เรื่อง: อิทธิพล โคตะมี / ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
เมื่อทราบว่า ‘มุทิตา เชื้อชั่ง’ อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท กำลังจะเดินทางไกล หลังโบกมือลาอาชีพผู้สื่อข่าวออนไลน์ที่เธอทำมากว่า 13 ปี เราปรึกษากันในกองบรรณาธิการ ว่าอยากถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานของเธอ ประสบการณ์เหล่านี้สามารถสะท้อนภาพการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของสื่อกระดาษมาสู่สื่อออนไลน์ได้ไม่มากก็น้อย
ชีวิตข่าวของเธอ เริ่มจากการทำประเด็นข่าวของคนเล็กคนน้อยที่ริมขอบกระบอกเสียงสังคม ก่อนจะมาเอาใจใส่กับประเด็นใจกลางปัญหาบ้านเมืองในปัจจุบัน เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่ผูกแน่นไปกับบรรยากาศของการเมืองสีเสื้อตลอดหนึ่งทศวรรษ
บรรยากาศของการรายงานข่าวเช่นนี้ แสดงให้เห็นภาวะบีบคั้นและเปลี่ยนทิศทางการทำงานสื่อ จนพ้นไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง และนั่นทำให้เธอกระโดดเข้าสู่สนามข่าวที่ไม่คุ้นเคย ด้วยการติดตาม ค้นคว้า และรายงานประเด็นสำคัญ ที่สื่อค่ายยักษ์ใหญ่ทั้งหลายหันหลังให้ จนกระทั่งกลายเป็นนักข่าวที่ได้รับการยอมรับจากเวทีรางวัลระดับนานาชาติ
ก่อนจะมาพำนักที่สำนักข่าวออนไลน์ประชาไท ‘รัง’ แรกแห่งนี้ เธอเรียนอยู่ในสาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน รั้วแม่โดม แต่เธอก็ไม่ได้มองว่า ‘นั่นคือการเรียน’
มุทิตาเล่าเรื่องราวก่อนจะจบการศึกษา เธอชอบที่จะไปซิทอินในห้องเรียนของ อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วก็พบกับความตื่นตาตื่นใจ ที่เธอเรียกว่า “บ้าไปเลย” แต่ยังคงเข้าสอบในสาขาวิชาเดิม กระทั่งฝึกงานจบจากหนังสือพิมพ์ มติชน เธอจึงได้ยินชื่อสำนักข่าว ‘ประชาไท’ ครั้งแรก
อาจารย์จอน (จอน อึ๊งภากรณ์) พยายามฟอร์มทีมเป็นคณะกรรมการตั้งโครงการมูลนิธิประชาไทขึ้นมา ทีนี้ตอนจะจบ เราก็ทำธีสิสกับ อาจารย์รุจน์ โกมลบุตร ที่ธรรมศาสตร์ อาจารย์อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปก่อตั้งด้วย คงเห็นแววเราว่าดูแล้วเหมือนเอ็นจีโอมาก หน้าตาเซื่องซึมตลอดเวลา
“คือเจออาจารย์รุจน์ (รุจน์ โกมลบุตร รองศาสตราจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ครั้งเดียวตอนปีสุดท้าย อาจารย์รุจน์ก็บอกว่า อ้าว…คุณอยู่ในทีมที่ปรึกษาผมเหรอ (หัวเราะ) ก็แนะนำว่ามีเว็บไซต์ใหม่ที่จะทำ เป็นข่าวชาวบ้าน อยากทำอะไรก็ทำ สนใจหรือเปล่า ไปสมัครสิ”
มุทิตาเริ่มทวนความทรงจำที่เธอมักบ่นว่า “โอ้ย จำไม่ได้” สลับระหว่างสนทนากับเรา แต่ ‘แวว’ ที่สำคัญ อันเป็นที่มาให้ถูกชวนเข้าไปทำงานสนามข่าวแบบใหม่ เธอคิดว่าอาจจะเป็นธีสิส หรือสารนิพนธ์ของนักศึกษาระดับปริญญาตรีของเธอเอง
