เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / ณิชากร ศรีเพชรดี / ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
ขนาบด้วยถนนพระราม 1 และพญาไท บวกกับรถไฟฟ้าที่พุ่งตรงเข้าหา ‘สยามสแควร์’ คือศูนย์กลางสำคัญในกรุงเทพฯ มูลค่าสูงลิบบนที่ดินสีชมพูของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ไม่อาจประเมินราคาได้ เป็นหนึ่งในเหตุผลให้สยามสแควร์มีวิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว
ปี 2526 พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ พบความทันสมัยของ ‘สกาล่า’ เมื่อเข้าไปดู Star Wars: Return of the Jedi ในยุคที่โรงหนังคือแหล่งดึงดูดทุกสิ่งอย่าง สร้างชีวิตและระบบนิเวศความเป็น ‘สยามสแควร์’ มาหลายสิบปี
กรรมการผู้จัดการบริษัท รังสรรค์แอนด์พรรษิษฐ์ สถาปัตย์จำกัด และผู้เขียน การเมืองเรื่องสยามสแควร์ อยู่ในออฟฟิศไม่ไกลจากพื้นที่ที่เคยเป็น Centerpoint – Centerpoint เดิมของ ‘เด็กสยาม’ ตั้งแต่สมัยเป็นลานโล่ง มาถึงยุคที่มีน้ำพุเป็นแลนด์มาร์ค จนทุกวันนี้ Centerpoint of Siam Square เป็นตึกสูง ไม่มีเค้าเดิม ผู้คนเดิมๆ และฟังก์ชั่นเดิมอีกแล้ว
ด้วยความเป็นคนพื้นที่ตั้งแต่เด็ก เป็น ‘ชาวสยามสแควร์’ พรรษิษฐ์เห็นหน้าตาของสยามสแควร์เปลี่ยนไปในสองทศวรรษที่ผ่านมา เด็กสยามถูกแทนที่ด้วยชาวต่างชาติหลากภาษา โรงเรียนกวดวิชากลายเป็นห้างร้าน พื้นที่เช่าเริ่มปิดตัว ตึกแถวเก่าถูกรื้อเตรียมลงหลักปักเสาเข็มเป็นอาคารสูง
แล้วก็ถึงคราวของโรงภาพยนตร์สกาล่าที่มีกระแสข่าว ‘โดนทุบ’ แม้เจ้าของพื้นที่สีชมพู สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงว่าโรงภาพยนตร์เก่าแก่แห่งนี้จะถูกเก็บรักษาไว้ – แต่ดูจากแผนพัฒนาของสยามสแควร์ที่มีการทุบ-สร้าง ทุบ-สร้าง สกาล่าอาจอยู่รอดแค่วันนี้ โดยไม่รู้ว่าวันนั้น ทุบ-สร้าง จะมาถึงเมื่อไหร่
หากสยามสแควร์เป็นระบบนิเวศ นี่คือขั้นตอนวิวัฒนาการครั้งใหม่ที่อาจจะใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี และอาจเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าพื้นที่สี่เหลี่ยมแห่งนี้จนไม่เหลือ ‘ความเป็นสยามสแควร์’ แบบที่เรารู้จักอยู่เลยก็เป็นได้
ย้อนไปยุคแรก สยามสแควร์แต่เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยหรือบ้านคนมาก่อนใช่ไหม
มีบ้าง ชั้นบนเป็นที่หลับที่นอนมีเยอะพอสมควร
พวกที่อยู่อาศัยลักษณะนี้หายไปช่วงปีไหน
ช่วงปี 48-49 มันมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะนะครับ ก่อนที่จะมาถึงปี 51 ซึ่ง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบผ่านครั้งแรก และปี 48-49 มีเรื่องการปฏิวัติค่าเช่าของที่นี่
หมายถึงขึ้นราคา?
ขึ้นค่าเช่าหลายเท่าตัว เป็นการกระโดดที่แรงมาก
คล้ายว่าจะบีบให้ออกหรือเปล่า
ไม่ใช่ครับ ไม่ใช่ คืออย่างนี้ ผมพูดตรงๆ ว่า มันมีในแง่มุมคนละฟาก ทางฝ่ายผู้ค้าผู้เช่า คือการค้าที่นี่มันไม่ได้ดีตลอดเวลา มันมีเวลาที่ดี มันมีเวลาที่แย่ เวลาที่ดีมันก็คงเป็นเวลาที่เขาเซ้งทั้งตึกแถว สี่ชั้นคือหนึ่งคูหา หรือจะมากกว่าหนึ่งคูหาก็แล้วแต่ เขามีการใช้ประโยชน์ของอาคาร ชั้นล่างเป็นค้าขาย ชั้นบนทำเป็นห้องนอน เป็นออฟฟิศ อะไรก็แล้วแต่ แล้วพอเวลาที่แย่ เขาก็ไม่รู้จะทำอะไร เขาต้องแบกค่าเช่าเอาไว้ เช่น วิกฤติ 40 เป็นต้น
ถ้าโตทัน สมัยนั้นจะมีตู้สติกเกอร์ที่เยอะมากที่สุดมาจากที่นี่ เพราะว่าเขาไม่รู้จะทำอะไร เขาก็ไปเช่าตู้สติกเกอร์มาวางตุ้บๆๆ ติดแอร์ตัวหนึ่ง ทำการค้าเลย… เอาง่ายๆ อย่างนี้ครับ มันก็มาพร้อมๆ กับ Centerpoint ซึ่งไปเช่าที่จอดรถ (ตอนนี้เป็นตึกแล้ว) เขาก็มาจัดอีเวนท์กัน
ช่วงนั้นมันเป็นเวลาที่แย่หลังจาก 40 ไม่นาน พอรัฐบาลมีการปรับสภาพได้ เศรษฐกิจมันก็เริ่มฟื้นขึ้นมา ก็เป็นเวลาที่ดีที่มีการปล่อยเช่าช่วงเยอะมาก คือมีการแบ่งห้องให้เช่า ตัวตึกแถวที่แบ่งห้องได้ง่ายที่สุดก็คือตึกแถวที่ติดกับโรงหนัง คือโรงหนังสยามกับโรงหนังลิโด้ โรงหนังสยามไม่มีให้เห็นแล้ว โรงหนังลิโด้ยังมีอยู่ ไปดูได้ว่าชั้นบนของตึกแถวมันเชื่อมกับทางเดินของโรงหนัง เพราะฉะนั้นมันสามารถจะตัดบันไดทิ้งได้เลย ข้างล่างปล่อยเช่าให้เป็นร้านค้าอย่างเดียว ข้างบนก็เป็นอีกร้านหนึ่งได้ เพราะมันเข้าจากทางชั้นโรงหนังได้ โรงหนังลิโด้ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้นตึกแถวที่ติดกับโรงหนังมันเริ่มซอยเป็นห้องเล็กห้องน้อย
