กาลครั้งหนึ่งที่บางน้ำไหล หนุ่มสาวระหกระเหินพ่ายแพ้ต่อทุนและรัฐ
มนต์รักทรานซิสเตอร์ คือบทประพันธ์โดย วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียน นักต่อสู้ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองกระทั่งล่วงลับในต่างแดน งานเขียนชิ้นนี้ปรากฏสู่สายตาสาธารณชนเมื่อปี 2524 ก่อนถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง พร้อมกระแสตอบรับจากผู้คนล้นหลามในปี 2544
เป็นเวลากว่า 40 ปีเห็นจะได้ นับแต่คนไทยได้รู้จักกับชีวิตอันแสนสะบักสะบอมของ สุรแผน เพชรน้ำไหล กับแม่สาวเสื้อฟ้า และตัวละครอื่นๆ ในเรื่องเล่านี้ เป็น 40 ปีที่บ้านเมืองอันอมรเกิดเหตุการณ์ที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมายจนยากจะนับนิ้ว ลำพังรัฐประหารก็ปาไปถึง 3 ครั้ง ไหนจะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานอีกนับครั้งไม่หวาดไม่ไหว ไล่มาถึงการก่อตัวของคนรุ่นใหม่เพื่อประท้วงทวงหาประชาธิปไตย ไปจนถึงการลี้ภัยและถูกจองจำเพียงเพราะเห็นต่าง
สิ่งที่ดูยืนยงไม่เปลี่ยนแปลง ดูเหมือนจะเป็นโครงสร้างสังคมที่ผู้คนยากจะจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่านี้
40 ปี ถือเป็นเวลาไม่น้อย ทว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์ ก็ยังคงแหวกว่ายเวลามุ่งหน้าสู่ปัจจุบันผ่านการตีความหมายใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า เช่นเดียวกับ ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ เขาเลือกหยิบบทประพันธ์ชิ้นนี้มาเล่าใหม่อีกครั้งในโรงละครเวทีย่านใจกลางเมือง แน่นอนว่า ความคาดหวังที่ทาบทับลงบนไหล่บ่าจนหนักอึ้งนั้นก็เรื่องหนึ่งที่เขาต้องจัดการ แต่สำคัญกว่านั้น คือเขาจะเล่าอะไร เล่าอย่างไร แล้วเล่าทำไมในห้วงเวลานี้
สองวันก่อนการแสดงรอบแรก WAY เยือนโรงละครเพื่อสนทนากับเขา
รอบที่ 1
เปิดม่านโรงละครของคนเศร้าในโลกศิลปะ
ทำไมถึงอยากสร้าง มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับละครเวที แถมเป็นละครเวทีเรื่องแรกของคุณ
ตอนเด็กๆ ผมสนใจหนัง fiction ตระเวนดูนู่นดูนี่ แล้วได้ไปดูละครเวที ตอนนั้นรู้สึกว่า โอ้ ชอบสิ่งนี้เหมือนกันเนอะ สื่อนี่มีอะไรพิเศษในแบบของมันที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะโดยทั่วไปแล้วคนอาจจะมีโอกาสดูละครเวทีไม่มาก ไม่รู้ว่าจะติดตามจากไหน หรือมีโอกาสเข้าถึงน้อย
พอเรียนจบมา ได้แวะเวียนมาอยู่แวดวงละครเวทีประมาณ 1-2 ปี ถ้านับเวลาตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ก็ 8-9 ปีแล้ว ค่อนข้างคุ้นหน้าคุ้นตาและคุ้นเคยกับแวดวงนี้ประมาณหนึ่ง รู้ว่าเขาทำงานกันยังไง อยู่กันยังไง แต่ก็ไม่เคยได้ทำสักที
เรารู้สึกว่า เราเป็นนักเล่าเรื่อง อยากลองเล่าเรื่องหลายๆ แขนง แล้วถ้าเราลองเอาเรื่องมาเล่าในสื่อนี้มันจะเป็นยังไงนะ เคยคิดอยู่ตลอดและอยากทำ แต่ก็ยังไม่รู้จะทำอะไรดี เพราะหากเราคิดจะทำอะไรสักอย่าง เราก็ต้องรู้ว่าอยากเล่าอะไร สนใจอะไร มันค้างอยู่ในใจมาสัก 4-5 ปีได้มั้งครับว่าอยากลอง
