การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 เป็นประหนึ่งเนินหนามขนาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมากลางถนน หากเปรียบ ‘ระบบการศึกษาไทย’ เป็นรถคันหนึ่งที่กำลังแล่นผ่านถนนสายนี้ รถคันนี้ย่อมสะดุดกับเนินหนาม ไม่เฉพาะการศึกษา แต่ทุกองคาพยพในสังคมโลกต่างก็สะดุดกับการระบาดในครั้งนี้
พูดคุยกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ผู้มีความสนใจในประเด็นการศึกษามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เจ้าของผลงานหนังสือเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้หลากหลายเล่ม เราชวนเขามองไปยังรถคันนี้ที่กำลังสะดุดอยู่กลางทาง เขามองเห็นอะไรในระบบการศึกษาไทยผ่านการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสที่ยังไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน
ในช่วงการระบาดของ COVID-19 อาจารย์มองเห็นอะไรในระบบการศึกษาของไทยบ้าง
การระบาดครั้งนี้เผยให้สังคมไทยได้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานั้นลึกกว่าที่เราเข้าใจ เด็กจำนวนหนึ่งเปราะบางกว่าที่เราคิด เราจะเห็นได้เลยว่าโรงเรียนเอกชนมีศักยภาพในการจัดการเรียนการสอนที่บ้านได้ ผมเข้าใจว่าคุณภาพการเรียนการสอนน่าจะดีเลยทีเดียว เข้าใจว่าอยู่ในสภาพที่เกือบจะทดแทนการไปโรงเรียนได้เลย เหตุผลก็เพราะว่าเด็กเหล่านั้นพร้อม เครื่องไม้เครื่องมือของเขาพร้อม เด็กที่พ่อแม่ฐานะดีเขาพร้อม พ่อแม่ช่วยดูแลได้ดี แล้วตัวเด็กเองก็ถูกฝึกฝนมาจนมีสมาธิอยู่กับเรื่องที่เรียนได้เป็นเวลา 30-50 นาที ไม่ยากเลยสำหรับเด็กเหล่านี้ ผมเคยเห็นเด็กเหล่านี้ประมาณ 9-10 ขวบ จดจ่ออยู่กับบทเรียนที่สนุก 3 ชั่วโมง โดยที่ไม่แสดงท่าทีวอกแวกอะไรเลย เพราะว่าเด็กได้รับการฝึกจากครูที่เก่ง
สภาพอย่างนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเด็กที่ยากจนและอยู่ห่างไกล เขาไม่มีแทบเล็ต โทรศัพท์มือถือก็มีบ้างไม่มีบ้าง หลายแห่งไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต การที่จะชดเชยหรือทดแทนอะไรทั้งหลายก็ไม่มี ถ้าพูดภาษาวิชาการก็คือว่า digital revive รัฐบาลหรือระดับกระทรวงก็จะพูดเป็นนโยบายที่จะให้โรงเรียนห่างไกลได้ในสิ่งนี้ แต่เมื่อมีเหตุการณ์การระบาด มันก็ฟ้องเราว่า ไม่จริงเลยที่สิ่งเหล่านี้จะเป็นนโยบาย คำพูดไม่ได้เกิดขึ้นจริง หลักฐานจาก COVID-19 บอกเราว่า เด็กเปราะบางเหล่านี้ขาดโอกาส รัฐบาลมีนโยบาย แต่ไม่ได้ทำ หรือทำได้ ก็ไม่ดี
