หลากเรื่องเรียก ‘teen’ กับเพจมนุษย์กรุงเทพฯ

เรื่อง: ณิชากร ศรีเพชรดี / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

“ผมมักปฏิเสธเสมอว่า เราไม่ได้ทำเพจเพื่อสังคม เราทำเพื่อตัวเอง ผมลงไปคุย ผมได้เรียนรู้ ผมขจัดความกลัวในการเข้าหาคน ผมเจออีโก้ ทั้งหมดนี้คือทำเพื่อตัวเองล้วนๆ ถ้าเกิดทำเพื่อสังคม โฟกัสว่าเราจะเปลี่ยนแปลง เราจะทำเพื่อคนอื่น วันหนึ่งอิมแพคมันไม่ได้เกิดอะไรขนาดนั้น มึงเสียใจนะว่อย ผมจะรู้สึกว่า ทำไมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

“ถ้าผมไม่โฟกัสการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ โฟกัสแค่ตัวเอง แค่การสื่อสารในกลุ่มเล็กๆ มันทำได้เรื่อยๆ ไม่รู้ว่ะ… คือเราไม่ได้หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรเลย เปลี่ยนได้เหรอ? ต่อให้เรามียอดไลค์เป็นสิบล้าน มันก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเราทำเพื่อตัวเองทั้งหมดนะ มันมีอิมแพคบางอย่างที่เราชื่นชูใจอยู่ เออดีว่ะ ทำแบบนี้ แล้วมันเกิดบางอย่าง”

 

 

นี่คือบทสัมภาษณ์ที่มีคำตอบ 3-4 ย่อหน้า อย่างเพจ ‘มนุษย์กรุงเทพฯ’ คำถามเกี่ยวกับเรื่องความฝัน ความสุข ความคาดหวัง หรือความบอบช้ำในชีวิต ที่เขา ปอม-ขวัญชาย ดำรงค์ขวัญ เที่ยวเดินไปตามท้องถนน หรือแอบส่อง (โดยเฉพาะสาวหน้าใส) ชีวิตของคนที่น่าสนใจ แล้วติดต่อกลับไปสัมภาษณ์ เป็นเวลาเกือบสามปี

และเพราะชีวิตของคนกว่าหนึ่งร้อยเจ็ดสิบชีวิตถูกบันทึก รับรองการมีตัวตน ประทับตราลงบนปกในชื่อ มนุษย์กรุงเทพฯ แล้วอย่างเต็มภาคภูมิ

บทสัมภาษณ์ขนาด (ไม่ได้ตั้งใจให้) ยาวนี้ จึงอยากจะจัดอันดับ ranking เรื่องเล่าที่เรียกตีน ยอดไลค์ น้ำตา ความชมชอบในความเท่ เรื่องเล่าที่มักถูกปฏิเสธ ความชุ่มชื่นใจส่วนตัวทั้งต่อคนสัมภาษณ์ และปฏิกิริยาตอบกลับจากผู้อ่านในโลกยุค 4.0

จุดประสงค์มีอยู่ว่า นอกจากเพจมนุษย์กรุงเทพฯ จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ดราม่ารวมหมู่รายวัน และเฉพาะชื่อเพจก็เหมือนจะจำกัดความเป็น ‘คนใน’ และ ‘คนนอก’ ของมหานครกรุงเทพฯแล้ว แต่ข้อถกเถียงในเพจที่ไม่มีพรมแดนกั้นจังหวัด อาจสะท้อนให้เห็นสังคมไทยภาคใหญ่ๆ นอกจอมือถือและคอมพิวเตอร์ก็ได้

 

เรื่องแบบไหนที่มักเรียก ‘ตีน’

ถ้าตอบจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้น มักเป็นเรื่องที่ไต่เส้นศีลธรรมหรือไม่ก็ผิดแปลกไปจากมาตรฐานเลย ซึ่งคำว่าศีลธรรมมันไม่ใช่แค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เอาจริงๆ ก็แทบทุกเรื่องนะ แต่ที่มักเกิดขึ้นบ่อยๆ เช่นพวกเรื่อง ‘ศีลธรรมทางเพศ’ บ้านเรามีค่านิยมว่าต้องแต่งงานก่อนแล้วค่อยมีลูก ค่อยมีครอบครัว เรื่องที่มันไต่เส้นพวกนั้น หรือผิดไปจากความคาดหวังของสังคม ก็มักจะโดนด่า แต่ก็ไม่ใช่ทุกโพสต์ที่เกี่ยวกับประเด็นนี้จะโดนทั้งหมดนะ