ตอนนี้มี co-working space เกิดขึ้นข้างบนเยอะ
มีเยอะ บางคนก็ตัดบันไดพุ่งจากถนนซอยขึ้นไปข้างบนเลยก็มี หรือถ้าประหยัดพื้นที่ก็ใช้ทางเดินเข้าจากโรงหนัง เขาก็จะได้ไม่ต้องเสียพื้นที่ชั้นล่าง เพราะมันแพง
คราวนี้พอมันเกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ค่อนข้างแน่นแล้ว แน่นอน จุฬาฯ ก็มองว่าพวกนี้ได้กำไรมาก เขาได้ค่าเช่าแค่นี้เอง ทำไมเขาต้องให้ผู้เซ้งได้กำไร
ทีนี้กระบวนการเช่าช่วงมันไม่ได้เกิดขึ้นแบบดีดนิ้ววันหนึ่งเกิด ผมคิดว่ามันเกิดขึ้นจากความไม่ตั้งใจด้วยซ้ำ เช่น สมมุติว่าผมเซ้งมาสองคูหา ผมอยู่แล้วผมจ่ายค่าเช่าไม่ไหว ผมก็ปล่อยเช่า การปล่อยเช่าเราก็ไม่รู้หรอกใครมาเช่า พอมาเช่าเสร็จปุ๊บ อาจจะอยู่ได้สามเดือนแล้วเลิก หนีไปเลย มันก็เกิดการปรับตัวทางเศรษฐกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งบางทีผมปล่อยคุณเช่า คุณขายเสื้อผ้าอยู่ประมาณห้าเดือน ไม่ไหว ผมแบกไม่ไหว พี่ ลดราคาให้ผมหน่อย ผมบอกลดไม่ได้ งั้นผมเลิกนะ เฮ้ย เลิกผมไม่คืนเงินมัดจำคุณนะ เขาบอกพี่คืนผมเถอะสองเดือน ผมไม่มีเงินเลย ผมเสียค่าตกแต่งแล้ว อย่างนั้นคุณก็ไปหาคนอื่นมาเช่าต่อ นี่คือเริ่มต้นการเช่าช่วง
ทีนี้พอจุฬาฯ เห็นว่าหลังจากนั้น gap ค่าเช่ามันเริ่มเยอะมาก จุฬาฯ ก็เลยบอกว่า ไม่ยอมแล้ว ต้องปรับค่าเช่าให้สูง แต่ผมว่ามันมีสองนัยยะ คือนัยยะแบบนี้แบบหนึ่ง คือจุฬาฯ มองว่าผู้เซ้งพวกนี้ได้กำไรกันมากมาย รวยกันมาก อีกนัยยะหนึ่งเป็นนัยยะที่ผมคิดว่าสำคัญมากๆ แต่ไม่ค่อยมีคนกล้าพูด และไม่มีใครพูด คือจามจุรีสแควร์
จามจุรีสแควร์ต่างจากการเก็บค่าเช่าจากผู้ค้าในสยามฯ อย่างไร
จามจุรีสแควร์เป็นตึกสร้างค้าง สร้างไม่เสร็จ สมัยก่อนจุฬาฯ ให้สัมปทานบริษัทพัฒนาอสังหาฯ แล้วพอเกิดวิกฤติ 40 มันเจ๊ง
ก็เลยเป็นตึกที่สร้างค้างใช่ไหม
ค้างอยู่นานพอสมควร คราวนี้จุฬาฯ ต้องการสร้างเอง พอยึดสัมปทานมาแล้วก็สร้างตึกนี้ จะเอาเงินใส่เข้าไปเท่าไหร่ เพื่อที่จะผันเงินออกมาได้อีก แต่ตอนนั้นจุฬาฯ ยังอยู่ใน พ.ร.บ. เก่า 2522 ยังไม่สามารถทำอะไรได้เลย นอกจากเอาที่ให้เขาเช่า
คือไม่สามารถกู้เงินหรือเอาเงินมาทำอะไรได้เลย?
กู้เงินก็ไม่ได้ ลงทุนก็ไม่ได้ เงินน่ะมีเต็มกระเป๋า ไม่กล้าใช้ แต่…เขาใช้ครับ จามจุรีสแควร์เริ่มสร้างปี 48 ก่อน พ.ร.บ. จะออกในปี 51
หมายถึง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบใช่ไหม
ถูกต้อง ไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐเลยสักบาทเดียว ไม่ได้กู้เงินเลยสักบาทเดียว ตึกนี้ 3,000 ล้าน ผมไม่ได้คิดเองนะ รองอธิการฯ สมัยนั้นให้สัมภาษณ์เอาไว้ในประชาชาติธุรกิจ 3,000 ล้านบาท เงินสดๆ เป็นตึกนี้ทุกวันนี้
หลังจากปี 51 ออกนอกระบบปุ๊บ เขาก็ cover สิ่งที่เขาทำไปในอดีตจนหมด ก็ผ่านไปได้ หลังจากนั้นก็เกิดการลงทุนต่อเนื่องในหลายๆ โครงการ เช่น โครงการสยามกิตติ์ลงทุนเอง เก็บผลประโยชน์เอง โครงการ Siam Square One ลงทุนเอง บริหารเอง เก็บผลประโยชน์เอง คอนโดมิเนียมด้านหลังอีกสองตึก เขาเรียกว่า CU Terrace ก็ลงทุนเอง ขายเอง แต่ขายเป็น lease (สัญญาเช่า) เขาละไว้ข้อเดียวคือ ที่ดินพระราชทาน ซึ่งสำคัญมาก ห้ามจำหน่าย เพราะฉะนั้นจึงเป็น lease ระยะยาว 30 ปี
ตรงไหนบ้าง
คือที่ดินทั้งหมดนี่แหละครับ ของจุฬาฯ ทั้งหมด เป็นที่พระราชทาน ขายไม่ได้ เหมือนที่วัดน่ะ เขาก็ใช้เป็นเช่าระยะยาว แล้วขายสิทธิ์การเช่า 30 ปีบวกๆ ปี ต่อได้อีก เหมือนที่เช่า พ.ร.บ. กำหนดไว้แค่นั้น นอกจากนั้นก็ทำได้ทุกอย่าง ตอนนี้ก็เลยเป็นแบบทุกวันนี้
ถ้ามีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงๆ มูลค่าคงแพงมาก?
แพงครับ แต่ที่ดินแปลงนี้ขายไม่ได้ เพราะฉะนั้นที่ชอบประเมินกันว่าที่ดินตรงนี้แพงที่สุดในประเทศไทย มันไม่มีราคาจริงครับ มันเป็นราคาที่อ้างอิงข้างเคียง ถามว่าแพงไหม มันก็คงแพงที่สุดจริงๆ แต่มันขายไม่ได้ เพราะโอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ตามกฎหมาย
ช่วงที่มี Centerpoint เกิดขึ้น คนรุ่นนั้นจะเข้าใจว่าเป็นช่วงบูมมากกว่าไม่ใช่หรือ
จริงๆ Centerpoint เกิดจากช่วง bust คือ Centerpoint ถ้าคุณไปรื้อดูใต้ตึกจะมีเสาเข็มมาก่อน ตอนนั้นจุฬาฯ ให้สัมปทานเอกชน เมื่อก่อนเป็นลานจอดรถ
เขาเคยตั้งใจจะทำอะไรตรงนี้อยู่แล้ว?