สิ่งที่ผมได้ข้อคิดเรื่องระบบการศึกษาจากการระบาดของ COVID-19 ก็คือ เมื่อเราวางมาตรการ เราตัดสินใจที่จะรับมือกับเรื่องนี้บนฐานของความรู้ที่ไม่ครบถ้วน ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ระบบการศึกษาไทยได้ฝึกให้พลเมืองไทยตั้งแต่อดีตมีโอกาสฝึกตัดสินใจโดยมีข้อมูลจำกัดหรือไม่
ทีนี้ ผมลองถามใหม่ว่า ถ้าจะฝึกให้เด็กตัดสินใจ ครูต้องเป็นคนอย่างไร ครูก็ต้องมีคุณสมบัตินั้น ถามว่าแล้วจะให้ครูหรือใครก็แล้วแต่มีคุณสมบัติแบบนั้นได้อย่างไร แปลว่าเราต้องฝึกบ่อยๆ เราต้องทำบ่อยๆ คำถามก็คือ แล้วระบบการศึกษาไทยเปิดโอกาสให้ครูได้ฝึกอย่างนั้นไหม คำตอบทุกคนก็รู้อยู่ว่า ไม่ ครูไม่มีโอกาสตัดสินใจ ครูมีหน้าที่ทำตามคำสั่งที่สั่งมาจากส่วนกลางหรือเบื้องบน
COVID-19 มาสะกิดเราว่า ระบบการศึกษาไทยผิดอย่างจัง เรียกว่าเรื่องใหญ่เลยในเชิง mindset เชิงกระบวนทัศน์ โดยเราไม่รู้ตัว เราไม่เคยคิด เราไม่เคยเถียงกันเลย เราไม่เคยไว้วางใจครู เราไม่ให้โอกาสครูให้เขาได้เป็นอิสระ มีโอกาสที่จะตัดสินใจ ครูในที่นี้ก็อาจจะรวมถึงผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่องเศร้าจึงตามมา เพราะเมื่อตัดสินใจเองไม่เป็น จะมีความสามารถไปฝึกเด็กให้ตัดสินใจและรู้จักวิธีตัดสินใจได้อย่างไร
ผมคิดว่าบางทีถ้าหากว่า COVID-19 ช่วยปลุกคนไทย ต้องคนไทยเลยนะครับ ไม่ใช่แค่คนในวงการศึกษา ให้รู้ว่าจริงๆ แล้วที่เขาอยากให้ลูกได้ดิบได้ดี เรียกว่ามีการศึกษาดี มันมากกว่าแค่เรียนวิชา แต่มันโยงไปสู่เรื่องการตัดสินใจ ที่จริงก็มีเรื่องอื่นๆ อีกนะครับ ในเชิงที่เรียกว่า character คุณลักษณะ ความเป็นคนที่เคารพคนอื่น มั่นใจตัวเอง สื่อสารได้ ร่วมมือได้ มี ethicality ในเรื่องซื่อสัตย์สุจริต มั่นคงในคุณธรรม เป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ส่วนตัวเกินไป เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่เราต้องการทั้งสิ้น ผมเข้าใจว่า พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ พยายามลากออกมาในแนวนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการ decentralization คือเรื่องของการกระจายอำนาจ และกระจายอำนาจตัดสินใจ
อาจารย์กำลังจะบอกว่า เราควรจะให้อิสระของแต่ละโรงเรียน แต่ละพื้นที่ในการออกแบบกันเอง?
