“ผมโคตรเบื่อที่จะกลัว” รังสิมันต์ โรม ผู้ท้าชนคนมีสีและขบวนการค้ามนุษย์

การเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา จากการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรแบบไม่ลงมติของ รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ทำให้สังคมไทยตื่นตะลึงไปกับข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังของกลุ่มอาชญากรในเครื่องแบบ และยังเป็นการพยายามคืนศักดิ์ศรีครั้งใหญ่ให้ตำรวจน้ำดีผู้เคยทำคดีนี้อย่าง พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าทีมสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ทว่าก่อนจะมาสู่การอภิปรายครั้งสำคัญนี้ โรมต้องผ่านกระบวนการทำงานอย่างหนัก ตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลไปจนถึงการเตรียมสภาพจิตใจหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น

แม้บนเวทีรัฐสภาจะมีโรมเป็นผู้ลุกขึ้นอภิปรายเพียงผู้เดียว แต่แน่นอนว่าโรมไม่ได้ทำงานโดยลำพัง หากเขยิบมุมมองถอยมาจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะพบว่าในห้องทำงานของโรมเต็มไปด้วยทีมงานอีกหลายชีวิต ทั้งทีมจัดตารางการทำงาน ทีมหาข้อมูล ทีมสื่อสาร ไปจนถึงทีมประสานงานภายนอก ซึ่งต่างทุ่มเทให้กับการอภิปรายครั้งนี้ชนิดหามรุ่งหามค่ำ ลากยาวเป็นสัปดาห์ภายใต้สภาวะแรงกดดันและความตึงเครียดหลากหลายประการแตกต่างกันไป

WAY มีโอกาสได้จับเข่าคุยกับโรมที่อาคารรัฐสภา ได้เห็นภาพเบื้องหลังการทำงานของ ส.ส. คนหนึ่งในฐานะของตัวแทนประชาชน ได้ถามไถ่ถึงความรู้สึกในห้วงเวลาทั้งก่อนและหลังการอภิปรายอันสะเทือนวงการสีกากี โดยเฉพาะความรู้สึกของโรมเองต่อภารกิจที่หนักหน่วงและท้าทาย รวมไปถึงเรื่องราวในอดีตจากนักกิจกรรมสู่เส้นทาง ส.ส. และร่องรอยความทรงจำกว่าที่เขาจะมาเป็นโรมในทุกวันนี้

ในช่วงเวลานั้นทำไมจึงยกประเด็นเรื่องค้ามนุษย์กับกรณีการลี้ภัยของ พล.ต.ต.ปวีณ ขึ้นมาอภิปราย

ตั้งแต่ผมเติบโตมาจากการเป็นเยาวชนจนเรียนจบมหาวิทยาลัย ผมพบว่าคนไทยจำนวนมากเวลามองโรฮิงญาจะมีความรู้สึกเหมือนไปดูถูกเขา โดยเฉพาะตอนที่พวกเขายากลำบาก ต้องหาที่ลี้ภัย จะมีคำพูดประเภทว่า “คุณก็รับไปอยู่ในบ้านของคุณเองสิ” พูดราวกับว่าคนโรฮิงญาเป็นสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่คน ไม่ใช่มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับพวกเรา ประกอบกับช่วงที่ผมเป็นนักกิจกรรม (Activist) ก็พบว่า มันมีข่าวเกี่ยวกับกรณีที่ตำรวจคนหนึ่งลี้ภัยหลังจากที่เขาเข้าไปสืบสวนคดีการค้ามนุษย์ ซึ่งตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นตำรวจแบบไหน แต่คิดในใจว่า คงเจอตอ

สองเรื่องนี้ทำให้ผมติดใจมานานแล้ว เคยคิดถึงขนาดว่าวันหนึ่งเราอยากจะทำเรื่องนี้ ทีนี้ในพรรคเราก็มีนักสิทธิมนุษยชนหลายคนตั้งแต่สมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะคุณช่อ (พรรณิการ์ วานิช) ก็พยายามจับเรื่องนี้มาโดยตลอด เราก็เอามรดกที่เขาเคยทำไว้มาใช้ในการทำงานต่อ

นี่คือโอกาสที่เราจะได้ทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้ง ความตั้งใจของผมมี 2 อย่าง คือ หนึ่ง ผมต้องการคืนศักดิ์ศรีให้กับคุณปวีณ ตอนที่ผมคุยกับเขา คุณเชื่อมั้ย ผมไม่เคยรู้จักเขามาก่อน แต่พอคุยเสร็จผมก็รู้สึกว่า ผมต้องคืนศักดิ์ศรีให้เขา เพราะเขาเองก็คงจะรู้สึกว่า เฮ้ย กูพยายามทำเพื่อประเทศนี้ นี่คือผลตอบแทนเหรอ แล้วถ้าคนลืม ไม่สนใจ สุดท้ายเขาก็กลายเป็นแค่ตำรวจแก่ๆ คนหนึ่งที่ลี้ภัยเหรอ ผมจึงรู้สึกว่าผมอยากจะคืนการจดจำใหม่ที่สังคมไทยต้องจดจำตำรวจคนนี้อีกแบบให้ได้

ความตั้งใจที่สอง ด้วยความที่ต้องทำงานเฉียดคุกเฉียดตะราง ก็คิดเหมือนกันว่าวันหนึ่งเราจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยเองหรือเปล่า แล้วเราจะถูกปฏิบัติแบบโรฮิงญาไหม โดยหลักการก็คือถ้าเราไม่อยากให้คนอื่นทำแบบนั้นกับเรา เราก็ไม่ควรจะทำแบบนั้นกับใคร ผมเลยอยากจะคืนความเป็นธรรม คืนความเข้าใจให้กับคนไทยว่า จริงๆ ชาวโรฮิงญาคือเหยื่อ เขาเป็นเหยื่อในประเทศของเขาเองที่ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แล้วตอนนี้เขาเป็นเหยื่อที่ไม่ต่างอะไรกับทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยใช้เขาเพื่อแสวงหารายได้ รายได้เหล่านี้เจ้าหน้าที่รัฐได้มาแล้วก็เอาไปซื้อตั๋วเพื่อสร้างบารมี สร้างตำแหน่งให้มันเติบโตขึ้น พอเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นก็คอร์รัปชันได้มากขึ้น แล้วก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก ประเทศไทยมันอยู่แบบนี้ไม่ได้

ทั้งหมดนี้ผมเลยรู้สึกว่า พอเรารวบรวมข้อมูลเพียงพอ พอเราทำทุกอย่างครบถ้วน และผมมั่นใจว่าข้อมูลที่ผมได้รับมาเพียงพอที่จะใช้ได้ ก็เลยนำไปอภิปรายทั่วไปในสภา 