ตั้งใจจะทำตึกมาก่อนแล้ว พอตอกเสาเข็มปุ๊บ เจอวิกฤติเศรษฐกิจ เจ๊งเลย เลิก
คราวนี้มีคนมาขอเช่าพื้นที่จัดอีเวนท์ พื้นที่ทำตลาดปล่อยเช่า ก็ทำเป็นซุ้มๆ เป็นบูธมาวางๆ ไว้ แล้วก็ปลูกต้นไม้ สมัยนั้นเป็นช่วงที่กระแสกรีนเริ่มมา ตอนนั้นต้นปาล์มกำลังบูม กำลังบ้าต้นปาล์ม Centerpoint เอาต้นปาล์มมาปลูก แล้วก็เอาซุ้มมาวางปล่อยเช่า
ผมก็นั่งดูๆ ก็ไม่รู้ว่าเขาเช่าจากจุฬาฯ เท่าไหร่ เพราะที่มันก็รกร้างอยู่ ผมก็นึกว่ามันจะไปรอดหรือจะเจ๊ง แต่ผมก็ชอบนะ บางทีผมนั่งทำงานแล้วเบื่อๆ ก็ไปนั่งน้ำพุดูเด็กๆ วัยรุ่น ดูสาว ก็ชอบ ก็ไปนั่งดูเรื่อยๆ ผมเจอผู้จัดการเขาบ่อยๆ ผมเรียกเขา พี่หนวด วันหนึ่งเขาก็รื้อบูธออก ผมก็ถามว่าพี่รื้อทำไม เขาบอกว่า เจ้านายบอกว่าให้เหลือครึ่งเดียวก็พอ ผมก็บอก โอ้ สงสัยเตรียมตัวเจ๊ง เพราะปกติปล่อยเช่าหมดมันยังจะไม่รอดเลย แล้วจะไปยกเลิกครึ่งหนึ่ง บ้าหรือเปล่า จะทิ้งให้มันโล่งๆ แล้วเขามีเวทีทิ้งไว้ตรงนี้ ตรงร้านกาแฟมงคล (ใต้อาคาร Centerpoint ปัจจุบัน – กองบรรณาธิการ)
หลังจากนั้นเขาจัดการพื้นที่ตรงนี้ต่ออย่างไร
ผมประทับใจแกมากเลยนะ แกยกเลิกไปครึ่ง เป็นลานโล่งๆ แล้วแกคิดว่าจะจัดอีเวนท์ ตอนนั้นผมคิดว่ามันเป็นยุคแรกของกิจกรรมอีเวนท์ซึ่งบูมมาจาก Centerpoint เพราะมีวัยรุ่นเรียนพิเศษ เขาก็จะทำสวนต้นปาล์มอะไรของเขา เด็กมันก็จะมาเด๊าะแด๊ะๆ สูบบุหรี่อะไรกัน วัยรุ่นน่ะ (หัวเราะ) มันก็มาไร้สาระอยู่แถวนี้แหละ
คราวนี้เขามองว่า เฮ้ย ตรงนี้มันมีแบรนด์ของสถานที่วัยรุ่น ที่ hang out ของวัยรุ่น เขาก็ไปทำมาร์เก็ตติ้ง เดินสายไปชวนสินค้าบริการดังๆ ที่เขาต้องการภาพลักษณ์วัยรุ่นมาจัดงาน มาเปิดตัวที่นี่ วันอาทิตย์หรือวันเสาร์ ตอนนั้นเกาหลียังไม่บูมเลยนะ เริ่มจากมีซีรีส์เกาหลีบางเรื่อง เขาก็ไปเอาดาราหรือนักร้องเกาหลีมาจัดคอนเสิร์ต วันเสาร์บางทีผมมาออฟฟิศ ผมล่ะเบื่อมากเลย มันตุ้บๆๆ แบบนี้ตลอดเวลา แล้วตอนนั้นมันเป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักติ่งเกาหลี แบบ…เต็มไปหมด
เทรนด์เกาหลีมีมาตั้งแต่ยุค Centerpoint เลยหรือ ทีแรกคิดว่าเพิ่งมีในยุคหลัง
ช่วง Centerpoint ปลายๆ เริ่มมาแรงแล้ว ผมก็…อะไรของมันวะ คือมันบ้ายิ่งกว่าดาราไทย (เดี๋ยวนี้ก็คงยังเป็นอย่างนั้นเนอะ) คือยุคผมเป็นยุคหนังจีน หนังกำลังภายใน ยุคผมไม่ใช่ยุคเกาหลี ผมก็จะมาดูรุ่นน้องเกาหลีที่ Centerpoint แล้ว Centerpoint ก็ประสบความสำเร็จสูงมากในเรื่องของการทำแบรนด์สถานที่ ทั้ง AIS พวกน้ำดื่ม น้ำผลไม้ น้ำอัดลม เปิดตัวที่นี่หมด เขาก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แล้ววันหนึ่งจุฬาฯ ก็ยกเลิก ไล่เขาไป แล้วก็เอาไปให้กลุ่ม TCC Land ทำ
ที่สร้างเป็นตึก Digital Gateway หรือตึก Centerpoint of Siam Square ทุกวันนี้ใช่ไหม
ถูกต้อง แล้วแกก็ระหกระเหินไปเช่าที่ Central World แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตอนนี้ผมไม่ทราบว่าแกไปไหน
ทั้งที่ยุครุ่งเรืองของ Centerpoint เป็นช่วงบูม เงินน่าจะเยอะขึ้น แต่ทำไมจุฬาฯ ถึงให้ย้ายออก แล้วมีตึกขึ้นมาแทน
อ้าว เขาให้เงินเยอะกว่าไงครับ จากการสัมปทานสร้างตึก มูลค่ามันสูงกว่า ถ้าเกิด Centerpoint ออกไป ไม่เหลืออะไรเลยนะ เหลือแต่พื้นดิน ต้นปาล์มเน่าๆ ใช่ไหม แต่นี่ได้ตึก แล้วก็การลงทุนทำสัญญากับการสร้างตึก แน่นอน ผลประโยชน์ที่จะได้มันมากกว่า อันนี้เราว่าเขาไม่ได้ มันเป็นเรื่องปกตินะครับ
เป็นแบบเดียวกับเคสอื่นๆ ที่จุฬาฯ กำลังทำอยู่ในสยามสแควร์ใช่ไหม เช่น การเคลียร์ตึกแถวออกแล้วสร้างตึกสูง
ไม่เหมือนกันทุกประการ บางเคสอย่างเคสนี้ให้เอกชนสัมปทาน เอกชนจะลงทุนออกค่าก่อสร้าง แล้วเก็บผลประโยชน์ในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วจ่ายเป็นค่าเช่า เขาเรียกว่าค่าเซ้งหน้าดิน
คือเซ้งพื้นที่?
