการความรู้จะเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปอยู่เสมอ และการวิวาทะนี้ลงเอยด้วยชัยชนะของผู้ที่นิยมภูมิปัญญาสมัยใหม่

จากประเด็น “ความกังวลใจ” ที่กล่าวไปนี้ กล่าวได้ว่า นักวิชาการตะวันตกในสาขาอื่นๆนอกจากสาขาวรรณกรรม ต่างก็ตกอยู่ในสภาวะ “กังวลใจต่ออิทธิพลความคิดของนักวิชาการก่อนหน้า” ด้วยเช่นกัน แต่อาจจะไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับนักวิชาการในสาขาวรรณศิลป์หรือนักวิชาการที่ต้องการได้รับการยอมรับว่าเป็น  “นักเขียน” “กวี” หรือ “ศิลปิน” ที่แท้จริง

แต่กระนั้นก็ตาม มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นักวิชาการทางด้านสังคมศาสตร์ที่โดดเด่นมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจะต้องเป็นผู้ที่สามารถคิดค้นหรือสร้างสรรค์กรอบแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆขึ้นมามากกว่าที่จะทำวิจัยอะไรมากมายภายใต้กรอบแนวคิดทฤษฎีที่นักวิชาการคนอื่นๆคิดค้นไว้ก่อนแล้ว  ความโหยหา “สิ่งใหม่ๆ” หรือ “ความกังวลใจที่ไม่สามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆ”  นี้จึงเป็นประเด็นที่ว้าวุ่นอยู่ในใจของนักวิชาการตะวันตกภายใต้อิทธิพลของยุคสมัยใหม่อยู่เสมอ ไม่มากก็น้อย รวมทั้งสภาวะของความ “ต้องการอะไรใหม่ๆ” ก็ยังเป็นความคาดหวังที่นักศึกษาและผู้สนใจโดยทั่วไปในสังคมสมัยใหม่มีต่อนักวิชาการด้วย

01

แม้ว่านักวิชาการไทยภายใต้อิทธิพลสมัยใหม่จะตกอยู่ภายใต้สภาวะ “ความกังวลใจ” ดังกล่าวเช่นเดียวกันกับนักวิชาการตะวันตก  แต่ก็ไม่ได้หนักหนาสาหัสเท่ากับนักวิชาการตะวันตกในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดความเป็นสมัยใหม่   เพราะนักวิชาการไทยสามารถมี “ความใหม่” ได้จากการไปศึกษาหาความรู้ในโลกตะวันตกและนำเข้า “แนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ” จากนักวิชาการตะวันตก  ขณะเดียวกัน หากนักวิชาการไทยคิดค้นสร้างสรรค์ “อะไรใหม่ๆ” ขึ้นมาได้เอง ก็ดูเหมือนจะเป็นการยากที่จะได้รับการยอมรับจากวงวิชาการตะวันตก ยกเว้นเสียในสาขาด้านการแพทย์หรือทางวิทยาศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลชั้นต้นที่เป็นเรื่องไทย เช่น ศิลปะ-โบราณคดี-ประวัติศาสตร์ไทย ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ ในสาขาสังคมศาสตร์ของไทย นักวิชาการจึงไม่ได้ตกอยู่ในสภาวะแห่ง “ความกังวลใจต่ออิทธิพลทางความคิด (the anxiety of influence)”  โดยเฉพาะในทางปรัชญา-ทฤษฎี ที่เขาได้รับจากนักคิดหรือนักวิชาการก่อนหน้าเขา หรือกังวลใจที่ต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนักวิชาการตะวันตกเท่าไรนัก  และไม่มีปัญหาอะไรมากนักกับสภาวะ “นักทฤษฎีในนักทฤษฎี” (the theorist in a theorist) เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในกรณี “กวีในกวี” ที่บลูม (Harold Bloom) ได้กล่าวไว้ หรือหากผมจะปรับประเด็นของบลูมมาเป็น “นักทฤษฎีในนักทฤษฎี” ในวงการวิชาการสังคมศาสตร์ตะวันตกก็ย่อมไม่ถือว่าเป็นการผิดประหลาดแต่ประการใด

ในงานเขียนของคุณสุชาติ เรื่อง “ห้องเสน่หา” ผมรู้สึกถึงอาการของ “นักเขียนในนักเขียน”  จากคำกล่าวในหน้า ๑๑-๑๒  ที่ว่า