ช่วยอธิบายอีกครั้งว่า ‘ตั๋วช้าง’ กับประเด็นการค้ามนุษย์เกี่ยวข้องกันอย่างไรบ้าง

คือมันเป็นคำถามง่ายๆ เลยว่า ทำไมตำรวจต้องใช้เงินเยอะ ก็เพราะว่าคุณต้องการตำแหน่งที่สูงขึ้น ถ้าคุณไม่จ่าย คุณก็ไม่ได้ตั๋ว แล้วก็ไม่ได้เลื่อนขั้น หรือถ้าได้เลื่อนขั้นก็ได้ไปอยู่ในที่ที่คุณไม่อยากจะไป ทีนี้พอคุณต้องใช้เงิน แล้วเงินมาจากไหน จะไปซื้อสลาก หรือจะไปคุมบ่อน หรือทำธุรกิจผิดกฎหมายอื่นๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีศักยภาพในการทำธุรกิจผิดกฎหมายไม่เหมือนกัน 

แน่นอนว่าบางพื้นที่ไม่ได้มีเรื่องหวยหรือบ่อน แต่อาจจะเป็นเรื่องของการค้าทาส ค้าน้ำมันเถื่อน อาจจะเป็นเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องการแสวงหารายได้จากคนที่หลบหนีเข้าเมือง ดังนั้นธุรกิจผิดกฎหมายอะไรแบบนี้จึงมีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้ตัวเองเติบโตทางราชการและการเมือง ถ้าไม่มีเงินพวกนี้เขาเติบโตไม่ได้ นี่คือสิ่งที่มันเกี่ยวพันกัน

แล้วถามว่า พอคุณเติบโตทางการเมืองแล้วบางทีอาจจะไม่พอ คุณอาจจะอยากเข้าบางมูลนิธิเพื่อจะได้เป็นใหญ่เป็นโตต่อไป ทั้งหมดนี้เกี่ยวพันกันหมด เราอยู่ในสังคมที่เห็นอยู่ตรงหน้าว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นการคอร์รัปชัน วันนี้ผมตอบได้หมดว่ามันมีสาเหตุจากอะไร แต่ว่าผู้มีอำนาจไม่นำพาที่จะแก้ปัญหานี้ เพราะเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่มันเป็นอยู่ 

รู้สึกอย่างไรตอนที่เห็นข้อมูลการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา 

เชื่อไหมว่าตอนแรกที่เห็นข้อมูลนี้ ผมคิดว่ามันน่าจะง่ายนะเมื่อเทียบกับการอภิปรายก่อนหน้านี้ เพราะตอนอภิปรายเรื่องตั๋วตำรวจ ความยากสำหรับผมคือว่า ผมไม่ได้เป็นตำรวจ ผมไม่รู้เลยว่าโครงสร้างตำรวจเป็นยังไง พอมาจับเรื่องนี้ผมก็ต้องศึกษา ต้องเตรียมตัว ใช้เวลาเป็นปี แต่พอเรามาดูเรื่องโรฮิงญา มันเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งโอเค เราเข้าใจ แล้วก็มีประสบการณ์จากการอภิปรายเรื่องตั๋วตำรวจ ทำให้ผมเข้าใจโลกของตำรวจระดับหนึ่ง วันนี้ผมรู้หมด ผมเจอตำรวจ ถามชื่อเขา บางทีผมยังคิดเลยว่า มึงได้ตั๋วหรือเปล่า เพราะผมมีรายชื่อคนที่เคยได้ตั๋วมาเป็นพันชื่อเลย รวมได้เกือบ 2,000 ชื่อ เพราะฉะนั้นมันจึงเกี่ยวข้องกับตำรวจจำนวนมาก

แล้วตำรวจผู้มีอำนาจทั้งหลาย ตำรวจที่ไปสลายม็อบทั้งหลาย จำนวนไม่น้อยก็อยู่ในรายชื่อเหล่านี้ พอผมถามชื่อปุ๊บ อ๋อ ตั๋วจากใคร เด็กใคร ผมรู้แล้ว มันเลยทำให้ผมทำเรื่องนี้ง่ายขึ้น แต่ความหนักใจที่สุดของเรื่องนี้คือ ผมกลัวว่าจะคืนศักดิ์ศรีให้คุณปวีณไม่ได้ ตอนที่คุยกัน น้ำตาหยดแรกไม่ได้เกิดจากที่ผมดูสารคดีของอัลจาซีราห์ (Al Jazeera) นะ แต่น้ำตาหยดแรกเกิดขึ้นจากการที่ผมคุยกับคุณปวีณ แล้วถามว่า “คุณปวีณกำลังทำอะไรอยู่ เป็นห่วงครอบครัวมั้ย แล้วรู้มั้ยว่าถ้าผมพูดแบบนี้ไป ภัยอันตรายใดๆ จะเกิดขึ้นกับคุณปวีณมากกว่าเดิม” สิ่งที่ผมพูดอาจจะไม่ได้ทำให้คุณปวีณสุขสบายขึ้น เพราะถ้ามันไม่มีการแก้ปัญหาเกิดขึ้น คุณปวีณอาจจะโดนหนักกว่านี้ และอาจจะหมายถึงครอบครัวของคุณปวีณซึ่งยังอยู่ประเทศไทยอาจจะโดนหนักขึ้นด้วย แต่พอเราคุยกันแล้วเห็นความแน่วแน่ของเขา มันกลายเป็นว่าเรื่องนี้ยากกว่าที่เราคิดในเชิงความรู้สึก

เล่าให้ฟังหน่อยว่า ไปเริ่มพบเจอกับคุณปวีณได้อย่างไร

หนึ่ง พรรคก้าวไกลพยายามจับเรื่องนี้มาตลอด จริงๆ แล้วปี 2563 เราพยายามทำเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์มาแล้ว คนที่อภิปรายเรื่องนี้ในตอนนั้นคือคุณปกรณ์วุฒิ (ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล) ซึ่งเป็น ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ และเป็น ส.ส. พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน เราก็มีคนที่สามารถติดต่อคุณปวีณได้อยู่แล้ว ในวันนั้นต้องยอมรับว่าข้อมูลที่เรามียังไม่มากเท่านี้ แต่เราก็พยายามพัฒนา พยายามพูดคุย ไปจนถึงขนาดที่ว่าคุณปวีณก็พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลมากกว่าเดิม

สอง ต้องยอมรับว่าเวลาที่คุณปวีณเปิดมากขึ้นๆ ตัวเขาก็มีความเสี่ยงที่มากขึ้น และแน่นอนว่าตอนให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีราห์คือเปิดเยอะแล้ว หมดหรือเปล่าไม่รู้ แต่ก็เปิดเผยมากกว่าที่เคยเปิดมา มันก็ยิ่งทำให้ความเสี่ยงนี้เพิ่มขึ้น คุณปวีณเองก็เรียนรู้จากสถานการณ์ว่า ถ้าเก็บไว้ต่อไปก็ไม่ได้ส่งผลดีอะไร สู้เปิดให้หมด แล้วให้สังคมไทยตัดสิน เป็นการท้าทายว่าสังคมไทยจะจัดการกับเรื่องนี้ยังไง มันอาจจะดีที่สุดสำหรับวุฒิภาวะของสังคม อย่างน้อยที่สุดถึงแม้เราอาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรที่เป็นรูปธรรมตอนนี้ไม่ได้ แต่มันอาจจะทำให้สังคมไทยรู้สึกว่า ถ้าจะเดินหน้า จะไม่เดินหน้าแบบที่จะมีรัฐบาลเช่นนี้อีกแล้ว ผมยืนยันว่าวันนี้ถ้าจะแก้ปัญหาสถานการณ์การค้ามนุษย์ ผมนึกไม่ออกเลยว่าเราจะทำได้ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อย่างไร