แต่เรื่องที่คาดการณ์ว่าต้องโดน และก็โดนแน่ๆ ก็คือเรื่องการเมืองนี่แหละ แต่เราจะไม่เอาการเมืองที่โคตรการเมืองมาลงนะ เพราะรู้สึกว่าเราต้องประนีประนอมกับคนอ่าน ปรับคอนเทนต์ให้เข้ากับคนอ่าน เพราะคนอ่านเพจก็จะเป็นสไตล์คนทั่วไป ไม่ใช่คอการเมือง ก็จะไม่ฟัน พูดลึก หรือชัดมาก…ซึ่งก็ยังโดนด่าอยู่ดี

มีคนบอกว่า “จะดีกว่ามาก ถ้าไม่พูดเรื่องการเมือง พอพูดเรื่องการเมือง ก็ทำให้เพจหมดคุณค่าไปเลย” ซึ่งเรามีความเชื่อว่า การเมืองเป็นเรื่องที่พูดได้ แต่ไม่รู้ว่าอะไรพัดพาให้บ้านเราพูดเรื่องการเมืองไม่ได้ แต่เราประนีประนอมนะ ไม่ตะบี้ตะบันลงแต่เรื่องการเมืองเพื่อเอาความสะใจกู แต่ประเมินว่าคนอ่าน รับได้แค่ไหน ก็ประมาณนั้น 

อย่างเรื่องที่ประเมินแล้วว่าต้องโดนด่า มีการเซ็นเซอร์เนื้อหาในระดับหนึ่งไหม

ประเด็นการเมืองที่เราเล่าแม่งบางมากนะ คือถ้าเทียบกับเพจประชาไท หรือ WAY เองก็ตาม เรารู้สึกว่ามันพูดได้ มันบางมาก ไม่ซับซ้อนเลย แต่ที่ผ่านมาเพจไม่ค่อยมีเรื่องการเมือง มันดูเป็นเรื่องมนุษยนิยมทั่วไป พอมันมีการเมืองมาปุ๊บ คนก็ตกใจ ถามว่าทำไมถึงเอามาลง เรารู้สึกว่าเรื่องการเมืองเป็นเรื่องที่พูดกันได้ดิ ทำไมพูดไม่ได้ล่ะ?

ยกตัวอย่างโพสต์แนวการเมืองที่เกิดวิวาทะในเพจจนเละเทะของ แมน-ปกรณ์ อารีกุล คุณได้วางแผนไว้แล้วหรือเปล่า ว่าถ้าคุยแนวการเมืองต้องเป็นไอคอนนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนนี้เท่านั้น

ไม่ เราเจอแมนโดยบังเอิญ คือเราจะมีประเด็นที่สนใจและคิดว่าควรพูดอยู่ในหัวเราประมาณหนึ่ง และถ้าไปเจอตัวละคร ก็จะลองเข้าไปถาม

เวลาที่เราพูดประเด็นไต่เส้นศีลธรรม มันจะไม่โดนทั้งหมด มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ค่อยด่าในเพจ แต่จะเข้ามา shape กันไปมา คนนี้บอกว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างนั้น

สมมุติคนบอกว่า ทำไมเพจต้องมีการเมืองด้วย เพจ Humans of New York ไม่มีการเมืองนะ ก็จะมีคนมาตอบว่า มึงเข้าผิดเพจแล้ว เพราะใน Humans of New York นี่การเมืองเพียบเลย

ซึ่งเราชอบมากเลยนะ มันเป็นการดีลกันเองระหว่างคนอ่าน

เออ…แต่อย่างเรื่องเซ็กส์นี่ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจเหมือนกัน เราคิดว่าจะโดนด่ามากกว่านี้ เพราะเขาเล่าชัดมาก ทั้ง free sex หรืออะไร ปรากฏว่าคนค่อนข้างเห็นด้วยกับมันพอสมควร จะมีประปราย 20-30 เปอร์เซ็นต์ ที่คอมเมนต์แบบผู้ใหญ่ๆ

แต่หลังๆ เวลาสัมภาษณ์ใคร ประเมินแล้วว่าเรื่องนั้นน่าจะโดนด่า เราจะบอกคนให้สัมภาษณ์ด้วยว่า อาจจะมีสิทธิ์โดนด่านะ พร้อมไหมถ้าจะเห็นหน้า บางคนก็พร้อม บางคนก็ไม่ แล้วแต่เคสไป

มีกรณีที่ไม่คิดว่าจะโดน แต่ก็โดนเสียเฉยๆ ไหม?