“ตรงนั้นเป็นเหมือนจุดกึ่งกลางระหว่างชั้นล่างกับชั้นบนที่บางครั้งเขานึกไปว่า หนังสือทุกเล่มในบ้านพร้อมเสมอที่จะหล่นลงทับเขา และเขาก็จินตนาการไปว่าเขาสิ้นใจตายอยู่ตรงนั้น มันคงเป็นการตายที่แปลกประหลาดเอาการ เพราะหนังสือบนช่องต่างๆจะหล่นลงมาทับเขา และหนังสือเล่มที่เป็นเหตุให้เขาขาดใจตายคงจะได้แก่หนังสือศิลปะที่ทั้งหนาและหนักทั้งหลาย  แต่ละเล่มของหนังสือปกแข็งพวกนี้มีน้ำหนักอย่าบอกใครเชียว”

07

ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่า ผมจะไม่ได้อ่านงานของ กามูส์ มากมายอะไร อ่านเพียงเล่มเดียวเท่านั้น นั่นคือ “คนนอก”  แต่กระนั้น ผมก็ขอสารภาพอย่างคนไม่ประสา กามูส์ และไม่ประสา นักเขียน ระดับโลกจำนวนมากด้วย  แต่ผมรู้สึกถึง “กามูส์” ใน “คุณสุชาติ”   เพราะคุณสุชาติบรรยายความเหมือนที่ กามูส์ บรรยายเมอร์โซ ใน คนนอก  ถ้าพวกเราจะลองอ่านเนื้อความที่เหลือนอกเหนือไปจากที่ผมยกมาเมื่อตะกี้ ผมว่า มีบรรยากาศกลิ่นอายของ กามูส์ อยู่เต็มไปหมด หรืออาจจะมีของคนอื่นๆ อีก โดยที่ผมไม่รู้ ไม่ประสา  แต่แน่นอนว่า ทั้งหมดนั่นคือ คุณสุชาติ อยู่ในนั้นด้วยตลอด !

ห้องเสน่หา  เสน่หาอะไร ?

นอกจาก อาการของยุคสมัยใหม่และ “ความกังวลใจต่ออิทธิพล” ซึ่งเข้าใจว่า คุณสุชาติย่อมต้องมีอยู่บ้าง  มิฉะนั้น คงไม่เขียนข้อความที่ผมกล่าวไปในตอนต้นในเรื่อง นักเขียนที่แท้ และความเป็นขบถ โดยอ้างอิง กามูส์   ผมยังรู้สึกถึงความน่าสนใจใคร่พินิจกับการตั้งชื่อข้อเขียนอีกชิ้นที่เพิ่งอ้างไปล่าสุด นั่นคือ ห้องเสน่หา  ซึ่งแกกำกับภาษาอังกฤษไว้ด้วยว่า passion of  love       

ห้องที่ว่าของแกนี้ คือ ห้องเก็บของ และเข้าใจว่า น่าจะเป็น ของรัก ของคุณสุชาติ ซึ่งคุณสุชาติตระหนักดีว่า ในสายตาของคนบางประเภท สิ่งเหล่านี้ถูกเรียกว่า สมบัติบ้า  สมบัติบ้า ของคนอื่น หรือ ของรัก ของคุณสุชาติที่อยู่ในห้องที่ว่านี้ ได้แก่  หลากหลายประเภทของหนังสือ นิตยสาร หนังม้วนวิดีโอ หนังแผ่นวีซีดี หนังแผ่นดีวีดี  เครื่องเสียงรุ่นพระเจ้าเหาที่เล่นได้ทั้งแผ่นวีซีดีและตลับเทป และ ไฟฉาย

และผมเชื่อว่า ต้องมีผลงานของ กามูส์ อยู่ในห้อง นั้นไม่น้อย  และการที่ กามูส์  อยู่ใน ห้องเสน่หา ของคุณสุชาติ  ก็น่าจะส่งผลให้ กามูส์  ไปอยู่ ใน ห้องหัวใจ ของคุณสุชาติ ด้วย  ดังที่ผมรู้สึกถึง กามูส์ ใน  สุชาติ

 

02

แน่นอนว่า นอกจาก กามูส์ แล้ว  ในห้องนั้นก็มี ผลงานของ นักคิด นักเขียน ศิลปิน อีกจำนวนมาก  ดังความตอนหนึ่งที่คุณสุชาติ เขียน ถึง ภวังค์หนึ่ง ใน ห้องเสน่หา เกี่ยวกับ ใครสักคนหรือตัวแกเอง ที่ คิดว่า

“ควรเตรียมตัวตายอย่างไรดี”

