The Evolution of Terrorism: วิวัฒนาการก่อการร้ายหลัง 9/11

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์ / ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

 

 

11 กันยายน 2017 หากเทียบเป็นอายุเด็กคนหนึ่ง เขาหรือเธอคนนั้นจะอายุ 16 ปี

11 กันยายน 2001 คือวันแรกที่คำว่า ‘การก่อการร้าย’ ถูกแนะนำให้โลกรู้จักอย่างเป็นทางการ เมื่ออาคาร World Trade Center สัญลักษณ์ความรุ่งเรืองของอารยธรรมตะวันตก ที่มหานาครนิวยอร์ค ถูกถล่มราบเป็นธุลี จากการพุ่งเข้าชนของอากาศยานสองในสี่ลำที่ถูกจี้ด้วย ‘ผู้ก่อการร้าย’

โลกไม่เคยเห็นวินาศกรรมขนาดใหญ่แบบนี้ถ่ายทอดสดผ่านทีวีมาก่อน

ศาสตราจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามและการก่อการร้าย เรียบเรียงวิวัฒนาการของการก่อการร้ายอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ก่อน 9/11 เรื่อยมา หลังจากจุดเปลี่ยนที่นิวยอร์ค ว่าการวิวัฒนาการครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างบังเอิญ และ 16 ปีที่ผ่านมา องค์กรก่อการร้าย อัลกออิดะห์ ไม่ได้เพิ่มขนาดใหญ่โตมากขึ้นตามกาลเวลา แต่กลับแผ่ขยายย่อยแยกเป็นสาขา เล็กที่สุดคือปฏิบัติการแบบหมาป่าโดดเดี่ยว ‘lone wolf’ ที่ทำงานได้โดยไม่ต้องมีสายจัดตั้งสั่งการ

ยิ่งไปกว่านั้นคือ เป้าหมายของผู้ก่อการร้ายยุคหลังอย่าง ISIS ได้เคลื่อนตัวออกจากอิรักและซีเรียมายังยุโรป เช่น ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี และมีความเป็นไปได้สูงว่า ธงดำสัญลักษณ์ ISIS จะมาโบกสะบัดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ทำไม 9/11 ถึงเป็นเส้นแบ่งและจุดเปลี่ยนของการก่อการร้ายจากรูปแบบเก่าเป็นรูปแบบใหม่

ถ้าเอาเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 เป็นตัวตั้ง เราจะเห็นความต่างระหว่างยุคสมัย พูดง่ายๆ การก่อการร้ายแบบเดิม คือก่อนเหตุการณ์ 9/11 ส่วนก่อการร้ายแบบใหม่ คือหลังเหตุการณ์ 9/11

ก่อน 9/11 คือยุคของอัลกออิดะห์ มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับรัฐ กล่าวคือ เหตุการณ์ก่อการร้ายที่ชัดเจนจึงเป็นในลักษณะ state-sponsored terrorism โดยรัฐให้การสนับสนุนการก่อการร้าย สอดรับกับช่วงเวลานั้นเป็นยุคสงครามเย็น รัฐจึงต้องรับอีกบริบท กล่าวคือ นอกจากใช้ทหารในการเผชิญหน้ากับรัฐฝ่ายตรงข้ามโดยตรงแล้ว ยังใช้กลุ่มก่อการร้ายเป็นเครื่องมือ

แต่เอาเข้าจริงแล้ว การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามีมาก่อน 9/11 แต่ที่เราเอา 9/11 เป็นตัวตั้งเพราะเราเห็นเส้นแบ่งที่ชัดเจน เราเห็นบรรดานักรบมุสลิมเข้าไปรบอยู่ในอัฟกานิสถาน สงครามดังกล่าวได้ส่งสัญญาณบางอย่าง ในขณะเดียวกัน หลายพื้นที่ของโลก เช่น ความขัดแย้งในศรีลังกา ก็เริ่มมีตัวแบบใหม่ๆ ให้เราเห็น

แต่ความชัดเจนของเหตุการณ์ 9/11 คือ เราไม่เคยเห็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีขนาดใหญ่ลักษณะนี้มาก่อน ถึงขั้นขับเครื่องบินชนตึก ถ้าเรานั่งดูทีวี เห็นเหตุการณ์เหล่านั้นโดยไม่มีใครบอก ผมเชื่อว่าในวันนั้นคงมีคนคิดว่าเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์ แต่ทั้งหมดเป็นของจริง

เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ จึงเป็นการแบ่งยุคเก่ากับยุคใหม่ หลังเหตุการณ์ 9/11 เราเห็นการปรากฏตัวขององค์กรก่อการร้ายขนาดใหญ่ อัลกออิดะห์ ที่มี โอซามา บิน ลาเดน เป็นผู้นำ

ความแตกต่างของรูปแบบองค์กรก่อการร้ายแบบใหม่ที่เกิดขึ้นคือไม่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของรัฐอีกต่อไปใช่ไหม