“เราทำธีสิสเรื่องการนำเสนอข่าวท่อก๊าซจะนะ ของหนังสือพิมพ์ มติชน ปี 46 ซึ่งเป็นธีสิสที่อุบาทว์มาก ไม่เคยลงพื้นที่เลยตัดข่าวและโทรศัพท์เอา แต่อาจเพราะอาจารย์เห็นแววประหลาดๆ ก็ได้”
ในช่วงเวลาปี 2548-2549 การทำสื่อออนไลน์ยังไม่มีแบบฉบับชัดเจนนัก ความสนใจทำงานที่ประชาไทอาจมีเพียงเหตุผลเดียวคือ รู้สึกว่าถ้าที่นี่ทำเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านและมีอิสระ “เราชอบ”
เมื่อเข้าสู่สนามข่าวออนไลน์หลังเรียนจบ ในช่วงแรก เธอประสบปัญหาหลายประการตั้งแต่ตอนเป็นนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งเธอเห็นว่า ‘การทำงานสื่อมันซัฟเฟอร์’
“เวลาเข้าห้องน้ำ เราเข้านานมาก เพราะไม่อยากออกไปข้างนอกอีกต่อไป (หัวเราะ)” สาเหตุส่วนใหญ่ที่เล่าให้เราฟังคือความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน การเดินทาง และการเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่ต้องใช้ความพยายามสูงสำหรับสื่อใหม่ “เสียงเราสั่นอย่างกับนักร้องลูกทุ่ง”
อีกส่วนสำคัญที่ทำให้เธอเผชิญปัญหากับการทำงานในช่วงแรก เธอบอกกับเราว่า คือนิสัยใจคอของเธอ
“เพราะเราเป็นคนขี้อาย เราไม่อยากยุ่งกับใคร ไม่ชอบคุยกับคน อย่ามายุ่งกับเรา หรือเราอาจเป็นคนชอบเก็บตัว แต่นักข่าวมันต้องยุ่งกับคนมากๆ (เน้นเสียง) และก็รีบด้วย ลูปของเวลามันเร็วมาก เพราะฉะนั้นเราซัฟเฟอร์ แม้กระทั่งทำงานที่ประชาไทแล้วในช่วงสองปีแรก เราแบบ…ซัฟเฟอร์น่ะ” สองถึงสามปีแรกจึงเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานสำหรับนักข่าวสาวมือใหม่
ในปี 2558 หลังจากที่เดินทางออนไลน์ มาครบ 10 ปี บทบาทของเธอก็เด่นชัดเคียงคู่ไปกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลง เธอต่างออกไปจาก 3 ปีแรกของการทำงานสื่อออนไลน์อย่างมาก
เธออยู่แนวหน้าในการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยด้วยการรายงานข่าวคดีความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อเนื่อง
บางตอนจากคำกล่าวของ แอนเดรีย โจเกตโต แห่งสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) กล่าวถึง มุทิตา เชื้อชั่ง ที่ได้รับรางวัล ‘Agence France-Presse Kate Webb ประจำปี 2015’ รางวัลนี้มอบให้แก่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานในสถานการณ์ยากลำบากในภูมิภาคเอเชีย
รางวัลตั้งขึ้นตามชื่อของ เคท เว็บบ์ ผู้สื่อข่าว AFP ที่อุทิศตนทำงานข่าวสงครามและในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ขณะอายุ 64 ปี
