ต้นเดือนตุลาคม หนึ่งในการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษของอิรักได้เปิดฉากขึ้น
การชุมนุมประท้วงรุนแรงเริ่มต้นขึ้นที่แบกแดด ก่อนจะลุกลามไปหลายจังหวัดทั่วประเทศในวันอังคารและพุธ ด้วยปัญหาอัตราการว่างงานพุ่งขึ้นสูง การคอร์รัปชันของรัฐบาล และการถูกจำกัดการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไฟฟ้า น้ำสะอาด และขาดแคลนบริการขั้นพื้นฐาน
พุธที่ 2 ตุลาคม อาดิล อับดุล-มาห์ดิ (Adil Abdul-Mahdi) นายกรัฐมนตรีอิรัก เรียกประชุมฉุกเฉินกับฝ่ายความมั่นคง และมีแถลงการออกมาว่า “เราเน้นย้ำว่ามาตรการที่เหมาะสมจะถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องประชาชน สาธารณะ และทรัพย์สินส่วนบุคคล”
สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังโกรธเกรี้ยวบุกเข้าไปยังอาคารที่ทำการรัฐที่จังหวัดนาจาฟ (Najaf) และนาซิริยาห์ (Nasiriyah) เผาอาคารบางส่วน พยายามข้ามสะพานไปยังด่านที่เขตป้องกันพิเศษ Green Zone ซึ่งเป็นสถานที่ทำการของรัฐบาลและที่ตั้งของสถานทูตหลายประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว CNN ว่า ผู้ชุมนุมได้ทำการปิดเส้นทางไปสนามบินเรียบร้อยแล้ว
แถลงการร่วมของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขออกมาว่า ทางการอิรักเริ่มยิงแก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำ รวมถึงใช้กระสุนจริงยิงขู่เพื่อสลายฝูงชน ขณะที่กระทรวงกลาโหมออกคำสั่งให้กองกำลังติดอาวุธเตรียมการเฝ้าระวังสูงสุด และได้จัดเจ้าหน้าที่ชุดพิเศษไปคุ้มกันสนามบินนานาชาติในกรุงแบกแดด
เวลา 5.00 น. เช้าวันพฤหัสบดี รัฐบาลอิรักประกาศสภาวะฉุกเฉินในแบกแดด ฮิลลาห์ (Hillah), นาจาฟ และนาซิริยาห์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าระวังท้องถนนอย่างเข้มงวด ให้ประชาชนอยู่ในเคหะสถาน ข้อมูลจาก Netblocks องค์กรเฝ้าระวังการรบกวนการใช้อินเทอร์เน็ตในอิรักบอกว่า รัฐบาลได้ทำการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต 75 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ
อาลี อัคราม อัล-บายาตี (Ali Akram al-Bayati) สมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน Independent High Commission for Human Rights ในอิรัก ให้ข้อมูลกับ CNN ว่า จากเหตุปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 34 ราย และจำนวนผู้บาดเจ็บสูงถึง 1,518 คนแล้ว
ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 31 รายเป็นผู้ชุมนุม 3 รายเป็นเจ้าหน้าที่ โดยอัล-บายาติให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ในจำนวนผู้บาดเจ็บทั้งหมด มีเจ้าหน้าที่ 423 คนรวมอยู่ด้วย ซึ่งอัล-บายาติได้เรียกร้องให้องค์กรนานาชาติเร่งให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ขาดแคลนเลือดสำรอง
หลังจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น และความรุนแรงยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ นายกรัฐมนตรี อับดุล-มาห์ดิ กล่าวผ่านโทรทัศน์ว่า ความต้องการงานของผู้ชุมนุมและการปฏิรูปนั้นมีความชอบธรรม และรัฐบาลกำลังใช้ความพยายามอย่างมากที่จะต่อสู้กับการคอร์รัปชัน
แนวทางการแก้ปัญหาคือ รัฐบาลพยายามเพิ่มอัตราการจ้างงานให้ผู้จบมหาวิทยาลัย มีบริษัทต่างชาติเข้ามาจ้างงาน และรัฐบาลจะเสนอโครงการรายได้พื้นฐานสำหรับคนจน เพื่อให้ “ครอบครัวชาวอิรักสามารถใช้ชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรี” และเสริมว่า “ทุกคนควรเคารพกฎหมายที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตอย่างมั่นคงและปลอดภัย”
กองกำลังพันธมิตรต่อต้าน ISIS นำโดยสหรัฐ (United States-led Coalition Against ISIS) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในพื้นที่ Green Zone เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาลดความตึงเครียด โดย โฆษกของกองกำลังพันธมิตรฯ พันเอกไมล์ส บี. แคกกินส์ ที่ 3 (Col. Myles B. Caggins III) ทวีตข้อความในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีว่า
“การสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ ระหว่างประชาชนและกองกำลังรักษาความสงบ น่ากังวลอย่างยิ่ง เราเชื่อว่าการร่วมเดินขบวนด้วยความสงบเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของประชาธิปไตย มันไม่มีพื้นที่สำหรับความรุนแรง”
หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดการชุมนุมในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
ที่เลบานอน ผู้ชุมนุมปิดถนน ปะทะกับกองกำลังเจ้าหน้าที่ ด้วยสาเหตุการว่างงาน สาธารณูปโภคพื้นฐานย่ำแย่ และรัฐบาลคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับอียิปต์ที่ประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ ขณะกลุ่มครูในจอร์แดนประท้วงหยุดงานทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นการประท้วงหยุดงานที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของจอร์แดน
อ้างอิงข้อมูลจาก: edition.cnn.com |