แบบนี้เหมือนกับเราไปให้ความหวังคุณปวีณหรือเปล่า

มันไม่ใช่การไปให้ความหวังเขา มันคือสิ่งที่เรารู้ว่าถ้าเราผิดพลาดนิดเดียว ความตั้งใจที่เราจะทำมามันจะสูญเปล่าหมดเลย คุณนึกออกมั้ยว่าประเทศนี้ไม่อนุญาตให้ ส.ส. มีอำนาจอะไรเลยนอกจากโหวตตามที่เขาต้องการ แล้วประเทศนี้เราจะไปค้นหาข้อมูลต่างๆ เองคือลำบากมาก มันต้องได้รับความร่วมมือจากข้าราชการน้ำดี ปัญหาก็คือว่า ในเชิงการตรวจสอบข้อมูลเรายอมรับจริงๆ ว่ามันยาก ไม่ง่ายเลย ซึ่งมันอาจจะเกิดการตีความที่ผิดพลาดได้ ทีนี้ถ้าคุณทำไปสัก 99 เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะผิดพลาดไปสัก 1 เปอร์เซ็นต์จากการตีความที่คุณไม่รู้บริบท แล้วคุณก็จะถูกเอา 1 เปอร์เซ็นต์นี้มาขยายความราวกับว่าไม่มี 99 เปอร์เซ็นต์มาก่อน ผมก็เลยเป็นห่วงว่าถ้าผมทำไม่ดี ผมคืนศักดิ์ศรีให้คุณปวีณไม่ได้ แล้วสุดท้ายสิ่งที่ผมทำมาจะเสียเปล่า

อันที่สองก็คือ กรณีโรฮิงญามันท้าทายว่าสังคมไทยจะมองเรื่องนี้ยังไง ถ้าสังคมไทยบอกว่า โรฮิงญาอีกแล้ว เบื่อจังเลย ถ้าเป็นห่วงโรฮิงญานักก็รับไปอยู่บ้านสิ แบบนี้สุดท้ายมันก็จะกลับไปที่เดิม สิ่งที่ทำมาอาจจะสูญเปล่า มันจึงยากในความรู้สึก

สองอย่างนี้ทำให้ผมต้องคิดว่า เราจะทำยังไงให้สังคมไทยเข้าใจเรื่องนี้ให้ได้ สิ่งที่สัมผัสต้องไม่ใช่แค่ได้ยิน แต่ต้องฟังจากหัวใจของเขาให้ได้ และเข้าใจให้ได้ว่าเรื่องนี้มันสำคัญ ร้ายแรงยังไง ทำลายตำรวจน้ำดียังไง เราอาจจะมีประสบการณ์จากตำรวจแย่ๆ หลายคนในชีวิตประจำวัน แต่มันก็มีคนตั้งใจทำงานอยู่นะ แล้วคนแบบนี้มีชะตากรรมแบบนี้ เขา (พล.ต.ต.ปวีณ) ต้องกลายเป็นแรงงานที่ทำเบาะรถอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เขาไม่ใช่คนหนุ่มที่จะไปใช้แรงงานได้มาก แต่เขาคือตำรวจ ซึ่ง ณ วันที่เขาเลิกเป็นตำรวจเขาก็กำลังจะเกษียณ แล้วเขาต้องไปใช้แรงงาน ภาษาอังกฤษก็พูดไม่ได้ ต้องไปฝึกเอาที่นั่น 

นี่คือสภาพที่มันกดดัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ทำให้ผมกดดันมากตอนอภิปราย แต่เราก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคด้วยดี ช่วยกันดู ช่วยกันคิด ผมทำคนเดียวไม่ได้หรอกถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนตรงนั้น

ก่อนถึงวันอภิปราย เตรียมความพร้อมอย่างไร 

ผมได้ข้อมูลมาจากคุณปวีณ เรียกได้ว่าน่าจะเกิน 90 เปอร์เซ็นต์นะ เอาไปตรวจสอบเรื่องของตัวละครที่เกี่ยวข้องให้ลึกขึ้น แล้วก็โยงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณปวีณ มันส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยในปัจจุบันยังไง ซึ่งเราก็ต้องไปเปิดอ่านเอกสารภาษาอังกฤษ ก็ชัดเจนว่าการที่คุณปวีณลี้ภัยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การจัดอันดับของประเทศไทยมันแย่ลง แล้วถ้ามันแย่ลงไปถึง Tier 3 (หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ และไม่มีความพยายามแก้ปัญหา) มันอาจจะนำมาสู่การแทรกแซงทางเศรษฐกิจ (Sanction) ที่อาจจะเกิดขึ้นได้

เรารู้ข้อมูลเยอะอยู่แล้วในวันก่อนอภิปราย แต่สิ่งที่อาจจะไม่มีในตอนต้นคือการเรียบเรียงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะว่าข้อมูลมีมาก แต่ถ้าอธิบายไม่รู้เรื่องก็อาจจะไม่มีประโยชน์มากเท่าที่ควร ดังนั้นต้องอธิบายให้คนเข้าใจด้วย ก่อนผมจะอภิปราย ผมจะคิดไปด้วยว่า กำลังพูดกับกลุ่มคนที่อาจจะไม่มีพื้นฐานเรื่องนี้เลย เราต้องอธิบายให้กลุ่มนั้นเข้าใจให้ได้ ถ้าอธิบายไม่ได้ เราก็ไม่สามารถสื่อสารให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นได้

การทำงานของผมคือ ผมมีทีมผู้ช่วย ผู้ช่วยผมก็แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มที่หนึ่งคือ เป็นผู้ที่คอยช่วยจัดการตารางคิวต่างๆ เป็นเหมือนเลขานุการ กลุ่มที่สองคือ ผู้ช่วยด้านข้อมูล รวมถึงด้านกราฟิก หรืองานที่ต้องสื่อสารด้วยรูปภาพ และกลุ่มที่สามคือ การประสานงานภายนอกต่างๆ ซึ่งพอถึงช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สิ่งที่เราทำก็คือให้ 3 กลุ่มนี้เลิกทำอย่างอื่น ใช้เวลาตั้งแต่ 9 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่ม มาอยู่ด้วยกัน ส่วนสัปดาห์สุดท้ายคิดไว้เลยว่าต้องไปบอกครอบครัว กว่าจะได้กลับบ้านอาจจะถึงตี 2 ทุกคนที่มาทำงานตรงนี้ถ้าครอบครัวถามว่าทำอะไรอยู่ ห้ามบอกเด็ดขาดว่ากำลังทำอะไร มีแค่เฉพาะผมและผู้ช่วยที่จะรู้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่