และในขณะที่กำลังคิดว่า ควรเตรียมตัวตายอย่างไรดี  เขา คุณสุชาติ หรือใครคนนั้นก็

“เอามือคลำไปตามผนังชั้นหนังสืออีกครั้ง ถ้าไม่มีลำแสงจาก ไฟฉาย  ห้องสี่เหลี่ยมทั้งห้องคงจะมือสนิทไม่ผิดไปจาก คุกใต้ดิน  ว่าไปมันก็เหมือน ห้องขัง  ที่ขังเขาไว้กับผู้คนที่ตายไปหมดแล้ว  ดอสโตเยฟสกี้-ตอลสตอย-โมปัสซังต์-คาฟก้า จอยซ์-ริลเก้-เฮสเส-กามู-มาซานซาฆิส-ภาสกรวงศ์-ครูเหลี่ยม-บ.กากะบาด-ศรีบูรพา-อากาศดำเกิง-เหม เวชกร-มนัส จรรยงค์-ไม้ เมืองเดิม-ป.อินทรปาลิต ต่อมาก็มี ฟานก๊อก โกแกง มิโรมักซ์ แอร์นท์ แมนเรย์ โอคีฟ พอลลอค ตามมาด้วย แชปปลิน บุนเยส ทรุฟโฟต์ เบิร์กแมน เฟลินี คุโรซาวา โอสุ ทาร์คอฟสกี้ ไอเซนสไตน์      พวกที่เอ่ยมานี้ และยังมีที่ตามมาอีกนับไม่ถ้วนเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนตายไปหมดแล้ว เหลือไว้ก็เพียงทัศนียภาพอันแปลกตาของค่ำคืนที่ไฟฟ้าดับ”   (หน้า ๑๗)

ในการเขียน ข้อความ ใน หน้า ๑๗ ที่ผมเพิ่งอ่านไป  คุณสุชาติ แกตั้งใจเขียนให้ชื่อทั้งหลายทั้งปวงของคนตายเหล่านั้นติดกันเป็นพืดไปหมด  จนถ้าหากคนที่เห็น ของรัก ของคุณสุชาติ เป็น สมบัติบ้า ก็อาจจะอ่านข้อความตะกี้ตะกุกตะกัก ได้ความเช่นว่า

ดอ -สะโต

เย-ฟส

กี้-ตอล

สะตอ ยะโม

เก้-เฮ-

สะเส-กา

มู-มา

ครูเหลี่ยม บ.กากะบาดศรี

บูรพา-อากาศ……

ฟาน

ก๊อก

โก

แกงมิโรคุ

โรซา วาโอสุ

ส่วน ไอเซนสไตน์    นั้นเค้าคงส่ายหน้าและหัวเราะขำๆ และคิดว่าคุณสุชาติคงสะกดผิด  โดยเค้าจะแก้ให้ถูกเป็น ไอสไตน์

อย่างไรก็ตาม  หากพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง  เราอาจมีข้อสงสัยหรือคำถามว่า ของรัก ที่ว่าของคุณสุชาตินี้ คืออะไรกันแน่ ระหว่าง รักเสน่หา ใน หนังสือ ชิ้นงานที่ บันทึกอะไรบางอย่าง ไว้ หรือ รักเสน่หา ใน อะไรบางอย่างที่ถูกบันทึก ??!!

viang

รัก ใน ความรู้ หรือ รัก ใน เงา ของ ความรู้
หรือ รัก ใน ความรู้ (สึก) หรือ ที่เรียกว่า อารมณ์

มีประเด็นที่น่าสนใจในการเชื่อมโยงเรื่องของคุณสุชาติ กับ ตอนที่ว่าด้วย กวีศิลป์ ในบทสนทนา the Republic ของ เพลโต

“ในลักษณะนี้คือการทำงานในแต่ละชิ้นของเขาก็คือการทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อนในโลกนี้  เขาจะต้องคิดในฐานะที่เป็นคนแรก ต้องพยายามต่อสู้กับตัวเองตรงนี้ นี่เองที่เขาจะต้องไม่พอใจกับสิ่งที่มันมีอยู่หรือเป็นอยู่  เขาต้องใช้พลังของเขาในการสร้างสิ่งที่ดีมากขึ้น พอใจมากขึ้น ลงตัวมากขึ้น และเมื่อเสร็จสิ้นลงไปแล้ว เขาก็จะต้องไปให้ไกลมากขึ้นอีก คือนับหนึ่งใหม่”