เราสามารถให้อิสระโดยมีไกด์ไลน์ มีตัวช่วย มีข้อมูลให้ได้ สิ่งนี้โยงกลับไปสู่ประเด็นแรกที่ผมให้ความเห็นคือ การตัดสินใจและการคิด เท่ากับว่าให้โอกาสโรงเรียนเขาคิด คิดร่วมกับคนในชุมชน ซึ่งอาจจะมีหน่วยงานด้านสุขภาพมาช่วยคิดด้วย ว่าในตำบลหรืออำเภอของเขามีสถานการณ์อย่างไร สามารถเปิดเรียนได้ไหม ถ้าเปิดได้ จะเฝ้าระวังอย่างไร ครูก็จะมีโอกาสคิด ผู้อำนวยการโรงเรียนก็จะมีโอกาสคิด เมื่อคิดแล้วลงมือปฏิบัติอาจจะผิด แต่เขาก็จะได้เรียนรู้ หลังจากนั้นเมื่อมีหัวคิด เขาก็เอาไปใช้กับเรื่องอื่นต่อไปอีกได้ ทำให้เปลี่ยนสภาพการณ์ได้ เพราะฉะนั้นที่เขาบอกว่า “เปิดเทอมวันเดียวกันหมดทั้งประเทศ” ในความเห็นผม ถ้าพูดภาษาแบบไม่เกรงใจกันคือ stupid
ถ้าชุมชนโยนอำนาจการตัดสินใจให้โรงเรียน แล้วครูบอกว่าถ้าคำสั่งกระทรวงไม่มา ฉันก็ไม่กล้าตัดสินใจ ฉันรับผิดชอบชีวิตเด็กไม่ไหว ฉันไม่อยากเอาชีวิตวัยเกษียณไปเสี่ยง ถ้าเกิดสภาพการณ์อย่างนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง
ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษา เพราะเขาไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่กล้าเข้ามาร่วมรับผิดชอบ โยนความรับผิดชอบไปให้คนอื่น ทำไมเป็นอย่างนั้น ก็เพราะการศึกษาครับที่ฝึกเขามาอย่างนั้น เพราะว่าไม่ต้องการรับผิดชอบ ไม่เคยฝึกรับผิดชอบ แต่คนที่เคยรับผิดชอบตั้งแต่เด็ก เด็กที่เรียนด้วยการลงมือทำ เขารับผิดชอบได้ เพราะได้ฝึกตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ แล้วค่อยๆ เข้าสู่งานที่เป็นชีวิตจริงขึ้น คนเหล่านี้ก็จะกล้ารับผิดชอบ กล้าตัดสินใจ เป็นตัวของตัวเอง แต่แน่นอนเราไม่ได้ต้องการคนที่เป็นตัวของตัวเองโดยที่ไม่ฟังใครเลย แต่เขาจะต้องตัดสินใจโดยมีข้อมูลครบ ตัดสินใจโดยพยายามหาความรู้มาช่วย หาหลักฐานมาประกอบ เหล่านี้เป็นเรื่องของกระบวนการเรียนทั้งหมด ตั้งแต่ชั้นก่อนอนุบาล เรื่อยไปจนกระทั่งใกล้ตายก็ยังต้องฝึก นี่คือการเรียนรู้ที่แท้จริง หลายครั้งเราก็รู้เลยว่าที่เราตัดสินใจนั้นมันผิด เช่นว่าเราจะออกจากบ้านเวลานี้ เพื่อไปอย่างนี้ พอออกไปเราก็รู้ว่าตัดสินใจผิด เราควรจะมาก่อนสักชั่วโมงหนึ่ง เราก็ได้หลักฐาน ได้ประสบการณ์ ได้ความคิดเอาไปใช้ต่อ สภาพอย่างนี้จะเกิดกับเด็ก อายุตั้งแต่ 2 ขวบ 3 ขวบ 4 ขวบ ที่ได้รับการฝึกให้รับผิดชอบบางเรื่อง
ทีนี้ครูจะฝึกอย่างนั้น จะรับผิดชอบอย่างนั้นได้ ครูต้องเข้าใจกระบวนการ ที่สำคัญถ้าจะฝึกอย่างนั้น การทำผิดต้องไม่ใช่ความผิด การทำผิดเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็ก ครูต้องพยายามที่จะให้เด็กได้เข้าใจว่า ที่ทำไปมันยังไม่สำเร็จ มันผิดพลาด แต่ว่ามันทำให้เราได้เข้าใจอะไรบ้าง ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