ในส่วนของการค้นหาและจัดการกับข้อมูล เมื่อเราได้เอกสารมา สิ่งแรกที่เราจะต้องทำคือ มันจริงหรือไม่ การตรวจสอบก็จะมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ตรวจสอบโดยบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญภายในพรรค เช่น คนที่เคยเป็นตำรวจเก่า เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาก่อน ให้มาช่วยตรวจสอบ ส่วนที่สองคือ พอเราตรวจสอบแล้วเราก็ต้องดูด้วยว่าเราจะเล่ามันยังไงเพื่อให้คนเข้าใจ จุดนี้เป็นจุดที่ยาก เพราะว่ามันคือการสรุปจากสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเป็นปีๆ และเล่าให้เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้คนเข้าใจว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกันยังไง แน่นอนมันผ่านการตีความของผม ผ่านการทำความเข้าใจ ซึ่งผมอาจจะผิดก็ได้นะ แต่ว่ามันเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการอธิบาย

เมื่อเราร้อยเรียงเรื่องให้เกิดความเข้าใจ สิ่งที่เราต้องคิดต่อก็คือ การอภิปรายในสภาบางทีอาจจะไปจบที่การอภิปรายกันต่อในศาล หรืออาจจะถูกดำเนินคดี เราก็ต้องวางการอภิปรายไปพร้อมๆ กับการเตรียมตัวเดินหน้าในศาลด้วย ซึ่งผมอาจจะเป็นจำเลยเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็อาจจะมีบ้างที่เราเป็นคนฟ้องแทนก็ได้

ตารางเวลาในการเตรียมการอภิปรายจึงเป็นสัปดาห์แรกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นการทำความเข้าใจข้อมูล อาจจะเริ่มจากดูชื่อบุคคลใน google ว่าเขาเคยไปทำอะไรมาบ้าง เกี่ยวข้องยังไง ตรวจสอบแหล่งข่าวที่เรามีว่าแหล่งข่าวรู้อะไรเกี่ยวกับคนคนนี้มาบ้าง จากนั้นก็เอาข้อมูลทั้งหมดมารวม สัปดาห์ถัดไปก็จะเริ่มวางโครงว่าเราจะมีโครงสร้างในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ยังไง พอเราวางโครงเสร็จแล้วขั้นตอนถัดไปคือเขียนเรื่องราว ให้มันใกล้เคียงที่สุดกับที่เราจะใช้ หลังจากนั้นลองดูว่าคนอื่นที่ไม่เคยฟังเรื่องนี้ มีจุดไหนที่ฟังแล้วยังไม่เข้าใจบ้าง หลังจากนั้นก็ต้องคุยกับฝ่ายกฎหมาย ว่าจะโดนฟ้องกี่คดี ซึ่งในการอภิปรายก็อาจจะต้องมีงานกราฟิกเข้ามาช่วย หรือทำเป็นสไลด์นำเสนอ เพื่อให้ดูเข้าใจง่าย 

อภิปรายจบแล้วจะทำอย่างไรกับประเด็นนี้ต่อ เพื่อไม่ให้เรื่องเงียบหายไป

เบื้องต้นผมคิดว่า กรรมาธิการต้องเข้ามามีบทบาทเพิ่มกว่านี้ ถ้าเราทำตรงนี้ได้อย่างน้อยก็จะได้เพิ่มเติมข้อมูล ซึ่งตอนนี้ผมได้มาเพิ่มแล้ว คือผลชันสูตรพลิกศพของคุณมนัส (พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก หนึ่งจำเลยคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา) ที่เสียชีวิตในเรือนจำ กับกรณีบันทึกสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (กตร.) แต่ก็ต้องยอมรับว่าข้อมูลแต่ละชิ้นกว่าจะได้มาคือเหนื่อยมาก รอนานมาก แต่มันก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราพอจะทำได้ ซึ่งเท่าที่ผมติดตามเรื่องการค้ามนุษย์ก็เหมือนจะมีให้เห็นอยู่บ้าง ก็คงจะรวบรวมข้อมูลตรงนี้ต่อไป อาจจะต้องหารือกับคุณปวีณว่าเราจะทำยังไงให้สังคมไทยได้เห็นเรื่องนี้ชัดเจนมากขึ้น

ผมคิดว่าต่อให้เกิดการยุบสภาก็คงไม่กระทบกับการตามเรื่องต่อ ยุบสภาอาจจะดีก็ได้นะ มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล เพราะผมไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลนี้จะทำอะไรได้อีกแล้ว ก็ต้องยุบสภาหรือลาออก พอเลือกตั้งใหม่ ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นก้าวไกลหรือไม่ ก็คงจะดีกว่ารัฐบาลชุดนี้ก็ได้ อาจจะมีรัฐบาลที่ชอบหินเหล็กดินปูน แต่อาจจะเคลียร์เรื่องนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็ได้ ซึ่งจะจบหรือเปล่าผมไม่รู้ ต้องลองทำดู

ดูแลพลังใจทีมงานกันอย่างไร ยิ่งในวันท้ายๆ ที่งานหนักถึงขนาดไม่ได้นอน

ก็มีบางคนในทีมต้องเลิกกับแฟนไป บางคนยายเสีย แต่ก็กลับไม่ได้ ไม่รู้จะไปช่วยงานศพยังไง เพราะฉะนั้นมันจึงตามมาซึ่งความเจ็บปวด แล้วยิ่งใครมีครอบครัวยิ่งยากมากที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเขาต้องเจอกับอะไร แต่ผมคิดว่าพอผลลัพธ์ออกมา ทุกคนในครอบครัวของทีมงานผมเข้าใจหมดเลยว่าทำไมต้องเป็นแบบนั้น ทำไมถึงต้องเรียกร้องการทำงานหนักขนาดนี้ ส่วนเราทำยังไงให้ทุกคนมีพาวเวอร์กัน ผมคิดว่ามันก็อาจจะมีบางช่วงที่เราต้องคุยกันในทีมว่ามีปัญหาอะไร ให้เขาได้ระบาย แล้วก็กัดฟันคิดถึงเป้าหมายให้สำเร็จให้ได้

