อัญเชิญและขับไล่ในพื้นที่ศิลปะ: ควันธูปจากห้องซ้อม The Retreat ใน Ghost2561

บางคนเคยหรือไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับงานเต้นของ ธนพล วิรุฬหกุล กับ Democrazy Theatre Studio ครั้งที่ผ่านไปเกิดขึ้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม นักเต้นเลื้อยไหลไปมากับตัวเองและคนอื่น ข้าวของพื้นที่ดูเหมือนจะถูกหักทำลายและมีชีวิตใหม่ที่ไม่รู้ว่าอะไรบังเอิญเกิดขึ้น ม่านปิดลงบนปรักที่ไม่รู้ว่าอะไรกันเริ่มหักพัง ผู้ชมให้ความเห็นไม่ตรงกัน บ้างเห็นการต่อสู้ทางการเมือง บ้างพบกับเพื่อนในวัยเด็ก และบ้างพบว่ามันไม่สื่อสารอะไรเลย งานชิ้นนั้นชื่อ The Retreat, a dance performance แต่นั่นไม่สำคัญขนาดนั้น หากคุณเคยรู้จักมัน ขอให้ทราบว่าคุณจะได้รู้จักกับมันอีกเมื่อมันเข้าไปสิงสู่อยู่ในพื้นที่อื่น ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ด้วยชื่อห้อยท้ายว่า The Retreat, Gallery Drift และหากคุณไม่เคยรู้จักมัน ผมจะเล่าให้ฟังว่าในการซ้อมการแสดงรอบนี้ ผมรู้จักมันอย่างไร และเราอาจจะพบเจอสิ่งเดียวกันไหม ในวันที่ 27 ตุลาคม 2561

ท้องงูเหลือมและน้ำคุยกับเราอย่างไร

การซ้อมเต้นชิ้นนี้เกิดขึ้นมาเป็นปีแล้ว ผมเองดูมันเฉยๆ ดูในระยะห่างที่คนดูคนหนึ่งจะดูการแสดง แต่จู่ๆ ในครั้งนี้ของการซ้อม นักเต้นก็ได้รับโจทย์ให้มาทำอะไรสักอย่างโดยโอบๆ ล้อมๆ รอบๆ ตัวผม แบบเดียวกับที่พวกเขาทำอะไรสักอย่างรอบๆ ตัวกันเอง หรือรอบๆ ตัวสิ่งต่างๆ ไม่ใช่ เขาไม่ได้จับผมเต้น หรือเต้นกับผม แต่กลับทำกับผมเหมือนอยู่ตรงนั้น แต่ไม่มีความหมายอะไรในขณะที่อยู่ตรงนั้น พวกเขาเบียดผม แต่เหมือนการเบียดนั้นไม่ได้มีความหมายอะไรให้พูดถึงเป็นพิเศษเลย ผมเริ่มรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นอะไรสักอย่างที่อยู่ในท้องงูเหลือม แน่นอนว่าผมไม่เคยเข้าไปอยู่ในท้องงูเหลือม แต่ลักษณะของการถูกห้อมล้อมเอาไว้โดยสิ่งอื่นโดยสมบูรณ์ สภาวะแวดล้อมดูเหมือนจะไม่สนใจอะไรเราเลย เอาแต่ดำเนินกิจกรรมของมันต่อไปให้กระทบกระเทียดกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

คงจะพอมองได้ว่ามันคล้ายกับการอยู่ในท้องงูเหลือมในจินตนาการของเรา คล้ายๆ กับการเมือง คล้ายๆ กับการถูกนินทา มันล้วนห้อมล้อมเราไว้โดยทำเหมือนเราไม่มีค่าอะไรอยู่ตรงนั้น