การเปิดโอกาสของความเป็นไปได้อื่นๆ ให้กับเด็ก เช่น ครูตั้งประเด็นขึ้นมาให้เด็กตอบ ครูควรจะตั้งคำถามต่อว่า มีใครที่มีคำตอบหรือมีความเห็นที่ต่างจากนายปรีชาไหม พอเด็กหญิงเรณูตอบ ครูก็ควรจะถามต่อไปว่า มีใครมีความเห็นที่ต่างจากเด็กสองคนนี้ไหม เด็กก็จะค่อยๆ เรียนรู้ไปเองว่าเรื่องต่างๆ มันมีความเห็นต่างกันได้ เด็กก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นกับความเห็นของตัวเอง เด็กก็จะฟังความเห็นคนอื่นเป็น
เพราะฉะนั้นเวลาเขาเจอปัญหาอะไรทั้งหลาย เขาจะไม่บุ้ยบ้ายให้คนอื่น บอกนี่หน้าที่คุณ คุณก็ทำไปสิ ฉันไม่เกี่ยว อย่างนี้เป็นผลของการศึกษาที่ผิดพลาดมาในอดีต พอนึกออกไหม ที่ผมพูดมานี่ไม่รับรองว่าถูกนะ แต่นี่คือความเห็นของผม คนเห็นอย่างอื่นได้ ผมไม่ว่าอะไร
บทบาทของบุคลากรในระบบการศึกษาควรจะเป็นอย่างไร เพื่อรับมือต่อวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อๆ ไป
ที่จริงแล้วคำถามนี้จะโยงไปสู่เป้าหมายการศึกษา แล้วเป็นเป้าหมายที่สำคัญ สังคมจะเจริญก้าวหน้าถ้าหากพลเมืองทุกคนเป็น active citizen นี่คือหลักสำคัญ
ทีนี้ถามว่า active citizen หมายความว่าอย่างไร คำตอบก็คือเป็นคนที่เมื่อเห็นอะไรที่ควรจะได้รับการแก้ไข พัฒนา ปรับปรุง ก็ลุกขึ้นมาทำหรือชวนกันทำ พูดง่ายๆ เป็นคนที่ไม่นิ่งดูดาย ไม่นอนรอความช่วยเหลือ เป็นผู้ที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้ทำ แต่ว่าไม่ได้ทำคนเดียวนะ ร่วมกันทำกับผู้อื่น
ถ้าโยงไปถึงเรื่องการศึกษา การศึกษาที่จัดตามแบบเก่าจะไม่ค่อยสร้างคนให้เป็น active citizen เพราะเขาสอนว่าการเรียนคือการรับถ่ายทอดความรู้ เป็นการศึกษาแบบสมัยเก่า สมัยใหม่การเรียนต้องเป็นการเรียนโดยการลงมือทำ การคิด มีการเก็บข้อมูล นั่นคือรูปแบบการเรียนสมัยใหม่ที่โรงเรียนที่ดี ครูที่ดี ผู้บริหารที่ดีจะใช้รูปแบบนี้ แต่โรงเรียนเกือบทั้งหมดที่เรามียังสอนแบบเก่า พวกเขามองนักเรียนเป็นผู้รับ รับความรู้ รับการถ่ายทอด เป็น passive citizen จะเห็นว่ามันเป็นการวางนิสัยคน รูปแบบของการศึกษาในโรงเรียน ในชั้นเรียนแบบเก่า มักจะสร้างนิสัยแบบนี้ แต่ถ้าเป็นแบบใหม่จะสร้างนิสัยคนอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเปลี่ยนระบบการจัดการเรียนรู้ได้ พลเมืองไทยจะเป็นอีกแบบ ก็คือเป็น active citizen ประเด็นอยู่ตรงนี้
COVID-19 กระทบทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพจิต และการเรียนการสอน อาจารย์มองว่าเราต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้างในเชิงโครงสร้าง เพื่อประคับประคองไม่ให้ระดับ real sector แย่ลงไปกว่านี้
