ชายหนุ่มตอนปลาย ผิวเข้ม ผมสีดอกเลา มันเป็นสีเดียวกันกับหนวดที่ปล่อยให้ยาวโดยปราศจากการปรับแต่ง เขานั่งอยู่บนเตียงนอนของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น สายตาจ้องเขม็งมาที่คู่สนทนา
เป็นทนายมากี่ปีแล้ว ผมถาม เขาเปลี่ยนท่าทีเข้มขรึมเป็นเสียงหัวเราะก่อนลำดับความทรงจำ
“ตีตั๋วทนายครั้งแรกปี 2523 แล้วก็ไปทำงานกับชาวบ้านบ้าง ก็ขาดบ้าง แล้วก็ต่อใหม่ สุดท้ายตั๋วทุกวันนี้ปี 2532 ก็เป็นทนายมาถึงปัจจุบัน”
“ส่วนใหญ่ทำคดีชาวบ้านทั้งนั้น สหกรณ์โกงชาวบ้าน เรื่องป่าไม้ ที่ดิน เขื่อน ต่อสู้กับรัฐ คดีที่ถูกอำนาจมืดสั่งการสังหารแกนนำ มันจะเป็นคดีพวกนี้ทั้งนั้น”
เขาทำงานร่วมกับทองใบ ทองเปาด์ ทนายความรางวัลแมกไซไซผู้ล่วงลับ หอบลูกเมียตระเวนไปทั่วที่มีคดี ทั้งว่าความ ทั้งบรรยายกฎหมายให้ชาวบ้านฟัง
การคลุกกับประเด็นของคนตัวเล็กตัวน้อยโดยใช้หลักการตัวบทกฎหมายเข้าสู้ นอกจากหลอมให้เขาเป็นเขาเช่นทุกวันนี้แล้ว มันยังก่อร่างสร้างความคิดให้กับลูกชายซึ่งถูกเพื่อนฝูงนักกฎหมายแซวว่าเป็นทนายตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก
“ไม่ใช่แค่พ่อแม่เป็นทนาย เขาก็เลยเป็นแบบนี้นะ”
“ไผ่นี่เขาไปอยู่กับวงการทนายความกับอาจารย์ทองใบ ทองเปาด์ ตั้งแต่ยังเล็กๆ พอวันเสาร์-อาทิตย์พ่อแม่ไปออกท้องที่ไม่ว่าจะจังหวัดไหน ไผ่ก็จะติดรถไปด้วย เขาก็จะรู้จัก พวกอาจารย์ทองใบก็จะชอบเรียก ‘ทนายไผ่’ เขาก็จะคุ้นเคยกับทีมทนายความ คุ้นเคยกับชาวบ้าน คุ้นเคยกับการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย”
“เขาเป็นแบบนี้ไม่ใช่เพราะมีส่วนจากพ่อแม่ แต่เพราะรายทางที่ผ่านมาด้วย”
แบ่งรับแบ่งสู้เรื่องอิทธิพลของพ่อแม่ที่มีต่อทัศนคติของทนายไผ่ แต่พอถามเรื่องทักษะดนตรีที่ลูกชายฝีมือจัดจ้าน เล่นเครื่องดนตรีเป็นทั้งพิณ แคน โปงลาง โหวด ขิม ซอ ไวโอลิน กีตาร์ เขาขึ้นเสียงฮึดฮัดว่า มันเป็นเพราะพ่ออย่างแน่นอน
“ได้มาจากพ่อเต็มๆ เลย เพราะพ่อเล่นดนตรีตลอด เวลาไปสอนเรื่องกฎหมายวิชาการให้ชาวบ้านเสร็จเราก็นั่งเล่นกับชาวบ้าน เล่นดนตรี มีพิณ แคน ไผ่เขาจะชินเรื่องเครื่องดนตรี โตขึ้นมาก็จะอยากเล่นดนตรี”
เขายิ้มแล้วเล่าต่อ
“ที่บ้านก็จะมีเครื่องดนตรีให้เลือกเล่นเยอะ ตอนเด็กๆ ถามเขาว่าอยากเล่นอะไรล่ะ เล่นคีย์บอร์ดไหม มันง่าย เขาตอบว่า ‘ไม่เอา’ แล้วอยากเล่นอะไร” เขาถามลูกชาย ก่อนได้รับคำตอบมาว่า ‘แคน’