สิ่งหนึ่งที่เราทำสำเร็จและช่วยเยียวยาทุกคนได้ก็คือ ผลลัพธ์ที่ออกมามันทำให้ทุกคนรู้สึกว่ามีความสำเร็จ มีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างเกิดขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่กลไกรัฐ แต่อาจเป็นเราที่ทำให้คนเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วการที่ประชาชนได้รับข้อมูลแบบนี้ เท่ากับประชาชนจะมีข้อมูล การตัดสินใจในการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองหรือการออกแบบรัฐบาลที่ควรเป็น ประชาชนจะมีความเข้าใจมากขึ้น และจะเห็นว่ารัฐสภามีประโยชน์สำหรับเขา คือเราอยู่กับคำพูดที่ว่ารัฐสภาไม่เห็นทำอะไรได้เลยมานาน นี่ไม่ใช่คำพูดใหม่ วันนี้ก็อาจจะยังมีให้พูดถึงอยู่ แต่สิ่งที่ผมพยายามทำก็คือ ถ้าสภาไม่มีเครดิตอะไรเลย มันก็จะเปิดโอกาสให้มีคนทำรัฐประหารอีก บางคนอาจจะพูดว่า “ก็ในเมื่อรัฐประหาร คนเสียประโยชน์คือนักการเมืองนี่ ประชาชนไม่เสียอะไร เราก็ใช้ชีวิตของเราไปปกติ” แล้วถ้าเกิดรัฐประหารอีก ก็จะกลับมาสู่วงจรแบบเดิม ผมเลยรู้สึกว่าเราต้องฟื้นความเชื่อมั่นของสภาให้ได้

เอาล่ะ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเฮงซวย มันทำให้เราไม่สามารถออกแบบโครงสร้างทางการเมืองแบบที่เราต้องการ หรือโครงสร้างทางการเมืองที่มีอยู่ไม่ได้ตอบสนองจริงจัง แต่อย่างน้อยภายใต้อำนาจเล็กๆ ที่เรามี ก็ทำให้ดีที่สุดได้ไหม ให้ประชาชนรู้สึกว่าถ้าสภามีอำนาจมากกว่านี้ จะดีกว่านี้ เมื่อประชาชนศรัทธาในสภา ประชาธิปไตยก็น่าจะแข็งแรงขึ้น

รอบนี้ทำไม ส.ส. ฝั่งรัฐบาลไม่ประท้วงเลย เพราะเขาตั้งตัวไม่ทันหรือเปล่า

เขาคงยุ่งกับเรื่องตัวเองอยู่ ไปดูคนในสภาสิ ห้องว่างมากเลยนะ โล่งเชียว ผมก็เดาว่ามันเกิดจากความขัดแย้งภายในของรัฐบาล เลยทำให้เขาเองไม่ใช่ตั้งตัวไม่ทันนะ แต่ไม่ตั้งตัวแล้ว เอาเรื่องการเคลียร์ภายในกันให้จบก่อน ซึ่งก็คงเป็นสาเหตุที่ทำให้ผมสามารถทำภารกิจนี้ได้ง่ายมากขึ้น

หลังๆ ผมก็เริ่มเรียนรู้นะ คือถูกประท้วงบ่อยๆ มันก็ไม่ดี เพราะคนฟังจะไม่เข้าใจ แล้วก็เป็นเทคนิคแบบ Old School ในสภา ซึ่งผมเบื่อมาก ผมจึงเริ่มคิดว่าบางทีเราต้องฝ่าฝืนข้อบังคับบ้างนะ เช่น ในสภาต้องพูดเป็นภาษาไทยเท่านั้น บางทีถ้าเราจะพูดคำว่า ‘904’ ตรงๆ คงโดนประท้วง ผมก็เปลี่ยนเป็น ‘Nine Zero Four’ กว่าเขาจะนึกออกว่าคืออะไรวะ มันก็ผ่านไปแล้ว บางทีก็ต้องใช้วิธีการแบบนี้ ไม่งั้นก็จะโดนประท้วงตลอดเวลา

ผมคิดว่าถ้าดูจากการตอบคำถามของรัฐบาล ก็แสดงว่าเขาคงคาดไม่ถึงว่าจะเจอแบบนั้น จริงๆ ลึกๆ ผมกังวลใจนะว่าผมจะโดนดักฟังมั้ย ผมจะโดนติดตามมั้ย หลังจากอภิปรายแล้วผมก็กังวลใจเหมือนกันว่า บางทีเราคุยอะไรสมัยนี้มันมีเครื่องมือทันสมัยหลายอย่างที่เขาไม่จำเป็นต้องมาวางเครื่องดักฟังภายในบ้านก็สามารถรู้ได้ว่าเราพูดอะไร ซึ่งตรงนี้ผมกังวล แต่ที่ผ่านมาเราก็พยายามจัดการตัวเองให้ดี ทำให้ในระยะหลังตั้งแต่อยู่ในสภามา ข้อสอบของพรรคก้าวไกลไม่เคยรั่วเลย

อภิปรายแต่ละครั้งเหมือนเทหมดหน้าตัก จริงหรือไม่ หรือว่ายังมีก๊อกสอง ก๊อกสามอยู่

จริงๆ ผมไม่อยากเรียกว่าเทหมดหน้าตัก แต่ผมแค่คิดว่าต้องทำให้เต็มที่ คือคุณต้องเป็นมืออาชีพในการทำงานแค่นั้นแหละ คุณเป็น ส.ส. ก็ต้องอภิปราย หน้าที่คือทำให้มันดีที่สุด ผมคิดแค่นี้ 

ผมไม่ได้คิดในลักษณะว่ามีข้อมูลที่ต้องแอบไว้ก่อน อย่าเพิ่งพูด อย่าเพิ่งเอามาใช้ เปล่าเลย ผมกลับคิดในลักษณะว่า “เราจะบี้รัฐบาลเพิ่มได้ยังไง” ซึ่งก็อาจจะมาจากการที่เราส่งข้อมูลไปให้หน่วยงานอื่น อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในการตามต่อ หรืออาจจะเป็นคณะกรรมาธิการต่างๆ ที่จะต้องเรียกคนของรัฐบาลมาชี้แจง เพราะในการอภิปรายมันมีเวลาจำกัด

แต่ไม่ปฏิเสธว่ามีบางข้อมูลที่เราเอามาอภิปราย มันเหมือนการแกะสลัก ซึ่งจะมีบางส่วนที่เราต้องเอาออก เพราะอาจจะเป็นหลักฐานที่ยังไม่โผล่ หรือถ้าพูดไปคนก็อาจจะยังไม่เข้าใจ อาจจะต้องรอว่า เราจะได้ข้อมูลอื่นๆ มาเพิ่มเติมยังไง อาจจะมาผสมกับข้อมูลที่เราคิดว่าอาจจะยังไม่ต้องใช้ตอนนี้ก็ได้ 

หลังการอภิปรายจบ พบความเคลื่อนไหวในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐบ้างไหม 