ตอนที่คุณดูละครเวทีครั้งแรก คุณเห็นอะไร ได้รับประสบการณ์แบบไหน
ตอนนั้นจำไม่ได้ว่าดูเรื่องอะไร แต่ไปดูที่โรงละครมะขามป้อมตรงสะพานควายที่เป็นแค่ห้องแถวเล็กๆ ห้องหนึ่ง ผมรู้สึกว่า อย่างแรกคนดูทั่วไปก็จะนึกภาพว่าละครเวทีต้องเป็นเวทีใหญ่ๆ อย่างรัชดาลัย มีแสงสีเสียง ร้องเพลงกันกระหน่ำ แต่วันนั้นเราเข้าไปในห้องแถวเล็กๆ นั่งกัน 20 คนก็แน่นห้องแล้ว สิ่งที่พิเศษมากๆ คือความสดบางอย่าง คือการเล่าเรื่องที่อยู่ตรงนั้น เกิดขึ้นตรงนั้น จับต้องได้ ด้วยระยะที่คนดูกับนักแสดงมันใกล้กันมาก ผมรับรู้ได้ว่า โอ้ มันมีเวทมนตร์บางอย่างมากๆ เลย
ทำไมคนทั่วไปจึงมีโอกาสดูละครเวทีไม่มาก หรือหากให้จินตนาการถึงละครเวที ภาพที่นึกออกจึงมักเป็นละครใหญ่ๆ แสงสีเสียงอลังการ
ผมว่ามันเป็นสิ่งที่ผู้คนขาดความเชื่อมโยงกับมัน เขาไม่รู้ว่ามันเป็นยังไง ดูทำไม น่าสนใจยังไง เหมือนศิลปะอื่นๆ ในสังคม บางทีเราก็ไม่เข้าใจว่าศิลปะพวกนี้มันคืออะไร เราจะต้องเข้าหามันทำไม มันมีประโยชน์อะไรกับเรา
อย่างหนัง เราถูก treat ว่ามันคือความบันเทิงที่คนดูมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย คนจึงเชื่อมโยงบางอย่างที่ทำให้เขาเข้าใจมันได้ง่าย แต่ละครเวที เขาไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง สังคมนี้ รัฐนี้ไม่เคยสร้างให้คนมี awereness เรื่องศิลปะเท่าที่ควรจะเป็น มุมมองของคนที่มีต่อละครเวทีจึงแคบมาก แคบมากๆ
นอกจากรัฐจะไม่ส่งเสริมคุณค่าศิลปะแล้ว คุณมองว่ารัฐไทยมีกรอบคิดเกี่ยวกับละครเวที หรือศิลปะอื่นๆ อย่างไร
โห รัฐไทยไม่ได้มองละครเวทีอย่างมีความหมายด้วยซ้ำไป เขาไปสนใจกับ traditional performance (การแสดงแบบดั้งเดิม) เสียมากกว่า เขาไม่ได้แคร์ละครเวทีเท่าไรนัก
ถามว่าทำไมเรามีภาพจำถึงละครเวทีแบบรัชดาลัยที่เล่าเรื่อง royalist ก็เพราะว่านายทุนทั้งหลายเป็นอีลีท (Elite) หมดเลยไง จึงมีแต่ละครแบบนั้นออกมา ต่อให้เขาไม่ใช่รัฐ แต่เขาคืออีลีทที่สมาทานแนวคิดแบบรัฐไทยไว้กับตัว เรื่องเล่าของเขาจึงมักจะเต็มไปด้วยเรื่องเล่าอย่างนั้น
เราว่าสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือทุนในประเทศนี้คืออีลีท แล้วงานศิลปะที่ต้องใช้ทุนก็ต้องวิ่งไปหาอีลีท อีลีทจึงถือครองเรื่องเล่าไว้เยอะมาก หรืออย่างละครทีวีเอง คนก็แฟนตาซีกับยุคทาส เฮ้ย บ้าหรือเปล่า คุณได้เรียนรู้อะไรกับโลกและสังคมบ้างว่า ชีวิต ณ วันนั้นมันไม่ใช่ขนมหวาน แต่เรากลับมองแบบนั้นหมด เพราะทุนทำ เรื่องเล่าของกลุ่มคนเช่นนั้นจึงเยอะมาก
ผมรู้สึกว่า สิ่งที่เป็นอยู่มันไม่มีทางหายไปได้เลย ถ้ามันจะหายไปได้ ทุนต้องเปลี่ยนมือหรือเปล่า หรือสังคมต้องเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของศิลปวัฒนธรรมในประเทศหรือเปล่า มันถึงจะทำให้พื้นที่อื่นๆ โตขึ้นได้ แต่ ณ วันนี้ เขาไม่เห็นด้วยซ้ำว่ามันมีอะไรต้องปรับเปลี่ยน หรือเขาไม่รู้ว่าควรปรับเปลี่ยนมันยังไงด้วยซ้ำไป แล้วมันจะเปลี่ยนได้ยังไง 10 ปีก่อนที่เรารู้จักวงการนี้ครั้งแรก จนถึงตอนนี้มันเหมือนเดิมเลย ไม่มีอะไรเปลี่ยน
ลงลึกในกระบวนการทำงาน แน่นอนว่านี่เป็นเรื่องแรก คงไม่ง่ายแน่ๆ?
