คือผู้อภิวัฒน์: โปรดระวังความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

คือผู้อภิวัฒน์ ละครเวทีที่ได้รับคำวิจารณ์จาก ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ นักวิชาการและนักวิจารณ์รุ่นลายคราม ตั้งแต่การแสดงครั้งแรกในปี 2530 ว่า “เป็นแสงสว่างนำทางให้แก่ละครเวทีร่วมสมัยของไทย”

คือผู้อภิวัฒน์ คัดสรรเอาเหตุการณ์และถ้อยคำทางประวัติศาสตร์มาเรียงร้อยเป็นบทละคร นำเสนอชีวประวัติของ ปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของคณะราษฎรที่ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ โดยมี คำรณ คุณะดิลก และพระจันทร์เสี้ยวการละคร เป็นผู้สร้างครั้งแรก

แม้ว่าละครเวที คือผู้อภิวัฒน์ จะทำการแสดงมาแล้วหลายครั้ง ทว่าละครเวทีเรื่องนี้ก็ห่างหายจากสังคมไทยไปนานกว่า 10 ปี จากครั้งล่าสุดที่ทำการแสดงเมื่อปี 2553

ในวันนี้ คือผู้อภิวัฒน์ กลับมาแสดงอีกครั้งเนื่องในวาระ 120 ปี ชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ ด้วยความปรารถนาของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะเผยแพร่อุดมการณ์และคุณูปการในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยของปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง จากความเชื่อมั่นที่ว่าละครเวทีเรื่องนี้ยังคงสามารถส่งสาสน์ไปสู่ผู้คนในสังคมได้เฉกเช่นที่ ศ.ดร.เจตนา นาควัชระ เคยให้คำวิจารณ์ไว้

การแสดงละครเวทีครั้งนี้จัดขึ้นที่โรงละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายในมีการแบ่งที่นั่งของผู้ชมเป็น 3 โซน ล้อมทั้ง 3 ด้านของเวทีการแสดง เรียกได้ว่าเป็นการชมการแสดงที่ใกล้ชิดที่สุดจากประสบการณ์ที่ผ่านมา รวมถึงเปิดประสบการณ์ใหม่ในการชมละครเวที ไม่ว่าจะเป็นการใช้ฉากหลังเพียงสีดำ แท่นเตี้ย 3 แท่น ที่สามารถเคลื่อนย้ายการจัดวางตามบริบทของเนื้อเรื่อง

การเล่นแสงและเงาได้อย่างลงตัว จำนวนผู้แสดงที่มีเพียง 12 คน สลับบทบาททั้งการเป็นตัวละคร ผู้เล่าเรื่อง และนักร้อง ตลอดจนการแต่งกายของผู้แสดงที่สวมชุดสีดำเป็นพื้น โดยเมื่อมีการเปลี่ยนบทบาทก็จะสวมเครื่องแต่งกายบางอย่างเพิ่ม อาทิ เสื้อราชปะแตน หมวก ผ้าสี เป็นต้น

หากเทียบกับประสบการณ์ชมละครเวทีที่ผ่านมา คือผู้อภิวัฒน์ อาจไม่ใช่ละครเวทีที่ใช้ทุนสูงหรือเน้นความยิ่งใหญ่ของฉาก แสง สี การแต่งกาย หรือชื่อเสียงของนักแสดง

ทว่าความเรียบง่ายในการนำเสนอและสาสน์ที่ต้องการสื่อให้ผู้ชมนั้นกลับดึงดูดความสนใจของผู้ชมได้ตลอดระยะเวลาการแสดงเกือบ 2 ชั่วโมง แถมยังสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ชมจากการแจกประกาศคณะราษฎรให้ผู้ชมได้เอกสารติดมือกลับและใช้เวลาพินิจพิจารณาสาสน์นั้น

ผู้คน ชนชั้น และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

ในส่วนของบทละคร คือผู้อภิวัฒน์ ไม่เพียงบอกเล่าชีวประวัติของ ปรีดี พนมยงค์ ทว่ายังฉายให้เห็นชีวิตของประวัติศาสตร์ไทย ตลอดจนนำตัวละครจากสื่ออื่นมาเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกนึกคิดผู้คนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในสังคมไทย

ฉากแม่พลอย เป็นการนำตัวละครจากวรรณกรรม สี่แผ่นดิน มาแสดงถึงความสงสัย ความไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้นในช่วง 2475 ตัวละครแม่พลอยอาจเป็นภาพแทนของผู้คนที่มีศรัทธาต่อชนชั้นนำในสังคมไทย เนื่องจากหากพิจารณาบริบทชีวิตของแม่พลอยจะเห็นได้ว่า เธอเติบโตและใช้ชีวิตอยู่ในรั้ววังตั้งแต่ยังเด็ก ได้รับความเมตตา และมีชีวิตดีอย่างที่เป็นอยู่ได้ก็เพราะชนชั้นนำ จากประสบการณ์เหล่านี้จึงไม่น่าแปลกใจที่แม่พลอยจะเชื่อและศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไม่มีข้อกังขา

ขณะที่ฉากปีศาจ ซึ่งตัดตอนมาจากนวนิยาย ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เมื่อท่านเจ้าคุณ พ่อของรัชนี จัดงานเลี้ยงใหญ่โต แขกผู้ร่วมงานหากเป็นผู้หญิงจะสวมผ้าคลุมไหล่ หมวกปีกกว้าง และถือพัดเล่มโต ผู้ชายจะสวมสูท ใส่หมวกทรงสูง และถือไม้ตะพด ส่วนการแต่งกายของท่านเจ้าคุณจะแตกต่างไปเล็กน้อย คือ สวมเสื้อราชปะแตนแทนเสื้อสูท มีสายสะพายสีน้ำเงินประดับด้วยเครื่องยศ ซึ่งแสดงถึงความเป็นวงศ์สกุลชั้นสูง ตรงข้ามกับ สาย สีมา ชายผู้สวมเพียงสูทสีน้ำตาลหม่นเข้าร่วมงานเลี้ยง พื้นเพเขาเป็นลูกชาวนาในชนบทที่ขยับฐานะทางสังคมตัวเองจากการเป็นทนาย

ภายในงานเลี้ยง แม้ รัชนี จะแนะนำ สาย สีมา ว่าเป็นเพื่อนของตน แต่ก็ถูกเหล่าชนชั้นสูงผู้ร่วมงานกระแนะกระแหนเรื่องไร้ความเป็นผู้ดีมีสกุล โดยเฉพาะการดูถูกเหยียดหยามจากท่านเจ้าคุณ

เขาว่าสมัยนี้เป็นสมัยเสรีภาพ สมัยนี้ใครๆ จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องด้วยขนบธรรมเนียมประเพณี ฉันเห็นว่าเจ้าความคิดเหล่านี้ทำให้คนมันเลวลงมากกว่าที่จะดีขึ้น ทำให้คนเราไม่รู้จักเจียมกะลาหัว ไม่รู้จักฟ้าสูงแผ่นดินต่ำ ไม่ตักน้ำใส่กะโหลกชะโงกดูเงา เห็นเขาดีก็อยากจะได้ดีบ้าง โดยไม่สำนึกว่าความเป็นผู้ดีนั้นมีมาจากสายเลือด กาก็ย่อมเป็นกา และหงส์ก็ต้องเป็นหงส์ตลอดไป

กระนั้น สาย สีมา ก็โต้ตอบกลับด้วยวรรคทองของวรรณกรรม

“ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนผู้คนในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่จะสร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที”

ทั้งสองฉากข้างต้นของละครเวที คือผู้อภิวัฒน์ สะท้อนให้เห็นว่า แม้จะต่างช่วงเวลาหรือสถานการณ์กัน แต่การเปลี่ยนแปลงมักเกิดขึ้นเสมอ อาจช้าเร็วไม่เท่ากัน แต่ก็ไม่มีใครสามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงได้ เช่นเดียวกับการไม่อาจห้ามกระแสการไหลของกาลเวลา

“ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้ตลอดไป”

