องค์กรก่อการร้ายที่อันตรายกว่า IS

12270091_10153666407114484_97230899_n

หลังเหตุสลดที่ปารีส มีผู้เสียชีวิตจากระเบิดและการกราดยิง เฉพาะวันที่ 15 พฤศจิกายน มีผู้เสียชีวิตกว่า 160 คน ก่อนจะขยับอาณาเขตแห่งความหวาดกลัวออกมาไม่กี่ไมล์จากสนามสตาดเดอฟรองซ์ (Stade de France) ในเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายน ผู้คนจำนวนมากต่างพุ่งความสนใจไปที่ฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น #prayforparis หรือการวิเคราะห์โดยนักทฤษฎีด้านสงคราม นักรัฐศาสตร์ นักการศาสนา รวมไปถึงความคิดเห็นหลากหลายทั้งสลดใจและแสดงความเกลียดชัง ทุกอย่างต่างหลั่งไหลมารวมกันบนโลกโซเชียลมีเดีย โดยทุกฝ่ายต่างมี ‘ผู้ร้าย’ ร่วมกัน คือกลุ่มรัฐอิสลามใหม่ ที่เรียกตัวเองว่า IS

นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาติในทวีปยุโรปที่เกิดเหตุการณที่เรียกได้ว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งสำคัญในเมืองหลวงถึงสองครั้งในรอบปี ตั้งแต่ Charlie Hebdo จนถึงเหตุระเบิดและกราดยิงหลายจุดที่เพิ่งผ่านมา ทว่าอีกซีกโลกหนึ่ง ยังมีเหตุการณ์คู่ขนานเกิดขึ้น แม้ความรุนแรงจะมีดีกรีน้อยกว่า แต่หากดูที่ระดับความถี่แล้ว เราอาจพูดได้ว่า ปารีสเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเหตุการณ์สงครามที่กำลังดำเนินอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน

ที่ตลาดค้าขายผักและผลไม้ของเมืองโยลา (Yola) ทางตอนเหนือของไนจีเรีย มีการระเบิดพลีชีพในเย็นวันอังคารที่ 17 สังหารผู้คนไปอย่างน้อย 34 คน บาดเจ็บประมาณ 80 คน ถ้อยคำที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานคือ ทั่วบริเวณร้านค้าเต็มไปด้วยซากศพและเลือด

nigeria_grunge_flag_by_think02

วันถัดมา หญิงสองคน หนึ่งในเป็นเด็กผู้หญิงอายุสิบกว่า พร้อมระเบิดที่มัดติดไว้กับตัว จุดชนวนสังหารตัวเองและผู้คนในแหล่งขายโทรศัพท์มือถือใกล้เมืองคาโน (Kano) จำนวนผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 15 ราย

การระเบิดสองวันติดๆ เชื่อว่าเป็นฝีมือของกองกำลังติดอาวุธในไนจีเรีย ‘โบโกฮาราม’ (Boko Haram) โดยตลอดหกปีที่ผ่านมา มีไม่กี่ครั้งที่โบโกฮารามอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุนองเลือด และเหตุการณ์ที่โยลาและคาโน เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี ประกาศว่า โบโกฮารามกำลังจะพ่ายแพ้

ชื่อของ Boko Haram คำว่า Haram คือ ‘ต้องห้าม’ ไม่ให้ชาวมุสลิมมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือแนวคิดที่มาจากชาติตะวันตก รวมถึงการเลือกตั้ง เครื่องแต่งกาย และระบบการศึกษาที่เน้นเรื่องทางโลก

องค์กรที่มีชื่อเต็มว่า Jama’atu Ahlis Sunna Lidda’awati wal-Jihad ก่อตั้งในปี 2002 เริ่มต้นด้วยแนวคิดต่อต้านการศึกษาแบบตะวันตก และเริ่มใช้กองกำลังติดอาวุธออกปฏิบัติภารกิจเพื่อสร้างรัฐอิสลามในปี 2009 และในปี 2013 สหรัฐก็ได้ประกาศให้โบโกฮารามอยู่ในหมวด ‘ผู้ก่อการร้าย’