ผมมาค้นพบระหว่างทำว่า มันยากมากเลย อย่างแรกคือฉากมันเยอะมาก สถานที่ที่ตัวละครเดินทางไปมันเยอะมาก ซึ่งการเลือกบางอย่างให้หายไปหรือขมวดบางอย่างให้ยังอยู่ด้วยกัน มันมีสิ่งที่ต้องเสียไปอยู่แล้ว การดัดแปลงมาเป็นละครเวทีไม่มีทางสมบูรณ์ มันจะมีบางอย่างหายไปเสมอ ลองนับดูแล้วน่าจะมีประมาณ 18 ซีน ถ้าทำเป็นหนัง มันก็แค่ 18 ซีนเอง แต่ 18 ซีนในละครเวทีมันเยอะมากๆ
กระบวนการคือ ผมเริ่มจากการตีความว่า มันเล่าอะไร แล้วจะวางสิ่งต่างๆ อย่างไรได้บ้าง อย่างช่วงท้ายๆ ของการทำงาน สิ่งที่กังวลที่สุดคือ message ของเราหายไปหรือเปล่า ถ้าเป็นหนัง ผมทำจะงานกับโครงสร้างเยอะ ทำงานกับดีเทลเล็กๆ น้อยๆ เยอะมาก แต่ละครเวทีมันคิดอีกแบบ มันจะทำงานกับภาพกว้างและความชัดเจนในการสื่อสารออกมา บางอย่างมันอยู่ในเนื้อในตัว ในโครงสร้าง ในองค์ประกอบ มันเป็นแค่ส่วนเสริม มันไม่ใช่ส่วนหลัก แต่ถ้าเป็นหนังต้องเล่นกับโครงสร้าง มันก็เข้าใจแล้วว่าจะเล่าอะไร ผมว่าวิธีคิดมันกลับด้านหมดเลยกับสิ่งที่ผมคุ้นเคย และนั่นคือความยากของผมเหมือนกัน
เราพยายามวางคอนเซปต์ให้เเข็งแรงที่สุด แล้วค่อยๆ เก็บพวก message ว่าอะไรมัน mislead อะไรไม่ใช่สิ่งที่เราอยากพูด หรืออาจเกิดการตีความผิดจากสิ่งที่เราอยากจะพูด ก็พยายามอุดให้มากที่สุด แล้วอาศัยตาของคนอื่นๆ เยอะมากในการช่วยกันดู ส่วนในพาร์ทอื่นๆ เช่น ดนตรี ก็จะมีพาร์ทเล่นสดเลยกับพาร์ทที่ไม่สด
เรื่องเพลงน่าสนใจมากทั้งในฉบับบทประพันธ์และภาพยนตร์ แล้วฉบับละครเวทีล่ะ คุณทำงานกับเพลงอย่างไร
มีข้อจำกัดเรื่องเพลงเยอะมากจากเรื่องลิขสิทธิ์ เราไม่มีปัญญาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ได้อยู่แล้ว (หัวเราะ) โดยเงื่อนไขคือ วงการละครเวทีมันไม่มีกำลังเยอะ เรื่องเพลงจึงติดปัญหาเยอะ
สิ่งที่ทำคือ ผมพยายามหาหัวใจของเพลงหลักๆ ที่จะช่วยเล่าเรื่องได้ แล้วเขียนเพลงใหม่หมดเลย ซึ่งคนที่เขียนเพลงให้คือ ‘บิทเติ้ล ไอ้แมงคาม’ เขาคือศิลปินลูกทุ่งรุ่นใหม่ที่ฝีไม้ลายมือยอดเยี่ยมทีเดียว
แล้วนักแสดงหลักล่ะ คงแบกความคาดหวังไว้หนักพอสมควร
ใช่ครับ แต่ผมก็แอบใจร้ายนะ (หัวเราะ) ผมมองว่านั่นคือหน้าที่ของเขาแหละ ว่าเขาจะจัดการความคาดหวังนั้นอย่างไร มันมีความคาดหวังอยู่แล้ว แต่ผมก็ขีดเส้นให้ชัดว่า เราไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองไปเทียบกับเวอร์ชั่นอื่นนะ
รอบที่ 2
สังคมแห่งวาทกรรมมนต์รักทรานซิสเตอร์
อะไรทำให้คุณอยากเล่า มนต์รักทรานซิสเตอร์ อีกครั้งในเวลานี้
เพราะเรามีความคิดเห็นในแบบของเรากับเรื่องเล่านี้ ทำให้รู้สึกว่าอยากเล่าจัง เราชอบเรื่องนี้มากอยู่แล้ว เราบอกหลายๆ คนว่า หนังก็มีคนทำแล้ว เราเองคงไม่สามารถไปทำหนังที่ดีแบบนั้นได้ เราเลยคิดว่า ในความชอบสื่อละครเวทีของเรา ถ้ามีสักเรื่องที่เราอยากเล่าผ่านสื่อนี้ คงเป็นเรื่องเล่านี้ที่มีความหมายกับเรามากๆ ก็เลยหยิบมาทำเป็นละครเวทีดีกว่า
คุณเคยบอกว่า มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ชอบที่สุดในชีวิต เล่าให้ฟังหน่อยว่า ครั้งแรกที่ได้ดูเรื่องนี้รู้สึกกับมันอย่างไร
ตอนที่เราดูหนังครั้งแรก เราไม่ได้เห็นประเด็นอะไรเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นเรารู้สึกว่า มันเศร้าจัง แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าหนังเรื่องนี้มันถูกตีความเล่าโดยคนอื่นที่ไม่ใช่พี่ต้อม เป็นเอก มันอาจจะมีกลิ่นอีกแบบหนึ่ง แล้วเราคงไม่รู้สึกสัมพันธ์กับมันเท่าไร