ลักษณะของอัลกออิดะห์ที่ชัดเจนคือ ไม่ต้องพึ่งรัฐและมีความอิสระในตัว ทั้งในแง่ทุนและการสนับสนุน สามารถจัดการบริหารด้วยตนเองได้ ไม่ต่างกับบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ บินลาเดนจึงเหมือนกับซีอีโอ สายบังคับบัญชาสูงสุด แล้วค่อยแตกแขนงไป

จากเหตุการณ์ 9/11 สิ่งที่ตามมาคือ สงครามอัฟกานิสถาน นำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลตาลีบัน และการต่อสู้นักรบของอัลกออิดะห์ เราจึงเห็นเหตุการณ์หลัง 9/11 เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายตะวันตกกับขบวนการติดอาวุธอิสลาม

เราเห็นการขยายพื้นที่ปฏิบัติการ ผมคิดว่า 9/11 ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เราเห็นผลสืบเนื่องต่อกันมา เช่น การระเบิดไนท์คลับที่บาหลี อินโดนีเซีย ปี 2002 หรือวิกฤตการณ์ตัวประกันโรงละครมอสโก ที่รัสเซีย ในปีเดียวกัน

จะเห็นว่าผลสืบเนื่องต่างๆ เป็นเหตุการณ์ใหญ่ ซึ่งอธิบายได้ว่า ยุคของก่อการร้ายมันมีบริบท แต่ถ้าเราดูยาวสักนิดหนึ่ง ตั้งแต่ 9/11 ที่กลุ่มอัลกออิดะห์ เปิดตัว โดยมีตัวแสดงใหญ่อย่างโอาซามา บิน ลาเดน ซึ่งท้ายที่สุด เราทุกคนรู้กันว่า บินลาเดนถูกสังหารโดยชุดปฏิบัติการของสหรัฐสมัยรัฐบาลโอบามา ในขณะเดียวกัน มิถุนายน 2014 เกิดปรากฏการณ์ชุดใหม่ เริ่มเห็นขบวนการอีกชุดหนึ่งในอิรัก

ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับอัลกออิดะห์ที่ก่อเหตุใหญ่ๆ หรือเปล่า

แม้พวกเขาจะประกาศตัวว่าเป็นคนละกลุ่มกัน แต่เบื้องต้นก็ยังมีหลายคนกังขาใจว่า สองส่วนนี้เป็นส่วนเดียวกันแค่ใช้คนละชื่อ การมองแบบนี้ก็ถูก เพราะกลุ่มที่เกิดเป็นขบวนใหม่ในอิรัก ประกาศตัวว่าพวกเขาเป็นกลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาคืออัลกออิดะห์เดิม เรียกแบบภาษาธุรกิจ อัลกออิดะห์ สาขาอิรัก เนื่องจากเป็นส่วนที่ปฏิบัติการในอิรัก

ขบวนนี้เริ่มก่อตัวขึ้นมาใหม่ โดยมีความน่าสนใจอยู่ที่ว่า พวกเขาแยกตัวออกจากกลุ่มอัลกออิดะห์เดิม จากเหตุการณ์ 9/11 พอมิถุนายน 2014 เราก็เห็นขบวนการก่อการร้ายใหม่อีกชุดหนึ่งที่ชื่อว่า ISIS ถ้าให้เปรียบเทียบก็คือ คลื่นก่อการร้ายเกิดคลื่นลูกใหม่ ที่ประกาศตัวว่า เป็นกลุ่มติดอาวุธเมื่อปี 2014

พอเข้าประมาณกรกฏาคมหรือสิงหาคมในปีเดียวกัน เราจะเห็นการสู้รบกันในอิรัก เราเห็นเมืองโมซูล (Mosul) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับสองของอิรักถูกตีแตก

มองย้อนกลับไป ช่วงนั้นหลายคนหวาดกลัวว่า กลุ่มดังกล่าวจะสามารถตีแบกแดดแตกหรือไม่ ถ้าลงมาตีแบกแดดแตก เท่ากับว่าสหรัฐแพ้ ไม่รู้ว่าจะใช้คำว่าโชคดีได้ไหม เพราะกลุ่ม ISIS กลับขยายพื้นที่เข้าสู่ซีเรียแทน

เราจึงเห็นคำว่า ISIS แปลว่า Islamic State of Iraq and Syria ยกเว้นในเชิงเทคนิคทางภาษาที่มีเรื่องของภูมิศาสตร์ซ้อนอยู่ เนื่องจากคำย่อบางคำ บางครั้งสื่อต่างประเทศไม่ได้ใช้  ISIS แต่เป็น ISIL หรือ Islamic State of Iraq and the Levant ซึ่งความหมายในพื้นที่ดั้งเดิมคือ พื้นที่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เราคงพอนึกออก

ถ้ามองเชิงภูมิรัฐศาสตร์แล้ว พวกเขาเป็นรัฐอิสลามพื้นที่ด้านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก คงเกิดคำถามว่า พื้นที่ตรงนี้ใหญ่แค่ไหน และครอบคลุมอะไรบ้าง ซึ่งเท่ากับบอกเราว่า พวกเขามีจินตนาการทางความคิดย้อนกลับไปสมัยอาณาจักรออตโตมันของโลกมุสลิมในยุคเดิม และถ้าย้อนกลับไป ยุคนั้นไม่ได้มีการแบ่งพื้นที่เป็นประเทศเช่นทุกวันนี้ อย่าง อิรัก ซีเรีย จอร์แดน เพราะถูกปกครองโดยอาณาจักรใหญ่อย่างออตโตมาน ซึ่งก็คือ ตุรกีในปัจจุบัน