“ไผ่เล่นดนตรีเป็นครั้งแรกคือแคน เพราะฉะนั้นไม่แปลกเลยที่เขาเล่นแคนเก่ง มันเลือกของที่ยากมาก ก็ไม่รู้ล่ะ เรื่องดนตรีเขาก็เก่งทุกอย่างนั่นก็เพราะสิ่งแวดล้อมจากพ่อ” เขาเล่าขึงขัง มั่นใจ แต่ก็หัวเราะ
ผมถามเขาว่าเทียบฝีมือแล้วใครเหนือกว่า เขาขึ้นต้นคำตอบด้วยเสียงสูง
“โวะ! ตอนนี้จะไปสู้เด็กได้ยังไงเนาะ แต่สมัยก่อนมันสู้พ่อไม่ได้หรอก ก็พ่อมันเป็นคนสอน”
แต่หลายคนบอกว่า “ไอ้ไผ่มันลูกพ่อแม่ไม่สั่งสอน” ผมแย้ง
“สั่งสอนนะ ว่าอย่าไปทำอะไรไม่ดี ก็พูดเหมือนพ่อแม่ทั่วไป แต่ไม่ใช่ให้มานั่งฟังว่าเธอจะต้องทำดีอย่างนั้นอย่างนี้ อันนั้นไม่ใช่หรอก การสั่งสอนมันมีหลายวิธี ไม่ใช่มานั่งเลคเชอร์ให้ฟัง จะต้องเปิดหน้าที่ศีลธรรมพลเมือง สมบัติผู้ดี อะไรแบบนั้นมาให้อ่าน แบบนี้ไม่ใช่”
“แต่สังคมที่มาด่าว่าเขาพ่อแม่ไม่สั่งสอน เพราะว่าเขาไม่ชอบรัฐประหาร แต่คุณชอบรัฐประหาร แล้วคุณก็มาบอกผมว่า คุณไม่สั่งสอนลูกให้อย่าไปต้านรัฐประหาร ต้องชอบรัฐประหาร ถ้าอย่างนั้นผมไม่ได้สอนหรอก ผมสอนว่า ทุกคนจะต้องรักประชาธิปไตย แบบนั้นผมสอน”
“เพราะฉะนั้นผมไม่รังเกียจหรอกว่าใครจะมาด่าผม เพราะผมไม่รู้จะสอนอย่างไรให้เขารักรัฐประหารและห้ามต่อต้าน ให้รักกระบวนการยุติธรรมที่มันเลวทราม ที่มันไม่ถูกต้อง จะให้ผมสอนอย่างนั้นได้อย่างไร”
“ผมก็สอนตามที่มันเป็น เพราะฉะนั้นจะว่าไอ้ไผ่เป็นอะไรแล้วบอกว่าผมไม่สั่งสอนก็เชิญตามสบายเลย ผมไม่สนใจ ผมสอนไม่ได้หรอกไอ้แบบที่พวกคุณอยากให้เป็น”
สมาชิกในบ้านที่ทุกคนต่างท่องบทสวดเรื่องประชาธิปไตยราวกับเป็นยาที่ต้องรับประทานเช้า กลางวัน เย็น หลังอาหาร ผมถามเขาว่าในครอบครัวเองจัดการชีวิตกันอย่างไร ประชาธิปไตยข้างนอกกับข้างในบ้านเป็นเหมือนกันหรือไม่ เขาตอบว่าทุกคนมีอิสระตราบเท่าที่ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนให้ใคร
“ปล่อยเต็มที่เลย อยากเรียนอะไรก็เรียน ไม่ยุ่ง ไม่กำหนด ทั้งพี่ทั้งน้อง นี่น้องสาวก็ไปเรียนนิติศาสตร์ รามคำแหง ก็ไม่ได้บอกให้เขาลง เขาไปของเขาเอง อยากเรียนก็เรียน อยากทำอะไรก็ทำ”
“ไผ่มีคดีอะไร มีปัญหาอะไรตั้งแต่เริ่ม ไม่เคยบอกว่าหยุด ไม่เคยบอกว่ามันเลว ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ ไม่งั้นไม่ให้เรียน ไม่มี หลายคนก็บอกว่าพ่อมันไปส่งเสริมให้มันเป็นแบบนี้ แทนที่จะห้าม ก็ไม่รู้จะห้ามอะไร ไม่เห็นมันไปทำอะไรผิด ไปโดนคดีที่สองก็โดนแบบนี้ก็ไม่เคยว่า ‘หยุดได้แล้วนะ อย่าไปทำอย่างนั้น’ ก็ไม่ได้ทำ ไม่รู้ว่าเรียกประชาธิปไตยหรือเปล่า แต่รู้ว่าไม่ไปห้ามอะไรเขา เพราะเราไม่เห็นว่าเขาทำอะไรผิด”