แล้วพอได้อ่านตัวบทประพันธ์ เรารู้สึกว่ามันมีประเด็นมากกว่านั้น ไม่ได้หมายความว่าหนังทำประเด็นอะไรหายไปนะ แต่เราแค่เห็นประเด็นบางอย่างของคนที่ไร้ทางเลือกมากๆ อยู่ มันเล่าเรื่องของคนที่ไม่มีที่ทางในชีวิต และพยายามหาที่ทางให้ชีวิตตัวเอง พยายามมีฝัน พยายามไปข้างหน้า พยายามเติบโต เป็นสักสิ่งอย่างที่ไกลกว่าที่ตัวเองเป็นอยู่ แต่สังคมนี้ไม่ได้อนุญาตให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้น
แล้วคุณในวัยนี้ล่ะ เชื่อมโยงกับ มนต์รักทรานซิสเตอร์ อย่างไร
ณ วันนี้ ผมเห็นสังคมที่มันเหลื่อมล้ำมากๆ จริงๆ ในตัววรรณกรรมจะมีพาร์ทที่ชัดเจนมาก พูดถึงชีวิตในชนบทของแผน (พระเอก) กับสะเดา (นางเอก) สองคนนี้ดั้งเดิมคือทำไร่ทำสวน ซึ่งชีวิตมันแย่นะ ไม่ได้มีทางเลือกอะไร เหมือนทำงานเพื่อให้มีกินไปเรื่อยๆ แล้วมันมีสิ่งที่ตัวละครนี้อยากไปให้ถึง นั่นคือ ถ้าชีวิตมันดีกว่านี้ล่ะ ถ้าอะไรๆ มันดีกว่านี้ล่ะ ผมรู้สึกว่าทำไมคนเราถึงตั้งคำถามถึงชีวิตที่ดีกว่านี้ไม่ได้
สำหรับคุณแล้ว แง่มุมไหนหรือประเด็นใดในบทประพันธ์ชิ้นนี้ที่สะท้อนภาพปัจจุบันได้ดีที่สุด
ผมว่าปัจจุบันคนเราก็รู้สึกว่า เราไม่มีทางเลือก เราอยู่ในสังคมที่มีกลุ่มทุนผูกขาด อยู่ในจุดที่แรงงานไม่มีปากมีเสียงที่จะเรียกร้องสวัสดิการให้ตัวเอง กระทั่งว่าเราไม่มีรัฐสวัสดิการที่เป็น safety net เพื่อไม่ให้ชีวิตคนฉิบหายไปหมด
ผมว่า ณ มุมหนึ่ง มนต์รักทรานซิสเตอร์มีอะไรหลายๆ ที่ไม่ได้สะท้อนสังคมปัจจุบันโดยตรง แต่ปัญหาหลายๆ อย่างในวันนั้นที่ถูกเขียนขึ้น มันยังอยู่จนถึงวันนี้ หน้าตามันอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่โดยโครงสร้างมันไม่ได้เปลี่ยนไป โครงสร้างสังคมตอนนี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตคนดีขึ้น แต่ทำให้คนเป็นผู้บริโภคที่ดี ทำให้คนจำยอมกับที่ทางของตัวเองในสังคม ทำให้คนยอมรับเงื่อนไขของชนชั้นได้ง่ายขึ้น
มนต์รักทรานซิสเตอร์ ฉบับละครเวที คุณเล่ามันด้วยกลิ่น รส ความรู้สึก ประสบการณ์ หรือการตีความแบบไหน
อยากให้มันเป็นงานที่การเมืองมากๆ เลย แต่ในมิติของความเป็นการเมืองนั้น ไม่ได้แปลว่าต้องมายืนพูดเรื่องการเมืองให้ฟังโต้งๆ แต่แค่รู้สึกว่า มันมีเรื่องความฝัน เรื่องการอยู่ในสังคม การดิ้นรน และการร่วงหล่นลงมาจากที่ทางของชีวิตตัวเอง
สิ่งที่ยากก็คือ บริบทตอนที่มันถูกเขียนก็เมื่อ 40 ปีก่อน โครงสร้างที่เป็นปัญหามันก็ยังเหมือนเดิม แต่วาทกรรมบางอย่างมันเปลี่ยนไป เราจะทำอย่างไรนะให้เรื่องเล่านี้ยังเป็นเรื่องเล่าที่ร่วมสมัยและคุยกับคนอย่างชัดเจนว่า มุมมองการเมืองที่เราเห็นกับสังคมนั้นคืออะไร
แล้วในทางหนึ่ง แน่นอนว่ามันต้องเป็นละครที่มีรูปรส กลิ่น เสียงของลูกทุ่งชัดเจนเหมือนกัน เพราะผมคิดว่าความฝันของแผนคือความฝันด้านดนตรี เซนส์เหล่านี้มันต้องชัดเจน แข็งแรง เหมือนว่ามันจะบันเทิงเริงรมย์ ในแต่ความเริงรมย์นั้นมันมีแต่ความเจ็บช้ำ เจ็บปวดอยู่
การเมืองในแง่มุมไหนที่คุณสนใจ แล้วอยากเล่ามันผ่านงานชิ้นนี้
จะพูดออกสื่อได้ไหมนะ (หัวเราะ)
อันนี้ถือว่าเมาท์มอยนะครับ จริงๆ แล้วตัววรรณกรรมจบแบบ Happy Ending นะ ตัวละครกลับบ้านแล้วค้นพบว่าไม่น่าทิ้งลูกทิ้งเมียไปเลย ไม่น่าไปเดินทางระหกระเหเร่ร่อนให้สังคมกระทำเลย ซึ่งผมรู้สึกว่า แนวคิดนี้ ณ วันนี้ กลายเป็นวาทกรรมของความพอเพียง ซึ่งมันจบแบบนี้ไม่ได้ มันต้องไม่ใช่แบบว่า ‘เฮ้อ รู้งี้เราอยู่ที่บ้านของเราดีกว่า ไม่ไปไหนหรอก’