เซ้งพื้นที่ก็ได้เงินก้อนหนึ่ง X บาท หลังจากนั้นก็จ่ายค่าเช่าอีกทุกเดือน เดือนละเท่านี้บาท เอกชนลงทุนสร้างตึก ครบเวลา 30 ปี 20 ปี แล้วแต่สัญญา ตึกตกเป็นของจุฬาฯ หรือถ้าเอกชนอยากทำต่อ ก็คุยกัน ต่อสัญญาได้ คล้ายๆ กับลิโด้ สกาล่า และโรงหนังสยามสมัยก่อน อันนี้กรณีหนึ่ง
อีกกรณีหนึ่ง จุฬาฯ ลงเงินเอง บริหารเอง เก็บผลประโยชน์จากค่าเช่าเอง เช่น Siam Square One ตึกสยามกิตติ์ จุฬาฯ ลงทุนเอง ก่อสร้างเอง เก็บผลประโยชน์เอง สร้างได้ครึ่งตึก อีกครึ่งตึกกำลังรออนุมัติ อีกตึกหนึ่งที่กำลังจะทำ คือตรงข้ามมาบุญครอง ที่รื้อโบนันซ่าไป (ตอนนี้จัดตลาดนัดอยู่) จะขึ้นเป็นออฟฟิศ เท่าที่เห็นก็พบว่าเขาต้องทำแบบมาทำประชาพิจารณ์เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ไม่มีปัญหาหรอก ผ่านอยู่แล้ว
เป็นตึกสูงกี่ชั้น
จำไม่ได้ครับ น่าจะ 30-40 ชั้น แต่ตึกสูง ตึกสยามกิตติ์ก็สูงนะ 40 ชั้น ข้างบนจะเป็นโรงแรม ล็อบบี้โรงแรมอยู่ฝั่งถนนอังรีดูนังต์ ยังปิดร้างๆ อยู่เลย ตอนนี้ที่เปิดคุณเข้าได้แต่ทางพลาซ่า ที่เป็นส่วนช้อปปิ้ง แต่เขาทำเป็นโรงเรียนกวดวิชา ก็ต้องสร้างต่อไปอีกสัก 30 กว่าชั้น
มองจากสิ่งที่เกิดขึ้น สามารถพูดได้ไหมว่า นี่คือการสร้างมูลค่าทางธุรกิจเป็นหลัก
อันนั้นเป็นเรื่องปกติที่เขาต้องการอยู่แล้ว เพราะว่าตั้งแต่ พ.ร.บ.ออกนอกระบบ ซึ่งใช้กับมหาวิทยาลัยของรัฐทั่วประเทศไทย พ.ร.บ. บอกว่า การของบประมาณจากรัฐบาลมันไม่เพียงพอต่อการพัฒนาการศึกษา แล้วมันไม่คล่องตัวเพราะมีระเบียบราชการคลุมอยู่ มันไม่พัฒนาเรื่องการศึกษาและงานวิจัย เพราะมันต้องการความคล่องตัวในแบบเอกชน เขาก็เลยออกนอกระบบ
ทีนี้พอออกนอกระบบ จุฬาฯ จะเด่นกว่าคนอื่น เพราะจุฬาฯ มีเงินก้นถุงเยอะ ก็คือที่ดินพระราชทานผืนนี้ คนอื่นอาจจะไม่ชัดเจนนัก พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยออกนอกระบบให้อำนาจจุฬาฯ ทำได้ทุกอย่างเพื่อที่จะเอาเงินมาพัฒนาการศึกษา ถูกไหม เพราะเขาไม่ได้เป็นบริษัทเอกชน ไม่ได้ขายหุ้น แล้วเขาก็ไม่ได้มีหุ้นส่วนใหญ่เป็นตระกูลนั้นตระกูลนี้ เขาจะเอาเงินไปทำไม มันไม่มีเจ้าของ ประชาชนเป็นเจ้าของไม่ใช่เหรอ เขาก็ต้องเอามาตอบแทนประชาชนใช่ไหม เงินที่ได้มาทั้งหมด ก็เพื่อพัฒนาการศึกษา นี่คือวัตถุประสงค์ก่อนนะครับ
การสร้างผลประโยชน์ให้งอกเงยก็ดำเนินไปเรื่อยๆ สิ่งที่ผมตั้งคำถามมาโดยตลอด ซึ่งผมขี้เกียจถามแล้ว เพราะมันไม่มีคนตอบ คือมันมาสู่การพัฒนาการศึกษาเท่าไหร่ อย่างไร แม้กระทั่งคนในจุฬาฯ เขายังไม่ถามเลย แล้วผมจะยุ่ง…หยาบๆ ก็คือ ไปเสือกถามเขาทำไม มันก็ไม่ใช่ เราคนนอก แล้วเราตัวเล็กๆ ก็ได้แต่ถามไว้ในใจ
เพราะจุฬาฯ ไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าสัดส่วนของเงินที่เอาไปใช้ในการศึกษามีเท่าไหร่หรือเปล่า
คือการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยรัฐมันมีเรื่องของธุรกิจอสังหาฯ ส่วนหนึ่ง และมีธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมา ก็คือธุรกิจการศึกษา เงินของธุรกิจการศึกษามันเป็นเงินที่จัดการขึ้นโดยคณะวิชาและมหาวิทยาลัยในส่วนของการเรียนการสอนและการทำวิจัยจริงๆ
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มหาวิทยาลัยเมืองนอกก็ทำ แต่อสังหาริมทรัพย์ตัวนี้จะมาสู่การศึกษายังไงกลไกมันไม่เหมือนกัน มันแตกต่างกันไป ผมตอบไม่ได้
กรณีของจุฬาฯ ผมคิดว่าหลักฐานประจักษ์มันเกิดเป็นของที่ตั้งอยู่เป็นตึกใหญ่ๆ มันประเมินได้ด้วยตาเปล่าอยู่แล้วว่ามันไม่สมดุลกัน ในทางบัญชีมันไม่สมดุล เงินทางการศึกษาคุณก็ขึ้นค่าเล่าเรียน คุณออกโครงการภาคอินเตอร์ฯ ภาคพิเศษอะไรเยอะแยะไปหมดเลย ในขณะที่เงินตัวนี้คุณได้เพิ่มเยอะขึ้นทุกวันๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการลงทุนที่น้อยมาก เพราะว่าต้นทุนอสังหาริมทรัพย์ที่แพงที่สุดคือต้นทุนที่ดิน ซึ่งคุณได้มาฟรีหมดเลย
เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าสกาล่ามันตาย แล้วคนไทยมาตั้งคำถามกัน ผมว่าตายไปเถอะ คุ้ม ทุบเลย
ซึ่งเป็นแบบนี้แล้วก็ยังไม่มีใครตั้งคำถามกัน?
ไม่ถาม อาจารย์ไม่ถาม แม้กระทั่งคนที่รู้จักกับผม สนิทกับผม ก็มาโกรธผมด้วยนะ ผมยังบอกเลยว่า คนรักจุฬาฯ เขาไม่ได้รักด้วยการเทิดทูน เราควรจะรักด้วยการดูแล แต่ตอนนี้จุฬาฯ ถูกดูดาย ทุกคนดูดายหมดเลย เพราะทุกคนอยู่กับจุฬาฯ โดยคิดว่าต้องรักษาจุฬาฯ ให้คลีน ให้สะอาด โดยการหลอกตัวเองว่าเป็นสถาบันที่มีเกียรติ แต่ไม่ดูแลเลย ปล่อยให้เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น
คือสถาบันมีความศักดิ์สิทธิ์ พระนามก็พระนามในหลวง สถานที่ก็สถานที่พระราชทานให้ เป็นความเมตตาของท่าน รัชกาลที่ 6 ท่านพระราชทาน ผมไม่เชื่อว่าท่านจะทราบว่ามันจะสร้างผลประโยชน์ได้ขนาดนี้ เมืองมันโตขึ้นเรื่อยๆ สมัยก่อนมันเป็นท้องนา มันเป็นสลัม ชาวบ้านไม่มีที่จะอยู่ก็มาอยู่กัน ก็พระราชทานให้เอาไปจัดการศึกษา เพราะประเทศเรามันต้องการพัฒนา มันไม่มีบุคลากร เราต้องการการเรียนการสอนเพื่อต้องการสร้างบุคลากรเข้าสู่ระบบราชการในยุคปฏิรูประบบราชการ แต่ตอนนี้มันโตมาแบบนี้ ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องที่ดีนะ มันก็ต้องตอบคำถามได้ว่า การศึกษาได้อะไร ผมเห็นนิสิตบ่นจะตาย ว่าหอพักก็ไม่มี โรงอาหารก็ไม่มี แล้วเงินมันไปไหนหมด ไม่เอาเงินตรงนี้มาทำล่ะ ซึ่งเงินตรงนี้เยอะมากมายมหาศาล
อย่างกรณีสกาล่าก็ถือเป็นการตั้งคำถามกับความดูดายของเจ้าของพื้นที่อย่างจุฬาฯ เหมือนกัน?