เวลาลงพื้นที่จะเจอตำรวจบ่อยมาก โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อย เขาจะรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันถูกต้อง เขาอยู่ในวงการ เขาเห็นปัญหา และสิ่งที่เขาเริ่มรู้สึกก็คือ วันนี้เขาเริ่มมีรูระบายบางอย่างที่ทำให้เขาพูดได้ ก่อนหน้านี้ตำรวจเป็นโครงสร้างที่ไม่มีรูระบายในการปรับทุกข์เลย เช่น เวลาผู้มีอำนาจสั่งมา เขาก็อาจจะไม่อยากทำ แต่ก็ต้องทำ พอเขาทำ ประชาชนก็เกลียดเขา เขาก็ต้องรับความรู้สึกที่ไม่สบายใจกลับมา จะเอาความรู้สึกนี้ไปบอกผู้มีอำนาจก็ไม่ได้ 

แต่พอมันมีสภา มีฝ่ายค้าน แล้วเราพยายามพิสูจน์ให้เห็นว่าเราทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมามากที่สุด ตำรวจน้ำดีพวกนี้เขาก็เริ่มรู้สึกว่ามีความหวัง สามารถต่อสู้กับผู้มีอำนาจได้ เขาอาจจะไม่ได้ต่อสู้ด้วยตัวเอง อาจจะไม่กล้าปฏิเสธคำสั่ง แต่เขาจะส่งไอ้คำสั่งบ้าๆ บอๆ พวกนี้มาให้ รังสิมันต์ โรม แล้วผมก็จะไปอัดแทนเขา วันนี้ผมก็เลยกลายเป็นโรงพักของตำรวจ รับแจ้งคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคำสั่งบ้าบอทั้งหลาย

ความกังวลกับแรงกดดันภายนอก ต้องเจอกับอะไรบ้าง

จริงๆ แรงกดดันมันมีมาตลอดและหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับครอบครัว ถ้ายังจำกันได้ตอนที่ผมอภิปรายเรื่องตั๋วช้าง หลังจากนั้นประมาณ 2-3 เดือน มีคนพยายามบุกเข้ามาที่คอนโดแล้วก็พยายามมาถามหาภรรยาผม ซึ่งฝ่ายนั้นก็คงรู้แหละว่าถ้าเล่นผมคนเดียว ผมอาจไม่รู้สึกอะไร แต่ถ้าเล่นไปที่ครอบครัวอาจจะได้ผลก็ได้ มันมีวิธีการแบบนี้อยู่ แล้วเราก็กังวลว่าการที่เราทลายเรื่องการค้ามนุษย์ มันจะมีคนที่เสียผลประโยชน์เยอะ มันอาจจะส่งผลให้เครือข่ายพวกนี้เล็งเป้ามาที่ผม หรือเล็งไปที่ครอบครัวของผมก็ได้ ก็มีความกังวลแบบนี้อยู่

แต่ว่าผมโคตรเบื่อที่จะกลัว มันจะอะไรกันนักกันหนาวะ เป็น ส.ส. แต่ทำไมเราต้องอยู่กับความกลัวตลอดเวลา ถ้าเรากลัวแล้วไม่กล้าทำอะไร ผมว่าเลิกเป็น ส.ส. เถอะ คือผมรู้สึกว่าในสภาแห่งนี้มีความกลัวเต็มไปหมด ผมคุยกับนักการเมืองหลายคน ไม่ว่าจะอาวุโสกว่าหรือจะเด็กกว่าในหลายๆ พรรค ทุกคนจะพูดเรื่องนี้ว่า “ระวังตัวไว้นะ” แต่ผมรู้สึกว่า ผมมาเป็น ส.ส. เพราะมีภารกิจที่ต้องทำ เราจะปล่อยให้มีเรื่องผิดแบบนี้ต่อไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไรไม่ได้ แล้วจะมาเป็นผู้แทนทำไม ผมเลยรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งที่กัดกินเราตลอดเวลาคือความกลัว

ผมไม่ปฏิเสธว่าผมถูกคุกคาม ผมไม่ปฏิเสธว่าผมก็รักครอบครัว ก็อยากจะมีชีวิตแบบที่คนอายุประมาณกำลังจะ 30 ฝันเหมือนกัน แต่จะทำยังไงได้ ตอนนี้มาเป็น ส.ส. แล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ก็แค่นั้น ไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายมันจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะตายหรือเป็นผู้ลี้ภัยก็ได้ แต่สมมติในอีก 5 ปีข้างหน้า ผมมองกลับไปในฐานะนายรังสิมันต์ โรม ที่ไม่ใช่ ส.ส. แล้ว ผมจะไม่เสียใจกับสิ่งที่ทำเลยแม้แต่น้อย

แปลว่า ‘ความกลัว’ ในสภาตอนนี้มันหยั่งรากลึกมาก?

ผมว่ามากนะ ทำไมผมจึงกลายเป็นคนแรกๆ ที่พูดเรื่องตั๋วช้างล่ะ ผมเป็นตำรวจเหรอ ผมเป็นอดีตตำรวจเหรอ ก็ไม่ใช่ ผมเป็นคนที่อายุเพิ่ง 30 นะเว้ย ก่อนหน้านี้เป็นนักกิจกรรม คอนเน็คชันตำรวจที่มีมากที่สุดคือคนที่เคยจับผม แล้วไอ้คนที่มีพื้นฐานมากกว่าผม ทำไมเขาไม่ทำ จะบอกว่าเขาไม่รู้ ผมไม่เชื่อหรอก เขารู้ แต่ที่ไม่ทำเพราะรู้ว่าถ้าทำแล้วมันจะมีอะไรสักอย่างเกิดกับคุณ ประเด็นก็คือว่า พอปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ มันก็เกิดคอร์รัปชัน มันกัดกินสังคมไทย แล้ววันหนึ่งคุณก็บอกว่า โอเค ปัญหาพวกนั้นเราอย่าไปยุ่งเลย เป็นปัญหาทางการเมือง เราไปยุ่งกับปัญหาเศรษฐกิจดีกว่า 

ประทานโทษ! เงินในกระเป๋าของประชาชนถูกยักยอกไปทำอะไรก็ไม่รู้กับเรื่องไร้สาระ หรือไปเข้ากระเป๋าใครบางคนตลอดเวลา ถ้าคุณอยากจะเพิ่มเงินในกระเป๋าประเทศก็แค่จัดการคอร์รัปชัน อย่าให้มันถูกยักยอก ก็จะมีเงินจำนวนมากที่ใช้สำหรับพัฒนาเต็มไปหมด ทำไมเราไม่ทำ

ผมเลยรู้สึกว่า หลายคนในวงการการเมืองพอเขากลัว เขาทำอะไรไม่ได้เลย แต่ผมก็คิดในใจ ถ้าเราทำแบบนี้วันหนึ่งข้างหน้ามันอาจจะทำให้เขารู้สึกว่า “เฮ้ย โรมมันก็ทำได้ แล้วทำไมกูจะทำมั่งไม่ได้วะ” มันอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนเพิ่มความกล้า แล้วก็เผชิญกับห้องมืด ที่จริงๆ แล้วมันไม่ได้มีอะไรเลยนอกจากความมืด คุณแค่ต้องช่วยกันจุดเทียนโว้ย 