ก่อนหน้านี้งานชิ้นนี้พยายาม ‘เล่น’ กับความเป็นไปได้บนข้อจำกัดของร่างกายและอย่างอื่น รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมันกับสิ่งอื่นๆ นอกจากนั้น จะเป็นอย่างไรหากเก้าอี้เป็นกระดูกสันหลังของเรา เป็นอย่างไรหากขาของเราเป็นหูของอีกคน เป็นอย่างไรหากเราต้องเผชิญหน้ากับขนมปังยามเช้าที่ไหม้ดำสนิทในฐานะอาหารที่ไม่สามารถทิ้งได้ หรือเป็นอย่างไรหากเราเอานิ้วขูดหนังโซฟาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพอใจ

ทั้งหมดนี้ยังไม่มีตรงไหนออกมายุ่มย่ามกับผู้ชม แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดในหัวของนักเต้นและธนพลคงจะเป็น

จะเป็นอย่างไร หากทั้งหมดนี้รวมเอาประสบการณ์ของผู้ชมเข้ามาอยู่ในการทดลองด้วย

และจะเป็นอย่างไรหากมันเกิดขึ้นบนพื้นที่ที่ผู้ชมที่ชินชามักมีอำนาจในการมองและตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง และในขณะเดียวกัน ขรึมขลังน่ากลัวจนผู้ชมผู้เยี่ยมเยือนต้องบีบเกร็งตัวเองเมื่อเผชิญหน้ากับงานศิลปะอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองช่างกระจอกงอกง่อยที่เข้าไม่ถึงมันในที่สุด อย่างแกลลอรี่ พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ

ผมคิดไปเองหรือเปล่าว่าแกลลอรี่ก็เหมือนกับศาลพระภูมิ มีแล้วอุ่นใจสำหรับคนที่รู้จัก แต่น่ากลัวสำหรับคนที่ไม่รู้จัก และสำหรับบางคน มันก็แค่สวยดี หรือทุเรศทุรังไม่เข้ากับอย่างอื่นๆ รอบๆ ตัว สิ่งสิ่งหนึ่งจะเป็นอะไรได้บ้าง ยิ่งคิดก็ยิ่งประหลาด มันมากมายเหลือเกิน

การซ้อม The Retreat เป็นเหมือนการบำเพ็ญเพียรอะไรสักอย่างที่ไม่ใช่การซ้อมโดยการทำซ้ำ นักเต้นฝึกร่างกายตัวเองให้เข้าไปอยู่ในวิธีการใช้งานแบบหนึ่ง จนกลายเป็นอีกธรรมชาติของเขา ธรรมชาติใหม่นั้นเขาใช้มันปรับเข้ากับบริบทแบบต่างๆ นั่นหมายความว่าพวกเขามีเพียงลักษณะ (เรียกอีกอย่างว่า ภววิทยา ความเป็นไป ธรรมชาติ ฯลฯ) แบบหนึ่งที่พร้อมจะเข้าไปยุ่มย่ามกับสภาพแวดล้อมอื่นๆ ได้ร่ำไป ครั้งที่แล้วบนพื้นที่ของโรงละคร แต่ในครั้งนี้บนพื้นที่ศิลปะ และกับงานที่ดูยังไงก็ต้องมึนงงเช่นนี้ ผมคิดว่า เพื่อที่เราจะคิดถึงมันได้มากขึ้น เราอาจลองมองหาญาติทางภววิทยาของมันดูก่อน โดยการเริ่มตั้งคำถามว่า นอกจากนักเต้นที่มีลักษณะเช่นนี้แล้ว อะไรอีกที่เป็นเหมือนกัน อะไรที่คงไว้ซึ่งลักษณะแบบหนึ่งของมันอย่างหนาแน่น แต่ก็ยังคงเลื้อยไหลไปกับสภาพแวดล้อมอื่นๆ ได้อย่างกลืนกลาย?