ความท้าทายของกลุ่มก่อการร้าย ISIS ในยุคปัจจุบันคืออะไร

ผมคิดว่า เราเริ่มเห็นบางบริบทที่ทับซ้อนเข้ามา ถ้าเราเห็นโมซูลถูกตี ถูกปิดล้อมในปลายปี 2016 ถ้าถอยกลับไปดูยุโรป ตั้งแต่ปี 2015 เป็นปีใหญ่ของโลกที่ยุโรปเผชิญวิกฤติสองชุด อย่างแรกคือ วิกฤติผู้อพยพ ผลพวงจากสงครามในตะวันออกกลางและแอฟริกา ทำให้คนจำนวนมากตัดสินใจใช้เส้นทางที่เสี่ยงที่สุดในโลก ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วยเรือขนาดเล็ก เป็นเส้นทางอันตรายเพราะคลื่นลมทะเลมีความรุนแรงที่จะคร่าชีวิตมนุษย์ได้ทันที แต่เราก็เห็นพวกเขาไม่กลัวความน่ากลัวของทะเล และตัดสินใจเสี่ยง

2015 จึงเป็นปีเริ่มต้นของวิกฤติผู้อพยพ แต่ต้องไม่ลืมว่า มกราคม 2015 เราเริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน คือการโจมตีสำนักงานของนิตยสาร ชาร์ลี เอบโด (Charlie Hebdo) นิตยสารการ์ตูนล้อเลียนในฝรั่งเศส (7 มกราคม 2015) เท่ากับส่งสัญญาณว่า ระหว่างที่ยุโรปเผชิญกับวิกฤติผู้อพยพ อีกด้านหนึ่งก็เผชิญกับวิกฤติก่อการร้ายด้วยเช่นกัน

จากกรณี ชาร์ลี เอบโด เราจะเห็นว่า การก่อการร้ายในยุโรปต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น ทุกวันนี้เริ่มลามไปทั่วยุโรป ตั้งแต่เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน ก็แทบจะไม่แตกต่างกัน

ปลายปี 2016 ขบวนชุดใหม่นี้ก็เริ่มประสบปัญหา กล่าวคือ โมซูลถูกยึดคืน แต่ขณะเดียวกันเราก็เห็นเมืองรักกา (Raqqa) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของรัฐอิสลาม กำลังถูกซีเรียและอิรักยึดกลับคืน ตีความง่ายๆ ว่า จากที่ ISIS เคยคุมพื้นที่ในอิรักและซีเรีย ก็เริ่มถูกตีโต้และถูกยึดพื้นที่คืน อาจหมดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ผมไม่ได้บอกว่ากลุ่มนี้แพ้นะครับ แต่บริบทที่เคยมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แบบเดิม พวกเขากำลังจะถูกตีถอยร่น เมื่อโมซูลและรักกาถูกตีแตก เท่ากับตอบว่ากลุ่มรัฐอิสลามแพ้ หากอธิบายตามสงครามแบบปกติ

รูปแบบการปฏิบัติการก่อการร้ายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ผมคิดว่าสิ่งที่เราเห็นคือ การเปลี่ยนรูปแบบ ลักษณะของการเปิดปฏิบัติการของผู้ก่อการร้าย ถ้าแยกอย่างหยาบๆ ผมคิดว่ามีอยู่สองแบบ แบบแรกคือ ผู้ปฏิบัติการอยู่ในองค์การจัดตั้ง องค์กรก่อการร้ายโดยตรง เช่น ในกรณี ชาร์ลี เอบโด ที่มาจาก ISIS โดยตรง แต่ช่วงหลังการขับรถพุ่งชนคนในนีซ ประเทศฝรั่งเศส (15 กรกฎาคม 2016) การขับรถพุ่งชนคนในตลาดคริสต์มาสที่เบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี (20 ธันวาคม 2016) เริ่มไม่ใช่แบบแรก และเราเห็นเป็นอีกชุดหนึ่งแทน กล่าวคือ เป็นคนที่อยู่นอกเครือข่ายองค์กรจัดตั้ง หรือในภาษาความมั่นคงเรียกว่า ‘lone wolf’ หรือหมาป่าตัวเดียว ดำเนินด้วยการตัดสินใจของตัวบุคคล

ผมคิดว่าในระยะหลังเป็นโจทย์แบบหมาป่าตัวเดียว เนื่องจากผลพวงของการติดตาม เฝ้าตรวจ และความเข้มงวดในรัฐบาลยุโรป ทำให้องค์กรจัดตั้งในพื้นที่รัฐตะวันตกถูกติดตามพอสมควร หรืออาจพูดหยาบๆ ได้ว่า องค์กร ISIS ที่อยู่ในตะวันตกอาจมีข้อจำกัดในการปฏิบัติการมากขึ้น ซึ่งกลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้อยู่ในองค์กรรับอุดมการณ์ รับความคิด ออกมาปฏิบัติการแทน

หมายความว่ารัฐสามารถจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายในลักษณะหมาป่าตัวเดียวได้ยากขึ้น?

