วิธีการทางประวัติศาสตร์ 101: ว่าด้วยการเปิด ‘เอกสารปรีดี’

การเปิด ‘เอกสารปรีดี’ หรือที่เคยเข้าใจกันว่าเป็น ‘จดหมายลับ’ ของ ปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศส สร้างกระแสตื่นตัวและความคาดหวังของคนไทยในโซเชียลมีเดียอย่างมากจนเกิด #จดหมายปรีดี 

ผู้ที่สนใจต่างคาดการณ์ไปต่างๆ นานา ว่าเอกสารนั้นจะมีหน้าตาเนื้อหาอย่างไร บ้างมีความคิดเห็นจริงจังหลากหลายว่า อาจเกี่ยวข้องกับกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 บ้างมีการเล่นมุขโบ๊ะบ๊ะว่าอาจเป็นสูตรข้าวมันไก่ไหหลำหรือสูตรผัดไทย แต่ภายในคืนเดียวกัน การเปิดเอกสารครั้งนี้ก็กลายเป็นเรื่อง ‘จดหมายผิดซอง’ โอละพ่อ เพราะเอกสารชุดดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากทางการฝรั่งเศสไปก่อนหน้าแล้ว 

แม้การเปิดเอกสารปรีดีของกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่มีการไลฟ์ผ่านโซเชียลมีเดียไปแล้วนั้น จะไม่ใช่เอกสารฉบับที่กำลังจะเปิดเผยจริงในวันที่ 5 มกราคม แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงวิชาการเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการอ่านเนื้อหาและการแปลที่ไม่เป็นกิจจะลักษณะตาม ‘วิธีการทางประวัติศาสตร์’ โดยมีนักวิชาการหลายท่านออกมาวิพากษ์ เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.ปวิน ชัชวาลย์พงศ์พันธ์ มหาวิทยาลัยเกียวโต ระบุว่า “อยากเห็นการเปิดและการอ่านจดหมายปรีดีที่เป็นทางการกว่านี้ และควรทำด้วยนักภาษาศาสตร์ เพื่อป้องกันความบกพร่องของการแปล” 

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้โพสต์ข้อความลงใน X แสดงความเห็นด้วยกับ รองศาสตราจารย์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักประวัติศาสตร์ชื่อดังผู้ลี้ภัยในฝรั่งเศส และ ดิน บัวแดง นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ว่า “ถ้าอยากให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางวิชาการและประโยชน์ต่อสาธารณะ ควรเข้าไปค้นคว้าอย่างจริงจัง สแกนหรือถ่ายเอกสารออกมาให้สาธารณชนได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ เพราะการค้นจดหมายเหตุ จำเป็นต้องมีความรู้และทักษะพื้นฐานในการค้นและอ่านเอกสารเหล่านี้”

อ่านเอกสารปรีดี ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์

‘วิธีการทางประวัติศาสตร์’ ดูเหมือนเป็นหัวข้อที่ยากเข็ญสำหรับทำความเข้าใจ แต่แท้จริงแล้วมีการเรียนสอนเบื้องต้นในหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาของไทย

วิธีการทางประวัติศาสตร์ หมายถึง กระบวนการศึกษา รวบรวม พิจารณา วิเคราะห์ และตีความหลักฐานอย่างเป็นระบบ โดยใช้เหตุผลยกมาอธิบายความเป็นมาในอดีต ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ มากยิ่งขึ้น จาก ‘หลักฐาน’ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเอกสารปรีดีที่จะเปิดในวันที่ 5 มกราคมนี้ จำเป็นต้องอาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปรีดี พนมยงค์ โดยมีวิธีการดังต่อไปนี้

เปิดเอกสาร 5 ขั้นตอน 

  1. กำหนดเป้าหมายในการศึกษา – มีจุดประสงค์ชัดเจน ตั้งคำถามที่ต้องการศึกษา
  2. การรวบรวมข้อมูล – จำแนกหลักฐานว่าเป็น ‘หลักฐานชั้นต้น’ หรือ ‘หลักฐานชั้นรอง’ เพราะหลักฐานชั้นต้นมีความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานชั้นรอง รวมถึงแยกประเภทลายลักษณ์อักษรหรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษร และอาจจำเป็นต้องใช้ผลการศึกษาจากนักวิชาการเฉพาะด้าน เช่น นักภาษาศาสตร์ เป็นต้น
  3. การประเมินคุณค่าหลักฐาน – วิพากษ์หลักฐาน วิพากษ์ข้อมูล เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจากความเป็นจริง ว่าหลักฐานนั้นมีความถูกต้องน่าเชื่อถือ มีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ในการศึกษา
  4. การตีความหลักฐาน – พิจารณาข้อมูลว่า หลักฐานมีเจตนาอย่างไร จับใจความสำคัญ ตีความถ้อยแถลง หาความหมายที่แท้จริงของข้อมูลเหล่านั้น 
  5. การสังเคราะห์ข้อมูล – เรียบเรียงและนำเสนอข้อมูล การตอบคำถามการศึกษา ตั้งข้อสังเกต จากการศึกษาค้นคว้าจากหลักฐานนั้นๆ
อ้างอิง:

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า