คนไทยชอบคิดอะไรเป็นสเต็ปสั้นๆ อย่างสกาล่า ตอนนี้ก็มีคนบอกว่า ก็พวกมึงไม่ไปดูหนังกัน เขาก็เจ๊งสิ…เขาไม่ได้ต่อสู้เรื่องให้โรงหนังมันอยู่ เขาต่อสู้เรื่องของสถานที่ สถาปัตยกรรม ถ้ามันมีคุณค่ามันก็มีคุณค่า ถ้ามันไม่มีคุณค่ามันก็ไม่มีคุณค่า เหมือนตึกแถวโบนันซ่า มันไม่มีคุณค่าก็ทุบ ไม่มีปัญหาอะไรหรอก นี่เขาต่อสู้แค่นี้
ถ้ามันเป็นเอกชนต้องทุบแน่นอน แต่นี่มันเป็นของหลวง มันเป็นสถาบันการศึกษา มันเป็นคนละประเด็น เป้าหมายของสถาบันการศึกษามันคือสร้างกำไรอย่างเดียวเหรอ หรือมันคงต้องทำอย่างอื่น จริงๆ ภารกิจกำไรมันไม่มีด้วยนะ มันเป็นภารกิจที่เราต้องหาเงินมาหล่อเลี้ยงระบบการศึกษาไม่ใช่เหรอ มันไม่ใช่หากำไรเยอะๆ นะ ไม่ใช่บริษัทมหาชนจำกัดนะ มันคนละเรื่อง
เพราะฉะนั้นการที่คนตั้งคำถาม จริงๆ ส่วนตัวผม ผมไม่ได้อะไรกับสกาล่าเลยนะ ผมไม่ได้ยุ่งเลยนะ เพียงแต่ว่าพอมีเรื่องสยามฯ เรื่องจุฬาฯ มาถามแล้วผมจะชอบพูด มันก็ไปเรื่อย คือปกติอยากทุบก็ทุบไปเถอะ ไม่ต้องไปสนใจหรอก
จริงๆ มันควรทุบขนาดนั้นเลยหรือ
มันไม่ได้ควรทุบหรอกครับ เพียงแต่ว่าเขาต้องการจะเอาไปสร้างมูลค่าเพิ่ม คราวนี้การสร้างมูลค่าเพิ่ม โหมดความคิดแบบไทยๆ หรือแบบคนที่ไม่ค่อยจะคิดอะไรเยอะ ก็เพิ่มขนาด คือเราจะคิดอะไรแบบปริมาณ ก็ขึ้นสูงๆ สิ สูงๆ ก็ได้เยอะ ถูกไหม แต่เราไม่ได้คิดเรื่องของคุณค่า ระยะหลังๆ ถึงจะเริ่มมี ตอนนี้มีเยอะแล้วนะ อย่างไปรษณีย์กลาง TCDC ไปเช่าแล้วก็ปรับปรุง ประกวดก็ได้รางวัล สถานที่แบบนี้มันเป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวกล่าวขาน บางทีมันไม่ต้องใหญ่ต้องสูง ปล่อยพื้นที่เช่าได้เยอะ
ถ้าสมมุติว่าสถานที่มันมีความโดดเด่น มันมีประวัติที่มา มันมีเรื่องเล่า แล้วมันถูกปรับหรือถูกเปลี่ยนไปในลักษณะที่ stunning ผู้คน คนทั่วโลกเขามา เงินมันอาจจะไม่ได้มาตกอยู่ที่หน้าสกาล่า แต่มันตกอยู่ทั้งหมดเลย แล้วทุกคนก็ยกระดับความรวยขึ้นมาพร้อมกันหมด หลังจากนั้นก็จ่ายเงินค่าเช่าให้กับจุฬาฯ อีกต่อหนึ่ง เขาเรียกว่าเป็นการแสวงหากำไรสองขั้น หนึ่ง-คุณได้กล่อง ได้หน้า ว่าคุณฉลาดที่จะเก็บของเก่า สร้างมูลค่าเพิ่ม สอง-คุณไม่ได้เงินโดยตรงจากค่าเช่าตรงๆ แต่คุณสร้างความร่ำรวยให้กับคนรอบข้าง คือยกระดับความรวย แล้วหลังจากนั้นคุณก็ชาร์จเขาทางอ้อมอีกที ถ้าเป็นรัฐบาลก็เก็บภาษีเพิ่ม
ถ้าเราไปเที่ยวเมืองนอก เอาง่ายๆ คนไทยชอบไปญี่ปุ่น คุณไปเที่ยวญี่ปุ่น ก้อนหินห้าก้อนยังเอามาโปรโมท เราก็ขับรถเป็นชั่วโมงๆ ไปดูก้อนหินห้าก้อน เราก็นึกในใจ ไม่มีอะไรเลยนี่หว่า แต่ก็ขอเซลฟี่เสียหน่อย หลังจากนั้นเราก็เหนื่อยมาก แล้วเราก็ต้องกินข้าว เราจะต้องช้อปปิ้งอะไรสักหน่อย อย่างนี้ครับ มันคิดไม่ได้หรอก ผมถึงบอกแล้วว่าประเทศกำลังจะพัฒนาไง มันยังไม่เริ่มพัฒนาเลยนะ เพราะว่าทัศนคติหรือโหมดความคิดมันคิดอยู่แค่นี้
กรณีสกาล่า เพราะเรามองความสำคัญด้านวัฒนธรรมน้อยเกินไปหรือเปล่า
ใช่ ก็ผมคิดว่าไม่ใช่เรามองนะ คนมีอำนาจเขาไม่ได้มอง หรือเขาอาจจะมองแต่เราไม่รู้ เราไปปรามาสเขาก็ไม่ได้ เพราะเขายังไม่ได้บอกว่าจะทำอะไร
ในแง่ของการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ เช่น พอมีสกาล่า มีสยามสแควร์อยู่ตรงนี้ ดึงดูดรถไฟฟ้า เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ตามมา บทบาทหน้าที่ของสยามฯ ในแง่ของความเป็นเมืองคืออะไร
ผมคิดว่าสยามฯ มันเริ่มต้นเป็น node ของเมือง เพราะว่ามันมีความชัดเจนในเรื่องของการเป็นสถานที่เฉพาะ ถ้าสมัยก่อนก็เป็นวัยรุ่น จริงๆ วัยรุ่นไม่ได้มาหลังปี 40 นะ วัยรุ่นมาก่อนหน้านั้น ตั้งแต่ผมเป็นเด็ก เพราะมันมีโรงเรียนกวดวิชาเยอะมาก แล้วมันก็มีสิ่งต่างๆ ที่รองรับเด็กนักเรียนที่กวดวิชา
สมัยยุคผม ทุกคนมุ่งสู่จุฬาฯ ชีวิตนี้ถ้าสอบเอนทรานซ์เข้าจุฬาฯ ได้ ผมคิดว่าตายตาหลับ ในยุคที่ผมเป็นนักเรียนนะ (หัวเราะ) ตอนนี้อาจจะไม่ใช่ผมก็ไม่ทราบนะ ตอนนั้นทุกคนเรียนพิเศษกันเป็นบ้าเป็นหลัง เรียนกันจนตาย เพราะฉะนั้นก็เป็นสถานที่วัยรุ่น มันก็เป็นตึกแถวอย่างนี้แหละ