ช่วงที่คิดถึงเรื่องนี้ ผมอยู่แถวริมแม่น้ำบางปะกง น้ำ วันหนึ่งมันไหลเร็วและวันรุ่งขึ้นมันล้นออกมาริมตลิ่ง เข้าไปในศาลา พัดเอาขวดน้ำชำรุดออกไปและเข้ามา มีลูกปลาสีแปลกอยู่ในน้ำ แหวกว่าย มันว่ายอยู่ในนั้นได้ก็เพราะน้ำโอบอุ้มมันเอาไว้ และที่สุดแล้วมันก็ถูกอุ้มแรงเกินไปจนต้องออกมาดิ้นบกอยู่กับขวดน้ำชำรุด ก็เพราะน้ำเช่นกันที่เหมือนจะกลั่นแกล้งมัน แล้วขวดน้ำนั้นก็เช่นกันที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อบรรจุน้ำ วันนั้นมันชำรุดด้วยน้ำในรูปแบบที่มันบรรจุไม่ได้ น้ำกำลังคิดอะไร และน้ำกำลังทำอะไรอยู่หรือไม่?

สิ่งต่างๆ ที่อยู่กับสายน้ำ ได้ถูกสายน้ำยินยอมและโอบอุ้มเอาไว้ และในขณะเดียวกัน ได้ถูกสายน้ำเผชิญหน้าและกลั่นแกล้งอยู่ด้วย น้ำเป็นสิ่งที่ดื้อดึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่นั่นเองก็ทำให้มันเป็นสิ่งที่อ่อนไหวและพร้อมปรับเปลี่ยนไปได้ตามแต่สิ่งที่มันพบเจอเช่นกัน เรารู้ดีว่าส่วนใหญ่ของร่างกายเราเป็นน้ำ น้ำเหล่านี้เป็นร่างกายอยู่ แต่มันก็ยังเป็นน้ำอยู่ด้วย และมันยังพร้อมที่จะกลับไปเป็นเพียงแต่น้ำเฉยๆ ที่ไม่ประกอบด้วยร่างกายอยู่ตลอดเวลา น้ำโดยทั่วไปเช่นนี้อาจเป็นญาติทางภววิทยากับร่างกายของนักเต้นใน The Retreat พวกเขาทั้งดื้อดึงและกลืนกลายไปกับสภาพแวดล้อม ศิลปะ และในขณะเดียวกันก็มีความตระหนักถึงภารกิจและธรรมชาติบางอย่างอย่างหนาแน่น พวกเขาเป็นน้ำ แล้วน้ำจะทำงานอย่างไรกับพื้นที่ศิลปะ คำตอบที่ชัดเจนแต่ดูไม่ชัดเจนของผมน่าจะเป็น มันสนใจทุกอย่าง และไม่สนใจอะไรเลย

เมื่อพวกเขาถูกสาดเข้ามาในพื้นที่ของการแสดงงาน น้ำ หรือนักเต้น กลายเป็นก้อนความหมายที่กำลังวิ่งเข้าไปแทรกซ้อนอยู่ระหว่างความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในนั้น สิ่งต่างๆ ที่ว่านั้น รวมพวกเราอยู่ด้วย นี่คือส่วนที่มันสนใจ มันสนใจว่ามีบางอย่างอยู่ตรงนั้น และมันต้องเข้าไป เพียงแต่น้ำไม่ได้สนใจว่าอะไรอยู่เหนืออะไร และอะไรมีความหมายมากกว่าอะไร เช่น

ในพื้นที่ที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจค่อนข้างแน่นอนอย่างพื้นที่ศิลปะ พื้นที่ที่ศิลปินพูดใส่ไมโครโฟน เสียงดังกว่าคนอื่น นักวิจารณ์ถูกศิลปินยกมือไหว้และนินทาลับหลัง ในขณะที่คนดูเป็นเหมือนของตกแต่ง

และคนดูบางคนก็หัวแข็งจนเหมือนพื้นที่ศิลปะเป็นของตกแต่งของเขาเช่นกัน ข้าวของก็ตั้งไว้อย่างนั้น เข้าชุดกันทุกอย่าง ทุกอย่างดำเนินไปตามกำหนดการ มีพื้นที่ที่จัดแสดง และที่ไม่ใช่ แต่จะเป็นอย่างไรหากความสัมพันธ์ที่แข็งกร้าวเหล่านี้ถูกนำขึ้นมาให้เห็นทั้งหมด คุณอาจจะมีคำตอบของคุณหากคุณได้ดู แต่สำหรับผม ผมสะใจที่ในที่สุดแล้วก็มีงานศิลปะที่เต้นไปเต้นมาแล้วมันพูดถึงตัวผมบ้างสักที หมายถึงตัวผมเอง ไม่ใช่ผมในฐานะอะไร หรือผมที่มีประสบการณ์ร่วมกับใคร ‘ผม’ เฉยๆ