โปรดระวัง สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น

บทละครและการแสดงละครเวที คือผู้อภิวัฒน์ เริ่มครั้งแรกในปี 2530 เนื้อหาบางส่วนอาจจะต่างจากหลักฐานใหม่ในทางประวัติศาสตร์ ที่ถูกค้นพบและตีความใหม่ในภายหลัง

หนึ่งในนั้นคือมายาคติของการอภิวัฒน์ 2475 ที่บทละครอาจจะฉายไฟลงไปที่ชีวิต ปรีดี พนมยงค์ และเพื่อนที่ก่อการด้วยกัน ทำให้เห็นว่าการอภิวัฒน์เกิดขึ้นจากเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ทั้งที่คณะราษฎรมีสมาชิกถึง 115 คน ซึ่งแบ่งเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายพลเรือน ฝ่ายทหารเรือ ฝ่ายทหารบกชั้นยศน้อย และฝ่ายนายทหารชั้นยศสูง รวมถึงได้รับสนับสนุนจากคนหลากหลายอาชีพในสังคม อาทิ นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ครู ผู้มีการศึกษา ชนชั้นกลางในเมือง เป็นต้น หลังจากนั้นเมื่อคณะราษฎรได้ชัยชนะและชักธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดโดมพระที่นั่งอนันตสมาคม เหล่าประชาชนที่หลั่งไหลมาชุมนุมกันบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าจากการได้รับข่าวการอภิวัฒน์สยาม จึงส่งเสียงโห่ร้องไชโยดังกึกก้อง

รวมถึงผลิตซ้ำคำอธิบายที่ว่าการเมืองไทยติดหล่มอยู่ใน ‘วงจรอุบาทว์’ (vicious circle) ที่การเมืองไทยหมุนวนจากการยึดอำนาจ การร่างรัฐธรรมนูญ การมีรัฐสภา การทุจริตคอรัปชั่น เกิดวิกฤติการเมือง และหมุนวนกลับมาที่การยึดอำนาจรัฐประหารอีกครั้งไม่รู้จบ ดังในฉากรีรีข้าวสาร ซึ่งนับเป็นฉากอุปมาคลาสสิกของเรื่อง จนอาจจะทำให้ผู้คนเผลอลืมอีกด้านตรงข้ามของผู้อภิวัฒน์ คือผู้ต่อต้านการอภิวัฒน์ ที่ซุ่มซ่อนและคอยเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อีกประเด็นที่สำคัญคือการผลิตซ้ำมายาคติเรื่องเพศ โดยเฉพาะการนำเสนอให้ผู้หญิงเป็นเพศอ่อนแอ เปราะบาง ไม่มีความรู้ความสามารถเท่าผู้ชาย เป็นเพียงทรัพย์สินของผู้ชาย หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้ชาย เธอก็จะไม่มีคุณค่าหรือไม่มีแม้แต่ความเป็นมนุษย์จากฉากพูนศุข…ความรัก ในเหตุการณ์ที่ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พลัดพรากกับ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต้องลี้ภัยไปอยู่ประเทศจีน และบทของท่านผู้หญิงพูนศุขที่ว่า

“ขอขอบคุณคุณหลวงที่เลือกฉันเป็นเมีย เป็นเพื่อน ตลอดเวลาที่ฉันอยู่เคียงข้างขอบคุณสำหรับการให้ช่วยงาน ทำให้ฉันได้มีโอกาสศึกษา ไตร่ตรอง ใคร่ครวญ ทำให้ฉันเปลี่ยนจากผู้หญิงที่เป็นวัตถุใช้สอย กลายมาเป็นผู้หญิงที่เป็นมนุษย์ เข้มแข็งพอที่จะทนทานอะไรได้”

จากบทละครข้างต้นสะท้อนถึงมุมมองในบางยุคบางสมัยที่ให้คุณค่าผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง ทั้งที่พื้นเพท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน จากที่ท่านผู้หญิงมักจะติดตามผู้ใหญ่เวลามีแขกไปใครมาอยู่เสมอ รวมถึงความสามารถในการวางแผนหลบหนี หาสถานที่ซ่อนตัว ดูแลความปลอดภัย จน ปรีดี พนมยงค์ เดินทางออกนอกประเทศได้ หรือแม้แต่ความเข้มแข็งและเด็ดเดี่ยวที่เธอต้องดูแลลูกโดยปราศจากสามี