มีเรื่องหนึ่งพูดเรื่องการศึกษาทางเลือก ‘โฮมสคูล’ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ พูดกันมาเยอะแยะเลย เป็นมุมบวกและดูมีความหวังด้วยนะ แต่ชิ้นนั้นพูดเรื่องการไม่ส่งลูกไปเรียนในระบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่จริงๆ มันก็เป็นการศึกษาในระบบอย่างหนึ่ง คือให้การศึกษาโดยผู้ปกครอง แต่มันขัดแย้งกับมาตรฐานของคนในบ้านเรา อันนี้ก็จะโดนด่า

ถ้าผลิตเรื่องที่หมิ่นเหม่ศีลธรรม หรือเรียกตีนคนมากๆ กลัวไหมว่ายอดไลค์จะน้อยลง หรือไม่มีคนติดตามต่อแล้ว

เรามีคำถามเสมอเวลาที่ยอดไลค์หายไป หนึ่งคน สองคน ทำไม? เขาไม่ชอบเราแล้วเหรอวะ? นี่คือเมื่อก่อนนะ แต่ตอนนี้ก็ยังมีขึ้นมาอยู่นิดๆ ว่าเขา ‘unlike’ เพราะอะไร แต่เราก็หาคำตอบไม่ได้ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร อาจจะไม่ชอบเนื้อหา หรือไปเห็นบทสัมภาษณ์ของเราแล้วไม่ชอบหน้าไอ้นี่ก็ได้ (หัวเราะ)

คือเราก็ไม่รู้ แต่เราก็พยายามวางใจว่า มีคน unlike สิบคน แต่มีคน like เพิ่มขึ้นร้อยคน ก็มองแบบภาพรวมของเพจว่ายังมีคนติดตามอยู่…น่าหมั่นไส้เนอะ

แต่ก็โดยธรรมชาติของมนุษย์เนอะ นี่ไง…พูดเหมือนเข้าใจเลย คือเวลาเรามีคนชอบ เราไม่ค่อยถามว่าชอบเพราะอะไร มีคนชอบก็ดีใจว่าเขาชอบ แต่เวลามีคนเกลียด เราก็จะมีปัญหา ว่าเขาเกลียดเราเพราะอะไรวะ? ซึ่งจริงๆ มันน้อยใจไง เกลียดทำไมวะ (ทำเสียงและกิริยาร้องไห้)

เคยอยากลงไป ‘ไฝว้’ กับลูกเพจไหม?

มันมีหลายกรณีอยู่เหมือนกัน แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราเขียนชื่อย่อของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งผิด คือดันไปเขียนจุดหลังชื่อย่อ (ที่ถูกต้องไม่มีจุด) ซึ่งก็เป็นการเขียนผิดครั้งที่สองแล้ว มันก็เกิดการเถียงกันในเพจ แล้วมันไปไกลมาก มีการพูดถึงประวัติที่มาของชื่อมหาวิทยาลัย เรารู้สึกว่า ไม่ใช่ละ…มันไปไกลมากเลย

ลึกๆ เรามีความอยากไฝว้ตามประสาคนขี้โมโห แต่การตอบโต้ในนามเพจมนุษย์กรุงเทพฯ เราว่าเราตอบโต้ทุกอันด้วยดีหมดนะ เราพยายามจะทำให้มนุษย์กรุงเทพฯ เป็น Nobody อะ เป็นใครก็ไม่รู้ ไม่มีบุคคล ไม่มีผู้ชายคนนี้ จะพูดค่ากลางๆ ที่ไม่ไฝว้มาก ถ้าครั้งไหนอดใจไม่ไหว เราจะเปลี่ยนไปใช้เฟซบุ๊คส่วนตัวมาไฝว้ ไม่ได้หยาบคายนะ กลัวโดนด่ากลับ แต่ไม่ได้บ่อย

คุณบอกว่าคุณเป็นคนขี้รำคาญ ขี้โมโห จะรับมือกับความจุกจิกหรือบรรดาตีนในคอมเมนต์อย่างไร

เอ่อ… นี่ถามหรือปรักปรำครับ

แค่ชี้นำนิดๆ

เมื่อก่อนเราอยากอ่านทุกอันเลยนะ อยากเรียนรู้ว่าเขาคิดอย่างไร เหมือนกำลังเรียนหรือทำความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเหมือนกันว่าเขาคิดกับเรื่องนี้ยังไง มันจะเห็นร่องรอยบางอย่าง เห็นจุดร่วมของคนในเพจมนุษย์กรุงเทพฯ หรือสังคมไทยได้พอสมควร

มีพี่คนหนึ่งพูดว่า พอทำไปถึงจุดหนึ่ง มันจะเห็นจุดร่วมบางอย่างของวิธีการสื่อสารของคนในสังคมนั้นๆ เช่น เวลาเป็นเรื่องความอดทน หรือเรื่องคนเพิ่งผ่านวิกฤติอะไรมา มันก็จะมีคำว่า “สู้ๆ นะ” เต็มไปหมด ซึ่งไม่ผิดนะ

แต่เราคาดหวังให้คอมเมนต์มันเป็นพื้นที่ให้ได้แชร์เรื่องเล่าคล้ายๆ กัน ซึ่งมันเกิดขึ้นบ้างเป็นบางครั้ง สมมุติเรื่องเล่าว่าแม่เป็นเมียน้อย การที่พ่อหรือแม่ไม่ได้เป็นคู่สมรสหลักของบ้าน มันส่งผลต่อชีวิตเขาอย่างไร ถ้าสมมุติมันมีการแชร์กันในคอมเมนต์เรื่อยๆ โยนไปแล้วเกิดการถกเถียงในนั้น เราว่าจะดี