ผู้ปฏิบัติการมีหลายส่วนมาประกอบกัน เหมือนหมาป่าฝูงใหญ่แบบหนึ่ง โลกของก่อการร้ายสมัยใหม่ที่เราเผชิญ มันมีความท้าทายและยากลำบากในการควบคุม ผมคิดว่าเราเห็นมากขึ้นและป้องกันอะไรไม่ได้เลย ถ้ามองจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ

โจทย์ของหมาป่าตัวเดียวเป็นสิ่งที่มีความยุ่งยากเพราะคนเหล่านี้มีประวัติขาวสะอาด ไม่อยู่ในรายชื่อของการติดตามและถูกเฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่ ทำให้หมาป่าตัวเดียวกลายเป็นเครื่องมือชิ้นใหม่ในการปฏิบัติการมากขึ้น

ในสภาวะที่เจ้าหน้าที่ติดตามได้ยาก วันนี้มีข้อถกเถียงว่า การลงมือก่อการร้ายนั้นเป็นการปฏิบัติการโดยหมาป่าตัวเดียวจริง หรือจริงๆ แล้วมีคนเข้ามาช่วยเหลือ เพราะตัวแบบที่เราเห็นในอีกมุมหนึ่งคือ การโจมตีที่สนามบินบรัสเซลส์ เบลเยียม (22 มีนาคม 2016) เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นการโจมตีโดยสองพี่น้อง แสดงว่าพวกเขาตัดสินใจที่จะเปิดปฏิบัติการและเก็บความลับโดยอาศัยน้องชาย ไม่ใช่คนนอก อาจกล่าวได้ว่า สภาพแบบนี้กำลังส่งสัญญาณว่า เป็นหมาป่าที่อยู่ในฝูงเดียวกัน

จากที่กล่าวจะพอเห็นว่า ความยุ่งยากคือ ไม่ใช่หมาป่าตัวเดียว แต่เป็นหมาป่าที่อยู่ในฝูงเดียวกันและออกปฏิบัติการ หรือถ้าคิดในสเกลใหญ่ การโจมตีสถานีรถไฟมาดริด ที่สเปน (11 มีนาคม 2004) แม้ช่วงต้นเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า เป็นการโจมตีของกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่จากหลักฐานจนทุกวันนี้ ยอมรับว่าเป็นการปฏิบัติการโดยกลุ่มที่ได้รับอุดมการณ์ ตัดสินใจทำเอง และไม่ได้อยู่ภายใต้อัลกออิดะห์

ทำไมกลุ่มก่อการร้ายมักลงมือในสถานที่ที่มีนัยยะทางการเมือง หรือสถานที่สำคัญของชาติที่เป็นเป้าหมา

สงครามที่มีมิติทางสังคม หรือสงครามที่ทำโดยตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ มีสัญญะทางการเมืองโดยตลอด เพียงแต่ว่าเราเห็นสัญญะเหล่านี้ไหม และตีความออกมาอย่างไร ในสถาพแบบนี้แล้ว นี่คือความซับซ้อนอีกแบบหนึ่ง กล่าวคือ สงครามไม่ได้มีมิติทางทหารอย่างเดียว แต่ซ้อนอะไรบางอย่างให้เราตีความ แต่สำคัญที่สุดคือ ความรุนแรงชุดนี้ท้าทายการทำความเข้าใจสำหรับรัฐที่ต้องเผชิญ

ถ้าเปรียบเทียบกับอัลกออิดะห์ ฝูงหมาป่าจะไม่มีซีอีโอ?

ทุกคนเป็นซีอีโอ หรืออธิบายอีกแบบหนึ่ง คนพวกนี้คือเซลส์แมน แต่คำว่าเซลส์แมนอาจไม่เหมาะที่จะอธิบายต่อหมาป่าตัวเดียว เพราะคำว่า ‘เซลส์แมน’ มันมีลักษณะขององค์กรจัดตั้ง ถูกสร้าง และมีสถานะเป็นเซลส์แมนที่นอนหลับ (sleeping salesman) ถ้าจะเป็นก็เป็นเซลส์แมนทางความคิด

เรื่องการหาสมาชิกใหม่ในโลกสมัยใหม่ ชีวิตที่อยู่กับโลกอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นกระบวนการคัดเลือกคนที่ใหญ่ที่สุดในการก่อการร้ายก็กระทำผ่านอินเทอร์เน็ต การโฆษณาทางความคิดก็ทำผ่านอินเทอร์เน็ต

สิ่งที่น่าสนใจคือ กลุ่มก่อการร้ายอาจต้องเล่นอีกมุมหนึ่ง เป็นโลกโซเชียลมีเดียอย่างที่เห็น ในกลุ่มรัฐอิสลาม ฝ่ายที่คุมงานด้านสื่อจะเป็นฝ่ายที่ได้รับความสำคัญอย่างมาก เท่ากับตอบเราว่า ผู้นำ ISIS อย่าง อาบู โอมาร์ อัล-บักดาดี (Abu Omar al-Baghdadi) ให้ความสำคัญกับงานที่เป็นงานสื่อและงานโฆษณามาก

