น้ำยารัฐไทยในยุคสมัยโรคระบาด

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 อยู่กับสังคมไทยมายาวนานเป็นระยะเวลาร่วม 2 ปี ส่งผลให้การดำเนินชีวิตหลายอย่างหยุดชะงัก รัฐบาลพยายามเข้ามาจัดการ ควบคุม ดูแล ยับยั้งการแพร่เชื้อของโรค มีการออกมาตรการเพื่อป้องกัน และเกิดโครงการรัฐต่างๆ เพื่อเยียวยา ทว่าบางครั้งมาตรการเหล่านี้กลับส่งผลกระทบซ้ำเติมชีวิตของประชาชน จนเกิดเป็นการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันว่า “การทำงานของรัฐมีน้ำยาหรือไม่” 

นำมาสู่วงเสวนาหัวข้อ ‘น้ำยารัฐไทยในยุคสมัยแห่งโรคระบาดและความท้าทายในอนาคต’ จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปี ผู้ร่วมพูดคุย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

รัฐบาลไทยทำได้ แต่ยังดีไม่พอ

ศาสตราจารย์วุฒิสาร แบ่งการทำงานของรัฐบาลไทยออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ระบบราชการที่มีอยู่ในการดำเนินกิจกรรม ส่วนที่สอง รัฐรวมเป็นศูนย์อำนาจ จนถึงเรื่องของการเมือง การเกิดสถานการณ์โรคระบาดทั้ง 3 เฟสที่ผ่านมาย่อมมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมาชำแหละแต่ละส่วน เพื่อดูว่าการทำงานที่ผ่านมาของรัฐบาลนั้นมีน้ำยาหรือไม่ ถ้ามี มีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มี ไม่มีอย่างไร 

  • เฟสที่ 1 สภาวะความไม่แน่นอน (uncertainly) พบเชื้อครั้งแรกที่สนามมวย ซึ่งเป็นสถานที่ถูกต้องตามกฎหมายจึงสามารถตรวจสอบผู้ติดเชื้อได้รัดกุม เป็นสภาวะที่ไม่มีการรับรู้ล่วงหน้า เพราะยังไม่เคยเจอกับโควิดมาก่อน เพราะฉะนั้นมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลในเวลานั้นจึงมีแค่รูปแบบเดียวในการแก้ปัญหา คือ การล็อคดาวน์และเคอร์ฟิว รัฐบาลมีความสุขและสบายใจกับการพบเจอตัวเลข 0 ของยอดผู้ติดเชื้อ สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ การแลกมาด้วยเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง แลกมาด้วยปัญหาการล่มสลายของภาคธุรกิจและภาคการท่องเที่ยว 
  • เฟสที่ 2 สภาวะการเรียนรู้ พบเชื้อที่บ่อน เป็นสถานที่ผิดกฎหมาย ไทม์ไลน์ไม่สามารถเปิดเผยได้ อีกที่หนึ่งคือมาจากแรงงานต่างชาติ เพราะฉะนั้นระบบการตรวจสอบผู้ที่ติดเชื้ออย่างเฟสแรกจึงทำไม่ได้ ขณะเดียวกัน เฟสที่ 2 ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างสุขภาพและเศรษฐกิจ จึงเกิด select lockdown หรือ select control กระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการ รัฐบาลมีการเรียนรู้เกิดขึ้น 
  • เฟสที่ 3 สภาวะของการตัดสินใจที่แตกต่าง เกิดคลัสเตอร์ขึ้นตามสถานที่ต่างๆ เช่น ทองหล่อ ซึ่งตอนนี้เชื้อเกิดกลายพันธุ์ ตรวจพบยากขึ้น ไม่แสดงอาการ ไม่สามารถตรวจสอบยอดผู้ติดเชื้อที่แน่นอนได้ มีการเข้ามาของเอกชนเพื่อเสนอการแก้ไขปัญหาต่างๆ