เรื่องแบบไหนที่ได้ยอดไลค์สูงสุด

ไลค์เยอะสุดก็เป็นเรื่องของ ชัชชาติ (ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม) กับ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ แต่ก็ไม่ได้เล่าเรื่องเล่าทั่วไป ก็จะมีประเด็นอะไรที่น่าสนใจอยู่

แต่เรื่องที่มักได้ไลค์เยอะๆ มักเป็นเรื่องที่เห็นถึงความอดทน สู้ชีวิต อย่างเรื่องคนแคระที่เจอกันโดยบังเอิญ แล้วเราก็คุยกันสั้นมาก 5-7 นาที แต่คนไลค์เป็นหมื่น ซึ่งโพสต์นั้นเราต้องการสื่อสารว่า ความฝันของเขาเป็นเรื่องปกตินะ ใครๆ ก็มีได้ ปรากฏว่าคนก็ไปชื่นชมเขาในฐานะคนสู้ชีวิต

คิดว่าคนอ่านจะรับรู้ไหม ว่าคุณต้องการสื่อสารว่า ‘ความฝันของเขาเป็นเรื่องธรรมดา’ ไม่ใช่แง่ของการสู้ชีวิต

มีคนเคยบอกเราว่า คอนเทนต์ของเพจคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนอยู่ในเนื้อหา และคนพิการก็ไม่ได้น่าสงสารมากขนาดนั้นในเพจ ซึ่งเราไม่ได้คิดหรอก แม่งฟลุค เราแค่ทำด้วยความเคารพเขา ให้เกียรติเขา

ที่ไม่อยากให้คนให้สัมภาษณ์ดูน่าสงสาร มาจากความตั้งใจว่าอะไร

ก็เขาไม่ได้น่าสงสาร

คือรู้สึกตั้งแต่ต้น ว่าเขาไม่ได้น่าสงสาร ไม่ได้น่าเวทนาใช่ไหม

ผมว่าเราทุกคนถูกหล่อหลอมว่าคนบางกลุ่มเป็นคนน่าสงสาร เช่น คนพิการ คนเพศที่สาม คนไร้บ้าน ซึ่งจริงๆ แล้ว พูดภาษาวิชาการที่ดูเหมือนจะมีความรู้นะ มันเป็นผลผลิตของโครงสร้างบางอย่าง ที่ทำให้เป็นแบบนั้น

คนพิการจะไม่รู้สึกว่าเขาพิการและน่าสงสาร หากว่าทุกบันไดมีทางลาด มีลิฟต์ มีถนนดีๆ เขาจะไม่ใช่คนที่น่าสงสาร เขาแค่เดินไม่ได้ แต่พอคนพิการไปไหนไม่ได้ มันน่าสงสารจริงๆ ภาษาที่สถาปนิกชอบพูด คือ คนไม่ได้พิการ สิ่งแวดล้อมต่างหากที่พิการ

หรืออย่างคนไร้บ้าน มันเป็นผลพวงจากเศรษฐกิจภาพใหญ่ ที่เกษตรกรทำเกษตรไม่ได้ก็ต้องเข้าเมือง หรือโครงสร้างครอบครัวที่ตึงมากจนต้องมีคนเด้งออกมา คนจะบอกว่า น่าสงสารนะ เอาข้าวไปให้ ซึ่งการให้ข้าวเป็นการสงเคราะห์แบบหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ผิดนะ ให้ได้ แต่พอเอาไปให้แล้ว สงสารจัง ได้บุญ… อันนี้แย่

คุณบอกว่าเพจมนุษย์กรุงเทพฯ สนใจห้าประเด็นหลักๆ คือ คนพิการ ผู้ป่วยจิตเวช เพศที่สาม ผู้ต้องขัง คนไร้บ้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่คนเรามีแนวโน้มจะรู้สึกสงสารได้

ทั้งหมดมันเป็นเรื่องที่เราเคยอคติ หรือเคยสงสารเกินจริง ชนิดที่ สงส้าน… สงสาร เราว่าตัวเราเองไม่น่ารักเลย สมัยเด็กๆ เราก็เกลียดตุ๊ด พอโตมาก็รู้ว่า มึง…โคตรอคติเลย นิสัยแย่ว่ะ คนไร้บ้านก็แบบ…ขึ้นรถเมล์ด้วยกันแล้วเหม็น เหม็นแล้วก็รังเกียจ คือมันควรหยุดแค่เหม็นไง ไม่ใช่รังเกียจ

เราก็เคยตั้งใจไปนั่งข้างเขา ใช้เวลาสิบห้านาทีเพื่อบอกว่า กูแค่เหม็นนะ แต่ก็ได้แค่ครั้งนั้น เพราะครั้งต่อมาเราก็เผลอรู้สึกเป็นอื่นกับเขาอยู่ดี ประเด็นเหล่านั้นล้วนเป็นเรื่องที่เราเคยไม่โอเค อคติ และการเมืองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราไม่ค่อยสนใจ ทั้งที่มันเกี่ยวข้องกับทุกคนมากเลย

ซึ่งเรื่องแบบนี้มัก ‘เรียกน้ำตา’ ด้วย?