น้ำกับงานศิลปะเหมือนกันอยู่อีกอย่าง คือเราจะอภิปรายถึงมัน หรือคิดถึงมันราวกับว่าเรารู้จักมันดีได้ก็ต่อเมื่อเรารักษาระยะห่างระหว่างตัวเองกับมันเอาไว้ เรารู้ว่าแม่น้ำที่ดูเหมือนไหลไปทางซ้าย ไหลไปทางซ้ายแน่ๆ แต่เมื่อเราอยู่ในน้ำนั้นจริงๆ เรากลับแน่ใจไม่ได้อีกต่อไป มันอาจไหลลงข้างล่างมากกว่า หรืออาจมีรายละเอียดอื่นที่รบกวนเรามากกว่าทิศทางเพียงซ้ายขวา เช่นจระเข้ เมื่อเรามองอะไรสักอย่างอย่างมีระยะห่าง เราเหมือนจะตัดสินมันได้ง่าย เช่น ลาวเสี่ยว เขมรขี้ก็อป เวียดนามกินแต่ผัก อังกฤษเมืองผู้ดี อิตาลี่มีพิซซ่า แต่หากเราเข้าไปอยู่ในนั้น ทุกอย่างคงจะไม่ง่ายอย่างที่เราคิดว่ามันเป็น อาจจะไม่ได้พูดง่ายอีกต่อไปว่าอะไรเป็นอะไร คุณคงเข้าใจดีหากคุณเคยไปอยู่ที่อื่นบ้าง

ทุกอย่างกลายเป็นอะไรเมื่อเราอยู่ในงานศิลปะ?

ไม่ยากที่จะนึกภาพตัวเราเองอยู่ในภาพวาดสักภาพ แต่คงยากพอสมควรถ้าจะเข้าไปอยู่ในนั้น (ต้องยืนยันว่ายาก แต่อาจจะทำได้ในอีกไม่นาน ผมพบว่า virtual reality หรือความจริงเสมือนของงานชิ้นหนึ่งใน Ghost:2561 นี้เช่นกัน ทำงานกับเราได้จริงอย่างเหลือเชื่อ ทั้งที่เรารู้อยู่แก่ใจว่ามันเป็นของปลอม และผมสายตาสั้น เราก็ยังเชื่อมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับงานศิลปะมีระยะห่าง และค่อนข้างที่จะมีความแน่นอนอยู่เสมอ คือมันอยู่ตรงนั้น เราอยู่ข้างนอก เราเจอกันนิ่งๆ สักพัก เราเห็น เรารู้สึก เราตีความ เรากลับบ้าน แต่จะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งงานศิลปะชิ้นหนึ่งพูดขัดจังหวะการวิจารณ์ของเราขึ้นมาว่า

“อ้าว พูดได้ด้วยหรอ”

จะเป็นอย่างไรหากภาพยนตร์ที่คุณกำลังดู กำลังเล่นฉากสงครามอยู่ กลับกลายเป็นสงครามที่เกิดขึ้นตรงหน้าคุณ คุณเปื้อนเลือดของคนตายได้ แต่กลายเป็นว่าคุณตายไม่ได้ จู่ๆ คุณได้ยินเสียงผู้กำกับหงุดหงิดฟึดฟัดไม่พอใจ และเห็นทหารคนหนึ่งปาดเครื่องแต่งหน้าออกจากแผล แต่มองมาอีกทีบนร่างกายของตัวเอง คุณเห็นธนูปักอยู่ที่หัวเข่า เจ็บจริงนี่ แล้วจู่ๆ ก็หาย ตกลงแล้วคุณมีตัวตนอยู่ตรงนั้นอย่างไรกันแน่

ความเป็นไปได้มีอยู่มากเท่าใดบนพื้นที่ศิลปะ ความเป็นไปได้แบบที่เราไม่อาจคำนวณถึงมันได้ ยังมีอยู่หรือไม่สำหรับเรา?