“แต่ถ้าเขาไปเกเรเกตุง ไปตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก อันนี้จะเรียกว่าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องห้ามปรามกัน เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่ไปวุ่นวายกัน ก็ปล่อยให้ทุกคนอิสระ”
ลูกชายของเขาเลือกเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนกับผองเพื่อนตั้งแต่เป็นนักศึกษา ห้องเรียนโอบล้อมด้วยท้องทุ่ง ขุนเขา แม่น้ำ ชาวบ้าน และคดีความ
“โดนคดีแรกที่กุมภวาปี อุดรธานี ที่ไปช่วยพี่น้องชาวบ้านเรื่องเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง อันนั้นโดนจับ แต่สุดท้ายไม่ดำเนินคดีต่อ คดีที่สองคือกรณี 14 นักศึกษา ซึ่งนั่นเป็นคดีอยู่ในชั้นสอบสวนแล้วก็ได้รับการปล่อยตัวโดยไม่ต้องประกันตัว คดีนี้ก็ยังไม่มีการเดินต่อ แล้วคดีที่สามคือชูป้ายต้านรัฐประหาร คดีที่สี่คือ 112 เพิ่งผ่านการพิพากษาไป คดีที่ห้าอยู่ที่ศาลภูเขียวเรื่องประชามติ และคดีที่หกจะส่งอัยการฟ้องคือ พูดเพื่อเสรีภาพที่ ม.ขอนแก่น”
แรกทีเดียวเขาไม่แน่ใจในจำนวนคดีความ แต่หลังจากนับนิ้วทบทวนอีกรอบ เขาย้ำว่าตัวเลขถูกต้อง ลูกชายมีคดีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลทั้งหมดหกคดี แน่นอนว่ามันไม่ได้ทำให้เขามีความสุข แต่จะเรียกว่าความทุกข์ก็ไม่ใช่เสียทีเดียว
“ถ้าถามว่ามีความสุขไหม มันก็คงไม่ใช่ แต่ถามว่าเป็นทุกข์ไหม มันก็คงไม่ใช่อีกเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ คดีพวกนี้ไม่ควรจะเป็นคดีความแม้แต่คดีเดียว”
“คือถ้าเด็กมันไปเกเรเกตุง แล้วทำให้พ่อแม่ปวดหัว อันนี้ก็น่าจะทุกข์ใจ แต่นี่เขาไม่ได้ทำอะไร”
“ยกตัวอย่างที่เขาไปแจกใบปลิวประชามติ ถ้าเขาไม่จับ แค่ไล่มันหนีไป อ้าว! แจกอันเดียวพอแล้วก็ไล่กลับบ้าน ในสังคมประชาธิปไตยเมื่อก่อนนักศึกษาเขาก็ทำอะไรเยอะแยะ หรือคดีชูป้ายต้านรัฐประหาร เอ้อ! ชูเสร็จแล้วก็กลับบ้าน ไม่ต้องไปดำเนินคดี มันก็ไม่เป็นคดี”
“พูดในมหาวิทยาลัย พูดเสร็จแล้วก็เลิก หรือไม่ต้องไปทำอะไรเขา มันก็ไม่เป็นคดี”
“เรื่องแชร์ข่าว เขาก็แชร์กันทั่ว ต่อให้แชร์อะไรถ้าไม่ไปเอาเรื่องเขามันก็ไม่เป็นคดีอีก เพราะฉะนั้นถ้ามองว่า 5-6 คดีที่เขาไปทำอะไรแล้วถามว่าเราหนักใจไหม เราก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะเราก็รู้ว่าลูกเรามันไม่ได้ไปทำอะไร แต่เผอิญว่ามันไปอยู่ในสังคมขณะนี้ที่พร้อมจะเอาผิด จับผิด เอาเรื่องใครก็ได้ ถ้าเป็นแบบนั้นมันก็ไม่รู้จะไปว่ายังไง แล้วจะไปโทษลูกก็ไม่ได้ โทษเราก็ไม่ได้ ถ้าเป็นในสังคมปกติจะไม่มีคดีเลยสำหรับไผ่ทุกคดี”