เรียกน้ำตา เราก็ตอบไม่ได้ว่ะ แต่คิดว่าเรื่องเล่าที่ดี คนอ่านต้องเห็นตัวเองในเรื่องเล่าอะ แล้วเวลาเราคุยกับใครแล้วเห็นตัวเองในนั้น มันขนลุก…ไม่ได้ปวดขี้นะ ขนลุกคือเหมือนเราเศร้าไปด้วย

เราฟังใคร เราจะอินไปกับเขา พยายามนึกภาพว่า ถ้าเราเป็นเขา เราจะรู้สึกอย่างไร หลายครั้งสัมภาษณ์แล้วจะรู้สึกว่า ขนลุก เห็นใจ ถ้าเป็นเขา เราคงเจ็บปวดมากเลยนะ

เคสล่าสุดที่เขาโดนรถชนแล้วหน้าเขาเปิด ตอนที่เขาเล่าว่า เขาไม่เคยเห็นหน้าตัวเอง แต่พอเพื่อนมาเห็น แล้วกรี๊ด เขาบอกว่า “กรี๊ดทำไม กูเป็น มึงไม่ได้เป็น” แต่พอเขาได้เห็นตัวเองในห้องน้ำ เขาเล่าว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะดูเพราะรู้ว่ามันแย่ แต่พอเหลือบไปเห็น เขากรี๊ดเลย คือเรานึกภาพตามแล้วใจสั่น มันเศร้านะ

คนชอบบอกว่า ‘ไม่เป็นไร คุณยังโชคดีที่มีชีวิตอยู่’ เราแบบ ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อนเลยนะ แต่คนที่เคยสวยแล้วมาเป็นแบบนี้ เฮ้ย…มันโหดร้ายมากเลยนะ

เป็นนักสัมภาษณ์ประเด็นเหล่านี้ มักเจอแต่เรื่องเศร้าๆ หรือเปล่า

ไม่เสมอไป เราพยายามจะไปเจอเรื่องอื่นๆ หลายๆ เรื่องด้วย แต่เราว่าเรื่องเศร้ามันจะเห็นบทเรียนบางอย่าง อันนี้เป็นความเชื่อเรา หมายความว่าหลายๆ คำถามมันจะ shape ไปในทางนั้น

อีกแบบคือ นี่กูถามให้มันสนุกแล้วนะ แต่มึงไม่สนุกกับกูเลยอะ เช่น เราจะถามผู้ชายคนหนึ่งว่า เจอเมียได้อย่างไร อยากเอามาเล่าให้มันน่ารักๆ เป็นผัวเมียในวันวาเลนไทน์ แต่พอถามแล้วเขากลับเล่าว่า ฆ่าคนตายมา…ก็ต้องฟัง ซึ่งมันก็ดาร์คมาก

อาจเพราะ มนุษย์กรุงเทพฯ ให้ความรู้สึกเป็นพื้นที่ให้ระบายอยู่แล้วหรือเปล่า  

เออ…มีคนหนึ่ง เราคุยกันเกินไปกว่าที่ต้องการแล้วพอสมควร เขาก็บอก พี่…คุยกันก่อน ไม่ค่อยมีใครฟังเรื่องของผมหรอก

แล้วเรื่องเล่าแบบไหนที่คุณมักรู้สึกว่า แม่ง…เท่จัง

ผมชอบคนที่ลงมือทำและซื่อตรงกับความเชื่อตัวเอง โคตรชอบเลย คนที่ชอบเครื่องเขียน แล้วลงมือเปิดร้านเครื่องเขียน แม่งโคตรเท่เลย พ่อที่เชื่อว่าการโฮมสคูลมันจะดีต่อลูก แล้วลงไปคลุกคลีอยู่กับมัน ก็โคตรเท่เลย

และเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับคอนเทนต์ด้วยนะ คือ ถ้าคนเชื่อในธรรมกาย แล้วศรัทธา แล้วกล้าพูดอย่างชัดเจนว่ากูชอบ และบอกได้ว่าชอบเพราะอะไร โดยที่ไม่ต้องไปเหน็บแนมคนอื่นด้วยนะ แม่งโคตรเท่เลย

มันก็จะมีคนถามว่า แล้วถ้าเขาเชื่อในสิ่งที่ผิดอยู่ล่ะ เราก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ถ้าเขาเชื่อว่าอยากฆ่าคนตาย มันชัด ว่าเริ่มไม่เท่ แต่บางเรื่องมันไม่ได้ดำขนาดนั้น เราก็เลยคิดว่าลักษณะแบบนี้เจ๋งดี