ทุกวันนี้การหาสมาชิกไม่ใช่การเดินเข้าไปคุยแล้ว แต่อยู่บนโลกออนไลน์ ใครที่ตัดสินใจเปิดเข้าไปอ่าน อ่านแล้วซึมซับกับข้อเสนอเหล่านั้น เราเห็นตัวอย่างในหลายประเทศ เยาวชนหลายคนเมื่อถึงจุดที่มีความพร้อม พวกเขากลายเป็นอาสาสมัครพร้อมรบ เหมือนอย่างที่เราเห็นจากเยาวชนหลายประเทศในยุโรป

ทำไมถึงเกิดปรากฏการณ์กลุ่มคนในชาติตะวันตกย้ายไปเป็นนักรบรับจ้างให้กับกลุ่ม ISIS หรือคนในชาติตะวันตกเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการเอง

ผมคิดว่า การโจมตีฝรั่งเศสมีคำอธิบายเยอะ ในมุมที่รัฐบาลฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปราบปรามกลุ่ม ISIS ก็เป็นคำอธิบายที่สามารถใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนหนึ่งแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสก็มีกองปฏิบัติการอยู่ในแอฟริกา เช่น การปราบปรามในมาลีหรือไนจีเรียก็ตาม

อีกมุมหนึ่ง ชาวมุสลิมที่อยู่ในตะวันตกอาจกำลังเผชิญกับปัญหาแรงเสียดทานในสังคม เช่น โอกาสทางการศึกษา หรือการว่าจ้างในการทำงาน ผมไม่แน่ใจว่า บริบททางฝรั่งเศสอาจสะท้อนให้เห็นสภาวะที่คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นมุสลิมในตะวันตก พวกเขารู้สึกแปลกแยก และในการแปลกแยกพวกเขาก็รับชุดความคิดแบบรัฐอิสลามเข้ามาด้วย ทำให้พวกเขามีความเชื่อมากพอที่จะเปิดปฏิบัติการ

พวกเขาเชื่อว่า เขาไม่ใช่คนฝรั่งเศส แต่เชื่อว่าเขาเป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นตัวแทนของรัฐอิสลาม

ในกรณีที่สเปน ก็ตอกย้ำการปฏิบัติการขนาดใหญ่ ความน่าสนใจของสเปนคือ ชุดนี้เป็นองค์กรจัดตั้งจาก ISIS หรือ เป็นหมาป่าฝูงใหญ่ เป็นชุดปฏิบัติการชุดใหญ่ เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องมีความเป็นไปได้ว่าเกี่ยวข้องกับคนหลายคน ก็ต้องรอดูข้อมูลกันต่อไป

แต่เราจะเห็นว่า การปฏิบัติการใหม่ๆ แบบนี้ไม่ต้องรอคำสั่งหรือรอให้มีสัญญาณจากองค์กรจัดตั้ง ปฏิบัติการเหล่านี้สามารถทำได้เลยในทุกพื้นที่ รอเพียงระยะเวลาของโอกาสที่เหมาะสมที่จะตัดสินใจลงมือ

กล่าวได้ไหมว่า นโยบายต่อต้านผู้อพยพ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การก่อการร้ายในยุโรปเพิ่มขึ้น

ความกลัวของปีกขวาในยุโรปหรืออย่างน้อยมีผลต่อการลงเสียงในประเทศต่างๆ ผมคิดว่ายุโรปตอบคำถามข้อนี้ได้ดี

คำอธิบายที่ยากคือ ทั้งสองอย่างผูกโยงซึ่งกันและกัน ถ้ามองจากมุมของคนที่ยอมรับแนวคิดปีกขวายุโรป ผมเชื่อว่า พวกเขาหวาดกลัวสองอย่างพร้อมๆ กัน กลัวทั้งก่อการร้าย และกลัวทั้งผู้อพยพ ซึ่งมีความทับซ้อนในเรื่องเดียวกันคือ มุสลิม เหมือนกัน

ถ้าสังเกตการเกิดของกระแสขวาในยุโรปช่วงปัจจุบัน รวมถึงของสหรัฐด้วยแล้ว กระแสขวาชุดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นประชานิยมปีกขวา (Right-wing Populism) จะรังเกียจผู้อพยพ รังเกียจชาวต่างชาติ รังเกียจก่อการร้ายทั้งหลายทั้งปวง บนพื้นฐานเงื่อนไขที่พวกเขาเชื่อว่า การอพยพเข้ามาส่วนหนึ่งนั้นโยงไปสู่การตกงานของคนในสังคมตะวันตก เพราะมองว่าผู้อพยพจะเป็นแรงงานระดับล่างที่เข้ามาทดแทน

การผูกโยงชุดนี้จึงนำไปสู่การผูกโยงทางโลกาภิวัตน์ ลามไปถึงการรังเกียจโลกาภิวัตน์ เพราะถูกมองว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผู้อพยพขึ้นมา ในปี 2016 เราจึงเห็นเรื่องใหญ่ที่สุดในยุโรปคือ อังกฤษตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรป หรือที่เรียกว่า Brexit