“ทำข่าวปัญหาชาวบ้าน เพราะปรัชญาของมันคือ ต้องการจะ voice out เสียงของคนที่มีอำนาจน้อย ถูกรังแก ซึ่งเราซื้อ” หากนี่คือภาพวันแรกเมื่อเริ่มทำงาน รางวัล เคท เว็บบ์ ก็เป็นผลจากวันแรกสำหรับเธอเช่นกัน
ถ้าพูดถึง ‘การทำงานในสถานการณ์ยากลำบาก’ วิธีการหนึ่งที่เธอใช้คือ การรายงานข่าวจากห้องพิจารณาคดี
“เราอยากรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราจะไม่ยอมแน่ๆ ถ้าต้องทำรายงานที่ฟังจากปากคนนู้นคนนี้ เราจะต้องไปแคะจากเอกสารที่ทนายมี หรือฝั่งเจ้าหน้าที่มี คือเราต้องการเห็นเอง เพราะฉะนั้นจะรู้ว่าเคสนี้มีน้ำหนักไหม เวลาสู้คดีกันในทางกฎหมาย การพิจารณาคดีมีแค่นี้ใช่ไหม เราก็อยากรู้ว่าบทบาทของศาลเป็นอย่างไร ดังนั้นไม่มีทางอื่น”
เธอร่ายยาวถึงที่มาที่ไป ดังตัวอย่างในงานเขียนเรื่อง ‘ข้อเรียกร้องต่ำต้อยที่สุด: ขอไมค์ให้บัลลังก์’ สะท้อนถึงวิธีการทำงานเช่นนี้ของเธอได้เป็นอย่างดี มุทิตาเล่าว่า
“เป็นคดีหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าจำเลยที่เป็นอดีตทหาร ถูกกล่าวหาว่ายิงระเบิด RPG ไปที่บริเวณกระทรวงกลาโหม แม้ว่าจะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ถือเป็นการหยามหมิ่นทหารมาก ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องหลังจากที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 10 ปี เขาติดคุกไปฟรีๆ นานมาก ประเด็นก็คือ เราไม่ได้ตามคดีมาตั้งแต่ต้น ก็เลยตามไปฟังคำพิพากษา ตอนนั่งฟังเราไม่ได้ยิน (ผู้พิพากษา) คือคุณจะลงโทษเขา เอาเขาไปอยู่ในคุก 10 ปี แล้วอยู่ไปแล้วสองสามปี ผู้พิพากษาอ่านให้ชัดถ้อยชัดคำได้ไหม”
ข้อเสนอเรียบง่ายในงานของมุทิตาจึงไม่ใช่สิ่งยิ่งใหญ่อะไร แต่ขอสิ่งที่สามัญที่สุดของจำเลย ระหว่างการพิจารณาคดี คือการได้ยินเสียง!
“เราก็คงอยากรู้ว่าศาลพิจารณาคดีเรายังไง ที่จะเอาเขาเข้าคุก 10 ปี ขนาดตัดสินแล้ว ให้นั่งแล้ว ยังไม่รู้เลยว่าโทษเท่าไหร่ ทนายต้องมาบอก มันก็แค่จัดการง่ายๆ ไหม แค่มีไมโครโฟนสักอัน” เธอนึกถึงห้องพิจารณาคดีในวันนั้น
เป็นเรื่องธรรมชาติที่อารมณ์ความรู้สึกมักจะถูกตัดทิ้งจากเนื้อหาข่าวโดยทั่วไป เนื่องมาจากแบบแผนของการทำข่าว เขียนข่าว ไม่เอื้อให้ก้อนอารมณ์แบบนี้ปะปนอยู่ได้ วิธีการร่อนทิ้งของเธอจึงน่าสนใจ มุทิตาบอกกับเราว่า
“เราใช้สกู๊ปบ้าง แต่มันใช้ไม่หมด มันจะมีตกค้าง ใช้มากมันก็เสีย เพราะฉะนั้นเราก็ระวัง mood and tone นิดหนึ่ง แล้วมันก็แน่นอนว่าสวิงสวายไม่ได้มากด้วย เพราะฉะนั้นก็ต้องการแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งเว็บไซต์มันอนุญาต”
ถึงกระนั้นวิธีการทำข่าวเช่นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป หลายครั้งตัวของข่าวเอง ก็พาตัวเธอไปสู่สภาวะของความ ‘ชาชิน’