จากการที่ผมเข้าไปเกี่ยวข้องนิดหน่อยกับ กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) เขามีข้อมูลชัดเจนจากการไปเก็บข้อมูลทำวิจัย พบว่า เด็กที่เรียกว่า ‘ยากจนพิเศษ’ พ่อแม่ยากจนสุดๆ นั้น พอโรงเรียนเปิดไม่ได้ เด็กขาดอาหาร หมายความว่าเด็กกลุ่มนั้นอาหารที่บ้านไม่พอ ไม่มีนมดื่ม ฉะนั้นถ้าได้ไปโรงเรียนก็จะได้กินอาหารโรงเรียน แล้วก็ได้ดื่มนม เขาก็จะมีโภชนาการที่ดี แล้วพอเกิดเหตุการณ์ COVID-19 เด็กพวกนี้น้ำหนักลด ทำให้เห็นว่ามีเด็กที่เปราะบางขนาดนี้อยู่ ซึ่งเป็นผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อการศึกษาและโภชนาการของเด็ก ผมเองก็ไม่เคยนึกว่า ในสังคมของเราจะมีคนที่ยากลำบากถึงขนาดนี้
ผมเคยพูดในที่ประชุมบอร์ดของ กสศ. ว่า การที่ กสศ. ไปช่วยเขา เปรียบเสมือนไปให้ปลา พอเขาหิว ก็เอาปลาไปให้ วันเดียวกินหมด วันรุ่งขึ้นหิวใหม่ โอเค ให้ปลาก็ควรจะให้ แต่ว่าควรจะให้เบ็ดด้วย เพื่อให้เขาไปหาปลาในวันต่อๆ ไปได้ ให้เบ็ดในที่นี้หมายถึงให้การศึกษา ให้การฝึก อะไรทำนองนี้ อย่าลืมว่าการศึกษาที่สำคัญที่สุดคือการเป็นตัวของตัวเอง การขวนขวายช่วยเหลือตัวเอง สิ่งนี้สำคัญที่สุด ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือคนแก่อย่างผมก็สำคัญที่สุด ก็คือความมีจิตใจที่จะช่วยเหลือตัวเอง ไม่รอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเป็นที่ตั้ง เมื่อเราแข็งแรงพอสมควร เราก็ช่วยเหลือเจือจานคนอื่นด้วย ผมว่านี่คือเรื่องของการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดในสายตาผม
เหตุการณ์ COVID-19 นอกจากเราไปช่วยเหลือบรรเทาความยากลำบากแล้ว เราต้องไปช่วยให้เขาแข็งแรงขึ้น ช่วยตัวเองได้มากขึ้น เมื่อมีโอกาสก็ไปช่วยเหลือคนอื่นบ้างเล็กๆ น้อยๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่น่าจะให้ COVID-19 มาสะกิดเรา
ที่ผ่านมาเรารอให้รัฐเป็นผู้กระทำเป็นส่วนใหญ่ และน่าจะได้ผลน้อย ที่จริงแล้วพวกเราน่าจะช่วยๆ กันเอง แล้วพยายามหาทางกระตุ้นให้พวกเราชาวบ้านนี่แหละช่วยๆ กัน พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้คอนเซ็ปต์ของการเป็น agent เป็น change agent เป็นผู้ลงมือกระทำ แน่นอนว่าหลายครั้งเราก็ต้องไปกระตุกกระตุ้นภาครัฐว่าเข้ามาหนุนตรงนี้หน่อยสิ แต่ผู้ที่ทำ ผมคิดว่าน่าจะเป็นพวกเรากันเอง ประชาชนกันเอง พูดง่ายๆ ว่าเราไม่ควรจะฝึกคนให้แบมือขอความช่วยเหลือจากรัฐ พูดอย่างนี้ไม่ได้แปลว่ารัฐไม่สำคัญนะ รัฐสำคัญแน่นอน เพราะว่าเขาจะต้องเป็นคนดูแลระบบ และดูแลทรัพยากรส่วนรวม ทรัพยากรส่วนรวมก็มาจากพวกเรากันเอง ก็คือภาษีที่เราจ่ายทางตรงทางอ้อม เขาก็ไปดูแล เพราะว่าระบบสังคมมันซับซ้อน เขาก็มีความสำคัญ
กระนั้นก็ตาม เวลาเราจะทำเรื่องอะไร ต้องไม่เป็นคนรอความช่วยเหลือ ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คนไทยมีปัญหาอะไรก็ชี้ไปที่รัฐ ว่าคุณต้องมาทำอย่างนี้ๆ ส่วนฉันรอให้คุณมาทำ อย่างนี้ผมคิดว่าประเทศไม่เจริญ เราต้องทำให้คนของเราเป็นผู้กระทำ ทั้งหมดก็คือคำที่พูดตั้งแต่ต้นว่า active citizen