กลายเป็นว่าเราอยู่อย่างพอเพียงดีแล้วนี่ ซึ่งผมว่า ณ วันนั้นทุนก็ถูกมองแบบหนึ่ง หรือชนบทก็ถูกมองแบบหนึ่ง แต่ ณ วันนี้ ผมว่าวาทกรรมมันเปลี่ยนไปไม่น้อย ผมก็พยายามมองว่า วาทกรรมที่เราพยายามจะกลับด้านให้เป็นของคนปัจจุบัน มันคืออะไรกันนะ มันไม่ใช่ว่า คนพวกนี้อยู่ที่เดิมดีแล้ว แต่มันคือ คนพวกนี้อยู่ที่เดิมก็ไม่มีทางเลือก ชีวิตมันเหี้ยจะตายห่า
การออกไปสู่สังคมที่แข็งแรงและมีอำนาจมากกว่า ทำให้เขาโดนพรากสิ่งต่างๆ ไป ฉะนั้น สำหรับผมมันคือ มีคนอีกมากที่อยู่ตรงนั้นก็ตาย ออกมาข้างนอกก็ตาย คนเหล่านี้จะอยู่อย่างไร แล้วสังคมนี้มันดูแลคนยังไง มองเห็นคนยังไง
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นในเรื่องเล่านี้และการตีความของผมคือ ในโครงสร้างสังคมของเรามันผลิตซ้ำภาพจำบางอย่างให้กับกลุ่มคนในสังคม เช่น เวลาผมถามทุกคนว่า นึกภาพชนบทให้หน่อย เราจะนึกภาพเดียวกันหมดเลย ทุ่งหญ้าสีเขียว ทุ่งนา ต้นมะพร้าว พระอาทิตย์ ท้องฟ้าสวยงาม คนจูงควายทำไร่ไถนา ภาพเหล่านี้จะเด้งมาตลอด ซึ่งในความเป็นจริงเรารู้กันอยู่แล้วแหละว่าชีวิตชนบทและชีวิตของคนที่ต้องประกอบอาชีพเป็นชาวไร่ชาวนามันลำบากจะตาย ไม่ได้สบายหรือแจ่มใสนะ มันมี narrative บางอย่างที่ผลิตซ้ำภาพนี้ให้เรา ต่อให้เราตระหนักรู้แล้วก็ตามว่าชีวิตจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่ภาพนี้มันก็ยังอยู่ในหัวเราอยู่ดี
สิ่งสำคัญคือ การผลิตซ้ำนี้มันสร้างกรอบหรือบรรทัดฐานบางอย่างที่ทำให้คนจำยอมอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ในสถานะของตัวเอง หรือมองว่ามันดีนี่ เมื่อมันดีอยู่แล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขอะไร
เขินไหมเวลาที่คนบอกว่า คุณเป็นคนเมืองมากๆ แต่ทำไมถึงมาเล่าเรื่องที่ดูไกลตัวเหลือเกิน
เอาจริงๆ ในฐานะที่ต้องเล่า ผมจะไม่เขินเท่าไร แต่ถ้าเกิดมีใครถามว่า เป็นอย่างไร งานนี้เป็นอย่างไร ผมจะเริ่มเขินแล้ว พอมันต้องอธิบาย มันรู้สึกแบบ… เราจะอธิบายมันได้เต็มปากไหมนะ
แต่เวลาเราทำงาน ผมจะยอมรับตลอดว่า ผมอาจไม่เข้าใจหรอก ผมไม่รู้หรอกว่าเป็นยังไง ผมอาจจะมองได้แค่สิ่งที่ผมเห็น แต่สิ่งที่ผมเห็นนั้นมันสัมพันธ์กันอย่างไร ผมมองว่าตัวเองเป็นแค่หนึ่งในเรื่องเล่า ไม่ได้พยายามพูดแทนใครหรือพยายามบอกว่าโลกเป็นอย่างนี้ ผมแค่บอกว่า สำหรับผมแล้ว ผมเห็นสิ่งนี้นะ เพราะในโลกนี้มันมีเรื่องเล่าเยอะมาก โลกทัศน์ในการมองสิ่งต่างๆ ของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน กระทั่งว่าคนต่างจังหวัด ถ้าเขาต้องเล่าเรื่องของตัวเอง เขาก็อาจจะเล่าไม่เหมือนกันก็ได้
สุดท้ายแล้วผมมองตัวเองเป็นแค่ narrative หนึ่ง เราเห็นนะ แล้วเราเห็นอะไร ไม่ได้บอกว่ากูเข้าใจเว้ย กูรู้ทุกปัญหา รู้ทุกอย่าง มันไม่มีทางอยู่แล้ว เราเล่าแค่สิ่งที่ตัวเองเห็นและเชื่อ เพื่ออย่างน้อยมันจะเกิดบทสนทนาในสังคมว่า แล้วคนอื่นคิดยังไง เห็นอะไร เห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร
รอบที่ 3
ชายผู้ตามหาความหมาย นำแสดงโดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์
เล่าชีวิตของคุณให้ฟังหน่อย คุณเติบโตมาอย่างไร ในพื้นที่แบบไหน พบเจออะไรบ้าง