รายงาน The Global Terrorism Index (GTI) ซึ่งจัดทำโดย โดย Institute for Economics and Peace (IEP) เปิดเผยว่า ปี 2014 โบโกฮารามสังหารผู้คนไป 6,644 ราย ขณะที่ IS (Islamic State) ซึ่งก่อเหตุในแบกแดด เบรุต และปารีส มีสถิติ 6,073 รายในปีเดียวกัน ตามมาด้วยกองกำลังตาลีบัน 3,477 ราย ทำให้จากปี 2013 มาจนถึง 2014 มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายในไนจีเรียเพิ่มขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้ GTI ยกให้เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

โบโกฮารามเคยประกาศร่วมมือกับ IS แต่ไม่มีการเปิดเผยความสัมพันธ์ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผลงานของทั้งสององค์กรนี้รวมกันเท่ากับ 51 เปอร์เซ็นต์ของการก่อการร้ายในปีที่ผ่านมา ในฐานะตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor)

อย่างไรก็ตาม ในสายตาชาวโลกมักเห็นภาพความโหดร้ายของ IS มากกว่า เพราะจำนวนผู้เสียชีวิตจากการโจมตีขององค์กรรัฐอิสลามในปี 2014 อยู่ที่ประมาณ 40,000 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ปะทะระหว่างกองกำลังไนจีเรียและโบโกฮารามอยู่ที่ประมาณ 6,000 คน เรียกได้ว่าการต่อสู้เพื่อต่อต้านผู้ก่อการร้ายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว

BringBackOurGirls_truck

เหตุการณ์ที่ทำให้โลกจดจำคือเดือนเมษายนปีที่แล้ว เมื่อโบโกฮารามบุกเข้าจับตัวเด็กนักเรียนหญิง 300 คนจากเมืองชิบอก (Chibok) เป็นที่มาของแฮทช์แท็ค #BringBackOurGirls ในปีเดียวกัน ข้อมูลระบุว่า อาณาเขตการยึดครองทางตอนเหนือของกองกำลังนี้มีขนาดพอๆ กับประเทศเบลเยียม จากนั้นเริ่มมีระเบิดพลีชีพและก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ หลายครั้งเป็นการบังคับให้เด็กนักเรียนที่ลักพาตัวไปเป็นผู้ลงมือ

สถิติของกลุ่มก่อการร้ายที่ขึ้นชื่อว่า ‘อันตรายที่สุดในโลก’ รวมกับกลุ่ม IS ทำให้ผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น 80 เปอร์เซ็นต์ รายงานปีล่าสุดของ The Global Terrorism Index ยังระบุว่า ปี 2014 มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมด 32,658 ราย ใน 67 ประเทศ

กองกำลังของไนจีเรียเข้าต่อสู้กับโบโกฮาราม โดยร่วมมือกับชาติเพื่อบ้าน ชาด แคเมรูน ไนเจอร์ ซึ่งเป็นโบโกฮารามใช้เป็นที่ซ่อนกองกำลังและปฏิบัติภารกิจ โดยมีสหรัฐให้การสนับสนุน ซึ่งทางการไนจีเรียได้ยึดพื้นที่บางส่วนกลับมา รวมถึงช่วยตัวประกันได้หลายคน เมื่อโบโกฮารามสูญเสียฐานที่มั่นในไนจีเรีย จึงขยายพื้นที่ออกไปยังประเทศข้างเคียง และเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากการยึดพื้นที่ในไนจีเรียเป็นการระเบิดพลีชีพดังที่ปรากฏในโยลาและคาโน

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ใช้แฮทช์แท็ก #prayfornigeria พร้อมกับใช้รูปโปรไฟล์ในโซเชียลมีเดียเป็นธงขาวเขียว เหมือนที่ใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงเหตุสลดในปารีสและเบรุต ขณะที่ชาติยักษ์ใหญ่อย่างฝรั่งเศสประกาศสงครามกับ IS อย่างจริงจัง ทั้งบริเวณอิรักและซีเรีย เพื่อตอบโต้เหตุเขย่าขวัญที่ทำให้ผู้คนในประเทศระดับนำตกอยู่ในความหวาดกลัว ที่ไนจีเรีย ผู้คนยังคงต้องเฝ้าระวังกับการก่อการร้ายที่อาจเกิดขึ้นเป็นรายวัน โดยมีเหยื่อเป็นประชาชนที่ยากจนและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด


อ้างอิงข้อมูลจาก: cnn.com
theguardian.com
bbc.com
visionofhumanity.org

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า