“รู้แต่ว่าความทุกข์ทรมานในสภาพที่ไม่ชอบ มันค่อยๆ หายไป อาจจะเป็นเพราะเราเริ่มมั่นใจขึ้น สอง เราเห็นว่ามันมีประโยชน์ มีประเด็น คือความอยากรู้ หรืออยากจะถ่ายทอด มันครอบงำ จนรู้สึกว่าโดนด่าก็ได้ ไม่เป็นอะไร เราหน้าด้าน เราถามไม่ดี ไม่เป็นอะไร แต่เราจะถาม”
ย้อนกลับไปในปลายปี 2547 จากช่วงเวลาที่รู้สึกซัฟเฟอร์ เธอก็เริ่มสังเกตเห็นว่าสื่อออนไลน์มีหน้าที่สำคัญคือการส่งต่อข้อมูล
“เออ… เป็น source ให้สื่อ main stream ก็โอเค ไม่คิดจะแข่งกับใคร เพราะแข่งไม่ไหว”
เธอเล่าว่า ในเวลานั้นการตั้งต้นเป็นเว็บไซต์ข่าว ที่เขียนเรื่องปัญหาชาวบ้านเป็นหลัก พร้อมกับการมีบรรณาธิการข่าวซึ่งมาจากโต๊ะข่าวรายวัน อย่าง สมเกียรติ จันทรสีมา ทำให้เห็นว่าประชาไทมีการรายงานข่าวที่รวดเร็ว แต่มีคนทำงาน 5-6 คน ดังนั้นการทำงานจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นสายพาน เธอเรียกมันว่า “รู้สึกตั้งแต่หัวยันหาง”
“หมายถึงตั้งแต่คิดประเด็น หารือร่วมกัน ไปทำ คุณต้องพยายามเขียน ต้องพยายามเอาขึ้นให้ดูดี คือทำจบกระบวนทั้งหมด คุณต้องดูเรทติ้ง อะไรแบบนี้ มันจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของมากกว่านักข่าวในสนาม ในโครงสร้างองค์กรอื่นๆ แต่มันเหนื่อย” เธอเล่าบรรยากาศการทำงานข่าวใน 2-3 ปีแรก
“ตอนนั้น (ปลายปี 2547) เว็บไซต์ยังไม่ค่อยมีเนอะ มีแต่ผู้จัดการ คนอ่านก็อ่านน้อยมาก ยุคแรกๆ 50 คน 100 คน เกิน 100 กว่านี่ดีใจกันฉิบเป๋ง ไลค์นี่ไม่ต้องพูดถึง มันไม่มีเฟซบุ๊คนะ ต้องเข้าไปคลิกที่หน้าเว็บไซต์เลย”
100 คือยอดจำนวนคนอ่านข่าวที่เธอว่ามากแล้ว เธอเล่าว่า จุดเปลี่ยนสำคัญน่าจะมาจาก
ตอนนั้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีฟีดข่าวมาว่า ที่ตากใบเอาคนไปซ้อนบนรถในการชุมนุม แล้วคนตายกัน 70 กว่าคน เราพยายามเอาข้อมูลจากในพื้นที่ออกมาให้มันต่างกับสื่ออื่น เรื่องตากใบสำคัญขึ้นมามาก เพราะนักข่าวหยิบประเด็นของเราไปถามนายกฯ เรื่องเอาถุงไปคลุมหัวเขาหรือเปล่า
หลังจากนั้นกลุ่ม สว. ที่ยังมีที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ลงพื้นที่ เธอเล่าว่า
“คือเขา (ผู้ตาย) เป็นมุสลิมซึ่งต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งภาพข่าวมันจะน่ากลัวๆ เป็นศพนอนกองอืด และตอนนั้นอินเทอร์เน็ตมันยังช้าอยู่ เขา (นักข่าวในพื้นที่) ก็ส่งภาพกลับมา แล้วเราอยู่ออฟฟิศคนเดียวดึกๆ และภาพในหน้าจอมันก็ค่อยๆ โหลดจนเต็ม”
ช่วงเวลานี้เองเธอคลี่คลายความรู้สึกซัฟเฟอร์ลงเรื่อยๆ เธอคิดว่ามันเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเห็นประโยชน์ของการอดทน
วิธีการทำรายงานข่าวของมุทิตา เริ่ม ‘อยู่มือ’ หลังจากพ้นสามปีแรกไป และประชาไทได้บรรณาธิการข่าวคนใหม่เข้ามาคือ ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข
ประชาไทหันมาจับงานการเมืองมากขึ้นตามสไตล์บรรณาธิการคนใหม่ ซึ่งมีพื้นมาจากแมกกาซีน เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานั้นเรียกร้องให้ต้องเน้นการเมืองพอดี
“พี่ชูวัสมาจากแมกกาซีน เขาก็จะไม่โฟกัสข่าวรายวัน ซึ่งคนอื่นๆ ในทีมก็รู้สึกว่า อ้า…นี่แหละที่ต้องการ คือไม่ต้องการทำงานเป็นวัวเป็นควายทุกวัน แต่เราเป็นพวกไม่มีจุดยืน ให้ฉันทำอะไรก็ได้ ก็คือว่าเอาขาเกี่ยว บก. สองคนไว้อย่างนี้เลย เพราะสายหนึ่งเขารายวัน แต่คนอื่นๆ เขาไม่เอา มันก็มีการเมืองนิดหน่อยอีก เราก็สงสารแก ถ้ามีหมายรายวันมา เราก็ไปให้ อะไรแบบนี้ แต่ บก. เขาไม่ได้ทะเลาะกันนะ เพียงแต่แนวทางรวมๆ มันถูกกำหนดจากพวกเด็กๆ”
วัฒนธรรมขององค์กรเช่นนี้เอง ที่เธอเห็นว่าคณะกรรมการจะฟังคนทำงานมากกว่าตัวบรรณาธิการ แต่ไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนบรรณาธิการหรือไม่ เธอบอกว่า คนทำงานมักจะเหลืออยู่สามคนเสมอ “ที่บ้าบอคอแตกไม่ไปไหน” (หัวเราะ)
ในช่วงกลางทศวรรษ 2550 ความขัดแย้งทางการเมืองที่แหลมคม ยังเพิ่มจำนวนคนในคุกการเมืองมากขึ้นด้วย ดังนั้นข่าวที่มุทิตาสบตาอยู่เป็นประจำ จึงเป็นข่าวคดีร้ายแรง แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือชีวิตต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่กับเรื่องราวของคดีมากมายเหล่านั้น
“เวลาเจอเรื่องอะไรหนักๆ หรือการปะทะกันทางความคิด เราไม่ค่อยเก็บไปคิดต่อ หรือถ้าเป็นเรื่องเศร้า เราไม่ค่อยได้ delete หรือเยียวยา เราเจอแล้วก็รู้สึกอยู่พักหนึ่งแล้วก็จบ มันมีงานอื่นๆ ที่ต้องทำ” นี่คือคำสารภาพของเธอ
การทำข่าวเกาะติดกับคนเล็กคนน้อยที่ประสบกับชะตากรรมทางการเมือง หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้มุทิตา มีรูปแบบการนำเสนอข่าวที่แตกต่างออกไป นั่นคือการบาลานซ์กับเรื่องเล่าหลักที่ครอบงำสังคม
“ต้องบอกก่อนว่าประชาไทเป็นสื่อที่เหยียบเรือสองแคม หมายความว่า พี่สุภลักษณ์ (สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี – ผู้สื่อข่าวอาวุโส) คิดภาษาอังกฤษให้ว่ามันเป็น advocacy media แปลว่า มันไม่ปิดบังจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง ไม่ปิดบัง agenda ของตัวเองว่าตัวเองซัพพอร์ตอะไร ไม่ได้แคร์เรื่องความเป็นกลางมากนัก” เธออธิบายตัวเองซึ่งเธอเห็นว่ามีพลัง
ตัวอย่างหนึ่งที่เธอเล่าให้เราฟังคือการรายงานข่าวท่ามกลางความขัดแย้งที่อาจจะเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรง
ตอนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เคยมีครั้งหนึ่งเสื้อเหลืองอยู่ตรงเกาะกลาง เสื้อแดงอยู่ด้านข้างก็ตะโกนด่ากัน ภาพก็ออกมาไม่ดี เราจำรายละเอียดไม่ได้ แต่จำได้ว่าเราพยายามอยู่ตั้งแต่ต้นจนจบ และเราก็พยายามดูว่ามันมีอะไรที่คลี่คลาย มันมีอะไรที่เป็นสัญญาณที่ดีของสองฝั่งบ้าง นอกเหนือจากภาพที่มันแย่ ซึ่งเราก็เจอ ก็เลยรีบกลับไปเขียน เขียน เขียน โดยที่ไม่เหน็ดเหนื่อยอีกต่อไป
เธออธิบายว่า การเฝ้ารอ ‘สัญญาณที่ดี’ ของเธอในวันนั้นไม่เสียเปล่า ด้วยพบว่า มีบางจุดที่ทั้งสองม็อบเริ่มหัวเราะให้กัน
“ทีแรกเหมือนจะฆ่ากันอยู่แล้ว มันก็ได้แต่ช็อตนั้นไปไง เมื่อคลี่คลายไปก็พบว่าเป็นคำพูดที่ดี ต่อหน้าคนอื่นอาจจะพูดดีก็ได้ จริงๆ แล้วกูอยากจะฆ่าฝั่งตรงกันข้าม anyway เขาพูดมา เป็นสัญญาณที่ดี มันใช้สติ สัมปชัญญะ จริงไม่จริง ไม่รู้ แต่มันเป็น fact ที่เอามาเชื่อมกันได้”
เมื่อเข้าสู่ต้นทศวรรษที่ 2550 การเมืองเริ่มแยกเป็นสองสีอย่างชัดเจน ข้อกล่าวหานี้ไม่ปรานีแม้กระทั่งสื่อออนไลน์หน้าใหม่อย่างประชาไท
เธออธิบายให้เราฟังว่า ข้อกล่าวหาว่าประชาไท เป็น ‘สื่อแดง’ นั้นไม่ได้มีที่มาจากคอนเทนต์เสียทีเดียว เพราะในเวลาดังกล่าวการสนทนาเรื่องการเมืองของผู้คนพุ่งสูงอย่างมหาศาล เวทีการถกเถียงมักไปอยู่ในพื้นที่ของเว็บบอร์ดและช่องความเห็นท้ายข่าวของสื่อออนไลน์ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียช่องทางอื่น เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรือไลน์ นี่จึงเป็นที่มาของการถูกประทับตราว่าเป็น ‘สื่อแดง’ ในความเข้าใจของเธอ
“คือข่าวน่ะ คนเข้ามาอ่านน้อยกว่าประมาณ 1 ใน 10 ของคนเล่นเว็บบอร์ด เว็บบอร์ดคือ 10 เท่า เขาต้องการสนทนากัน ต้องการข้อมูลมาแชร์กัน”
เมื่อถามเธอต่อว่า “คนทำงานน้อยๆ แบบนี้ จะจัดการกับชุมชนที่มีข้อถกเถียงเยอะอย่างนี้ได้ยังไง”
เธอตอบกลับมาทันทีว่า “ก็จัดการไม่ได้ไง จิรนุช (เปรมชัยพร) เลยโดน พ.ร.บ.คอมฯ ลบไม่ทัน ตั้งอาสาสมัคร ตั้งวอร์รูม ก็ยังเอาไม่อยู่ มันเยอะจริงๆ
“ช่วงหลังปี 50 มา คือมันบูมมากจนกระทั่งไม่ทัน แล้วที่นี่ ประชาไทมันก็อุดมคติ จะอะไรกับคนอ่านนิดหนึ่งมันก็ไม่เอา เอาบัตรประชาชนไหม – ไม่ได้ register แบบไหนดี เอาให้มันยากๆ หน่อยไหม – ไม่ได้ เอางี้ไหมถ้ามีคำนี้ลบหมดเลยๆ – ไม่ได้ ต้องดู context ก่อน”
ในบางครั้ง ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทั้งจากครอบครัวที่เป็นห่วงเป็นใยและในใจของเธอเอง นั่นจึงมาสู่คำถามว่า เธอเคยทำอะไรที่ผิดพลาดไหม เธอค้นตัวเองอยู่สักพัก ก่อนจะบอกเราว่า
อันนี้ที่เราโดน ตั้งคำถามเราพอสมควร จากเพื่อนในกอง บก. คือ หลังๆ ที่เราทำแต่เรื่องนี้เยอะๆ แล้วยังทำอยู่ มันเป็นอีโก้เราไปแล้วใช่ไหม เราก็แบบ ผ่าง!
“เออ แทนที่จะรู้สึกว่า เออ ดีแล้วที่มีมัน ตั้งคำถามกับเราแบบนี้ ตอนแรกโกรธมาก คือเขาอยากให้เรา move ไปทำเรื่องอื่น แต่ว่ามีเคสเมื่อไหร่ เราก็จะไหลมา เมื่อถามว่ามันเป็นอีโก้ หรือเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ ตัวตน หน้าตา ของเราใช่หรือเปล่า เราก็ค่อยๆ คิด แต่เราไม่มีเวลาคิด คือเราไม่รู้ว่าเราจะอธิบายยังไง แต่อย่างหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจอยู่ก็คือว่า ทุกครั้งที่เราไหลไป ก็เพราะเราอยากรู้ คือมันเป็นความรู้สึกเดิม ตั้งแต่ต้นที่ยังไม่มีคนรู้จัก เพราะฉะนั้นคงไม่ใช่ว่าเราทำเพราะว่าเสริมอีโก้ตัวเองหรอก เท่าที่ได้คำตอบนะ”
ในทางตรงกันข้าม สำหรับเธอแล้ว วิธีคิดดังกล่าวกลับเป็นผลดีสำหรับการทำงานข่าวออนไลน์ในสนามแห่งความขัดแย้ง
“มันเป็นธรรมชาติด้วยนะ เราก็ไม่ได้แบบนี้ทีหลัง เราก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว มันทำให้เรายืนระยะได้นาน ถ้าเป็นคนที่คิดเชิงยุทธศาสตร์ หรือคิดอะไรไกลๆ เป็นคนที่คาดหวังกับสิ่งที่ตัวเองทำว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราคงไปนานแล้ว เพราะว่ามันก็คงเหนื่อย”
วันวาเลนไทน์ กอง บก. ก็คิดให้เรา ก็เอาแล้วไง ชีวิตกูหวานแหววมากเลย เอายังไงดีวะ ไม่รู้ทำอะไรดีวะ เจอบ่อยมาก เอาพวกนี้แหละ รีบด้วย มันเป็นแง่มุมความรักที่คนอาจจะไม่ค่อยรู้มั้ง ไม่ได้คิดอะไรมาก ก็เป็นคนที่เราเจอๆ อยู่ที่เรือนจำ
ไม่ใช่เพียงการรายงานข้อเท็จจริงเชิงข่าวหรือประเด็นคนเล็กคนน้อยเท่านั้น มุทิตายังเคยมีผลงานเกี่ยวกับความรัก ซึ่งถือเป็นงานที่ผลักให้เธอเริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังแล้วว่า มุทิตาจะอุเบกขาได้อย่างไร
เป็นงานเขียนเรื่องราวที่เล่าถึงความรักของนักโทษทางความคิดที่ชื่อว่า ‘คนรักของอาชญากร (ทางความคิด)’
ซึ่งเป็นงานเขียนถึงความรักของคนไม่มีชื่อเสียง หรือเคยมี แต่ถูกทำให้เงียบ ซึ่งเธอบอกว่า “มันกินตัวเองมาก”
สาเหตุนั้นน่าสนใจ เมื่อเธออธิบายว่า งานชิ้นนี้หายนะมาก เนื่องจากต้องเขียนแข็งกว่านั้น เพราะว่ามันกินตัวเอง เพราะว่าไม่ควรทำแต่ต้น โดยก้าวล่วงเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว
เธอพูดเสียงดังว่า “ซับซ้อนเหี้ยๆ” ในบางความรักของบางคน ซึ่งซ้อนทับอยู่ใต้ถุนนั้น กลับพบว่า ภาพที่เราเข้าใจอาจจะไม่ใช่แบบที่เราเห็น ซึ่งอยู่ในเส้นที่ต้องรักษาความเป็นส่วนตัว และเอื้อให้คนอ่านเข้าใจความซับซ้อน
ความต่างของงานเขียนประเภทความรักกับรายงานคดี ม.112 นั้น เธออธิบายว่า “เพราะว่า 112 เป็น fact ทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ต้องคิดเยอะ รายงานแค่ว่า ครอบครัวเป็นอย่างไร ความคิดทางการเมืองเริ่มต้นเมื่อไหร่ มีพัฒนาการในตัวเองยังไง ไปทำอะไรมาถึงโดน ตำรวจซ้อมหรือเปล่า” ขณะที่ความสัมพันธ์ยุ่งยากมากกว่านั้น
การฟังของเธอจนมาเป็นข้อเขียนดำเนินไปอย่างยาวนาน บางเคสใช้เวลาฟังกว่าสี่ชั่วโมงทางโทรศัพท์ และเมื่อฟังจบ เธอนอนไม่หลับ ผิดปกติไปจากกิจวัตรที่เธอทำเป็นประจำ
“แต่มันก็หายไปเอง เพราะมีงานอื่นเข้ามาทำต่อ ไม่มีเวลาเยียวยา” เธอตอบเราหลังจากเราถามว่า “เยียวยาตัวเองอย่างไร”
“ไม่ได้อยากเป็นนะ (หัวเราะ ตอบทันควัน) มันหนีไม่ได้ คุณจะหนียังไงล่ะ มันหนีไม่ได้จริงๆ บางทีเราก็สับสน มีคนตั้งคำถามเรื่องบทบาทเรื่องระยะห่าง แต่ว่าเราก็มักง่าย
“ตอบแบบนี้แล้วกัน เวลาเราทำข่าว เราก็ระมัดระวัง แล้วก็ไม่เคยผิดจรรยาบงจรรยาบรรณ ส่วนความช่วยเหลืออื่น ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของตัวเรา ซึ่งเอาหมวกของนักข่าวมาใส่ 24 ชั่วโมง เราทำไม่ได้”
สิ่งที่เธอทำมีหลายอย่างมาก นับตั้งแต่ซื้อโอเลี้ยง ซื้อของใช้ ไปหาลูก ติดต่อญาติ เอาแม่ไปเจอลูก เอาพ่อไปหาหมอ “มันก็จะเป็นเคสบ้าๆ บอๆ เขาก็เห็นใจเรานะ”
เป็นเรื่องไม่ผิดแปลกไปจากความจริงที่ว่า นักโทษทางความคิดหรือนักโทษทางการเมืองส่วนใหญ่ที่เป็นต้นข่าวให้เธอ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีคนไปช่วยเรื่องพวกนี้
“ส่วนใหญ่พวกแหล่งข่าวเราอยู่ในคุก เขาเลยไม่ได้มาตรวจสอบเรา (หัวเราะ) ก็ดีไปอย่างนะ (น้ำเสียงประชด) ถ้าแหล่งข่าวอยู่ข้างนอกก็ลำบากนะ อาจจะยุ่งยาก อยู่ในคุกเลยสบาย”
ตัวตนและงานเขียนของมุทิตาเดินทางมาไกลกว่าที่เธอคิดไว้แต่แรก การจากลาประชาไทครั้งนี้ แน่นอน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากบริบทของสังคมการเมือง ที่สถานการณ์แย่ยิ่งกว่ายุคที่เธอเป็นนักข่าวสาวมือใหม่ที่เล่าว่า “ดูเซื่องซึมตลอดเวลา” และดูเหมือนเธอจะเหนื่อยแล้วกับการพูดคุยขนาดยาวกับเราครั้งนี้ จึงถามเธอว่า หลังจากนี้ต้องการทำอะไรต่อ
เธอบอกว่าเพียงว่า
“ขอให้ได้นอนในเวลาที่อยากนอน จะทำงานในเวลาที่อยากทำเท่านั้น เงินไม่มีไม่เป็นไร เรามีมาม่า เราต้องการอำนาจในการกำหนดเวลา”
และบางทีเธออาจจะเขียนหนังสือให้แฟนนานุแฟนได้อ่านสักเล่ม ระหว่างที่เธอพักผ่อนยาวครั้งนี้
เธอทิ้งท้ายว่า อาจจะไปค้นจดหมายจากนักโทษที่ส่งออกมาจากเรือนจำจำนวนมากว่ายังอยู่ไหม ซึ่งเธอเชื่อว่ายังอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้การพักผ่อนของเธออาจจะไม่โลดโผนมากนัก แต่ก็ยังคงมีชีวิตชีวาเหมือนเดิม
“โดยกฎ มันจำเป็นต้องพับให้เล็กที่สุด มันก็จะมีจดหมายทำนองนี้เยอะเหมือนกัน พับได้เล็กมาก พับได้เล็กมากจนน่าประทับใจ” มุทิตาพูดถึงรูปแบบจดหมายจากต้นข่าวของเธอ