เพราะคนเหล่านี้มี energy เยอะหรือเปล่า

ใช่ๆ เขาจะตอบแบบซื่อๆ ท่วมท้น เปรียบเทียบคือ เหมือน พี่ตั้ม-วิจักขณ์ (วิจักขณ์ พานิช) เวลาเขาตอบอะไรคือมาเต็ม คนแบบนี้เท่… แต่พี่ตั้มไม่เท่นะ (หัวเราะ)

เคยให้สัมภาษณ์ว่า คุณมักกลัวการถูกปฏิเสธ เรื่องหรือเหตุการณ์แบบไหน ที่จะถูกปฏิเสธ

รถเมล์สาย 8 ครับ ไปมาแล้วด้วย คือเป็นโจทย์ในใจมานานแล้ว แต่เพิ่งไปเมื่อสักครึ่งปีที่ผ่านมา ผมขึ้นรถสาย 122 จากลาดพร้าวซอย 1 เพื่อไปแฮปปี้แลนด์ หลังชุ่มมาก วันนั้นร้อนสัส ลงแฮปปี้แลนด์ตรงเดอะมอลล์บางกะปิ ไปถึงเจอคนขับ บอกเขาว่าขอสัมภาษณ์ เขาก็ไม่ให้สัมภาษณ์ ให้ไปคุยกับนายท่า พอไปคุยกับนายท่า นายท่าก็ด่า…มาอีกและไอ้พวกนี้ สัมภาษณ์ไปก็ไม่รู้จะลงอะไร

คือเขาพูดแบบไม่ค่อยโอเค ตอนนั้นก็รู้สึกตกใจ นี่…นี่หลังชุ่มมากนะ ไม่เห็นใจหน่อยเหรอ ตอนนั้นเราคิดว่ากำลังทำสิ่งดีๆ อยู่นะ คือมันเป็นอีโก้ ให้สัมภาษณ์หน่อยสิ อยากมาฟังพวกคุณนะ แต่เขาก็ไล่ เป็นครั้งที่เสียใจ เพราะตั้งใจไปฟังเขาเต็มที่ เรามาด้วยเจตนาดี

เขาให้เหตุผลว่า สื่อหลายๆ อย่าง ทั้งหนังสือพิมพ์และทีวี เคยสัมภาษณ์เขาแล้วก็ตัดทอน มีการดราม่ากันจนเขาเกือบโดนไล่ออก เขาไม่โอเค ซึ่งโดยปรากฏการณ์การขับฉวัดเฉวียนนี่มันมีอยู่แล้ว แต่เราอยากไปฟังว่าเบื้องหลังหรือที่มามันคืออะไร ไม่ได้บอกว่าจะไปอวยเขา แต่อยากไปฟังเขามากกว่า

ตอนแรกก็ไม่เข้าใจ แต่กลับบ้านมาอีกรอบ ในระหว่างกลับก็คิดในใจว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมไม่ให้สัมภาษณ์ แต่พอกลับมาสักหลายๆ ชั่วโมงหน่อยก็เข้าใจเขา มันไม่ง่ายเลย แล้วเราก็ดุ่มๆ เข้าไปด้วย

ส่วนเบี้ยบ้ายรายทางที่ถูกปฏิเสธก็มีมาตลอด เมื่อวานก็เพิ่งโดนมา เป็นเด็กผู้หญิงจุฬาฯ

อันนี้เลือกจากอะไร น่ารัก?

น่ารัก ใช่ (ยิ้ม) ไม่ใช่ๆ เราก็อยากมีเรื่องใสๆ มาบ้าง ไม่ได้หื่นๆ ถึงหื่นก็ไม่แสดงออกหรอก

มีคำอธิบายให้กับการที่คนขับรถเมล์ไม่ให้สัมภาษณ์ไหม

เรารู้สึกว่าสื่อมวลชนไทย นำเสนอแล้วชอบมีตัวละครผู้ดี-ผู้ร้าย ซึ่งบางทีมันก็ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ป่าววะ คือดี-ร้าย มันดีเบตกันได้ใช่ไหม แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเป็นคนไม่ดีอะ ซึ่งมันทำให้สาย 8 หวาดกลัวในการถูกนำเสนอผ่านสื่อ เพราะบางทีมันหลุดไป แล้วจะควบคุมอะไรไม่ได้ ก็เข้าใจเขาได้ว่ามันมีสิ่งนี้อยู่

ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเศร้าหน่อยๆ ที่เขาไม่สามารถเล่าปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมา ถามว่านอกจากคนขับสาย 8 แล้วมีสายอื่นไหม คนลาดพร้าวก็จะรู้ว่ามันมีสายอื่นด้วย มีตั้งหลายสาย แต่สาย 8 มันดูเป็นสายเดียวที่แย่ ในการรับรู้ของคนทั่วไป