เห็นบอกว่าถ้าก้าวไกลได้เป็นรัฐบาลจะจัดการกับปัญหานี้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น มองสถานการณ์การแบ่งฝักฝ่ายในฝั่งประชาธิปไตยอย่างไร

(ถอนหายใจยาว) ในมุมมองผม ถ้าเราจะพูดถึงการจับมือกัน เราคงไม่อยากจะเริ่มว่าเราจะแบ่งกระทรวงกันยังไงก่อน เราไม่อยากเริ่มแบบนั้น เราอยากจะเริ่มว่าเรามีเงื่อนไขอะไรในการเป็นรัฐบาล อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะ เพราะว่าในพรรคก็ยังไม่คุยกันขนาดนั้น แต่เราอาจจะมีเงื่อนไขว่าถ้าสมมติว่าจะเป็นรัฐบาล เราต้องแก้รัฐธรรมนูญ เราต้องแก้ให้สมาชิกวุฒิสภาไม่สามารถมาจากการแต่งตั้งแบบนี้ได้อีกแล้ว ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่าคงเป็นสภาเดียว

อันที่สอง ก็อาจจะเป็นเรื่องการจัดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมในทางธุรกิจ เราจะทลายทุนผูกขาดยังไง บริษัทพลังงานผูกขาดแบบที่กำลังทำอยู่ได้ดิบได้ดี แถมได้ข่าวว่าไปลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับบิตคอยน์ ต้องไม่เกิดขึ้นแบบนั้นอีกแล้ว ซึ่งก็อาจจะมีพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้ประโยชน์จากการมีธุรกิจผูกขาดแบบนี้ เขาจะยอมกับเรามั้ย

หรือเรื่องของกองทัพ พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าต้องเริ่มจากการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ถ้าพรรคการเมืองไหนอยากจะชวนพรรคก้าวไกลไปเป็นรัฐบาล หรือมาร่วมกับเรา ก็ต้องให้เราทำเรื่องนี้ หรือมากไปกว่านั้นคือการตัดงบประมาณ หรือทำงบประมาณให้มีประโยชน์สูงสุด รวมถึงงบประมาณที่วันนี้ถูกใช้ไปกว่า 30,000 กว่าล้าน กับส่วนราชการทั้งในพระองค์และส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ซุ้มเฉลิมพระเกียรติ จะต้องถูกตัดออก ยอมไหม

ดังนั้น ผมคิดว่าถ้าเราคุยกันในเงื่อนไขแบบนี้ จะเป็นธรรมที่สุดสำหรับประชาชน เพราะทำให้เห็นภารกิจของการตั้งพรรครัฐบาล ถ้าเราคุยกันบนภารกิจก่อน จะเห็นการจับขั้วได้ง่ายขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้ทุกพรรคเห็นว่าพรรคก้าวไกลต้องการทำอะไร ก่อนที่เขาจะเชิญ เขาควรจะรู้ก่อนว่าเรามีเงื่อนไขอะไร 

ถ้าไม่ได้เป็นรัฐบาล ปัญหาใหญ่ๆ อย่างการค้ามนุษย์จะถูกแก้ไขหรือไม่

ผมคิดว่าก็มีความเป็นไปได้ อาจจะไม่จำเป็นต้องให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลก็ได้ถ้ามีคนอาสาที่จะทำ แต่ว่าก่อนที่จะทำ ถ้ายังไม่กล้าพูด ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะมีคนกล้าทำ ผมเชื่อว่าการจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยทุกฝ่ายในสังคมในการสนับสนุน ถ้าพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเราก็ต้องการการสนับสนุนจากฝ่ายค้าน เพื่อบอกว่าวาระพวกนี้เป็นวาระระดับชาติที่ทุกฝ่ายเข้าร่วมได้หมด ไม่ใช่แค่พรรคก้าวไกล

ดังนั้นผมคิดว่าถ้ามีพรรคการเมืองไหนหรือใครอาสามาทำเรื่องนี้ ผมไม่หวง ผมยินดีเป็นคนหนึ่งที่ให้ข้อมูลและเสนอแนะแนวทางด้วย สิ่งที่ผมทำไปแล้วก็คือ เราพยายามเสนอแนวทาง วิธีการแก้ ใครก็สามารถหยิบไปใช้ได้ เราไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นของเรา มันเป็นสิ่งที่เราในฐานะพรรคการเมือง ในฐานะสมาชิกของสังคมประเทศนี้ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง 

ขยับมาพูดถึงตัวตนของโรมกันบ้าง ในฐานะที่จบนิติศาสตร์ เคยคิดหรือไม่ว่านิติศาสตร์ในประเทศนี้จะถูกนำไปรับใช้อำนาจรัฐแบบนี้

ผมพยายามพิสูจน์ว่า นิติศาสตร์สามารถใช้ต่อต้านคนที่เป็นเผด็จการ หรือต่อต้านบรรดานักกฎหมายที่ทำมาหากินได้ด้วยเช่นกัน ผมเห็นผู้พิพากษารุ่นพี่ผมหลายคน เหมือนเขาอยู่อีกโลก มีอุดมการณ์ที่ดูแล้วต่อต้านระบอบประชาธิปไตย เชื่อในเรื่อง ‘คนดี๊คนดี’ จนทำให้ไม่มีระบบการปกครองที่ยึดโยงกับประชาชน สุดท้ายคนดีที่รุ่นพี่ผมจำนวนไม่น้อยเชื่อก็คือ คนของตัวเอง ซึ่งพอเป็นแบบนั้น ก็เลยทำให้การเรียนนิติศาสตร์ของผมในด้านหนึ่งคือ ต้องเอามาสู้กับอะไรพวกนี้ ไม่งั้นบางทีเขาเอากฎหมายมาอธิบายจนเลอะเทอะไปหมด

นักกฎหมายหลายคนชอบทำตัวเหมือนผู้มีความรู้ แล้วก็อธิบายให้ดูเป็นหลักวิชาต่างๆ แต่จริงๆ มั่วไปหมด เราเองในฐานะที่เรียนนิติศาสตร์มาก็ต้องไปต่อสู้กับคนแบบนี้เหมือนกัน ให้ข้อมูลกับประชาชนอีกแบบหนึ่ง ใครก็ตามที่เรียนนิติศาสตร์ อยากให้เอาความรู้ความสามารถที่เรียนมามาใช้จัดการคนพวกนี้ ใครก็ตามที่เป็นผู้พิพากษา อยู่ในองค์กรอัยการ อยู่ในวงการตำรวจ ต้องช่วยกันทลายพวกที่มันกัดกินองค์กรตัวเอง

นักศึกษาจำนวนมากกำลังสิ้นหวังกับกระบวนการยุติธรรม ถ้าโรมพูดอะไรกับพวกเขาได้ อยากพูดอะไร