คราวนี้รถไฟฟ้ามันมาลง เพราะเขาคิดว่าย่านนี้มันมีคาแรคเตอร์หรือมีลักษณะที่เด่น แต่ตอนนี้คาแรคเตอร์ตัวนี้มันเริ่มเบลอไปเยอะ แล้วมันจะจางไปเรื่อยๆ มันจะกลายเป็นสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นตึกสูง เป็นโรงแรม เป็นออฟฟิศ ซึ่งมันคงจะไม่มีคาแรคเตอร์อะไรเหลือในอนาคตอันใกล้นี้ มันก็จะเป็นศูนย์การค้าก็เป็นอย่าง Siam Square One มันก็เป็นตึกที่สวยนะ แต่มันก็ไม่ได้มีคาแรคเตอร์ในลักษณะที่เป็นย่านของอะไรสักอย่าง
ถ้าไปญี่ปุ่นก็จะมีย่านชิบูย่า ย่านนู่นย่านนี่ แต่ว่าเราจะทำย่านพวกนี้ให้เบลอ เบลอไปเรื่อยๆ เพราะว่าการพัฒนามันไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีวิสัยทัศน์ มันก็ได้แค่วัตถุ สร้างตึกๆ แต่ผมก็ไม่ทราบ มันไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของผม คนที่อยู่ในสยามฯ ก็ไม่ใช่คนที่มีสิทธิ์หรือจะจัดการอะไรได้ เพราะลำพังเอาให้อยู่ได้ก็ลำบากอยู่แล้วในสภาพเศรษฐกิจอย่างนี้
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าการโตของมันจะโตไปในลักษณะที่เป็นไปตามนโยบายของเจ้าของสถานที่ คือสำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ เป็นหลัก คือเขาจะสร้างนู่นสร้างนี่มันก็จะเป็นไปในลักษณะที่เขาต้องการนะครับ
ตอนนี้สยามสแควร์มันไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวแล้ว มันกลายเป็น shopping strip แล้ว เพราะมันมีสกายวอล์คที่เซ็นทรัลสร้าง ตอนนี้คนที่มากรุงเทพฯ เขาจดจำสยามสแควร์ในลักษณะที่เป็นจุดหมายเล็กๆ อันหนึ่งบน shopping strip อันนี้ ซึ่งเริ่มต้นจากเพลินจิต เดินมาเรื่อยๆ จนมาจบที่มาบุญครอง
พูดถึงคาแรคเตอร์ ถ้าเป็นสักเกือบๆ 20 ปีก่อนยังมีคำว่า ‘เด็กสยาม’ อยู่?
ครับ แล้วตอนนี้มีไหม
ไม่มี มันเหมือนกับคาแรคเตอร์ของคนและพื้นที่เปลี่ยนไป
ใช่ เปลี่ยนไปเร็วมาก 10 ปีที่ผ่านมา แล้วก็ติวเตอร์หายหมด หายไปอยู่ตึกวรรณสรณ์ (แยกพญาไท) ผมก็ไม่ทราบ ตึกสยามกิตติ์ยังมีอยู่บ้าง แต่ก็หายไปเยอะ ผมไม่ได้สนับสนุนกิจการติวเตอร์นะ แต่พูดถึงคาแรคเตอร์ของลูกค้ามันหายไป
เป็นเพราะความเจริญขึ้นของเมือง หรือเป็นเพราะค่าเช่า?
มันคงจะเริ่มมาจากค่าเช่ามากกว่า แล้วทุกอย่างมันปรับตัวไปตาม สยามฯ จะเจ๊งไหม ผมว่าไม่เจ๊งหรอก มันก็อยู่อย่างนี้ มันจะเจ๊งก็เพราะว่าเขาทุบสร้างตึกสูงๆ แล้วก็จะมีคนอื่นมาอยู่เรื่อยๆ
เหตุผลที่บอกว่าไม่เจ๊งก็คือ สมมุติคุณมีตึกแถว คุณเซ้งตึกแถวในสยามฯ สักห้อง แล้วเปิดว่างๆ ไว้ ติดเบอร์โทรศัพท์ เดี๋ยวมีคนโทรมาเพียบเลย มันจะมีอย่างรุ่นน้องๆ โทรมา หนูอยากเปิดร้านเสื้อ หนูอยากเปิดร้านเครื่องประดับ หนูอยากจะลงทุน แต่คุณไปเซ็นทรัลเขาไม่รับคุณหรอก คุณเป็นใคร เขาไม่รับ เขาต้องการแบรนด์ คุณแบรนด์อะไร แบรนด์ ‘เอ๋’ บ้าหรือเปล่า ไปจตุจักรนู่น (หัวเราะ) มันไม่ใช่ แต่กับสยามฯ คุณทำได้
ผมคิดว่าสถานที่แบบนี้ โอเค ค่าใช้จ่ายมันสูงแต่รายรับกลับมามันก็สูง มันเป็นความเสี่ยงที่ดี มันมีกิจการหลายอย่างที่เป็นเด็กๆ ที่เริ่มต้นที่นี่แล้วประสบความสำเร็จ เข้าไปอยู่ในห้างได้ พอไปอยู่ในห้างเขาก็อาจจะถอนไปจากสยามฯ แต่มันเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะว่าวันนี้ถ้าเกิดคุณกำเงินพ่อแม่คุณมาล้านหนึ่ง คุณเดินไปเซ็นทรัลคุณก็ไม่ได้เข้านะ ถูกไหมครับ ที่นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่สร้างภาพลักษณ์ แล้วถ้าธุรกิจคุณรอดได้ คุณก็มีโอกาสเติบโต แต่ตอนนี้ถ้าเป็นศูนย์การค้าทั้งหมด มันก็ไม่ได้เป็นหลักประกันอย่างนั้นอีก
ถ้าเสน่ห์ความเป็นสยามสแควร์เริ่มหายไป ความสำคัญในเชิงเมืองหรือวัฒนธรรมคืออะไร
ตอนนี้มันมีความเป็นแฟชั่นอยู่เยอะเหมือนกัน มันยังคงความเป็นแฟชั่นอยู่ แฟชั่นที่นี่ไม่ใช่แฟชั่นแบรนด์ที่เข้มแข็งที่อยู่ตามศูนย์การค้า มันเป็นแบรนด์ใหม่ๆ ที่เด็กๆ หยิบจับมาทำด้วยมือ แล้วอย่างที่ผมบอกว่าคุณมาเช่าตึกแถว อาจจะเล็กมาก อาจจะหนึ่งส่วนสี่ของคูหาหนึ่งด้วยซ้ำ แล้วก็กั้นผนังยิปซั่มบอร์ด แล้วก็ตั้งขาย ติดป้ายสวยๆ ถ่ายรูปลงอินสตาแกรม ขายออนไลน์ด้วย ขายตรงนี้ด้วย มันสร้างเถ้าแก่น้อย เถ้าแก่น้อยเกิดขึ้นจากที่นี่เยอะ
พอจะพูดได้ไหมว่า สกาล่าที่ไม่ได้ถูกพูดถึงทั้งคุณค่าทางเศรษฐกิจและด้านวัฒนธรรมเลยก็สมควรถูกทุบ เพราะไม่ได้สร้างเอกลักษณ์ให้ที่นี่แล้ว
ก็มองได้หลายแง่ ถ้าพูดถึงสกาล่าตัวเดียว เราต้องมองทั้งสามโรง มันคือมัลติเพล็กซ์รุ่นแรกๆ สามโรงนี่เมื่อก่อนหนึ่งโรงคือหนึ่งโรงนะ มันไม่ใช่ตอนนี้ที่ลิโด้มีสามโรง สมัยก่อนเป็นโรงใหญ่ๆ เหมือนสกาล่า โรงหนังเป็นที่ดึงดูดอะไร วัยรุ่นอีกนั่นแหละ มันเป็น node อันหนึ่งที่ดูดวัยรุ่นมา หรือดูดคนทำงาน สมัยก่อนมาจีบกันต้องไปดูหนังใช่ไหม
สมัยนั้นการดูหนังเป็นอีเวนท์ใหญ่นะ การออกจากบ้านมาโรงหนังสามโรงนี่จะต้องแต่งตัวตัดผมหล่อ มันเรื่องใหญ่มาก เป็นกิจกรรมสำคัญนะ มากับแฟนเราจะต้องดูดี แล้วโรงคือมัลติเพล็กซ์อันแรก มันเป็น node สำคัญ ซึ่งทางซีคอนที่เริ่มทำตึกแถว 600 คูหาครั้งแรก ไปเชื้อเชิญให้ คุณพิสิษฐ์ ตันสัจจา ที่เคยเป็นผู้สร้างหนัง มาลงทุนทำโรงหนัง พอทำโรงหนังตรงนี้จะได้มีคนเข้ามา นี่คือไอเดียศูนย์การค้าเมื่อ 50 ปีที่แล้ว มีโรงโบว์ลิงด้วย อยู่ตรงโนโวเทล เดี๋ยวนี้ทุกอย่างเอามาย่อเล็กๆ ไปใส่ในห้างหมดแล้ว
สยามสแควร์ทั้งหมดคือศูนย์การค้าเลย ซึ่งไม่ใช่แบบเซ็นทรัลนะ ตึกแถวคือร้านค้าปลีก node ก็คือโรงหนังและโรงโบว์ลิ่ง
ถามว่าสกาล่ามีความสำคัญไหม ผมคิดว่าทั้งลิโด้ สกาล่า และสยาม ตอนนี้สยามสแควร์ไม่ต้องการเขาแล้วในฐานะโรงหนังอีกต่อไป เพราะเรามี SF อยู่ที่มาบุญครอง เรามี Major อยู่ที่พารากอน เยอะมาก แล้วเราก็ไม่แคร์ เพราะเราอยู่กลางเมือง เรามีโรงหนังอยู่อีกหลายโรง Central World ก็มีอีกเพียบ เพราะฉะนั้นโรงหนังไม่ใช่ฟังก์ชั่นที่เวิร์คอีกแล้ว
มีไอเดียที่สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่สกาล่าพอจะทำได้บ้างไหม
ถ้าสกาล่าไม่ใช่โรงหนังอีกแล้วล่ะครับ เป็นอย่างอื่นล่ะครับ แต่มันบอกเล่าเรื่องราวของอดีต ถ้าตัวตึก มันบอกเล่าอดีตได้แน่นอนอยู่แล้ว ถ้าตัวตึกดำรงอยู่ แล้วมีการเปลี่ยฟังก์ชั่น ผมว่ามันไม่ได้มีปัญหาอะไร แล้วถ้าเกิดมันทำได้ดี ผมว่าตอนนี้กระแสมันมาก คือเขาเก็บไว้ แล้วสร้างมูลค่าเพิ่มให้มัน เสร็จแล้วตัวมันอาจจะไม่ได้สร้างรายได้กลับมามากมาย แต่ถ้าเกิดมีผู้คนมา อย่างที่ผมบอก ทั้งหมดมันจะยกระดับไปพร้อมกัน
เวลาคิดในเชิงธุรกิจมันต้องคิดมากกว่าสองชั้น แต่ถ้าเกิดจุฬาฯ คิดว่าไม่อยากทำ ให้สัมปทานเอกชนไปทำ ผมก็ไม่รู้ แล้วแต่ มันไม่ใช่สิทธิ์ของผม อย่างที่ผมเกริ่นไว้ก่อนแล้วว่า ผมไม่ได้มีปัญหาถ้าจะทุบสกาล่าหรอก มันมีสิทธิ์ทุบทุกตึกแหละ
สำหรับจุฬาฯ ถ้าจะใช้ตัวนี้เป็นกรณีศึกษา แล้วให้บุคลากรของจุฬาฯ ทำ มันน่าสนุกกว่าเยอะ คือให้คณาจารย์หรือนิสิตได้ลองทำโมเดลธุรกิจมาประกวดกัน อะไรอย่างนี้ แล้วจุฬาฯ ลงทุนเองด้วย นี่มหาวิทยาลัยระดับโลกเวิลด์คลาสเขาต้องทำแบบนี้ ตึกออฟฟิศมีเยอะแยะ ที่ตั้งเป็นร้อยเป็นพัน รื้อที่ไหนโล่งๆ ตอนนี้ก็สร้างได้
คือเงินน่ะมันเยอะอยู่เต็มท้องถนน มันต้องฉลาดที่จะเก็บ แต่เวลาเก็บเงิน จะไม่ให้คนเขาด่าเราว่าหน้าเลือด เราก็ต้องสร้างอะไรที่มันดูดี เป็นกล่องให้คนเขาเชิดชูเราบ้าง มันต้องสร้างสมดุลความหน้าเลือดกับความเชิดชูเกียรติยศศักดิ์ศรีบ้าง ไม่งั้นมันจะดูโง่มากเลยนะ เป็นพ่อค้าหน้าเลือดรีดไถๆ มันดูโคตรโง่และโคตรกระจอกเลย แต่ถ้าทำแบบนี้คุณจะดูฉลาด คุณดู…โอ้โห คุณให้โอกาสผู้คน คุณให้โอกาสนิสิตในการคิดโมเดลธุรนกิจแบบไหนที่จะทำให้สกาล่า ตึกยังอยู่ ธุรกิจดำรงอยู่ได้ โดยจุฬาฯ ลงทุนเอง อะไรอย่างนี้ครับ มันน่าสนุกกว่าตั้งเยอะ
พูดได้ไหมว่า ยุคก่อนหน้านี้ ตอนโรงหนังทั้งสามโรงอยู่น่ะครับ มันเคยเป็นชีวิตของสยามสแควร์
ใช่ มันเป็นอย่างนั้น เดินดูสยามเสร็จมาดูลิโด้ต่อ เหมือนคุณเดิน Central World เข้าโรง 1 กับ โรง 5
คือเป็นตัวกำหนดคาแรคเตอร์จริงๆ ของแถวนี้ด้วย?
ใช่ มีวัยรุ่นมาเรียนติวเตอร์ มีนิสิต อันนี้ก็ส่วนหนึ่ง แล้วก็มีคู่เดท อย่างที่บอก มันอีเวนท์ใหญ่ จะเป็นแฟนได้ในโรงหนังต้องจัดการให้ได้ จับมือก็ต้องจับแล้ว (หัวเราะ)
กับสกาล่า ล่าสุดจุฬาฯ แถลงว่าไม่ทุบแล้วใช่ไหม
เขาแถลง ผมจำได้ว่าปีที่แล้วเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ ชุดนี้เข้ามา รู้สึกเขาให้สัมภาษณ์ว่าจะให้เอกชนทำที่สกาล่า แต่อันนี้เป็นแถลงการณ์ของเว็บไซต์สำนักงานทรัพย์สินจุฬาฯ ว่าเขาไม่ทุบตอนนี้ มีแต่คนออกไปปล่อยข่าวลือใส่ร้าย
ส่วนตึกอื่นโดนทุบแน่นอน?
ลิโด้น่าจะทุบ ลิโด้หมายถึงตึกแถวทั้งหมด ข้างหนึ่งของซอย 3 กับข้างหนึ่งของซอย 2 คือลิโด้มันจะเป็นหนึ่งกล่อง แล้วมีตึกแถวล้อมรอบเป็นตัวยู ตึกแถวโครงสร้างมันเกาะอยู่กับโรงหนัง เพราะฉะนั้นเวลาทุบมันน่าจะไปทั้งหมดพร้อมกับโรงหนังตรงกลาง
จากนั้นพื้นที่ก็จะพัฒนาไปเหมือนโรงหนังสยาม ที่ทำเป็นอาคารเชื่อมกับ BTS ใช่ไหม
ใช่ แต่ตรงโรงลิโด้จะเหนื่อยนิดหนึ่ง เพราะโรงสยามเก่าติดรถไฟฟ้า แต่ตรงนี้ลากรถไฟฟ้ามาไม่ได้ นอกจากเขาจะลงทุนทำสกายวอล์ค ซึ่งการทำสกายวอล์ค ผมไม่คิดว่าจุฬาฯ จะลงทุน เพราะว่าจุฬาฯ ลงทุนเรื่องแบบนี้ค่อนข้างยาก อย่าง Central World พอรับสัมปทานมา เขาลงทุนทำสกายวอล์คมาถึงสยามเลย เพราะเขาไม่มีรถไฟฟ้าเป็นของตัวเอง แล้วสกายวอล์คอันนี้ประสบความสำเร็จมากๆ
การลงทุนของเซ็นทรัลทำให้ Central World ฟูมากๆ เขาสู้กับพารากอน เพราะเซ็นทรัลชิดลมเขาตัวเล็ก ชิดลมได้แชมป์ตลอดกาล แต่ชิดลมตัวเล็ก มันสู้ไม่ไหว พารากอนมันใหญ่มาก เขาต้องเอา Central World มาชนช้าง แต่ Central World ก็เสียเปรียบตรงที่ไม่มีรถไฟฟ้า พอทำสกายวอล์ค Central World กลับดีมากๆ เลย เพราะเขามองเห็น
นี่คือการทำธุรกิจแบบนักธุรกิจ?
อย่างที่ผมบอก ทำธุรกิจมันต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมองไปข้างหน้า ผมมองไม่เห็นหรอก แต่ผู้บริหารเซ็นทรัลมองเห็น พอเขาทำปุ๊บ ตอนนี้คุณเห็นไหม ระบาดไปทั่วเลย แล้วพวกตึกแถวจะตายหมด เพราะตอนนี้ทุนใหญ่เห็นวิธีแล้ว ว่าคนไทยเบื่อที่จะเดินบนพื้น พื้นก็ไม่เรียบ แผงลอยก็ขวาง สกปรกก็สกปรก น้ำเฉอะแฉะ เราทำทางเรียบๆ ให้เดิน แล้วก็ไม่ต้องไปช็อปหรอกเบี้ยบ้ายรายทาง มึงมาช็อปในห้างกูเลย ดูดเข้ามาให้หมดเลย
นี่คือการมองไปข้างหน้า แต่ที่นี่ยังไม่สามารถมองแบบนั้นได้ เหตุผลก็เพราะว่า การพัฒนาต่างๆ มันถูกพัฒนาโดยคนไม่กี่คน ประชาคมจุฬาฯ ไม่ได้เกี่ยวนะ ผมรู้จักอาจารย์คณะสถาปัตย์ เขาไม่มีส่วนร่วมในการพัฒนา หรือนิสิตนี่ยิ่งไม่มีส่วนร่วมเลย เพราะฉะนั้นไอเดียต่างๆ มันค่อนข้างจะตีบตัน มันก็จะเป็นแบบนี้แหละ
ที่ว่าตีบตัน รวมไปถึงแถวสามย่านด้วยใช่ไหม
สามย่านเขาให้สัมปทานกับ Golden Land Properties เป็นสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งก็ไม่เกี่ยว
เอกชนเขาจะมี motivation สูงกว่า เพราะทำแล้วต้องรอด ทำแล้วต้องดี เพราะถ้าทำไม่ดี ซวย หุ้นตก หรือผู้บริหารระดับสูงอาจจะเด้ง เพราะฉะนั้นเขาสู้ยิบตา อย่างเช่น สามย่านมิตรทาวน์ เขาจะต้องเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน จ่ายแพงเท่าไหร่ก็ต้องทำ
ในขณะที่สยามสแควร์ ถ้าคุณไปเดินตึกแถวตรงอังรีดูนังต์ เขาพยายามทำเป็นสองชั้น ข้างบนเป็นร้านค้า ชั้นล่างเป็นร้านค้า ทำบันไดขึ้นไปข้างบน ข้างบนเจ๊งหมดเลย เพราะเขาไม่เชื่อมกับสกายวอล์ค เพราะค่าเชื่อมมันแพง ต้องไปจ่ายให้บริษัท BTS ก็ไม่เชื่อม ข้างบนตาย ห่างกันแบบแทบจะกระโดดข้ามได้ แต่ถ้าเขามองเห็นว่าจ่ายแค่นี้แหละ แต่ข้างบนยังเก็บค่าเช่าได้อีกเยอะ ชั้นสามก็ยังได้อีกนะ อันนี้เป็นวิสัยทัศน์คนละแบบ
อีกส่วนหนึ่งที่ว่าจุฬาฯ มีแผนอยากทำเป็น Mega City บนพื้นที่ขนาดใหญ่ มีหน้าตาอย่างไร
ผมเคยเห็นผัง เขาให้ออกแบบชุมชนเมืองของจุฬาฯ ออกแบบ ก็จะมีหมู่ตึก หอพัก ซึ่งไม่รู้จริงหรือเปล่า ส่วนสวนสาธารณะจุฬาฯ 100 ปีก็จะสร้างเป็น node อีกหน่อยมีคอนโดขึ้นก็จะเป็นพื้นที่ที่ดี ซึ่งอันนี้ก็ต้องชื่นชมเขา ถ้าจุฬาฯ จะอภิวัฒน์แนวคิดแบบนี้ สร้างให้ชุมชนเมือง อย่างสวน สวยไม่สวยอีกเรื่องหนึ่งนะ จุฬาฯ ก็ทำแล้วไง ก็ได้กล่อง มีแต่ผู้คนชื่นชม ลงทุนต่ำจะตาย เอาหญ้าคามาปลูกก็ดูดีแล้ว
สกาล่าก็เหมือนกัน ทาสีหน่อย ซื้อสีมา 10 กระป๋อง ระบายกันเข้าไป ก็เท่แล้ว คือจ่ายนิดเดียว แต่ได้หน้าได้ตาเพียบเลย แล้วคุณก็จะเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ …และรักโลก (หัวเราะ)