จะเห็นได้ว่า กวีหรือนักเขียน ก็คือ ผู้สร้าง หรือ create ในสิ่งที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งก็ตรงกับคำว่า poiesis ที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า poet และ poetry

จากที่กล่าวมา เราจึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ห้องเสน่หา passion of love, love of อะไร ?  ระหว่าง love of representation of knowledge (วัตถุตัวแทนของความรู้) หรือ love of knowledge (ความรักในความรู้)?

c2

และถ้าจะพิจารณา นักเขียน กวี ในแบบที่เพลโตกล่าวถึง poet ในฐานะที่ผู้เสกสรรสร้างอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าความรู้ เราก็อดจะคิดไม่ได้ว่า การที่คุณสุชาติเขียนว่า

ห้องสี่เหลี่ยมทั้งห้องคงจะมืดสนิทไม่ผิดไปจาก คุกใต้ดิน  ว่าไปมันก็เหมือน ห้องขัง  ที่ขังเขาไว้กับผู้คนที่ตายไปหมดแล้ว       

คุณสุชาติคงสร้างเรื่องขึ้นมา  เพราะคุณสุชาติไม่เคยอยู่ในคุกใต้ดินจริงๆ  และคุณสุชาติไม่เคยไปอยู่ในห้องขังที่แกถูกขังไว้กับผู้คนที่ตายไปหมดแล้ว !!

เพลโตตามแบบที่นักวิชาการไม่น้อยเข้าใจก็คงจะชวนให้เราคิดว่า เราจะไปหาความรู้ ความจริงอะไรกับการเสกสรรปั้นแต่ง (poesis/create)  ของคุณสุชาติได้! คุณสุชาติเอาอารมณ์ ของตัวเองหรือที่ตนสร้างขึ้นรู้สึกขึ้นมาขายทอดตลาด ให้คนรู้สึกเหมือนคุณสุชาติ เหมือนเหล็กที่กลายเป็นแม่เหล็ก หลังจากสัมผัสแม่เหล็กไปเรื่อยๆ เหล็กที่กลายเป็นแม่เหล็กก็จะทำหน้าที่ขยายผลขยายพันธุ์อารมณ์ของคุณสุชาติต่อๆๆๆติดกันไปเรื่อยๆ เพื่อเป้าหมายอะไรก็ไม่รู้  ไม่ต่างจากคนที่ดูละครน้ำเน่า แล้วพาหัวเราะ ร้องไห้ โกรธแค้น ชิงชัง ร่วมกันทั่วประเทศ หรือ อ่าน จดหมายของแวเธอร์ แล้วพากันฆ่าตัวตาย  หรือ อ่าน Communist Manifesto แล้วเกลียดคนบางพวก แล้ว ออกมาปฏิวัติ  หรือฟังเพลง หนักแผ่นดิน แล้วเห็น คนบางจำพวก  เป็นศัตรู เป็นคนชั่วช้าสามานย์ ขึ้นมาทันทีทันใด

แต่กระนั้นตัวผมเองก็ไม่สามารถปฏิเสธตัวเองว่า มีบางท่อนของบางเพลงที่ผมชอบมาก นั่นคือ โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่  เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน !   แต่แค่นั้น นะครับ ไม่ไปต่อมากกว่านั้นเพราะชอบแค่นั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามอารมณ์ความรู้สึกจากการอ่านงานของคุณสุชาติ เราอาจจะรู้สึกหดหู่ สิ้นความหวัง ไร้ศรัทธา ไม่มีอนาคต มีแต่ภวังค์เฉพาะหน้า  อันเป็นอาการของ “โรคประจำศตวรรษ” (Mal de Siecle /the malady of the century) อย่างที่มีคนกล่าวถึงคุณสุชาติ

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง  การสร้างสีสันและอารมณ์ก็อาจจะช่วยขับดันให้เห็นอะไรที่โดดเด่นชัดขึ้นโดยมี อารมณ์สร้าง  เป็นตัวช่วย เป็นพลังในการขับเคลื่อน ให้เข้าถึงอะไรบางอย่าง

s3

แง่มุมต่างๆ ที่ถูกสร้าง ไม่ใช่สิ่งที่ไร้แก่นสารเสียทีเดียว เพราะตัวตนของมนุษย์ตั้งแต่แรกลืมตาเห็นโลกนี้  อยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าของ มุมมองส่วนตัวที่เขามี เห็น สัมผัส รู้สึก ต่อโลก ตามจุดต่างๆ ที่เป็นของเขาเท่านั้น ที่เขาเคลื่อนไหวไปมา มีชีวิตอยู่  อันเป็นตำแหน่งแห่งที่ ที่ไม่ซ้ำ และไม่สามารถซ้ำกับของใครคนอื่นได้  ในบางครั้ง เป็นได้ว่า เขาอาจจะยืนอยู่ร่วมกับอีกหลายๆ คน นับร้อย นับพัน นับหมื่น และบางครั้งนั้น เขาก็อาจมีมุมมองที่ ร่วม กับคนจำนวนมาก  แต่เพียง ร่วม ไม่ใช่ ซ้ำหรือเหมือนกันได้