คุณเปลี่ยนชีวิตและภาพจำของรถเมล์สาย 8 ไม่ได้ แล้วมีโพสต์ไหนไหม ที่เขาอินบ็อกซ์มา หรือได้ฟีดแบ็คมาว่าช่วยอธิบายหรือทำให้ชีวิตเขาคลี่คลายขึ้น มีคนเข้าใจเขามากขึ้น

ก็มี แต่เขาไม่ได้อินบ็อกซ์เข้ามาคุยอย่างเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนั้นนะ มีบางเคสที่เราได้คุยตอนเจอตัว อย่างเช่น โพสต์พี่ร้านขายการ์ตูน ร้านขายเครื่องเขียน ที่เขาบอกว่ายอดขายเขาดีขึ้น แล้วก็เคยสัมภาษณ์ลุงคนหนึ่ง ขาเขาขาดหนึ่งข้าง ตาบอด ขายของที่ซอยอารีย์ พอโพสต์ลงไปสักสองสามวัน ก็มีคนโพสต์รูปในคอมเมนต์ว่าเขาไปซื้อของร้านลุงแล้วนะ มีการฝากซื้อของกันในคอมเมนต์ด้วย ฝากส่งไปรษณีย์กัน คือโคตรเจ๋งเลย

เราเข้าใจว่าพลังของโซเชียลฯมันจะแรงในช่วงแรก แล้วจะหายไปเร็วมาก แต่มันก็อดจะรู้สึกไม่ได้ว่า เออ…เท่ดีว่ะ นี่กูก็สร้างอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในชุมชนนี้ด้วยนะ

งั้นไปสู่หัวข้อนี้ เรื่องแบบไหนที่ทำให้หัวใจของคุณชุ่มชื่น

น้องยาม อายุ 20 เอง เราไปสัมภาษณ์เขาเรื่องการกลับบ้าน พอลงโพสต์ไป คนในหอศิลปฯ ผู้บริหารและอาจารย์ที่มาแสดงงาน มาทักเขา เห็นเขา เขาได้อ่านคอมเมนต์ เห็นยอดไลค์ ยอดแชร์ เขาพูดว่า “เย็นวันนั้น ผมยิ้มจนกลับไปถึงบ้านเลย” เราโคตร…รู้สึกดีเลย

อันนี้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเลยนะ มันจะมีคุณค่าบางอย่าง มันเป็นมิติที่เราไม่เคยรับรู้ การที่เขารู้สึกโอเคกับการที่เรื่องเล่าของเขาได้ถูกรับรู้

กลับกัน ถ้าเขาส่งอินบ็อกซ์ว่าขอให้ถอดเถอะ เขาไม่โอเค

มีๆ มีเคสหนึ่ง ลงไปได้ไม่ถึง 5 นาทีมั้ง เขาขอลบออก เพราะเรื่องเล่าเขาไปพาดพิงใครสักคนในครอบครัว เราก็ลบทันทีเลย คือเราไม่ได้มีวิธีคิดเรื่องจรรยาบรรณประมาณว่า คุณรับปากแล้วว่าจะให้ลง ก็ต้องลงเท่านั้น

เวลาที่สัมภาษณ์เรื่องเซนซิทีฟ เราจะถามว่า โอเคไหมถ้าจะเห็นหน้า เรื่องเล่าเรื่องไหนที่ต้องระวัง เราจะเซฟตัวเขา หลักการสำคัญของการทำเพจ คือเราจะไม่ให้คนถูกสัมภาษณ์โดนด่า เรื่องดีแค่ไหนแต่ถ้าเขาโดนด่า ก็ไม่เอา เพราะเดี๋ยวเราโดนด่าด้วย (หัวเราะ)

คือเราไม่ใช่สื่อมวลชนสำนักข่าวที่มีจรรยาบรรณอะไรขนาดนั้น เราเอาแต่ใจ ตั้งจรรยาบรรณขึ้นมาเองว่าเราโอเคกับอะไร ตัดก็ตัด ลบก็ลบ

ชอบอะไรที่สุดในการทำเพจ

สองอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังที่สุด คือการที่ไปเติมพลังให้คนที่ไปสัมภาษณ์ อย่างเคส ‘น้องยาม’ ที่เล่าให้ฟัง บางช่วงเราชอบมากกว่าการที่คอนเทนต์นั้นมันถูกประกาศอีกนะ

อีกอย่างคือ มันเพิ่งเริ่มๆ ได้ไม่กี่เดือน คือมันเริ่มมีชุมชนในช่องคอมเมนต์ อันนี้เราว่ามันดี คือพยายามไม่ให้คอมเมนต์มันแบนแค่ “สู้ๆ นะ” ให้ได้ ซึ่งบางทีก็ต้องเปิดเรื่องเล่าให้มีช่องให้คุยด้วย เลือกประเด็นที่มีช่องว่างร่วมกัน