ผมเป็นคนกรุงเทพแท้ๆ เลย ไม่มีภูมิลำเนาที่อื่นเลย ชีวิตแร้นแค้นประมาณหนึ่ง มีช่วงชีวิตวัยเด็กที่… โห ถ้าเล่าแล้วมันจะดูเศร้า (หัวเราะ) ผมโตมาอย่างลำบาก ที่บ้านไม่มีอะไรเลย สมัยเรียนก็อดข้าวอดน้ำบ่อยๆ ผมเป็นคนเมืองนี่แหละ แต่มันเป็นแค่เมืองในเชิงสถานที่ แต่ในชีวิตแล้วผมไม่ได้ใช้ชีวิตแบบคนเมืองชนชั้นกลางขนาดนั้น อาจจะเป็นชนชั้นกลางถ้าเทียบในสังคมภาพรวมทั้งหมด แต่คงเป็นชนชั้นกลางค่อนข้างล่างมากๆ การจะได้เรียนหนังสือก็ต้องให้ญาติช่วยเหลือ หรือเรียนมหาลัยแล้ว มีเงินแค่ไหนก็ต้องใช้ให้พอทั้งเดือนนะ หมดแล้วหมดเลย จะทำยังไงนะ ครุ่นคิดเรื่องการใช้เงินตลอดจนถึงวันนี้ เพราะเป็นเด็กไม่มี ถึงวันนี้ก็มีชีวิตที่ดีขึ้นจากการทำงาน แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในความรู้สึกไม่ปลอดภัยในสังคมนี้อยู่ ผมโตมากับความรู้สึกนี้ และยังไม่พ้นไปจากความรู้สึกนี้
เริ่มตั้งคำถามตอนไหนว่า ทำไมชีวิตถึงเป็นเช่นนี้
ผมเริ่มมีแนวคิดและตั้งคำถามชีวิตกับตัวเองหลังเรียนจบมั้ง อาจเพราะเราทำงานที่ค่อนมาทางศิลปะ เรามีความ suffer มากๆ และมีคำถามว่า ทำไมชีวิตถึงเป็นอย่างนั้น
ผมเป็นคนขยันนะ ผมไม่ใช่คนขี้เกียจ วาทกรรมของสังคมนี้บอกว่า ถ้าเราขยัน เราจะได้ดีใช่ไหม เราขยันนะ แต่เราขยันผิดที่หรือเปล่านะ สังคมนี้ไม่ได้มีพื้นที่ให้ความขยันตรงนี้ไง ศิลปะอาจไม่ได้มีความหมายกับเขา ถ้าเราพูดว่าคนแวดวงศิลปะทั้งหลายในประเทศไทยมันลำบากขนาดไหน ผมว่าทุกคนเข้าใจหมด ทั้งที่เราขยันนะ แต่ทำไมเรามีชีวิตแบบนี้ล่ะ มันเริ่มตั้งคำถามว่า มันเกิดอะไรขึ้นนะ
ผมเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้นว่า ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นล่ะ แล้วถ้ามนุษย์อย่างเราไม่มีสิทธิ์เลือกหรือสิทธิ์ที่จะทำอะไรได้เลย แล้วชีวิตของเรามันมีไปเพื่ออะไรกันนะ จะให้เราขับเคลื่อนอะไร หากเรายังขับเคลื่อนตัวเองไม่ได้ มันกลายเป็นว่า เราเพียงแค่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่กำลังขับเคลื่อนอะไรสักอย่างหนึ่งเท่านั้นเหรอ นั่นคือฟังก์ชั่นของเราหรอ
เหมือนถูกทุบทำลายความเป็นมนุษย์ แล้วแทนความหมายเราเป็นแค่ฟันเฟืองหนึ่ง?
ใช่ ผมรู้สึกแบบนั้นนะ แค่อยากทำสิ่งนี้ มันไม่น่าผิดนี่ ทำไมเราต้องลำบากแร้นแค้นขนาดนี้ ยิ่งแวดวงละครเวที ผมว่าทุกคนเป็นหมด เหมือนทุกคนก็จะพูดกันว่า ‘ทำเพราะใจรักอย่างเดียว’ นั่นเพราะมันแทบไม่ได้เงินหรืออะไรกลับมา ขณะที่ต้องใช้แรงกายแรงใจเยอะมากในการทำแต่ละอย่าง มันอยู่ไม่ได้ ทุกคนต้องทำอย่างอื่นหมด แล้วค่อยเอาเวลาที่เหลือในชีวิตมาทำสิ่งนี้… ทำไมนะ เหมือนเราต้องแลกและต่อสู้เยอะมากเพื่ออยู่รอด ผมว่ามันประหลาด
แต่ในโลกนี้อาจมีมุมมองหรือคำอธิบายว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนี้ มันสมเหตุสมผลแล้ว แต่สำหรับผม มันไม่สมเหตุสมผลเลย
จุดสูงสุดของการตั้งคำถามอยู่ตรงไหน เพราะถึงขั้นพาตัวเองไปยังประเทศลาวเพื่อเล่าเรื่องชีวิตของผู้ลี้ภัยทางการเมือง มันคงต้องมีแรงขับมหาศาลในการสร้างงาน
ถ้าพูดตามไทม์ไลน์การเมือง ผมค่อนข้างช้า ผมเริ่มตระหนักถึงความเป็นการเมืองหลังปี 2553 เริ่มสนใจมันจริงๆ ช่วง 2555-2556 แล้วมันดันเป็นช่วงก่อนรัฐประหารพอดี ณ จุดนี้มันสำคัญเหมือนกัน ว่าพอเราเริ่มมีความรู้สึกกับความเป็นการเมืองในสังคม แล้วได้เห็นรัฐประหารต่อหน้าอีกครั้งหนึ่ง มันมีความหมายมาก มันรู้สึกแย่และหดหู่จนกลายเป็นความรู้สึกใหญ่ในใจว่า ทำไมสังคมมันเป็นอย่างนี้นะ