“คดีที่พิพากษาไปแล้วก็เหมือนกัน ก็อย่างที่พูดว่าการแชร์ข่าวบีบีซี ถ้าไม่ไปจับไอ้ไผ่ก็ไม่รู้จะต้องไปจับใคร หรือไม่ต้องจับใคร แต่เมื่อจับแล้ว เอาเรื่องแล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นเพราะเหตุใด การเดินตามร่องรอยของคดีมันก็ต้องเดินไปตามเกม ตั้งแต่ตั้งข้อหา สอบสวน จับกุม ประกันตัวหรือไม่ให้ประกันตัว สุดท้ายการพิพากษามันก็จะเดินไปตามนั้น แต่ทุกวันนี้ถ้าถามคนที่มานั่งด้วยกันนี้ มันผิดไหม ถ้าถามเชิงตรรกะแบบนี้มันผิดไหม หรือถ้าแชร์แล้วเป็นความผิดทำไมมีมันคนเดียว”
จากบ้านสู่มหาวิทยาลัย บ้างเรียนหนังสือ บ้างลงพื้นที่ช่วยชาวบ้าน สลับกับการมีบทบาทคนรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย และมีเรื่องเกี่ยวพันต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเต็มไปหมด กระทั่งถูกจับกุมคุมขังในซังเตตอนนี้ เขายอมรับว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกชายส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในวัย 61 ปี เขารับงานว่าความน้อยลง ด้วยเงื่อนไขสภาพร่างกายที่เพิ่งผ่านความเป็นความตายมาหมาดๆ ส่วนอีกเงื่อนไขคือเวลา ซึ่งถูกแย่งชิงไปกับการวิ่งช่วยเหลือด้านคดีความของผู้เป็นลูก
“เรื่องสุขภาพก็ไม่อยากให้ใครห่วง เพราะไม่ได้เป็นอะไรมาก เป็นมะเร็งลำไส้ระยะ 3 ไปทาง 4 ลามไปกระเพาะปัสสาวะ ผ่าตัดมาหลายปีแล้ว ทำคีโมครบหมด ช่วงนี้ก็อยู่ในระหว่างการติดตามของแพทย์เป็นระยะ เมื่อก่อนนี้เดือนละครั้ง หลังๆ มานี้ก็สามเดือนครั้ง มาตรวจเลือดเช็คดูว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อวานนี้ก็เพิ่งไปตรวจ ผลค่าเลือดดีมาก ไม่มีอะไร แต่หมอก็นัดไปตามเรื่อง เพราะไม่รู้ว่าจะทำอะไรแล้ว โดยรวมก็ไม่ได้อันตราย”
“ช่วงหลังนี้ใครมาจ้างว่าความบางทีเราก็ปฏิเสธเลย เพราะเราไม่มีเวลาให้เขา เราต้องมายุ่งคดีไผ่ ถ้าไปรับก็อาจทำได้ไม่ดี แต่ถ้าคดีง่ายๆ ก็ให้แม่เขาทำไป เช่น จัดการมรดก นิดเดียวเสร็จ แบบนั้นได้”
“แต่ตอนนี้พ่อแม่ก็ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ลูกความมาหาก็ไม่เจอ พอไม่เจอเขาก็ไปหาทนายอื่น สรุปว่าช่วงนี้ก็พอมายุ่งกับคดีไผ่ก็แปลว่าไม่มีรายได้”
แม้จะมีอาชีพเป็นหมอความทั้งเขาและภรรยา แต่เมื่อลูกชายตกเป็นผู้ต้องหา เขาเลือกที่จะเล่นบทบาทพ่อและแม่เท่านั้น ด้วยเหตุผลคือความกดดันที่อาจทำให้แยกไม่ออกระหว่างลูกชายกับลูกความ
“เราก็ไม่ได้คิดยากเลย ตั้งแต่ไผ่มีคดีแรก เราไม่เป็นทนายให้ ถ้ามีพี่น้องมาให้ความช่วยเหลือเราก็จะเป็นเพื่อนของทนาย คนที่มาว่าความให้เขาก็จะให้เกียรติว่าพ่อเป็นทนาย มันก็จะเหมือนกับเป็นทนายไปในตัว หรือเป็นทีมของทนาย จะไม่ต่างกันมาก”
“อีกอย่างคือ หากเราไปเป็นทนายเองมันจะต่างกัน ถ้าเราไปว่าความให้ชาวบ้าน เราจะว่าเต็มที่เลย แล้วก็แพ้ชนะเราไม่รู้ เราจะไม่มีการกดดันตัวเราเองไม่ว่าแพ้หรือชนะ แต่หากเราไปว่าความให้ลูกซึ่งต่างจากลูกความ มันจะมีความผูกพันแล้วก็จะมีอะไรหลายอย่างที่จะทำให้เราเขว เพราะรักลูกความด้วย รักลูกด้วย ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือตัดออกเลย มันจะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ถูกกดดัน ขณะเดียวกันทนายความที่เขามาก็เหมือนกับที่เราไปว่าความให้คนอื่นเหมือนกัน เขาก็ไม่ถูกกดดันเพราะไม่ใช่ลูกเขา แต่เขาก็ทำเต็มที่ นี่คือเหตุผลที่ไม่ไปว่าความให้ลูก”
เวลาในการสนทนาขยับจากสายสู่ใกล้เที่ยง บ่ายวันนี้ลูกชายของเขาต้องขึ้นศาลอีกหนึ่งคดีจากกรณีชูป้ายต่อต้านรัฐประหาร แม้จะชินกับสภาพที่เกิดขึ้นเพียงใด แต่เขาก็ส่ายหัวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“คดีที่จะไปวันนี้ก็เหมือนกัน คราวที่แล้วเราก็เห็นพยาน ขนาดเป็นพันเอก พูดจาแบบ…” เขาเว้นวรรค
“ไม่น่า… ไม่น่าเป็นทหาร เป็นอะไรแบบว่า…” รูปประโยคไม่ครบถ้วน อาจเพราะมีบางอย่างไม่อยากพูดออกไป
“ก็เข้าใจอยู่ว่าพวกนี้เนี่ย ดูหลายคดีแล้วก็มีหน้าที่ที่จะจับๆๆ แจ้งๆ จับๆ แต่เวลาที่มาเบิกความอะไรในศาลจะไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือบางทีก็จะไม่ยอมมาศาล อ้างติดราชการ หรือเบิกความแบบไม่ทราบๆๆ ไม่ขอตอบ ไม่ทราบ มันก็จะออกไปเป็นแบบนั้น ซึ่งผิดวิสัยของการเบิกความเป็นพยานในศาล ซึ่งศาลก็ควรจะต้องปรามพยานว่าแบบนี้ไม่ได้ คุณตอบแบบนี้ไม่ได้ คุณเป็นพยาน ศาลก็จะได้รู้เหตุและผลเพื่อไปชั่งน้ำหนัก แต่มันก็เป็นศาลทหาร ก็ไม่รู้จะว่ายังไง”
หลังการสนทนา เราออกจากโรงแรมแห่งนั้นมุ่งหน้าไปที่ศาลมณฑลทหารบกที่ 23 (มทบ.23) ค่ายศรีพัชรินทร์ จังหวัดขอนแก่น ที่นั่นเขา – ทนายอู๊ด วิบูลย์ บุญภัทรรักษา จะได้พบกับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ผู้เป็นลูกชาย ซึ่งถูกยานพาหนะติดกรงขังลำเลียงตัวจากเรือนจำสู่ชั้นศาลอีกครั้ง
เผยแพร่ครั้งแรก 31 สิงหาคม 2560 |