ไม่ใช่ ผมไม่คิดว่างานเต้นชิ้นนี้จะแสดง โดยที่มันพูดกับคุณได้ หรือมันชวนคุณไปเต้นด้วยได้ มันไม่ชัดเจนอยู่ในคำอธิบายเดียวขนาดนั้น แต่จะเป็นไปโดยสร้างความสัมพันธ์แปลกประหลาด และอะไรก็ตามที่เข้ามาเปลี่ยนความเป็นไปโดยพื้นฐานของเรา หรือรอบๆ ตัวเรา อะไรก็ตามที่ประหลาด และอยู่ใกล้เราเกินไป จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเข้ามาขยับวิธีการคิดของเราต่อสิ่งต่างๆ ขึ้นอยู่กับว่า น้ำในร่างกายคุณและพวกเขา ขยับอย่างไร

ส่งท้าย

งานของธนพลที่ผมรู้จักไม่ได้นำเสนอเรื่องราว แต่นำเสนอความเป็นไป ผมคิดว่ามันจะน่าดีใจเสมอหากเราต่างพบว่าความเป็นไปในศิลปะชิ้นหนึ่ง ไม่สามารถเหมือนกับความเป็นไปใดๆ ในอดีตที่เราจะนึกย้อนกลับไปได้เลย เพราะนั่นอาจหมายความว่ามันกำลังเรียกร้องให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างจากอนาคต

ผมได้กลิ่นควันธูปของ The Retreat ประมาณเท่านี้ การซ้อมจะเดินทางไปถึงก้านธูป และสิ้นสุดจนเริ่มเล่นในเย็นวันที่ 27 ตุลาคม 2561 เราน่าจะไปอยู่ตรงนั้น และลองคุยกันอีกสักครั้งหลังมันจบลง

 

The Retreat: gallery drift เป็นบทที่สองของ ‘The Retreat’ กระบวนการวิจัยทางการเต้นรำในสตูดิโอเพื่อพัฒนาต้นแบบของวิธีการและกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะสำหรับนักเต้น เพื่อที่จะสร้าง dance score แบบพิเศษในรูปแบบที่สามารถปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ผลงาน score ที่เขากำกับนี้ กระตุ้นให้นักเต้นปะทะกับความหวาดกลัวจากการถูกรวบกวนทั้งทางกายภาพและทางจิตใจจากผู้อื่น โดยมีเป้าหมายที่นำไปสู่ความเข้าใจใหม่ และความสัมพันธ์ผ่านร่างกายต่อคนแปลกหน้าและความเป็นอื่น รวมไปถึงการเผชิญหน้ากับอคติส่วนตัว ซึ่งนักเต้นนั้นอาจไม่ตระหนักถึงมาก่อน กระบวนวิธีและแบบปฏิบัตินี้ครอบคลุมตั้งแต่ท่าเต้นที่สามารถตีความได้ ไปจนถึงกิจกรรมในจินตนาการซึ่งคาดเดาไม่ถึง

การแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Ghost:2561
ติดตามรายละเอียดอื่นๆ ได้ที่ Ghost:2561 และ Democrazy Theatre Studio

Author

วริศ ลิขิตอนุสรณ์
วริศทำงานวิชาการโดยอาชีพ สนามของเขาหมุนเวียนระหว่างศิลปะ วรรณกรรม งานสังคม และนโยบาย คุกเด็ก นักเต้น สังคัง รัฐสวัสดิการ หมา ภาษา ไม่อยู่นอกสนามของเขา คนจากแวดวงหนึ่งมักจะมองว่าวริศมาจากที่อื่นเสมอ วริศเป็นบรรณาธิการมากกว่านักเขียน เขียนน้อยกว่านักเขียน และเขียนเมื่อจำเป็นต้องเขียน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า