จนช่วงที่ทำสารคดี ไกลบ้าน เรามีความรู้สึกว่า ทุกๆ อย่างในสังคมมันถูกจำกัดมากๆ อะไรพูดได้ อะไรพูดไม่ได้ อะไรคุยกันได้ อะไรคุยกันไม่ได้ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเอง บางทีมันก็รู้สึกว่า สิ่งนี้เกิดขึ้นกับคนเหรอ มันไม่ควรเกิดขึ้นหรือเปล่า มันอัดอั้นหมักหมมจนไม่ไหวแล้ว อยากทำงานมากๆ เลย ก็เลยทำสารคดีไกลบ้านออกมา
จาก ไกลบ้าน ถึง มนต์รักทรานซิสเตอร์ การทำงานเหล่านี้สร้างความหมายอะไรแก่คุณบ้าง
ผมได้พูดในสิ่งที่ผมคิดและรู้สึกกับมันจริงๆ มันจึงตอบคำถามว่า ผมไม่ใช่แค่ฟันเฟืองนะ ผมมีชีวิต มีความนึกคิดบางอย่าง และมีความอัดอั้นหลายอย่างที่เราหาคำตอบไม่เจอ เรารู้สึกกับมันสุดๆ แต่เราจะจัดการมันยังไงล่ะ… มันคงเป็นการพูดออกมามั้ง
ถ้าการเล่าเรื่องเป็นเครื่องมือเดียวที่เรามี การได้เล่าในสิ่งที่ตัวเองคิดและเชื่อ มันจะเป็นงานที่ดีหรือคนจะเห็นด้วยไหม ไม่รู้ แต่ผมได้ทำและได้เล่าแล้วแหละ สำหรับผมมันก็มากแล้วนะในสิ่งที่ผมจะสามารถร้องขอได้จากชีวิตในวันนี้ ซึ่งมันแบบ… พอคิดดูแล้ว เราคาดหวังกับชีวิตเราแค่นี้เองเหรอ ได้ทำงาน ได้เล่าในสิ่งที่อยากเล่า สบายใจแล้ว? บาร์เรามันต่ำลงมากๆ เลย มันเหลือแค่นี้เองเหรอ แต่ผมก็มองว่าในสังคมตอนนี้ เราได้พูด เราได้เล่าในสิ่งที่ตัวเองอยากเล่า มันก็เท่านี้แหละ
คุณเคยพูดไว้ว่าหมดแพสชั่นในเรื่องรองเท้าสนีกเกอร์ (Sneaker) รวมทั้งจับสังเกตได้ว่าคุณไม่ค่อยแฮปปี้กับวงการภาพยนตร์มากนัก หรือรวมถึงวงการศิลปวัฒนธรรมในบ้านเรา อยากให้ช่วยเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น
เรื่องโควิดแหละครับ ผมพยายามพูดให้สบายก็แล้วกัน เดี๋ยวจะดูเครียดเกินไป (หัวเราะ) คือมันจะเกิดคำถามขึ้นบ่อยๆ ว่า เรามีชีวิตทำไม มนุษย์เรามีชีวิตทำไม ทำงาน หาเงิน จ่ายค่านู่นค่านี่ ไปเที่ยวเล่น มันเท่านั้นเหรอ?
ผมอาจจะมองเห็นความปรารถนาของตัวเองอีกแบบมั้ง ว่าคุณค่าที่เรามีชีวิตอยู่ ที่เราบริโภคทรัพยากรโลกนี้อยู่นั้น เรามีทำไม อย่างน้อยผมชอบทำงาน อยากทำงาน อยากเล่าเรื่อง สนุกกับสิ่งที่ทำอยู่ ชอบรองเท้า อยากเอ็นจอยกับมันไปเรื่อยๆ แต่พอโควิดมา ผมรู้สึกว่าทุกอย่างสูญหายไป สิ่งหนึ่งที่ผมเผชิญหน้าในช่วงนั้นคือ โลกนี้ไม่มีเราก็ได้ เราไม่ได้สำคัญอะไร โลกนี้ถ้าไม่มีงานของเรา มันก็ไปต่อของมันได้ แล้วสิ่งที่เรายึดมั่นที่สุดว่ามีความหมายกับเรา เรากลับรู้สึกว่ามันไม่มีความหมายขึ้นมา มันมีความอ้างว้างประมาณหนึ่ง เป็นมวลความรู้สึกใหม่ๆ ที่อยู่ในใจ
ในเรื่องภาพยนตร์เอง ผมรู้ว่าผมใช้ชีวิตอย่างนี้ตลอดไปไม่ได้ ร่างกายมันเริ่มรู้แล้วแหละว่า ทำงานอย่างนี้ไม่ไหวหรอก ณ วันนี้ถ้าผมทำสารคดี ผมทำคนเดียวได้ แบกกล้องไปถ่ายนู่นถ่ายนี่ แต่มันทำเพราะอยากทำ มันไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้น หลายๆ ครั้งผมตั้งคำถามว่า ทำไมคนทำงานศิลปะ คนทำหนังอีกมากในสังคมไทย แม่งต้องไปทำงานหาเงินเป็นแสนๆ เพื่อมาสร้างงานตัวเองแค่เพราะตัวเองอยากทำ มันไม่เหมือนการลงทุนนะที่เราเอาเงินแสนหนึ่งไปลงทุนแล้วมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น แต่ในวงการศิลปะ เราเอาเงินของเรามาทำงาน แล้วเราแค่ได้งานกลับมา ซึ่งงานอาจจะไม่ได้พาเราไปไหนไกลได้มากกว่านี้อีกแล้ว มันเป็นเส้นทางชีวิตที่ทุกข์ทรมานมากๆ เราดิ้นรนแทบตายเพื่อแค่ให้ได้ทำงาน แล้วมันแบบ โห ชีวิตมันเศร้ามากๆ เมื่อผมอายุเยอะกว่านี้ ร่างกายใช้งานได้น้อยลงกว่านี้ ผมรู้ว่าผมถ่ายหนังด้วยตัวเองต่อไปไม่ได้ตลอด มันจึงมีคำถามว่า ในวันที่เราทำไม่ไหวแล้ว ชีวิตจะยังไงต่อ