เราเห็นชัยชนะของ Brexit อีกมุมหนึ่งที่วอชิงตัน เราเห็นการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กระแสชุดนี้ถ้าอธิบายทางการเมืองคือกระแสชุดเดียวกัน ประชานิยมปีกขวา

พอล่วงเข้าปี 2017 หลายฝ่ายจึงกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองฝรั่งเศสจะอยู่ในทิศทางกระแสขวาไหม เพราะพรรคฝ่ายขวาอย่างพรรคแนวร่วมแห่งชาติฝรั่งเศส (National Front: FN) ซึ่งนำโดย มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) ค่อนข้างขยับตัวแล้วมีแรงกระเพื่อมมาก หลายฝ่ายกังวลว่า ถ้าพรรคปีกขวาในฝรั่งเศสชนะอีก เท่ากับส่งสัญญาณว่าปีกขวาจะเกิดขึ้นทั่วทั้งยุโรปมีความเป็นไปได้

แต่ผลจากการพ่ายแพ้ของพรรคแนวร่วมแห่งชาติฝรั่งเศส ทำให้เราเห็นอีกตัวละครหนึ่งคือ เกียร์ต วิลเดอร์ส (Geert  Wilders) หัวหน้าพรรคขวาจัดอย่างพรรคเพื่อเสรีภาพ ที่แพ้การเลือกตั้งในเนเธอร์แลนด์  

ปีนี้ผมคิดว่า จะมีการตัดสินกันอีกครั้งคือ การเลือกตั้งในเยอรมนีที่จะถึงนี้ นายกรัฐมนตรีจะสามารถดำรงสถานะหรือชัยชนะได้อีกครั้งหรือไม่ หรือเราจะเห็นการขึ้นมาเป็นรัฐบาลของกระแสปีกขวาอีกครั้ง แต่อย่างน้อยวันนี้เราเห็นในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ กระแสขวาก็ไม่ได้รับการตอบรับมากเท่าที่ควร

แสดงว่ากระแสการเมืองปีกขวาในปีนี้น่าจะแผ่วลง?

ประเมินอย่างหยาบๆ แล้ว ปี 2016 อาจเป็นปีของประชานิยมปีกขวา แต่พอปีนี้กระแสขวาก็ตกลงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็น่าคิดต่อในบริบทของโจทย์ก่อการร้ายและผู้อพยพ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยังคาราคาซัง แต่ในขณะเดียวกันการที่กระแสของทรัมป์ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่เคยเหมือนตอนหาเสียงเลือกตั้ง รวมถึงการเลือกตั้งอังกฤษล่าสุด ที่แม้ เทเรซา เมย์ ยังคงนั่งอยู่เก้าอี้เดิม แต่ก็เหมือนไม่ได้ชนะ

ถ้ายังเป็นแบบนี้ เราก็ยังมีความคาดหวังว่า ถ้ายุโรปไม่สวิงขวาทั้งหมด และยุโรปกำลังพยายามจัดการปัญหาผู้อพยพ ปัญหาโลกาภิวัตน์ นโยบายต่างๆ เป็นไปได้ไหมว่ายุโรปจะช่วยลดทอนปัญหาก่อการร้ายลงได้บ้าง

หากยุโรปมีความเป็นขวามากขึ้นก็มีความสุ่มเสี่ยงว่าอาจโดนก่อการร้ายมากขึ้น?

เราก็อาจคาดการณ์อย่างนั้นว่า นโยบายที่ขวามากขึ้นก็จะสร้างปัญหาให้กับสังคมมุสลิมในประเทศตัวเองมากขึ้น และกลายเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุได้ง่ายพร้อมทั้งเป็นข้ออ้างที่ชัดเจน

เพราะอะไรความกลัวการก่อการร้ายกับความหวาดกลัวมุสลิมถึงโยงเข้าหากัน

ผมคิดว่า กระแสชุดนี้ด้วยภาพลักษณ์ต่างๆ ทำให้มันไปเกี่ยวพาดกัน พูดจริงๆ แล้วการก่อการร้ายมีอยู่ทุกศาสนา ถ้าเราทำใจยอมรับได้ แต่เผอิญโดยกระแสที่เราเห็น ทำให้เห็นว่าก่อการร้ายไปอยู่กับกระแสใดกระแสหนึ่ง แต่วันนี้ถ้าเราดูความขัดแย้งผ่านมิติทางศาสนา ก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นทั่วโลกเหมือนกัน หรืออย่างกรณีใกล้บ้านเรา ที่เมียนมาร์ รัฐยะไข่ ปัญหาชาวโรฮิงญา ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ความขัดแย้งระหว่างชาวอุยกูร์-ซินเจียง ในจีนก็เป็นตัวแบบที่เราเห็น และต้องยอมรับด้วยว่าใกล้ไทยมาก เพราะมีผู้อพยพอุยกูร์พยายามเดินทางเข้ามาอยู่ ความน่าสนใจของโจทย์ชุดนี้ จึงไม่ใช่โจทย์ระยะไกลอีกต่อไป