แต่ด้วยตัวตนความเป็นมนุษย์ เขาย่อมจะกลับมาที่จุดส่วนตัวของเขาเสมอ  หากหลักการใดที่มีคนอื่นๆ มาบังคับให้เขาต้องสูญเสียความเป็นส่วนตัวนี้ ก็เท่ากับว่าเขากำลังถูกทำลายตัวตนความเป็นมนุษย์ โดยฝีมือคนเหล่านั้น  ที่สูญเสีย ความเป็นมนุษย์ไปก่อนหน้า

แน่นอนว่า เขา และ มนุษย์ แต่ละคน คือ อณู  แต่ อณู ที่ว่านี้ มีคุณภาพที่ไม่เหมือนไม่ซ้ำกัน เป็น อณู ที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิต จิตใจ มีประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึก ที่แตกต่าง หลากหลาย น่าตื่นเต้นและน่าพิศวง เป็นปรากฏการณ์ที่วิจิตรพิสดารเกินกว่าจะเป็นเพียงฝีมือของพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว  อีกทั้งที่ผ่านมาพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวนั้นก็ทำงานหนักเสียจนมรณภาพไปแล้วพร้อมกับ กามูส์ และ นักเขียนมีชื่อและนิรนามอีกไม่ทราบจำนวน

สาเหตุการมรณภาพของพระองค์ อาจจะเกิดจากการที่พระองค์พยายามจะทำ หรือเป็นฝ่ายที่ถูกทำให้ทำก็ตาม

จะว่าไปแล้ว ปรากฏการณ์อันวิจิตรพิสดารที่ยากจะสรุปให้เป็นแบบแผนอันมีตรรกะและเหตุผลได้นี้ น่าจะเป็นฝีมือของพระผู้เป็นเจ้าหลากหลายองค์จนนับไม่ถ้วน ทั้งเล็ก ทั้งใหญ่ กลาง สูง ต่ำ ดำ ขาว เหลือง แดง  ล้านห้า หกเก้า

และ พระผู้เป็นเจ้านานับไม่ถ้วนนี้ก็คือ มนุษย์แต่ละคนนี่เอง ที่ต่างคนต่างเดินในเส้นทางชีวิต ขับเคลื่อนผ่านจุดยืนและมุมมองที่ไม่ซ้ำกันของตน ประกอบสร้างกันขึ้นมา บางครั้งรู้ตัว และหลายครั้งก็ไม่รู้ตัว อันนำมาซึ่งภาพยนตร์ชีวิตที่ไม่มีผู้กำกับ  แต่เป็นหนังที่ทุกคนเป็นผู้แสดงและเป็นผู้กำกับ แย่งกันกำกับบ้างและยอมให้ถูกกำกับบ้าง  หากใครบางคนหรือหลายๆ คนพยายามที่จะสถาปนาแบบแผนและตรรกะเหตุผลให้กับการเดินเรื่องของหนังเรื่องนี้ หนังอันวิจิตรพิสดารนี้ ก็จะถูกตอน ถูกตัดแต่งพันธุกรรม ถูกจัดระเบียบ จัดประเภท จนกลายเป็น หนังน้ำเน่าประจำประวัติศาสตร์มนุษยชาติ  เพราะดูเหมือนว่า ทุกศตวรรษที่ผ่านมา จะมีคนพยายามทำหนังแบบนี้มาตลอด นับตั้งแต่ที่พวกเขากระทำต่อโสเครติส Jesus และเรื่อยมาจนถึงเมอร์โซและคุณสุชาติ และอีกหลายๆ คน

c5

***********************************

(หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทปาฐกถา “นักเขียนที่แท้” โลกศิลปะของ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ในมุมมอง ไชยันต์ ไชยพร  ในพิธีปิดนิทรรศการศิลปะครั้งที่ 7  “ก่อนเวลาลับหาย” ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 ณ หอศิลป์ G 23 ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า