ถ้าอ่านจากสเตตัสเฟซบุ๊คของคุณ คล้ายว่าเพจเป็นยาชูกำลัง

อันนี้เป็นอีกประเด็นเลย เราไม่ได้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เราเบื่อชีวิตมานานมากแล้ว เบื่อมาตั้งแต่ช่วงเรียนจบใหม่ๆ แต่เราไม่กล้าฆ่าตัวตายไง คือจริงๆ เราไม่ได้อยากฆ่าตัวตายนะ แค่เบื่อชีวิตเฉยๆ

เมื่อก่อนการเป็นสื่อมวลชนทำอยู่โลกสีเขียว ทำคอนเทนต์ที่มีคนอ่าน ก็เป็นเหมือนคุณค่าบางอย่างที่เราจับยึด ภายใต้การไม่อยากอยู่ มันยังมีความหมายบางอย่างอยู่นะ ซึ่งการทำเพจมันก็เป็นอย่างนั้น เป็นรูปธรรม เป็นเครื่องยืนยันว่าการอยู่ของเรามันยังทำอะไรได้นะ แต่ถามว่าเบื่อไหม ก็ยังเบื่อเหมือนเดิมแหละ และเรามักปฏิเสธเสมอว่า เราไม่ได้ทำเพจเพื่อสังคม เราทำเพื่อตัวเอง

อยากให้เปรียบเทียบกับตอนทำโลกสีเขียว เพราะตอนนั้นคุณเป็น NGO ก็ต้องมี mission ชัดเจนว่าเพื่อเปลี่ยนแปลง ‘จุดจุดจุด’   

ผมก็ไม่ทำอย่างนั้นอยู่ดี อันนี้เป็นเรื่องการวางจิตใจแหละ มีคนถามว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร คือถ้าผมตาย เพจมันก็แค่หยุดทำ คนอื่นก็ทำต่อได้ อย่าไปสำคัญตัวเองว่าตัวเองทำอะไรนักหนาเลย

ด้วยเนื้อหาที่ออกมา คนอื่นมักมองว่าคุณต้องการผลักดันประเด็นอะไรสักอย่าง แต่ตัวเองมองว่า อย่าไปสำคัญตัวผิดขนาดนั้น?

เหมือนกับว่าการพยายามตั้งจุดโฟกัสว่าการทำอะไรที่มันใหญ่มากๆ มันสร้างความกดดันให้เรานะ ถ้าผมบอกว่าผมทำเพื่อตัวเอง อันนี้ไม่ได้พยายามจะบิดมันนะ ก็พยายามทำแบบนั้นจริงๆ ผมทำเพื่อตัวเอง ผมลงไปคุย ผมได้เรียนรู้ ผมขจัดความกลัวในการเข้าหาคน ผมเจออีโก้ ทั้งหมดนี้คือทำเพื่อตัวเองล้วนๆ เลย

แต่ถ้าเกิดทำเพื่อสังคม โฟกัสของเราจะเปลี่ยนแปลง เราจะทำเพื่อคนอื่น แล้วพอวันหนึ่งอิมแพคมันไม่ได้เกิดอะไรขนาดนั้น มึงเสียใจนะโว้ย ผมจะรู้สึกว่า ไอเหี้ย…ทำไมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย

ถ้าผมไม่โฟกัสการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ โฟกัสแค่ตัวเอง แค่การสื่อสารในกลุ่มเล็กๆ มันทำได้เรื่อยๆ ไม่รู้ว่ะ…คือเราไม่ได้หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงสังคมอะไรเลย เปลี่ยนได้เหรอ? ต่อให้เรามียอดไลค์เป็นสิบล้าน มันก็เปลี่ยนไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเราทำเพื่อตัวเองทั้งหมดนะ มันมีอิมแพคบางอย่างที่เราชื่นชูใจอยู่ เออดีว่ะ ทำแบบนี้ แล้วมันเกิดบางอย่าง

แต่ถ้าเราจำแม่นแล้วอายุยืนยาวพอ เราอาจจะเห็นว่ามันเปลี่ยนก็ได้นะ

เวลาเราเชื่อว่าอะไรมันเปลี่ยนแปลง ทั้งในทางที่ดีขึ้นและเลวลง มันเหมือนเราตีกรอบบางอย่างไว้ แล้วตัดเฉือนอะไรบางอย่างออกไป เพื่อบอกว่ามันเปลี่ยนแล้วนะ ใครจะไปรู้ว่าโลกมันดีขึ้นหรือเลวลง ไม่รู้อะ เราไม่อยากคาดหวัง เอาเป็นว่าเราทำของเราไป เปลี่ยนก็เปลี่ยน ไม่เปลี่ยนก็ไม่เปลี่ยน

 

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า