ถือว่ารัฐสร้างภาพความเป็นอื่นให้ ‘พวกเขา’ แปลกแยกด้วยหรือเปล่า

ในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าพวกเขาจะถูกสร้างภาพให้เป็นหรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้ามีการใช้ความรุนแรง คงหนีไม่พ้นที่จะเป็นสถานการณ์แบบนั้น รัฐก็จะมองพวกเขาเหมือนเป็นข้าศึก เพียงแต่ว่าเป็นข้าศึกที่อยู่ภายในรัฐเอง

ในความเป็นอื่น ต้องยอมรับว่ามันถูกแยกโดยบริบททางศาสนา ถูกแยกโดยบริบทความเชื่อ ซึ่งพอโจทย์ของโลกสมัยใหม่ เราคิดว่าโลกาภิวัตน์จะทำให้ ‘ความต่าง’ ของมนุษย์ลดลง แต่ผมกลับรู้สึกว่าความต่างทำให้โลกาภิวัตน์ชัดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิติทางศาสนาและวัฒนธรรม โจทย์โลกาภิวัตน์มันกลับหัวกลับหางอยู่ตลอดเวลา

แม้เราจะเห็นด้านบวกของโลกาภิวัตน์ เช่น ผลพวงจากเศรษฐกิจ คนในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนผิวขาวชนชั้นล่างมองโลกาภิวัตน์เป็นลบ เพราะทำให้พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์จากตรงนั้น

เมื่อกลายเป็นอื่นไปสักระยะหนึ่งก็จะกลายเป็นศัตรูของรัฐ?

สักระยะหนึ่งถ้าพวกเขาก่อตัวแล้วเริ่มปฏิบัติการได้ พวกเขาก็กลายเป็นคู่ต่อสู้ของรัฐ หรือที่เราเห็นช่วงทีผ่านมาตลอด ถ้ามองจากมิติอย่างนี้ รัฐมีคู่ต่อสู้ใหม่ที่ไม่ใช่รัฐ คือ เป็นสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) อยู่คนละบริบท และเป็นสงครามที่น่ากลัว เพราะไม่มีกติกาชัดเจน

สื่อหรือฮอลลีวูดมีส่วนช่วยสร้างภาพจำตรงนี้ด้วยไหม เช่น ผู้ร้ายต้องเป็นชาติอเมริกาใต้ หรือไม่ก็มาจากตะวันออกกลาง

ผมคิดว่าไม่มากเท่ากับการที่รัฐมองเห็นคนเหล่านี้แล้วสร้างออกมาเป็นภาพ หรือคนในสังคมมองเห็นพวกเขาแล้วสร้างออกมาเป็นภาพ ซึ่งก็คือ การสร้างภาพความเป็นศัตรูของรัฐ นี่เป็นโจทย์อีกชุดหนึ่ง ในความหมายคือ มิติของก่อการร้ายอาจจะใช่ แต่โจทย์ชุดนี้ใหญ่กว่าในบริบทของสงครามจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าโลกออนไลน์น่ากลัวกว่า ทุกอย่างส่งผ่านโลกออนไลน์ ผมเชื่อว่า เมสเซจหรือข้อมูลข่าวสารที่อยู่บนโลกออนไลน์มีผลกระทบต่อการรับรู้ของคนที่เข้าไปอ่าน ในโลกสมัยใหม่ สนามรบที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในโลกไซเบอร์

ก่อการร้ายในระดับองค์กรข้ามชาติแบบ ISIS กับก่อการร้ายระดับองค์กรในประเทศ เกี่ยวโยงกันได้อย่างไร

เกี่ยวโยงกันได้ต่อเมื่อคนเหล่านี้เริ่มตัดสินใจว่า พวกเขาไม่ได้ทำในนามองค์กรในบ้านแต่เพียงฝ่ายเดียว ยกตัวอย่างที่มาราวี ฟิลิปปินส์ ความชัดเจนคือ การชูธงดำ ซึ่งวันนี้ทุกคนทราบว่าการก่อการร้ายหรือปฏิบัติการที่รุนแรงแล้วชูธงดำเท่ากับว่า พวกเขาทำในนามรัฐอิสลาม

ของไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ความกังวลในระยะข้างหน้าคือ เราเห็นคนในหลายประเทศข้ามไปช่วย ISIS รบในอิรักและซีเรีย ผมคิดว่า โดยข้อมูลพูดได้ เช่น คนจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เข้าไปช่วยรบ เพราะฉะนั้น คนเหล่านั้นอยู่ในช่วงของการเดินทางกลับบ้าน และพวกเขาก็กลับมาเปิดปฏิบัติการในบ้าน

คำถามที่ถามว่า การเชื่อมโยงระหว่างภายนอกกับภายในจะเกิดอย่างไร ผมคิดว่าวันนี้เราเริ่มเห็นแล้ว การก่อการร้ายในมาราวี เท่ากับบอกเราว่า การเชื่อมต่อระหว่างก่อการร้ายในเวทีโลก กล่าวคือ ในอิรักและซีเรีย และปรากฏการณ์ในมาราวีที่ฟิลิปปินส์ มีรูปแบบคล้ายกัน