อย่าให้คนไม่กี่คนมาทำลายหลักการที่ควรเป็น ผมยังมีความเชื่อว่าคนที่ไม่เคารพหลักการ พยายามใช้กฎหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ระบอบเผด็จการ มีน้อยคนที่เห็นคุณค่าในระบอบประชาธิปไตย แต่วันนี้คนที่มีอำนาจดันเป็นคนแบบนั้นเสียเยอะ สิ่งที่เราต้องทำคือจัดการคนเหล่านั้น เอาคนเหล่านั้นออกจากระบบ 

สมัยก่อนเราพูดกันว่านักการเมืองเลว แต่วิธีที่ใช้ในการจัดการกลับทำให้ไม่มีใครอยากมาเป็นนักการเมือง เราก็เลยเหลือแต่นักการเมืองคอร์รัปชันเต็มไปหมด ทำไมเราไม่คิดใหม่ว่า ถ้าคุณมั่นใจว่ามีศักยภาพ คุณเข้ามาช่วยกันเปลี่ยนมันสิ แน่นอนว่ามันยาก เพราะการที่คุณจะตั้งพรรคการเมือง ก็ต้องเจอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เจออะไรเต็มไปหมด คุณเข้ามาเป็นนักการเมืองคือขาข้างหนึ่งติดคุกไปแล้ว แต่ว่าต้องทำ ไม่งั้นการเมืองไม่เปลี่ยน เราจะเปลี่ยนประเทศโดยการไม่ทำอะไรเลยได้ยังไง

เช่นกันในวงการนิติศาสตร์ เราต้องการคนอีกจำนวนมาก ลองวางเป้าหมายตั้งแต่เรียนหนังสือเลยว่า “กูจะเข้าไปทะเลาะกับผู้พิพากษาหรืออัยการที่เป็นอนุรักษนิยม (conservative) ไปเปลี่ยนพวกมัน” ซึ่งถ้าเราวางเป้าหมายอย่างนี้กันตั้งแต่แรก ผมว่าสังคมไทยก็มีอนาคต แล้วสิ่งหนึ่งที่ผมเจอก็คือ ผมเริ่มเห็นข้าราชการเป็นขบถในระบบ คือคุณรู้ว่ามีความผิดพลาดอะไรแล้วคุณก็ไปติดตามประเด็นนั้น บางครั้งคุณก็เริ่มส่งข้อมูลให้พวกเราเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ผมเริ่มเห็นมิติแบบนี้ เลยมีความเชื่อว่า วันข้างหน้าความเปลี่ยนแปลงอาจจะเริ่มเป็นไปได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือคุณปวีณ แน่นอนผลที่ออกมาคือคุณปวีณกลายเป็นผู้ลี้ภัย แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่คุณปวีณทำก็ช่วยคนได้มากจริงๆ เมื่อคุณเป็นคนที่แน่วแน่ที่จะสร้างความถูกต้องจริงๆ มันอาจจะมีราคาที่ต้องจ่าย ก่อนหน้านี้ผมก็เคยถูกดำเนินคดีอะไรเต็มไปหมด ถ้าเราไม่อยากให้ประเทศเป็นแบบนี้เราก็ต้องสู้ ไม่มีทางอื่น ผมว่าไม่มีเหตุผลที่จะมาอธิบายว่าเราจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ โดยเฉพาะถ้าระบบมันเฮงซวย

พูดถึง พล.ต.ต.ปวีณ มีประโยคไหนที่คุยกับเขาแล้วรู้สึกฝังใจบ้าง

ผมเคยถามเขาว่า ทำไมถึงยอมให้ผมเปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ เขาก็บอกว่าเขานอนคิดกับมันทุกคืน ช่วงแรกที่ย้ายไปอยู่ออสเตรเลียก็มีหลายคนให้ความสนใจ แต่วันเวลาผ่านไปก็เริ่มหายไป เขาก็รู้สึกว่าเขามืดมนกับมัน ถ้าตามที่ผมเข้าใจคือเขากลัวสังคมไทยจะลืมเขา ลืมในสิ่งที่เขาพยายามทำ ประโยคที่ผมติดใจคือ นอนคิดกับมันทุกคืน ผมเข้าใจในความรู้สึกแบบนั้น มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะนอนคิดทุกคืน เพราะนั่นคือสิ่งที่ทำให้เขาต้องไปอยู่ตรงนั้น

รู้สึกเสียดายอะไรไหมหลังจากอภิปรายเสร็จ

ผมอาจจะไม่เสียใจตอนอภิปราย แต่ผมว่าผมน่าจะพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ ให้มันแรงกว่านี้หน่อย คือตอนที่เขาไม่ตอบคำถามผม ผมใช้คำว่า ‘ใจดำอำมหิต’ ซึ่งผมน่าจะใช้คำที่แรงกว่านั้นมาก

สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำวันนั้น คือคุณไม่ตอบคำถามประชาชน สำหรับผมมันร้ายแรงนะ ถ้าคุณไม่ตอบแล้วเราจะมี ส.ส. ไปทำไม ก็ในเมื่อ ส.ส. ถามอะไรไป รัฐบาลไม่ต้องตอบก็ได้แบบนี้เหรอ แล้วผมรู้สึกว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำคือการดิสเครดิตรัฐสภาซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมก็เลยคิดว่าผมน่าจะพูดให้แรงกว่านี้หน่อย

คำถามสุดท้าย อภิปรายเสร็จแล้วกลับมาเจอทุกคนข้างนอก เห็นสัญญาณตอบรับอย่างไรบ้าง

ผมคิดว่าผมทำสิ่งที่วางเป้าหมายไว้ อภิปรายให้จบ ไม่พลาดสักประเด็น แล้วก็หันไปมองเพื่อนๆ ส.ส. ด้วยกัน ทุกคนมีการตอบรับที่ดี สิ่งแรกที่ผมอยากรู้เมื่ออภิปรายจบคือ คุณปวีณได้ดูไหม ดูแล้วรู้สึกยังไง ผมได้ถ่ายทอดสิ่งที่คุณปวีณรู้สึกครบถ้วนหรือเปล่า 

เขาบอกว่าเขาดู และได้ระบายความรู้สึกที่อยู่กับมันมา 6 ปี ผ่านการอภิปรายของผม ก็ดูคุณปวีณหน้าตาสดชื่นขึ้นเยอะ (ยิ้ม)

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Author

อรสา ศรีดาวเรือง
มือขวาคีบวัตถุติดไฟ มือซ้ายกำแก้วกาแฟ กินข้าวเท่าแมวดม แต่ใช้แรงเยี่ยงงัวงาน เป็นเป็ดที่กระโดดไปข้องแวะกับแทบทุกประเด็นได้อย่างไม่ขัดเขิน สนใจทั้งภาพยนตร์ วรรณกรรม การศึกษา การเมือง และสิ่งแวดล้อม ชอบแสดงอาการว่ายังทำงานไหวแม้ซมพิษไข้อยู่บนเตียง

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า