การแก้ปัญหาของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงมหาดไทย (ศ​บค.มท.) เป็นการแก้ปัญหาตามสถานการณ์ แก้ตามข้อจำกัดที่มีอยู่ การจัดการบางอย่างค่อนข้างช้า เป็นบทเรียนที่รัฐบาลจะต้องนำไปคิดต่อ นอกจากนี้ก็ไม่มีความเป็นเอกภาพในการจัดการ เช่น การจัดการเรื่องวัคซีนต้องเป็นระบบระเบียบมากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันการจัดการในสภาวะวิกฤติให้มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็วมากที่สุด ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความไม่รู้นั้นต้องมาจากการที่มีผู้นำเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ

“ผู้มีอำนาจหรือลีดเดอร์ต้องจัดการและควบคุมตัวแปรแทรกซ้อนให้ได้ในการตัดสินใจและแก้ปัญหาของโควิด

“นอกจากการควบคุมโรคแล้ว รัฐก็ต้องแก้ไขปัญหาระยะยาวให้ได้ เราต้องยอมรับก่อนว่าเรื่องงบประมาณ เรื่องของเงินกู้ที่รัฐกู้นั้น สัดส่วนเป็นเม็ดเงินที่เยียวยาแค่ระยะสั้น แต่การเยียวยาที่ทำให้เกิดความยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้น” 

ศาสตราจารย์วุฒิสาร เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์โรคระบาดแบบ the path to the next normal หรือ 5Rs ได้แก่ resolve (การแก้ปัญหา), resilience (การประคับประคองสังคมและเศรษฐกิจ), return (การกลับมาของสังคมใหม่), reimagination (การกล้าวิจารณ์ กล้าเสนอข้อแก้ไข) และ reform (การปฏิรูป, การกำหนดทิศทางอนาคต) ซึ่งการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยในตอนนี้เป็นเพียงแค่ resolve และ resilience เพียงเท่านั้น 

“ดังนั้นผมไม่ขอตอบคำถามว่า รัฐบาลมีน้ำยาหรือไม่ แต่ผมจะบอกว่ารัฐบาลมีการพัฒนาและปรับปรุง แต่การพัฒนาของเขาเป็นไปได้ช้าและขาดความเป็นเอกภาพ” 

เนื้อปลาในน้ำยา มีมากแค่ไหน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา เห็นพ้องต้องกันกับ ศาสตราจารย์วุฒิสาร เรื่องของการที่รัฐบาลเกิดการเรียนรู้ใน 3 ช่วงที่ผ่านมา แต่ค่อนข้างปรับตัวได้ช้า ขาดความเป็นเอกภาพ และไม่ได้ใช้บทเรียนช่วงก่อนหน้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ ยกตัวอย่างเช่น เรื่องการลดเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออก การบังคับให้สวมหน้ากากอนามัยทุกหนแห่ง รัฐบาลไม่ได้นำจุดผิดพลาดจากระลอกที่ 1-2 มาแก้ไขในระลอกที่ 3 เท่าที่ควร 

“หากจะให้เปรียบเทียบคือ ตอนนี้เรายังหาเนื้อปลาในน้ำยาไม่เจอ 

“การชื่นชมตัวเลข 0 จากยอดผู้ติดเชื้อ เพื่อบอกว่าเราจัดการได้ดี โดยระหว่างที่เราชื่นชมอยู่นั้น ต่างประเทศก็เกิดโควิดระลอก 2 ขึ้น ทำให้รัฐบาลบอกประชาชนว่าอย่าการ์ดตก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วประโยคที่ว่า อย่าการ์ดตก มันจะต้องใช้ไปด้วยกันทั้งรัฐบาลและภาคประชาชน” 

ประเทศไทยผ่านโควิดระลอกแรกมาได้ก็เพราะประชาชนร่วมมือกันเว้นระยะห่าง คนในสังคมร่วมมือกันเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส นอกจากนี้ก็เกิดจากการกระจายอำนาจให้ผู้มีอำนาจในพื้นที่นั้นๆ ดูแล เช่น การปิดหมู่บ้านโดยคำสั่งของผู้ใหญ่บ้าน การปิดจังหวัดโดยมาจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งหมดที่ว่านี้มีความเป็นเอกภาพที่มาช่วยยืนยันว่า การรวมศูนย์อำนาจไม่ได้หมายถึงเอกภาพในการบัญชาการและประสานงาน สองอย่างนี้แตกต่างกัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา ย้ำว่า “รัฐบาลไทยใช้ (อำนาจ) ไม่เป็น”

ผู้นำกับการสื่อสารในสภาวะวิกฤติ

การสื่อสารในสภาวะวิกฤติเป็นการสื่อสารที่เกี่ยวเนื่องกับอนาคต ไม่ใช่การสื่อสารในอดีต และสื่อสารแค่เพียงปัจจุบัน ⎯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา ชี้

“ทุกวันนี้เราฟังอะไร เราฟังแต่ตัวเลขผู้ที่ติดเชื้อของเมื่อวาน เราไม่เคยได้ฟังเลยว่าขณะนี้วัคซีนอยู่ที่ไหน มีจำนวนเท่าไหร่ จัดสรรไปที่ไหน ตัดยอดกันอย่างไร ให้รอ…เรารอได้ แต่เมื่อไหร่ล่ะ

“เอกภาพไม่ได้เกิดจากคนคนเดียวที่เราต้องรอสั่งการ ประกาศว่าฉันจะยึดครองทั้งหมด เมื่อใครไม่ทำตามก็ไปว่าเขา แบบนี้ถือว่าไม่ใช่ เอกภาพของการประสานงานคือ ความหมายของคำว่าบูรณาการที่แท้จริง ไม่ใช่แค่เอาหน่วยงานมาประชุมที่เดียวกัน แต่เอกภาพต้องมีแนวทาง มีมาตรการ ในกรณีนี้คือการนำเทคนิคทางการแพทย์และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ใช้ร่วมกันเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนและต่อเนื่อง”

สังคมไทยเรียนรู้อะไรจากโควิด

ศาสตราจารย์วุฒิสาร กล่าวถึงบทเรียนที่คนไทยเรียนรู้จากสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยสรุปได้ดังนี้ 

  • การจัดการเชิงพื้นที่ พบว่า การแก้ปัญหาในบริบทของแต่ละพื้นที่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาได้ดีกว่า แต่ยังคงต้องการแนวปฏิบัติที่สำคัญคือ แนวปฏิบัติการจัดการภายใต้ฐานข้อมูลร่วมกัน ต้องเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย และตอบโจทย์
  • ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โควิดทำให้เห็นถึงความซับซ้อนของความเหลื่อมล้ำ กลุ่มที่เดือดร้อนใหม่เป็นกลุ่มที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การปิดร้านตัดผม การปิดร้านนวด แม้กระทั่งการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถตู้ แม่บ้าน ก็ล้มทั้งหมด นอกจากนี้ก็ยังมีส่วนของระบบเยียวยาต่างๆ ที่คนบางกลุ่มยังคงเข้าไม่ถึงและต้องแย่งชิงกัน เช่น กลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนเพื่อใช้ลงทะเบียนในโครงการเยียวยาของรัฐ ทำได้แค่มายืนรอหน้าธนาคาร “คนกลุ่มนี้คือกลุ่มคนที่ไม่รู้ว่า สถานีรถไฟอยู่ที่ไหน” 
  • การปรับวิธีการทำงานใหม่ ยกตัวอย่างเช่น การเรียนออนไลน์/การสอนออนไลน์ ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่การมีคอมพิวเตอร์หรือไม่มีคอมพิวเตอร์ แต่อยู่ที่วัฒนธรรมการเรียนออนไลน์อย่างมีคุณภาพ เช่น การมีความซื่อสัตย์ในการควบคุมตนเองเพื่อจะเรียนออนไลน์ให้จบคาบ วัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เราต้องคิดต่อไป 
  • พลัง/ทุนทางสังคมของไทยมีมูลค่า หลายๆ เรื่องในประเทศไทยถูกปลูกฝังด้วยคำว่า ‘ทำบุญ’ หรือ ‘จิตอาสา’ ยกตัวอย่างเช่น เดลิเวอรีเชิญชวนให้คนทำบุญผ่านการซื้อข้าวบริจาคให้กับบุคลากรที่ทำงานในโรงพยาบาลช่วงโควิด เมื่อคนไม่อยากออกจากบ้านเพื่อซื้อข้าว แต่คนต้องการที่จะทำบุญ สิ่งเหล่านี้เป็นเครื่องมือใหม่สำหรับการทำให้ธุรกิจดำเนินต่อ
  • การจัดการภายใต้ฐานข้อมูลร่วมกัน ต้องมีข้อมูลถูกต้อง ทันสมัย และต้องตอบโจทย์ ซึ่งต้องทำควบคู่กับการจัดการเชิงพื้นที่ 

“สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดดังที่กล่าวไป ถามว่ารัฐเป็นคนริเริ่มหรือเปล่า คำตอบคือไม่ มันเกิดขึ้นได้เพราะคนในสังคม เกิดขึ้นได้เพราะกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่รัฐบาล” ศาสตราจารย์วุฒิสารกล่าว 

การปรับตัวและขยับขยายของวงการธุรกิจ 

ดร.สมเกียรติ แบ่งสถานการณ์โควิด-19 ออกเป็น 4 ช่วง คือ 1) ช่วงควบคุมการระบาด 2) ช่วงฉีดวัคซีน 3) ช่วงเปิดเมืองฟื้นเศรษฐกิจ และ 4) ช่วงเข้าสู่โลกหลังโควิด นอกจากนี้ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงการคาดเดาสถานการณ์ต่อไปในอนาคต โดยใช้หลักการของ 4 ช่วงที่วางไว้เป็นเกณฑ์การวิเคราะห์ 

“ระลอกที่ 1-2 ในแง่ของเศรษฐกิจจะต้องมีการปรับตัวโดยธรรมชาติ เพราะถูกกระแทกจากโควิดขั้นรุนแรง ฉะนั้นอาจจะมีธุรกิจบางส่วนที่ต้องล้มละลาย และในเวลาเดียวกันจะมีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมา ทำอย่างไรถึงจะทำให้ธุรกิจใหม่เกิดขึ้นมาได้ เช่น เปิดเมืองกลับมาได้เร็ว เปิดแหล่งท่องเที่ยวกลับมาได้เร็ว

“เมื่อเข้าสู่โค้งที่ 4 โลกหลังโควิดจะเป็นโลกที่แตกต่างออกไป ต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ด้วยการทำวิจัยและการพัฒนา การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการฝึกทักษะแรงงานให้สูงขึ้น” 

กลไกของภาครัฐที่ต้องศึกษาไม่ต่างจากเชื้อไวรัส

นายแพทย์โกมาตร อธิบายถึงพฤติกรรมของรัฐบาลที่เป็นปฏิบัติการทางการเมือง เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเชื้อไวรัสอย่างเดียว กลไกของภาครัฐที่เราจำเป็นจะต้องศึกษาจึงไม่แตกต่างกับการศึกษาเชื้อไวรัส 

นายแพทย์โกมาตร กล่าวว่า รัฐสมัยใหม่ของไทยดำรงอยู่โดยอาศัยความชอบธรรม ความชอบธรรมที่ทำให้รัฐสามารถทำเรื่องต่างๆ นอกจากการมีอำนาจอยู่เหนือกลไกรัฐที่ใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรม เช่น การใช้อำนาจของ ตำรวจ ทหาร ยังมีอีก 3 เรื่องที่เรียกว่า ‘ไตรลักษณรัฐ’ เขียนโดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่อธิบายไว้ว่า 

  • ความมั่นคงสัมพันธ์กับความกลัว เกิดจากรัฐสร้างความชอบธรรมจากความกลัว 
  • มนุษย์ย่อมแสวงหาความสุข ความสุขที่ว่าคือ ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ยึดโยงกับการบริหารเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ 
  • ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การดำรงชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาล อย่างน้อยต้องมีศักดิ์ศรีและมีส่วนร่วม 

รัฐบาลไทยอยู่ในสภาวะที่มีภูมิคุ้มกันไม่ค่อยแข็งแรง เป็นผลพวงมาจากการเมืองช่วงปี 2549 ที่ทำให้รัฐบาลเสื่อมอำนาจลง รัฐไทยจึงแสวงหาความชอบให้ตนเองมาโดยตลอด 

“หากเชื่อมโยงกับไตรลักษณรัฐ รัฐไทยได้บริหารอำนาจเพื่อจะสร้างความชอบธรรมมากที่สุดโดยมุ่งประเด็นไปที่การสร้างสภาวะของความกลัว ความกลัวที่เกิดจากการคุกคามอะไรบางอย่าง เช่น ความกลัวเรื่องความมั่นคง ความกลัวคนชังชาติ จนอาจจะเรียกได้ว่า รัฐสร้างความชอบธรรมจากความกลัวจนกลายเป็นลักษณะสำคัญของรัฐไทยภายใต้สถานการณ์โควิด” นายแพทย์โกมาตรกล่าว

เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้น รัฐ โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการจะฉกฉวยโอกาสของโควิดเพื่อส่งเสริมอำนาจรัฐให้แน่นหนาขึ้น และให้ทุกสิ่งอยู่ใต้อำนาจรัฐอย่างแท้จริง ไม่ว่าเป็นคะแนนเสียงหรือเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน เพราะหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาสถานการณ์โควิดได้ จะทำให้รัฐนั้นเกิดความชอบธรรม 

มีการถกเถียงว่า รัฐแบบไหนจะสามารถจัดการบริหารงานในช่วงสถานการณ์โควิดได้ดีกว่ากัน ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วไม่ได้อยู่ที่ระบอบ แต่เป็นสถานการณ์ที่เรียกร้องประสิทธิภาพในการจัดการกับปัญหา 

“โควิดเป็นเรื่องที่เร่งด่วน เวลาบ้านกำลังไฟไหม้ เราคงไม่มาเถียงกันว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการแบบไหนจะดับไฟได้ก่อน แต่ควรจะวัดกันที่ประสิทธิภาพมากกว่ามานั่งมองระบอบ”

ระบอบการปกครองอาจจะไม่สำคัญเท่ากับ 3 ตัวแปร กล่าวคือ

  1. Leadership (ผู้นำ) ในสถานการณ์ที่ต้องการการตัดสินใจ จะต้องมีผู้นำที่เด็ดขาด กล้าตัดสินใจ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน 
  2. Transparency (ความโปร่งใส) อย่าทำอะไรให้เป็นเรื่องที่กำกวมและน่าสงสัยว่ามีผลประโยชน์อื่นแอบแฝงอยู่ ในที่นี้จะรวมไปถึงสภาวะของการไม่รู้ด้วยว่า หากไม่รู้ก็ควรที่จะบอกว่าไม่รู้ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหา สุดท้ายความโปร่งใสก็จะนำมาสู่ trust (ความเชื่อใจและไว้ใจ) 
  3. Public Mobilization (การขับเคลื่อนสาธารณะให้ไปด้วยกัน) สถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ไม่สามารถขับเคลื่อนคนเดียวได้ รัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาชน จะต้องร่วมมือกัน 

จากการประเมิน KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ การรับมือ และความพร้อม) ของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันต่อสถานการณ์โควิด โดยอ้างอิงจากแผนยุทธศาสตร์องค์การอนามัยโลก (WHO) ตามที่นายแพทย์โกมาตรได้ประเมิน พบว่า ได้ 49 คะแนน จาก 100 คะแนน 

“ผมอยากให้ประชาชนทุกคนลองเข้าไปทำแบบประเมินดูว่า เราจะให้คะแนนรัฐบาลสักเท่าไหร่จากเกณฑ์เรื่องต่างๆ ทั้งหมดที่นำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 ระลอกที่ผ่านมา เพราะถ้าเราประเมินออกมาแล้ว เราจะสามารถบอกได้ว่า รัฐบาลชุดนี้มีน้ำยาหรือเปล่า” นายแพทย์โกมาตร เสนอทัศนะ

การรับผิดชอบสังคมในความหมายของนักสังคมศาสตร์

ดร.สมเกียรติ ทิ้งท้ายด้วยคำถามว่า นักมนุษยศาสตร์และนักสังคมศาสตร์มีแนวทางใดที่จะเสนอการแก้ปัญหาเชิงรูปธรรมที่ไม่ใช่เสนอเพียงแค่วาทกรรม โดยผู้ที่ตอบคำถามคือ นายแพทย์โกมาตร ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร อธิบายว่า สังคมศาสตร์เป็นศาสตร์ที่กว้างขวาง เป็นศาสตร์ที่ช่วยให้เราเข้าใจบางเรื่อง และไม่จำเป็นที่จะต้องให้คำตอบ เพราะมีศาสตร์อื่นที่จะช่วยเพื่อเอาไปทำงานต่อให้เป็นคำตอบเชิงรูปธรรม 

“นัยยะหนึ่ง สังคมศาสตร์มีหน้าที่วิพากษ์ ไม่ได้มีหน้าที่เสนอทางออก

“คนที่จะนำเสนอทางออกสามารถนำข้อวิพากษ์ของนักสังคมศาสตร์ไปคิดต่อได้ เพราะการเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์ที่ถูกต้องนั้นค่อนข้างยาก เพราะจะต้องหาประเด็นให้แน่ชัด อย่างเช่น เราต้องการให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง อยากจะให้ระบบการศึกษาไทยดีขึ้น ถ้ามองในมุมนักรัฐศาสตร์ก็จะมองว่าปัญหาอยู่ระหว่างรัฐกับประชาชน

“เวลาพูดถึงเรื่องอนาคตหรือทิศทางที่เราจะเดินต่อไปข้างหน้า อยากเริ่มด้วยคำถามที่ว่า เราจะมีนโยบายต่อไปอย่างไรดี คำว่านโยบายไม่ใช่แค่ช่วยคนได้หรือไม่ได้ แต่ยังมีผลในเชิงอื่นๆ อีกด้วย กระบวนการเยียวยาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่ารัฐจัดการอย่างไรกับประชาชน รัฐเปลี่ยนความสัมพันธ์เป็นแบบการทำบุญ คือ นโยบายแบบรัฐให้ทาน เราก็ต้องลงทะเบียนเพื่อไปขอรับส่วนบุญจากรัฐ ลักษณะการออกนโยบายแบบนี้ไม่ได้เลวร้ายหากคนไม่มีเงิน การให้เงินก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อทำให้เขามีชีวิตต่อไปได้

“ถ้าหากเราสามารถวางนโยบายเรื่องการเยียวยาที่ดี เราจะไม่ได้การเยียวยาแบบเวทนานิยมอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่จะเป็นนโยบายที่เชิญชวนให้หน่วยงาน องค์กร และผู้คน เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” 

นายแพทย์โกมาตร สรุปประเด็นนี้ว่า โจทย์ของนักรัฐศาสตร์เรื่องโควิดไม่ได้เป็นโจทย์ที่ต้องให้ข้อเสนอเชิงนโยบาย หรือต้องลงไปแก้ปัญหาเป็นจุดๆ หากแต่เป็นเรื่องของกระบวนการที่ทำให้เกิด ‘พันธะความรับผิดชอบต่อสังคม’ หมายความว่า มีความกล้ารับผิดถ้าหากมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ซึ่งเป็นพันธะที่เกิดจากความผูกพันที่สังคมอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยสิทธิและเสียงของประชาชนจำเป็นต่อการการันตีว่า เขาจะสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เขาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และเขาจำเป็นต้องได้รับการดูแลในยามที่มีความจำเป็น 

“ทั้งหมดที่ว่ามานี้ เป็นเรื่องที่เราต้องคิดกันต่อในอนาคต ต้องสร้างระบบของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน โดยดำเนินไปอย่างถูกต้องบนพื้นฐานของการรับผิดชอบต่อสังคม” 

กัญญาภัค ทิศศรี
เรียนสื่อสารมวลชน โทข่าวและสารคดี ชอบฟังดนตรีสด สนใจสะสมโมเดลจากอนิเมะ

ณัฎฐณิชา นาสมรูป
นักศึกษากราฟิกดีไซน์ ผู้สนใจในเรื่องเพลง การเมือง และประเด็นทางสังคม เป็นคนพูดไม่เก่งแต่มีเรื่องราวมา Deep conversation กับเพื่อนเสมอ เมื่อก่อนชอบอ่านหนังสือมาก แต่ตอนนี้ชอบนอนมากกว่า

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า