เมื่อคำถามเหล่านี้เกิดขึ้น คุณเริ่มมองหาคุณค่าหรือยึดโยงกับสิ่งอื่นเพื่อให้ตนเองดำรงอยู่ได้มั่นคงขึ้นหรือเปล่า
ไม่มี สุดท้ายแล้วมันก็คือความ struggle แหละว่า ณ วันหนึ่งถ้าเราทำไม่ไหวแล้ว มองกลับมาเราเสียใจแน่นอนว่า เราทำแบบนี้ทำไม ช่วงเวลานับสิบปีในชีวิต เราเอาไปทำอะไรวะ แก่ตัวไปลำบาก ไม่มีเส้นทางอาชีพ ไม่มีอะไรเลย แต่ก็บอกตัวเองว่า หากเราเลือกอีกทางหนึ่งไปแล้ว ชีวิตอาจมีทุกอย่างมากกว่านี้ สบายกว่านี้ ก็คงมองกลับมาเสียดายอีกว่า วันนั้นทำไมมึงไม่ทำอะไรพวกนี้วะ มองไปทางไหนเราก็เสียดายหมดอยู่ดี
สุดท้ายแล้ว เราเลือกแล้ว และรู้ว่าสิ่งนี้มันมีความหมายอย่างไรกับเรา ก็ยึดมั่นในการทำต่อไปก็แล้วกัน ตั้งใจทำมันต่อไปนั่นแหละ
คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “สองสิ่งในชีวิตเรามีแค่ภาพยนตร์กับรองเท้า ถ้าไม่มีสองสิ่งนี้ ชีวิตเราไม่มีความหมายอะไรเลย” ประโยคนี้ยังเป็นจริงอยู่หรือไม่ในช่วงเวลานี้
ผมชอบรองเท้ามากเลย ชอบมากๆ ช่วงทำละครก็อาจจะดีหน่อย เพราะได้ออกจากบ้านทุกวัน ได้ใส่รองเท้าเยอะมาก แฮปปี้
กับภาพยนตร์ เอาจริงๆ ถึงจะตัดพ้อหรือบ่นน้อยใจ แต่ก็คิดไม่ออกว่า วันที่บอกว่าไม่อยากทำหนังแล้วมันคืออะไรนะ แน่นอนผมไม่ใช่คนดัง หรือเจ๋งอะไรนักหนา แต่ผมว่ามันคือการเดินทางของตัวเองว่าผมคิดอะไรกับโลก กับตัวเอง ตัดพ้อไปยังไงก็นึกไม่ออกว่าจะเลิกทำหรือเลิกอยากทำเมื่อไหร่ แต่ก็เริ่มรู้สึกว่า ทุกๆ ครั้งที่จะไปต่อ มันเห็นแรงต้านแรงฝืดมากขึ้นเรื่อยๆ กับตัวเอง ซึ่งไม่รู้เหมือนกัน แต่หนังยังมีเวทมนตร์กับผมเสมอ การได้ดูหนังดีๆ ได้คิดว่าเราจะเล่าอะไรในหนัง มันกระชุ่มกระชวยหัวใจเสมอ มันทำให้ชีวิตงดงามมากๆ
การจากไปของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร ส่งผลกระทบต่อคุณอย่างไร มากกว่านั้น คุณมองว่าสังคมไทยสูญเสียอะไรต่อการจากไปของเขา
ผมกับเขาห่างไกลกันประมาณหนึ่งเลยครับในความสัมพันธ์ มีโอกาสแค่ถ่ายเขาแค่แว๊บเดียว ระยะเวลาสั้นมากที่อยู่กับเขา แต่จากที่เราได้คุยกับเขา ได้อ่านงานของเขา เรารู้สึกว่ามันมีความคับข้องใจของคนไร้อำนาจคล้ายๆ กัน คนธรรมดาอย่างเราๆ ที่เจอระบบ เจอสังคม เจออะไรก็ตามที่กดขี่กดทับเราเหลือเกิน เรารู้สึกว่า สังคมนี้หลายๆ ครั้งมัน nonsense มันไม่มีเหตุมีผล คุณวัฒน์เองก็มีความรู้สึกแบบนั้น ทั้งในงานเขียนหรือในความคิดเห็นของเขาเอง
สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกมากๆ ตอนที่รู้ว่าเขาเสีย คือเขาไม่ได้กลับบ้าน ผมรู้ว่า ในช่วงชีวิตของเขาที่ผมได้สัมผัส เขาอยากกลับบ้าน แล้ววันที่เขาจากไป เขาไม่ได้กลับบ้านเลย ก่อนหน้านั้นผมคิดเสมอว่า มันต้องมีสักวันแหละที่เขาจะได้กลับบ้าน ซึ่งถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ความหวังที่เรามีมันน้อยมากๆ ที่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจะได้กลับบ้าน ณ วันนี้ เพราะสังคมมันนิ่งมากๆ
มันเป็นความรู้สึกหนึ่งที่ติดค้าง แล้วมันไม่มีทางหายไป ว่าเออ…เขาไม่ได้กลับบ้านนะ
‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’ โครงการศิลปะการแสดงครั้งที่ 11 โดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร บัตรราคา 850 บาท จองบัตรได้ที่ https://forms.gle/TDMPvSAkWb1DezAP9
รอบฉายวันที่
- 18, 19, 21, 25, 26, 28 สิงหาคม และ 1-4 กันยายน รอบ 19.00 น.
- 20, 27 สิงหาคม รอบ 17.00 น. พร้อม Post-Show Talk ณ สตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร