ภาพอันพร่าเลือนของอนาคตผู้นำ (ไทย)

เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล
ภาพ: อิศรา เจริญประกอบ

 

“…ในทัศนะของ Dee Hock เชื่อว่า ความรับผิดชอบประการแรกที่สำคัญยิ่งของคนเป็นผู้นำก็คือ ต้องสามารถในการบริหารจัดการตนเองให้ได้เสียก่อนในเรื่องที่เกี่ยวกับอุปนิสัย (Character) ความซื่อสัตย์สุจริต (Integrity) ความอ่อนน้อมถ่อมตน (Humility) ความเป็นคนรอบรู้ (Knowledge)  การพูดจา (Words) และการกระทำ (Acts)

“ผู้นำต้องกล้าปฏิเสธต่อความคิดที่ว่า การบริหารจัดการ (Management) คือ การใช้อำนาจเหนือผู้อื่นที่อยู่ระดับล่างของตน แต่ภาวะผู้นำแบบเคออร์ดิก (Chaordic leadership) จะยึดเอาความสำคัญของภาวะผู้ตาม (Followership) เป็นหลัก ผู้นำจะอาสาเป็นผู้ทำให้เป้าหมาย (Purpose) เกิดความแจ่มชัดและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เป็นผู้คอยดูแลให้เป็นไปตามหลักการแห่งจริยธรรม (Ethical principles) ผู้นำแบบเคออร์ดิกยึดการมีสัมพันธ์ทุกทิศทางทั้งจากระดับล่างขึ้นบน (Upward) ระดับข้างเคียง (Sideward) และลงสู่ระดับล่าง (Downward) จะไม่ใช้วิธีควบคุมสั่งการ (Dictate) แต่จะทำหน้าที่ช่วยขจัดปัญหาอุปสรรคที่ขัดขวางต่อการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Synergy) เพื่อให้งานบรรลุผลสำเร็จด้วยดี…”

(บางส่วนจากบทความ ศิลปความเป็นผู้นำแบบเคออร์ดิก ของ รศ.สุเทพ พงศ์ศรีรัตน์ แปลและเรียบเรียงจาก The Art of Chaordic Leadership ของ ดี ฮ็อค)

หากนิยามนี้ คือความหมายของผู้นำที่ควรเป็น ผู้นำที่เรามี ที่เราเป็น ผู้นำนั้นเป็นแบบไหน?

เพื่อจะตอบคำถาม หรืออย่างน้อยก็คลี่คลายความหมายให้ภาพของผู้นำนั้นชัดเจนที่สุด ภายในงาน ‘มิตรภาพบนเส้นทางอุดมการณ์’ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (มคศน.) จึงได้เชิญ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มาร่วมฉายภาพคุณลักษณะของผู้นำที่พึงประสงค์ในหัวข้อเสวนาที่ชื่อ ‘ภาพอนาคตของผู้นำต่อสังคมไทย’ และมี นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ มาร่วมแลกเปลี่ยน


นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์

เราต่างมีภาวะผู้นำ

นพ.สมศักดิ์ เกริ่นนำว่า เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ผู้นำ’ และ ‘ภาวะผู้นำ’ อาจมีความหมายบางประการที่แตกต่าง แต่โดยส่วนมากแล้วเมื่อเรานึกถึงคำว่าผู้นำ ภาพในหัวเรามักจะเป็นผู้นำสูงสุด หรือผู้นำประเทศ มากกว่าความหมายเชิงอัตลักษณ์ของผู้นำ ซึ่งในทัศนะของ นพ.สมศักดิ์ มองว่าเป็นการนิยามที่ค่อนข้างแคบ โดยแนวคิดที่สำคัญของความเป็นผู้นำนั้น ควรหมายถึงสภาวะที่อยู่ในภายในตัวบุคคลอันหลากหลายของทุกๆ สังคม

กล่าวให้ชัดคือ ผู้นำไม่ควรจำกัดอยู่แค่ระดับประเทศ แต่ความเป็นผู้นำควรมีอยู่ในตัวคนทุกคน

“พูดอีกแบบก็คือ ทุกคนเป็นผู้นำได้ทั้งนั้น สำหรับผม ผมคิดว่าเราควรมาคุยในโจทย์ที่ว่าด้วยภาพอนาคตของภาวะผู้นำในผู้คนที่หลากหลาย ไม่ใช่เพียงแค่ผู้นำสูงสุดควรเป็นอย่างไร เพราะโจทย์เดิมนั้นอาจฟังดูแคบ และค่อนข้างสิ้นหวัง”

ในขณะที่ ศ.นพ.วิจารณ์ มองต่างออกไปว่า แท้จริงแล้วการที่ทุกคนได้มารวมตัวกันอยู่ ณ ที่นี้ เพราะล้วนแต่มีความหวัง หาได้สิ้นหวัง และเชื่อว่าทุกคนสามารถพัฒนา Leadership Skills ของตัวเองได้

และนี่คือหัวใจของการสร้างพลเมืองยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งผมขอนิยามความหมายของผู้นำว่า ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent สังคมที่ดีที่สุดในสายตาผมคือ ทุกคนเป็น Change Agent ได้ จะมากจะน้อย จะในบริบทไหนก็ตาม

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

มากกว่าความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าการที่ทุกคนจะสามารถนำการเปลี่ยนแปลงได้ คือ การสร้าง Transformation Agent นั่นคือ ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหน คุณสามารถนำความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงผู้คนรอบข้าง เพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม แม้จะเป็นเพียงสังคมเล็กๆ ก็ตาม และ คศน. หรือเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำภายใต้การนำของ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ก็พยายามทำเช่นนั้น

 

หมดยุคผู้นำในโลกเก่า

นพ.สมศักดิ์ เสริมต่อในประเด็นภาวะผู้นำที่หลายคนมองเห็นนั้นว่า “เป็นภาพที่ยังอยู่ในโหมดเก่าๆ” แต่ควรมุ่งไปสู่ประเด็นที่จะแสวงหาผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในความหมายใหม่ๆ โดย นพ.สมศักดิ์ ยกตัวอย่างการนำเสนอแนวคิดในเรื่องผู้นำของ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับผู้นำไว้ว่า ภาวะผู้นำอย่างเช่น อเล็กซานเดอร์มหาราช วินสตัน เชอร์ชิล หรือผู้นำในภาวะสงครามนั้นเป็นผู้นำแบบ role model ในยุคสมัยโบราณ แต่กลับไม่ค่อยมีคนคิดถึงผู้นำในแบบไอน์สไตน์ หรือคานธี ซึ่งเป็นผู้นำในเชิงความคิด เป็นผู้ที่นำไปสู่แนวคิดใหม่ๆ

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า ผู้คนโดยส่วนมากแล้วเมื่อมีคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมก็มักจะเพ่งไปยังผู้นำระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือมองไปแต่ที่ตัวผู้นำระดับบน ในขณะที่ชุดความรู้ที่นำมาสู่การปฏิบัติให้เกิดรูปธรรมชัดเจนนั้น เราก็มักมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะผู้นำระดับสูงอีกเช่นกัน ทั้งที่ชุดความรู้เหล่านั้นล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากการสั่งสมมาแต่อดีต

เราไม่ควรมองแค่ว่าใครคือผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เราควรมองไปถึงเรื่องการคงอยู่ ต่อเนื่อง และพัฒนา เพราะประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่คนที่ทำให้สิ่งนั้นเกิด แต่อยู่ที่คนที่ทำให้สิ่งนั้นมีความต่อเนื่องและพัฒนาต่อยอดไปได้

 

การเกิดขึ้นของผู้นำ

นพ.สมศักดิ์ เล่าต่อไปว่า ความเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่มีการถกเถียงกันว่า เหตุใดอเมริกาจึงได้ผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมา ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะสังคมอเมริกันก่อนการเลือกตั้งนั้นอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างย่ำแย่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องความกลัวของกลุ่มคนผิวขาว จนในที่สุดกลุ่มคนเหล่านี้ได้กลายมาเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญในการส่งทรัมป์ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ทั้งที่ก่อนหน้านั้น โพลล์ทุกสำนักต่างชี้ว่าเขาจะพ่ายแพ้

“ผมเชื่อว่านั่นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในหลายประเทศ อาจจะเรียกว่าฝ่ายขวาหรืออะไรก็ตามแต่ ประเด็นที่สองอาจเป็นปัญหาเรื่องระบบ Primary Vote คือผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ขอเพียงแค่มีเงิน หรือมีผู้สนับสนุนรายใหญ่แค่สองสามคนก็สามารถเข้าสู่สถานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้แล้ว จากเมื่อก่อนนี้ต้องมีฐานใหญ่ เพราะเขาห้ามมีสปอนเซอร์รายใหญ่ ทุกคนต้องได้สปอนเซอร์ฐานกว้างถึงจะเข้ามาได้ ฉะนั้น ผู้ลงสมัครจึงมองว่าแทนที่จะไปเอาใจคนฐานกว้าง ก็ไปเอาใจคนส่วนน้อยที่มีเงินสนับสนุนให้มาเป็นตัวแทนอำนาจได้ ซึ่งเรื่องนี้เราอาจนำไปวิเคราะห์กันได้ต่อ ว่าผู้นำแบบที่เราเจอในปัจจุบันนี้ เกิดจากเหตุปัจจัยอะไรที่เป็นเหตุปัจจัยจริง ไม่ใช่แค่เรื่องของคนที่อยากยึดอำนาจ หรือพูดอีกแบบก็คือ อาจจะมีฐานมวลชนอีกแบบหนึ่งก็เป็นได้ แต่อย่างที่ผมกล่าวไป ของพวกนี้ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเราเวลาพูดถึงเรื่องภาวะผู้นำ”

สอดคล้องกับทัศนะของ ศ.นพ.วิจารณ์ ที่กล่าวต่อว่า หากเรามุ่งแต่จะตั้งคำถามต่อภาวะผู้นำของประเทศก็คงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่ควรค้นหาว่าภาวะผู้นำในแบบที่คนทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้นั้นควรจะเป็นแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นผู้นำคนเล็กคนน้อย หรืออาจเป็นรูปแบบของเครือข่ายร่วมกัน

“ผมคิดว่าความหวังของประเทศหรืออนาคตของประเทศขึ้นอยู่กับคนเหล่านี้ นอกเหนือจากผู้นำระดับสูง หรือผู้นำรัฐบาล เราควรมาคุยกันถึงเรื่อง leadership ที่มีผลต่อบ้านเมืองของเราอย่างแท้จริง สิ่งไหนที่พวกเราทำได้เอง โดยที่ไม่ต้องโยนลูกให้คนอื่นที่เราไปแตะเขาไม่ได้ เราน่าจะมาคุยกันว่า เรามองอนาคตของบ้านเมืองเป็นอย่างไร ยกตัวอย่าง ตอนนี้สิ่งที่เป็นจุดศูนย์รวมของประเทศไทยที่สุดก็คือ ‘ประเทศไทย 4.0’ แปลว่า เราต้องการให้ประเทศของเราก้าวกระโดด พ้นกับดักความยากจนในทางเศรษฐกิจสังคม อย่างที่เรียกว่ามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แต่ถ้าประเทศไทยยังดำเนินอยู่อย่างที่เป็นในปัจจุบัน ผมเชื่อว่าเราจะต้องติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางแบบนี้ไปชั่วกัปชั่วกัลป์” ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

ผู้นำหรือระบบ?

คำถามหนึ่งถูกโยนขึ้นกลางวงเสวนา ด้วยข้อสงสัยของ นพ.โกมาตร ที่ว่า แท้จริงแล้วสังคมไทยกำลังขาดแคลนภาวะผู้นำ หรือเป็นเพราะระบบโครงสร้างของสังคมล้มเหลวกันแน่

“มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าทุกคนต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำ ทุกคนต้องเหนื่อยหมดเลย แต่ถ้าเรามีระบบที่ดี เราอาจไม่ต้องเหนื่อยกันมาก เพราะทุกวันนี้ระบบมันแย่ คนจึงต้องออกมาเรียกร้องหาผู้นำ” นพ.โกมาตร นำเสนอในอีกมุมมองเพื่อสะท้อนสภาวะของสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรับผิดชอบ’ ของผู้นำในภาครัฐ โดยยกตัวอย่างสั้นๆ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสในประเทศญี่ปุ่น ที่มีกฎหมายเป็นกฎหมาย คนใช้อำนาจผิดก็รับผิดชอบด้วยการลาออก

หากเราบอกว่าทุกคนควรเป็นผู้นำ อาจเหมือนเป็นการผลักภาระไปให้ทุกคนหรือไม่ ขณะที่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย ผมกำลังรู้สึกว่าสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญในปัจจุบัน เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครรู้เลยว่า อะไรคือเรื่องที่สำคัญ มันเป็นสถานการณ์ที่มีทั้งความซับซ้อน สับสนอลหม่าน ไม่แน่ไม่นอน เปลี่ยนแปลงเร็ว

นพ.โกมาตร โยงกลับไปที่ประเด็นประธานาธิบดีสหรัฐเพื่อยกให้เห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่อลหม่าน ไม่แน่นอน และไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวเช่นนี้ จึงทำให้ทุกฝ่ายต่างงุนงงกับการได้รับเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งสวนทางกับโพลล์ทุกสำนัก และฉีกทุกทฤษฎีของนักวิชาการที่ต่างวิเคราะห์ผิดพลาด

“เรื่องนี้ทำให้ผมกลับมานั่งคิดว่า ยุคนี้เป็นยุคที่ไม่มีใครผูกขาดอำนาจความรู้คนเดียวได้อีกต่อไป เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เชื่อมโยงกันจนกระทั่งเราไม่สามารถคาดเดาได้ ทฤษฎีที่เราเคยศึกษาก็อาจจะล้าสมัยไปแล้ว เราไม่สามารถเอาวิธีการสำเร็จรูปที่เคยทำสำเร็จในอดีตมาใช้อีกได้ เพราะทุกพื้นที่มีความซับซ้อนและมีลักษณะเฉพาะที่ต่างกัน” นพ.โกมาตร บอก

สบตากับความจริง

“กรณีที่ต้องยกตัวอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ แม้จะผิดที่ผิดทาง แต่เพราะเป็นตัวอย่างที่ดี เราจะไม่ได้ต้องมาพูดถึงประยุทธ์ เพราะเราไม่รู้จะคุยกับเขายังไง หรือคุยแล้วอาจจะไม่ปลอดภัย แต่ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องพูดคุยกันถึงสถานการณ์ที่สัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เพราะถ้าเราจะสร้างผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง เราคงไม่อาจแยกเป็นอิสระจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจใดๆ หรือแยกเป็นอิสระจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ใช่อย่างนั้น และเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรพูดถึง ถึงแม้ว่าแต่ละคนอาจคิดไม่เหมือนกัน”

นพ.โกมาตร กล่าวต่ออีกว่า เครือข่ายผู้นำที่เข้าร่วมใน คศน. มาจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความคิดหลากหลาย ไม่นับความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง และมีความคิดต่อวาทกรรมเรื่องประเทศไทย 4.0 ที่ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น จึงไม่ควรละเลยหรือหลีกเลี่ยงประเด็นการเมืองที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า และควรได้รับการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง แม้ว่าต่อให้มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันสุดขั้วอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือ หากเป้าหมายนั้นเป็นเป้าหมายเดียวกัน ไม่จำเป็นที่จะต้องแยกทางกันเดิน เหมือนดั่งชื่องาน ที่ว่า ‘มิตรภาพบนเส้นทางอุดมการณ์’

 

ภาพสะท้อนของอนาคต

ที่สุดแล้ว แม้ไม่อาจมีคำตอบถึงภาพของผู้นำแบบสำเร็จรูปจากทั้ง ศ.นพ.วิจารณ์ นพ.สมศักดิ์ และ นพ.โกมาตร ที่ต่างสะท้อนภาพของผู้นำในมุมของตน แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นพ้องต้องกันคือ คนทุกคนสามารถสร้างภาวะความเป็นผู้นำในตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาภาครัฐ ไม่จำเป็นต้องรอให้รัฐสร้างระบบสวัสดิการหรือบริการสาธารณะต่างๆ แต่เพียงฝ่ายเดียว หากอยู่ที่คนทุกคนซึ่งสามารถเริ่มต้นสิ่งต่างๆ เหล่านั้นด้วยตัวเองได้

นพ.โกมาตร มองว่า นอกจากความร่วมมือกันของภาคประชาชนหรือภาคประชาสังคมแล้ว เราทุกคนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า จะเอาอย่างไรกับสภาวะการเมืองในปัจจุบัน ไม่ควรมองข้ามปัญหาฉ้อฉลต่างๆ ที่เกิดขึ้น และไม่ควรนำเอาความแตกต่างทางอุดมการณ์มาเป็นอุปสรรคในการทำงานเพื่อสังคม

บางที ผู้นำในนิยามของ ดี ฮ็อค อาจมีอยู่ในตัวเราทุกคนจริงๆ และเป็นไปได้เช่นกันที่คนคนหนึ่งจะมีทั้งภาวะผู้ตามและผู้นำ ประเด็นที่น่าใคร่ครวญคือ มากน้อยแค่ไหนที่คนเป็นผู้นำจะสำนึกถึงเสียงของผู้ตามในตัวเอง เป็นไปได้เพียงไรที่คนเป็นผู้ตามจะคำนึงได้ถึงเสียงของผู้นำที่เขาไม่เคยคิดว่ามี

แล้วต่างระลึกได้ว่า โดยแท้แล้วทั้งหมดล้วนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมเหมือนๆ กัน

บางที คำตอบของอนาคตอาจมาถึง…ในสักวัน

…บางที

 

 

การเรียนรู้บนเส้นทางอุดมการณ์

เพื่อจะเรียนรู้และถ่ายทอดหัวใจของความเป็น ‘ผู้นำ’ ให้กับสมาชิกที่เข้ามาเรียนรู้กับ คศน. ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ และ นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ จึงร่วมกันถ่ายทอดความหมายและคุณค่าในการถักทอเครือข่ายผู้นำ เพื่อรวมพลังสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกัน

 

กำเนิด คศน.

นพ.วิชัย บอกเล่าว่า กำเนิดของ คศน.หรือเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ เกิดขึ้นภายหลัง นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2551 ด้วยความที่หมอสงวนมีคุณูปการต่อวงการสาธารณสุข โดยเฉพาะเป็นผู้ผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 หมอสงวนปฏิเสธที่จะเข้าป่าร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ ซึ่งนำไปสู่คำถามทางจริยธรรมที่หมอสงวนได้ตอบด้วยการไปเป็นแพทย์ชนบทที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อยู่ 5 ปี ก่อนจะเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทในปี 2528-2529 และทำงานในด้านนี้เรื่อยมากระทั่งได้เป็นเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คนแรก จนกระทั่งประสบโรคมะเร็งปอดที่คร่าชีวิตในที่สุด

“ระบบบัตรทองสร้างขึ้นโดยคนที่เป็นมะเร็ง และทนทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บแสนสาหัส ทุกข์ใหญ่มากเลยทีเดียว”

การเสียชีวิตของหมอสงวนทำให้ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวว่า เป็นการสูญเสียผู้นำในวงการสาธารณสุขไปคนหนึ่ง และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่นำมาสู่การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง

นพ.วิชัย เล่าต่อว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นเมื่อปี 2485 จนถึงปี 2535 จึงเกิดองค์กรที่ทำงานด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ เพราะลำพังกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนได้อย่างทั่วถึง

“มันเป็นองค์กรที่เรียกว่ามาถึงขีดสุดแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์”

ท่ามกลางการผลักดันให้เกิดองค์กรใหม่ๆ นี้เอง สปสช. ภายใต้การนำของหมอสงวนจึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งหลักของความเป็นผู้นำประการหนึ่งที่ นพ.วิชัย บอกกล่าวไว้ก็คือ หมอสงวนนอกจากการจะเป็นคนที่ทำงานเก่งแล้วยังเป็นคนที่รู้จักทำงานกับผู้มีอำนาจ สามารถโน้มน้าวให้ผู้มีอำนาจไว้วางใจ จนนำเสนอนโยบายที่ตนเองต้องการได้

นพ.วิชัย โชควิวัฒน์

ประสบการณ์ที่หล่อหลอม

นพ.วิชัย เล่าประสบการณ์ส่วนตัวเมื่อครั้งเรียนจบแพทย์แล้วไปทำงานใช้ทุนอยู่ 3 ปี ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2508 ซึ่งแพทย์ในช่วงนั้นต่อต้านกันมาก เพราะมองว่าเป็นการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ทว่าจากการถูกบังคับให้ไปทำงานเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลตามต่างจังหวัดในห้วงยุคที่ขาดแคลนงบประงานเช่นนั้น กลับทำให้ นพ.วิชัย ค้นพบภาวะของการใช้ชีวิตผ่านการทำงานแทบทุกอย่าง ไม่เคยนอนหลับเต็มตา และไม่เคยได้รับค่าเวรทั้งกลางวันและกลางคืน ด้วยบุคลากรทั้งโรงพยาบาลที่มีเพียง 4 คน ทำให้ นพ.วิชัย ต้องทำงานแม้แต่การล้างห้องน้ำ แก้ไขปัญหาส้วมเต็ม

นพ.วิชัย ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานที่แฝงแนวคิดสมัยแพทย์ชนบทไว้ว่า ในยุคนั้นเมื่อยังอยู่ตามต่างจังหวัด หมอที่ไปทำงานด้านนี้ต่างรักใคร่กลมเกลียวกันดี จนกระทั่งเมื่อต้องย้ายเข้ามาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข ความสัมพันธ์จึงเริ่มเปลี่ยนแปลง ฉะนั้น ในการทำงานร่วมกัน จึงจำเป็นที่จะต้องมีระยะห่างที่พอเหมาะพอควร

หลักสูตรที่ไม่ตายตัว

หลังจาก นพ.วิชัย ชักชวน นพ.โกมาตร ให้มาร่วมกันออกแบบหลักสูตรสำหรับสร้างผู้นำ และต่อมาจึงก่อตั้งเป็นเครือข่ายขึ้น

ด้วยความที่สถานการณ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หลักสูตรของ คศน. จึงไม่อาจมีกรอบที่ชัดเจน หรือระบุลงไปให้แน่นอนได้ว่าเมื่อคุณก้าวเข้ามาเป็นเครือข่ายแล้ว คุณจะได้กรอบความคิดหรือเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่ชัดเจน หากแต่ถูกออกแบบมาภายใต้คำขวัญที่ว่า ‘มิตรภาพบนเส้นทางอุดมการณ์’ โดย นพ.โกมาตร อธิบายไว้ว่า มิตรภาพบนเส้นทางของอุดมการณ์มีนิยามอยู่ 2 ข้อ คือ

  1. ต้องได้รับการเสนอชื่อเข้ามาผ่านองค์กรที่มองเห็นแล้วว่าเป็นบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ มีอุดมคติร่วมกันที่จะมาช่วยกันสร้างสรรค์สังคม ไม่ถือเป็นเรื่องนิ่งดูดายได้
  2. มิตรภาพที่ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะผู้จบหลักสูตรในรุ่นนั้นๆ ปัจจุบันหลักสูตร คศน. ดำเนินมาถึงรุ่นที่ 6 แล้ว สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญตลอดทุกหลักสูตรคือ การพยายามสร้างมิตรภาพให้เกิดขึ้น และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ก่อให้เกิดการช่วยเหลือเกื้อกูล เปรียบเสมือนลมใต้ปีกที่จะคอยพยุงเพื่อให้สามารถบินต่อไปถึงฝันที่มีร่วมกันได้

“สองอย่างนี้ก็คือ มิตรภาพและอุดมการณ์ เพราะการเดินทางระยะไกลต้องการแรงเกื้อกูลกันและกัน เป็นเพื่อนร่วมเดินทางชีวิต” นพ.โกมาตร กล่าว

 

Author

นิธิ นิธิวีรกุล
เส้นทางงานเขียนสวนทางกับขนบทั่วไป ผลิตงานวรรณกรรมตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยายหลายเล่ม ก่อนพาตนเองข้ามพรมแดนมาสู่งานจับประเด็น เรียบเรียง รายงานสถานการณ์ทางความรู้และข้อเท็จจริงในสนามออนไลน์ เป็นหนึ่งในกองบรรณาธิการที่สาธิตให้เห็นว่า ข้ออ้างรออารมณ์ในการทำงานเป็นสิ่งงมงาย

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า