การก่อการร้ายที่ขยับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้น แรงจูงใจในการปฎิบัติการยังคงเหมือนเดิมหรือเปล่า

การต่อสู้กับรัฐตะวันตกยังคงเช่นเดิม เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้อยู่ในสายความเชื่อของพวกเขา แต่ความน่ากลัวอีกชุดหนึ่งในวันนี้คือ การพ่ายแพ้ของ ISIS ในพื้นที่อิรักและซีเรีย กลับกลายเป็นว่าได้ขยายเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น

ถ้าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงในอิรักและซีเรีย โมซูลและรักกา ที่มีแนวโน้มการปิดฉากมากขึ้น แต่เรากลับเห็นปฏิบัติการแบบนี้ในฟิลิปปินส์ของคนกลุ่มที่เปิดปฏิบัติการในมาราวี ช่วงเวลาที่เปิดปฏิบัติการพื้นที่นั้น เราก็เห็นปฏิบัติการฆ่าตัวตายในจาร์กาตา ซึ่งผมสงสัยว่า ใช่กรณีแรกของการเปิดตัวแบบปฏิบัติการฆ่าตัวตายครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่ ถ้าเป็นแบบแรกจริงๆ นับจากนี้เราอาจเห็นภาพแบบนี้หรือภาพแบบมาราวี

ผมคิดว่า ตัวแบบที่มาราวี พื้นที่ที่เคยเป็นพื้นที่สู้กันในตะวันออกกลางอาจจะลดลง หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังกลายเป็นพื้นที่ต่อสู้ใหม่ของพวกเขาแทน จากตัวแบบของมาราวี ผมเชื่อว่า การต่อสู้ที่มาราวีไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ฝ่ายเดียว แต่โดยข้อมูลแล้วมีนักรบต่างชาติจากภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่มติดอาวุธเดิมในพื้นที่ กลุ่มกบฏเมาเต (Maute) ที่แต่เดิมไม่ใช่กลุ่มใหญ่ ทุกวันนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ISIS ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โจทย์ชุดนี้เป็นอะไรที่น่าสนใจ และแสดงให้เห็นว่า ISIS ได้เดินทางมาถึงภูมิภาคเราแล้ว

แนวโน้มที่พวกเขาจะย้ายมาปฏิบัติการในประเทศแถบนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด

หลายฝ่ายมีความกังวลกับภูมิภาคเรา เพราะเห็นความรุนแรงในฟิลิปปินส์ ในขณะเดียวกัน ความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ทั้งหมดนั้นมีอะไรที่ซ่อนและซ้อนอยู่ ตัวอย่างคือ เมียนมาร์

ถ้าความรุนแรงในรัฐยะไข่ขยายมากขึ้น จะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นในการก่อการร้ายไหม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ใครที่ตามข่าวเมียนมาร์ จะเห็นว่าแทบจะไม่มีการพูดถึงการก่อการร้ายในเมียนมาร์เลย หรือปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไทยจะปะทุเหมือนที่เมียนมาร์ไหม ความขัดแย้งระหว่างคนมุสลิมท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง เป็นต้น

เมื่อทิศทางการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ค่อนข้างกระจัดกระจาย ไม่ได้มีแนวทางใกล้เคียงกันหรือรวมกลุ่มแบบยุโรป จะวัดอย่างไรว่าประเทศใดสุ่มเสี่ยงต่อการก่อการร้าย

ผมคิดว่าในบริบทของเรา ที่ไม่ได้จะมีการรวมแบบสหภาพยุโรป ผมคิดว่า ปัญหาของแต่ละประเทศมันสะท้อนอยู่ด้วยตัวของมันเอง ยกตัวอย่าง เมื่อพูดแบบนี้เราเห็นกรณีของมินดาเนาที่ฟิลิปปินส์ แม้ว่าในหลายปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายเชื่อว่าสงครามในมินดาเนาอาจจะจบด้วยการก่อตั้งสาธารณรัฐบังซาโมโร (Bangsamoro Republik) คือพื้นที่ของชาวมินดาเนาจริงๆ แต่ปัจจุบันเราก็เห็นตัวแบบของมาราวีเกิดในกรณีของอินโดนีเซีย ผมคิดว่ามีอะไรที่น่าสนใจ รวมทั้งกรณีของมาเลเซีย และปัญหาชายแดนทางภาคใต้ในไทยเอง

มองจากประเทศไทยออกไป เราเห็นความกังวลในรัฐยะไข่ ความขัดแย้งระหว่างชนพื้นเมืองชาวพม่าและชาวโรฮิงญา มองจากเอเชียด้านบนเราเห็นปัญหาซินเจียง

ถ้าโจทย์ชุดนี้โยงซึ่งกันและกัน เราก็จะเห็นชัดว่ามันมีความเชื่อมโยงกัน คำถามใหญ่ที่สุดคือ ในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ที่ปัญหาเหล่านี้จะถูกโยงเข้าหากันทั้งหมด

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า