หากสารัตถะ คือผู้อภิวัฒน์ ไม่ใช่เพียงการเป็นละครประวัติศาสตร์จากชีวประวัติของบุคคล หรืออุดมการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น แต่เป็นการยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ทันตั้งตัว การเปลี่ยนแปลงที่มีการวางแผน หรือการเปลี่ยนแปลงอันไม่อาจบรรลุตามหมุดหมาย เพราะอาจต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนถึงจะไปสู่เจตนารมณ์ที่ตั้งไว้

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตที่กล่าวมาเราคงต้องให้คุณงามความดีกับผู้สร้าง คือผู้อภิวัฒน์  ในครั้งล่าสุดนี้ เพราะบทละครและการแสดงครั้งนี้มีพื้นที่ให้แก่การตีความที่หลากหลาย ชวนคิดถึงการเปลี่ยนแปลง 2475 ที่มีโอกาสจะถูกค้นพบความเข้าใจใหม่ๆ ที่พ้นไปจากความเข้าใจเดิม

กรณีเช่นนี้ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทย เคยอธิบายไว้ว่า มีการตีความฐานะทางประวัติศาสตร์ 2475 ใน 4 รูปแบบคือ หนึ่ง เชียร์คณะราษฎรแต่โจมตีเจ้า สอง กลับด้านจากแบบแรกคือโจมตีคณะราษฎร และเชียร์เจ้า แบบที่สาม ได้รับอิทธิพลจากความคิดของฝ่ายซ้ายคือ โจมตีทั้งเจ้าและคณะราษฎร และแบบที่สี่ ซึ่งอาจจะถือว่า คือผู้อภิวัฒน์ ได้รับอิทธิพลมาคือ เชียร์ทั้งเจ้าและคณะราษฎร (บางส่วน) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นบริบทนำในทศวรรษที่ 2530

จวบจนถึงวันนี้ ละครเวที คือผู้อภิวัฒน์ อาจถึงเวลาก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลง คล้องแขนไปกับหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยที่กลับไปหาการอภิวัฒน์ 2475 อีกครั้ง ในความหมายที่ต่างไปจากเดิม ผสมผสานไปกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบใหม่ โดยที่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่การลบเลือนสิ่งที่เคยเป็น

แต่เป็นการยืนยันว่า คือผู้อภิวัฒน์ คือผู้ถางทางที่ดีงามนั้นมาก่อนอย่างไร จนส่งผลต่อความคิด ความฝัน ของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันสมัย

เช่นเดียวกับคำร้องในฉากเปิดละครเวที คือผู้อภิวัฒน์ ที่ว่า

ประวัติศาสตร์อาจมีในหลายด้าน
แต่คนที่ทำงานไม่เคยจะเอ่ยออกนาม
คนที่แบกหามลุยน้ำลุยโคลน คนที่สรรสร้าง
จากป่าเป็นเมือง รุ่งเรืองดังเพียงเวียงวัง
ด้วยเลือดด้วยเนื้อของคนทำทาง
ถางทางตั้งต้นให้คนต่อไป

คือผู้อภิวัฒน์ ละคอนเวทีประจำปี 2563 โดยสาขาวิชาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแสดงถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Fanpage: TU Theatre

Author

นันทิกร วิทูรสุนทร
จบการศึกษาจากคณะสังวิทฯ (เน้นสังคมวิทยา ไม่ใช่มานุษยฯ อย่างที่คนอื่นเข้าใจ) แต่พักการลงฟีลด์มาจับคีย์บอร์ด เมาส์ ปากกา และโทรศัพท์ เป็นมิตรแท้ของกองบรรณาธิการ(ที่มักเป็นศัตรูกับตารางเวลา) นอกจากนั้นยังจับหวีแปรงปรนนิบัติแมว รักการอ่านหนังสือโดยเฉพาะเวลาฝนตก และอ้อมกอดอุ่นของผ้าห่ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า